ดังตฤณ : คือถ้าไปฝึกตอนป่วย ไม่ทันนะครับ สมมติว่า เราป่วยครั้งนี้
แล้วเริ่มฝึกครั้งนี้ จะได้จริงๆ เอาครั้งหน้า คือจะเริ่มรู้ทาง
จริงๆ แล้วการฝึกที่จะไม่กระสับกระส่าย … ผมใช้คำนี้ก็แล้วกัน … กายกระสับกระส่าย แต่ใจสงบระงับได้ … ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ แล้วก็ไม่ใช่ไปฝึกเอาตอนที่เราป่วยไปแล้ว เป็นไปไม่ได้นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าป่วยหนัก อย่างเช่นเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นอะไรที่ตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง รู้สึกทุรนทุราย กายกับใจผูกติดอยู่ด้วยกันเหนียวแน่น ถ้ากายร้อนมากๆ แล้วเกิดความทุรนทุราย ทรมานมากๆ จิตก็ดิ้นรนตาม ร้อนตาม ทุรนทุรายตาม เพราะผูกติดกันเหนียวแน่น กายเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น ถูกปรุงแต่งไปเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าหากว่าเราเคยเจริญสติ เคยทำสมาธิมาจนถึงขั้นที่จิตมีความสบายของมันอยู่ได้เอง มีความสุขกับตัวเองอยู่ได้เป็นปกติ คือพูดง่ายๆว่า ในชีวิตประจำวัน ถึงขั้นที่ พอ (ความ) ฟุ้งซ่านมาแล้ว (เห็นว่า) ผ่านมาผ่านไป เราไม่เก็บความฟุ้งซ่านไว้ จิตแบบนี้ที่เอาไปต้อนรับขับสู้ความป่วยไข้ได้นะ
ต้อนรับได้อย่างไร ก็คือว่า จิตของคน จำไว้ตรงนี้ สำคัญนะ ถ้าระหว่างวันเรารู้สึกว่าใจสงบๆ สบายๆ ไม่รำคาญตัวเอง ไม่รำคาญโลกภายในของตัวเอง ขอให้สันนิษฐานได้ว่า จิตของเรามีทิศทางที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ฝึกสมาธิ แม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรให้ถึงขั้นฌาน ขั้นญาณประเภทไหน แต่จิตอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ที่จะสบายใจ ที่จะมีความสุข
ถ้าสำรวจดู คนที่สบายใจได้เป็นปกติ ไม่ผิดศีลผิดธรรมให้ใจสกปรก ใจสกปรก ไม่มีทางสบาย แล้วถ้าหากว่ามีแต่ความหวง มีแต่ความห่วง โน่น นี่นั่น นี่ก็ไม่มีทางสบายอีกเช่นกัน แต่ถ้ารินน้ำใจบ่อยๆ มีความคิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากๆ นี่ก็มีความพร้อมที่จะเย็น แม้ภายนอกจะร้อนก็ตาม
นี่พูดถึงขั้นของทาน ขั้นของศีลนะ ถ้าเตรียมไว้ก่อน ถ้าใจมีความเย็น มีความชุ่มฉ่ำจากน้ำใจที่รินไปของตัวเอง ถ้าใจมีความสะอาดไม่รกรุงรัง อันเนื่องจากการมีศีล ตัวนี้ก็พร้อมจะสะอาด พร้อมจะเย็น ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำสมาธิอะไรก่อนนะ เอาความสะอาด แล้วก็ความชุ่มชื่นจากการรินน้ำใจ จากการรักษาศีล แค่นี้ เป็นขั้นต้นที่จะทำให้เราสามารถต้อนรับขับสู้ กับความเจ็บป่วยได้บ้างแล้ว
เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วมีฐานของความสว่าง มีฐานของความสะอาด มีฐานของความเย็นมากพอที่จะดูว่า ร่างกายร้อน ร่างกายกระสับกระส่าย แต่ใจของเรามีต้นทุนเป็นความเย็น มีต้นทุนเป็นความสะอาดไม่รกรุงรัง ไม่ฟุ้งซ่านมากอยู่ เท่านี้ ก็จะเริ่มเป็นสมาธิอ่อนๆ แล้ว คือใจจะอยู่กับความเย็นของตัวเอง ความไม่รกรุงรังของตัวเอง ร่างกายจะกระสับกระส่ายอย่างไร ก็จะมีกำลัง ตรงนี้นี่ พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า ใครรักษาศีลได้สะอาด ตรงนั้นมีความพร้อมที่จะต่อยอดเป็นสมาธิ รู้เห็นอะไรได้ตามจริง ไม่กระสับกระส่าย ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เห็นได้เป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ ผลของกรรมดีที่ให้ผลทันตาในชีวิตนี้นะครับ
แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่แค่ให้ทานดี ไม่ใช่แค่รักษาศีลดี แต่ยังมีการเจริญสติ เอาง่ายๆ ก่อนนอน เป็นช่วงที่ดีเลยที่ใครจะซ้อมไว้ก่อนป่วยไข้ ก่อนนอนสังเกตดู นิสัยคน ชอบคิดอยากโน่น อยากนี่ หรือว่ากังวลเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือว่าบางทีไม่ได้มีเรื่องอะไรอยู่ในใจ แต่ว่ามีความเคยชินทางสมอง คันสมอง รู้สึกยังไม่อยากนอน นอนไม่หลับ มีความรู้สึกเครียดๆ อยู่ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตรงนี้ คล้ายๆ กับการป่วยไข้นั่นแหละ
ถ้าใครซ้อมไว้ได้ตอนนอน เจริญสติ ไม่ใช่ทำสมาธินะ เจริญสติ เห็นความฟุ้งซ่าน เห็นความรำคาญใจ เห็นความกระสับกระส่ายภายใน เป็นเครื่องผลักดันให้ร่างกายพลอยกระสับกระส่ายตาม ร่างกายเย็นอยู่ดีๆ แต่จิตกระสับกระส่ายอยู่ที่ภายใน เกิดความร้อนระอุอยู่ที่ภายใน พลอยทำให้ร่างกายเกิดความกระสับกระส่ายแล้วก็ร้อนรนตามไปด้วย ตัวนี้ ถ้าเราพิจารณาเห็น ขนาดไม่ป่วยไข้อยู่แท้ๆ ร่างกายยังสามารถกระสับกระส่ายจากแรงดันภายในได้ เห็นแค่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการซักซ้อม ต้อนรับการป่วยไข้ได้แล้ว
ทำอย่างไร ฝึกอย่างไร ฝึกโดยการที่พิจารณาว่า ใจที่ทุรนทุรายไป กระสับกระส่ายไปอย่างเปล่าประโยชน์ คืออาการป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ป่วยไข้ทางกาย แต่เป็นอาการป่วยไข้ทางใจ เป็นความไม่ปกติ ร่างกายเย็นอยู่ดีๆ ไปทำให้ร้อนขึ้นมา ร่างกายไม่กระสับกระส่ายก็ได้ แต่ก็ไปทำให้กระสับกระส่ายขึ้นมา พิจารณาอยู่อย่างนี้ จะเริ่มเห็นเข้ามา เห็นจากการพิจารณาก่อนอันดับแรกก่อนว่า กายอยู่ดีๆ เราไปทำให้เสีย จะเริ่มเข้ามารู้สึกข้างใน เข้ามาเห็นความกระสับกระส่าย เห็นความอึดอัด เห็นความดื้นรนที่เปล่าประโยชน์ ไร้สาระ พอเห็นบ่อยๆ เข้าจะเกิดสติขึ้นมาว่า อาการดิ้นรนอย่างสูญเปล่า เริ่มต้นที่สุดมาจากการไม่มีสติ มองเห็นเข้าไปในใจของตัวเอง ถ้าขาดสติแล้วไม่เห็นเข้าไปในใจของตัวเอง ก็จะพร้อมที่จะไหลลงต่ำ พร้อมที่จะฟุ้งกระเจิง พร้อมที่จะกระสับกระส่ายออกมาจากข้างใน พอเห็นอย่างนั้นบ่อยๆ ก่อนนอน จะเริ่มหาอะไรที่เป็นแก่นสารขึ้นมา อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าแนะนำอย่างที่สุดเลยก็คือว่า ให้สังเกตว่า เรากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจยาวหรือหายใจสั้น หายใจยาวจะสังเกตได้เลย ท้องจะพองขึ้นมาก่อน พองขึ้นมาสบายๆ แล้วก็ค่อยๆ ผ่อนคลายออกไปนะ
