วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตื่นเช้ามาเดินจงกรม แต่ยังฟุ้ง ต้องปฏิบัติอย่างไรให้รู้แบบวิปัสสนา?

ดังตฤณ         :  เอาเป็นว่า คือถ้าถามผมนะ ผมจะเดินแบบว่า เดินตามธรรมชาติ เดินตามสบายนะครับ แล้วก็รู้ว่าจังหวะช้าเร็วของกระทบเนี่ยมันเกิดขึ้นอย่างไรนะครับ 

ถ้าเราสามารถรู้กระทบตามจริงได้ในขณะเดินจงกรม ก็จะสามารถเอาไปใช้ต่อในการเดินในชีวิตประจำวันได้ แล้วถ้าลองใช้เสียงสติช่วยดูนะครับว่า เราสามารถฟังไปด้วย แล้วก็รู้จังหวะกระทบช้าเร็วของเท้าไปด้วย

ดูซิว่ามันจะเกิดความรู้สึกว่า ข้างบนมันว่าง ข้างล่างมันชัดไหม ใจมันสบาย ใจมันว่าง แล้วก็ข้างล่างเนี่ย เท้ากระทบมันก็ชัดขึ้นทุกทีๆๆ 

ถ้าหากว่า เป็นอย่างนั้นได้เนี่ย คุณก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงว่า แต่ละรอบมันหนักมันเบาไม่เท่ากัน ใจมันฟุ้ง ใจมันสงบ แตกต่างไปจากเดิมเรื่อยๆนะครับ

แต่ถ้าหากว่า ทำในรูปบบที่พอใจอยู่แล้วอันนั้นไม่ว่ากัน ผมคงไปให้แนะนำตรงนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติมาตามแนวนั้นนะครับ

-------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                     พยายามตื่นมาเดินตอนเช้าแบบครึ่งชั่วโมง แต่เวลาเดิน
                           บางครั้งก็ฟุ้งซ่านหลายนาทีเลย ต้องปฏิบัติอย่างไร?
                           แล้วเวลาเดินพยายามรู้สึกเท้าย่างเหยียบ แต่ต้องทำอย่างไร
                           ให้รู้แบบวิปัสสนา ไม่ใช่แบบสมถะ?
ระยะเวลาคลิป        ๑.๔๓ นาที
รับชมทางยูทูป       https://www.youtube.com/watch?v=D3syiKpiFuw&feature=youtu.be

นั่งเจริญสติโดยดูรูปนั่ง พอฟุ้งซ่านก็รู้ พอเมื่อยขาก็ขยับขาตามรู้การขยับขา ไม่ทราบว่าทำถูกหรือเปล่า?

ดังตฤณ      :  ถ้าหากเห็นว่ากายมันมีอาการขยับไปขยับมา พับไปพับมา เหมือนท่อนอะไรที่มันไม่มีตัวตน ใจของคุณว่างอยู่ ก็สามารถที่จะนับได้ว่าเป็นวิปัสสนาขั้นต้น เพราะเห็นความไม่เที่ยงของอาการทางกายนะครับ แต่จะดูว่าใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้จริง ต้องดูที่จิต ว่ามันมีความสงบแบบพร้อมรู้ว่าไม่เที่ยงไหม

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                     เวลาผมนั่งเจริญสติโดยใช้การดูรูปนั่ง ทำความรู้สึกว่า ดูอาการนั่ง
                          แต่พอฟุ้งนึกคิดเรื่องต่างๆ ก็บอกตัวเองว่าดูนามฟุ้ง พอเมื่อยชาขา
                          ก็มีการขยับขาแบบช้าๆ แต่ก็ตามรู้ว่ากายขยับขา ก็ทำวนๆ 
                          ไปแบบนี้อยู่ช่วง ๔๐-๕๐ นาที ไม่ทราบว่าผมทำถูกหรือไม่ ?
ระยะเวลาคลิป       ๑.๐๖ นาที
รับชมทางยูทูป       https://www.youtube.com/watch?v=DoKC_dFkvjg&feature=youtu.be

ผมหูเสียหนึ่งข้าง คือหูได้ยินข้างซ้ายข้างเดียว สามารถใช้งานเสียงสติได้ไหม?

ดังตฤณ      :  อันนี้พูดจากการที่มีคนเคยเล่าให้ฟังนะครับ เขาบอกว่าเขาหูหนวกแล้ว จากการตัดสินของแพทย์ แต่จริงๆหูหนวกในความหมายก็คือ ยังเหลือการได้ยินอยู่ห้าเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าทางแพทย์นับว่าหูหนวกแล้ว 

เขาฟังเสียงสติแล้วมันกลับมาได้ยินได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้หูดับไปแบบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เนี่ยก็ยังฟังได้อยู่

แต่ถ้าหากว่า หูดับไปแล้วข้างใดข้างหนึ่งก็ตามหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะฟังไม่ได้ เพราะอันนี้เป็นเทคโนโลยีทางเสียง เป็นเสียงที่เข้าหูซ้าย เข้าหูขวา ความถี่ไม่เท่ากัน แล้วไปผสมให้เกิดเสียงใหม่ในสมอง สมองเป็นผู้ผสมเสียงจากซ้ายขวา ดังนั้น ถ้าหากข้างใดข้างหนึ่งดับไป มันจะไม่เกิดผล ไม่เกิดเอฟเฟ็กต์ (effect) นะครับ

---------------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                     ผมหูเสียหนึ่งข้าง คือหูได้ยินข้างซ้ายข้างเดียว สามารถใช้งาน
                          เสียงสติได้ไหมครับ?
ระยะเวลาคลิป       ๑.๑๒ นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=b7MX4xhbKA0&feature=youtu.be

การยอมรับของจิตคือคิดเอา หรือจิตเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่มีการปรุงแต่ง แบบไหนถูก?

ดังตฤณ     :  คืออย่าไปคิดเป็นเหตุเป็นผลนะครับ ถ้านึกเป็นภาพที่ไม่เกิดขึ้นจริงเนี่ย บางทีมันเหมือนกับหลงเข้ารกเข้าพงแห่งความฟุ้งซ่าน ป่าของความฟุ้งซ่าน มันเป็นป่าที่เข้าง่ายแต่ออกยาก

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เพื่อที่จะให้แน่ใจว่า เรากำลังยอมรับตามจริง ลองฝึกแบบที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำไว้ดูไหมว่า กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่ แล้วลมหายใจนี้เนี่ย มันยาวสบาย หรือว่าสั้นกระชาก

ถ้าเราสามารถยอมรับความจริงได้ เห็นความจริงตรงนี้ได้บ่อยๆ จิตมันจะมีความสามารถรู้สิ่งที่กำลังเป็นจริงในปัจจุบันเช่นกัน ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะกำลังปรากฏอยู่ภายในหรือว่าภายนอก

เพราะโลกทั้งใบนี้นะครับ ที่มันจะมาปะทะ แล้วก็มากระทบเรา ให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ มันไม่เกินลมหายใจหรอก อย่างเช่น ถ้าเราผิดหวังจากเรื่องที่คาดหวังมาแรมปี

หรือว่าตั้งอกตั้งใจเอาผลมาหลายเดือน แล้วมันพลาดไป คนปกติทั่วไปมันจะยอมรับไม่ได้ใช่ไหม แต่ทีนี้ถ้าหากว่าฝึกรู้ลมหายใจมาจนเกิดความชำนาญ มันก็จะทราบได้ว่า ณ ขณะที่ผิดหวัง ความผิดหวังวิ่งเข้ามากระทบ โอ้โหเจ็บ เสร็จแล้วนึกได้ ณ ลมหายใจนี้ มันเกิดความเจ็บปวดอยู่ 

เป็นลมหายใจแห่งความเจ็บปวด เสร็จแล้วลมหายใจแห่งความเจ็บปวดเนี่ย สอง สามทีมันกลายเป็นลมหายใจแห่งการรู้สึกสบายอกขึ้น เนี่ยโลกทั้งใบนะ

