วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญสติจำเป็นต้องทำทานไปด้วยหรือไม่?


ดังตฤณ : สำหรับวันนี้ก็จะมีหลายๆ ประเด็นรวมอยู่ด้วยกันในเรื่องของการเจริญสตินะครับ 
เพราะว่าบางคนเพิ่งเป็นหน้าใหม่ มือใหม่เข้ามาในแวดวงปฏิบัติ ก็เกิดความสงสัย เพราะได้ยินจากที่นั่นที่นี่ว่า หลักการที่เป็นของพุทธ จริงๆ คือมี
การทำทาน รักษาศีล และเจริญสติภาวนา

บางคน เข้ามาแบบไม่ได้ฟังอะไรเท่าไหร่ อยากเจริญสติ อยากทำสมาธิเลย แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาเองว่า เอ แปลกจัง บางวันทำบุญที่วัด กลับมา รู้สึกว่า การเจริญสติก้าวหน้า เดินจงกรม นั่งสมาธิ รู้เรื่องมากเลย ผิดกับวันธรรมดา ที่ไม่ได้ไปวัด ไม่ได้ทำบุญ เสร็จแล้วก็สงสัยซ้อนขึ้นมาอีกว่า พอรู้อย่างนี้ ก็นึกว่าการไปทำบุญที่วัด น่าจะเป็นสาเหตุ น่าจะเป็นแรงสนับสนุน ให้ทำสมาธิและเดินจงกรมได้ดี

เอาใหม่ ในอาทิตย์ต่อมา ไปวัด แล้วก็เกิดความคาดหวังว่า กลับมาจะเจริญสติได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างรู้เรื่อง รุ่งเรือง ... ปรากฏว่าไม่ใช่ กลายเป็นยิ่งหม่นหมองเข้าไปอีก และมีอาการประเภทว่าจะชักดิ้นชักงอ ทำไมไม่สงบเหมือนคราวก่อน ทำไมไม่ชุ่มชื่น (ทำไม) เหตุผลการทำทาน การทำบุญ จึงไม่ได้มาสนับสนุนส่งเสริมการเจริญสติ เหมือนอย่างเคย

นี่ก็เป็นประเด็นที่หลายคนก็งงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ไปคุยกันเองว่า ต้องไปทำทานกันต่อหรือเปล่า บางคนนี่จริงๆ เลยนะ เรียกว่าแทบจะเป็นธรรมเนียมทางจิตของนักปฏิบัติเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทที่เริ่มต้นขึ้นมา สนใจเรื่องการภาวนาเลย ไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับทานและศีล จะคิดกันว่า เจริญสติคือการทำบุญขั้นสูงสุดอยู่แล้ว ในเมื่อมาถึงจุดที่เจริญสติได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญขั้นต่ำๆ

พูดง่ายๆ ดูถูกการทำทาน ไม่เกิดความรู้สึกที่จะผลักดันตัวเอง ให้มาสร้างทานบารมี หรือว่าแม้กระทั่งศีลบารมี มีความรู้สึกผยองอยู่ในใจว่า ตัวเองได้ทำบุญขั้นสูงสุดอยู่แล้ว

บางคน เข้าใจไปกระทั่งว่า ไปเรียนรู้ทฤษฎีมามากๆ เกิดความเข้าใจธรรมะชั้นสูง นึกว่าเป็นการเจริญสติภาวนาแล้ว ทำบุญขั้นสูงสุดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทาน อย่างนี้ก็มี แล้วแต่จะคิด แล้วแต่ว่าแต่ละคน จะทึกทักเอาอย่างไร

