วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

อยากได้วิหารธรรมที่สามารถทำให้ปฏิบัติธรรมได้ต่อเนื่อง?

 ผู้ร่วมรายการ : ผมได้บวชทดแทนคุณพ่อแม่ พอได้บวชก็ได้ศึกษาธรรม ก็เป็นการถามตอบกับอาจารย์ที่สอน แล้วก็อ่านหนังสือ ก็เลยคิดว่าศาสนาพุทธสามารถตอบคำถามในชีวิตได้หลายอย่างที่ไม่เคยหาคำตอบได้ ก็ได้ปฏิบัติและอ่านหนังสือมาเรื่อยๆ

 

ดังตฤณที่ผ่านมาเคยปฏิบัตินั่งสมาธิหรือเดินจงกรม หรือมีประสบการณ์ทางธรรมแบบไหนที่รู้สึกถึงความเป็นกายเป็นใจโดยความเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการจะให้เห็นบ้างมั้ยครับ พอเล่าให้ฟังได้บ้างมั้ยครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : ผมปฏิบัติมา ๑๓ ปี มันก็เข้าใจมาเรื่อยๆ แต่ว่ายังไม่เคยมีประสบการณ์แบบจิตรวม หรือว่าเข้าฌาน หรือว่าเกิดปีติอะไรอย่างนี้ ไม่เคยมีนะครับ แต่ว่าเป็นการเข้าใจเสียมากกว่าในเรื่องของกายใจ แล้วก็พยายามที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวัน

 

ดังตฤณที่บอกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอเล่าได้คร่าวๆมั้ยครับ เช่น เดินไปแล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่ากำลังเดินอยู่ หรือว่ามีความฟุ้งซ่านแล้วมีความเห็นขึ้นมายังไง มีสติขึ้นมายังไง พอเล่าให้ฟังได้มั้ยครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : ส่วนมากก็จะดูกายที่เคลื่อนไหวบ้าง แต่จะได้แค่แป๊บเดียวแวบๆ แล้วก็ดูจิตบ้าง เช่น จิตฟุ้งซ่าน จิตโกรธ จิตโลภ แต่ก็ไม่ได้เยอะในแต่ละวันครับ ก็มาเพิ่มด้วยการนั่งสมาธิเพิ่มขึ้นครับ

 

ดังตฤณสำหรับคืนนี้มีคำถามอยากจะถามอะไรครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : คำถามจะเป็น ๒ จุด ครับ จุดแรกอยากได้วิหารธรรมที่สามารถไปต่อไปได้แบบต่อเนื่องครับ ผมทำมาหลายอย่าง แต่ทำได้ไม่กี่วันแล้วก็มันก็จะไม่ดี พยายามทำแบบเดิมไปหลายเดือนมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น พอเปลี่ยนเป็นอีกอย่างนึง มันก็ดีไม่กี่วันเหมือนกันแล้วก็กลับมาเหมือนเดิมครับ ก็เลยอยากได้วิหารธรรมที่สามารถอยู่กับเราไปได้นานๆครับ

 

ดังตฤณผมขอตอบข้อแรกก่อนเลยเพราะสำคัญนะครับ

 

คำว่า วิหารธรรม หรือว่า เครื่องอยู่ของจิต ที่จะทำให้จิตมีสติหรือว่า มีความเป็นสมาธิ หรือว่ามีความเป็นกุศลได้อยู่ตลอด ไม่หลงไปในทางอกุศล ไม่หลงไปแบบฟุ้งซ่านหรือว่ามีความเหม่อมีความลอยอะไรต่างๆเนี่ยนะครับ

 

ตัววิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอยู่หลายอย่าง อย่างเช่น เมตตา ก็เป็นวิหารธรรม ถ้าเจริญเมตตาก็หมายถึง นึกถึงความสุขที่แผ่ออกไป พร้อมจะแผ่ออก พร้อมจะให้ประโยชน์สุขกับชาวโลก อย่างนี้ก็เรียกว่าวิหารธรรมได้ เพราะอะไร?