เหตุการณ์อะไรก็ตาม ใครผู้ไหนก็ตาม จะมาตัดมือตัดเท้าเราอยู่ก็ตาม ทำได้ที่สุดกับใจของเรา ก็แค่ดูที่ลมหายใจนั่นแหละว่า กำลังเข้า หรือว่าออก กำลังยาว หรือว่าสั้น

ถ้ายาวอยู่แปลว่าเหตุการณ์นั้นๆ บุคคลนั้นๆ ทำให้เรามีความสุข ถ้าสั้นแปลว่าเหตุการณ์นั้นๆ บุคคลนั้นๆ ทำให้เรามีความทุกข์ มันมีอยู่แค่นี้

แล้วก็ความทุกข์ ความสุข ที่มากับแต่ละลมหายใจเนี่ย มันเห็นได้ชัด รู้ได้ชัดตามจริงเลยว่า แต่ละลมหายใจไม่เหมือนกัน แต่ละลมหายใจเนี่ย บอกถึงความสุข ความทุกข์ ที่เปลี่ยนระดับไปเรื่อยๆถ้าเรามองดูอยู่ ถ้าเราเห็นอยู่แค่นี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้มองเห็นความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว มันไม่ใช่การคิดนะครับ มันคือการรู้เข้าไปตรงๆ

-------------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์              ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                   การยอมรับของจิตคือคิดเอา หรือจิตเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นคะ และไม่มีการปรุงแต่ง
                         แบบไหนถูก ?
ระยะเวลาคลิป      ๓.๓๐ นาที
รับชมทางยูทูป     https://www.youtube.com/watch?v=WWyyrPBuJwk&feature=youtu.be

*** IG ***



จะนิพพานได้ จำเป็นต้องได้ฌานไหม?

ดังตฤณ     :  การได้มรรคผลคือ ได้มรรคจิต และผลจิต มรรคจิต และผลจิตต้องเป็นฌานเท่านั้นนะครับ บางคนได้แค่สมาธิอ่อนๆ สงบลงเบาๆ บางๆ แล้วก็เกิดโอภาส เกิดแสงสว่าง เกิดนั่นเกิดนี่ ภาวะภายในอะไรที่มันบางทีกระตุกวูบ นึกว่าได้มรรคผลก็มี อันนั้นไม่ใช่นะครับ

จิตมันต้องเหมือนกับทำตัวเป็นลูกไฟล้างกิเลส แล้วจิตแบบนั้น ต้องมีความใหญ่ มีความรู้ที่แจ่มชัด และเห็นทะลุกายใจออกไป วาระที่เกิดมรรคจิตคือ วาระที่เห็นนิพพานนะครับ

ถ้าไม่ได้ฌานมันเห็นไม่ได้นะ “นิพพาน” เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก แล้วก็พ้นจากกาย พ้นจากใจนี้ แล้วก็จิตเท่านั้น ที่เห็นได้ว่านิพพานเป็นอย่างไร

-------------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                     จะนิพพานได้ จำเป็นต้องได้ฌานไหม ?
ระยะเวลาคลิป        ๑.๑๒  นาที
รับชมทางยูทูป       https://www.youtube.com/watch?v=-fWcsgWweCY&feature=youtu.be

นั่งสมาธิแล้วลอยหมุน แล้วยังไงต่อ?

ดังตฤณ      :  คือหมายความว่า ในหัวหมุนหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะ คำถามถ้าไม่ชัดเจน บางทีมันตอบยาก เอาอย่างนี้ผมคาดเดาก็แล้วกันว่า เหมือนรู้สึกหัวหมุนติ้วอยู่ เราก็รู้เนี่ยหายใจครั้งนี้ก็ติ้วๆๆๆ มันหมุนๆๆ อยู่ เสร็จแล้วถ้าหายใจอีกทีหนึ่งมันหมุนน้อยลงไหม

ถ้าเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เหมือนเดิมของอาการหมุน อาการลอยคว้าง นั่นเราเห็นความไม่เที่ยงชนิดหนึ่งแล้ว

แล้วยิ่งสติเห็นความไม่เหมือนเดิมได้ชัดเจนขึ้นเท่าไหร่ อาการลอย อาการเคว้ง อาการหมุน มันก็จะยิ่งทุเลาเบาบาง แล้วก็ไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกนะครับ

------------------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                    นั่งสมาธิแล้วลอยหมุน แล้วยังไงต่อ?
ระยะเวลาคลิป        ๑.๐๔  นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=mIacs6fM1-Q&feature=youtu.be

การเจริญสติระหว่างวัน ก็เป็นวิปัสสนา รู้อาการได้ จากกิจกรรมที่ทำระหว่างวัน แล้วทำไมเราถึงต้องนั่งสมาธิ?

ดังตฤณ     :  คือถ้าได้ข้อเปรียบเทียบเป็นจิตในแบบที่มีสติธรรมดา กับจิตที่เป็นสมาธิเนียนๆ คุณจะเข้าใจว่า ยิ่งสมาธิมีความละเอียดประณีตมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีฐานของความพร้อมรู้ แบบไม่มีตัวตนได้เกลี้ยงเกลาขึ้นเท่านั้น

ความรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่ใช่ว่าต้องบรรลุธรรมเสียก่อน แต่ว่าแค่เกิดสมาธิในแบบที่มีความตั้งมั่น จิตมีความตรง มีความสว่าง มีความเปิด มีความเบิกบาน และมีตัวช่วยพยุง ตัวเจตนา ตัวเจตจำนงที่จะตรึงจิตให้เป็นสมาธิน้อยลงเท่าไหร่ ตัวจิตยิ่งเป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น

แล้วตัวจิตที่เป็นอิสระ ตัวจิตที่มีความประณีตนั่นแหละ ที่จะเห็นกายเห็นใจได้ตามจริง โดยไม่ต้องมีกลไกปกป้องตัวเอง โดยไม่ต้องมีความเคลือบแฝงอยู่ด้วยความอยากได้นั่น อยากได้นี่

จิตยิ่งมีสมาธิมากขึ้นเท่าไหร่ มันจะยิ่งมีความปลอดโปร่งจากตัวตนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งปลอดโปร่งจากตัวตนได้มากขึ้นเท่าไหร่ สภาวะที่กำลังปรากฏในกายในใจนี้ ยิ่งแจ่มชัดโดยความเป็นของไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มากขึ้นเท่านั้นนะครับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                     การเจริญสติระหว่างวัน ก็เป็นวิปัสสนา รู้อาการได้จากกิจกรรม
                          ที่ทำระหว่างวันแล้วทำไมเราถึงต้องนั่งสมาธิ?
ระยะเวลาคลิป       ๑.๕๖  นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=eSa8O2MET5Y&feature=youtu.be

*** IG ***

ถ้าเคยสาปแช่งใคร แต่วันนี้เราอภัยแล้ว จะทำอย่างไรก้บคำสาปแช่งเราในวันนั้น?

ดังตฤณ      :  บางคนมีความรู้สึกว่าตัวเองปากศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าแช่งใครไปแล้ว มักจะมีผลตามนั้น อันนี้พอพูดถึงเรื่องนี้ มันต้องพูดถึงสิ่งลึกลับ ที่พิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ทราบได้เป็นสากล

เพราะว่า เราจับทุกคนเป็นมาเป็นตัวตั้ง แล้วก็มาทดลองหาข้อสรุปกันไม่ได้แบบวิทยาศาสตร์นะครับ แต่เราพูดอย่างนี้ก็แล้วกันว่า สิ่งใดก็ตามเราทำไปแล้ว มันจะเกิดผลหรือไม่เกิดผลอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีประสิทธิภาพน้อย หรือประสิทธิภาพมาก ไปลบล้างไม่ได้

แต่มันสามารถเจือจางได้ ด้วยของใหม่คือ ของเก่ากับของใหม่ผสมกันได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบเทียบ เหมือนกับบาปเก่า เป็นก้อนเกลือ แล้วถ้าเราใส่น้ำเติมเข้าไป ยิ่งมากเท่าไหร่ หนึ่งแก้วมันก็เจือจางระดับหนึ่ง ยังเค็มอยู่ 

