วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พอรู้สึกว่ากายใจไม่ใช่ตนแล้วเจ็บปวด


ดังตฤณ : คืนนี้ เราจะมาว่ากันด้วยประเด็นที่ หลายคนประสบหลังจากที่ได้เจริญสติมาพักหนึ่ง หรือว่าฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วเกิดอาการรู้อาการเห็นเข้ามาข้างใน รู้สึกถึงความเป็นกายใจ บางทีก็อาจเดินจงกรมอยู่  หรืออาจปฏิบัติธรรมแบบใดแบบหนึ่งตามถนัดของตนเอง แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เอ๊ะ เหมือนเห็นกายนี้ เป็นของคนอื่น เหมือนเห็นใจนี้ ที่คิดๆ อยู่ ไม่ใช่ตัวเราคิด แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ ไม่มีตัวตนของเราจริงๆ ด้วย ซึ่งก็ถือว่า มาถูกทิศถูกทางแล้ว ที่จะรู้ ที่จะเห็นแบบพุทธนะครับ

แต่ว่าเกิดปัญหาขึ้นมาคือ บางคนเกิดความรู้สึกว่า จิตไม่ยอมเชื่อ ไม่อยากเชื่อ แล้วก็ไม่อยากที่จะปล่อย เกิดความรู้สึก ... บางคนอธิบายว่ามันรวดร้าวอยู่ข้างใน ... ช็อค เกิดความรู้สึกตกใจ เกิดความรู้สึกว่านี่อะไรกัน ที่เชื่อมาตลอดชีวิต ผิดหมดเลย พังพินาศหมดเลย ระบบความเชื่อแบบเดิมๆ

หลายคนเกิดความรู้สึกไม่อยากจะเชื่อ ไม่อยากจะทิ้ง หรือเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมา ทั้งๆที่ปฏิบัติธรรม เจริญสติมาตลอด ก็เพื่อที่จะได้เห็นว่า กายใจไม่ใช่ตัวตน แต่พอเห็นขึ้นมาจริงๆ แล้วเกิดความกลัว เกิดความตระหนก หรือเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะเชื่ออย่างที่เห็น นี่มีสาเหตุมาจากไหน มาจากสองสาเหตุหลักๆ เท่าที่เจอมานะครับ แล้วก็เคยประสบมากับตัวเองด้วยคือ

ข้อที่หนึ่ง อาจเคยมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวตนสูงมาก พูดง่ายๆ ว่ามีอัตตาใหญ่ มีอีโก้ (
ego) เยอะ แล้วก็มีดี โน่น นี่ นั่น ที่ทำให้หวงความเป็นตัวเป็นตน

คิดง่ายๆเลยคือ ลองนึกดูว่า คนมีหน้ามีตา ใครจะอยากเสียหน้าเสียตาใช่ไหม หรือมีข้าวของทรัพย์สมบัติ ใครบ้างที่อยากสละ หรือ มีความคุมแค้น มีความรู้สึกว่าพยาบาทใครอยู่ มีสักกี่คนที่อยากจะเสียสละความแค้น หรือว่าความพยาบาทนั้นให้อภัยเป็นทาน ไม่ค่อยมีกัน ทีนี้ถึงขั้นที่จะสละความรู้สึกว่ามีตัวตน อันนี้ เป็นโคตรเหง้าของความรู้สึกหวงแหนทั้งปวงเลยทีเดียว ฉะนั้นก็ไม่น่าแปลกใจถ้าหากว่า เริ่มเห็นขึ้นมาว่า ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ กายนี้ใจนี้ เหมือนเป็นของอื่น เป็นของที่คล้ายเป็นเหยื่อล่อเฉยๆ ให้จิตไปตะครุบ ไปงับเอา ไปยึดเอาอย่างแบบที่เรียกว่าสำคัญผิด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อยึดมั่นสำคัญผิด ตัวนั้นแหละที่เรียกว่า อุปาทาน

อุปาทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีที่ตั้งเป็นขันธ์ทั้งห้า หรือว่ากายใจนี้ ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นอุปาทานขันธ์ หรือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งของอุปาทาน

ถ้าหากว่า เริ่มเจอเป็นครั้งแรกๆ ก็อย่าแปลกใจ เวลาเกิดความรู้สึก ช็อค ไม่อยากเชื่อ หรือเกิดความรู้สึกหวง คล้ายๆ คนที่ตอนแรกตั้งใจจะไปบริจาคเงินหนึ่งหมื่นบาท ด้วยความรู้สึกว่าปรารถนาอย่างแรงกล้า จะต้องเอาเงินจำนวนนี้ไปช่วยผู้ประสบภัย หรือว่าไปทำบุญ ทำกุศล ที่เราเกิดความรู้สึกศรัทธาขึ้นมา แต่พอถึงเวลาเข้าจริงๆ เกิดความรู้สึก โอ้โห ตั้งหนึ่งหมื่นแน่ะ แล้วก็คิดว่า ลดลงสักนิดดีไหม เหลือแค่ห้าพัน หรือ แค่พันเดียวก็น่าจะโอเคแล้ว ถือว่าเราได้มีส่วนช่วยร่วมกับอีกหลายๆ คนอะไรต่างๆ นานา

เหมือนกัน ตอนแรกตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรม เจริญสติมาก็เพื่อที่จะสละตัวตน ความรู้สึกผิดๆ ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน แต่พอเอาเข้าจริงๆ เห็นขึ้นมารำไรว่าลมหายใจก็ไม่เที่ยง ความรู้สึกสุข ทุกข์ก็ไม่เที่ยง กายที่กำลังเดินเป็นหุ่นคล้ายๆ เป็นนายแบบนางแบบ บนแคทวอล์ค คือ เวทีโลก เห็นเป็นหุ่น เห็นเป็นเหมือนกับของหลอก ของล่อ แล้วเกิดความรู้สึกตระหนกขึ้นมา ไม่ต้องแปลกใจ บางที บางคนไม่กล้าปฏิบัติธรรมเลยก็มี ด้วยความรู้สึกตกใจนั้น
เรื่องนี้ก็ขอให้มองว่า เราน่าจะยึดมั่นถือมั่น มีความรู้สึก มีอีโก้สูง

ข้อสอง ที่เคยเจอมาก็คือว่า ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ แต่ว่าปฏิบัติธรรมในแบบที่ใจแห้งๆ ไม่มีความสุข ไม่มีความรู้สึกชุ่มชื่นรองรับอยู่ พอเกิดความเห็นขึ้นมาคร่าวๆ เกิดความเห็นขึ้นมารางๆ ว่า นี่น่าจะไม่ใช่ตัวเราจริงๆด้วย เป็นแค่หุ่นที่เราไม่เคยออกแบบ เป็นแค่สภาวะทางธรรมชาติที่ไม่มีใครสร้าง และไม่มีใครสามารถยึดครองไว้ได้ แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมา จากพื้นความแห้งแล้ง ไม่ชุ่มชื่นอยู่ พอเห็นอย่างนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมา หรือเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา

ทีนี้ถ้าหากเราได้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านให้แนวทางการปฏิบัติมาไว้อย่างไร เราก็จะพอเห็นทิศทางที่ถูกต้อง คือ จริงๆแล้วพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนให้กระโดดไปพิจารณาธรรมอย่างต่อเนื่องทันที เหมือนที่ผมยกตัวอย่างบ่อยๆ นะครับ ที่มีเหล่าภิกษุจำนวนมากทีเดียว ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สรรเสริญอสุภกรรมฐาน แล้วก็พากันทำอสุภกรรมฐาน เห็นกายของตัวเองเหมือนศพ เหมือนของที่น่ารังเกียจ ของโสโครก เหมือนแบกส้วมไปมา ก็เลยวานกันฆ่า ไปจ้างคนมาฆ่าก่อน แล้วก็วานฆ่ากันเอง แล้วก็ฆ่าตัวตายอะไรแบบนี้จนแทบไม่เหลือ พระพุทธเจ้ารู้เข้าก็เลยตรัสเรียกประชุมสงฆ์บอกว่า ให้ทำอานาปานสติ ให้เกิดความสุขก่อนเป็นพื้น แล้วค่อยไปพิจารณาอสุภกรรมฐาน

นี้คือตัวอย่างนะ ว่า เราสามารถที่จะเห็นเข้ามาในกายใจแล้วเกิดความอึดอัดระอา หรือว่ารังเกียจ หรือตระหนกในความไม่มีตัวตน แล้วถ้าไม่มีพื้นฐานความสุขรองรับอยู่ก่อนก็อาจเกิดความเจ็บปวดหรือเกิดความทุกข์ทรมานในแบบที่ทำให้ทนไม่ไหวได้

ทีนี้ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจ อย่างคนที่มาตามลำดับ พอพูดง่ายๆว่า มีสมาธิก่อนแล้วก็มีความสุข มีความเบา จนกระทั่งสามารถที่จะไล่ไปตามลำดับว่าที่กำลังตั้งอยู่นี้ คือลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง พอมีความรู้สึกถึงลมยาว ก็เกิดความสดชื่น สดชื่นนานๆ เข้าก็เกิดสมาธิ พอเกิดสมาธิ ตอนนั้นก็จะรู้เลยว่า สภาวะอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากลมหายใจ ก็มีค่าเท่ากับลมหายใจนั่นแหละ คือกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

พอเห็นความคิด ความรู้สึกในตัวในตน ที่ผุดขึ้นมาในหัว ที่เคยสำคัญว่า เป็นความคิดของเราแน่ๆ เราเป็นผู้คิดแน่ๆ เนี่ย จะเปลี่ยนไป เป็นแค่สภาวะลมเพลมพัดอยู่ในหัว แล้วไม่รู้สึกขึ้นมาเลยว่า ที่คิดอยู่นี่เป็นตัวของเราเป็นผู้คิด แค่เห็นว่า (ความคิด) ผ่านมาแล้วผ่านไปอยู่ในหัว จิตผู้มีสติอยู่ ตั้งเป็นศูนย์กลางการรับรู้ ด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรต้องเสียใจ ไม่มีอะไรที่ต้องไปเกิดความตระหนกหรือว่าเกิดความแปลกใจในเมื่อเราเห็นมาตั้งแต่ต้นว่า ลมหายใจที่เข้าที่ออกอยู่ เข้ามาแป๊บหนึ่ง แล้วก็คาย ก็คืนออกไป

ตรงที่มีความรับรู้อยู่ว่า ทั้งกายทั้งใจนี้ นับเริ่มแต่ลมหายใจ กำลังแสดงความไม่เที่ยง กำลังแสดงความไม่ใช่ตัวเดิม จะทำให้เกิดการยอมรับอย่างมีความสุข มีความพอใจที่ได้เห็น แตกต่างจากคนที่เหมือนกับอยู่ในสภาวะแห้งแล้ง แล้วอยู่ๆ กระโดดขึ้นไปเห็นว่า เอ๊ะ กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เดี๋ยวต้องตายดับ เดี๋ยวก็จะต้องแสดงความเน่าเปื่อยผุพัง หรืออย่างน้อยที่สุด เห็นเข้าไปว่า มีตับไตไส้พุง หรือสภาวะความรู้สึกนึกคิด มันผ่านมาแล้วหวงไว้ไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องหายไป ดับไป แปรสภาพไป บางทีวันหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง แต่พอข้ามคืนเท่านั้นกลายเป็นความคิดอีกอย่างไม่ใช่ตัวเดิม พอเห็นแบบนี้แล้วเกิดความรู้สึกหดหู่ ห่อเหี่ยว ตายแล้วไม่มีตัวตนจริงๆ แล้วตัวเราเป็นใคร เกิดความสงสัย เกิดความรู้สึกปั่นป่วนหนักเข้าก็เลยเลิกปฏิบัติไป แบบนี้เยอะเลยนะ

