วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

"ทางนฤพาน" ออนไลน์ - สกู๊ปเนชั่นสุดสัปดาห์

รายงานวัฒนธรรม เมื่อความทุกข์ออกเดินทางถึง "ทางนฤพาน" ออนไลน์"
เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 ตุลาคม 2543


"อ่านจบแล้ว มีเรื่องอยากคุยด้วยจังเลย"
คงมีคำถามเช่นนี้มากมายออนไลน์ไปถึงผู้เขียนโดยตรง

และอาจมีข้อความชวนผู้เขียนคุยตามต่อมาอีกว่า
"ทางนฤพาน"เป็นเสมือนกระจกบานหนึ่ง
ที่ทำให้เรากลับมาต่อภาพในอดีต-ปัจจุบัน-และความน่าจะเป็นในชีวิตของตนเองบ้าง

แม้ว่าโดยเนื้อหาและตัวละคร อาจจะไม่ค่อยสมจริงนัก
ในแง่นวนิยายที่จะให้คนติดตามไปโดยตลอด
แต่ในแนวทางการปฏิบัติธรรมอันหลากหลาย
ที่ผู้เขียนมอบหน้าที่ให้ตัวละครได้ทดลอง
และตรวจสอบการปฏิบัติไปในตัว ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เคยดื่มน้ำเย็นจากรสแห่งธรรมมาก่อน
อาจติดอกติดใจจนถึงขนาดถามหาตัวยาแขนงต่างๆ ในการรักษาโรคทางใจจากคุณ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

 "แม่นแล้ว -ทางนฤพานก็คือสินค้าตัวหนึ่ง
ที่มีบริการหลังการขายคือลานธรรมดอทคอม" (ในล้อมกรอบ)
-- ดังตฤณตอบ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

"อะไรเล่าที่ดลใจให้คุณกล้าหาญที่จะเขียนนวนิยายใส่สีตัวละครให้เปรอะเปื้อนไปด้วยกิเลสตัณหา จมอยู่ในกองทุกข์ที่เป็นเปลวเพลิงจนทนไม่ได้ และพยายามหาหนทางที่จะออกไปจากกองเพลิงนั้นด้วยตนเอง โดยที่บางทีไม่ต้องครองผ้าเหลืองก็สามารถดับทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ก่อนสิ้นใจ"

ความทุกข์คือแรงดลใจ
เพราะจากกองทุกข์ในใจของผู้เขียนนั่นเอง ที่กระทุ้งให้เขาหาทางแก้ทุกข์ด้วยตัวของเขาเองมากว่า 16 ปี

[ ดังตฤณ ]

        "เบื้องต้น ผมมีความทุกข์เกี่ยวกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นคนฟุ้งซ่านจัด กิเลสหนา สุขภาพกายค่อนข้างย่ำแย่มาตั้งแต่เด็ก เพราะสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเลวร้าย

ลักษณะโรคทางกายค่อนข้างจะบีบคั้นรุนแรง ประกอบกับที่จิตใจฟุ้งซ่านก็เลยเป็นคนทุกข์หนัก ทั้งๆ ที่ครอบครัวก็ไม่ได้ลำบาก ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ แต่ว่าความทุกข์ตรงนี้ท่วมทับและบดบังความสุขในชีวิต บดบังสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มองไม่เห็นเลย เห็นแต่สิ่งที่ตัวเองเป็นทุกข์อยู่

พูดง่ายๆ ก็คือว่า เริ่มต้นมาอยู่ในแนวของพุทธ เพราะโครงสร้างชีวิตของตัวเองเป็นทุกข์ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ
พุทธศาสนาอยู่แล้ว ตอนนั้นผมยังไม่มีปัญญา เรามีแต่ความเห็นว่าเป็นทุกข์อยู่จริงๆ"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ดังตฤณเล่าให้ฟังต่อมาอีกว่า ก่อนที่เขาจะสนใจศาสนาพุทธ เขาเริ่มต้นสนใจเต๋ามาก่อน