แต่ถ้าไม่ยึดลมหายใจไว้ จะไปดูส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือไปดูส่วนใดส่วนหนึ่งของจิต บางทีไม่รู้จะเอาอะไรมาจับยึดไว้ให้แน่นอนนะ บางคนอาจจับจุดถูกว่านอนหงายอย่างไรให้เกิดความรู้สึกเบากายขึ้นมา แล้วก็สามารถที่จะล็อกตรงนั้นไว้เป็นเครื่องตรึงจิต อันนั้นเรียกว่าเป็นสมาธิ แต่ถ้าหากว่าเราจับสังเกตได้ว่า ลมหายใจ หรือ อาการทางกาย กระสับกระส่ายก็ดี หรือว่าสงบลงก็ดี กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ตรงนี้ จะเกิดสติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับสติขึ้นมาเป็นสติแบบพุทธ คือเห็นความไม่เที่ยงของกายใจ เมื่อสามารถเห็นความไม่เที่ยงของกายใจก่อนที่จะหลับได้ ตรงนี้พอเกิดอาการป่วยไข้ คุณจะมีเครื่องมือ มีอาวุธ ไว้ต่อกรกับความป่วยไข้แล้ว พอร่างกายร้อนขึ้นมา เกิดความทุรนทุรายขึ้นมา คุณบอกตัวเองได้ว่า เป็นความทุรนทุรายภายนอก เป็นความเจ็บปวดทางกายที่มาปรุงแต่งจิตให้พลอยเศร้าหมองไปด้วย ทีนี้ลองสำรวจ สังเกตเข้าไปข้างในว่าจิตพลอยมีอาการกระสับกระส่ายตาม หรือว่ามีแรงดันให้ตัวเองพลิกไปพลิกมาจากภายในบ้างไหม
ถ้าสังเกตเห็นว่าระดับความแรงของความกระสับกระส่ายไม่เท่าเดิมในแต่ละลมหายใจ ตรงนี้ ก็จะเกิดการเห็นความไม่เที่ยง แล้วเมื่อไหร่ที่เกิดความเห็นว่าไม่เที่ยง ใจจะผ่อนอาการยึด จะถอยกลับมาเป็นผู้ดู โดยกลไกธรรมชาติของจิต ธรรมชาติเป็นอย่างนี้นะ ถ้าจิตเห็นสิ่งใดไม่เที่ยง จิตจะถอยออกมาเป็นผู้ดู จะห่างออกมาจากความไม่เที่ยงนั้น จะปล่อยวางความไม่เที่ยงนั้น เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา จิตไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งเดียวกับจิต จิตเป็นเพียงผู้ดู แล้วสิ่งที่แสดงความไม่เที่ยงนั้น เป็นตัวละคร เป็นหุ่นกระบอก หรือว่าเป็นโพรงไม้ว่างเปล่าที่ปรากฏให้ดู ไม่ใช่ปรากฏให้เป็น
เมื่อไหร่ที่เราไม่เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ตรงนี้ เราจะเห็นเลยว่า ความกระสับกระส่ายทางกาย จะร้อนแค่ไหน ถ้าลงไปไม่ถึงใจ ใจไม่ร้อนตาม จะค่อยๆ เย็น จะค่อยๆ ดีขึ้น จะค่อยๆปรับเข้าสู่สภาพสมดุลโดยธรรมชาติของร่างกายเอง
แต่ถ้าหากว่าร่างกายกระสับกระส่าย แล้วใจพลอยกระสับกระส่ายตามไปด้วย ก็จะเกิดธรรมชาติในอีกทางหนึ่ง ธรรมชาติในทางทุกข์ จะไม่มีอะไรดีๆ เหลืออยู่ข้างใน มีแต่อะไรเสียๆ มีแต่อะไรร้ายๆ ร่างกายรังแต่จะผลิตอะไรที่แย่ลงๆ มาใส่ตัวเอง เช่นสารที่เป็นพิษ อะดรีนาลีนบ้าง หรืออะไรที่ไม่ดีทั้งหลาย จะหลั่งออกมา ส่วนของความร้อนก็จะร้อนอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีส่วนของความเย็นภายในเข้ามาช่วยบรรเทาบ้างนะครับ!
คำถามเต็ม : เวลาร่างกายป่วย จิตฟุ้งซ่าน จะรวบรวมสติได้ด้วยวิธีใด
ที่จะทำให้ป่วยแค่กาย แต่ใจไม่ดิ้นรน
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน เจริญวิปัสสนาอุทิศให้สัตว์เลี้ยงได้ไหม?
คำถามช่วง – ถามตอบ
19 มกราคม พ.ศ. 2562
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น