แต่ถ้ามีความสุขเป็นพื้นรองรับอยู่ก่อน ตรงนี้จะไม่มีปัญหาเลย ความสุขความพอใจตรงนี้ไม่ใช่ความสุขแบบโลกๆ นะ แต่เป็นความสุขความพอใจที่ได้เห็นว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เดี๋ยวยาวบ้าง เดี๋ยวสั้นบ้าง แล้วพอมีความเคยชินที่จะรับรู้ ยอมรับไปตามจริงว่า ไม่มีความสามารถใดๆ ของใครเลยที่จะไปหวงลมหายใจยาวไว้อย่างเดียว ไม่มีใครในโลกเลยที่จะเก็บเอาความสุขติดตัวไว้ได้ตลอดเวลาชั่วชีวิต มีเข้ามีออก มีเปลี่ยน เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ ตามลมสั้นลมยาว นี่แหละ ที่จะพาไปสู่การยอมรับในขั้นต่อๆ ไปนะครับ

บอกไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังๆ เริ่มเดินจงกรมกันได้ เริ่มชอบนั่งสมาธิกันขึ้นมาถี่ๆ จะไปเจอความรู้สึกนี้เวลาที่พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของกายใจ ความไม่ใช่ตัวเดิมของกายใจไปเรื่อยๆ ก็บอกไว้ว่า มีเยอะ ที่เกิดความรู้สึกตกใจขึ้นมาพอเห็นครั้งแรกๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจนะถ้าหากว่าเราจะเกิดอาการช็อคขึ้นมา

เรื่องของการปฏิบัติไม่ใช่อย่างที่เราคิดนะ ไม่ใช่แค่หาความสุขเล่นๆ ไม่ใช่แค่แก้เครียดไปพลางๆ การปฏิบัติธรรมแบบพุทธเป็นอะไรที่ พลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยคิด ที่เราเคยเชื่อที่เราเคยหลงยึด ว่าเป็นตัวเราแน่ๆ แล้วพอไปเจอภาวะนั้นครั้งแรกๆ ก็อาจช็อคได้
!

++ ++ ++ ++

https://www.youtube.com/watch?v=W8sEPTcGEWA


จมูกโล่ง หัวโล่ง แต่ติดบังคับลมหายใจ จึงไม่เห็นความแตกต่างในแต่ละลมหายใจ แก้ได้อย่างไร


ดังตฤณ : ถ้าหัวโล่งแล้วยังเกิดการบังคับลมหายใจ
แสดงว่า ติดแน่นมากนะ

เพราะปกติถ้าหัวโล่ง สภาพทางกายจะเริ่มปรับแล้ว
จะเริ่มมีความยืดหยุ่นเห็นได้ชัด
พอหัวโล่ง จะเหมือนกับ กายเล็กลง
เพราะอะไร เพราะว่าจิตโดยเดิม เป็นจิตเล็กๆ แคบๆ
เห็นแค่บางส่วนของกายได้เท่านั้น

แต่พอหัวโล่ง จิตใหญ่ขึ้น ใหญ่เกินกาย
เหมือนมีรัศมีการรับรู้ที่เกินๆ กายออกมา
แผ่ออก มีความว่าง
มีความรู้สึกถึงพื้นที่รอบกาย อากาศว่างรอบกาย
ตรงนี้ ก็เลยเกิดความเห็นขึ้นมาว่า
ร่างกายเป็นของเล็กกว่าจิต
คือร่างกายถูกรับรู้ได้โดยก้อนเดียวเลย

พอเราเห็นกาย โดยเหมือนกับตั้งให้ดูเฉยๆ
ไม่ได้มีความเป็นของใคร
เราไม่ได้มีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ
ตรงนี้ ที่ร่างกายจะแสดงความยืดหยุ่นถึงที่สุด
เป็นตัวของมันเอง คือเวลาที่หายใจ ก็จะหายใจยาวๆ
ตรงที่หายใจยาวๆ ได้เอง ตรงนั้นแหละ
คือจุดที่คุณสามารถจะรับรู้ โดยไม่ต้องบังคับ
โดยไม่ต้องคาดหวัง โดยไม่ต้องไปตั้งกะเกณฑ์อะไร
ว่าจะให้ยาว จะให้สั้น

ค่อยๆ ทำให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ภาวะหัวโล่งนี่
แล้วสังเกตไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้ง คุณจะพบว่า
จิตของคุณมีความฉลาดมากขึ้นๆ
จะเริ่มเกิดความรู้สึก อ๋อ ไม่ต้องไปทำอะไร
เดี๋ยวมันพองของมันเอง เดี๋ยวมันยาวของมันเอง
เดี๋ยวมันก็สั้นลงของมันเอง

ตรงที่เกิดความเคยชินว่า ไม่เห็นต้องทำอะไร
อยู่ๆ ไปพูดกันง่ายๆ แบบนี้ไม่ได้นะ
อยู่ๆ ไปแก้ ไปรื้อ ถอน ความเคยชินแบบเก่าๆ เดิมๆ
ด้วยพริบตาเดียว ทำไม่ได้
แล้วก็ไม่ต้องไปหาอุบายอะไรทั้งสิ้น

ขอแค่ว่า ตามที่คุณบอก หัวโล่งมาก จมูกโล่งมาก
ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วสังเกตทุกครั้ง
จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับเองนะครับ
!

++ ++ ++ ++
 
คำถามเต็ม : ฟังเสียงสติแล้วจมูกโล่ง หัวโล่งมากค่ะ แต่ติดบังคับการหายใจ ทำให้ไม่เห็นความแตกต่างในแต่ละลมหายใจ จะมีอุบายแก้ได้อย่างไรบ้าง

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ความสำคัญของศรัทธาที่มีต่อการเจริญสติ
22 มิ.ย. 2562


วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แผ่ซ่านกลางกระหม่อม บางครั้งเหมือนร่างขยายใหญ่ขึ้น แล้วก็หดลงไป

ดังตฤณ : อาการแผ่ซ่านนั้นก็คือปีติ
และอาการที่รู้สึกเหมือนขยายใหญ่ขึ้น
จริงๆ คือจิตขยาย ไม่ใช่ร่างกายขยาย
จิต พอใหญ่ขึ้นใหม่ๆ จะรู้สึกว่าร่างกายใหญ่ขึ้น
แต่จริงๆ ไม่ใช่หรอก
เป็นจิตที่ขยายใหญ่ขึ้น เพราะเริ่มรวมอ่อนๆ
แต่ยังไม่เสถียร ก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่าโป่ง

ถ้าจิตขยายใหญ่แบบเสถียรแล้ว
จะรู้สึกว่า ร่างกายไม่ใหญ่ไม่เล็กนะ
แต่จิตจะใหญ่กว่ากายเสมอ
คือร่างกายจะถูกรับรู้ทั่วพร้อมโดยง่าย เป็นของตื้นๆ
เป็นของที่เหมือนกับเห็นได้สบายๆ

ท่านถึงได้บอกว่า ร่างกายจะไปก่อน
เราจะสละความยึดร่างกายได้ง่ายๆก่อน
เหมือนกับเห็นร่างกายเป็นก้อนเสลด
ที่พร้อมจะถูกถ่มทิ้งลงพื้น โดยไม่มีอาการเสียดาย อาลัยยึดติด

แต่ว่าจิตนี่แหละที่ถ่มทิ้งได้ยากกว่า
เพราะเราติดอยู่กับความรู้สึกในตัวในตน
ที่มีจิต ที่มีความรู้สึกนึกคิดมาชั่วกัปชั่วกัลป์

อยู่ๆ จะให้ไปถอน เพียงด้วยการเห็นกายใจแวบๆ วาบๆ จะไม่ใช่
ต้องเห็นเป็นปกติ เห็นจนกระทั่งเกิดสมาธิในแบบที่อยู่ปกติ
หันซ้ายหันขวา ก็ยังมีความตั้งมั่นของสติ
ที่รู้ว่า กายนี้ของหลอก กายนี้กลวงๆ กายนี้ว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของ

การเห็นได้เรื่อยๆ จะมีความสำคัญ
อย่างที่บอกว่าขยายขึ้นและหดเล็กลง
ขอให้ตั้งทิศทางในการพิจารณาไว้ง่ายๆ เลยว่า
เรากำลังเห็นสภาพของจิต การปรุงแต่งของจิต
ที่ทำให้รู้สึกไปว่าขยายใหญ่ขึ้น หรือว่าหดเล็กลงมา

ยิ่งเราไปตั้งมุมมองดูว่า
อาการขยายใหญ่ขึ้นเป็นอาการขยายของจิต
อาการเล็กลงเป็นอาการหดของจิต
เห็นอยู่อย่างนี้ได้ไม่กี่วัน คุณจะรู้จักหน้าตาของจิตขึ้นมา
ไม่ใช่หน้าตาที่แท้จริงของจิตนะ แต่เป็นอาการปรุงแต่ง
ให้รู้สึกเหมือนว่านี่เป็นจิตของเรา

อาการที่ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง นึกว่าเป็นจิตของเรา
พอเห็นไปบ่อยๆ จะรู้ (ไม่ใช่นึกคิด) ว่า
(นี่คือ) สภาวะอันเป็นธรรมดา อันเป็นธรรมชาติ
ที่เมื่อจะเข้าสมาธิ ก็มีอาการใหญ่
เมื่อสมาธิหายไป ก็มีอาการเล็ก
เห็นอย่างนี้ไป จนกระทั่งเกิดความเข้าใจขึ้นมา
ร้องอ๋อขึ้นมาข้างในว่า จิตไม่ใช่เรา

จิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เราอุตส่าห์หวงไว้มาชั่วกัปชั่วกัลป์
จริงๆ แล้วเป็นการหวงสิ่งที่ไม่เคยเป็นของใคร
(สภาวะ) จะเกิดขึ้นแค่แป๊บเดียว ชั่วขณะหนึ่ง
จะนาทีหนึ่ง หรือหนึ่งชั่วโมงก็ตาม
ในภาวะหนึ่งๆ เดี๋ยวก็ต้องหายไป แล้วไม่กลับมาซ้ำที่เดิม
ไม่กลับมาซ้ำดวงเดิมนะ ถ้าหายแล้วหายเลย
มีแต่จิตดวงใหม่ๆ เกิดขึ้นสืบต่อกัน เป็นสันตติ
เหมือนกับการไหลของสายน้ำ หรือเปรียบเหมือนคลื่นทะเล
ที่คลื่นกระเพื่อมระลอกไปเรื่อยๆ หายไปเรื่อยๆ
ไม่เคยมีคลื่นเดิมอยู่ที่เดิม
แต่เราก็สำคัญผิด นึกว่าเป็นอันเดิม

ตัวนี้แหละ ที่พอถอนความเข้าใจผิดไปได้
เฉียดอยู่นิดเดียวกับการเห็นธรรม
แบบที่พระพุทธเจ้า
อยากให้เห็นนะครับ!