[ ดังตฤณ ]

        "ผมอ่านหนังสือธรรมะเกี่ยวกับจิตวิญญาณเล่มแรก คือ เต๋าที่เล่าแจ้ง อ่านแล้วจำอะไรไม่ได้ แต่เกิดความรู้สึกสัมผัสอะไรบางอย่างขึ้นมาว่ามีอะไรบางอย่างในตัวเรา ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจ เพราะยังเข้าไม่ถึง ยังมีกิเลสหนาอยู่

        ตอนนั้นผมกลัวว่าธรรมชาติที่มีอยู่ ที่ลึกซึ้ง ผมจะไม่มีโอกาสได้เห็น และที่ผมอ่านเรื่องเต๋า มีแต่ผล แต่ทางที่จะไปสู่ผลนั้นล่ะ ตอนนั้นผมเรียนอยู่เซนจอห์น มีคนมาสอนฝึกสมาธิแบบ TM ให้กับนักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ผมก็ไปฝึกกับเขาจนได้แนวทางการฝึกสมาธิ สามารถทำใจให้สงบได้แบบง่ายๆ ก็เลยฝึกนั่งทำสมาธิในรถเมล์ไประยะหนึ่ง... มันหยุด มันไม่รู้ว่าจะเอาไปพัฒนาต่ออย่างไร แค่สงบชั่วคราว และกลับรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มอัตตาตัวเองว่าเรามีพลังใหญ่ในตัวเอง มีพลังพิเศษ ผมไม่ได้ฝึกถึงขั้นนั้น แต่อย่างน้อยที่สุดผมได้รู้ว่า มีอะไรลึกซึ้งจริงๆ เช่น เรารู้เห็นอะไรได้ล่วงหน้า


เคยลองเล่นๆ เอาลูกเต๋ามาเล่นสองลูก อยากให้ขึ้นเลขหกทั้งสองลูก ทอยไปทั้งๆ ที่โยนแรงก็ขึ้นหกจริงๆ เกิดความพอใจระดับนั้น และไม่ได้ทำได้เสมอไป ในส่วนลึกของเรา เรารู้ว่า ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

และแล้ววันหนึ่งเขาเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าอยากรู้หนทางวิปัสสนาซึ่งเป็นการฝึกสมาธิแนวพุทธต่อ

ดังตฤณ ]

        "ก็ไปได้หนังสือเล่มแรกของอาจารย์ธรรมรักษา "วิธีปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนา" จากหนังสือเล่มละ 20 บาท เปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตเลย คือเกิดความเข้าใจเลยว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างไร""

        เพราะในหนังสือเล่มนั้นมีภาพประกอบภาพหนึ่งที่มีผลมากต่อเขา คือภาพอาซิ้มคนหนึ่งโดนรถชนตาย ผ่าท้องออกเห็นตับไตไส้พุง เห็นซี่โครงที่ถูกเลื่อยออก แล้วก็มีคำกำกับของท่านธรรมรักษาว่า ทุกข์แท้ แปรผัน เน่าเหม็น แตกดับ

        "ก็รู้สึกว่า ธรรมะ คือความเข้าใจตรงนี้จริงๆ คือเห็น เห็นเข้าไปว่าความจริงคืออะไร เกิดความปล่อยวางขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง น้ำหูน้ำตาไหล แล้วมาอ่านเรื่องสติปัฏฐาน 4 แล้วเข้าใจหมดเลย มีความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เราเคยเข้าใจอยู่แล้ว แต่ทำไมลืมไปได้ เหมือนมีอะไรมาบังตั้งนาน 

               จากจุดนั้นก็เลยไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ จากที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ก็ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่มีคนคอยบอกว่า จะพัฒนาขึ้นไปได้อย่างไร ไม่มีคนบอก ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี กว่าจะเข้าใจ ความรู้ตัวที่เข้ามาในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร จนมาเริ่มเขียน ปฏิบัติธรรมด้วยกระดาษ ในนิตยสาร "พ้นโลก" นี่แหละ"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

