วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิปัสสนาญาณต่างจากคิดไปเองอย่างไร

ดังตฤณ : สำหรับคืนนี้ก็จะเป็นคำถามที่หลายๆ ท่าน ก็อาจจะมีความรู้ทางทฤษฎี และได้ทราบว่า การปฏิบัติธรรม เจริญสติ หรือว่าจะเรียกวิปัสสนาอะไรก็แล้วแต่ จะมีขั้นมีตอน มีสัญญาณบ่งบอก หรือว่าตัวชี้ว่า เรากำลังมีความเจริญของจิตใจ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ หรือว่า ความหยั่งรู้ว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง กายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน

ซึ่งหลายๆ คนก็บอกว่า เอ๊ะ ผม หรือ ดิฉัน น่าจะผ่านวิปัสสนาญาณ ขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรู้ภายใน ไม่ใช่ว่าเราจะเอามาบอกใครว่า กำลังรู้สึกอย่างนั้น กำลังรู้สึกอย่างนี้ รู้แต่ว่ามีปรากฏการณ์บางอย่าง ที่แปลก และแตกต่างจากประสบการณ์เดิมๆ ประสบการณ์ปกติสามัญของมนุษย์มนา ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น พอเกิดสมาธิขึ้นมา รู้สึกว่าใจมีอาการส่องแสงได้ หรือว่ามีอาการเหมือนกับไปรู้ไปเห็นว่า ข้างนอก เป็นอย่างไร อย่างหลับตาอยู่ ก็รู้เลยว่าข้างนอกกำลังปรากฏเป็นภาพ มีใครกำลังเดินมา หน้าตาเป็นอย่างไร หรือเห็นร่างกายของตัวเอง ปรากฏเป็นรูปร่าง รูปพรรณสัณฐานต่างๆ นานา ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

สารพัดประสบการณ์ภายในนี่ บางทีถ้าเราไม่ได้ศึกษาทฤษฎีไว้ก่อน ก็จะตีความไปต่างๆนานา อย่างเช่นว่า ที่เจอบ่อยที่สุดก็คือ พอเป็นสมาธิ มีความเบา มีแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นการบรรลุธรรม อันนี้เจอบ่อยที่สุด

ที่เจอแสง หรือความสว่างแบบแปลกๆ มีสีสันนานาประการ บางทีก็เกิดจากการที่นั่งสมาธิไป แล้วรู้สึกขึ้นมา หรือบางคน เจริญวิปัสสนา เจริญสติ รู้กายใจจริงๆ แล้วก็เกิดความเบา เกิดแสงสว่าง เกิดนั่น เกิดนี่ขึ้นมา สุดแท้แต่ละคนจะได้ประสบการณ์หรือผลของการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไร

ทีนี้เราจะตัดสินอย่างไร เริ่มต้นขึ้นมา ที่ท่านให้ใช้เป็นเครื่องตัดสินว่า ยกขึ้นสู่ความเป็นวิปัสสนาแล้วนี่ ท่านให้ดูง่ายๆ เลย ไม่ต้องเอาอะไรอย่างอื่นมาก รู้สึกเข้ามาที่กายใจหรือเปล่า อย่างประเภทเห็นแสงสว่าง แล้วเข้าใจว่าตัวเองบรรลุธรรม บางคนก็นั่งสมาธิ กำหนดว่างๆ อะไรไปอย่างนี้ หรือไม่ก็มองไปตรงๆ แล้วเกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นมา เข้าใจว่าบรรลุธรรม นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาธิ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกศาสนา ไม่จำเป็นว่าจะต้องปฏิบัติธรรม หรือว่าทำวิปัสสนาแบบพุทธ แล้วถึงจะเกิดแสงสว่างอย่างนั้นได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตเมื่อเป็นสมาธิ เมื่อมีอาการรวมเข้ามา หรือว่า แค่ไปมีอาการที่แบบว่า เลิกคิด แล้วก็อยู่นิ่งๆ กับอะไรได้สักพัก แสงสว่างก็ปรากฏแล้ว

แต่ถ้าหากว่ารู้เข้ามาที่กายใจ หน้าตาของอาการรู้กายใจจะง่ายๆ เลย เริ่มต้นนั่งอยู่ รู้อยู่หรือเปล่าว่า สภาพนั่งอยู่เป็นอย่างไร คอตั้งหลังตรง หรือว่าหลังงอ หรือว่ากำลังขยับไม้ขยับมืออยู่ ถ้าไม่รู้อาการตื้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ โอกาสที่จะเกิดวิปัสสนาญาณ แทบไม่มีนะ

