วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

เดินจงกรมรู้สึกเท้าหาย ตกใจกลัวสภาวะ

ผู้ถาม : อยู่ต่างประเทศ อยู่อังกฤษค่ะ ช่วงนี้ล็อคดาวน์มาปีหนึ่งแล้ว ก็อยู่กับตัวเองมาตลอดค่ะ แล้วบางทีนั่งสมาธิ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เดินนะคะ แล้วรู้สึกว่า เท้าหายไป ไม่รู้สึกเท้าเลยค่ะ แล้วก็กลัว ไม่อยากทำต่อ เพราะว่าอยู่คนเดียว ไม่มีครูแนะนำ เพราะว่าวัดใกล้ๆ ก็ปิด

 

ดังตฤณ : ขอพูดถึงจุดนี้ก่อนนะครับ ตอนที่เท้าหายนี่ เราทำความเข้าใจอย่างนี้นะว่า ใจของเราเบานะครับ

 

คือ คนที่ไม่เคยเกิดประสบการณ์ทางการปฏิบัติมาก่อน พอมีอะไรผิดปกติขึ้นมา จะเห็นเป็นความผิดปกติของชีวิต

ทีนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ว่า การที่รู้สึกว่าเท้าหาย 

 

เป็นอาการทางใจที่มีความเบา 

ที่มีความเป็นกุศลนะครับ 

ที่มีลักษณะของปีติ 

ที่มีลักษณะของความว่าง

 

เป็นอาการทางใจในทางกุศล ในทางที่ดี ในทางที่จะยกระดับชีวิตของเรา ความกลัวจะหายไป


ยิ่งเกิดบ่อยขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งคุ้น แล้วก็เห็นตามจริงนะครับว่า ที่เราเดินแล้วเท้าหายไปนี่ ไม่ใช่เพราะว่าเท้าหายไปจริงๆ แต่เพราะใจของเรายกระดับขึ้นมา จากภาวะฟุ้งซ่านเป็นภาวะที่เงียบสงบ แล้วก็มีความใกล้จะรวมดวง 

คือ ถ้าจิตไม่ใกล้จะรวมดวง ไม่มีทางเลย ที่จะเบาขนาดทำให้ภาวะทางกายรู้สึกเลือนลางนะ ราวกับว่าจะหายไป

 

จิต ต้องมีความตั้งมั่นระดับหนึ่งแล้ว ถึงจะมีความเด่นชัดกว่าร่างกายขึ้นมา

 

ที่คุณเห็นว่าเบา ที่คุณเห็นว่าเท้าหาย เพราะว่าจิตนะครับ จิตดีๆ นี่ มีความเด่นขึ้นมาบังกาย ทำให้ตัวเองไม่เกิดความรู้สึกถึงภาวะประสาทสัมผัส 


ทีนี้ เพื่อที่จะให้เรามีลักษณะของทิศทางของจิต ที่จะเดินปัญญาต่อ ที่จะก้าวหน้าขึ้นไปอีก ให้พิจารณาอย่างนี้ 

 

ครั้งต่อไป เวลาเท้าหายอีกครั้งหนึ่งนี่นะครับ ถามตัวเองง่ายๆ ว่า กลัวไหม 

ถ้าหากว่ากลัว ยอมรับว่ากลัว อย่าไปปฏิเสธนะ ว่าฉันไม่กลัว 

 

ให้มองว่า ความกลัว ที่กำลังปรากฏ ณ เวลาที่เท้าหายนี่ เป็นภาวะของธรรมะดีๆ ที่จะทำให้ปัญญาของเราต่อยอดขึ้นไปนะครับ

 

ต่อยอดอย่างไร ต่อยอดในแง่ที่เราเห็นว่า ความกลัวนี่ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะเท้าหายนี่ เป็นภาวะที่เด่นชัดที่สุด เป็นภาวะที่เราไม่ต้องไปเค้น ไม่ต้องไปควานหา มันปรากฏอยู่ชัดเจนที่สุด

 

เพราะฉะนั้น ใจที่เผชิญหน้ากับความกลัวตรงๆ กลัวว่าเท้าหายไป เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตฉันนี่ เราจะมองเห็นทันทีว่า ความกลัวจะถูกรู้ เป็นสิ่งถูกรู้