"ธรรมะ" ไม่ได้อยู่ในกระดาษ

        ด้วยความที่เขาสนใจพุทธศาสนามาตั้งแต่อายุ 16 ปี จากโรงเรียนมัธยม ตอนอายุประมาณ 20 ปี ก็ไปบวชกับหลวงพ่อพุทธ ที่โคราช อยู่สองเดือน แล้วมาเริ่มสนใจเขียนนวนิยายก็ตอนอายุ 22-23 ปี ตอนนั้นนิตยสาร "พ้นโลก" เพิ่งเปิดใหม่ๆ เขาเห็นเป็นโอกาสที่จะถ่ายทอดเรื่องธรรมะ ก็เลยเขียนบทความส่งไปก่อน

ดังตฤณ ]

        "เริ่มเขียนเป็นธรรมะจ๋าเลย แต่เป็นธรรมะในแนวไอเดียของตัวเอง สามารถทำได้จริง อย่างเช่นเรื่อง ปฏิบัติธรรมด้วยกระดาษ ใช้ปากกากับกระดาษคิดอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้นเลย ไม่มีดัดแปลง ข้อเขียนนั้นคือลักษณะการฝึกสติ ดูความคิดตัวเอง สิ่งที่คิดอยู่ในหัวจริงๆ""

เมื่อเล่าถึงตอนนี้ เขาฝากวิธีการรักษาโรคความฟุ้งซ่านด้วยตนเองมาฝากผู้อ่านอีกทอดหนึ่ง

        "ไม่ว่าคุณจะมีความคิดอะไรก็แล้วแต่ ลองถ่ายความคิดออกจากหัวลงกระดาษ เรื่องราวไม่สบายใจอะไรก็ตาม แล้วย้อนกลับไปอ่าน จะเห็นเลยว่า มันไร้สาระทั้งนั้นเลย หัวเราไม่ได้คิดเรื่องเดียวตลอด เพียงชั่วระยะเวลาสิบนาที ยี่สิบนาที หรือครึ่งชั่วโมงที่ผ่านไป มีความคิดมากมายเกิดขึ้น วุ่นวายไปหมด เมื่อเห็นความคิดไร้สาระของตัวเอง ก็จะเริ่มกลับมาสังเกตความคิดตัวเองมากขึ้นว่า สิ่งที่เป็นความทุกข์ก็ดี ความยึดถืออะไร ต่อมิอะไรก็ดี เป็นความคิดแบบผิดๆ เห็นได้จากประจักษ์หลักฐาน มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอยสับสนไปหมด"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ปฏิบัติจนเห็นวิธีการ ก็เลยบอกต่อ 
โดยการเขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมะต่อมาอีกปีสองปี ในนิตยสารพ้นโลก

ดังตฤณ ]

        "ระหว่างอยู่ในบ้าน ก็มาคิดว่า ที่เขียนบทความธรรมะไปลง เดี๋ยวเขาคิดว่าผมเป็นพระ เพราะเขียนแต่เรื่องธรรมะล้วนๆ ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้าไปเลยว่าผมก็ยังมีกิเลสอยู่ เลยได้ไอเดียว่า เอ.. ก็พอมีความสามารถทางด้านการเขียนเรื่องแต่งอยู่บ้างน่าจะเอามาประยุกต์กันเขียนอธิบายเรื่องอย่างที่เราเข้าใจ เลยได้เป็นไอเดียเรื่องทางนฤพานขึ้นมา ซึ่งผมไปเจอชื่อนี้ในโคลงโลกนิติ"

