วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

เจริญสติรู้อิริยาบทและฝึกอานาปานสติ จนรู้อนิจจสัญญา ตอนหลังรู้สึกเบื่อหน่ายจนเป็นโทสะ จะแก้ไขอย่างไร

 ผู้ร่วมรายการ : โดยพื้นฐานผมเป็นพุทธตามทะเบียบบ้าน ทำบุญตามประเพณี ยังไม่ได้รู้สึกว่าเชื่อในศาสนาพุทธ จนกระทั้งช่วงวัยรุ่นมีความรัก แล้วผิดหวัง ตอนนั้นผิดหวังแล้วไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเป็นฆราวาสที่เรียนเกี่ยวกับพระอภิธรรมมา แล้วเขียนโดยอิงจากพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นก็มีทุกข์”  หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ “รักคนอื่นเสมอรักตนเองไม่มี” ตอนนั้นมีความทุกข์จากความรักที่ผิดหวัง แต่อ่านบทความเหล่านั้นแล้วผู้เขียนอธิบายแง่มุมว่า ทำไมมันเป็นแบบนั้น เช่น เรารักรู้สึกว่าเรารักคนอื่นมาก เราสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆให้กับคนอื่นได้ แต่พอพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “รักคนอื่นเสมอรักตัวเองไม่มี” ผู้เขียนอธิบายว่า รักคนอื่นไม่มี รักตัวเองมากที่สุดเนื่องจากว่า เวลาเราผิดหวัง ที่เราเสียใจจากที่คนอื่นเขาไม่รักเรา แล้วเราผิดหวังเสียใจ มันเป็นเพราะจริงๆแล้ว เรารักตัวเราเองมากกว่า

ดังตฤณ :  มันเป็นข้อพิสูจน์ว่าเรารักตัวเอง ไม่ใช่รักคนอื่น ทีนี้ที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการปฏิบัติสมาธิหรือว่าเดินจงกรมยังไงมั้ยครับเช่น มันพาเราออกจากความรู้สึกรักตัวเองยังไงบ้าง

ผู้ร่วมรายการ : ครับ หลังจากนั้นก็เลยสนใจ หรือว่ามีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ก็เลยเริ่มศึกษา ศึกษาจากคนที่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนั้น เริ่มแรกผมเริ่มปฏิบัติโดยลักษณะของวิปัสสนาก่อน ใช้ลักษณะของอิริยาบถบรรพของสติปัฏฐาน ๔ รู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอน โดยอาศัยสติ ไม่ได้ทำสมาธิก่อนเลย รู้อิริยาบทเลย เช่น นั่งอยู่ก็รู้ว่ามันเป็นลักษณะของรูปนั่ง ยืนอยู่ก็รู้ลักษณะของรูปยืน โดยกำหนดสติเป็นหลัก ช่วงแรกจิตมันยังฟุ้งซ่านไปรู้สิ่งข้างนอกบ้าง แต่พอกลับมารู้อิริยาบถตัวเองและพอมีสติเกิดมากขึ้น แทนที่เราจะรู้แค่อิริยาบถสี่ มันกลับเป็นรู้อย่างอื่นด้วย อย่างเช่น ใจฟุ้งซ่านคิดไป จะมีสติรู้ว่ามีความคิดวิ่งออกไป มันก็รู้เป็นลักษณะจิตแทน ทั้งๆที่ตอนแรกเรารู้แค่รูปอย่างเดียว หรือตอนกินข้าวปกติถ้ากินข้างนอกเราจะรู้สึกสึกว่ามันอร่อย แต่ตอนนั้นมันรู้สึกแค่เป็นสัมผัสของรสที่แตะลิ้นแล้วก็จบ มันไม่มีความรู้สึกว่ามันปรุงว่า มันรสเปรี้ยว เค็ม หวาน หรือว่าอร่อย