++ ++ ++ ++



ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ความสำคัญของศรัทธาที่มีต่อการเจริญสติ 22 มิ.ย. 2562

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน


ดังตฤณ : คืนนี้เราก็จะมาแผ่เมตตาร่วมกันตามที่นัดหมายกันไว้ เมื่อเช้าตั้ง Status ถาม คือบอกที่มาที่ไปนะครับว่า เดิมทีก็เคยแผ่เมตตาร่วมกันมาแล้วสองครั้ง แล้วก็เหมือนกับจะแนะนำให้รู้จักเฉยๆ ว่า การแผ่เมตตาหน้าตาเป็นอย่างไรนะครับ ถ้าหากว่าได้หลัก หรือจับจุดถูก ก็สามารถที่จะเอาไปแผ่เมตตากันเองได้ 

แต่ทีนี้ หลายคนก็ขอมาว่า อยากให้มีแผ่เมตตาร่วมกัน เพราะเกิดความรู้สึกว่าแตกต่างจากแผ่เมตตาคนเดียว ก็เลยถามดูว่าอยากจะแผ่เมตตาร่วมกันเป็นระยะหรือเปล่า ตอนนี้เรามี )) เสียงสติ (( เป็นตัวช่วย ก็ปรากฏว่าเกินคาดจริงๆ นึกไม่ถึงว่าจะมีความต้องการแผ่เมตตาร่วมกันมากถึงขนาดนี้ จากโพลล์ (
Poll) เมื่อเช้า ตอนนี้สองพันกว่าคนแล้วนะ คือ 99% บอกว่าอยากให้ผมจัดแผ่เมตตาร่วมกัน เพราะเดิมก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆ นะ

ก็เป็นอันว่าถ้ามีจังหวะดี อย่างเช่นผมคิดเสียงใหม่ๆ ได้ ที่จะช่วยแผ่ความสุขได้ง่ายๆ แล้วก็ด้วยเวลาอันสั้น อย่างเช่น เวอร์ชั่นที่กำลังจะให้ฟังคืนนี้ แค่ครึ่งนาที จมูกโล่งเลยนะ แล้วก็สามารถที่จะเอามาใช้แผ่เมตตาได้ทันที จมูกโล่งเมื่อไหร่ พร้อมทำสมาธิเมื่อนั้น คิดง่ายๆ นะ

ก่อนอื่นใด เพื่อเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ทำกันไปเฉยๆ เราต้องมาดูก่อนว่าพระพุทธเจ้าท่านแสดงหลักแผ่เมตตาไว้อย่างไร

หลักแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้าสรุปง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อโกรธ เมื่อเกิดความพยาบาท ให้รู้ว่าความโกรธ ความพยาบาทนั้นเหมือนกับโรคทางใจ มีอาการอึดอัด มีอาการที่กระวนกระวาย มีอาการที่รุ่มร้อนไม่ปกติ เหมือนคนเป็นไข้ แต่เป็นไข้ทางใจ ซึ่งถ้าเราพิจารณาว่า เรากำลังป่วยทางใจอยู่ ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าหายป่วย ก็เหมือนกับตอนที่เราหายป่วยหายไข้ทางกาย กลับมามีกำลังวังชา มีชีวิตจิตใจได้เหมือนเดิม คิดอ่านปลอดโปร่ง ไม่ใช่คิดอะไรหมกมุ่นจนกระทั่งเหมือนคนเป็นโรคจิต อะไรแบบนั้น

พอมีการพิจารณาอย่างนั้นได้ ก็จะมีแก่ใจว่าจะถือไว้ทำไม จะแบกไว้ทำไม ความโกรธความพยาบาทนี้ ใจจะฉลาดมากขึ้น แล้วก็สามารถวางได้ พอวางได้ก็โล่ง พอโล่งได้ ก็รู้สึกเบา รู้สึกใจใส พระพุทธเจ้าก็ให้เอาตัวนั้นเป็นตัวตั้งในการแผ่เมตตา

จับหลักนะ คือคำว่าแผ่เมตตา พระพุทธเจ้าทรงนิยามความหมายของการปฏิบัติ เริ่มต้นจากการเห็นความโกรธ ความพยาบาทเป็นโรคทางใจ และถ้าวางได้หายป่วยหายไข้ได้ ใจจะสบาย พอใจสบายแล้ว ก็พร้อมจะเป็นสมาธินะครับ สามารถที่จะตั้งจิตแผ่ออกไปทางเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องขวา อันนี้ก็มีการตีความกันมาในชั้นหลังว่า ทิศเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องข้างอะไรต่างๆ เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พี่น้องญาติมิตรหรือศัตรูอะไรต่างๆ

แต่จริงๆ แล้วถ้าหากว่ามีประสบการณ์ในการทำสมาธิจริงๆ จนกระทั่งเกิดกำลังของสมาธิจะทราบว่า การแผ่เมตตาในลักษณะที่พระพุทธเจ้าสอนให้แผ่ออกเป็นทิศต่างๆ จะเหมือนกับยิงกระแสความสุขออกไปได้จริงๆ ตามทิศนั้นๆ นะ เผื่อคืนนี้ ถ้าใครทำได้ จะได้ปรับความเข้าใจกันใหม่เลยนะครับ เอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน

ทีนี้พอแผ่เมตตาแบบพระพุทธเจ้า บอกว่าตั้งต้นจากจิตที่เป็นสุข พูดง่ายๆ ตั้งต้นจากจิตที่ไม่มีโทสะ ตั้งต้นจากจิตที่ไม่มีความพยาบาท เราก็เลยเอามาประยุกต์กันได้ อย่างที่ครูบาอาจารย์ชั้นหลังสอนกันว่า เวลานั่งสมาธิได้ สวดมนต์ได้ แล้วเกิดความสุข ความเบา ก็ให้แผ่เมตตา แต่คนไม่เข้าใจ ไปท่องสัพเพ สัตตา อเวราโหนตุฯ เฉยๆ แล้วก็นึกว่าตัวเองแผ่เมตตาแล้ว อันนั้นไม่ใช่นะครับ นั่นเป็นความคิด ไม่ใช่จิตที่แผ่ออกไป

และถ้าหากว่า ท่อง สัพเพ สัตตาฯ แล้วนึกถึงศัตรูทั้งที่มีความโกรธ มีโทสะอยู่ นั่นไม่ใช่แผ่เมตตา ไม่ใช่แผ่ความเย็นนะ ตรงกันข้าม เราแผ่ความพยาบาทออกไปกระทบเขา แผ่โทสะออกไป ฉะนั้น หลายคนพอไปเจอหน้าศัตรู อ้าว ทำไมยังไม่หายโกรธกัน ยิ่งเกลียดหน้ากันมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก ตัวเองก็เกลียดมากขึ้น เขาก็มองเราไม่ดีมากขึ้น นั่นก็เพราะเวลาที่เรานึกว่าแผ่เมตตา จริงๆ คือการแผ่โทสะต่างหาก แผ่ความพยาบาท ทำให้เข้มข้นขึ้นต่างหากนะ

ถ้าเราเข้าใจหลักการ เวลาสวดมนต์ ไม่ได้หวังขออะไร ไม่ได้อยากจะอธิษฐานอะไร แต่สวดเพื่อถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา อยากสรรเสริญพระคุณท่าน ด้วยใจที่เหมือนกับมีความสุข ที่ได้สรรเสริญคน แต่ คนนี้ไม่ใช่แค่คนธรรมดา แต่เป็น มหาบุรุษนะครับ เป็นพระอริยเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่เรารู้สึกเคารพ นับถือเลื่อมใส ถ้าหากว่าเราสวดมนต์ไป อิติปิโส ภควาฯ แล้วใจเป็นสุข ถวายแก้วเสียง ไม่หวังอะไรเลย นั่นแหละ ตัวนี้พร้อมที่จะริน หรือ เอ่อความสุขขึ้นมาแล้ว และพอเอ่อความสุขมากเข้า พอสวดเสร็จก็พร้อมที่จะแผ่เมตตาออกไปได้

เหมือนจุดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั่นแหละว่า เมื่อมีความสุข เมื่อมีความเบา แล้วจับความสุขตรงนั้น แผ่ออกไปตามทิศต่างๆ แบบนี้เรียกแผ่เมตตาเหมือนกัน แล้วในอาการ ภาวะแบบนั้น ความรู้สึกจากประสบการณ์ทางใจแบบนั้น จะทำให้เราทราบได้ว่า ความสุขอันเกิดจากการแผ่เมตตาคือความสุขอันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน ไม่คิดที่จะไปทำร้ายกันนะ

เราจะมาพูดถึงคืนนี้ที่จะใช้)) เสียงสติ (( ช่วยในการแผ่เมตตา ช่วยอย่างไร ก่อนอื่นใด สำหรับท่านที่อาจยังไม่เคยคุ้นกับ )) เสียงสติ (( เพิ่งมาดูครั้งนี้เป็นครั้งแรก ต้องใช้หูฟัง แยกข้างให้ถูกด้วย ... ซ้ายขวา มีความหมาย มีผลนะ ... หูซ้ายคือเข้าข้างซ้าย หูขวาคือเข้าข้างขวานะ

)) เสียงสติ ((ที่ผมจะเอามาให้ฟังในคืนนี้ เป็นเวอร์ชั่นใหม่ เริ่มต้นจะมีเสียงระฆัง เข้ามาช่วยหลอกสมองให้รู้สึกว่าได้ยินมาจากที่ไกล แล้วสมองจะปรับโหมดให้เหมือนอยู่ในที่โล่งกว้าง ทีนี้คลื่นสมองส่วนที่มีความสัมพันธ์กับสมองส่วนหลัง จะมีระดับที่เข้มข้นขึ้น แล้วสมองส่วนหน้าจะทำงานน้อยลง พูดง่ายคือคุณจะรู้สึกว่าตัวเองคิดน้อยลง ผมเอาภาพคลื่นสมองมาให้ดูนิดหนึ่ง จะได้เกิดความเข้าใจ

คำว่าคลื่นสมอง ที่บอกว่าแบ่งเป็น เดลต้า (
Delta) เธต้า (Theta) อัลฟ่า (Alfa) เบต้า (Beta) และแกมม่า (Gamma) จริงๆ ที่เห็นจะมีการสื่อสารกัน มีการคุยกันระหว่างเซฃส์ประสาท ขั้วสมอง และสีที่ต่างกัน เขียวบ้าง ฟ้าบ้าง เหลืองบ้าง แสดงให้เห็นว่า สปีด (speed) ของคลื่นสมองแต่ละย่านไม่เท่ากัน บางคลื่นช้า บางคลื่นเร็ว แต่ว่าวิ่งอยู่ตลอดเวลา คลื่นสมองมีอยู่ทุกย่าน เราแค่มาปรับให้เกิดความสมดุล

)) เสียงสติ (( ที่จะเอามาช่วย ความหมายของการสงบ ความหมายของการมีสมาธิ จริงๆ ไม่ใช่สมองหยุดทำงานนะ แต่ว่าคลื่นสมองอยู่ในภาวะสมดุลต่างหาก นะครับ และที่คุณรู้สึกสงบ เพราะสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง สมองส่วนหลัง มีส่วนสัมพันธ์กับคลื่นสมองในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น ในระดับที่สูงขึ้น เป็นการอธิบายให้เข้าใจคร่าว ๆ นะครับ

สรุปก็คือว่า พอเราฟัง)) เสียงสติ (( ช่วย แล้วมาแผ่เมตตาร่วมกันในขณะที่มีความสุขแล้ว จะได้ประสบการณ์ด้วยกันว่า ความสุขที่เกิดจากการคิดไม่เบียดเบียนกัน หรือว่ามีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน ช่วยปรับปรุงคุณภาพจิตได้อย่างไร แล้วก็ทำให้มีสติมากขึ้นได้แค่ไหนนะ 

เวลาที่คนเราถูกย้อมด้วยโทสะ ด้วยพยาบาท ด้วยความอาฆาต เจริญสติไม่ออกหรอก หลายคนพยายามที่จะดูโทสะระหว่างวัน ดูแล้วอีกกี่สิบปี ก็ยังเป็นโทสะแบบเดิมนั่นแหละ ไม่ค่อยจะลดราวาศอกลงเท่าไหร่ แต่ถ้าหากเรามีความเข้าใจในการทำสมาธิและแผ่เมตตาด้วย ให้จิตใจมีพื้นของเมตตา เป็นพื้นยืน ความโกรธ ระดับความโกรธ จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดนะครับ

พอเริ่มฟัง หลักการง่ายๆ แต่ละคนจะมีปฏิกิริยา จากสมองไม่เหมือนกัน แต่ให้หลักการไว้ง่ายๆ ว่า ถ้าเริ่มรู้สึกจมูกโล่งเมื่อไหร่ ตอนนั้นแหละ สมองคุณเริ่มมีปฏิกิริยากับ )) เสียงสติ (( แล้ว โต้ตอบกับ )) เสียงสติ (( แล้ว