ทีนี้เรามาว่ากันในเชิงปฏิบัติ ไม่ได้ต้องอ้างอิงตำราอะไรนะ คุณลองคิดดูง่ายๆ ถ้าคุณยังเป็นคนเจ้าโทสะอยู่ ให้อภัยยาก ผูกพยาบาทอาฆาต แล้วก็นึกว่า เรื่องโกรธ ส่วนเรื่องโกรธ เรื่องภาวนาส่วนเรื่องภาวนา ไม่เกี่ยวกัน ในทางปฏิบัติก็คือ คุณจะรู้ได้แค่อะไรที่มันง่ายๆ อย่างเช่น ลมหายใจ หรือว่า สภาพทางกาย การเคลื่อนไหว หรือว่าหยุดนิ่ง ของร่างกายของอิริยาบถอันเป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าเกิดความโกรธ ความขุ่นเคืองขึ้นมา คุณจะไม่สามารถรู้ได้ เพราะว่ามันยืดเยื้อ เป็นคนเจ้าโทสะ โกรธง่าย หายช้า สติกว่าจะมาต้องรอสิบนาที หรือยี่สิบนาที หรือบางทีเป็นวัน กว่าจะรู้ตัวว่า ฉันโกรธอยู่ ฉันกำลังมีความอาฆาตพยาบาทใครอยู่ คลายยาก แล้วก็นึกว่า อาการคลายความโกรธยากนี่ จะสำเร็จได้ด้วยการภาวนาอย่างเดียว

จริงๆ ไม่ใช่เลยนะ ถ้าไม่มีการปูพื้นฐานของจิตไว้ก่อน ถ้าไม่มีการทำอภัยทานไว้ล่วงหน้า โอกาสที่จะเจริญสติ เห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในจิต แทบจะเป็นศูนย์ มันถูกความโกรธอาฆาตพยาบาทครอบงำก่อน

เวลาพูดถึงการทำทาน คนมักจะนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ทรัพยทานก่อน คือการให้เงิน คือการที่เราไปทำบุญร่วมกับคนอื่นที่วัดอะไรแบบนี้ นี่คือการทำทาน แต่จริงๆแล้ว ทาน มีทั้ง ทรัพยทาน อภัยทาน วิทยาทาน ธรรมทาน มีทานอันประกอบอยู่ด้วยเหตุที่เราทำตามชื่อเรียก
ถ้าให้อภัยเก่งๆ คือ ถือว่าให้ทานกับคน คืนความโกรธ สละความโกรธ ให้กับความว่างไป เจ้าตัวจะทำอะไร อภัยให้เขา แล้วรู้สึกถึงการให้ (รู้สึกถึง) อิสระจากความร้อนระหว่างกันและกัน ตรงนี้เป็นการทำทานแล้ว

ทีนี้ยกตัวอย่างอีก ถ้าหากว่าเราพูดถึงการบรรลุธรรม เรามักนึกถึงการที่ได้ฌาน ญาณ ได้ประสบการณ์ภายในอันล้ำลึก พิสดาร แล้วก็ฟังครูบาอาจารย์ หรือฟังเพื่อนนักปฏิบัติเล่าๆ กันมามาก ก็โอ้โห เห็นแสงสีเสียงอะไรโน่นนี่ มีการเห็นรายละเอียดในกระดูกอะไรต่างๆ ก็นึกว่าการบรรลุธรรม หมายถึงการได้เห็นประสบการณ์ ได้เจอประสบการณ์ ปรากฏการณ์ทางจิต ที่ล้ำลึกพิสดาร แล้วก็เอาไปเล่าให้ใครต่อใครฟัง แล้วอ้าปากค้างได้ น่าภูมิใจ

จริงๆแล้ว ขณะจิตที่จะปล่อยวางขันธ์ห้า หรือว่ากายใจนี้แบบที่จะทะลุมิติ จิตรวมลงเป็นฌาน เกิดมรรคจิต เกิดผลจิตได้ จิตต้องมีอาการทิ้งจากภาพทั้งปวงนะ ว่าข้าเก่ง ข้าทำได้ ข้ามีประสบการณ์พิสดารพันลึกอะไรทั้งหลาย ต้องไม่มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ และที่สำคัญที่สุด ความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจต้องมีแบบที่ว่าไม่เอาหรอก ... ทิ้ง!