 

เดิมนี่ ความกลัวจะเกาะจิต แล้วก็ติดห่อหุ้มอยู่กับตัวเรา จนกระทั่งนึกว่า เรานี่กำลังจะมีอันเป็นไป แต่พอความกลัวถูกรู้ชัดๆ ว่า นี่ สักแต่เป็นความกลัว ที่กำลังเกิดขึ้นกับจิต ก็จะเห็นเป็นภาวะอีกภาวะหนึ่ง แยกไปต่างหาก เป็นต่างหากจากชีวิตของเรา

 

เดิมนี่ เรานึกว่าเรากลัวเพื่อชีวิตตัวเอง แต่พอเราเห็นความกลัวชัดๆ ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น เราจะรู้เลยว่า ความกลัวกับชีวิตเรา แยกเป็นต่างหากจากกันได้ 

 

ความกลัวอยู่ส่วนความกลัว ชีวิตเราอยู่ส่วนชีวิตเรา

 

ชีวิตเราอยู่ตรงไหน ..อยู่ตรงที่ มีกายที่กำลังเคลื่อนเดินอยู่ มีใจ ที่กำลังมีอาการรับรู้อยู่ ส่วนความกลัวนี่ หน้าตาเป็นอย่างไร

 

มีหน้าตาบีบๆ 

มีหน้าตามืดๆ 

มีหน้าตากังวล 

มีหน้าตาแบบว่า กระสับกระส่าย

 

มีหน้าตาแบบที่พูดง่ายๆ ว่า เป็นคนละตัวกับร่างกาย และเป็นคนละตัวกับสภาวะของจิต ที่กำลังรู้อยู่นะครับ

ตัวนี้ พอเราเริ่มแยกออก ความกลัว ก็จะอยู่ส่วนความกลัว แล้วจิตจะอยู่ส่วนจิต 

 

ตรงที่เราเริ่มแยกความกลัวออกนี่นะครับ จะเป็นคำตอบอย่างดีเลยว่า เราจะเดินจงกรมไปทำไม 

 

ตอนแรก เราเดินจงกรม เขาบอกให้เดิน เราก็เดิน เขาบอก ให้รู้เท้ากระทบ เราก็รู้ แต่ยังไม่มีทิศทางเลยว่า จะรู้ไปเพื่อเอาอะไร จนกระทั่ง เกิดภาวะอย่างของผู้ถามนี่นะ ..เท้าหาย อ้าว เห็นไหม เท้าหายหมายความว่าอย่างไร กายไม่ปกติแล้วนี่

 

ตรงที่กายไม่ปกติแล้วนี่ จิตก็เกิดความหวาดหวั่นขึ้นมา แล้วถ้าหากว่าจิตเกิดความหวาดหวั่นขึ้นมา แล้วมีสติเห็นความหวาดหวั่นนั้น ก็จะเริ่มเข้าไปเห็นภาวะของรูป ภาวะของนาม โดยความเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนนะครับ

 

เป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพียงแต่ว่า เราต้องมีความเข้าจืบวกเข้าไปกับภาวะที่กำลังเกิดขึ้นนั้นนะครับ

 

ที่นี่ มาพูดถึงภาวะที่เบสิคกว่านั้นหน่อย เพราะการเท้าหาย แล้วเกิดความกลัวนี่ เกือบๆ จะ intermediate แล้ว เกือบๆ ขั้นกลางแล้ว

 

ทีนี้ มาพูดเรื่องเบสิคที่คนทั่วๆ ไป รวมทั้งผู้ถามสามารถเห็นได้เป็นประจำ

 

เวลาเราเดินจงกรมนี่นะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำ ก็คือว่า ความฟุ้งซ่าน อยากจะเลิกเดิน อยากจะหยุดเดิน หรือ ความรู้สึกเหมือนกับว่า คิดโน่นคิดนี่ไม่เลิก แล้วก็รำคาญตัวเอง แล้วก็ไม่รู้จะ 'รู้' อย่างไรให้ถูกต้อง พูดง่ายๆ ว่า เดินจงกรม แบบหลงเข้าป่า