นฤพาน เป็นภาษาสันสฤต ส่วนนิพพานเป็นภาษาบาลี ใช้ความหมายเดียวกัน ที่เขาเลือกเอาคำว่า "ทาง" ขึ้นมาเพิ่ม เพราะว่า ตั้งตัวละครขึ้นมาหลากหลายแต่ละคนมีความยากง่ายในการเข้าถึงธรรม แตกต่างกัน บางคนเป็นคนเมืองธรรมดา บางคนมีความฝังใจ มีความกดดันอยู่ เป็นปัจจัยให้เข้าถึงธรรมะแตกต่างกันเมื่อรวมกันแล้วได้ภาพใหม่ออกมา

ส่วนเนื้อเรื่องเขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากจากนิยายธรรมะเรื่องลีลาวดี ของพระอาจารย์ธรรมโฆษณ์

ดังตฤณ ]

        "ผมถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ของผมเลย อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ได้อ่านนิยายธรรมะ ผมติดตัวละครของท่าน เป็นตัวละครที่มีสีสัน พูดถึงเรื่องรักชวนฝัน ก็เลยได้แนวคิดว่าเราเป็นฆราวาส ก็น่าจะทำได้มากกว่าท่าน

               ทางนฤพานก็เริ่มต้นลงที่นั่น ช่วงต่อมา หลังจากบทที่สองที่สาม เริ่มต่อเนื่องมากขึ้น มีทักษะในการเขียนอธิบายธรรมะที่อยากอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อยากทำเรื่องที่เราสงสัย เรื่องที่เราอยากได้คำตอบ ให้เป็นเนื้อหาอ่านแล้วเข้าใจง่าย"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่แล้ว 20 ตอนแรกที่แจ้งเกิดในนิตยสาร "พ้นโลก" เมื่อราวปี 2535 ก่อนหน้าที่กรณียันตระจะฉาวโฉ่จนทำให้ศรัทธาของผู้คนที่ก่อตัวขึ้นผูกติดอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งพังครืนลงมา "พ้นโลก" ก็ต้องปิดตัวลงไปด้วยเนื่องจากยอดจำหน่ายที่เคยขายได้เป็นหมื่นเหลือเพียงไม่กี่พันเท่านั้น

ทางนฤพานก็เลยถูกลอยแพไปด้วย แต่ผู้เขียนก็ยังเก็บไว้ขัดเกลา เขียนต่อ จนกระทั่งโลกออนไลน์เริ่มบูมเมื่อสองสามปีก่อน ผู้เขียนซึ่งเรียนมาทางด้านธุรกิจคอมพิวเตอร์จากเอแบคและเขียนหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาหลายเล่ม อาทิ ครบเครื่องเรื่องอินเตอร์เน็ต,กะเทาะเปลือก Pirch 98, กะเทาะเปลือก ICQ 98, สร้างโฮมเพจฟรี! ที่ GeoCities จนมีคนติดงอมแงมมาแล้วก็เห็นว่า โลกออนไลน์นี่แหละ คือทางที่จะให้ "ทางนฤพาน" แจ้งเกิดอีกหน 

ทางนฤพานจึงมาปรากฏอีกทีบนอินเทอร์เน็ต ในคอลัมน์หนึ่งของเวบบอร์ดที่ชื่อว่า "ศาลานกน้อย " แล้วโยกย้ายมาที่ พันธุ์ทิพย์ดอทคอม เป็นกระทู้ในหน้าห้องสมุดเชิญชวนให้นักสำรวจโลกออนไลน์มาทักทายกับนวนิยายรักอิงธรรมะเรื่องนี้ 

จากไม่มีใครเข้ามาในกระทู้เลย จนกระทั่งกลายเป็นกระทู้ยอดฮิต คนอ่านติดกันงอมแงม แล้วพากันไปอ่านต่อในลานธรรมดอทคอม ต่อมาผู้เขียนจึงนำมาลงในโฮมเพจพ่วงอยู่ใน GeoCities ดอทคอม ทางนฤพานจึงมีหลายช่องทางที่ผู้อ่านจะติดต่อด้วย 
        