ดังตฤณอนุโมทนาครับ สำหรับคืนนี้มีคำถามว่าอย่างไรบ้างครับ

ผู้ร่วมรายการ : คำถามผมคือ พอหลังจากนั้น ผมทิ้งตัววิปัสสนานั้นไป เนื่องจากว่ามันอยู่ในช่วงการเรียนมหาวิทยาลัย อารมณ์หรือสิ่งแวดล้อมมันไม่เอื้ออำนวย หลังจากนั้นประมาณสองปีที่เคยฝึกมามันก็มีรู้สึกตัวเรื่อยๆ แต่ว่ามันเบาบางมาก เพราะไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติเต็มที่ แต่สองปีที่ผ่านมา ผมเรียนจบทำงานแล้วมีเวลามากขึ้น ก็เริ่มมาฝึกอานาปานสติร่วมด้วย โดยดูจากในวิสุทธิมรรค ที่มีการนับลม ๑ ลม ๒ ตาม พอฝึกไปสักพักปรากฏว่า ตัวอิริยาบถบรรพที่เราเคยฝึกไว้มันกลับมาด้วย

ดังตฤณตรงนี้ถูกแล้วนะครับ คือลมหายใจเนี่ย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้รู้ลมหายใจ พระพุทธเจ้าให้เอาลมหายใจเป็นจุดเริ่มต้น เป็นปากประตูเป็นปากทางหรือเป็นสปริงบอร์ด หรือเป็นราวเกาะให้เราเข้ามารู้ทั้งกายทั้งใจทั้งหมดเลยว่า ในแต่ละลมหายใจมันสามารถเห็นอะไรในกายใจได้บ้าง เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ชัดเจน ในโพชฌงคสูตร

ในโพชฌงคสูตรพระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีอานาปานสติเป็นฐานที่ตั้งอย่างแข็งแรงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา เราสามารถตรวจดูได้เลยว่า แต่ละลมหายใจมีองค์ของโพชฌงค์อยู่เป็นยังไงบ้าง เอาง่ายๆเลย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอานาปานสติว่า หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก รู้ว่าหายใจออก ตรงนั้นเป็นเบสิก(basic)

แต่ที่แอดวานซ์(advance)ที่ยังตามไปอีกคือ หายใจเข้ามีสภาวธรรมอะไรแสดงอยู่ในลมหายใจเข้า หายใจออกมีอะไรแสดงอยู่ในลมหายใจออกนั้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าหากว่ามีจุดเริ่มต้นมีจุดศูนย์กลางที่ดีของสติ มันปรากฏได้หมดอย่างที่คุณบอกถูกต้องเลยนะครับ พอเรารู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง อิริยาบถมันปรากฏเอง โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเค้น หรือว่าไปพยายามนึกถึง

เนื่องจากว่าจุดที่ลมหายใจเข้ามา มันก็คือศูนย์กลางความเป็นกายนั่นแหละ ถ้าหากว่าเรารู้จักลมหายใจได้ เราก็รู้จักภาวะความเป็นกายในอิริยาบถนี้ได้ครับ

ผู้ร่วมรายการ : พอหลังจากนี้มันเริ่มรู้ถี่ขึ้นสติเกิดบ่อยขึ้น ก็เริ่มมีอนิจจสัญญาคือเริ่มรู้ความไม่เที่ยงของลักษณะการแปรเปลี่ยน มันจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรา ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์เช่น รู้สึกว่ามันมีแล้วมันไม่มี มันรู้สึกว่าใจหาย มันจะมีสองจังหวะ ถ้าสติเกิดทันมันจะรู้สึกสังเวชและเบื่อหน่ายความมีชีวิตอยู่ เป็นลักษณะสังเวชที่ปัญญามันทำงาน

