วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ซื้อซอฟท์แวร์เถื่อนบาปหรือไม่

ถาม : การซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน ถือว่าเราละเมิดศีลข้ออทินนาทานหรือไม่? และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคืออะไรบ้างครับ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๕

ดังตฤณ: 
ถ้าเชื่อเสียอย่างว่าถูก ก็เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกว่าผิด และถ้าเชื่อเสียอย่างว่าผิด ก็เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกว่าถูก แม้ว่าเกี่ยวกับกรณีนี้จะมีแง่มุมที่ซับซ้อน คลุมเครือ และเป็นสีเทามากกว่าดำสนิทหรือขาวสะอาดสำหรับฝ่ายผู้ซื้อ

ในที่นี้ขอออกตัวว่า ผมตอบจากการเล็งไปที่พฤติของจิตและกรอบของศีลข้อ ๒ มิใช่มุมมองเชิงปรัชญาว่าด้วยการตัดสินอะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งคิดไปได้หลายอย่าง หลายแนว สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละคน

การก่อกรรมว่า ด้วยการผิดศีลข้อ อทินนาทาน หรือพูดง่ายๆว่าลักขโมยของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิชอบ มิได้รับความยินยอมจากเจ้าของนั้น มีองค์ประกอบอย่างละเอียดคือ

๑) วัตถุมิใช่ของของตน เป็นของในกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้อื่น
๒) ใจรู้อยู่ว่าไม่ใช่ของของตน
๓) มีใจเล็งโลภอย่างแรงกล้าว่าจะเอามาเป็นของตน ทั้งรู้ว่าเจ้าของไม่ยินยอม
๔) มีความพยายามที่จะขโมย
๕) นำมาอยู่ในมือตนสำเร็จ หรือครอบครองในทางใดทางหนึ่ง แม้เพียงเสี้ยววินาที

เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าว ไม่ว่าเจ้าของเดิมจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน เราก็ได้ชื่อว่าก่อกรรมข้ออทินนาทานเรียบร้อยแล้ว เป็นหัวขโมยแล้วครั้งหนึ่ง และจะเป็นหัวขโมยขนานแท้เมื่อปราศจากความรู้สึกผิดอย่างสิ้นเชิง แต่อาจเป็นหัวขโมยสมัครเล่นที่ก่อกรรมอทินนาทานไม่หนักแน่นนัก

คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ขณะจิตที่คิดซื้อซีดีเถื่อนนั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบเคียงกับ ๕ ข้อข้างต้น

๑) วัตถุเป็นของของพ่อค้าซีดีเถื่อน
๒) ใจเรารู้อยู่ว่าเป็นของของพ่อค้า แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าเขาได้มาโดยมิชอบ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงไม่เต็มใจให้นำมาขาย
๓) มีใจคิดจ่ายเงินแลกของของพ่อค้าซีดีเถื่อนมาโดยชอบธรรม
๔) ไม่ได้มีความพยายามขโมยของของพ่อค้าซีดีเถื่อน แต่หลีกเลี่ยงที่จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิต (มีกรณีแยกย่อยอีก คือสินค้าไม่อาจหาได้จากทางอื่นแม้สั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต เช่นนั้นก็อาจอ้างได้ว่าไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยง แต่เป็นการจำใจ ซึ่งน้ำหนักอกุศลก็จะลดลง)
๕) นำซีดีของพ่อค้าเถื่อนมาอยู่ในครอบครอง และไม่คิดซื้อของถูกลิขสิทธิ์

จากองค์ประกอบข้างต้นนั้น ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ หัวขโมยตัวจริงคือพ่อค้าซีดีเถื่อน ส่วนผู้ซื้อซีดีเถื่อนไม่ผิดศีล เพราะซื้อของจากมือพ่อค้า แต่ถ้ามองว่าพ่อค้าเป็นโจรปล้นลิขสิทธิ์ ผู้ซื้อก็หนีไม่พ้นฐานะรับซื้อของโจร

นอกจากนี้ยังมีกรณีแยกย่อยอีก ถ้ามีการไรต์ซีดีไว้แล้ว คุณเห็นอยู่แล้วว่ามีการก๊อปเรียบร้อย คุณไปซื้อมาก็ถือว่าไม่ได้ทำผิดศีล ทำนองเดียวกับที่ซื้อเนื้อจากตลาด สัตว์ตายแล้ว คุณก็ได้ชื่อว่าซื้อซากศพ เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้เห็น ไม่ได้จ้างวานฆ่า ไม่ได้ชื่อว่ามือเปื้อนเลือด ไม่ได้ชื่อว่าใจเปื้อนบาปข้อปาณาติบาต