พระอรหันต์ในพุทธกาล ถึงกับเปรียบเทียบไว้ว่า คนที่จะสำเร็จอรหัตผลได้ ต้องมีความรู้สึกว่า สามารถทิ้งกายทิ้งใจได้ ดุจคนธรรมดา ที่ถ่มเสลดในปากทิ้ง เสลดเป็นก้อนๆ น่าขยะแขยง ถ่มทิ้งได้ แบบไม่เสียดาย ไม่อยากให้มันเป็นส่วนร่วมกับตัวเอง

นี้ก็เหมือนกันคือ ทั้งภาวะทางกาย ภาวะทางใจ ตอนที่จะบรรลุธรรม เหมือนกับไม่เอาแล้ว ไม่เอาจริงๆ คือ ไม่สนว่าตัวกายตัวใจนี้ จะไปทางไหนของมัน ปล่อยมันไป ทีนี้ลองนึกดูว่า มีการทำทานแบบไหนบ้างที่จะให้เกิดความรู้สึกสละออกในระดับนั้น

ก็อย่างเช่น อวัยวะทาน ลองนึกดู บางคนถ้าเคยมีประสบการณ์มาก่อน แค่คิดว่าจะบริจาคศพของตนเองเป็นทานให้ไปใช้เป็น อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ (หมายเหตุผู้ถอดความ: อาจารย์ใหญ่ คือ ร่างกายของผู้ที่แสดงเจตจำนงบริจาคไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ในการศึกษาเรื่อง มหกายวิภาคศาสตร์ หรือระบบของร่างกาย) หรือว่า คิดจะบริจาคดวงตา คิดจะบริจาคเลือด
พอส่วนที่เคยเป็นองค์ประกอบของร่างกายเรา ไม่ได้หลุดออกจากร่างไปเปล่าๆ เหมือนตัดเล็บตัดผม แต่หลุดออกไปจากร่างของตัวเรา ด้วยความรู้สึกอยากจะให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น อย่างบริจาคเลือด หรือบริจาคดวงตา อะไรก็แล้วแต่ จะรู้สึกว่า เดี๋ยวจะมีใครได้ประโยชน์จากตรงนี้ของเรา

จะเกิดความรู้สึกสละแบบหนึ่ง ที่ทำให้ย้อนกลับมารู้สึกในตัวกายตัวใจ แล้วเบา เกิดความรู้สึกปีติ เกิดความรู้สึกเหมือนกับ ไม่อาลัยยินดีในสิ่งที่นึกว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา อาการแบบนี้ที่รู้สึกว่าสละได้ สละร่างกายได้ รู้สึกว่าไม่เอาไว้ เป็นอาการในทิศทางเดียวกันกับขณะที่เหล่าพระอริยเจ้า จะบรรลุธรรมนั่นแหละ

คือจิตจะเต็ม เต็มไปด้วยกุศล เต็มไปด้วยความสว่าง เต็มไปด้วยความเห็นชัด เต็มไปด้วยความรู้เรื่องว่า สภาพกาย สภาพใจแบบนี้ เป็นของเปล่า เป็นของที่สักแต่เป็นรูปเป็นนาม ที่มีอยู่ในธรรมชาติ มีอยู่ในทุกคน และที่มาประชุม ประกอบเป็นรูปเป็นร่าง เป็นฐานะอย่างนี้ เป็นชาย เป็นหญิงแบบนี้ก็เพราะว่ามีกรรม อันเกิดจากความไม่รู้ในอดีต สร้างขึ้น เสกขึ้น เนรมิตขึ้น

ทีนี้ ถ้าพิจารณากายใจจนกระทั่งเกิดความเห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เกิดความรู้สึกว่า เฉยๆ ... เฉยมากๆ ว่า มันจะอยู่ของมันอย่างไร จะไปของมันอย่างไร และเวลาที่จิตอิ่มตัว บอกว่าฉันไม่เอาสภาพทางกาย ทางใจ รูปพรรณสัณฐานแบบนี้ ฉันไม่แคร์แล้ว จุดนั้นนี่ก็ทำนองเดียวกันกับตอนที่เราตัดใจ ตัดสินใจที่จะบริจาคเลือดบริจาคดวงตา ซึ่งตัวนี้ก็เป็นทานอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า อวัยวะทาน