 

เพราะเมื่อจิตแผ่ออกไป มันพร้อมจะมีสมาธิ มันพร้อมจะตั้งมั่น มันพร้อมจะรวม จิตที่เป็นเมตตามากๆเนี่ย ถึงแม้จะไม่ไปเล็งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกับจะไม่ได้ตั้งใจโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เอาแค่ทำความรู้สึกเข้ามาถึงความสุขที่แผ่ผายออกไปจากจิตเนี่ย มันก็เกิดสมาธิขึ้นมาได้เป็นวิหารธรรมขึ้นมาได้ ตรงนั้นเนี่ยเหมาะกับคนที่มักโกรธ หงุดหงิด หรือว่ามีสมาธิสั้น หรือว่าฟุ้งซ่านบ่อยอะไรแบบนี้ พอจิตมันมีความกว้าง มันมีความเปิด มันมีความเบิกบาน มันก็จะช่วยลดอาการอะไรที่มันเสียๆพวกนั้นไปได้เอง

 

ทีนี้จะมีวิหารธรรมอีกแบบหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมากที่สุด ก็คือ อานาปานสติ พูดไปพูดมาในพุทธศาสนาในเชิงปฏิบัตินะครับ ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของอานาปานสติ หรือว่าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องตั้งสติล้วนๆเลย

 

ทีนี้ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจเกี่ยวกับอานาปานสติไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่หยุดแค่ตรงที่การรับรู้ว่า มีสติอยู่กับลมหายใจรู้ว่าหายใจเข้าหรือหายใจพอแล้ว ซึ่งพอมีทิศทางอยู่แค่นั้น มีเป้าอยู่แค่นั้น มันก็ไม่กลายเป็นวิหารธรรม

 

ตัววิหารธรรมเนี่ย เริ่มต้นขึ้นมาสำคัญมาก ไม่ใชเอาลมหายใจเป็นเครื่องตั้งของสมาธิ แต่เอาลมหายใจเป็นเครื่องสังเกตว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในแต่ละลมหายใจ มันไม่ใช่แค่ดูลมหายใจอย่างเดียว ดูด้วยว่าลมหายใจพาอะไรมาหาเราบ้าง พาความรู้สึกเป็นสุข พาความรู้สึกเป็นทุกข์ หรือแม้กระทั่งพาความฟุ้งซ่าน

 

อย่างตอนที่เราฟุ้งซ่านเหม่อลอยเนี่ยนะครับ ถ้าถามตัวเองว่า กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก แล้วเห็นนะว่าตอนที่หายใจเข้า หายใจออกเนี่ยเป็นลมสั้น มันถึงเหม่อมันถึงมีความฟุ้งซ่าน แล้วถ้าหายใจยาว ความฟุ้งซ่านนั้นปฏิรูปไปยังไงเปลี่ยนไปยังไง ตรงนั้นแหละที่มันจะเริ่มเป็นการสังเกตแบบอานาปานสตินะครับ คือรู้ขึ้นมาว่า ถ้าเราสังเกตไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเห็นคือความต่างๆเรื่อยๆเช่นกัน

 

แต่ถ้ามาดูเพื่อที่จะเอาสมาธิ ดูแค่ครั้งสองครั้งแล้วรู้สึกฟุ้งซ่านเหม่อลอยไป แล้วทิ้งเลย ไม่จับสังเกตต่อนี่คือความต่างของจุดเริ่มต้น ถ้าจุดเริ่มต้นของเราจะเอาสมาธิ ทำได้แค่สองสามลมหายใจเราจะหยุด

 

แต่ถ้าว่าจุดเริ่มต้นของเราคือ การสังเกตว่าแต่ละลมหายใจเอาอะไรเข้ามาหาเราบ้างเนี่ย ตรงนั้นเราจะเห็นความไม่เที่ยง แล้วเราจะดูต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ามันจะมีช่วงเว้นวรรคยาว มันจะมีความฟุ้งซ่าน มันจะมีความเหม่อลอย แต่ในที่สุดพอกลับมาหาลมหายใจ เราจะไม่โทษตัวเองว่า เอ้ยเนี่ยเหม่อไปอีกแล้วนานเลย แต่เราจะได้ข้อสรุปมากขึ้นทุกทีว่า ทุกครั้งที่เราเหม่อ ทุกครั้งที่เราฟุ้งซ่าน คือทุกครั้งที่เราไม่รู้สึกถึงลมหายใจ แล้วพอเห็นความไม่เที่ยงของทั้งลมหายใจ และอารมณ์ที่มากับลมหายใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดนั่นแหละมันจะทำให้เราไม่เผลอยาวไม่เหม่อยาว นี่น่าจะเป็นคำตอบนะครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : เป็นคำตอบครับ แต่ว่าผมมีความกังวลอย่างนึงคือ พอเข้าไปดูลมหายใจโดยตรงอย่างนั้น รู้สึกมันเหมือนกับเป็นการเพ่งไปด้วยครับ ก็เลยกลัวเพ่งไปอีก

 