แต่ถ้ายังไม่มีการไรต์ซีดี ใจคุณรู้อยู่ว่าเขาจะต้องไปไรต์ซีดีตามสั่ง อย่างนี้ใจเรามีส่วนในการร่วมขโมยกับเขาแล้วอย่างน้อยก็หนึ่งในสี่ เหมือนชี้ตัวกุ้งเป็นๆว่าเราจะเอาตัวนี้ ให้เขาจัดการไปเชือดมาลงหม้อโป๊ะแตกให้เรา แม้เราไม่ฆ่าเองด้วยมือ ใจก็ได้ชื่อว่าแปดเปื้อนปาณาติบาต นี่ก็เช่นเดียวกับการไรต์ซีดี แม้คุณไม่ได้เป็นคนกดปุ่มเอง แต่ก็ใช้ให้เขาไปกด ใจจึงได้ชื่อว่าแปดเปื้อนอทินนาทานกับเขาด้วย

สำหรับผลของการซื้อซีดีเถื่อน ซึ่งถือเป็นการร่วมหัวรับซื้อของโจรด้วยกันทั้งประเทศ ถ้ามองโดยภาพรวมก็คือจะส่งให้เป็นผู้ไปอยู่ในเขตที่ผู้คนไม่ค่อยริเริ่ม สร้างสรรค์ ไม่ค่อยอยากทำอะไรให้ถูกทำนองคลองธรรม พูดง่ายๆโอกาสเกิดในประเทศด้อยพัฒนามีสูง โดยเฉพาะถ้าใช้ของโดยไม่รู้สึกเห็นใจผู้ผลิตซีดีตัวจริงเลย ไม่อุดหนุนในทางใดทางหนึ่งเลย ก็จะเกิดใหม่ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนชอบลักกินขโมยกินด้านเทคโนโลยีอีก ให้คิดเองผลิตเองจะขี้เกียจ ไม่กล้าเป็นผู้นำในการค้นคว้าวิจัยกัน

ปัจจุบันที่ยังมีคนพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ และมีค่ายเพลงทำเพลงออกมาป้อนตลาดไหวนั้น ก็เพราะยังมีคนส่วนหนึ่งเต็มใจจ่ายให้ผู้ผลิต แต่เรื่องพวกนี้มีปัจจัยหยุมหยิมเยอะครับ เช่นที่ถกกันมากคือส่วนต่างของค่าเงินระหว่างประเทศนั้นสูงมาก ถ้าขายประเทศหนึ่งร้อยเหรียญ คนประเทศนั้นไม่ต้องควักกระเป๋าหนักนัก แต่ถ้ามาขายอีกประเทศหนึ่ง คนซื้อมีหวังกระเป๋าฉีกตามๆกัน นั่นจึงเกิดข้ออ้างได้มากมายที่เหมือนจะสมเหตุสมผล


เอาเป็นสรุปท้าย คือ อย่าตั้งความยินดีไว้กับการซื้อของเถื่อนก็แล้วกันครับ แต่ละครั้งที่ซื้อของเถื่อนแบบไม่เห็นใจเจ้าของตัวจริง คุณสร้างแนวโน้มได้ไปอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไว้ในตัวแล้ว

บอกไม่หมดเพื่อผลประโยชน์ได้หรือไม่

ถาม - ผมทำการค้า หลายครั้งบอกความจริงกับลูกค้า แต่บอกไม่หมด เหมือนบิดเบือนข้อมูลไป ถือว่าเป็นการผิดศีลเรื่องการพูดปดหรือไม่ครับ? (ดังตฤณ)

จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่

ดังตฤณ: 
ถ้าเจตนา เราต้องการกล่อมคนฟังให้ถึงขั้นเข้าใจผิดจากความจริง ก็เรียกว่าเป็นการมุสาทั้งนั้นครับ จะด้วยวิธีบอกทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทั่งใช้ภาษากายเป็นอุบายล่อตาก็ตาม เจตนาทำให้คนดูหรือคนฟังสำคัญผิดจากความจริงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง คือมุสาวาทเต็มขั้น

กล่าว กว้างๆอย่างนี้ ความจริงในภาคปฏิบัติต้องดูเป็นเรื่องๆด้วยครับ บางทีคุณไม่ได้พูดโกหกแม้แต่คำเดียว ทว่าเจตนานั้นฉ้อฉล ทำให้คนฟังหลงกล กลับความเข้าใจจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำ อย่างนี้ก็เข้าข่ายมุสาวาท ตรงข้าม แม้คุณไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นพ่อสอนลูกด้วยการอุปมาอุปไมยหรือยกนิทานมาเล่าเป็นการสาธก แต่ลูกเกิดความเข้าอกเข้าใจสัจจธรรมอย่างถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายมุสาวาท

ในหลาย กรณี ถ้าเราพูดความจริงตามหน้าที่ โดยคิดว่าหน้าที่ของเราให้ข้อมูลเขาได้แค่นี้ ก็ถือว่ารอดตัว ยกตัวอย่างเช่นทีมแพทย์ตกลงกันว่าจะบอกญาติคนไข้ว่าผลการผ่าตัดมีโอกาส สำเร็จต่ำ ทั้งที่นึกๆอยู่ในใจว่าไม่มีทางสำเร็จเลย อย่างนี้ก็ไม่นับเป็นการโกหก เพราะผลยังไม่ปรากฏชัดเจนแน่นอน เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครรู้จริง

สำหรับพวก ที่ต้องติดต่อค้าขายอาจเลี่ยงยาก เพราะไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลด้านเดียว แต่มักต้องให้ข้อมูลด้านอื่นที่ผู้บริหารสั่งมาด้วย เริ่มต้นอาจเป็นกตัตตากรรม คือคุณจำใจโกหกตามคำสั่งโดยไม่ยินดี แต่พอทำบ่อยๆจนชิน กลายเป็นความเต็มใจ ในที่สุดก็เป็นกรรมของคุณเองได้ พูดง่ายๆคือใจหมดความรู้สึกผิดเมื่อใด ตรงนั้นคือมุสาวาทเต็มขั้นแล้ว

บางทีอยู่ ในโลกก็หลีกเลี่ยงบาปกรรมยากครับ คุณต้องรักษาศีลสะอาดผ่องแผ้วพอจะไปเกิดในสังคมอารยะที่ไม่มีการโกหกเลย เอาเป็นว่าถ้าจำเป็นต้องโกหกก็ขอให้รักษา 'ความไม่ยินดี' ไว้ บอกตัวเองว่าเราไม่อยากอยู่ในวงจรแห่งการมุสาเลย วันนี้เราทำเขา วันหน้าก็ต้องโดนเขาทำบ้าง เมื่อใดคุณขาแข็งพอจะปลีกตัวออกมาจากวงจรเดิมๆเสียได้ก็อย่าช้าแล้วกัน

ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินว่าเป็นชู้แล้ว ผิดประเวณีแล้ว? (ดังตฤณ)

ถาม – จะเอาเกณฑ์อะไรไปตัดสินชัดๆครับว่าเป็นชู้แล้ว ผิดประเวณีแล้ว?

จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๒
 
ดังตฤณ:
ต้องดูกฎแห่งกรรมซึ่งไม่มีใครเป็นผู้ตราไว้ แต่เป็นธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่ชั่วกาลนาน โดยมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงคือพระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดเผยว่า กาเมสุมิจฉาจารหรือการประพฤติผิดในกามนั้น หมายถึงการมี ‘เพศสัมพันธ์’ กับหญิงที่มารดาบิดารักษา หญิงที่พี่ชายพี่สาวรักษา หญิงที่ญาติรักษา หญิงที่ยังมีสามีครอบครอง หญิงที่ถูกซื้อตัวไว้ และหญิงที่ถูกจองตัวไว้แล้วด้วยเครื่องหมั้นหมายเช่นแก้วแหวนหรือแม้ด้วยพวงมาลัยตามประเพณีท้องถิ่น

พูดง่ายๆแบบรวบรัดคือถ้าชายใดไปมีเซ็กซ์กับหญิงที่มีผู้ส่งเสียดูแลอยู่ หรือหญิงที่ใช้ร่างเป็นหลักทรัพย์ หรือแม้หญิงที่มีเครื่องหมั้นหมาย ก็เป็นอันว่าผิดบาปเต็มประตู และหญิงที่ให้ความร่วมมือทั้งรู้ว่าตนมีเจ้าของ ก็ย่อมไม่พ้นผิดไปด้วยเช่นกัน

เจ้าของเก่า คือผู้ให้กำเนิด ผู้ปกครอง หรือผู้ส่งเสียเลี้ยงดูเช่นญาติพี่น้อง ถ้าหากยกให้กับใครแม้ด้วยวาจาแล้ว ก็ถือว่าสิทธิ์เปลี่ยนมือทันที อันนี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับ โดยเฉพาะในยุคที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพกัน วิบากกรรมทำให้มนุษย์ไม่มีอิสระ ไม่มีความเป็นไทแก่ตัวเองตั้งแต่แรกเกิดหรอกครับ