 

เข้าป่า.. เข้าป่าอะไร ป่ารก คือ ความฟุ้งซ่านของใจตัวเองนะครับ


ทีนี้ ถ้าเราประยุกต์เอาแบบเมื่อกี้ ที่ผมพูดถึงนี่แหละ เรารู้เท้ากระทบไป กระทบๆๆ แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่า ฉันฟุ้งซ่าน ที่การเดินรอบนี้ 

 

ให้วัดเป็นรอบเลยนะครับ ว่า รอบนี้เดินแล้วฟุ้งมาก 

กลับมาอีกรอบหนึ่ง ฟุ้งน้อยลงไหม ถามตัวเองง่ายๆ จะมีคำตอบออกมาชัดเจนนะครับ ฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อย


คนนี่ จริงๆ แล้วนะ จะเดินจงกรมรู้เรื่อง ตอนที่จิตมีความตั้งมั่นระดับหนึ่ง 

 

มีความตั้งมั่นแค่ไหน แค่ที่สามารถรู้สึกได้ว่า เท้ากระทบๆ ไปนี่ พาให้ไปรู้ทั้งตัว และทั้งตัวนี่ มีความนิ่ง ไม่มีความเคลื่อนไปที่อื่น ไม่มีความฟุ้งซ่าน

อย่างนี้จะเริ่มเดินจงกรมรู้เรื่อง เพราะว่าจะเริ่มเห็นร่างกาย ที่เคลื่อนเดินไปนี่ ไม่ใช่ตัวเราเคลื่อน แต่เป็นรูป สักแต่เป็นรูปที่เคลื่อนไปนะครับ

 

แล้วก็มีนามเป็นความฟุ้งซ่านบ้าง เป็นความสงบบ้าง เป็นจิตที่สว่างบ้าง เป็นจิตที่มีความมืดบ้าง แฝงอยู่ในร่างนี้ แฝงอยู่ในรูปที่กำลังเคลื่อนไป ..นี่ จะเริ่มเดินแบบรู้เรื่อง


ทีนี้ ก่อนที่จะเดินแบบรู้เรื่องนี่ เราเอาเบสิคก่อน คือ เห็นให้ได้ ว่าที่เดินไปนี่นะครับ ศูนย์กลางการรับรู้อยู่ที่เท้ากระทบๆ ไป แล้วไม่เคลื่อนไปจากเท้ากระทบนั้นนะครับ


พอเดินไปหลายๆ รอบเข้า จะรู้สึกทั้งตัวขึ้นมาเอง ทีนี้ พอรู้สึกทั้งตัวขึ้นมานี่ ก็จะเริ่มกลับไปฟุ้งซ่านใหม่ กลับไปเห็นว่า ความคิดฟุ้งซ่านความคิดวกวน นะ เดี๋ยวก็ย้อนกลับมาครอบงำจิต


ตรงนี้ ถ้าเรามีแนวทางอย่างชัดเจนนะ ว่า เดินแต่ละรอบ เราจะรู้ว่าความฟุ้งซ่านรอบนั้นมากหรือว่าน้อย ถ้ามากนี่ จะรู้สึก เดินไม่รู้เรื่องเลย

 

ตอนเดินไม่รู้เรื่องนี่นะ บอกตัวเองไปว่า นี่ กำลังมีจิตฟุ้งซ่านมากนะครับ


แต่พอเดินไป รู้กระทบๆๆ ไป แล้วเหมือนกับใจว่างๆ บ้าง ใจเห็นว่า เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาอ่อนๆ นี่ก็ให้บอกตัวเองว่า อย่างนี้ เดินรอบนี้ คือ ฟุ้งซ่านน้อย นะครับ

 

พอรู้เห็นว่า ความฟุ้งซ่านไม่เที่ยง ไม่เหมือนเดิมในแต่ละรอบ หลายๆ รอบเข้า จิตจะเริ่มเข้าที่ จะเริ่มจับจุดถูกว่า ที่เรารู้เท้ากระทบไปนี่ เพื่อให้เห็นกายถนัดๆ กายในท่าเดินนี่อย่างชัดเจน

