วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ยังถือศีลห้าได้ไม่ครบ ควรหยุดภาวนาแล้วถือศีลให้ครบก่อนไหม


ดังตฤณ: เอาแบบฆราวาสนะ จริงๆแล้ว เราฝึกภาวนา ฝึกเจริญสติ จุดประสงค์แท้จริงของฆราวาสคือทำให้ทุกข์น้อยลง และไม่ต้องเสียเวลาชาตินี้ไปเปล่าๆ
อย่างน้อยทำทุนไว้นิดหนึ่ง ให้เกิดสติ เกิดความมีปัญญาที่จะเริ่มรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า กายนี้ใจนี้แค่ของหลอก ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริง ติดอยู่ในอาการยึดมั่นถือมั่น

ถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเอามรรคเอาผล ก็ทำไปเถอะ เจริญสติไปเถอะ ศีลจะครบหรือไม่ครบ อย่างน้อยก็ทำให้คุณภาพของจิตดีขึ้น

แล้วถ้าคุณภาพของจิตดีขึ้น มีความเป็นกุศลมากขึ้น จะนึกอยากจะถือศีลด้วยความเต็มใจไปเอง

ตรงกันข้าม ถ้าหากว่า คุณภาพของจิตยังไม่ดี ยังคิดอะไรในทางแย่ๆ อยู่ ยังอยากอะไรแล้วอดกลั้นไม่ได้ บางทีพอตั้งใจว่าจะถือศีลให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ มักจะแพ้ภัยตัวเอง

คนที่ตั้งใจถือศีลให้บริสุทธิ์ มักจะกลับมาบอกเล่าได้ว่า การถือศีลมีอาถรรพ์นะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พอตั้งใจที่จะถือศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ทีไร มีเรื่องมาลองใจทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นๆ ถ้าบอกว่า ฉันจะถือศีลให้ได้ ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันจะทำให้ได้กี่วัน อะไรต่างๆ แล้วมีความมั่นอกมั่นใจเหลือล้น มักจะเจอดี

แต่ถ้าตั้งใจไว้พอดีๆ ว่าเราจะพยายามให้ได้ ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มักจะไม่เจอลองของเท่าไหร่ แต่ประเภทที่มั่นใจเหลือเกินและจะต้องเอาให้ได้ จะต้องถือศีลให้ได้ มักจะเจออาถรรพ์ ซึ่งมีทั้งแง่ดีและแง่เสีย

คือถ้าเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็งผ่านไปได้จริง จะกลายเป็นคนเข้มแข็งมากไปเลย เป็นคนมีความหนักแน่นมาก และจิตแบบนั้นพร้อมที่จะไปทำสมาธิแทบจะทันทีเลย
แต่ถ้าหากว่าเป็นคนส่วนใหญ่ซึ่งจิตใจหวั่นไหว แพ้กิเลส แพ้ภัยตัวเองได้ง่ายๆ ถ้าไปตั้งอกตั้งใจอย่างใหญ่ เหมือนกับจะรบทัพจับศึกอย่างใหญ่เลย แต่ก้าวไปไม่กี่ก้าวก็ป้อแป้แล้ว เจอแค่ของมีคมสะกิดเข้าหน่อย นิดเดียวก็เป๋ แบบนี้จะเสียกำลังใจจะมีความรู้สึกว่า พอรักษาศีลไม่ได้ไปแล้ว จะไปทำอะไรต่อไม่ได้เลย ทำสมาธิไม่ได้ เจริญสติไม่ได้ มีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความรู้สึกอ่อนแออยู่ข้างใน

สรุปก็คือว่า ทำควบคู่ไป ตั้งใจถือศีล ตั้งใจรักษาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในฐานะของฆราวาส ที่ยังต้องบางทีโกหกเพื่อค้าขาย อะไรต่างๆ หรือบางทีก็ต้องกินไปตามน้ำ ขืนดีอยู่คนเดียวเดี๋ยวโดนพรรคพวกเหยียบตาย แบบนั้นไม่ว่ากัน ถ้ารักษาบางข้อไม่ได้จริงๆ พยายามแล้วแต่ทำไม่ได้ ฝืนกระแสรอบตัวไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะอดตาย แบบนั้นก็ไม่ว่ากัน แต่ก็เจริญสติไปด้วย จะได้ไม่เสียเวลาไปชาติหนึ่งเปล่าๆ นะครับ เพราะถ้าจะรอให้ศีลสะอาดสำหรับบางคน อาจจะต้องรอกันทั้งชีวิต รอกันถึงชาติหน้า ไม่ต้องรอ ก็เจริญสติเท่าที่ทำได้

การเจริญสติ ไม่ใช่ว่าจะต้องเอามรรคเอาผลให้ได้เดี๋ยวนี้ ให้แค่ความทุกข์น้อยลง ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง แค่เราได้เกิดความรู้สึกขึ้นมาวูบๆ วาบๆ ว่า แต่ละลมหายใจเข้าออกกำลังแสดงอยู่ชัดๆ ว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่สักแต่เป็นธาตุมาประชุมกัน
กายนี้ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีลมผ่านเข้าผ่านออก มีไออุ่น แล้วก็มีจิตเป็นผู้รู้ นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้สังเกตประมาณอย่างนี้

แล้วเราจะได้อะไรจากการเจริญสติ ขอให้สังเกตเข้ามาที่ใจเป็นอันดับแรก
ถ้าหากเจริญสติถูกทาง จิตจะมีความผ่องแผ้ว จะมีความรู้สึกไม่อยากที่จะไปผิดศีลของมันเองอยู่แล้ว แม้เป็นคนที่กำลังผิดศีลอยู่หนักๆ ก็จะเกิดความรู้สึกอึดอัด ระอากับชีวิตแบบนั้น วิถีชีวิตที่ต้องผิดศีลนี่นะ
แล้วก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะทำศีลให้บริบูรณ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องบังคับจิตใจ

แต่ถ้าหากยังไม่ได้เจริญสติ ยังไม่ได้ทำสมาธิบ้าง ยังไม่เห็นว่าพอยต์ (point) ของการที่เราต้องมาถือศีล มีปลายทางเป็นความสว่าง หรือ ความสุขแบบไหน บางทีก็ไม่มีกำลังใจ
เอาเป็นว่าทำควบคู่กันไปก็แล้วกัน!

_______________________



▶▶ คำถามช่วง – ถามตอบ ◀◀
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ดวงตก VS จิตตก
27 ตุลาคม 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น