แต่ถ้าหนึ่งโอ่ง แม้เกลือจะยังอยู่เป็นก้อนเล็กๆนั้น แต่ก็แทบจะไม่ได้รสเค็ม ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าหากว่า เราไม่สบายใจ ที่เคยไปก่อบาปก่อกรรมอะไรไว้ เคยไปแช่งใครเขาไว้ ก็หัดที่จะชื่นชม หรือว่าอวยพร ทำในสิ่งที่มันเป็นตรงกันข้ามกัน

เคยทำบาปไว้อย่างไร ก็ทำบุญให้เป็นตรงกันข้ามกันแบบนั้น อย่างถ้าคุณสวดอิติปิโสด้วยความเข้าใจว่า เราสรรเสริญ เรากล่าวคำยกย่อง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่ามีคุณวิเศษอย่างไรบ้าง

ถ้าใจเกิดความเบิกบาน เกิดความชุ่มชื่น เกิดความรู้สึกสว่างโล่ง ก็จำลักษณะจิตลักษณะใจแบบนั้น ไปอวยพร หรือว่าไปพูดดี ให้เกิดความรู้สึกดีๆ กับคนที่เราเคยสาปแช่ง หรือว่าไม่ต้องเคยสาปแช่งก็ได้คนทั่วไปก็ได้ 

ทำให้มากๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า เรามีฤทธิ์ เรามีอำนาจ ในการทำให้คนอื่นรู้สึกดี เรามีความสามารถ ทำให้ชีวิตคนอื่น มีความสว่างขึ้นนิดหนึ่งทันทีที่เราพูดไป ตัวนี้แหละ ที่มันเริ่มจะหมือนกับน้ำที่มาละลายเกลือ เหมือนกับความสามารถที่เป็นความสว่าง มาขับไล่ของเดิมที่มันเป็นความมืดนะครับ

ยิ่งสว่างมากขึ้นเท่าไหร่ ความมืดยิ่งหายไปมากขึ้นเท่านั้น อันนี้ก็เหมือนกับถ้าเรามีความสามารถในการอวยพรคนได้แล้ว เพื่อจะแก้ความรู้สึกผิด ก็อาจจะไปอวยพรให้เขาเกิดอะไรที่มันดี ที่มันเป็นไปในทางเจริญนะครับ

ทีนี้มาทำความเข้าใจกันในขั้นสุดท้ายว่า คนเราเนี่ยไม่เป็นไปตามปากของใคร ยกเว้นแต่ว่า บาปของเขา บุญของเขา มันจะให้ผลตามนั้นอยู่แล้ว สอดคล้องกับคำอวยพร หรือคำสาปแช่งของเราอยู่แล้ว

การสาปแช่งของเรา มันเป็นพลังชนิดหนึ่งในธรรมชาติ การอวยพรของเรา ก็เป็นพลังชนิดหนึ่งในธรรมชาติเช่นกัน ธรรมชาติด้านมืด หรือธรรมชาติด้านสว่าง ซึ่งมันไม่ได้มีผลขนาดที่จะเป็นมือไม้ไปบิดชีวิตของเขาให้มันเพี้ยนไป หรือบิดเบี้ยวไปจากที่มันควรจะเป็นได้

แต่มันมีผลทางใจ ที่ทำให้มันเกิดแรงอัด หรืออย่างถ้ามีวาจาสิทธิ์ อันเกิดจากการสะสม ตบะบารมีมา พูดคำไหน ทำคำนั้นได้ตลอดชีวิต คนพวกนี้ เวลาที่สาปแช่งใครอะไรออกไป บางทีมันเป็นพลัง ซึ่งถ้าหากว่า ผู้รับพลังปะทะมีบุญอ่อน ไม่มีกำแพง บางทีมันก็อาจจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้จริงๆ 

แต่อันนี้ส่วนใหญ่ต้องระดับที่ว่า ผู้บำเพ็ญตบะมาทั้งชีวิต บำเพ็ญคุณงามความดีมา ในขณะที่ผู้ถูกสาปแช่ง ไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรเลย ไม่ได้มีกำแพงที่จะมาขวาง

บางทีมันก็คล้ายๆกับเราชกด้วยหมัด ถ้าหมัดของเรามีกำลัง แล้วคนที่รับหมัด ไม่ได้มีกำลังต่อต้าน บางทีมันก็ล้มไปได้ ก็เปรียบเทียบอย่างนั้นก็แล้วกัน

แต่ไม่ใช่ว่าเราพูดอะไรไป มันจะเป็นไปตามนั้นได้ทุกครั้ง หรือว่าเป็นอย่างนั้นได้จริงเสมอไป มันมีเหตุปัจจัยอะไรหลายๆอย่างนะครับ

ซึ่งคุณแค่ทำไว้ในใจว่า เราจะเป็นผู้รักษาศีล เป็นผู้ให้มหาทาน เป็นผู้ให้ความปลอดภัยแบบไม่จำกัด 

ตรงนี้เนี่ย มันก็จะรู้สึกถึงพลังความปลอดภัย ที่ออกไปจากจากตัวเรา ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยกับใคร แม้ด้วยพลังวาจาที่เป็นทุจริต อันนี้ถ้าทำตลอดชีวิตที่เหลือ มันก็จะช่วยให้ความรู้ผิด หรือว่าอะไรที่นึกว่า มันจะไปเกิดขึ้นกับเขาหรือเปล่า มันเจือจางลงได้นะครับ มันหายไปได้ คืออย่าไปกังวลมาก

เพราะว่าถ้ารู้สึกผิด หรือกังวลมากๆเนี่ย บางทีมันก็มีจิตต่อเนื่องที่ไปผูกไว้ ตัวความกังวลมันเป็นสายใยด้านมืดชนิดหนึ่ง

--------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ              ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์              ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                   ถ้าเราเคยโกรธและสาปแช่งใคร แต่วันนี้เราให้อภัยแล้ว และไม่อยากให้เขา
                         ต้องเป็นไปตามคำแช่งของเรา เราจะทำยังไง กับคำพูดไม่ดีของเราในวันนั้น?
ระยะเวลาคลิป      ๗.๒๗  นาที
รับชมทางยูทูป     https://www.youtube.com/watch?v=RLUO6XyGjj4&feature=youtu.be

*** IG ***



วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

นั่งสมาธิเกิดอาการหน่วงที่สันจมูก เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร?

ดังตฤณ      :  บางทีการตั้งจิตไว้ให้ถูกต้องเนี่ย ที่มันยากก็เพราะว่า ท่านั่งของคุณมันไม่ถูก ลองอย่างนี้ดูนะครับ เอาตอนนี้เลยก็ได้ เริ่มต้นขึ้นมาเนี่ย สำรวจก่อนเป็นอันดับแรกเลย

เกร็งอยู่ หรือว่า สบายอยู่ ดูจากฝ่าเท้า ไล่มาที่ฝ่ามือ แล้วดูมาที่ใบหน้า ทั่วใบหน้าเนี่ย ถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็งก็ให้คลาย แล้วเวลานั่งเนี่ย คอตั้งหลังตรงไหล่เปิดนะครับ แล้วก็ให้เชิดคางขึ้นนิดหนึ่ง เพื่อให้จิตเปิด แล้วใจจะได้ไม่หมกมุ่น หรือว่าเพ่งคับแคบอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง

เวลาหายใจ อย่าหายใจแบบเพ่งเข้าไปที่จุดใดจุดหนึ่ง จะจุดกระทบ จะจุดอะไรก็แล้วแต่ เพราะจิตที่มันคับแคบ ที่มันเพ่งเล็งเข้าไปนั่นแหละ ที่เป็นเหตุให้เกิดอาการเสียว อาการหน่วงอะไรทั้งหลายนะครับ

บางทีครูบาอาจารย์ท่านให้คำแนะนำตามที่ท่านปฏิบัติมาอย่างได้ผล แต่ในทางปฏิบัติจริง คนส่วนใหญ่พอเอาไปทำตาม ถ้าเพ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง มันจะกลายเป็นเหมือนกับเอาจิตมาจี้คับแคบอยู่กับไอ้จุดเล็กๆ

แต่ถ้าหาว่า เราเหมือนกับทอดสายตามองไปตรงๆ กว้างๆ สบายๆ เหมือนมองขอบฟ้า แล้วรู้ตามจริงแค่เท่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่า หายใจออกให้รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจยาวให้รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นให้รู้ว่าหายใจสั้น เนี่ยแค่นี้ ไม่ต้องไปบริกรรมอะไร หรือว่าเพ่งอะไรให้มากมาย

ในที่สุด มันจะเกิดความรู้ถึงลมหายใจขึ้นมาได้เองนะครับ แล้วก็ความปวด ความเสียว หรือว่า อาการมึนชาอะไรทั้งหลายเนี่ยมันจะหายไป

-------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ              ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์              ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                    นั่งสมาธิจะเกิดอาการหน่วงๆที่สันจมูก จะเป็นเฉพาะตอนนั่งสมาธิ
                          อย่างนี้เกิดจากอะไร จะแก้ไขอย่างไร?
ระยะเวลาคลิป       ๒.๑๕  นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=P4mbTIMvlz8&feature=youtu.be

ขณะปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ควรตั้งเจตนาอย่างไร?

