วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

เคยนั่งสมาธิแล้วจิตรวม อยากทำได้อีก

ผู้ถาม : อ่านหนังสือ 'เสียดาย คนตายไม่ได้อ่าน' ของคุณดังตฤณ รู้สึกว่า ศาสนาพุทธเข้าใจง่าย การปฏิบัติภาวนา ใช้แนวทางจากคุณดังตฤณ ที่บอกว่า การกราบพระให้ได้บุญให้นึกถึงว่า มีพระพุทธเจ้าองค์จริงๆ อยู่หน้าเรา แล้วก็กราบ


ครั้งสุดท้ายที่ทำ กราบแล้ว จิตเหมือนเห็น ตัวเองกับพระพุทธเจ้าองค์จริงๆ อยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งไม่รู้จักว่าที่ไหน

 

ดังตฤณ : ที่เกิดภาพแบบนั้นขึ้นมา ผมอธิบายง่ายๆ เลยนะ .. พอเรามีสติในการกราบ แล้วจิตของเราถูกเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิ พอเราน้อมนึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังสูงสุดในอนันตจักรวาล ตามความเชื่อของพุทธเรา ..พลังนั้น ก็ทำให้จิตของเราดิ่งเป็นสมาธิ


และเมื่อจิตของเราดิ่งเป็นสมาธิอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นะครับ จิตก็ประหนึ่งว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเอง


ฉะนั้น จะเกิดอะไรขึ้น ที่เป็นนิมิตเกี่ยวกับความผูกพันกับพระพุทธเจ้า ว่าเราไปอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่วมกับพระองค์ก็ดี หรือจะมีนิมิตของพระองค์ปรากฏขึ้น ในห้วงมโนทวารของเราอย่างแจ่มชัดก็ตาม ..เป็นเรื่องปกติเลยครับ เพราะนั่น คือ ลักษณะของสมาธิจิตนะครับ


ผู้ถาม : ก่อนเกิดสภาวะนั้น รู้สึกว่าเป็นคนนั่งสมาธิไม่ได้ ไม่เคยนั่งเลย แต่วันนั้นที่ก้มกราบพระ แล้วเห็นจิตตัวเองแบบนั้น พอกราบพระครั้งที่ 3 ปุ๊บ ลุกขึ้นมานั่ง แล้วใจก็คิดขึ้นมาเองว่า นั่งสมาธิต่อสิ .. แล้วจะนั่งอย่างไร ..ก็ถามตัวเองต่อ เหมือนถามเอง-ตอบเอง กับตัวเอง .. นั่งหายใจเข้าออกพุทโธ .. ครั้งนั้น ก็เลยลองทำดู แล้วก็เข้าสมาธิไปเลยค่ะ ก็รู้ว่า จิตรวม คือ ลมหายใจหายไป เหลือแต่ร่างกาย 

 

นั่นคือ การนั่งสมาธิครั้งแรก เราก็เกิดสภาวะนั้น 

 

หลังจากนั้นอีกหลายปี ได้ดูข่าวในพระราชสำนัก มีการไปทำบุญที่พุทธสถานในอินเดียที่หนึ่ง เรานั่งดูข่าว เห็นกำแพงวัด แล้วรู้สึกว่า นี่เป็นกำแพงเดียวกับที่เราก้มกราบพระพุทธเจ้า เราเห็นตัวเองกราบท่าน .. กำแพงขาวๆ กำแพงเดียวกันเลย

 

ดังตฤณ : อนุโมทนานะครับ แล้วสำหรับคืนนี้มีคำถามอะไรครับ?


ผู้ถาม : ในวันที่เรานั่งสมาธิ แล้วจิตรวมครั้งนั้น ที่เคยติดตามอ่าน คุณดังตฤณบอกว่า อย่าไปคาดหวังว่าจะได้อย่างนั้นทุกครั้ง (ถูกครับ) เราก็ไม่คาดหวัง แต่ขาดแรงบันดาลใจในการนั่ง เพราะนั่งแล้วมักตกภวังค์


ดังตฤณ : สำหรับคนที่เคยได้ 'สภาวะของสมาธิ' มา จะเหมือนกันหมด คือ อยากได้สภาวะสมาธิแบบนั้นอีก

 

ถ้าหากว่า เราทำต้นเหตุได้เหมือนเดิมเป๊ะเลย เอาแบบที่ว่ามีปัจจัยแวดล้อม เป็นสิ่งแวดล้อมเดิม เราเข้าไปในห้องพระแบบเดิม แล้วก็ก้มกราบแบบไม่คาดหวังอะไร.. มีจิตที่พร้อมจะดิ่งไปเป็นสมาธิ แล้วก็ มีความสบายเนื้อสบายตัว สบายใจ ไม่มีอาการเกร็งไว้ก่อน แบบนั้น ก็จะได้อีก


แต่เนื่องจากเรา 'จำได้ไปแล้ว' ว่าเคยประสบความสำเร็จ ทำสมาธิ เคยได้สมาธิจิตมา เคยเห็นพระพุทธเจ้า เคยได้ราวกับว่าเข้าเฝ้าพระองค์ เกิดแรงบันดาลใจมากมายมหาศาล 

 