ถ้าจมูกโล่ง แล้วเกิดความรู้สึกว่า เบา สบาย นั่นแหละ เริ่มแผ่เมตตาได้ เพราะตอนที่คุณรู้สึกปลอดโปรงเป็นสุข คุณจะสัมผัสพื้นที่ว่างรอบตัวได้ อยู่ในท่านั่งแบบนี้ คล้ายๆ กับเป็นเสาหลักปักอยู่กลางดิน แล้วรอบตัวถูกรับรู้ ถูกสัมผัสได้ ทีนี้เวลาแผ่ อย่าแผ่แบบเจาะจง อย่าคิดถึงใครต่อใคร อย่างที่มีการตีความว่าพระพุทธเจ้าให้แผ่ออกไปเบื้องหน้าเบื้องหลัง แล้วหมายถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์อะไรนี่

จริงๆ แล้ว ถ้าคุณมีประสบการณ์ทางสมาธิ จะรู้ว่า กระแสสุข แผ่ออกไปตามทิศต่างๆ ได้จริงๆ ถ้าได้เรื่องของรัศมีความกว้าง ความสุข และทิศทางชัดเจนแล้ว ต่อไปเวลาแผ่แบบเจาะจง นึกถึงใคร คุณจะรู้สึกสัมผัสได้เลยว่า กระแสสุข กระแสเมตตาตรงนั้น ไปช่วยระงับความโกรธ ไปช่วยระงับความทุกข์เขาได้จริงๆ แต่ถ้าตอนแรกยังไม่มีกำลัง แล้วพยายามไปแผ่แบบเจาะจง คุณจะรู้สึกว่า แผ่ไม่ออกนะครับ

เอาล่ะ คิดว่าเรามาเริ่มกันเลยนะ ต้องใช้หูฟังนะ ใส่ให้ถูกข้างนะครับ การฟัง ใช้เวลา 6 นาที เสร็จแล้วก็ลองดูว่ากระแสความสุขของคุณ มีความเบา มีความปลอดโปร่ง แล้วสามารถรู้สึกได้ไหมว่า ตรงหน้าของเรามีความสุขแบบเดียวกันแผ่อยู่รอบๆ นะครับ เดี๋ยวมาคุยกันทีหลังก็แล้วกัน

เริ่มต้นสำหรับคนที่อาจยังไม่คุ้น ถ้าฟังแล้วเกิดความรำคาญเสียงหรือยังไง ก็แค่ฟังไปเรื่อยๆ ก่อน โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องคาดหวังอะไรทั้งสิ้น เอาแค่เราฟังแล้วเกิดความรับรู้ว่า กำลังหายใจเข้า หายใจออก สังเกตความต่างระหว่างลมหายใจ แล้วไม่ต้องคาดหมายอะไรเลย ในที่สุดตอนที่คุณรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ จะพบจุดหนึ่ง อาจภายในครึ่งนาที อาจภายในหนึ่งนาทีแล้วแต่คน จะรู้สึกจมูกโล่ง ตอนจมูกโล่งนั่นแหละ ให้รู้สึกว่ากำลังหายใจอยู่อย่างมีความสุข แล้วความสุขนี่ ที่คุณรู้สึกถึงรัศมีความสุขออกจากตัว แค่รู้สึกกับมันเฉยๆ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย แค่พอหลับตาแล้วมองออกไปตรงๆ ทะลุเปลือกตาออกไป กระแสความสุขก็จะเกิดรัศมีตามระยะสายตาที่คุณสามารถโฟกัสได้นั่นแหละ

หลักการง่ายๆ มีแค่นี้ พูดง่ายๆ แค่ฟังโดยไม่คาดหวัง แล้วก็จับความรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกนะครับ ที่จะเริ่มมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เอง แล้วความสุขนั้น แค่คุณมองว่า ไกลออกไปได้แค่ไหนตรงหน้านะ ไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นนะครับ

ฟัง)) เสียงสติ (( ที่
http://dungtrin.com/BB/


หลายคนคงรู้นะครับว่าความสุข ความเบาอันเกิดจากการที่ใจเราอยู่ในสภาพที่โปร่งโล่ง ปราศจากโทสะ ปราศจากพยาบาท หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเวลาที่แผ่ออกไป พูดง่ายๆ ว่า เราแค่นั่งอยู่ รู้ตัวว่ากำลังนั่ง แล้วก็เหมือนกับมองออกไปตรงๆนี่แหละ รัศมีความสุขที่แผ่ออกไปจากความโล่ง ความเบา ก็คือหน้าตาหนึ่งของเมตตา แต่พอมีความเมตตาของแท้ ที่ไม่ใช่แค่ใจโล่งอย่างเดียว แต่ความคิด เป็นไปในทาง วาง ด้วย เป็นไปในทางที่พร้อมจะให้อภัยเป็นทานด้วย ตรงนี้ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบว่า ลักษณะของเมตตา ไม่ใช่แค่ความสุขจากความเบาของสมาธิเฉยๆ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากการพร้อมให้อภัยเป็นทาน ไม่ถือสาใครง่ายๆ ซึ่งชาวโลก จะบอกว่า โง่ หรือว่า ยอมเสียเปรียบได้อย่างไร หรือว่าทำไมไม่เอาเรื่องอะไรต่างๆ เราก็จะรู้อยู่ข้างในด้วยความฉลาดของใจแบบใหม่ว่า ที่เราไม่เอาเรื่อง ก็เพราะว่า เราไม่อยากเอาทุกข์เข้าตัว ไม่อยากเอาความร้อนเข้าตัวนะครับ
!

++ ++ ++ ++

https://www.youtube.com/watch?v=xm4-TwrIYB0
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน
8 มิถุนายน 2562

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

คนที่ศีลไม่บริสุทธิ์ ฟัง (เสียงสติ) แล้วจะทำสมาธิได้หรือไม่


ดังตฤณ : คนที่ศีลไม่บริสุทธิ์ ฟัง (เสียงสติ) แล้วจะทำสมาธิได้หรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าไม่บริสุทธิ์ระดับไหน ถ้าไม่บริสุทธิ์ในระดับที่จิตสกปรกเลย สกปรกเป็นปกติ อย่างนี้ก็อาจไม่ได้ แต่ถ้านิดๆ หน่อยๆ แค่เปื้อนมลทิน แบบนี้ก็พอโอเค

อย่างผมทดลองด้วยตัวเอง แต่ละวันฟังก็ไม่เหมือนกันนะ ถ้าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยซ่กมาเลย สมองทำงานหนัก กว่าจะลง ก็ช้าหน่อย หรือไม่ก็หลับไปเลย ผมเองฟังแล้วหลับก็มีนะ ถ้าเหนื่อยมากๆ แต่ก็แล้วแต่ บางคนเหนื่อยมากๆ ฟังแล้วกลายเป็นสดชื่นราวกับว่าไปโด๊ปยามา แต่บางคน จวนเจียนอยู่แล้ว ฟังแล้วก็พอเพลินนิดเดียวก็หลับไปเลย อย่างนี้เป็นเรื่องปกติ

ภาวะต่างๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน จะถูกสังเกตละเอียดลออมากขึ้นเมื่อคุณมีตัวตั้งเป็นสมาธิ เมื่อจิตของคุณเข้าสู่สภาวะที่นิ่งว่าง สงบ รู้ว่าภาวะของสมาธิหน้าตาเป็นอย่างไรแล้วนี่ คุณจะเห็นเลยว่าปัจจัยแวดล้อมที่จะพามาถึงในจุดนั้น มีสารพัดสารเพ อย่างเช่นถ้าวันไหนพูดเพ้อเจ้อ ไม่ต้องไปโกหกนะ แต่พูดพล่ามไม่หยุด จนกระทั่งสมองกระจัดกระจาย บางคนกระหยิ่มใจ บอกว่ามีเสียงสติช่วยอยู่แล้ว พูดเล่นตามใจชอบได้ ปรากฏว่ามาฟังเสียงสติก็เอาไม่อยู่

การพูดเพ้อเจ้อ ถ้าเพ้อเจ้อจริงๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าผิดศีลข้อมุสาวาทด้วยซ้ำ ถ้าเพ้อเจ้อแบบที่ไปเรื่อย แบบตั้งวงนินทาว่าร้าย บางทีก็เหมือนกับแกล้งกระทบกระเทียบเหน็บแนมคนนั้นคนนี้อะไรต่างๆ พูดให้เกิดอารมณ์ที่ประมาณว่ารุมกระทืบเขา แค่นั้นในทางศีล ถือว่าผิดแล้ว ซึ่งคุณจะเห็นได้เลย ถ้าทำสมาธิเป็นประจำ วันไหนพูดเพ้อเจ้อหนักๆ ทำสมาธิไม่ขึ้นหรอก

เดี๋ยวจะได้ข้อสังเกตไปเอง เพราะมีเสียงสติช่วย ก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของโอกาสที่จะสำเร็จสมาธิได้บ่อยขึ้น ลองสังเกตกับตัวเอง เวลาทำสมาธิขึ้นมาได้แล้วมีเหตุอะไรระหว่างวัน ที่ส่งเสริมหรือเตะถ่วง หรือบั่นทอนกำลังของสติ และสมาธินะครับ!

____________

https://www.youtube.com/watch?v=Uz-NorP8eoc

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ให้คนใกล้ตายฟัง ))เสียงสติ(( จะช่วยไหม?


ดังตฤณ : อย่างที่นัดหมาย เราจะมานั่งสมาธิและแผ่เมตตาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้พิเศษตรงที่ เรามี update เสียงสติเวอร์ชั่น (version) ใหม่ และเสียงนี้เท่าที่ลองด้วยตนเองและฟังจากเสียงฟีดแบค น่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ work ที่สุด กล่าวคือจะใช้เวลาสั้นมากในการทำให้เกิดความสงบ และจะมีการใช้เทคนิคนิดหนึ่ง ในการช่วยให้จิตเข้าสู่ภาวะโฟกัส ซึ่งยังไม่เคยใช้เทคนิคนี้ในเวอร์ชั่นไหนมาก่อน

คุยกันนิดหนึ่งในช่วงต้นรายการ เพราะตอนนี้มีคนที่ทำแล้วได้ผลกันเยอะ แล้วก็มีคำถามที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น หรืออยากจะเอาไปประยุกต์กับสิ่งที่เป็นชีวิตแวดล้อมของตัวเอง อย่างเช่นว่า อยากจะให้คนที่กำลังจะจวนอยู่จวนไป ให้คนที่นอนติดเตียง หรือว่าใกล้ๆ เหมือนกับแทบจะไม่รับรู้อะไรแล้ว ฟังเสียงสติ

ไม่ใช่ว่าผมเห็นทุกเคสมาแล้วนะ ผมได้แค่บอกกว้างๆ อย่างนี้แล้วกัน ตอนที่คุณหัวโล่ง ตอนที่คุณรู้สึกว่า ฟังแล้วสบายไปทั้งตัวนั่นแหละ ตรงนั้น ถ้าสมมติถ้าคุณจะต้องตาย ณ เวลานั้น ครึ่งหนึ่ง หรือ 50
% ได้ไปดีแน่นอน

ส่วนจะไปดีแค่ไหน ขึ้นกับว่าเราระลึกถึงบุญแบบไหนได้ในช่วงท้าย ในตอนที่หัวโล่งนั้น หรือว่า อาจิณณกรรมของคุณในทางที่เป็นกุศล ผลักดันให้ไปในทิศทางไหน จะขึ้นไปได้สูงแค่ไหน หรือว่ามีสิทธิ์ที่จะพ้นจากความยึดติด พ้นจากอุปาทานในกายใจ ในขันธ์ห้าหรือเปล่า ขึ้นกับที่สะสมมา