แต่ว่าโดยส่วนมากที่ประสบกับตัวเองเวลาเกิดสภาวะที่เราเข้าไปเห็นความไม่เที่ยงในตัวเองแล้วรู้สึกเบื่อหน่าย มันกลับกลายเป็นอารมณ์ของโทสะแทนที่ เรารู้สึกว่าเรายังไม่อยากพรากออกจากร่างกายนี้ ยังรู้สึกว่ายึดติดอยู่กับร่างกายนี้ครับ

ยิ่งสติยิ่งถี่เท่าไหร่ มันยิ่งเห็นโทษของร่างกาย ยิ่งเห็นโทษของวัฏฏะในการเวียนว่ายตายเกิด พอมันเห็นโทษมากๆ แทนที่มันจะเป็นอารมณ์ของปัญญาเป็นความสังเวช กลับกลายเป็นอารมณ์ของโทสะที่เรารู้สึกว่ามันทุกข์ แล้วกลายเป็นโทสะ ผมรู้สึกว่ามันไม่ไหว แล้วรู้สึกว่ามันทุกข์มากเกินไปจนมันต้องคลาย หมายถึงว่าผมจะต้องทำสติให้มันน้อยลง เพราะเวลามันทุกข์โดยสภาวะนั้นมันไม่ไหวเลยครับ

ดังตฤณผมเข้าใจประเด็นปัญหา อย่างนี้นะครับ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจ ผมเจอคำถามนี้มาเยอะมาก จนกระทั่งเกิดความเข้าใจขึ้นมาจุดหนึ่ง ที่คนเราปฏิบัติมาแต่ละคนนะครับจะมียางเหนียวแตกต่างกัน ยิ่งมียางเหนียวมากขึ้นเท่าไหร่ พอปฏิบัติไปลึกขึ้นลึกขึ้น ยางเหนียวนี้มันจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ มันจะพยายามยื้อเราไว้ อันนี้สำหรับคนที่มียางเหนียวนะครับ มีความยึดมั่นถือมั่นสูงๆเนี่ย ขอให้สังเกตนะ เหมือนกับหนังสติ๊กที่เราพยายามจะยืดออก ตอนแรกจะพยายามดึงมันให้ขาด แต่ถ้ามันไม่ขาดซักที เนื่องจากมันเหนียวมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เราจะเกร็งเนื้อเกร็งตัว เราจะรู้สึกฝืน เราจะรู้สึกฝืด เราจะรู้สึกว่ามันน่าโมโหที่ไม่ขาดซักที หรือว่าจะเกิดความรู้สึกว่า ที่เราต้องออกแรงเกร็งอยู่มากๆมันเป็นเหตุสะสมให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจขึ้นมา ผมเปรียบเทียบกับการยึดหนังสติ๊กแบบนี้แหละ พยายามที่จะยืดเพื่อให้ขาดแต่มันไม่ขาดซักที มันก็เลยเกิดความรู้สึกฝึด

ตอนที่มันรู้สึกฝืด มันรู้สึกว่าจะยืดออกแล้วออกไม่สุด หรือว่าขาดไม่ได้เนี่ย มันจะมีอยู่สองอารมณ์แทรกขึ้นมา ถ้าไม่เป็นโกรธ ก็จะมีความรู้สึกกลัว จริงๆแล้วมันมีมูลมาจากโทสะด้วยกันทั้งคู่ มันมีมูลฐานอันเดียวกันคือโทสะ

โกรธ คืออะไร?

โกรธ คือไม่พอใจ แต่ไม่รู้ว่าไม่พอใจอะไร สำรวจเข้าไปรู้แต่ว่ามันไม่พอใจ มันมีความรู้สึกว่า ภาวะความเป็นอย่างนี้มันไม่น่าอยู่อาศัย แต่เสร็จแล้วคุณสังเกตนะว่ามันมีอาการถกเถียงกับตัวเองว่าจะเอายังไง จะเอายังไงต่อราวกับว่ามันแบ่งออกเป็นสองภาค ตัวนึงมันอยากจะพ้นไป อีกตัวนึงมันอยากยื้อไว้ เนี่ย!มันทำให้เกิดอารมณ์โกรธ