 

แล้วพอเห็นกายได้ชัดเจนแล้ว มันแยกออก..แยกออกมาเป็นเลเยอร์ (layer) คนละเลเยอร์กับความฟุ้งซ่านได้ แล้วตอนที่แยกเลเยอร์กันได้นี่ แยกออกมาเป็นคนละชั้นกันนี่ จะได้เห็นอย่างถนัดว่า ความฟุ้งซ่านแต่ละรอบนี่ ไม่เท่าเดิม ต่างไปเรื่อยๆ 

 

นี่แหละ ตัวนี้จะเริ่มจุดชนวน จุดประกายสติอย่างใหญ่ขึ้นมา เริ่มเห็นว่า กายอยู่ส่วนของเลเยอร์ของรูปนะครับ 

 

ส่วนใจนะครับ ความฟุ้งซ่านอยู่อีกเลเยอร์หนึ่ง เป็นเลเยอร์ของนามธรรม ที่ไม่เท่าเดิมในแต่ละรอบของการเดินจงกรมนะครับ

 

ถาม : ถ้าช่วงที่เรารู้สึกว่าเท้า คือขาหายไปเลย แล้วตกใจนี่ แล้วจะเรียกสติกลับมาอย่างไรคะ

 

ดังตฤณ : นี่ล่ะครับ ที่เราคุยกันนี่ครับ มันจะเข้าไปฝังอยู่เป็นความจำนะครับ

 

แล้วพอภาวะเท้าหาย หรือขาหายไปนี่นะ ก็จะเหมือนการลั่นไก จะทริคเกอร์ (trigger) ตัวความจำตรงนี้กลับขึ้นมานะ ว่าเวลาที่เท้าหายหรือขาหายนี่ ไม่ใช่หายไปจริงๆ แต่จิตของเราเบาจนกระทั่ง จิตของเราเด่นขึ้นมาแทนกายนะครับ

 

จากเดิม ที่จิตไม่ปรากฏ มีแต่ร่างกายของเราปรากฏมาชั่วชีวิต ว่ากำลังมีความหนัก มีความทึบ มากหรือน้อยแค่ไหน ..มันเปลี่ยนมาเป็นว่า จิตเด่นกว่า.. จิตเด่นกว่ากาย และตอนที่จิตเด่นกว่ากายนี่ มีความเบามากๆ จะเหมือนกายหาย


พอทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ เวลาเกิดภาวะนั้นขึ้นมาอีก เราจะรู้แล้ว เราจะได้คำตอบ ณ นาทีนั้นว่า ที่หายไป ไม่ใช่หาย แต่ว่าจิตเบา และจิตเด่นเกินนะครับ

 

คราวนี้ สติของเราที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ก็จะได้มีความรู้ว่า ไม่ได้ดูที่กายแล้วนะ มาดูที่จิตแทน ..จิตของเราเป็นอย่างไร จิตมีความกลัว มีความหวาดหวั่น หรือมีความรู้สึกเฉยๆ

 

พอได้คำตอบไปแล้ว กลายเป็นอุเบกขา เห็นความต่างของจิตที่ปรุงแต่ง แตกต่างกัน

แล้วแต่ละรอบนี่นะครับ ถึงแม้ว่า เราจะมีจิตที่เบาแล้วก็ตาม หรือว่าขาหรือเท้านี่หายไปแล้วก็ตาม ก็ไม่เหมือนเดิมอีกนะครับ

 

พอ เดินไปๆ นี่ เกิดความรู้สึกใหม่ขึ้นมาว่า บางทีเท้ากลับมา บางทีขากลับมา หรือบางที คราวนี้ไม่ใช่หายแค่ขา ไม่หายแค่เท้า แต่หายทั้งตัวเลย ราวกับว่า... จริงๆ นะ จะมีความรู้สึกราวกับว่า ร่างกายไม่ได้เป็นผู้เดินอีกต่อไป มีแต่จิตเป็นผู้เดินนะครับ

 

ภาวะตรงนี้ เดี๋ยวจะเห็นเองนะ

 