ถ้าพูดถึงทานทั่วไปบ้าง ทรัพยทาน มีหลายคนคิดกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ด้วยความรู้สึกคับแค้น บอกว่าเวลาเห็นคนอื่นบริจาคทานกันเยอะๆ ไม่อยากจะบริจาคอย่างเขา คือหมายถึงว่า ไม่อยากจะทำทานกับใครเขา เพราะมีความรู้สึกอาย รู้สึกว่าถูกกระตุ้นให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกบีบหัวใจให้เกิดความรู้สึกว่า เราไม่มีจะทำ (ทำบุญแค่) บาท สองบาท รู้สึกอับอายขายหน้า รู้สึกว่าคงไม่ได้บุญหรอก
หลายๆ แห่ง ในเมืองไทย เป็นวัดวาอาราม ไม่ใช่แค่เจ้าสองเจ้า แต่เยอะจริงๆ ถึงขั้นพูดว่า เอามาสิบบาท ไม่ต้องเอามาหรอก ไปสะสมมาให้ครบร้อย ครบพัน อย่าเอาเหรียญมา หนัก นี่ก็น่าเห็นใจนะ คือถ้าหนักเรื่องเหรียญ แต่ถ้าในความหมายที่ว่า แค่บาทสองบาทมา แล้วไม่ได้บุญ ให้สันนิษฐานเลยว่า จะเป็นพระพูด หรือโยมพูดก็ตามนะ เขากำลังแสดงความคิดของเขาเอง ไม่รู้จริง แล้วก็เผยแพร่ความเห็นอันเป็นอัปมงคล

การทำทาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า แม้กระทั่งสาดน้ำในภาชนะที่ล้างไปในน้ำ คิดว่าขอให้สัตว์ในน้ำจงได้รับเศษอาหารติดภาชนะนี้ เอาไปกินให้อิ่ม แค่นี้ก็ได้บุญแล้ว ทำกับสัตว์เดรัจฉาน และทำด้วยสิ่งที่เป็นขยะ แต่ คิดด้วยใจ คิดว่าสิ่งที่อยู่เป็นเศษอาหารนี้จงเป็นที่สำราญ เป็นอาหารกินอิ่มสำหรับสัตว์ที่อยู่ในน้ำ แค่นี้ถือว่าทำทานแล้ว ยังไม่ได้ควักสักบาทเดียวนะ

ถ้าหากว่าเศษอาหารที่เราคิดทิ้ง ยังปรุงแต่งจิตให้กลายเป็นทานได้ แล้วเงินบาทสองบาท จะเป็นทานไปไม่ได้อย่างไร ด้วยอาการเดียวกันของคนที่ล้างจานมาด้วยกัน ล้างจานแบบเดียวกัน เศษอาหารแบบเดียวกัน สาดน้ำที่ติดเศษอาหารออกไปพร้อมๆ กันลงคูน้ำเหมือนๆ กัน เป๊ะเลยในเวลาเดียวกัน
คนหนึ่งคิดว่า สาดเศษน้ำทิ้ง อีกคนหนึ่งคิดว่า สัตว์ในน้ำจงได้รับอาหารที่ติดเหลืออยู่
คนหนึ่งได้บุญ อีกคนหนึ่งเฉยๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป
คนหนึ่งทำทาน ได้ทานบารมีเพิ่มขึ้นทุกวันๆ อีกคน ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้ทำทาน

เห็นไหม คืออาการทางกาย หรือ ตัวปริมาณของที่ทำ เท่าๆ กันเป๊ะเลยแต่จิตไม่เหมือนกัน ตั้งไว้ต่างกัน คนละเรื่องเลยนะ

อย่างในสมัยพุทธกาล มีโยมอยู่เจ้าหนึ่ง นิมนต์ครูบาอาจารย์มา ก็โชคดีได้พระอรหันต์มาด้วยนะ ก็นิมนต์ท่านมาทุกเช้าเลย พอท่านมาถึง จิตก็มีความเลื่อมใส มีศรัทธาปสาทะอยู่ในองค์ท่าน ที่พระพุทธเจ้ารับรองแล้วว่าเป็นพระอรหันต์อยู่แค่รูปเดียว ท่านเห็นดังนั้น คือพระอรหันต์ท่านก็จะมีเจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของคนธรรมดาทั่วไปว่าคิดอะไรอยู่ ท่านเห็นเล็งคับแคบอยู่ที่องค์ท่านองค์เดียว ก็เลยบอกว่า อย่าทำทานแบบเฉพาะเจาะจงเป็นบุคคลเลย ให้ทำสังฆทานเถิด วิธีก็คือให้ตั้งความคิดว่า เราจะให้โภชนานี้ อาหารนี้ได้แด่พระภิกษุสงฆ์ไม่เลือกหน้า