สำหรับเรื่องของการหมั้นหมายนี้น่าพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้เข้าใจภาพรวมได้กระจ่างขึ้น การหมั้นหมายคือการจองตัว หรือการประกาศความเป็นเจ้าของ เพียงด้วยการใช้วัตถุเป็นเครื่องหมายจับจอง อย่างเช่นพวงมาลัยตามประเพณีท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องทำกันเล่นๆหลอกตาคนอื่นเท่านั้นนะครับ ในทางธรรมชาติของกฎแห่งกรรมถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มี ‘บ่วงแห่งความเป็นเจ้าของ’ คล้องทั้งกายทั้งใจไว้แล้ว ถ้าให้ผู้มีตาทิพย์มองจะเห็นชัดว่าไม่ใช่คนตัวเปล่าแล้ว ถ้าไปยุ่งด้วยก็ได้ชื่อว่าก่อกรรมอันจะเป็นโทษเป็นภัยในภายหลังแล้ว

ผู้หญิงที่เป็นไทจริงๆ ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้ จะต้องทำมาหาเลี้ยงตัวเอง หรือตัดสินใจออกมาจากการปกครองเลี้ยงดูของใครๆแล้ว มีความเป็นอยู่ปรากฏชัดว่าไม่พึ่งพาใครแล้ว

ที่ยุคเราเกิดความคลุมเครือเกี่ยวกับความถูกผิดทางกามกันมาก ก็เพราะดูเหมือนเต็มไปด้วยผู้หญิงที่เป็นไทแก่ตนเอง มีสิทธิ์เสรีที่จะตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง แล้วผู้คนก็เริ่มชาชินกับการมีเซ็กซ์ตามอำเภอใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ค่อยมีเครื่องหมายประกาศความเป็นเจ้าของกัน คิดเพียงว่าแต่งวันไหนค่อยหมั้นกันเช้าวันนั้น หลายคู่คบหากันโดยไม่ตกลงให้ชัดเจนว่าจะเป็นแฟนกันด้วยซ้ำ ประกาศบอกใครๆแบบแทงกั๊กว่าเป็นแค่เพื่อนบ้าง หรืออยู่ในระหว่างดูใจบ้าง โดยมีวงเล็บว่าระหว่างดูใจก็ขอดูกายให้ละเอียดก่อน

อีกประการหนึ่ง โดยธรรมชาตินั้นนารีมีรูปเป็นทรัพย์ จึงใช้ร่างกายแทนหลักทรัพย์ได้ แม้เป็นไทแก่ตัว แต่หาก ‘ขาย’ ให้กับใครก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของคนนั้น เช่นตกปากรับคำว่าเมื่อรับเงินจำนวนหนึ่งแล้ว จะอยู่กับผู้ซื้อเป็นเวลานานเพียงใด ตราบใดไม่พ้นระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกัน ตราบนั้นก็ถือว่าเป็นสมบัติต้องห้าม ข้อนี้จะทำให้เห็นชัดว่าผิดหรือไม่ผิดนี่ขึ้นอยู่กับใครมีสิทธิ์ในหญิงคนนั้น แม้ด้วยการตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน

ถ้าเข้าใจตรงนี้ดีๆก็จะตอบข้อสงสัยได้อีกมาก เช่นคิดว่าถ้าหย่ากันโดยพฤตินัยแล้ว คือไม่ได้หลับนอนกันแล้ว รอแต่ใบหย่าตามนิตินัยอยู่ ถือว่าเป็นไทหรือไม่ ต้องตอบว่ายังนะครับ ใจเป็นไทแล้ว แต่กายยังไม่ได้เป็น เพราะข้อตกลงตามสัญญาแรกคือจะผูกมัดจองตัวกันด้วยการจดทะเบียน ถ้าอีกฝ่ายไม่ยินยอมสละ ว่ากันโดยกฎแห่งกรรมเขายังมีสิทธิ์อยู่ เว้นแต่จะใช้ข้อกฎหมายมาถอนความเป็นเจ้าของนั้นได้ เช่นฟ้องหย่าด้วยเหตุที่อีกฝ่ายมีความผิด ไม่รับผิดชอบ หรือถือใบทะเบียนไว้ด้วยเจตนาฉ้อฉล เรียกว่าผูกกรรมกันด้วยกฎหมาย ก็ต้องถอนกรรมกันด้วยกฎหมายเสียให้ถูกฝาถูกตัวก่อน มิฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นที่ครหาของชาวโลกได้