กับอีกอันนึงคือ ความกลัวหรืออารมณ์กลัว พอมันมาถึงจุดนึงเห็นว่ากายไม่ใช่เราแน่ๆเนี่ย จุดนั้นอาจจะเกิดแค่วินาทีเดียว เสร็จแล้วแรงยื้อของยางเหนียวมันทำให้เราเกิดหวงตัวหวงตนขึ้นมา ในจักรวาลทั้งจักรวาลถ้าคิดแบบคนธรรมดา ไม่มีอะไรที่มันกลัวไปกว่าการไม่มีตัวตน

คุณคงเคยดูหนังที่มันเป็นบทลงโทษสูงสุด มันไม่ใช่การประหาร แต่ว่าทำลายตัวตนไม่ให้เหลือตัวตนอีกเลย ไม่ให้เหลือซากอีกเลย ไม่ให้มีแม้กระทั่งวิญญาณ ไม่ให้มีแม้กระทั่งจิต ก็จะบอกกันว่านี่เป็นภาวะที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุด มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเราอย่างที่สุด ถ้าใครจะมาพยายามทำลายอัตตา ทำลายตัวตนคนนั้นเนี่ย มันชั่วมากเป็นโจรเป็นอะไร แต่ที่แท้ที่ไหนได้ ถ้าหากทำลายตัวตนได้จริง พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นบรมสุข และพระองค์ชี้ทางไว้ด้วยว่า ทำยังไงถึงจะเห็นกายใจจนกระทั่งหมดตัวหมดตนได้ นี่พระพุทธองค์ไม่ใช่ผู้ร้ายนะครับ แต่เป็นพระผู้มาโปรดมาชี้ทาง

ทีนี้คือเราจะจัดการกับอารมณ์ตรงนั้นได้ยังไง?

แต่ละครั้งที่มันเกิดความรู้สึกเห็นจริงเห็นจังขึ้นมาว่า กายนี้สักแต่เป็นธาตุมาประชุมกัน ไม่ใช่ตัวเรา ตกลงไม่มีตัวเราจริงๆเหรอ แล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาต้องเสียพี่เสียน้องเสียญาติเสียสิ่งที่เป็นที่รักรวมทั้งครอบครัวและหัวใจสำคัญ ที่สุดที่จะต้องเสียไปก็คือตัวเอง ตอนนั้นเนี่ยตัวตนมันกำลังดิ้นอย่างที่สุด

และทำไมมันถึงดิ้น เพราะมันกำลังรู้สึกว่ากำลังจะเสียตัวเองไป กำลังจะเสียสิ่งอันเป็นที่รักที่สุดที่ยึดมาเหนียวแน่นชั่วกัปชั่วกัลป์ไป มันเลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนั้นได้ ซึ่งคนที่ไปถึงตรงนั้นได้ ถามว่ามาไกลแค่ไหนแล้ว ใช้ได้เลยนะครับ เพราะถ้าไม่ไปขุดถึงรากถึงโคนมันไม่สะเทือนดุ้งสะเทือนขนาดนั้น ไม่สะดุ้งสะเทือนขนาดหวาดกลัวขึ้นมาได้หรอก

เพราะฉะนั้น ได้ข้อสรุปตรงนี้ก่อนว่า คุณมาไกลพอสมควรนะครับ

ทีนี้จะไปต่อยังไง?