พูดง่ายๆว่า ให้จิตจับเอาผ้าเหลืองที่มารวมกัน ๙ รูป ๑๐ รูป เป็นสำคัญ คิดว่าเราจะถวายโภชนานี้ เพื่อให้เหล่าภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญสมณะกิจได้โดยราบรื่น โดยสะดวก มีกำลังที่จะปฏิบัติธรรม
แค่ตั้งความคิดแบบนี้กลายเป็นสังฆทานแล้ว ซึ่งพระเถระท่านก็สรรเสริญความเป็นสังฆทานว่า ทำให้มีจิตที่ยกระดับขึ้น คือคิดง่ายๆ เวลาที่คุณอยากให้ใครเจาะจงสักคน จะเป็นพระ หรือเป็นคนยากคนจนที่น่าสงสารเป็นพิเศษก็ตาม ใจคุณจะเล็งอยู่เฉพาะตรงนั้น เหมือนเรามองจุดเดียวแคบๆ แต่ถ้าหากว่าเราคิดให้แบบไม่เลือกหน้า ใจจะกว้างออกเหมือนกับเรามองฝ่ามือ หรือกระทั่งมองท้องฟ้า จิต ลักษณะจะเป็นแบบเดียวกันกับการทอดสายตาไป

ถ้ามองจุดเดียวจี้เข้าไป อันนี้เรียกว่าคับแคบ แต่ถ้ามองกว้างๆ แบบไม่เลือกหน้า แบบนี้เรียกว่าเปิดใจกว้าง เป็นความใจกว้าง
ผมจะขอยกตัวอย่าง จะมีดราม่าในมูลนิธิบูรณพุทธนะครับ ทุกท่านที่ดู Live อยู่น่าจะทราบดีว่าเรากำลังทำมูลนิธิร่วมกัน ผมมีอะไรมาให้ดูนิดหนึ่ง จะได้ชัดเจน เป็นการยกตัวอย่างเฉยๆ ไม่ใช่จะพูดถึงตัวมูลนิธินะต่ว่ามีหลักฐานอะไรบางอย่าง ที่อยากจะเอามาให้รู้สึกถึงความเป็น จิต ที่เป็นทาน
อย่างมูลนิธิเรา จริงๆ ที่สร้างพระ สร้างโบสถ์ สร้างวัดไปก็แล้ว ขุดเจาะน้ำบาดาล หรือสร้างโรงเรียนให้เด็กดอย หรือบวชพระเณรชาวเขา หรือทำอะไรก็แล้วแต่ หรือเสียงสติ ก็จะมีส่วนของเงินบริจาคที่เข้ามาสนับสนุน อย่างรายการที่แสดง ส่วนใหญ่ก็จะบริจาคกันหลักหน่วย ๕ บาท ๑๐ บาท หลักร้อย ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ที่เป็นหลักพัน หลักหมื่น โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่เราก็ไม่ได้ประกาศเรี่ยไรอะไรไป แต่จะมีเงินเข้ามาเป็นประจำอยู่

ที่ผมเอามาให้ดู ถ้าเอามาให้ดูแค่ตรงนี้ รายการนี้รายการเดียว ก็เหมือนกับไม่น่าจะมีอะไร เขาอยากบริจาคหนึ่งบาท บางคนอาจขำๆ หรือบางคนอาจคิดว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยากจะบริจาคแค่นี้ เอามาให้ดูทำไม แต่ถ้าได้ฟัง story ได้ฟังเรื่องราว คุณจะทึ่ง



เงินหนึ่งบาทนี่ อันนี้ของจริงนะครับ หนึ่งบาทนี่ จะบอกว่า เขาทำทุกวัน ช่วงเวลาประมาณเจ็ดโมง ไม่เคยขาดเลย แม้แต่วันเดียว ตั้งแต่แรกๆ เริ่มที่มูลนิธิเราก่อตั้งขึ้นมา เป็นใครก็ไม่รู้นะ ไม่รู้จัก แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจขนาดที่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิบางคนถึงขั้นอยากเจอหน้าเลยนะ