หรืออย่างถ้าอาการทางใจ กำลังฟุ้งซ่านอยู่หรือว่าสงบอยู่ ถ้าไม่รู้ นี่ก็ยกขึ้นเป็นวิปัสสนาไม่ได้เหมือนกัน คำว่าวิปัสสนา คือการที่จิตมีสติ รู้ตามจริง ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและอะไรอย่างนั้น เป็นสภาวะที่เหมือนเดิม หรือ ต่างไปจากเดิม

ถ้าเห็นคงที่เหมือนเดิมอยู่เรื่อยๆ แล้วบอกว่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีอาการขยับเลย นี้เป็นความรู้ที่ผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอะไร ดูง่ายๆ ลมหายใจนี่ เข้าออกอยู่ตลอดเวลา นี่คือความเคลื่อนไหวที่แสดงตัวโต้งๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ความเคลื่อนไหวแค่นี้ ถ้ารู้ไม่ได้ แล้วนึกว่า สภาพของตัวเองคงที่อยู่ตลอดเวลา นี้คือไม่ใช่รู้ตามจริงแน่นอน ไม่ได้เกิดสติแล้ว

หรืออย่างสภาพทางกาย ถ้าเข้าใจว่า เป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่ง เป็นก้อนอัตตาที่คงที่ คงเส้นคงวาอยู่เสมอ นี่ก็คือเข้าใจผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์อีกเช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อ มัดเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย ถ้าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งไปนานๆ ก็จะค่อยๆ หด ค่อยๆ เกร็ง แล้วเกิดแรงบีบให้ต้องเปลี่ยนท่า ต้องให้คลายจากสภาพแบบนั้นๆ ที่คงตัวอยู่นานๆ รัดตัวอยู่นานๆ (กล้ามเนื้อนั้น) จะต้องหาทางคลาย ต้องหาทางที่จะขยายออกจากสภาพเดิม นี่ก็เห็นได้ว่า ถ้าใครมีสติ รู้ตามจริงว่า ร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่ก็เริ่มแล้วนะ เริ่มที่จะมีความรู้เนื้อรู้ตัวเข้ามา ในสภาพทางกายตามจริง

หรืออย่างสภาพจิต คนทั่วไป ถามว่าสภาพจิตตัวเองเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบตัวเองขึ้นมาว่า มันฟุ้งอยู่ตลอดเลย มีความฟุ้งซ่านไม่เลิก ซึ่งถ้าหากว่าเห็นแค่อาการฟุ้งซ่านไม่เลิก คงที่อยู่ตลอดเวลา นี่ก็ผิดอีกเหมือนกัน เพราะในความเป็นจริง ในข้อเท็จจริงก็คือว่า คนเราไม่ได้มีความฟุ้งซ่านเท่าเดิมอยู่ตลอดเวลา  การที่เรารู้สึกว่าฟุ้งอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอาการมัวๆ เป็นอาการเหมือนกับไม่รู้สภาพทางใจของตัวเอง แล้วก็เกิดความคิดสุ่ม

ขนาดความคิดสุ่ม มาเอง ไปเอง แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรายังยึดเลย เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า นี่เป็นความคิดของเรา และเป็นความคิดของเราอยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นึกว่าความคิดของเรา หรือว่าตัวตนทางความคิดของเรา เหมือนเดิม เป็นตัวเดิม เที่ยง ...  ตัวนี้แหละคือความสำคัญผิด ซึ่งพระพุทธเจ้าชี้ให้ดูก่อนเลยว่า ถ้ารู้สึกว่า ความคิดเป็นสิ่งที่เที่ยง นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ขั้นร้ายแรงที่สุด

ถ้าใครจะเหมา จะทึกทักว่า ร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตน ยังนับว่าถูกต้องเสียกว่าที่จะไปทึกทักว่า สภาพทางจิต สภาพทางใจ หรือความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวเป็นตน เพราะว่าสภาพร่างกาย จะปรากฏแบบเดิมๆ อยู่เกือบร้อยปี จะเด็ก จะโตขึ้นมา หน้าก็คล้ายๆ หรือแปรไปในทิศทางที่พอทำให้รู้ได้ว่า นี่เป็นคนๆ เดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน 