ดังตฤณ      :  คือเริ่มต้นขึ้นมาเลย เอาตัวนี้ก่อนก็แล้วกันว่า เนี่ยหลับตาลงปุ๊บ ตามันหลุกหลิกไหม หลังตรงหรือหลังงอ รู้สึกสบายหรืออึดอัด ไหล่เปิด หรือไหล่ปิด ไหล่ห่อ ถ้าไหล่ห่อเนี่ย แม้กระทั่งนั่งเอามือช้อนมือ แล้วไหล่ห่อ อย่างนี้ก็รบกวนหรือว่า ขัดขวางลมหายใจได้

แต่ถ้าไหล่เปิดเนี่ยนะ ทำให้เกิดความรู้สึกสบาย มีคอตั้งหลังตรง พร้อมที่จะดำรงสติเฉพาะหน้า ตัวนี้แหละ เริ่มต้นเจตนาดีแล้วนะครับ 

เจตนามาจากความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าเจตนาผิด ซึ่งมาจากการทำความเข้าใจไว้พลาด คลาดเคลื่อน มันก็จะมีผลให้ การทำสมาธิเริ่มต้นผิดตั้งแต่ก้าวแรกได้นะครับ

-------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ              ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์              ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                    ขณะปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ควรตั้งเจตนาอย่างไร?
ระยะเวลาคลิป       ๑.๑๑ นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=HmwXbLhi55I&feature=youtu.be


ฝึกสติอยู่กับปัจจุบันต้องเริ่มอย่างไร?

ดังตฤณ      :  ตอนนี้คุณรู้สึกยังไงอยู่ คุณรู้สึกไหมว่ากำลังอยากจะฟัง ตัวเนี้ยปัจจุบัน แล้วคุณกำลังนั่งหลังตรง หรือหลังงออยู่ อันนี้ก็ปัจจุบัน แล้วคุณกำลังรู้สึกว่า ลมหายใจเนี่ยติดขัด หรือว่าโปร่งโล่ง อันนี้ก็ปัจจุบัน

คือที่ผมใช้คำว่า "หรือ" เนี่ยเพราะว่า มันไม่ได้ตายตัวอยู่ที่อย่างใดที่หนึ่งแน่ๆ บางคนฟังไปก็มีภาวะทางกายทางใจโต้ตอบกับการฟังไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกัน ซึ่งของคุณเป็นอย่างไรแล้วรู้อย่างนั้นนี่แหละคือ จุดเริ่มต้นที่จะอยู่กับปัจจุบัน

ทีนี้ก็ทำความเข้าใจว่า ที่พระพุทธเจ้าให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ปัจจุบันตรงหน้าว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น อันนั้นเป็นสติแบบโลกๆ

ถ้าสติในทางธรรมที่จะเจริญขึ้นก็คือ ให้รู้ปัจจุบันธรรมว่า กายกับใจของเราอยู่ในภาวะอะไร เริ่มต้นง่ายๆ ก็แค่นี้แหละ เอาตรงนี้แหละ หายใจเข้าออกขณะนี้เนี่ย มันเป็นลมหายใจแห่งความสุข หรือความทุกข์ 

มันเป็นลมหายใจแห่งความสงบจิต หรือความฟุ้งซ่านทางใจ ถ้ารู้ได้แค่นี้แหละ เอาเริ่มต้นแค่นี้ ยังไม่ต้องรู้อะไรเพิ่มเลย หนึ่งสัปดาห์ต่อมาคุณจะพบว่า สติที่รู้อยู่กับตัวมันดีขึ้น แล้วก็ปล่อยวางได้มากขึ้น

เพราะว่า ถ้าหากจิตได้เห็นความไม่เที่ยง ของกายของใจนี้อย่างต่อเนื่องสักเจ็ดวันเนี่ย การทำงานของจิตมันจะต่างไป การทำงานของสมองมันจะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย 

อาการฟุ้งซ่านเพื่อตัวตนมันจะน้อยลง อาการกระวนกระวายเพื่อที่จะเอาอะไรให้กายนี้ใจนี้ มันจะเบาบางลง นี่ตรงนี้คือผลของการรู้ ผลของการอยู่กับปัจจุบัน

---------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ              ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์              ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                    ฝึกสติอยู่กับปัจจุบันต้องเริ่มอย่างไร?
ระยะเวลาคลิป       .๒๕  นาที
รับชมทางยูทูป      https://www.youtube.com/watch?v=_KlH2_tubiY&feature=youtu.be

*** IG ***

ทำไมเดินจงกรมแล้วมีสมาธิดีกว่าตอนนั่งสมาธิ?

ดังตฤณ      :  ไปถามตายตัวแบบนั้นไม่ได้ว่า เดินจงกรมดีกว่านั่งสมาธิ หรือว่านั่งสมาธิดีกว่าเดินจงกรม มันแล้วแต่คน และแล้วแต่ช่วงจังหวะเวลา แล้วแต่ว่าวิธีการที่คุณกำหนด แล้วแต่ว่าความพร้อม 

ขอให้เข้าใจว่า การนั่งสมาธิคือ การมีสติแบบนิ่ง ส่วนการเดินจงกรมคือ การมีสติแบบเคลื่อนไหว ถ้าคุณเข้าใจอย่างนี้ได้ ก็จะพบว่า การนั่งสมาธิกับการเดินจงกรม เป็นการเจริญสติแบบเสริมกัน 

คุณจะได้ทั้งสติแบบนิ่ง แล้วก็สติแบบเคลื่อนไหวไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันได้ อันนี้คือคอนเซ็ปต์ (concept) อันนี้เป็นเบสิก (basic) ที่ถ้าทำความเข้าใจได้ ก็จะไม่มีการมาบอกว่า อันไหนดีกว่ากัน

แต่จะมาพิจารณาว่า เรากำลังทำเจริญสติแบบนิ่ง หรือแบบเคลื่อนไหวได้ดีกว่ากัน อย่างในกรณีของคุณก็คือ สามารถที่จะเจริญสติแบบเคลื่อนไหวได้ดีกว่าตอนนิ่ง ซึ่งมีความหมายว่าอย่างไร

(คำตอบ) มีความหมายว่า ถ้านิ่ง คุณยังไม่สามารถที่จะทำให้สติเท่าทันความฟุ้งซ่าน หรือไม่สามารถที่จะเห็นความฟุ้งซ่านแสดงความไม่เที่ยง หรือยังไม่มีมุมมองอย่างชัดเจนว่า จะเอาอะไรมาตรึงจิตให้นิ่ง

อย่างเช่น บางทีหลายๆคนนะครับ อันนี้ไม่ได้พูดถึงเจ้าของคำถามนะ หลายๆคน กระโดดไปกระโดดมา ระหว่างพุทโธ กับลมหายใจ หรือไม่ก็ไปบริกรรมอย่างอื่น หรือไม่ก็กำหนดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง จะเอาให้ได้ เอาความนิ่งที่จุดนั้นให้ได้

บางคนก็เพ่งไปที่กลางอก บางคนเพ่งไปที่หน้าผาก บางคนเพ่งไปที่กลางกระหม่อม เนี่ยมันขึ้นอยู่กับว่าใครทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่ทีนี้ถ้าเราไม่คิดว่า เรากำลังพยายามนั่งสมาธิให้นิ่ง