คุณต้องเข้าใจคำหนึ่ง จิตที่สามารถทิ้งได้จริง ไม่ใช่จิตที่หวาดกลัว ไม่ใช่จิตที่อยากได้มรรคผล แต่เป็นจิตที่มีความเป็นกลาง เป็นอุเบกขา

ถ้าหากว่าจิตไม่เป็นอุเบกขา มันไม่มีทางมีกำลังมากพอที่จะรวมลงเป็นสมาธิถึงฌานที่จะประหารกิเลสไปตัดล้างสังโยชน์ขึ้นมาได้ เป็นไปไม่ได้เลย

จำไว้จิตที่มีความกลัว จิตที่มีความโกรธ จิตที่มีแม้แต่ความอยากได้มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่จิตที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน

จิตที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานคือจิตที่ทิ้งอย่างเป็นกลาง

ราวกับว่าเป็นคนที่ถ่มเสลดออกจากปากได้ด้วยความรู้สึกที่ไม่อาลัยไม่อาวรณ์ และไม่อยากได้อะไรทั้งสิ้น ไม่อยากได้อะไรเพิ่มเข้ามาที่ปาก มีแต่อยากถ่มทิ้งไปจากปาก เนี่ยความรู้สึกของเหล่าพระอริยเจ้าเวลาท่านจะข้ามโครตปุถุชน ความรู้สึกมันแบบนั้นจริงๆ ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนะครับ เหมือนกับถ่มเสลดออกจากปากโดยไม่มีความอาลัยไยดี ไม่มีความเสียดายแม้แต่นิดเดียว

ทีนี้เราจะไปถึงตรงอุเบกขาได้ยังไง?

ตรงนี้แหละคือโจทย์สำคัญ ที่เป็นคำตอบที่ตรงโจทย์ของคุณในคืนนี้นะครับ

สิ่งเดียวที่จะทำให้จิตของเราเป็นอุเบกขาได้ คือการเห็นว่ามันไม่เที่ยง

เดิมเนี่ยคุณเห็นมามากมายแล้ว กายไม่เที่ยง กายเป็นธาตุ กายเป็นโน่นเป็นนี่ อารมณ์สุขอารมณ์ทุกข์ทั้งหลายมันแปรปรวนเห็นมาหมดแล้ว แต่ไม่สามารถเห็นขาด ไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกโกรธความรู้สึกกลัวในสังขารของตัวเองไปได้ เพราะเป็นอารมณ์ทีหนาแน่นชุกชุมมาก อย่างที่ผมเปรียบเทียบ มันเหมือนยางเหนียวที่มันเหนียวจริงๆ มันเหนียวเกรอะกรัง และมันสู้เราด้วย มันพยายามยื้อเราไว้ ทำยังไงยังไงมันก็ดูจะไม่สามารถเป็นกลางได้ แต่อยากพยายามดู

ถ้าคุณไม่พยายามดูนะ คุณแค่ทำไว้ในใจว่า มันจะโกรธแค่ไหน มันจะกลัวแค่ไหน มันจะรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่นแค่ไหนก็ตาม คุณยอมรับไปตามจริงว่ามันกำลังปรากฏอยู่ในความเป็นอารมณ์นั้น มันจะเหมือนยางมะตอย หรือกาวตราช้างอะไรสักอย่างที่มาเกาะหนึบติดจิตคุณตอนแรกๆ และเป็นกาวที่มืด เป็นยางมะตอยที่สีดำด้วย มันเกาะติดแน่นมากเลย เป็นก้อนเป็นกระจุก เป็นอะไรที่แกะไม่ออก

ทีนี้อย่าไปพยายามแกะ ให้ทำความรู้สึกในลมหายใจยอมรับว่า ที่ลมหายใจนี้มันมีความโกรธ มันมีความขัดเคืองในการเห็นสังขาร มันมีความกลัวว่าตัวตนมันจะหายไป ที่ลมหายใจนี้เป็นลมหายใจแห่งความโกรธ หรือไม่ก็ลมหายใจแห่งความกลัว พอเห็นไป ยอมรับไป ลมหายใจที่หนึ่ง ลมหายใจที่สอง ถึงลมหายใจที่สิบอาจจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย มันยังมียางมะตอยอยู่ มันยังมีกาวเหนียวๆติดจิตติดใจเป็นยางสีดำไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย แต่พอลมหายในที่สิบเอ็ดมันจะเริ่มมีช่องโหว่ ค่อยๆมีช่องว่างของยางมะตอย หรือว่าของกาวตรงนั้นนะครับ มันจะมีความรู้สึกว่า ที่มันเกาะเหนียวแน่นเนี่ย จริงๆมันมีช่องโหว่อยู่ ค่อยๆเกิดช่องโหว่ขึ้นมา เริ่มเห็นความไม่เที่ยงของความโกรธความกลัวในการจะไม่มีตัวตนแล้ว