แต่ความรู้สึกนึกคิด ที่คิดอยู่ตลอดวันตลอดคืน จะเกิดดับๆ จากความคิดหนึ่ง ดับหายไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นอีกความคิดหนึ่ง เป็นคนละตัวกันอย่างสิ้นเชิงภายในนาทีเดียว เกิดดับอย่างนี้ตลอดวันตลอดคืน พระพุทธเจ้าเลยให้สังเกตดูตรงนี้แหละ ถ้าเรามีความรู้เข้ามา แยกออกว่า นี่ส่วนของกาย นี่ส่วนของใจ แล้วมีความไม่เหมือนเดิมแสดงตัวอยู่ ตัวนี้นี่คือเครื่องชี้แล้ว เครื่องบอกแล้วว่า เรากำลังรู้ถูกทาง แล้วก็สามารถที่จะเข้าข่ายที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ

แต่ที่ท่านจะนับเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้แผ่วๆ ไม่ใช่แค่รู้ตื้นๆ ไม่ใช่แค่รู้นิดๆ หน่อยๆ ว่า ตอนนี้กำลังโกรธนะ แล้วพอความโกรธหายไป นับว่าตรงนั้นเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ที่ครูบาอาจารย์ท่านจะนับเข้าข่ายเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ ท่านตัดสินจากตรงที่ว่า จิต คงสภาพเป็นผู้รู้ ผู้ดู ตั้งแต่ก่อนเกิดสภาวะหนึ่งๆ แล้วสภาวะนั้นๆ ปรากฏแล้วก็รู้ว่าปรากฏ ภาวะนั้นๆ ดับไปแล้วก็รู้ว่า ภาวะนั้นดับไป มีความคงเส้นคงวาในการรู้อย่างนี้อยู่ แยกออกว่า ฝ่ายกาย กำลังอยู่ในอิริยาบทอย่างไร ฝ่ายของใจ มีความคิดปรุงแต่ง มีความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ เมื่อถูกกระทบ

ที่คนส่วนใหญ่จะเกิดเป็นวิปัสสนา ที่จะรู้สึกแบบที่เห็นเป็นรูปเป็นนาม แยกจากกันนี่นะ ต้องมีสมาธิระดับหนึ่ง มีความคงเส้นคงวาของตัวรู้ตัวนี้ เป็นปกติ รู้สึกเป็นปกติมากพอที่จะแยกออก นั่งอยู่ รู้ว่านั่งอยู่ แล้วความรู้สึกว่างๆ ของอาการนั่ง เปลี่ยนไป กลายเป็นความคิดผุดขึ้นมา กลายเป็นสภาวะ รู้สึกถึงอะไรที่แตกต่างไปจากความรู้สึกว่างๆ เดิม แล้วพอความคิด หรือความปรุงแต่งที่ผุดขึ้นมาในความว่างนั้น หายไป ก็ยังมีความรู้ที่คงเส้นคงวาอยู่ ความรู้นั้น ไม่มีหน้าตาตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่านี่เป็นตัวเรา เป็นบุคคล เป็นเราเขา ผ่านมาแล้วผ่านไปเฉยๆ

เปรียบเหมือนกับเราเป็นวิญญาณที่จำไม่ได้ว่าเราเป็นใคร แล้วก็นั่งดูสายหมอกอยู่บนภูสูง ก่อนที่สายหมอกจะเข้ามา เราเห็นเป็นท้องฟ้าว่างๆ เป็นเวิ้งว่างๆ แล้วรู้สึกว่างเปล่า ไม่รู้สึกว่าเป็นใคร พอสายหมอกผ่านมา แล้วสายหมอกผ่านไป ก็กลายเป็นเวิ้งว่างๆ เหมือนเดิม มีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นวิญญาณที่ไร้ตัวตน เฝ้าดูสายหมอกผ่านมาแล้วผ่านไปอยู่เฉยๆ

สายหมอกที่ว่านี้ อาจเป็นความสุข ความทุกข์อันเกิดจากการได้เห็น ได้ยิน หรือว่าได้กลิ่น หรือว่ามีสภาพความคิด ผุดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ต้องมีกระทบทางหู ทางตา หรืออาจเป็นความรู้สึกจำได้ หันไปเห็น อ้อ นั่นใคร แล้วผุดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่คนนี้ เป็นคนที่เราชอบ หรือไม่ชอบ เป็นคนที่หน้าตาเหมือนกับเป็นพ่อเป็นแม่ แล้วที่เป็นความจำนั้น จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากว่าตาไม่ไปกระทบรูป เห็นเป็นขณะๆ ว่า ใจมีอาการยึดอยู่หรือเปล่า ว่านี่เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของเรา หรือว่า นี่เป็นบุคคลที่เราชิงชัง อยากออกห่าง อยากหลีกหนี