จะบอกว่า เงินบาท สองบาท มีวิธีนะ ที่จะทำให้กลายเป็นทานแบบที่เรียกว่า อาจิณกรรมขึ้นมา คือส่วนตัวผมเองก็ไม่เคยคิดจะทำทานแบบนี้ แต่นี่เรียกว่า เป็นอาจิณกรรม เป็นบุญชนิดที่ มีความหนักแน่นมาก เพราะอะไร เพราะเขาทำทุกวัน แล้วคุณลองคิดดู ถ้าสมมติจะเป็นคุณที่คิดอยากจะทำอะไรสักอย่างวันละบาท ให้กับใครสักคน หรือให้กับมูลนิธิอะไรก็แล้วแต่ วันละ ๑ บาท ทุกวัน เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี แล้วก็ในเวลาเดิม ต้องมีเหตุผล แล้วเหตุผลของแต่ละคนนี่แหละ คือกรรม ที่เรียกว่า อาจิณกรรม

ตัว ๑ บาทนี่จริงๆแล้วไม่ได้มีความหมายแค่ มูลค่าหนึ่งบาท นะ ถ้าคนเดินไปกด ATM ทุกวันตอนเช้าเวลาเจ็ดโมง ต้องมีเหตุผล คือเรายังไม่ได้รู้จักว่าเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไร แต่รู้ว่าเป็นคนแน่ๆ และต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำแบบนั้น และต้องออกแรง คือเขาไม่ได้ทำง่ายๆ มีบางวันที่กดมาด้วยมือถือ โอนมาด้วยมือถือ แต่เกินกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ จะไปที่ตู้ ATM ซึ่งต้องออกแรง

เรื่องนี้อยากเอามาพูดเพราะว่า ทาน การทำทานด้วยมือ พระพุทธเจ้าสรรเสริญ การทำทานด้วยมือตนเอง และยิ่งออกแรงมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้กำลังใจ ถ้ารวมเป็นเงินบาท หลายปีที่ผ่านมาก็ไม่กี่ร้อย พันกว่าบาท แต่ว่ากำลังที่ทำตามความตั้งใจของตัวเองได้เหนียวแน่น อยากจะทำบุญตรงนี้ อยากจะมีส่วนช่วยเหลือมูลนิธิบูรณพุทธ ด้วยความหนักแน่นมากๆ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถึงได้ทำจำนวนเท่านี้ก็ตาม แต่ด้วยความตั้งใจ ความมุ่งมั่น เกินพันบาทไปเยอะ อาจเป็นพันล้านแล้วก็ได้ ถ้าหากว่า ดูที่กำลังใจนะของคนๆหนึ่ง ที่จะสั่งสม

ฉะนั้น ยกมานี่อยากจะบอกจริงๆว่า การทำด้วยเงินน้อย อย่าไปดูหมิ่นว่าเป็นหนึ่งบาท เจ็ดบาท สิบบาท แต่ว่า ดูน้ำใจหรือว่ากำลังใจ หรือความจงใจ ที่จะลงทรัพย์ จะทำทรัพยทาน ดูว่ามีความจงใจอย่างไร ดูว่ามีความ เขาเรียกว่า จิตใหญ่ จิตแน่นอน จิตสม่ำเสมอเพียงใดด้วยนะครับ

คน มักจะเข้าใจว่าทำบุญด้วยเงินมากๆ ได้บุญเยอะ แต่ถ้าระหว่างทำบุญด้วยเงินจำนวนมากกับทำบุญบ่อยๆ ด้วยเงินจำนวนน้อย จริงๆ ทำบุญบ่อยๆ ด้วยเงินจำนวนน้อย ให้ผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเจริญสติ มากกว่าการที่ทำบุญด้วยเงินเยอะๆ แต่นานๆ ทำที หรือ ทำด้วยความเจาะจง ด้วยจิตใจคับแคบว่า ต้องทำกับวัดนี้เท่านั้น ต้องทำกับพระอรหันต์เท่านั้น นี่จิตใจคับแคบไปเรียบร้อย แล้วคุณดูเถอะ มันมีผลกับการเจริญสติ