ดังตฤณเหตุผลที่เราเพ่งนะครับ มีอยู่ข้อเดียว คือเราไปพยายามจับให้มั่นคั้นให้ตายเพื่อเอาสมาธิ เพื่อจะระงับความฟุ้งซ่าน เพื่อจะให้มีความคมชัดอะไรขึ้นมา ซึ่งตรงนั้นแหละมันเป็นจุดผิดพลาด

 

สิ่งที่ถูกต้องคือ เราตั้งเป้าไว้นะครับ ทำไว้ในใจว่า เราจะสังเกตลมหายใจเพื่อให้เห็นว่ามีอะไรเข้ามาในแต่ละลมหายใจ คือพอเราตั้งไว้ในใจอย่างนั้น ลองตั้งดูนะว่าเราจะดูว่ามีอะไรเข้ามาแต่ละลมหายใจ อย่างเช่น มีความอึดอัด มีความเพ่งมากเกินไป หรือว่ามีความรู้สึกว่ามีการโฟกัสหนัก จนกระทั่งเกิดความอึดอัดไปทั้งตัว เกิดความเกร็งไปทั้งตัว อย่าไปรังเกลียด อย่าไปให้คะแนนลบกับตัวเอง แต่ให้จำไว้ว่าทุกครั้งที่เราเห็นผิด ทุกครั้งที่เราเกร็ง คือทุกครั้งที่เราได้จิ๊กซอร์มาชิ้นหนึ่ง

 

ได้จิ๊กซอร์คืออะไร?

บอกว่าเนี่ย! อย่างนี้เป็นลมหายใจที่หนักเกินไป พอเห็นลมหายใจที่หนักเกินไปหลายๆครั้งเข้าแล้วไม่โทษตัวเอง ไม่มีการมากังวลอยู่ว่าเราจะทำผิดไปอย่างนี้เรื่อยๆ ในที่สุดมันจะเห็นหลายลมหายใจขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่น ลมหายใจที่หนักในครั้งนี้เนี่ย มันต่างกันกับลมหายใจที่เบาในครั้งต่อๆมา เพราะอะไร?

 

เพราะว่าสติ จำไว้เลยนะครับ ถ้าหากว่าเกิดสติเห็นว่าลมหายใจมากับความหนักมากเกินไปเนี่ย ครั้งต่อๆมาจิตมันจะฉลาดขึ้นเอง แล้วก็จะรู้ทางว่าหายใจยังไง ด้วยความตั้งใจประมาณไหน มันถึงจะมีความเบา เป็นลมหายใจแห่งความเบานะครับ ตรงนี้แหละที่มันจะเริ่มเห็นความไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ แล้วอย่าถามตัวเองว่าจะเห็นไปให้ถึงไหน บอกไปเลยว่าเห็นไปอีกทั้งชีวิต เพราะแม้แต่พระอรหันต์ก็ยังเจริญอานาปานสติอยู่นะ ยังเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นของกลวงของว่าง

 

พระอรหันต์ท่านเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพื่อความสุขอยู่ในปัจจุบัน แต่เราๆท่านๆเนี่ย เห็นลมหายใจหรือขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เพื่อที่จะได้เป็นพระอรหันต์แบบท่านบ้าง

 

ตรงนี้เนี่ยเราบอกตัวเองเลยว่าเราจะเห็นไปทั้งชีวิต คนส่วนใหญ่นะ เห็นลมหายใจไปได้ครั้งสองครั้งแล้วจะถามตัวเองว่า จะให้เห็นไปถึงไหน จะให้เห็นไปเท่าไหร่นะ แล้วเสร็จแล้วจะจบลงที่สองสามลมหายใจนั่นแหละ

 

แต่ถ้าเกิดมุมมองที่ถูกต้อง ตั้งทิศตั้งทางไว้ตรงนะครับ ก็จะรู้สึกว่ายิ่งเห็นมาก มันก็ยิ่งเห็นความไม่เที่ยงมาก ความเป็นภาวะอะไรต่างๆที่มาพร้อมกับลมหายใจเนี่ย ยิ่งเห็นชัดขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเห็นมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมรู้สึกถึงไม่เที่ยงมากขึ้นเท่านั้น ตรงนี้นะครับที่มันเป็นข้อสังเกต หรือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง มันจะทำให้การปฏิบัติของเราแตกต่างไปด้วยนะครับ

--------------------------------------------------

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
Clubhouse รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน  

คำถาม : อยากได้วิหารธรรมที่สามารถทำให้ปฏิบัติธรรมได้ต่อเนื่อง?

ระยะเวลาคลิป  ๑๑.๓๙ นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=OSuh81SrmyE&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=30&t=7s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น