คนปกติ พอเห็นปุ๊บ ยึดเลย รู้สึกเลยว่า นี่ เป็นบุคคลแน่ๆ มีความเกี่ยวข้องกับเราแน่ๆ แต่ถ้าเริ่มเกิดวิปัสสนาญาณ ตอนแรกจะมีความรู้สึกว่างๆ อยู่ ไม่ได้เป็นใคร เห็น สักแต่เป็นอิริยาบทนั่ง อิริยาบทยืน กำลังนั่งอยู่ให้รู้ โดยไม่มีความเป็นบุคคล ในท่านั่ง ท่ายืน นั่ง สักแต่นั่ง ยืน สักแต่ยืน ไม่มีบุคคลในท่านั่งหรือท่ายืน

เสร็จแล้วใจที่ว่างจากตัวตนของผู้นั่งหรือผู้ยืนนั้น เวลาที่เหลียวไปเจอใคร หรือได้ยินเสียงของใครกระทบขึ้นมา แล้วไหวขึ้นรู้ จะรู้ขึ้นมาว่าเสียงนั้น หรือว่ารูปแบบนั้น ก่อสภาพความทรงจำขึ้นมาในใจด้วยความรู้สึกอย่างไร คือมีความรู้สึกขึ้นมาก่อนเสมอนะ แต่ว่าคนจะเข้าใจว่าตัวเองจำได้ทันที แล้วก็รู้ทันทีว่าเป็นใคร แต่จริงๆ จะมีความรู้สึกขึ้นมา เช่น ความรู้สึกเดิมของการเห็นเพื่อนคนหนึ่ง ความรู้สึกครั้งสุดท้าย จะมีชอบ หรือไม่ชอบ จะมีห่างเหินหรือว่าสนิท ถ้าสนิท ถ้ามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ชอบเม้ากัน ชอบที่จะมาคุยอะไรกันนานๆ จะมีความรู้สึกพอใจ นึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ได้เม้ากันยาวๆ ครั้งล่าสุด หรือว่า ความรู้สึกเป็นสุขที่ เจอเพื่อนคนนี้แล้วอบอุ่นใจอะไรแบบนั้น

ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกพอใจ ความรู้สึกว่าอยากจะกลับไปคุยกัน ตัวนี้ นำหน้าขึ้นมา แล้วตัดสินว่า เราอยากจะเข้าไปใกล้ หรืออยากจะออกห่าง ซึ่งถ้าหากว่าเป็นคนปกติ จะยึดเลย ไม่มีความสงสัยเลยว่ามีตัวตนหรือเปล่า เป็นเพื่อนเราจริงหรือเปล่า จะทึกทักเอาว่านี่เป็นเพื่อนของเราแน่ๆ มีตัวตนอยู่แน่ๆ แล้วคงเส้นคงวาอยู่อย่างนั้น

ต่อเมื่อเราเกิดวิปัสสนาญาณ ความรู้สึกของจิตว่างๆ โดยเดิม ที่เห็นสักแต่ว่าเป็นอิริยาบทนั่ง หรืออิริยาบทยืนกำลังปรากฏอยู่ ไม่มีตัวตนผู้นั่ง ไม่มีตัวตนผู้ยืน จะไหวตัวขึ้นมา รู้ว่ามีความพอใจ มีความรู้สึกเป็นสุขในทางที่สบายใจนำหน้าขึ้นมาว่า ก้อนความรู้สึก ความสบายใจ หรือ ความสุขที่เป็นผลของการคุยครั้งเก่า กระตุ้นให้เกิดความจำขึ้นมา ว่านี่เพื่อนเราชื่อนั้นชื่อนี้ แล้วจำได้ว่าเราจะเกิดความพอใจแบบนั้นด้วยการมองหน้า ด้วยการคุย ด้วยการสัมผัสรู้สึกกับตัวตนความเป็นเพื่อนอย่างไร แล้วถึงเกิดอาการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ว่านี่เป็นเพื่อนเรา หรือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความคุ้นเคย

เมื่อตัวการเห็นปรากฏชัด แล้วเรารู้สึกถึงการปรุงแต่งของจิต รู้ว่าการคุยกัน ทำให้รู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ตามเนื้อเรื่อง ตามหัวข้อที่คุยกัน อย่างถ้าเม้าเรื่องคนอื่น จะมีความพอใจระดับหนึ่งที่ได้พูดเรื่องคนอื่น เม้าเรื่องตัวเอง มีความพอใจอีกแบบหนึ่ง ที่ได้คุยเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง หรือเม้าเรื่องเพื่อน ใจเกิดความรู้สึก ไม่อยากไปเม้าเรืองของเขาเลย อยากเม้าเรื่องของเราต่อ ถ้ารู้เข้ามาแบบนี้ อันนี้เป็นสติธรรมดา