แต่การที่หัวโล่ง ตัวโล่ง รู้สึกจิตเป็นกุศล คือครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นฐานให้แล้ว ทีนี้ในแง่ที่เอาไปให้คนที่เป็นญาติ หรือว่าเขายังไม่เคยมีแนวคิด หรือว่าอยากนั่งสมาธิ ก็ไม่แน่ ไม่สามารถบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แบบตายตัว ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะอย่างที่เห็นเท่าที่ลองมา หลายคนผู้สูงอายุ หรือว่าคนที่บางทีนึกไม่ถึงว่าจะฟังได้ ก็ปรากฏว่าฟังได้ นึกไม่ถึงว่าจะได้ผล มีจิตคุณภาพแบบผิดความคาดหมาย ก็เกิดขึ้นนะ แต่กับบางคนดูเหมือนกับน่าจะได้ แต่ก็ไม่ได้ ก็มี

นี่คือต้องบอกเป็นกลางๆ นะครับว่า ตอนนี้ที่รู้แน่ๆ รู้จริงๆคือ ถ้ามีความเข้าใจ เป็นคนที่อยากนั่งสมาธิมาก่อนแล้วทำไม่ได้มาตลอดชีวิต มาฟัง จะได้ผลดีเป็นพิเศษ เพราะจะมีความตั้งอกตั้งใจ และทิศทางของจิตจะเปิดรับ อย่างบอกว่า ให้ฟัง แล้วสังเกตลมหายใจไป ก็จะสังเกต แต่บางทีด้วยความที่อยากเอาแนวของตัวเองที่เคยชินมา แบบนั้นก็ไม่แน่ไม่นอนนะครับ บางคนบอกว่าบริกรรมพุทโธไป แล้วได้ผล ในขณะที่อีกหลายคนบริกรรมพุทโธแบบหนักๆ ไปตั้งใจเค้น พอไปบริกรรมพุทโธระหว่างฟัง สมองส่วนหน้าก็เลยทำงานหนัก แล้วก็ต้านเสียง ต้านการจูนสมอง มีตัวแปรเยอะมาก ฉะนั้น ถ้าจะมาเอาคำตอบกันอย่างแจ่มชัด อย่างแน่นอน ว่าคนใกล้ตายสามารถฟังแล้วมีประโยชน์ได้ไหม ก็ขึ้นกับว่า ทดลองแล้ว แก้วหูยังดี มีใจเปิดรับกับเรื่องของการทำสมาธิ แล้วก็ฟังเข้าใจว่า ที่มีเสียงหึ่งๆ เป็นเสียงของการจูนสมอง ไม่ใช่เสียงดนตรีที่กล่อมให้เกิดความเพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม แล้วก็ต้องรู้สึกถึงลมหายใจไปด้วย

ทำไมถึงต้องรู้สึก เพราะเสียงนี่จะจูน ผมออกแบบมาให้จูนในเรื่องของการรับรู้ลมหายใจโดยเฉพาะ คือระบบการหายใจ จะมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น จะมีความรู้สึกว่า จมูกโล่ง ตัวโล่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวอร์ชั่นที่จะเปิดให้ฟังพร้อมกัน จะมีความพิเศษตรงที่ใช้เทคนิคหลายอย่างเพิ่มเข้าไป

สรุป สำหรับคำตอบเบื้องต้น กับคำถามที่ว่า ฟังเสียงสติ ช่วยคนใกล้ตายได้หรือไม่ ก็บอกง่ายๆ เลยว่าถ้าเขาเข้าใจสิ่งที่เราพยายามจะให้ว่า นี้เป็นเหมือนกับเครื่องช่วยให้สมองถูกจูนเข้าสู่ภาวะที่คิดอะไรดีๆ คิดอะไรเป็นกุศล และมีความสงบ และสมองจะเข้าสู่โหมดปรับให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นพร้อมจะเป็นสมาธิ แล้วเขายอมฟัง ยอมดูลมหายใจ โอกาสที่จะช่วยให้ไปดี มีสูงมาก เพราะว่าตอนคนเราหัวโล่ง ตัวโล่ง จะคิดแต่เรื่องอะไรดีๆ จะจดจำได้ บางคนมาเล่าให้ฟัง คนอายุมากแล้วบอกว่า ฟังไปแล้วความจำเก่าๆ ผุดขึ้นมาจากไหนไม่รู้ นึกว่าลืมไปหมดแล้ว ตรงนี้ถ้าหากว่าเราเอาไปให้คนที่กำลังจะต้องเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิฟังด้วยความตั้งใจ อยากให้เขานึกอะไรดีๆ ได้ แบบแจ่มชัด ก็มีสิทธิ์สูง

อย่างพอฟังเสียงสติเสร็จแล้วไปชวนคุย รื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ ที่เกี่ยวกับการทำบุญด้วยกัน ก็จะเหมือนกับค่อยๆ ดึงเขากลับเข้าสู่ภาพนิมิตที่จะยึดไว้ในแบบอาศัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะที่พึ่งที่แท้จริงพระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็คือกรรม ก็คือบุญของเราที่ทำไว้ แล้วก็ยังจำได้อยู่

บุญบางอย่างจำไม่ได้แล้ว แต่ก็จะเรียงแถวเรียงคิวกันเข้ามา ถ้าหากว่าได้อะไรที่เป็นตัวหลักที่จำได้แม่นๆ อย่างเช่น มีความชื่นใจว่าได้ไปใส่บาตรพระกับลูกอะไรแบบนี้ แล้วความชื่นใจนั้นก็ไปดึงเอาความจำตั้งแต่ที่ตนเองเคยใส่บาตรคนเดียว เคยใส่บาตรกับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่สมัยเด็กอะไรแบบนี้ ก็เป็นไปได้ แล้วก็จะทำให้ชีวิตของคนๆนั้น เต็มไปด้วยสิ่งดีๆ ในชีวิต ช่วงท้ายถ้ามีความชื่นใจ มีความรู้สึกดีๆ อย่างมาก โอกาสจะไปไม่ดี ค่อนข้างต่ำ ต่อให้ทำบาปทำกรรมมาเยอะหน่อย แต่ไม่ถึงขั้นอนันตริยกรรม คือทำบาปทำกรรมมาแต่ช่วงท้ายๆ มีแต่ความรู้สึกดีๆ คิดถึงอะไรดีๆ และจิตใจสว่าง ตัวโล่ง หัวโล่ง ก็จะเรียกว่า มีอสัญกรรม หรือ กรรมเมื่อใกล้ตาย คิดอะไรดีๆ หน่วงอะไรดีๆ ไว้ ยังไงได้ไปดีก่อน โอกาสที่จะมีบาปมีกรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้กระทั่งบาปใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาปะทะจิตให้เกิดความเสียหายก่อนตาย ก็ต่ำลงนะครับ

สำหรับเสียงใหม่ ถ้าใครยังไม่เคย
download นะครับ ก็เข้าไปที่
http://dungtrin.com/BB/

เข้าไปที่ “คลื่นสมาธิ” http://dungtrin.com/BB/Meditation.html

ผมจะตั้งชื่อให้เห็นง่ายๆ ชัดๆ เลย


เสียงที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเสียงที่เราเพิ่งร่วมทำสมาธิแผ่เมตตากันไป จะตั้งชื่อไว้ “ปัดเป่าความฟุ้งซ่าน”
เสียงที่สอง เอาใจคนชอบสบาย กะฟังแบบสบาย บอกเลยเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายๆ ชัดๆ ว่า “พร้อมนอน” คือฟังแล้วจะง่วง
เสียงที่สาม ก็เป็น “สมาธิจงกรมครึ่งชั่วโมง”
เสียงที่สี่ เป็น “สมาธิจงกรม ๑ ชั่วโมง”

ถ้านั่งไหว อยากให้ลอง จะมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ อย่างเริ่มฟังจากเจ็ดนาที แล้วก็ไต่ขึ้นมาเป็นครึ่งชั่วโมง ถ้ามีความสุข จะมีความรู้สึกว่า แป๊บเดียวเท่านั้นเอง และถ้านั่งหนึ่งชั่วโมงได้ นั่งไปสักหนึ่งสัปดาห์ ทุกวัน คุณจะรู้สึกเลยและอยากให้ฟีดแบคมาด้วยว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสุขภาพ หรือผลที่เกิดขึ้นทางชีวภาพชัดๆ อย่างไร ตอนนี้มีฟีดแบคมาจนเกิดความรู้สึกว่า อยากให้ฟังกันทุกคนเลย โดยเฉพาะพวกหัวร้อน จริงๆ พวกหัวร้อนง่าย มันมีความผิดปกติทางชีวภาพของสมองขึ้นมาโดยที่คุณไม่รู้ตัว ถ้าหากว่าสามารถทำได้ ฟังเสียงหนึ่งชั่วโมงได้ต่อเนื่อง หนึ่งสัปดาห์ คุณจะพบว่า ใจเย็นลงอย่างน่าแปลกใจทีเดียว เหมือนกับมีชีวิตใหม่ กลายเป็นคนใหม่เกิดขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้นแหละ
__________________

https://www.youtube.com/watch?v=3AneU3D6TxY


วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ร่างกายป่วยจิตฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรให้ใจไม่ดิ้นรน


ดังตฤณ : คือถ้าไปฝึกตอนป่วย ไม่ทันนะครับ สมมติว่า เราป่วยครั้งนี้ แล้วเริ่มฝึกครั้งนี้ จะได้จริงๆ เอาครั้งหน้า คือจะเริ่มรู้ทาง 

จริงๆ แล้วการฝึกที่จะไม่กระสับกระส่าย
ผมใช้คำนี้ก็แล้วกัน กายกระสับกระส่าย แต่ใจสงบระงับได้ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ แล้วก็ไม่ใช่ไปฝึกเอาตอนที่เราป่วยไปแล้ว เป็นไปไม่ได้นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าป่วยหนัก อย่างเช่นเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นอะไรที่ตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง รู้สึกทุรนทุราย กายกับใจผูกติดอยู่ด้วยกันเหนียวแน่น ถ้ากายร้อนมากๆ แล้วเกิดความทุรนทุราย ทรมานมากๆ จิตก็ดิ้นรนตาม ร้อนตาม ทุรนทุรายตาม เพราะผูกติดกันเหนียวแน่น กายเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น ถูกปรุงแต่งไปเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าหากว่าเราเคยเจริญสติ เคยทำสมาธิมาจนถึงขั้นที่จิตมีความสบายของมันอยู่ได้เอง มีความสุขกับตัวเองอยู่ได้เป็นปกติ คือพูดง่ายๆว่า ในชีวิตประจำวัน ถึงขั้นที่ พอ (ความ) ฟุ้งซ่านมาแล้ว (เห็นว่า) ผ่านมาผ่านไป เราไม่เก็บความฟุ้งซ่านไว้ จิตแบบนี้ที่เอาไปต้อนรับขับสู้ความป่วยไข้ได้นะ

ต้อนรับได้อย่างไร ก็คือว่า จิตของคน จำไว้ตรงนี้ สำคัญนะ ถ้าระหว่างวันเรารู้สึกว่าใจสงบๆ สบายๆ ไม่รำคาญตัวเอง ไม่รำคาญโลกภายในของตัวเอง ขอให้สันนิษฐานได้ว่า จิตของเรามีทิศทางที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ฝึกสมาธิ แม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรให้ถึงขั้นฌาน ขั้นญาณประเภทไหน แต่จิตอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ที่จะสบายใจ ที่จะมีความสุข

ถ้าสำรวจดู คนที่สบายใจได้เป็นปกติ ไม่ผิดศีลผิดธรรมให้ใจสกปรก ใจสกปรก ไม่มีทางสบาย แล้วถ้าหากว่ามีแต่ความหวง มีแต่ความห่วง โน่น นี่นั่น นี่ก็ไม่มีทางสบายอีกเช่นกัน แต่ถ้ารินน้ำใจบ่อยๆ มีความคิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากๆ นี่ก็มีความพร้อมที่จะเย็น แม้ภายนอกจะร้อนก็ตาม