แต่เอาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ นั่งคอตั้งหลังตรง ไหล่เปิดนะครับ แล้วดูตามจริงว่า ร่างกายกำลังต้องการลมเข้า หรือต้องการลมออก หรือต้องการหยุดลม ดูตามจริงไปแล้วก็พบว่า ลมหายใจทั้งเข้า ทั้งออก แสดงความไม่เที่ยงตลอดเวลาว่า เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น แล้วแต่ความต้องการทางกาย

ถ้าเจตนามีอยู่อ่อนแต่ว่าชัดเจน อ่อนแต่ชัดเจนว่า เราจะดูอยู่อย่างนี้แหละว่า ร่างกายกำลังต้องการลมเข้าหรือลมออก ในที่สุดมันจะเกิดสติรู้ว่าขณะนั้น ลมปรากฏเป็นอย่างไร ซึ่งตัวนั้นแหละที่ทำให้เกิดสมาธิแบบมีตัวตนอ่อน

แล้วพอมีตัวตนอ่อน มันเกิดความโล่ง มันเกิดความสบายขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกว่าเพลินดี เกิดฉันทะในการทำต่อ ในการเจริญสติแบบนิ่งต่อไปเรื่อยๆ มันก็มีความสุข มีความรู้สึกชื่นใจขึ้นมา

ทีนี้พอตอนเดินจงกรมที่คุณบอกมีสมาธิดีกว่า นั่นก็เพราะว่า คุณจับจุดถูกแล้ว ในการที่จะเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้นต่อไป แล้วสังเกตด้วยว่า ยิ่งทำไปเนี่ยมันยิ่งมีความรู้สึกไหมว่ากายนี้ใจนี้มันไม่ใช่ตัวเดิม มันไม่เหมือนเดิม มันไม่ใช่ตัวตนนะครับ อันนี้เป็นจุดสังเกตที่สำคัญ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               ครอบครัว กิติวิริยกุล
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน) 
คำถาม                 ทำไมเดินจงกรมแล้วมีสมาธิดีกว่าตอนนั่งสมาธิ?
ระยะเวลาคลิป        ๔.๑๓ นาที
รับชมทางยูทูป       https://www.youtube.com/watch?v=KTlYtOPEhL8&feature=youtu.be

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เจตนายิ่งเข้ม ตัวตนยิ่งข้น

ดังตฤณ  :   สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม คืนนี้ก็เรียกว่า จะให้เกิดความเข้าใจนะครับ ทั้งในส่วนของ เรื่องของกรรมวิบาก แล้วก็เรื่องของการเจริญสติ เพราะว่าถ้าเข้าใจเรื่องนึงอย่างชัดเจน ก็จะเข้าใจอีกเรื่องนึงตามไปด้วยนะครับ

ชื่อทอปปิก (Topic) ของตอนนี้นะครับบอกว่า “เจตนายิ่งเข้ม ตัวตนยิ่งข้น” อย่างคนเนี่ยนะครับ ถ้าเมื่อชาติก่อนเคยไปทำกรรมแบบหนึ่ง ทำบุญแบบหนึ่งอย่างชัดเจนมาก มีความโดดเด่นในเรื่องบุญอันนั้นมากเนี่ย ส่วนใหญ่พอเกิดใหม่ในชาติถัดมา จะมีรูปร่างหน้าตาชัด หน้าตา โหนกแก้ม จมูกโด่ง ดูมีมิติ ดูมีความเข้ม ดูมีความขลัง ใครเห็นแล้วเกิดความรู้สึกว่า เออนี่หน้าตาแบบนี้เนี่ย ดูทีเดียวเนี่ยจำได้เลยนะครับ จำหน้าตาได้

ในขณะที่อีกหลายๆคน ดูแล้วต้องเจออีกหลายๆหนถึงจะจำได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องความเข้มข้นของกรรม คนบางคนเนี่ย ยกตัวอย่างเอาแบบที่เห็นได้ชัดที่สุด เข้าใจได้ง่ายนะครับ อย่างบางคนเนี่ยประดิษฐ์ประดอยพระพุทธรูป เป็นช่าง เป็นปฏิมากร ปั้นพระพุทธรูป อุทิศกายอุทิศใจถวายเป็นพุทธบูชาทั้งชีวิต

แล้วก็ไม่ใช่ทำแค่เล่นๆ ไม่ใช่ทำแค่เพื่อที่จะรับเงินมาแบบผ่านๆ แต่มีจิตใจทุ่มเท มีความละเอียดละออ ตั้งใจพัฒนาปรับปรุ่งฝีมือ เห็นความอ่อนช้อย เห็นความงดงาม เห็นความน่าเลื่อมใสขององค์พระ แล้วก็ได้เห็นว่า ผู้คนเนี่ยได้มีศรัทธาปสาทะ เกิดจิตปีติ เกิดโสมนัส ในขณะกราบกันอย่างไรเนี่ยนะครับ แบบนี้ทำอยู่ทั้งชีวิต เกิดใหม่ก็จะด้วยเจตนาที่เข้มข้น ด้วยกรรมที่มีความชัดเจนว่า เราจะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้กับการประดิษฐประดอยพระปฏิมาให้เกิดความงดงาม น่าเลื่อมใส

เกิดใหม่ก็ย่อมมีความชัดเจนเด่นชัด มีรูปหน้ามีมิติ มีออร่า เปล่งประกายมาแต่ไกล ใครเห็นเกิดความเลื่อมใส เกิดความรู้สึกว่า เออรูปนี้ โฉมนี้เนี่ย ไม่ว่าจะเกิดเป็นเพศชาย หรือเพศหญิงก็ตาม เห็นปุ๊บจำได้เลย เห็นปุ๊บอยากเห็นอีก เห็นปุ๊บเนี่ยเกิดความรู้สึก มีความสุขขึ้นมาทันทีอะไรแบบนี้ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ยังมีกรรม ยังมีตัวเจตนาที่เข้มข้นแบบอื่นๆ อย่างเช่น บางคนอุทิศทั้งชีวิตเนี่ย เอาแบบที่ไม่เป็นบุญบ้าง ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป อุทิศทั้งชีวิตให้กับการต่อจิ๊กซอว์ สนุกมาก แล้วก็มีแพสชัน (Passion) มีไฟมากกับการต่อจิ๊กซอว์ ยิ่งตอนเด็กๆเนี่ยนะครับมีความสามารถต่อจิ๊กซอว์ภาพขนาดกลางได้ ผู้ใหญ่ขึ้นมานิดนึงขนาดใหญ่ซับซ้อนนะครับ แล้วก็หัวคิดทั้งหมดเนี่ยอุทิศให้กับการต่อจิ๊กซอว์อยู่ไม่ขาด แบบนี้คือมันไม่เป็นบุญ มันไม่เป็นบาป แต่ว่าตัวรูปของกรรม รูปของความเป็นคนช่างคิด ชอบต่อจิ๊กซอว์เนี่ยมันก็ปรากฏได้ในชาติถัดมานะครับ ดูเป็นคนหน้าตาชัด แต่ไม่ได้หล่อไม่ได้สวย ไม่ได้น่าเลื่อมใส เห็นแล้วไม่ได้มีความสุข แต่ว่าจำได้ อะไรแบบนี้เป็นต้นนะครับ

อันนี้พูดให้ฟังแบบคร่าวๆว่า ตัวเจตนาหรือตัวกรรมเนี่ยมันมีผล บางคนเจตนาอ่อนกรรมอ่อน บางคนเจตนากลับไปกลับมา กรรมก็พลิกไปพลิกมา ระหว่างบุญกับบาปได้ หรืออย่างบางคนเนี่ย อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ บางคนเมื่อชาติที่แล้วเคยเป็นปฏิมากร ได้สร้างพระพุทธรูปงามๆไว้มากมาย แต่เกิดใหม่ลืมยังหาตัวเองไม่เจอ ก็อาจจะมีช่วงต้นชีวิตที่มีความสับสนในตัวเอง คือรูปหน้าเนี่ยชัดมากเลย ดูเป็นผู้นำ ดูเป็นผู้น่าเลื่อมใส เห็นแล้วดูหน้าตาเนี่ยแบบว่าเป็นแรงบันดาลใจ เกิดความสุขอยากได้พบอยากได้เจอเป็นดาราอะไรแบบนี้นะครับ แต่ตัวจิตตัวเจตนาจริงๆเนี่ยมันยังมีกำลังอ่อน คือยังหาตัวเองไม่เจอ บอกเป็นดาราเป็นได้ แต่เป็นแล้วก็ไม่ได้ถึงกับขนาดมี
แพสชัน (Passion) ที่จะแสดงที่อินกับบทบาทนะครับ