ผู้ถาม : ถ้าเราเจอตรงจิต ที่ว่าตัวหายไปนี่ ก็ต้องดูที่จิตอย่างเดียวเลยใช่ไหมคะ ไม่ไปกังวลเรื่องว่าร่างกายไม่อยู่แล้ว หรืออะไรแล้วใช่ไหมคะ


ดังตฤณ : อย่างที่ถามมานี่ ใจมันไปเล็งแล้วว่า จะมากลับมาเพ่งดูที่จิตนะ อันนั้น ไม่ใช่นะ

 

จิตไม่ได้มีตำแหน่งให้เรากลับ .. ย้อนกลับมาดูนะ

 

แต่ความรู้สึกทั้งหมด ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนั้นเลย นั่นแหละ คือจิต

 

คือ สิ่งที่คุณจะต้องทำความเข้าใจ ก็คือ จำไว้ว่าทั้งหมด ที่คุณรู้สึกว่าเบา ที่คุณรู้สึกว่าขาหายไป เท้าหายไป ทั้งหมดนั่นแหละ ที่รับรู้นั่นแหละ คือ ประสบการณ์ทางจิต 

 

แล้วไม่ต้องไปหาจิตที่ไหน เพราะทั้งหมดของจิตนี่ อยู่ตรงนั้นแหละ อย่าย้อนกลับมาดูจิตนะครับ


เมื่อกี้ตอนที่ถาม เหมือนกับเราจะย้อนกลับเข้ามาดู ซึ่งไม่ใช่นะ คำว่า ย้อนกลับมาดูนี่ ใช้สำหรับคนที่จิตยังไม่เด่น เวลาที่ย้อน ..พอใช้คำพูดว่า ย้อนกลับมาดูจิตนี่ ..มักจะกำลัง .. สมมุติว่า เจอกับศัตรูคู่แค้น แล้วเกิดความรู้สึกอาฆาต เกิดความรู้สึกอยากจะพูดให้มันเจ็บช้ำน้ำใจ อะไรแบบนี้แล้วท่านแนะนำให้ย้อนกลับมาดูจิต 

 

อย่างนี้ อันนี้เป็นประเด็นมาดูจิต ว่ากำลังเป็นอย่างไรอยู่ 

 

เกิดความโกรธ เกิดความแล่นไป เกิดความร้อน อย่างนี้เรียกว่า ย้อนกลับมาดูจิต


แต่กรณีของคุณ ไม่ต้องย้อนกลับมาดู ทั้งหมดที่กำลังปรากฏนั่นแหละ คือ ประสบการณ์ทางจิต แล้วเป็นภาวะของจิต ที่ถ้าเรารู้แล้วนี่ รู้ได้ตรงๆ เลยว่า จิตของเรากำลังเป็นอย่างไรอยู่ นะ

 

อย่างเช่น ถ้าจิตเกิดความกลัว แล้วเรารู้ความกลัวนี่ นั่นเท่ากับเราเชิญหน้ากับความกลัวที่เป็นการปรุงแต่งจิตตรงๆ เลย เป็นของที่เพียว (pure) อยู่แล้ว เป็นของที่เราไม่ต้องไปกลั่นกรอง ไม่ต้องไปควานหานะครับ

 

สรุปง่ายๆ นะครับ ถ้าเกิดภาวะเท้าเบา ขาหาย หรือกระทั่งตัวทั้งตัวหายไปเลยนี่ ให้บอกตัวเองว่า ขณะนี้เรากำลังเห็นจิตนะครับ 

 

ทั้งหมดที่กำลังรู้สึกอยู่ตรงนั้นเลย โดยไม่ต้องไปปรุงแต่งเพิ่ม ไม่ต้องไปลด ไม่ต้องไปอะไรทั้งสิ้นนี่ ทั้งหมดนั้น คือ เราเห็นจิตอยู่แล้ว เป็นการปรุงแต่งของจิตนะครับ

 

ถาม : ก็จะต้องทำๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ


ดังตฤณ : ตั้งความเข้าใจไว้อย่างนี้ แล้วจะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เองนะครับ
___________________

คำถามที่ ๙

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค ครั้งที่ 3

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=LMWB-L2HGTE




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น