พอเห็นไปเรื่อยๆ เห็นไปแบบยอมรับเป็นลมหายใจทีละลมหายใจไปเรื่อยๆ มันจะพาไปสู่ความว่า ที่สุดแล้วมันเหลือแต่ลมหายใจกับจิต จิตที่เห็นว่าสุดท้ายมีแต่ลมหายใจไม่มีความโกรธ ไม่มีกลัวอยู่ เพราะว่าความโกรธความกลัวแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นไปแล้วเนี่ย ตรงนั้นย้อนกลับมาดูสังขารอีกที คราวนี้มันจะดูด้วยความว่างเปล่า มันจะดูด้วยความรู้สึกอีกแบบนึง ไม่ใช่บุคคลเป็นผู้ดู มันจะมีความรู้สึกว่าสภาวธรรมดูสภาวธรรม จิตมันกำลังดูความไม่เที่ยงของตัวเองอยู่ จิตมันกำลังดูความไม่เที่ยงของความปรุงแต่งที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้วค่อยๆผ่านไปทีละคืบทีละวาทีละศอก

ตรงนี้เนี่ยครั้งแรกๆอาจจะรู้สึกเหมือนฝืนๆหน่อย แต่มันเหมือนกับคนเล่นกีฬา ยิ่งเล่นมันยิ่งชำนาญ พอคุณเห็นความกลัว หรือความโกรธในการรู้สึกว่ามันจะไม่มีตัวตนบ่อยขึ้น ในที่สุดแล้วมันกลายเป็นความเคยชิน มันกลายเป็นความชำนาญเป็นอัตโนมัติ ทุกครั้งที่เกิดความกลัวหรือความโกรธแบบนี้ขึ้นมา มันจะค่อยๆสลายตัวไปให้ดู แล้วสังเกตได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องก็คือว่า จิตของคุณมันจะเข้าสู่ภาวะหนึ่งที่เรียกว่าไม่รู้ไม่ชี้ มันจะมีหรือไม่มีตัวตนช่างมัน ตัวที่ไม่รู้ไม่ชี้ช่างมันเนี่ย ตัวนี้มันเข้าใกล้ความเป็นสังขารุเปขาญาณ

สังขารุเปกขาญาณ จะเป็นตัวสะพานให้ข้ามโครตจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยะจะต้องมีสมาธิประกอบ ต้องมีกำลัง และกำลังมันก็สั่งสมมาจากความเคยชินที่จะเห็นแบบยอมรับความจริงนั่นแหละ อันนี้ตอบยาวนิดนึง โอเคช่วยเปิดไมค์และอันนี้คือคำตอบแล้วนะครับ

ผู้ร่วมรายการ : ครับ ขอบคุณมากครับ ได้เห็นภาพแล้วครับ ขอบคุณมากครับ

----------------------------------------

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
Clubhouse รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน  

คำถาม : เมื่อก่อนเจริญสติรู้อิริยาบท ต่อมาฝึกอานาปานสติ ทำให้รู้พร้อมกันทั้งลมและอิริยาบทถูกต้องไหม? รู้อนิจจสัญญา ถ้าสติเกิดทันจะรู้สึกสังเวช เบื่อหน่าย แต่โดยทั่วไปแล้วรู้สึกใจหายกลายเป็นโทสะ

ระยะเวลาคลิป    ๒๐.๔๒  นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=M23MGNIn1z8&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=34&t=741s

 ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น