หรืออยากจะไปทำธุรกิจ อยากทำอย่างอื่น อยากทำโน่นทำนี่ที่มันจะได้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองซะที หาเป้าหมายของชีวิตตัวเองเจอซักทีเนี่ย ก็เหมือนกับไม่ประสบความสำเร็จ อย่างนี้เนี่ยเจตนาในชาติใหม่ ก็มีกำลังอ่อน แล้วก็เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรที่คืนความรู้สึกว่า มีตัวตนชัดเจนกลับมาซักทีนะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความไม่รู้ข้ามชาตินะครับ

ชาติก่อนทำอะไรไว้จำไม่ได้ มีแพสชัน (Passion) แบบไหน มีความสนุกกับการทำอะไรไว้เนี่ยมันลืม แต่ว่าปรากฏในรูปร่างหน้าตา ทำให้คนอื่นนึกว่า คนนี้เนี่ยจะต้องมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนแน่ๆ แต่เจ้าตัวจะรู้ว่าข้างในมันโหวงเหวงอยู่ อันนี้ก็เรียกว่า ขัดแย้งกับความรู้สึกระหว่างตัวเก่ากับตัวใหม่

แต่ถ้าเกิดใหม่ ได้เจองานประดิษฐ์ หรือว่างานเกี่ยวกับศิลปกรรมอะไรที่ทำให้เกิดความชื่นชอบได้ แล้วมีจิตเจตนาที่เข้มข้นเท่าเก่า ก็จะรู้สึกว่าเนี่ยเป็นตัวของตัวเอง เป็นตัวเดิม เป็นตัวตนแท้ๆของตนเองนะครับ

เหมือนกับเจออาชีพ หรือว่าเจอเป้าหมายของชีวิต บางทีคำว่า เจออาชีพ หมายถึงว่า หาเงินหาทองได้ด้วยตัวเอง แต่เจอเป้าหมายชีวิตบางทีมันไม่ได้เงิน แต่ว่าได้ความรู้สึกว่า เนี่ยเป็นตัวของตัวเองนะครับ

ทีนี้สำหรับคนทั่วๆไป ที่บอกว่า คุณเคยเจอมั๊ย อย่างช่วงอายุนึง คุณเจอใครบางคนนะแล้วเขาดูเหมือนกับฟุ้งซ่าน ดูหน้าดูตา แล้วคุยๆไปมันเลื่อนลอย ทำให้ใจของคุณพลอยเลื่อนลอย หรือฟุ้งซ่านตามเขาไปด้วย ก็เกิดความรู้สึกรำคาญในออร่าแบบนั้น หรือว่าในกระแสตัวตนแบบนั้น ที่มันเหมือนกับเลื่อนลอยไป เลื่อนลอยมา พลิกกลับไปพลิกกลับมา นั่นคือลักษณะของจิตที่ไม่มีเจตนาเข้มข้น ไม่มีกรรมที่ต่อเนื่อง ไม่มีแพสชัน (Passion) หรือความชอบใจ ที่จะตรึงจิตให้อยู่กับเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งอย่างเข้มแข็ง มันก็เลยไปพลอยทำให้คนใกล้ตัว เกิดความรู้สึกเลื่อนลอย หรือว่าฟุ้งซ่านตามไปด้วย ยิ่งพูดเนี่ยมันยิ่งออกอ่าว

คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตเนี่ยนะครับ สังเกตได้ง่ายๆเลย พูดๆไปแล้วเพลินจะพล่ามไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีจุดหมาย มันจะไม่รู้ว่า ควรจะพูดอะไร ไม่พูดอะไร รู้แต่ว่าอยากพูด ประเภทนี้ก็ทำให้คนที่คุยด้วยเกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านตาม

ถ้าคุณมีเพื่อนที่คุยโทรศัพท์วันนึงชั่วโมงสองชั่วโมงนะครับ ปรับทุกข์กันไปปรับทุกข์กันมา วนอยู่กับที่ กี่วันกี่วันก็ทอปปิก (Topic) เดิมนะครับ เรื่องเดิมๆเรื่องเก่าๆขุดคุ้ยขึ้นมา เนี่ยประเภทนี้แหละที่คุณจะรู้สึกถึงความมีตัวตนไม่ชัดเจน พร้อมจะโอนเอนไปมา

แล้วก็เห็นหน้าเห็นตาเวลาคุยกันเนี่ย จะรู้สึกเลยว่า หน้าตาแบบนี้มันไม่จำ มองแล้วเกิดความรู้สึกว่า มันพร่าเลือนชอบกล นั่นมันเป็นอาการพร่าเลือนของจิต เป็นอาการพร่าเลือนของออร่าที่มันไม่คงที่ มันสลับไปสลับมา เดี๋ยวสว่าง เดี๋ยวมืด เดี๋ยวหม่น เดี๋ยวดำ เดี๋ยวแดง เดี๋ยวขาว อันนี้ก็เลยทำให้ความจดจำของผู้เห็นมันไม่ชัดเจนตามไปด้วย

ทีนี้ถ้าคนๆเดียวกันที่เคยป่วนๆ เคยแบบว่าเดี๋ยวมีจิตอ่อน จิตหนัก เดี๋ยวฟุ้งมาก เดี๋ยวฟุ้งน้อยเนี่ย ถ้าหากว่าเขาเจอแพสชัน (Passion) ในชีวิต เจอเป้าหมายในชีวิต อีกหลายปีต่อมาคุณเจอเนี่ยคุณจะรู้สึกเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ดูหน้าตาชัดเจนขึ้น มองไปแล้วรู้สึกมองนิ่งๆได้ มองด้วยความรู้สึกสบายใจ ไม่เป๋ไป ไม่เป๋มาเหมือนเมื่อคุยกันเมื่อห้าหกปีที่แล้ว

อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมใหม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในตัวตน ทั้งเจ้าตัวเอง แล้วก็คนเห็นได้นะครับ ไม่ใช่ว่าจะต้องรอข้ามชาติกันเสมอไป ถ้ารอข้ามชาติเนี่ย มันปรากฏในรูป รูปกาย รูปหน้าตารูปร่าง แต่ถ้าในชาติเดียวเนี่ยมันปรากฏในออร่าที่ออกมา อันนี้มันเป็นประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนเคยผ่านๆ เคยเจอๆ มาอยู่แล้ว แล้วคนอื่นเห็นอย่างไร เจ้าตัวก็รู้สึกคล้ายๆแบบนั้นนั่นแหละ

ถ้าหากว่าเจอแพสชัน (Passion) นะครับ คนเรามีเป้าหมายในชีวิต แล้วเกิดความต่อเนื่องที่จะทำ ที่จะเดินไปตามเส้นทางนั้นๆ เห็นตัวเองมีพัฒนาการ เห็นตัวเองมีการเลื่อนขั้นความสามารถ หรือว่ามีความรู้อะไรลึกซึ้งในทางนั้นๆมากขึ้นๆ มันจะรู้สึกเป็นเอกเทศ รู้สึกมีเอกลักษณ์ของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น และไม่จำเป็นต้องคิดตามคนอื่น สามารถคิดเองได้ สามารถมีสติอยู่กับเส้นทางของตัวเองได้

อันนี้ก็เกิดความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ เออเลี้ยงตัวเองได้ เกิดความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ สามารถคิดเองได้ เกิดความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ สามารถนำคนอื่นได้อะไรแบบนี้ เนี่ยออร่ามันก็แจ่มชัดขึ้นมา คนอื่นเห็นก็เกิดความรู้สึกว่า เออมันดูแล้วเนี่ยเป็นผู้นำได้อะไรแบบนี้นะครับ