กี่วัน กี่เดือน กี่ปีผ่านไป มันก็จะเฝ้าคิด เฝ้าย้อนคิด.. ซึ่งนี่แหละ เห็นไหม .. ปัจจัยไม่เหมือนเดิมแล้ว ต่างไปจากเดิมแล้ว มีความคาดหวังเข้ามา มีความอยากที่เรียกว่า ภวตัณหา เข้ามา

 

คำว่า ตัณหา ไม่ใช่ ใช้ในทางที่ไม่ดีอย่างเดียว หยาบๆ อย่างเดียว  ภวตัณหา เหมารวมถึง ภาวะทางสมาธิที่เป็นสิ่งประณีต เป็นอะไรที่สูงส่ง


อันนี้เหมือนกัน คือเนื่องจากจิตว่าของเราไปผูกพัน กับความรู้สึกที่แสนดีในคืนนั้นเข้าไปแล้ว ทุกครั้งที่เราลงนั่งทำสมาธิ ก็จะมีเป้าหมายว่า เราจะเอาให้ได้อย่างนั้นอีก

 

ตรงที่เราจะเอาให้ได้อย่างนั้นอีก นั่นแหละ หินขวางทาง .. ไม่ใช่สปริงบอร์ด

 

ตอนคืนแรกนั้น เราเผอิญได้สปริงบอร์ด .. ไม่ใช่ เผอิญ แบบโชคดีนะ แต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ดี พร้อมมากพออุดหนุนให้เราได้เจอกับภาวะนั้น

 

ทำให้เราเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง แล้วจิตของเราสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้จริง เราสามารถบอกเล่าได้ตลอดชีวิตที่เหลือเลยว่า คำว่าสมาธิจิตเป็นอย่างไร


แต่ที่นี้ เพื่อที่จะเข้าถึงอีกครั้ง ไม่ใช่ด้วยการที่เราตั้งต้นขึ้นมา จะพยายาม Copy ของเดิมที่เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่เราต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง

 

เริ่มนับหนึ่งด้วยการคิดว่า เราจะทำใจให้มีความรู้สึกที่ดี ให้มีความรู้สึกที่ตรง ให้มีความรู้สึกที่เป็นสติตามจริง อยู่กับปัจจุบัน


อยู่กับปัจจุบัน หมายความว่าอย่างไร? เราอยู่ท่าไหน ให้ยอมรับไปท่านั้น ..แล้วสังเกตว่า มีเนื้อตัวส่วนไหนไหม ที่เกร็งอยู่

 

ถ้าเราสังเกตนะ ว่าเวลาเราอยากได้อะไร เนื้อตัวจะเกร็ง จะเหมือนกับร่างกายอยู่ในท่าพร้อมวิ่ง ถ้าหากว่าเราปล่อยให้ตัวเอง อยู่ในท่าพร้อมวิ่งไปเรื่อยๆ ก็จะเหนื่อย จิตไม่สบายสักที ร่างกายไม่พร้อมพักสักที

 

แต่ถ้ามีสติ ยอมรับตามจริงว่า สภาวะทางกายเป็นอย่างไร ตรงไหนพบว่ามันหงิก มันงอ อย่างเท้าเกร็ง เท้าจิก ก็ทำให้ผ่อนคลายซะ

 

มือ ถ้าหากว่ากำ ถ้าหากว่ามันเกร็ง เราปล่อยให้มันแบ

ทั่วใบหน้า ถ้ามีอาการขมวดคิ้ว เราทำให้คลายออกซะ

พอสบายขึ้นมาทั้งตัว นี่ ตัวนี้จะมีสติอยู่กับปัจจุบันแล้ว ว่าร่างกายกำลังผ่อนคลายอยู่ในท่าไหน อิริยาบถใด หลังตรงหรือหลังงอ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้ว..

 

แค่เข้าไปอยู่ที่จุดเริ่มต้น ที่ความไม่อยาก แต่เห็นตรงตามจริงว่า ร่างกายเราเป็นยังไงอยู่ นั่นแหละ จิตเริ่มพร้อมแล้ว

ผู้ถาม : กำลังหาแรงบันดาลใจ ว่าจะทำอย่างไร ที่เราจะกลับมานั่งสมาธิได้อย่างไม่คาดหวัง ก็ได้แนวทางจากคุณดังตฤณมาเพิ่มเติม แล้วก็จะพยายามทำ

 

ดังตฤณ : ผมขอสรุปคำตอบ ว่า ถ้าเราพบว่าตัวเองกราบพระพุทธเจ้า สวดมนต์ สวดอิติปิโสฯ โดยไม่ขอพร แต่มุ่งหมายที่จะถวายแก้วเสียงอย่างเดียว 


แล้วก็เหมือนกับพระองค์อยู่ตรงหน้าจริงๆ ใจที่ดิ่งไปกับความเป็นสมาธิแบบนั้น จะทำให้เกิดความชุ่มชื่น จะทำให้เกิดปีติขึ้นมาอีก แต่ไม่ใช่ปีติด้วยอาการคาดหวัง หรือว่าอยากเกินตัวนะครับ

__________________


รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถ่ายทอดจากคลับเฮาส์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

 

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Q-EyZVp0an8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น