นี่พูดถึงขั้นของทาน ขั้นของศีลนะ ถ้าเตรียมไว้ก่อน ถ้าใจมีความเย็น มีความชุ่มฉ่ำจากน้ำใจที่รินไปของตัวเอง ถ้าใจมีความสะอาดไม่รกรุงรัง อันเนื่องจากการมีศีล ตัวนี้ก็พร้อมจะสะอาด พร้อมจะเย็น ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำสมาธิอะไรก่อนนะ เอาความสะอาด แล้วก็ความชุ่มชื่นจากการรินน้ำใจ จากการรักษาศีล แค่นี้ เป็นขั้นต้นที่จะทำให้เราสามารถต้อนรับขับสู้ กับความเจ็บป่วยได้บ้างแล้ว

เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วมีฐานของความสว่าง มีฐานของความสะอาด มีฐานของความเย็นมากพอที่จะดูว่า ร่างกายร้อน ร่างกายกระสับกระส่าย แต่ใจของเรามีต้นทุนเป็นความเย็น มีต้นทุนเป็นความสะอาดไม่รกรุงรัง ไม่ฟุ้งซ่านมากอยู่ เท่านี้ ก็จะเริ่มเป็นสมาธิอ่อนๆ แล้ว คือใจจะอยู่กับความเย็นของตัวเอง ความไม่รกรุงรังของตัวเอง ร่างกายจะกระสับกระส่ายอย่างไร ก็จะมีกำลัง ตรงนี้นี่ พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า ใครรักษาศีลได้สะอาด ตรงนั้นมีความพร้อมที่จะต่อยอดเป็นสมาธิ รู้เห็นอะไรได้ตามจริง ไม่กระสับกระส่าย ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เห็นได้เป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ ผลของกรรมดีที่ให้ผลทันตาในชีวิตนี้นะครับ

แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่แค่ให้ทานดี ไม่ใช่แค่รักษาศีลดี แต่ยังมีการเจริญสติ เอาง่ายๆ ก่อนนอน เป็นช่วงที่ดีเลยที่ใครจะซ้อมไว้ก่อนป่วยไข้ ก่อนนอนสังเกตดู นิสัยคน ชอบคิดอยากโน่น อยากนี่ หรือว่ากังวลเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือว่าบางทีไม่ได้มีเรื่องอะไรอยู่ในใจ แต่ว่ามีความเคยชินทางสมอง คันสมอง รู้สึกยังไม่อยากนอน นอนไม่หลับ มีความรู้สึกเครียดๆ อยู่ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตรงนี้ คล้ายๆ กับการป่วยไข้นั่นแหละ

ถ้าใครซ้อมไว้ได้ตอนนอน เจริญสติ ไม่ใช่ทำสมาธินะ เจริญสติ เห็นความฟุ้งซ่าน เห็นความรำคาญใจ เห็นความกระสับกระส่ายภายใน เป็นเครื่องผลักดันให้ร่างกายพลอยกระสับกระส่ายตาม ร่างกายเย็นอยู่ดีๆ แต่จิตกระสับกระส่ายอยู่ที่ภายใน เกิดความร้อนระอุอยู่ที่ภายใน พลอยทำให้ร่างกายเกิดความกระสับกระส่ายแล้วก็ร้อนรนตามไปด้วย ตัวนี้ ถ้าเราพิจารณาเห็น ขนาดไม่ป่วยไข้อยู่แท้ๆ ร่างกายยังสามารถกระสับกระส่ายจากแรงดันภายในได้ เห็นแค่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการซักซ้อม ต้อนรับการป่วยไข้ได้แล้ว

ทำอย่างไร ฝึกอย่างไร ฝึกโดยการที่พิจารณาว่า ใจที่ทุรนทุรายไป กระสับกระส่ายไปอย่างเปล่าประโยชน์ คืออาการป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ป่วยไข้ทางกาย แต่เป็นอาการป่วยไข้ทางใจ เป็นความไม่ปกติ ร่างกายเย็นอยู่ดีๆ ไปทำให้ร้อนขึ้นมา ร่างกายไม่กระสับกระส่ายก็ได้ แต่ก็ไปทำให้กระสับกระส่ายขึ้นมา พิจารณาอยู่อย่างนี้ จะเริ่มเห็นเข้ามา เห็นจากการพิจารณาก่อนอันดับแรกก่อนว่า กายอยู่ดีๆ เราไปทำให้เสีย จะเริ่มเข้ามารู้สึกข้างใน เข้ามาเห็นความกระสับกระส่าย เห็นความอึดอัด เห็นความดื้นรนที่เปล่าประโยชน์ ไร้สาระ พอเห็นบ่อยๆ เข้าจะเกิดสติขึ้นมาว่า อาการดิ้นรนอย่างสูญเปล่า เริ่มต้นที่สุดมาจากการไม่มีสติ มองเห็นเข้าไปในใจของตัวเอง ถ้าขาดสติแล้วไม่เห็นเข้าไปในใจของตัวเอง ก็จะพร้อมที่จะไหลลงต่ำ พร้อมที่จะฟุ้งกระเจิง พร้อมที่จะกระสับกระส่ายออกมาจากข้างใน พอเห็นอย่างนั้นบ่อยๆ ก่อนนอน จะเริ่มหาอะไรที่เป็นแก่นสารขึ้นมา อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าแนะนำอย่างที่สุดเลยก็คือว่า ให้สังเกตว่า เรากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจยาวหรือหายใจสั้น หายใจยาวจะสังเกตได้เลย ท้องจะพองขึ้นมาก่อน พองขึ้นมาสบายๆ แล้วก็ค่อยๆ ผ่อนคลายออกไปนะ

แต่ถ้าไม่ยึดลมหายใจไว้ จะไปดูส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือไปดูส่วนใดส่วนหนึ่งของจิต บางทีไม่รู้จะเอาอะไรมาจับยึดไว้ให้แน่นอนนะ บางคนอาจจับจุดถูกว่านอนหงายอย่างไรให้เกิดความรู้สึกเบากายขึ้นมา แล้วก็สามารถที่จะล็อกตรงนั้นไว้เป็นเครื่องตรึงจิต อันนั้นเรียกว่าเป็นสมาธิ แต่ถ้าหากว่าเราจับสังเกตได้ว่า ลมหายใจ หรือ อาการทางกาย กระสับกระส่ายก็ดี หรือว่าสงบลงก็ดี กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ตรงนี้ จะเกิดสติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับสติขึ้นมาเป็นสติแบบพุทธ คือเห็นความไม่เที่ยงของกายใจ เมื่อสามารถเห็นความไม่เที่ยงของกายใจก่อนที่จะหลับได้ ตรงนี้พอเกิดอาการป่วยไข้ คุณจะมีเครื่องมือ มีอาวุธ ไว้ต่อกรกับความป่วยไข้แล้ว พอร่างกายร้อนขึ้นมา เกิดความทุรนทุรายขึ้นมา คุณบอกตัวเองได้ว่า เป็นความทุรนทุรายภายนอก เป็นความเจ็บปวดทางกายที่มาปรุงแต่งจิตให้พลอยเศร้าหมองไปด้วย ทีนี้ลองสำรวจ สังเกตเข้าไปข้างในว่าจิตพลอยมีอาการกระสับกระส่ายตาม หรือว่ามีแรงดันให้ตัวเองพลิกไปพลิกมาจากภายในบ้างไหม

ถ้าสังเกตเห็นว่าระดับความแรงของความกระสับกระส่ายไม่เท่าเดิมในแต่ละลมหายใจ ตรงนี้ ก็จะเกิดการเห็นความไม่เที่ยง แล้วเมื่อไหร่ที่เกิดความเห็นว่าไม่เที่ยง ใจจะผ่อนอาการยึด จะถอยกลับมาเป็นผู้ดู โดยกลไกธรรมชาติของจิต ธรรมชาติเป็นอย่างนี้นะ ถ้าจิตเห็นสิ่งใดไม่เที่ยง จิตจะถอยออกมาเป็นผู้ดู จะห่างออกมาจากความไม่เที่ยงนั้น จะปล่อยวางความไม่เที่ยงนั้น เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา จิตไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งเดียวกับจิต จิตเป็นเพียงผู้ดู แล้วสิ่งที่แสดงความไม่เที่ยงนั้น เป็นตัวละคร เป็นหุ่นกระบอก หรือว่าเป็นโพรงไม้ว่างเปล่าที่ปรากฏให้ดู ไม่ใช่ปรากฏให้เป็น

เมื่อไหร่ที่เราไม่เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ตรงนี้ เราจะเห็นเลยว่า ความกระสับกระส่ายทางกาย จะร้อนแค่ไหน ถ้าลงไปไม่ถึงใจ ใจไม่ร้อนตาม จะค่อยๆ เย็น จะค่อยๆ ดีขึ้น จะค่อยๆปรับเข้าสู่สภาพสมดุลโดยธรรมชาติของร่างกายเอง

แต่ถ้าหากว่าร่างกายกระสับกระส่าย แล้วใจพลอยกระสับกระส่ายตามไปด้วย ก็จะเกิดธรรมชาติในอีกทางหนึ่ง ธรรมชาติในทางทุกข์ จะไม่มีอะไรดีๆ เหลืออยู่ข้างใน มีแต่อะไรเสียๆ มีแต่อะไรร้ายๆ ร่างกายรังแต่จะผลิตอะไรที่แย่ลงๆ มาใส่ตัวเอง เช่นสารที่เป็นพิษ อะดรีนาลีนบ้าง หรืออะไรที่ไม่ดีทั้งหลาย จะหลั่งออกมา ส่วนของความร้อนก็จะร้อนอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีส่วนของความเย็นภายในเข้ามาช่วยบรรเทาบ้างนะครับ
!

คำถามเต็ม : เวลาร่างกายป่วย จิตฟุ้งซ่าน จะรวบรวมสติได้ด้วยวิธีใด ที่จะทำให้ป่วยแค่กาย แต่ใจไม่ดิ้นรน
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญวิปัสสนาอุทิศให้สัตว์เลี้ยงได้ไหม?
คำถามช่วง ถามตอบ
19 มกราคม พ.ศ. 2562

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รู้สึกไม่ผูกพันกับครอบครัว บางครั้งมองหน้าพ่อแม่แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่พ่อแม่


ดังตฤณ : จริงๆ แล้ว ถ้าเราเริ่มแปลกหน้ากับตัวเอง 
เริ่มเห็นว่าไม่มีตัวตน มีแต่กาย มีแต่ใจ เป็นที่ตั้งให้ระลึก
แบบนี้จะแปลกหน้ากับทุกคนในโลก
แหละ

ถ้าแปลกหน้ากับตัวเองได้ ก็จะแปลกหน้ากับทุกคน
เพราะว่าไม่มีใครเป็นพ่อแม่ลูกกันอย่างแท้จริงถาวร
กรรม ที่เราทำในแต่ละชาตินั่นแหละ
กิเลส ที่เรามี ฝังจิต ฝังวิญญาณอยู่นั่นแหละ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นพ่อแม่ที่แท้จริง
เพราะว่าจะพาเราไปหาคู่ชายหญิงในภพใหม่ ภาวะใหม่
ที่เหมาะสมกับกรรมของเรา

ไปเกิดเป็นเทวดา ผุดมีตัวตนขึ้นมา ก็ด้วยกรรมที่ทำมาทั้งชาติ
ไปผุดเกิดเป็นสัตว์นรกทันที ก็ด้วยกรรมที่ทำมาทั้งชาติ
เลยถูกนิยามว่า กรรม หรือ กิเลส ที่พอกพูนอยู่ทุกภพทุกชาติ
เป็นพ่อแม่ที่แท้จริง ไม่ใช่พ่อแม่คู่ชายหญิง