ก็แสดงให้เห็นว่า คนๆนึงจะเปลี่ยแปลงตัวเองได้ ก็เมื่อมีกรรมที่เข้มข้นคือเจตนาที่จะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนต่อเนื่อง จนกระทั่งผลหรือว่าวิบาก ผลของเจตนาที่เข้มข้นนั้นน่ะ ผลิดอกออกผล จะชาติหน้าหรือว่าชาติเดียวกันก็ตาม ความรู้สึกในตัวตน มันจะมีความเสถียร แล้วก็เรียกว่ามีความปรากฏชัด ทั้งกับตัวเองแล้วก็คนอื่น อย่างที่บอกว่า ดารามีออร่าแจ่มชัดกว่าคนธรรมดา บางทีก็มาจากความรู้สึกข้างในแบบเดียวกันที่มีตัวตนชัดเจน แตกต่างจากคนอื่น อันนี้คือในแง่ของเรื่องกรรม ในแง่ของเรื่องของวิบาก

คราวนี้มาพูดในแง่ของการปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเจริญสติ ตัวเจตนาที่มันเข้มข้นมันดีหรือไม่ดียังไง มันมีผลต่างในการปฏิบัติอย่างไร

ผมจะยกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อันนี้ขึ้นมาก่อน พระพุทธเจ้าตรัสไว้แบบนี้นะครับ “ตติยฌาน เป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

อันนี้นะครับคือ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสูตรเกี่ยวกับเรื่องของฌานหลายๆสูตร ความหมายเนี่ยมีอย่างไร ความหมายก็คือ คุณต้องเข้าใจนิตนึงว่า อย่างถ้าเราทำสมาธิเนี่ย มันต้องมีความตั้งอกตั้งใจ ที่จะดูอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตรึงจิตไว้ให้นิ่งอยู่กับที่ หรือว่าให้รู้เห็นจนกระทั่งเกิดความชัดเจนนะว่า สิ่งที่กำลังรู้ สิ่งที่กำลังเห็นนั้น ปรากฏแสดงความไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตนออกมานะครับ อันนี้ก็เป็นที่รู้กันในหมู่นักปฏิธรรมเจริญสติว่า ถ้าขาดสมาธิมันไม่มีทางที่จะเห็นความไม่เที่ยง

ถ้าขาดสมาธิมันไม่มีความสามารถที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ชัดเจออย่างแน่นอน ก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย เพราะจิตมีอยู่หลักๆก็แค่นี้แหละ สงบหรือว่าฟุ้งซ่าน ถ้าสงบก็พร้อมที่จะรู้ พร้อมที่จะเห็นอะไรอย่างแจ่มชัด

แต่ถ้าฟุ้งซ่าน ก็จะไม่เห็นอะไรเลย มีแต่แล่นตามความฟุ้งซ่านหรือว่า โดนพายุความฟุ้งซ่านซัดไป เพราะฉะนั้นมันเลยต้องนิ่งก่อน นิ่งให้ได้ ทำสมาธิให้เป็นก่อน

ทีนี้พอทำสมาธิเกิดอะไรขึ้น ตัวอาการจดจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดสมาธิ จะเป็นลมหายใจก็ตาม จะเป็นการบริกรรมพุทโธก็ตาม จะเป็นการเพ่งกสิน เอาดวงกลมๆอะไรยกขึ้นตั้งให้จิตหน่วงไว้นะครับ

จนกระทั่งเกิดนิมิตชัดเจน อะไรก็ตามที่เป็นตัวตรึงให้จิตอยู่กับที่ได้เนี่ย มันต้องอาศัยเจตนา มันต้องอาศัยเจตจำนงตรึกนึกถึงสิ่งนั้นๆ

ถ้าคลาดเคลื่อนจากการตรึกนึกถึงสิ่งนั้นๆ สิ่งนั้นๆหายออกไปจากใจ ใจมันก็พร้อมจะเลื่อนลอยปัดเป๋ไปฟุ้งซ่านไป เหมือนกับพอเรานึกถึงลมหายใจ ถ้าลมหายใจปรากฏอยู่ในช่วงไหน ช่วงนั้นเราก็จะเกิดความรู้สึกว่า มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ องค์ของสมาธิที่เกิดจากการที่เราตั้งใจเจตนาที่จะรู้ลมหายใจ อันนั้นแหละเรียกว่า “วิตก

วิตก” ในที่นี้ไม่ใช่วิตกกังวล แต่หมายถึง วิตกแบบตรึกนึก ถ้าตรึกนึกไปนานๆจนกระทั่งลมหายใจ หรือว่า ถ้าเดินจงกรมก็เท้ากระทบ มันปรากฏอยู่ในใจราวกับว่า มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต

จิตไม่วอกแวกไปไหนเลย มีแต่ผัสสะกระทบที่เท้าเดินจงกรมหรือว่าผัสสะกระทบที่ลมหายใจเข้าหรือออกเนี่ยนะ ไม่วอกแวกไปไหนเลย อันนั้นเกิดองค์ของสมาธิที่เรียกว่า “วิจาร

วิจาร” ในที่นี้ไม่มี “ณ์” นะครับมีแต่ “จาร” วิจาร หมายความว่า จิตมันแนบเข้าไป มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว รู้สึกราวกับตัวเองเนี่ย จิตของตัวเองเนี่ยกลายเป็นสิ่งนั้นซะเอง อันนี้ก็คือพูดง่ายๆว่า ด้วยวิตก วิจาร ถึงจะตรึงจิตให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนจิตเกิดสมาธิขึ้นมาได้

ทีนี้พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ แบบที่มันจะไต่ลำดับขึ้นไปเป็นฌานเนี่ยนะ จะเริ่มมีความพอใจ มีความอิ่ม มีความรู้สึกว่า เออไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องไปฟุ้งซ่านคิดถึงอะไรก็ได้ แล้วก็จะเกิดความสุข เป็นสุขแบบเยือกเย็น ไม่ใช่สุขแบบที่จะทำให้กระโดดโลดเต้น หรือว่าปีติยินดีในแบบที่จะทำให้ขนลุกขนพองนะครับ เป็นปีติและสุขในทางที่จะทำให้เกิดวิเวก

ตัววิเวกจิตเนี่ยนะครับ มันจะพัฒนาขึ้นไป อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดความวิเวก เกิดความรู้สึกว่าจิตเปิดกว้าง นั่นน่ะในที่สุดนะครับ ความเปิดกว้างนั้น มันจะผนึกรวมกระแสให้เป็นหนึ่ง มีความรู้สึกว่างออกมาจากตรงกลาง แล้วก็ขยายขอบเขตออกไปกว้างขวาง

ซึ่งจะกว้างขวางแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขอบเขตของจิตที่มันจะเปิด ที่มันจะแผ่ออกไปนะครับ ตรงนี้แหละพอจิตรวมได้ถึงเอกัคคตาหรือว่าพูดง่ายๆว่า จิตมีความเป็นใหญ่มีความเป็นหนึ่ง หูดับไม่ได้ยินอะไร อย่างที่พระพุทธเจ้าเคยเดินจงกรม ฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ยินอะไรเลย นั่นเพราะว่าท่านทรงอยู่ในฌานขณะเดินจงกรม

อันนี้เรามาแยกกันนิดนึง อย่างถ้าได้ถึงปฐมฌาน ตรงนั้นเนี่ยถ้าสมมติว่า เราเข้าถึงปฐมฌานได้ด้วยลมหายใจ มันจะเห็นลมหายใจปรากฏชัดอยู่ นั่นเพราะว่า จิตยังมีตัววิตกและวิจารเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดฌาน

ทีนี้พอขึ้นฌานที่สอง ตัววิตกมันหายไป ตัวตรึกนึกมันหายไป แต่ยังมีอาการที่จิตเนี่ยแนบแน่นอยู่กับลมหายใจได้นะครับ

ทีนี้พอขึ้นฌานที่สามหรือว่า ตติยฌานที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตติยฌาน เป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” นั่นเพราะอะไร