คือเวลาที่เราคิดจะต่อยอดเป็นการให้อภัยทาน หรือต่อยอดเป็นการให้อะไรอย่างอื่น ก็จะคิดแบบแคบๆ เหมือนกัน คือตั้งต้นมา มีข้อแลกเปลี่ยนตั้งแต่เริ่ม เวลาที่เราจะไปฝึกให้อภัยทาน ก็เป็นทำนองเดียวกัน มีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมเปิด ตัวนี้ก็ทำให้ จิต โอกาสที่จะเข้าเป็นสมาธิ โอกาสที่จะเจริญสติก้าวหน้ารุ่งเรือง รู้เรื่อง ก็ยาก

ฉะนั้น อย่าประมาทเรื่องการทำทาน แล้วก็อย่าไปเห็นว่าการทำทานเป็นบุญขั้นต่ำ อย่าประมาทว่า มีเงินแค่นี้ สิบ ยี่สิบบาท จะเอาไปทำอะไรได้ ที่ยกตัวอย่าง ทำวันละบาท ถึงขั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในมูลนิธิเราเลยนะ บอกว่ามูลนิธิเราคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่คนที่บริจาควันละหนึ่งบาท เขายังให้มา เพราะเราปิดมูลนิธิไม่ได้นะ ตราบที่ยังมีคนตั้งใจจะให้มาสม่ำเสมอแบบนี้ เพราะถ้าเราปิดมูลนิธิไป ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเสียความตั้งใจแบบนี้หรือเปล่า ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาได้ทีเดียว

ในเรื่องของการเจริญสติ สรุปว่า ยังมีความเกี่ยวพัน ยังมีความต่อเนื่อง สืบเนื่องกับการทำทาน แล้ววิธีทำทานด้วย วิธีทำทานของแต่ละคน คิดอย่างไร เชื่ออย่างไร ไปในทิศทางไหน ทำทานไปเพื่อที่จะแค่เอาสนุก สังสรรค์ เจอหน้าเจอตา แล้วก็มีหน้ามีตา หรือว่าทำทานแบบที่มีความตั้งใจแน่วแน่ ทำในระยะยาว ทำบ่อยๆ ด้วยกำลังเท่าที่มี ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วไม่เดือดร้อน เหล่านี้ เป็นปัจจัยหมด

บางคนอาจนึกว่าผมพูดว่า หมายความว่า ถ้าทำทานกับหมู่กับพรรคพวกไม่ดีใช่ไหม ไม่ใช่นะครับ จริงๆแล้วการทำทานเป็นหมู่เป็นคณะ ก็ดี ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน เกิดความเป็นเครือข่ายบุญ เกิดความเป็นสายใยที่จะได้เกื้อกูลกันต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ส่วนการทำทานแบบปิดทองหลังพระ ทำอยู่คนเดียว ในแง่ของความสบายใจเฉพาะตน สไตล์ของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกว่า พรรคพวกของตัวเอง ชอบคัดค้านการทำทานหรือว่า ทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกเสียกำลังใจ บั่นทอนกำลังใจตัวเอง ไม่อยากไปทำกับใครเลย อยากทำคนเดียวนี่แหละสบายใจที่สุด ไม่ต้องปรึกษาไม่ต้องมาถามใครว่าดีหรือไม่ดี ตัวนี้ก็เป็นตัวตัดสินเหมือนกันว่า ทำทานคนเดียว ดีกว่าที่จะไปทำทานกับหมู่พวก ซึ่งจ้องอยู่ว่าใครจะทำมากทำน้อยอะไรต่างๆ
แต่ถ้าหากว่า คุณอยู่กับหมู่คณะที่มีความเข้าใจ มีความฉลาดในการทำทาน ไม่สนเรื่องมากเรื่องน้อย ถึงเวลาควรจะมากก็ให้มาก ถึงเวลาควรจะดูกระเป๋าตัวเองก่อน ว่ามีพอหรือเปล่า ไม่ใช่จะตะบี้ตะบันทำมากๆ อย่างเดียว ถ้าเจอหมู่คณะแบบนี้ได้ ก็ดีไป ก็ไปทำด้วยกัน ก็มีความสุขร่วมกัน ก็กลายเป็นเครือข่ายบุญที่กว้างใหญ่ เกื้อกูลอุดหนุนกันทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไปได้!
________________

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญสติจำเป็นต้องทำทานไปด้วยหรือไม่?
26 ตุลาคม 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น