ทีนี้ เวลาที่เราเกิดมา ลืมตาขึ้นมาปุ๊บ
ที่เห็นก่อนอันดับแรกก็คือรอยยิ้มของพ่อแม่ เสียงของพ่อแม่
เราก็มีความจดจำอย่างแน่นหนามั่นคงว่า นี่พ่อแม่ของเรา
จะต้องอาศัยอาศัยการศึกษา และการปฏิบัติธรรม
จนกระทั่งเกิดความเห็นขึ้นมาว่า แหล่งกำเนิดที่แท้จริง อยู่ข้างในนะ
ตรงนั้นถึงจุดนั้น ถึงจะไปมองว่า พ่อแม่ จริงๆแล้ว เป็นผู้ให้กำเนิด
แต่ไม่ใช่จุดกำเนิดที่แท้จริงของเรา
เป็นผู้ให้กำเนิดร่างมนุษย์ แต่ไม่ใช่จุดกำเนิดความเป็นตัวเป็นตน

แม้แต่ฝาแฝดก็ยังแตกต่างกันได้
พี่น้องคลานตามกันมา หน้าตาราวกับเป็นคนละพ่อคนละแม่
ฉะนั้น พ่อแม่ที่เป็นคู่ชายหญิงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า
ลูกจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
รู้แต่ว่า ทำไปตามธรรมชาติ
แล้วเดี๋ยวก็จะมีเด็กออกมาจากท้องแม่ รับรู้อยู่แค่นี้

แต่กรรม เขารู้มากกว่านั้น
รู้ว่าจะปรุงแต่ง ให้เกิดหน้าตาขึ้นมาอย่างไร
จะปรุงแต่งให้เกิดนิสัยใจคอแบบไหน
จะปรุงแต่งให้เกิดชะตากรรมแบบไหน
ถึงบอกว่า พ่อแม่ที่แท้จริงของเราก็คือกรรม และกิเลส

ทีนี้พอเวลาเรารู้สึกว่า ที่เรายึดมั่นถือมั่นมาตลอดว่า
นี่เป็นพ่อแม่ของเรา แน่ๆ สุดท้ายกลับไม่ใช่
ความปรุงแต่งทางจิต ก็จะพลอยเกิดความรู้สึกแตกต่างไปด้วย
เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจว่า
จิตถูกปรุงแต่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้

เวลาที่เรามาปฏิบัติธรรม แล้วเราเกิดความรู้สึกแปลกหน้ากับตัวเอง
เราสามารถพร้อมที่จะแปลกหน้ากับคนได้ทั้งโลกเช่นกัน
เพราะจริงๆแล้ว ไม่ได้มีตัวใครที่มีความผูกมัด
ว่าจะต้องเป็นอะไรกับเราอยู่แน่ๆ

อย่างบางคนปฏิบัติ เจริญสติไปแล้ว ออกจากสมาธิ
สมาธิ มีจิตอยู่ดวงเดียวใช่ไหม แบบเรียบง่าย
พอออกมา โอ้โหตกใจ มีสองตา หนึ่งจมูก สองรูจมูก มีปาก มีฟัน
เคยไปออกแบบไว้ที่ไหน ไปยึดไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่านี่เป็นตัวของเรา
แปลกหน้าไปหมด นี่ก็เรียกว่าเป็นสัญญาที่แปลกไป

ตัวสัญญาขันธ์ เปลี่ยนจาก อัตตสัญญา เป็นอนัตตสัญญา
เปลี่ยนจาก นิจจสัญญา เป็น ทุกขสัญญา หรือว่า อนิจจสัญญา
ตัวนี้ เราพิจารณาเข้ามาว่า สัญญาของเรา สัญญาขันธ์ แตกต่างไป
คำว่าสัญญา ไม่ใช่ข้อผูกมัดนะ แต่หมายถึงความจำได้หมายรู้
เป็นลักษณะปรุงแต่งจิตให้นึกออกว่า เคยเห็นมาที่ไหน

ทีนี้พอปฏิบัติธรรมไป ไม่ใช่ไปพยายามระลึกว่า
นี่เป็นใคร นั่นอยู่ในฐานะอะไรกับเรา
แต่ว่าจะมีการเห็นเข้ามาว่า นี่ก็ไม่เที่ยง นั่นก็ไม่ใช่ตัวเดิม
ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวจริงๆของใครสักอย่างเดียว สัญญาจะต่างไป

แล้วพอสัญญาต่างไป เห็นตัวเองแปลกหน้า
ก็พร้อมที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง
เห็นทุกคนในโลกแปลกหน้าตามไปด้วย 
นะครับ

ก็ไม่ต้องตกใจนะ เรายังสามารถที่จะกราบไหว้พ่อแม่
เรายังสามารถที่จะแสดงความกตัญญู เหมือนกับลูกคนอื่นๆทั้งโลก
แต่สิ่งที่เราเกิดความรู้เพิ่มขึ้นมาต่างหาก
ปัญญาแบบพุทธที่เติมเข้ามาในจิตต่างหาก
ตรงนั้นแหละที่ทำให้เราจะไม่ต้องไปเป็นทุกข์
จะไม่ต้องไปหลงยึดอะไรผิดๆ แบบคนอื่นอีกนะครับ
!

++ ++ ++ ++ 

คำถามเต็ม
:
รู้สึกไม่ผูกพันกับครอบครัว บางครั้งมองหน้าพ่อแม่แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่พ่อแม่เรา กับคนอื่นๆก็คล้ายๆกัน รู้สึกไม่ผูกพัน จะเป็นมากช่วงที่สวดมนต์ นั่งสมาธิถี่ๆ แต่ก็ปฏิบัติแบบลูกทั่วไปที่ดูแลเค้าอย่างดีที่สุดนะคะ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พอรู้สึกว่ากายใจไม่ใช่ตนแล้วเจ็บปวด
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
1.6.2019

https://www.youtube.com/watch?v=5VG5EiGwRdM


วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ของขวัญจากสมาธิ


ดังตฤณ : วันนี้เรามาคุยกันเรื่อง ของขวัญจากสมาธิ ซึ่งผมยกเป็นหัวข้อเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ (เนื่องจาก) ช่วงนี้ก็มีความคึกคักกันพอสมควร เกี่ยวกับการทำสมาธิ และผมรวบรวมมาจากที่บอกเล่ากันว่า ทำสมาธิได้ผล มีความสุข มีความสนุกในการทำสมาธิได้บ่อยๆ ทุกวัน แล้วเกิดอะไรขึ้น

อันแรกเลย อย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ ชีวิตมีความสุขมากขึ้น พอชีวิตมีความสุขมากขึ้นจากการทำสมาธิ แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนจะดีขึ้นไปด้วยตามไปหมด ไม่ว่าสภาพแวดล้อมหรือว่าสภาพชีวิตจะเป็นยังไงอยู่ ถ้าหากภายในใจของเรามีความสุข หัวโล่ง ตัวโล่ง เหมือนกับความทุกข์ไม่มี

ที่ยึดมาตลอดว่า ความทุกข์คือสถานการณ์แวดล้อม หรือสภาพแวดล้อม ก็เปลี่ยนมุมมองได้ใหม่ว่า ความทุกข์เกิดจากใจ ที่ไปยึดอะไรผิดๆ ไปสำคัญ หรือว่าเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งสมองยุ่ง หัวยุ่ง ใจเต็มไปด้วยความหนักอึ้งนั่นต่างหากที่เป็นความทุกข์

ถ้าหากหัวโล่ง ตัวโล่ง ความสุขก็อยู่ที่นี่ ราวกับว่าชีวิตทั้งชีวิตไม่มีความทุกข์อะไรเลย ต่อให้ต้องเผชิญกับปัญหาขนาดไหน ต่อให้จะต้องทำงานหนักเพียงไร ก็รู้สึกว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวเราก็ได้กลับมานั่งสมาธิให้ชุ่มฉ่ำที่บ้านต่อ

อันดับสองคือ เรื่องของสุขภาพ
พอหัวโล่ง พอตัวโล่ง อะไรดีๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายตามธรรมชาติ คือ เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายก็ปรากฏ อย่างถ้าพูดกันแบบหมอก็คือว่า มีการหลั่งสารดีๆ ออกมา เรื่องของกล้ามเนื้อที่ผ่อนคลาย ทำให้โลหิต หมุนเวียนดี ทำให้ระบบหายใจอะไรต่างๆ เป็นปกติ หรือว่าดีกว่าปกติ

หายใจยาว คือชีวิตดีนะ ยิ่งเราหายใจได้ยาวขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตยิ่งดีขึ้นเท่านั้น แล้วโรคที่บางทีรักษาไม่หายด้วยการแพทย์ เพราะว่าเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง อย่างประเภท
SLE (หมายเหตุ: Systemic Lupus Erythematosus, โรคแพ้ภูมิตัวเอง) หรือซึมเศร้าอะไรต่างๆ พวกนี้ ต้นเหตุมาจากความขัดแย้งทางใจ หรืออาการซึมที่เราไปเร่งมันขึ้นมา ไปรักษามันไว้ ลักษณะของโรคภัยไข้เจ็บที่ยารักษาไม่ได้ อันเนื่องจากการคิดผิด หรือว่าตั้งมุมมองชีวิตไว้พลาด ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ จะหายไปได้เหมือนปาฏิหาริย์

จริงๆ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไรเลย เป็นธรรมชาติตื้นๆ เป็นการทำงานของสมองที่ผิดปกติ พอเราทำให้สมองกลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติ โรคที่เกิดจากอาการผิดปกติทางสมองก็หายตามไปด้วย นี่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ

อันที่สาม ก็คือว่า ง่ายต่อการทำความเข้าใจกับธรรมะ ... ที่เหมือนกับว่า ที่ผ่านมาทั้งชีวิต บางทีทำไมไม่เข้าใจ แต่พอหัวโล่ง ตัวโล่งขึ้นมา จะเข้าใจได้ง่ายๆ ผมยกตัวอย่างให้ดู มีอยู่คนหนึ่งบอกมาว่าให้คุณแม่ลองฟังเสียงสติดู คุณแม่ก็เลยเหมือนกับขยัน พอทำได้ ก็ให้ (ลูกสาว) หาเบาะที่นั่งทำสมาธิมาให้ ที่สำคัญ คุณแม่บอกว่า แม่ต้องนั่งสมาธิผิดอะไรสักอย่างแน่ๆ ดูลมหายใจ ดูไปแล้วเหมือนไปนั่งดูคนอื่นหายใจ

ตรงนี้คือ ทั้งชีวิตของชาวพุทธ บางทีไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าอยากให้เห็นอะไร มีความปรารถนา มีพระประสงค์อะไร ที่บำเพ็ญบารมีมา จริงๆ แล้วพระองค์อยากให้เห็นอย่างนี้แหละ เห็นว่าที่เรายึดอยู่ว่า เป็นกายของเรา เป็นลมหายใจของเรา เป็นจิตของเรา เป็นความคิดของเรา คือ อุปาทาน คือความสำคัญผิด ถ้าหากว่ามีสมาธิ ในแบบสงบพร้อมรู้ได้ จะสามารถเกิดมุมมองแบบนี้ได้ง่ายๆ เช่นกัน คือถ้าคนปกติ พอเห็นไป แล้วนึกว่าตัวเองเข้าใจผิด เลิกดูแบบนี้ มาดูแบบมีตัวตน นี่ก็กลายเป็นว่าอุตส่าห์มาถูกทางแล้ว ก็ออกจากทางที่ถูกมาในทางที่ผิดแบบปุถุชนธรรมดาทั่วไปกันได้

แต่ถ้าหากทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร อยากให้เห็นอะไร ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นประตู เป็นปากทางที่จะเดินเข้าสู่การเจริญสติอย่างถูกต้อง การทำวิปัสสนา เพื่อบรรลุมรรคผลอย่างถูกต้อง ตรงนี้ก็เป็นของชวัญชิ้นที่สาม