          "ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้ผลตอบรับกลับมาว่า เออ ชีวิตเขาเหมือนนายเกาทัณฑ์เลย และส่วนใหญ่ที่อ่านแล้วก็อยากปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ก็ตรงกับจุดประสงค์ของผมที่ต้องการให้ทางนฤพานเชื่อมสองฝั่งระหว่างฝั่งของปุถุชนที่มีกิเลสหนาๆ ไปสู่
ฝั่งธรรมะลึกซึ้ง ไม่ใช่อ่านกันอย่างผิวเผิน ไม่ใช่แค่ที่รู้แล้ว แต่ให้เข้ามาอยู่ในใจจริงๆ"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

        โดยสรุปผู้เขียนอยากให้ทางนฤพานเป็นบันไดไปสู่วิธีการหาทางพ้นทุกข์ของแต่ละคนนั่นเอง

        "เพราะผมเห็นว่าเมืองไทยยังไม่สิ้นหวังในเรื่องพระพุทธศาสนา ที่มาบ่นว่าเสาหลักโค่นแล้ว สิ้นหวังไปแล้ว ไม่จริงหรอก พระพุทธเจ้าตรัสแล้วว่าพุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งฝ่ายชายและหญิง พุทธบริษัทต้องตั้งอยู่ทั้ง 4 หลัก พุทธศาสนาจึงยังคงอยู่ มีชีวิตยืนยาวต่อไป 

                ถ้าเราฝากความหวังไว้ที่สงฆ์อย่างเดียวว่าเป็นเสาหลัก แล้วสงฆ์แท้ที่จริงเป็นภาพของบุคคล เช่น ยันตระ ภาวนาพุทโธ นิกร ใครต่อใครอีกมากมาย ซึ่งพวกนี้พอลงเหวไปแล้วก็พาศรัทธาคนติดตามลงไปด้วย 

                ถ้าเราสามารถทำให้คนรุ่นใหม่เห็นได้ว่า ศาสนาแท้จริงแล้วเราทุกคนรักษากันได้ สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่แท้จริงได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภิกษุหรือภิกษุณีเสียก่อน เริ่มต้นจากการเป็นอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสที่ดี เป็นฆราวาสที่เข้าใจ ถ้าพัฒนาเข้าใจเนื้อหาที่เป็นแก่นธรรมจริงๆ เข้าไปถึงการปฏิบัติจริงๆ แล้วการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่การหลับตานั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียว
คือมันต้องเริ่มจากจิตใจ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิต เป้าหมายปลายทางของชีวิต

              อ่านจบแล้ว ถ้าถามว่าได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง บางคนอาจพูดอะไรเป็นคุ้งเป็นแคว ตรงนั้นผมไม่สนใจเท่าไหร่ ผมสนใจในเรื่องจุดร่วมเดียวกันหรือเปล่าว่า ศาสนาพุทธยังมีเรื่องที่เราไม่เข้าใจอะไรอีกเยอะ จุดที่ไม่เข้าใจนั้น มีความคุ้มค่าพอที่จะสละเวลา
สักนิดหนึ่งไปศึกษาให้มันลึกซึ้งขึ้น"

        ทางนฤพานจึงเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนที่ยังมองว่าศาสนาพุทธฝากอยู่กับมือคนใดคนหนึ่งอยู่ ให้เลิกคาดหวังกับตัวบุคคล แต่กลับมาสนใจในตัวธรรมกันดีกว่า ซึ่งก็ไม่ได้ออกไปค้นหาที่ไหนเลย อยู่ในกายและใจเรานี่เอง!  