เพราะว่า ตัวเจตนาเนี่ยมันหายไป ตัวเจตจำนง ตัววิตกที่จะไปหน่วงเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไว้เป็นเครื่องตรึงสมาธิเนี่ยมันหายไป มันเหลือแต่ภาวะของจิตที่นิ่งอยู่โดยอัตโนมัติของมัน เป็นไปเองของมันโดยไม่ต้องอาศัยเจตนา หรือว่าเจตจำนงของเราเข้ามาช่วย

จริงๆเจตนาเนี่ยมีเกิดกับทุกจิตนะครับ แต่ว่าในที่นี้เนี่ยมันไม่มีตัวเข้าไปหน่วงเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ ตัวของจิตเองเนี่ยมันตั้งอยู่เป็นอัตโนมัติ แล้วก็ตั้งอยู่อย่างนั้น จึงมีความสุข มีอุเบกขา และรู้สึกว่าไม่มีตัวตน

ตัวนี้เนี่ยที่คุยกันมา เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราเจริญสติอยู่นะครับ คือโอเคไม่ต้องถึงฌาน ไม่ต้องถึงแม้แต่ปฐมฌานก็ได้ แต่เราสามารถสังเกตว่า ในขณะใดขณะหนึ่ง เรากำลังมีความตั้งใจ ที่จะจับอารมณ์เข้มข้นแค่ไหน

ถ้าหากว่า เราตั้งใจจะรู้ลมหายใจอย่างแน่วแน่นะครับ ตั้งอกตั้งใจมากเกินไปแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน แบบนั้นเนี่ย ความรู้สึกในตัวตนมันไม่หายไปไหนแน่นอน

แต่ถ้าหากว่า เรารู้สบายๆ ตามความเป็นจริงว่า ณ ขณะหนึ่งๆ กำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า กำลังหายใจยาว หรือว่าหายใจสั้น รู้ไปแบบที่คือไม่ไปมีตัวตนในการบังคับเอา หรือว่ามีตัวตนในการอยากได้สมาธิ มีตัวตนในการอยากให้ความฟุ้งซ่านมันสงบระงับลง แต่เป็นไปด้วยอาการยอมรับตามจริง เนี่ยก็เป็นการเลียนแบบสมาธิในแบบไม่มีตัวตนแล้ว

ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ย เพื่อสรุปลงตรงนี้ว่า ถ้าเราเจริญสติในแบบที่จ้องเอา จ้องเอา จะเอาผลที่ดี ผลไม่ดีไม่สน ผลไม่ดีเนี่ยพอเกิดขึ้นจะปฏิเสธมันทันที จะเกิดความรู้สึกอึดอัดทุกข์ทรมานใจทันที แบบนั้นมันมีตัวตนไม่มีที่สิ้นสุด ปฏิบัติไปจนตายก็ไม่ได้มรรคผล

แต่ถ้าหากว่า คุณจับจุดถูก เข้าใจได้ว่า “เจตนายิ่งเข้ม ตัวตนยิ่งข้น”  เจตนายิ่งอ่อน คือ หมายถึงว่า ตัวเจตจำนงเนี่ยที่จะไปจับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ จับให้มั่นคั้นให้ตายยิ่งอ่อนลงเท่าไหร่ ตัวตนความรู้สึกในตัวตนก็ยิ่งอ่อนกำลังลงเท่านั้น

คนก็มักจะสงสัยว่า เอ้..มันจะได้ยังไงนะ ถ้าจะให้เกิดสมาธิมันต้องเกิดความต่อเนื่องสิ อันนี้ให้สังเกตความหนัก ความเบาของความจงใจ ของความมีตัวตน ที่จะไปบังคับเอา ถ้ามีกำลังอ่อน ถ้ามีการรับรู้เฉยๆ เป็นผู้รู้ผู้ดู เหมือนกับผู้ดูละคร ไม่ขึ้นไปเล่นกับตัวละครบนเวทีด้วย เนี่ยตัวนี้นะพอยิ่งทำไปเราจะยิ่งรู้ว่า เจตจำนงยิ่งอ่อน จริงๆแล้วตัวรู้มันจะยิ่งปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆต่างหาก มันไม่ใช่ว่าเจตจำนงอ่อนแล้วตัวรู้มันจะหายไปไหน หรือว่าไม่เกิดขึ้น

เจตจำนงอ่อนด้วยการที่เราเหมือนกับทำตัวว่าเป็นผู้ยอมรับ เป็นนักยอมรับความจริง ไม่ใช่เป็นผู้เล่น ผู้บงการ เนี่ยใช้คำนี้ก็แล้วกัน คุณสังเกตดูเวลาที่คุณปฏิบัติสมาธิหรือว่า จะคิดว่าตัวเองกำลังจะเจริญสติเนี่ย มันจะมีอาการแบบว่าเป็นเจ้าเป็นนาย อยากได้นั่นอยากได้นี่ ให้ได้อย่างใจ เอาให้ได้อย่างใจ เนี่ยเป็นจอมบงการ ตัวนี้เรียกว่าเจตนาเนี่ยเข้มข้น ตัวตนของผู้อยากได้มันก็ย่อมเข้มข้นตาม

แต่เมื่อใด เราสามารถถอดโขน ถอดวิญญาณของความเป็นเจ้าเป็นนาย หรือว่าจอมบงการออกไปได้ มันจะเหลือแต่ผู้ยอมรับ ไม่ใช่ผู้ยอมแพ้งอมืองอเท้านะครับ ไม่ใช่ผู้ดูดาย ไม่ตั้งรู้อะไรเลย

แต่เป็นผู้ยอมรับ เนี่ยนั่งอยู่เฉยๆ ด้วยอาการที่ไม่กระดุกกระดิก ด้วยอาการที่ไม่มีความกระสับกระส่าย ไม่มีอาการเกร็งของผู้พยายามตั้งท่าที่จะต่อสู้หรือว่า ตั้งท่าที่จะแข่งเอาให้ได้ แต่เป็นผู้ที่มีความผ่อนคลายเนื้อตัว แบบผู้ที่นั่งดูอะไรเพลินๆสบายๆ เหมือนกับนั่งมองท้องฟ้า เหมือนกับนั่งมองทะเล เพียงแต่ว่า ตามธรรมชาติธรรมดาของกายใจเนี่ยมันไม่ได้สวยเหมือนท้องฟ้า ไม่ได้สงบเหมือนกับทะเลเรียบตอนเช้า แต่บางทีมันปั่นป่วนเหมือนกับทะเลที่บ้าคลั่งมีพายุ ซึ่งตรงนั้นถ้าหากว่า เรายังมีความสามารถที่จะนั่งผ่อนคลายสบายใจได้ทั้งตอนที่ทะเลเรียบ และก็ตอนที่ทะเลมีพายุเนี่ย อันนั้นแหละเรียกว่าเป็น “นักยอมรับความจริง” ไม่ใช่ “ผู้บงการ” จะเอาให้ได้ฉากทะเลสวยๆอย่างเดียวนะครับ

เอาล่ะ ก็คงเข้าใจนะครับว่า เจตนายิ่งเข้ม ตัวตนยิ่งข้น ก็จะเอามาสรุปรวมตรงเรื่องของการปฏิบัติเจริญสตินี่แหละว่า ถ้าเรายิ่งอยากได้ ยิ่งอยากให้เกิดอะไรขึ้น ตัวตนน่ะมันไม่ไปไหนนะครับ ไม่มีทางทิ้งตัวตนได้ ไม่มีทางได้มรรคผล แต่ถ้าหากว่าคุณมีศิลปะในการเป็นนักยอมรับความจริง เจตนาแค่รู้ เจตนาแค่ดูอยู่ ในที่สุดแล้วเนี่ย มันก็จะขึ้นไปถึงฌานขั้นนึง ถ้าทำได้นะครับ ถ้ารวมจิตได้เนี่ยที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ นะครับ

---------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์               ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน                  เจตนายิ่งเข้ม ตัวตนยิ่งข้น
ระยะเวลาคลิป     ๒๙.๑๒ นาที
รับชมทางยูทูป     https://www.youtube.com/watch?v=xLQj1oUNc1c

*** IG ***