กรณีนี้คือคุณแม่ของคนที่ส่งข้อความมานี้ ก็เรียกว่าเป็นพุทธมาทั้งชีวิต ทำบุญทำทาน ทำกุศลอะไรมามากมาย แต่อาจยังไม่เคยเขยิบขึ้นมาฟังเรื่องความไม่เที่ยง หรือว่าความไม่ใช่ตัวตนของกายใจ พอได้สมาธิขึ้นมา ได้ของขวัญจากสมาธิที่ดีแล้ว ก็กลายเป็นการเปิดโลกทัศน์แบบพุทธ กลายเป็นสายตาแบบพุทธ มีดวงตาที่พร้อมจะเห็นธรรม คือ ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมแบบบรรลุมรรคผล แต่พร้อมที่จะเห็นความจริง แบบที่พระอริยเจ้าท่านเห็นกัน เห็นว่าที่เรานึกว่า กายนี้ใจนี้ ที่กำลังนั่งอยู่ ที่กำลังฟังอยู่อย่างนี้ เป็นตัวเราแน่ๆ มันหายไป กลายเป็นความเห็นแบบใหม่ออกมาจากข้างใน ว่า จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเดิมเลย มีแต่ตัวที่แสดงอยู่ชัดๆ ตลอด 24 ชั่วโมงว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนนับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจเป็นต้นมา

อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านถึงได้คะยั้นคะยอหนักหนา ว่า อยากให้เห็นลมหายใจแสดงความไม่เที่ยงก่อน เพราะว่าเมื่อเห็นแล้ว เห็นได้ง่ายๆ ก็สามารถที่จะเห็นอย่างอื่น ไม่ใช่ตัวตนได้เช่นกัน

บอกกล่าวนะ วันนี้ผมเพิ่งอัพเดท (
update) ไฟล์เสียงสติ คือจะทำใหม่เลย ถ้าเข้าไปที่ 

จะมีการแสดงลิงก์ใหม่ คือ ผมทำเป็นเสียงสามแบบ ... เสียงศรัทธา เสียงสติ และเสียงรักษา

สำหรับ เสียงสติ ก็สามเสียงที่เคยได้ฟังกันมานั่นแหละ ส่วน เสียงศรัทธา คลิกเข้าไป ก็จะเป็นแบบที่หลายคนเรียกร้องว่าอยากฟังอะไรง่ายๆ แต่ฟังแล้วมีความสุข เกิดสมาธิได้ เคยทดลองแล้วได้ผลกับคนกลุ่มใหญ่พอสมควร หลายร้อยคน คือ ถ้าฟังแล้วหลับตาดูลมหายใจไป ก็สามารถที่จะเกิดสมาธิได้ บางคนถึงอุปจารสมาธิได้เลย ความสุขท่วมท้นขึ้นมา เพราะเกิดจากการปรุงแต่งอันเกิดจากการฟังเสียงสรรเสริญพระพุทธเจ้า ขับร้องโดย ปาน ธนพร นะครับ มีมานานแล้วล่ะ แต่หลายท่าน 90
% ยังไม่เคยฟังนะ ลองไปฟังดู

นอกจากนั้น ที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อที่จะแยกอย่างชัดเจนนะครับก็เป็น เสียงรักษา ที่ผมเพิ่งให้ไปเมื่อเช้านี้ ถ้าเปรียบเทียบว่า เสียงสติ ที่ผ่านมา เป็นการขึ้นบันไดแบบข้ามขั้น ขึ้นทีละสองขั้นบ้าง สามขั้นบ้าง เพื่อไปถึงข้างบนได้เหมือนกัน แต่ว่ารีบร้อนไปนิดหนึ่ง

แต่ เสียงรักษา นี่ จะใช้เวลามากกว่า แล้วก็ขึ้นทีละขั้นๆ ผลเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับการล้างท่อ หรือว่าพยายามขจัดสิ่งอุดตันในท่อ ที่มีน้ำไหล ถ้าหากว่า เราขจัดทุกซอก ทุกมุม ก็จะไหลได้สะดวกขึ้น นี่ก็คือ เสียงรักษา นะ

คำว่า เสียงรักษา จริงๆ แล้ว เป็นฟีดแบค มาจากหลายๆ ท่านนะครับว่า ฟังเสียงสติ แบบ 33 นาที แล้วโรคนั้นโรคนี้หายไป หรือว่า อาการนั้นอาการนี้ อาการเจ็บปวดตามร่างกายอะไรต่างๆ ทุเลาลงหรือหายไปเลย ผมก็เลยทำออกมาเป็นไฟล์เพื่อที่จะจงใจเลย คราวนี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่เราตั้งใจว่าจะใช้
binaural beats เพื่อค้ำจุนสมาธิ หรือช่วยให้เกิดการเจริญสติได้ง่าย ก็ข้ามพรมแดนไปเลย มาเรื่องการรักษาไปเลย ว่ากันตรงๆ ใช้คำกันตรงๆ ว่าอันนี้ตั้งใจรักษา แต่ต้องใช้เวลากันนิดหนึ่ง คือ 57 นาที ประมาณ 1 ชั่วโมงนะครับ แล้วก็มีคำเตือนอยู่ด้วยคือว่า ถ้าใครยังไม่เคยฟังเสียงสติ ไม่ควรกระโดดไปฟังทันที อยากให้ฟังเสียงสติก่อน เริ่มจากอันแรกเลย อันแรกนี่ต้อนรับมือใหม่ หน้าใหม่โดยเฉพาะ

เสียงเพื่อลดความฟุ้งซ่าน นี่ผมตั้งชื่อเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับประสบการณ์ที่แต่ละท่านช่วยส่งฟีดแบคกันมานะครับ เสียงลดความฟุ้งซ่าน จะมีดนตรีนำ ฉะนั้นฟังแล้วจะง่าย เหมือนกับเราเอาดนตรีมาเหนี่ยวนำให้เกิดความสงบพร้อมฟัง
binaural beats ซึ่งฟังยากสำหรับคนไม่เคยคุ้น แต่ถ้าฟังได้คุ้นแล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่า โฟกัสที่ถูกมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับภาวะจิต ไม่ใช่ไปขัดเคืองกับเสียง วี้ๆ ในหูนะ

เสียงที่เป็น
binaural beats ฟังแล้วคุ้นไม่ยากหรอก ไม่นานก็คุ้น แต่สำคัญด่านแรก ช่วงต้นๆ ถ้าหากมีทัศนคติไม่ดี หรือเป็นคนขี้รำคาญ ก็อาจยากหน่อย แต่ถ้าฟังได้แล้ว อย่างเสียงเพื่อความผ่อนคลาย ถ้าฟังก่อนนอน ในท่านอน ผมออกแบบไว้โดยเฉพาะ สามารถที่จะนอนหลับไปกับเสียงนี้ได้ ก็จะรู้สึกว่าหลับสบาย แล้วก็ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น ที่ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นเพราะอะไร เพราะว่า สมองไม่เต้นผิดปกติ อยู่ในสภาวะที่สมดุล แล้วก็พร้อมพักนะครับ

ปกติ คนจะเข้าใจว่าการนอนหลับคือการพักผ่อน แตที่ไหนได้ พอวัดคลื่นสมองออกมาจริงๆ แล้วนี่ พอหลับฝัน นอกจากจะไม่ได้อยู่ในสภาพสงบแล้ว กลับยิ่งเต้นถี่หรือว่าแรงขึ้นกว่าตอนตื่น หรือ ตอนทำงานหนักๆ เสียอีก อย่างบางคนชัดเจนเลยนะ เหมือนตีขึ้นสูงมากๆ แล้วก็กระชากวูบลงต่ำทันที ประเภทแบบนี้สะท้อนเลย ว่าระหว่างวันสามารถที่จะเหวี่ยง สามารถที่จะวีนได้ง่ายๆ
ฉะนั้นการพักผ่อนไม่ใช่การนอนหลับ การพักผ่อนคือการที่สมองของเรามีคลื่นที่สมดุล แล้วเสียงเพื่อการผ่อนคลายนี้ก็ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อการนี้

ส่วน เสียงเพื่อปรับสมดุลกายใจทั่วพร้อม ก็หมายถึง การนั่งสมาธิ ถ้าวางแผนจะมีเวลานั่งแค่ครึ่งชั่วโมง จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า สามารถนิ่ง สามารถปีติ สามารถสุขได้ และถ้าฟัง
repeat (ฟังซ้ำๆ) จะยิ่งมีความรู้สึกว่าตั้งมั่นมากขึ้น

แต่เพราะเหตุนี้ผมก็เลยออกแบบเสียงใหม่ มาสำหรับคนที่นั่งได้นาน นั่งได้ดีแล้ว คุ้นกับเสียงสติดีแล้ว ก็เขยิบเลื่อนขั้นขึ้นไป เป็น เสียงรักษา ที่ต้องแยกออกมาเป็นต่างหาก ก็เพื่อที่จะบอกว่า ต้องคุ้นแล้วกับเสียงสติ มีสติดีแล้ว

และคำว่า รักษา ผมกินนัยทั้งสภาพทางกาย และสภาพทางจิตเลยทีเดียว คือรักษาทั้งระดับชีวภาพเลย มีการเปลี่ยนแปลงระดับชีวภาพอย่างชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมุมมองภายใน หรือว่าสภาวะ หรือว่าคุณภาพของจิต ที่พูดง่ายๆ ว่า มาจากการที่ปรุงแต่งของสมองที่ดีขึ้น

จิต กับ กาย หรือว่าตัวจิตกับสมองที่หลายคนสงสัยว่า แตกต่างกันอย่างไรกันแน่ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันบอกว่า เหมือนกันนั่นแหละ ไปเรียกต่างกันก็เพราะด้วยความเชื่อ แต่ถ้าหากว่าอธิบายตามมุมมองแบบพุทธก็คือ สมอง เป็นตัวทำงานที่แท้จริงเหมือนกับ ข้าทาสที่รับใช้เจ้านายที่แขนด้วนขาด้วน ไม่มีมือ ไม่มีเท้า แต่เจ้านายนี่มีอำนาจเหนือข้าทาส สามารถสั่งให้ข้าทาส ไปทำอะไรก็ได้ แต่ข้าทาสจะไม่มีชีวิตจิตใจของตัวเอง ไม่มีความปรารถนาส่วนตัว ได้แต่อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้เจ้านายอย่างเดียว

ถ้าจิตไม่มีเจตนา ไม่มีการรับรู้ สมองนี่คือสิ่งเดียวกับศพเลยนะ วิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ก็ยังค้นกันไม่เจอว่าพื้นที่การทำงานของสมองส่วนไหนที่เป็นแห่งผลิต สิ่งที่เรียกว่า
consciousness หรือการรับรู้ ได้แต่สันนิษฐานกันไป อาจเป็น เซลส์ประสาทขนาดยักษ์ใจกลางสมอง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

แต่ทางพุทธบอกไว้นานแล้วว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าจิตไม่มีการสั่งการ สมองก็จะไม่ทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสมองไม่ดี จิตก็ถูกปรุงแต่งไปในทางเลวเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้าทาสทำงานไม่ถูก ทำงานไม่ดีเจ้านายที่มือด้วน เท้าด้วน ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข เอาน้ำสกปรกมาให้ เอาอาหารไม่อร่อยมาให้ เอาเสื้อผ้าสกปรกมีแต่เชื้อโรคมาให้ ก็อยู่ไม่ได้

จิตเป็นผู้บรรลุธรรม กายไม่สามารถบรรลุธรรมได้ คลื่นสมองไม่สามารถบรรลุธรรมได้ นี่คือข้อแตกต่างระหว่างจิต กับสมอง ซึ่งเถียงกันไปเถอะ ไม่จบหรอกนะ ถ้าไม่เต็มใจที่จะมามองแบบพุทธ ถ้าไม่เต็มใจที่จะมาศึกษา มารู้ มาดูจากสภาพภายใน ไม่มีทางที่จะข้ามไปจากความยึดติดผิดๆ ได้เลยนะครับ นี่ก็เป็นปัญหาโลกแตก เป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่ต้องรู้เอง เห็นเองเฉพาะตนนะครับ
!

++ ++ ++ ++

ชมคลิปวิดีโอที่ :