                          ******************************
                          ******************************
                          ******************************

หมายเหตุ จาก "ดังตฤณ"

"ทางนฤพาน" โดยตัวโครงเรื่อง และโดยผ่านตัวละคร ผมอยากสื่ออย่างหนึ่งครับ
เกี่ยวกับเรื่องของเนื้อคู่หรือคู่แท้ นั่นคือ สังสารสัตว์ที่มาจับคู่กันนั้น ไม่ใช่มีใครดลบันดาล
ไม่ใช่มีฐานะคู่กันโดยเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยกรรมสัมพันธ์ทั้งสิ้น 

จากการอ่านชาดก ผมพบบางสูตรที่น่าสนใจ 
เช่น ผมสงสัยว่าเมื่อบุรุษผู้หนึ่ง ถ้าเป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว
ก็น่าจะมีคู่ครองเป็นมั่นเป็นหมายตายตัว
ติดตามกันไปทุกภพทุกชาติแบบรักในอุดมคติ

ทว่า เมื่อสืบๆ ไปอย่างละเอียด ก็พบว่า
ที่พระพุทธองค์ท่านทรงเล่าเรื่องกลับพระชาตินั้น
เอาเฉพาะพระชาติจำนวนน้อยเพียง 500 ที่บันทึกไว้
ก็เห็นชัดว่าพระองค์ไม่ได้ครองคู่
กับพระนางพิมพาเสมอไป

บางชาติพระนางพิมพาท่านเป็นมเหสีของพระอานนท์
ซึ่งความผูกพันกับพระอานนท์นั้นสามารถเห็นร่องรอยได้
เช่นในบางชาติแม้จะเป็นชายาของพระโพธิสัตว์แล้ว 
แต่เห็นพระอานนท์ก็เกิดความยินดีในท่านขึ้นมาวูบหนึ่ง 
(แต่แค่คิดก็ละอายและระงับไปในทันทีเยี่ยงผู้มีศีลอันทรงแล้ว) 
ปัญหาที่ว่าใครตามใครมาก่อน ก็เข้าข่ายไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
แม้สมมุติว่าจะมีจุดเริ่มต้นอยู่จริง 
ก็ต้องนาน นาน นาน จนเป็นอจินไตย พ้นที่จะคิด พ้นที่จะประมาณ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

อจินไตยมี 4 ชนิด คือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย วิบากกรรม และภพภูมิ
ซึ่งในเรื่องภพภูมินี้เหมาหมดทั้งเรื่องโลก จักรวาล กาลาวกาศ ฯลฯ 
คือทั้งแบบที่นักฟิสิกส์ครุ่นคิดทดลองกัน หัวแทบแตก 
และทั้งแบบที่ฤาษีชีไพรหยั่งลึกลงไปเท่าไหร่ๆ 
ก็เห็นอดีตชาติไม่สิ้นสุดเสียทีนั่นเอง 

สรุปคือ สัตว์ทั้งหลายมีความผูกพันกันยืดยาวซับซ้อน
จนกล่าวได้ว่าไม่มีจุดเริ่มต้นจะใกล้เคียงความจริงให้รับรู้ได้ดีที่สุด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

การแสดงความจริงผ่านตัวละครสมมุติทั้งสาม 
คือ เรือนแก้ว เกาทัณฑ์ และแพตรี นั้น
ผมหวังว่าจะทำให้เกิดความ "รู้สึก" อะไรหลายแง่มุม เช่น

1) ถ้าหากมีกรรมสัมพันธ์กับใครในทางดี 
เมื่อพบกันแล้ว จะมีแต่เรื่องดีๆ น่าสบายใจ
ในทางตรงข้าม ถ้ามีกรรมสัมพันธ์กับใครในเชิงลบ 
พบกันแล้วก็มีแต่เรื่องร้อน และอยู่กันไม่ยืด

กรรมในอดีตชาตินั้น ละไว้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น 
แต่ในปัจจุบันเห็นชัด แพตรีพาไปพบพระ
ส่วนเรือนแก้วพาไปเจอโจร 
อย่างน้อยน่าทำให้คิดว่า
เหตุการณ์อันเป็นชนวนให้เกิดกรรมดีร้าย