แต่ถ้าหาก รู้ว่าตอนที่ใจของเราเหมือนกับไม่อยากที่จะพูด เพราะจิตมันเห็น สักแต่เป็นการปรุงแต่งที่ทำให้ฟุ้งซ่าน แล้วไม่รู้สึกถึงตัวตนของผู้ฟุ้งซ่าน มีแต่ภาวะฟุ้งซ่านปรากฏอยู่ ตัวนี้ก็จะเหมือนกับเป็นเครื่องบอกว่า เริ่มแตกต่างไปจากเดิมที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเพื่อนของเราแน่ๆ มีการคุยเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นตัวเป็นตน กลายเป็นเห็นเข้ามาว่า อาการของใจ พอไปอยู่กับคนนี้ คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วเกิดความฟุ้งซ่านแตกต่างอย่างไรขึ้นมา ตัวนี้จะทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดที่นึกว่าเป็นเพื่อน ที่นึกว่าเรากำลังคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเพื่อน แล้วยึดมั่นถือมั่นไปต่างๆ นานา เกิดความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สักแต่เป็นสภาพปรุงแต่งทางใจทั้งสิ้น คือไม่มีตัวตนของเพื่อนอยู่จริงๆ มีแต่ตัวที่ใจของเราเริ่มต้นขึ้นมา ยึดความรู้สึกในขณะหนึ่งๆ ว่า พอใจหรือไม่พอใจ หรือจำได้ แล้วก็เกิดการปรุงแต่งไปต่างๆ นานา

สภาพที่เป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ จะปรากฏอย่างที่ท่านว่ากันว่า มักจะไม่ปรากฏ ไม่เริ่มต้นกับผู้ที่คลุกคลี หรือว่าคุยกับใครเรื่องแบบโลกๆ โดยที่ไม่มีลิมิต (limit – ขีดจำกัด) พูดง่ายๆ ว่า เพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ นะ แต่จะเริ่มปรากฏกับผู้ที่เงียบอยู่กับตัวเอง ได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง หลังจากนั้น สามารถเปรียบเทียบได้ว่า ตอนที่คุยกับคนอื่น เสียงความฟุ้งซ่านแตกต่างไปอย่างไร หรือว่าเกิดความสามารถแยกแยะว่า ความฟุ้งซ่านที่คุยกับตัวเอง ที่ดังอยู่ในหัวของตัวเอง แตกต่างอย่างไร กับตอนที่เราไปคุยกับคนอื่น แล้วมีเสียงความฟุ้งซ่านออกมาทางปาก

อย่างบางที่ก็จะปฏิบัติธรรมด้วยการปิดวาจา เพื่ออะไร เพื่อที่จะให้เสียงของความฟุ้งซ่านเป็นเสียงของเราคนเดียว ไม่ใช่เสียงของความฟุ้งซ่านอันเกิดจากการที่มาคุยกับคนอื่น พอเวลาคุยกับคนอื่น สติจะตามไม่ทันว่าเสียงของความฟุ้งซ่านในหัว กับเสียงฟุ้งซ่านของตัวเอง กับเสียงความฟุ้งซ่านของคนอื่น แตกต่างกันอย่างไร จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังคุยอยู่กับใครคนหนึ่งจริงๆ แต่ถ้าหากว่าเราอยู่คนเดียวเราเก็บตัว แล้วก็ปิดวาจา บางทีจะเริ่มแยกออกขึ้นมาได้ง่ายขึ้นว่า ตอนที่เสียงของเราดังขึ้นมาในหัว มีการปรุงแต่งออกมาจากจิตที่อยู่กับตัวเองตามลำพัง ไม่ได้ไปพูดหรือไปคิดเรื่องของคนอื่น

เอาล่ะ ถ้าเราจะสรุปง่ายๆ ว่า วิปัสสนาญาณ จะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีจิตที่เงียบแล้วก็มีความเป็นสมาธิ รู้เข้ามาในความเป็นกายใจอยู่ระดับหนึ่งนะครับ แล้ว ถ้าหากว่าเราอยู่เงียบๆคนเดียว จะเห็นได้ง่ายกว่าไปคุยกับคนอื่น เพราะว่าตอนคุยกับคนอื่น เราจะเกิดกิเลสแล่นไปตามเนื้อหาที่คุย หรือว่าความฟุ้งซ่านที่กำลังคุยกับคนอื่น แต่ถ้าหากฟุ้งซ่านอยู่คนเดียว จะสามารถที่จะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ได้ง่ายกว่านะครับ!

________________

https://www.youtube.com/watch?v=vjsqdjXAqio

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น