กรรมดีร้ายนั้นย่อมให้ผลต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน
ถ้าหากกรรมวิบากและภพภูมิเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ของหลอก

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

2) สัตว์ มนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย 
ถูกดึงดูดเข้าหากันก็ด้วยธรรมชาติแห่งเพศ 
ปมและเงื่อนอันยุ่งยากซับซ้อน 
เกิดขึ้นก็จากการที่มนุษย์นั้นอาจเจอใครก็ได้ 
อาจต้องตาต้องใจใครก็ได้ 
อาจเจอใครที่เคยมีกรรมสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากี่รายก็ได้ 
ไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่ง

อันนั้นหากคุณธรรมไม่สูงพอ หรือมีวิบากให้ผลแกล้งให้ต้องใจอ่อน
เรื่องยุ่งยากทุกข์ร้อนก็ตามมาเหมือนตกนรกหมกไหม้

ในเรื่องทางนฤพาน คนอ่านเกือบร้อยทั้งร้อยบอกว่า 
เอ ทำไมตาเกาทัณฑ์ถึงเจ้าชู้นัก
อ่านแล้วเกลียดขี้หน้าเหลือเกิน
อยากบอกว่าความจริงเป็นโฟกัสการเขียนอย่างหนึ่ง
ที่ผมแสดงทุกข์สาหัสของฝ่ายหญิงไว้ชัดแจ้งจนกระทบความรู้สึกแรง 

ความจริงถ้าทอนน้ำหนักฉากแสดงความทุกข์ของเรือนแก้วและแพตรีลง
ให้พวกเธอแค่หมองหมางและไม่พูดถึงภายในจิตใจเกาทัณฑ์มากเกินไป
ภาพที่ออกมาอาจกลายเป็นอีกอย่าง
อย่างน้อยก็น่าจะเห็นความดีของพระเอกบ้าง 
เช่น ได้โอกาสแล้วยังยับยั้งชั่งใจ ไม่เห็นแก่ได้ชั่วแล่น 
แต่ผมอยากให้อ่านแล้วเห็นทุกข์ในรักกันชัดๆ 
กับฉายความรู้สึกนึกคิดของปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งให้ละเอียด 
เผื่อจะเป็นกระจกให้ย้อนมองเข้ามาหาตัวเองกันบ้าง
มนุษย์คนหนึ่งนั้น มันคิดคล้ายๆ กันนั่นแหละ อยากได้คล้ายๆ กันนั่นแหละ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

3) การลากจูง ติดตามกันไปเกิดในสังสารวัฏนั้น
หาอะไรประกันความสุขยั่งยืน สถาวรไม่ได้เลย 
ถ้าไม่มีเหตุเช่นความลืม ก็มีเหตุเช่นอุปสรรคอื่น 
ถ้าไม่มีอุปสรรคภายนอก ก็มีอุปสรรคความอยาก ความโลเลภายในตัวเอง

ผมหวังให้เกิดภาพขึ้นมาในใจภาพหนึ่งว่า
อยู่ในสังสารวัฏ ท่องเที่ยวเกิดตายไปเรื่อยๆ นั้น
แม้สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สังสารวัฏหวังฝากไว้ให้อบอุ่นใจ 
คือความรัก ความมั่นคงของเนื้อคู่ ที่จะติดตามกันไปทุกภพทุกชาติ
เอาเข้าจริงก็แค่ความไม่แน่นอนอีกชนิดหนึ่ง 
ความแปรปรวนเป็นอื่นได้อีกชนิดหนึ่ง 
และได้พยายามแสดงเหตุผลไว้อย่างมีน้ำหนักด้วยผ่านเหตุการณ์
ปัจจุบันของท้องเรื่องนี่เอง


        อย่างที่พยายามบอกนั่นแหละครับ...
"รักแท้น่ะมีจริง แต่ที่จริงกว่าคือกิเลส""