ถาม : การซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน
ถือว่าเราละเมิดศีลข้ออทินนาทานหรือไม่? และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคืออะไรบ้างครับ?
> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว
เล่มที่ ๕
ดังตฤณ:
ดังตฤณ:
ถ้าเชื่อเสียอย่างว่าถูก
ก็เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกว่าผิด และถ้าเชื่อเสียอย่างว่าผิด
ก็เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกว่าถูก แม้ว่าเกี่ยวกับกรณีนี้จะมีแง่มุมที่ซับซ้อน คลุมเครือ
และเป็นสีเทามากกว่าดำสนิทหรือขาวสะอาดสำหรับฝ่ายผู้ซื้อ
ในที่นี้ขอออกตัวว่า
ผมตอบจากการเล็งไปที่พฤติของจิตและกรอบของศีลข้อ ๒
มิใช่มุมมองเชิงปรัชญาว่าด้วยการตัดสินอะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งคิดไปได้หลายอย่าง
หลายแนว สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละคน
การก่อกรรมว่า ด้วยการผิดศีลข้อ
อทินนาทาน หรือพูดง่ายๆว่าลักขโมยของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิชอบ
มิได้รับความยินยอมจากเจ้าของนั้น มีองค์ประกอบอย่างละเอียดคือ
๑)
วัตถุมิใช่ของของตน เป็นของในกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้อื่น
๒)
ใจรู้อยู่ว่าไม่ใช่ของของตน
๓)
มีใจเล็งโลภอย่างแรงกล้าว่าจะเอามาเป็นของตน ทั้งรู้ว่าเจ้าของไม่ยินยอม
๔)
มีความพยายามที่จะขโมย
๕)
นำมาอยู่ในมือตนสำเร็จ หรือครอบครองในทางใดทางหนึ่ง แม้เพียงเสี้ยววินาที
เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าว
ไม่ว่าเจ้าของเดิมจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน
เราก็ได้ชื่อว่าก่อกรรมข้ออทินนาทานเรียบร้อยแล้ว เป็นหัวขโมยแล้วครั้งหนึ่ง
และจะเป็นหัวขโมยขนานแท้เมื่อปราศจากความรู้สึกผิดอย่างสิ้นเชิง
แต่อาจเป็นหัวขโมยสมัครเล่นที่ก่อกรรมอทินนาทานไม่หนักแน่นนัก
คราวนี้มาพิจารณาดูว่า
ขณะจิตที่คิดซื้อซีดีเถื่อนนั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบเคียงกับ ๕ ข้อข้างต้น
๑)
วัตถุเป็นของของพ่อค้าซีดีเถื่อน
๒)
ใจเรารู้อยู่ว่าเป็นของของพ่อค้า แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าเขาได้มาโดยมิชอบ
เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงไม่เต็มใจให้นำมาขาย
๓)
มีใจคิดจ่ายเงินแลกของของพ่อค้าซีดีเถื่อนมาโดยชอบธรรม
๔)
ไม่ได้มีความพยายามขโมยของของพ่อค้าซีดีเถื่อน
แต่หลีกเลี่ยงที่จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิต (มีกรณีแยกย่อยอีก
คือสินค้าไม่อาจหาได้จากทางอื่นแม้สั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต
เช่นนั้นก็อาจอ้างได้ว่าไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยง แต่เป็นการจำใจ
ซึ่งน้ำหนักอกุศลก็จะลดลง)
๕)
นำซีดีของพ่อค้าเถื่อนมาอยู่ในครอบครอง และไม่คิดซื้อของถูกลิขสิทธิ์
จากองค์ประกอบข้างต้นนั้น ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ
หัวขโมยตัวจริงคือพ่อค้าซีดีเถื่อน ส่วนผู้ซื้อซีดีเถื่อนไม่ผิดศีล
เพราะซื้อของจากมือพ่อค้า แต่ถ้ามองว่าพ่อค้าเป็นโจรปล้นลิขสิทธิ์
ผู้ซื้อก็หนีไม่พ้นฐานะรับซื้อของโจร
นอกจากนี้ยังมีกรณีแยกย่อยอีก
ถ้ามีการไรต์ซีดีไว้แล้ว คุณเห็นอยู่แล้วว่ามีการก๊อปเรียบร้อย
คุณไปซื้อมาก็ถือว่าไม่ได้ทำผิดศีล ทำนองเดียวกับที่ซื้อเนื้อจากตลาด สัตว์ตายแล้ว
คุณก็ได้ชื่อว่าซื้อซากศพ เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้เห็น ไม่ได้จ้างวานฆ่า
ไม่ได้ชื่อว่ามือเปื้อนเลือด ไม่ได้ชื่อว่าใจเปื้อนบาปข้อปาณาติบาต
แต่ถ้ายังไม่มีการไรต์ซีดี
ใจคุณรู้อยู่ว่าเขาจะต้องไปไรต์ซีดีตามสั่ง อย่างนี้ใจเรามีส่วนในการร่วมขโมยกับเขาแล้วอย่างน้อยก็หนึ่งในสี่
เหมือนชี้ตัวกุ้งเป็นๆว่าเราจะเอาตัวนี้ ให้เขาจัดการไปเชือดมาลงหม้อโป๊ะแตกให้เรา
แม้เราไม่ฆ่าเองด้วยมือ ใจก็ได้ชื่อว่าแปดเปื้อนปาณาติบาต
นี่ก็เช่นเดียวกับการไรต์ซีดี แม้คุณไม่ได้เป็นคนกดปุ่มเอง แต่ก็ใช้ให้เขาไปกด ใจจึงได้ชื่อว่าแปดเปื้อนอทินนาทานกับเขาด้วย
สำหรับผลของการซื้อซีดีเถื่อน
ซึ่งถือเป็นการร่วมหัวรับซื้อของโจรด้วยกันทั้งประเทศ
ถ้ามองโดยภาพรวมก็คือจะส่งให้เป็นผู้ไปอยู่ในเขตที่ผู้คนไม่ค่อยริเริ่ม สร้างสรรค์
ไม่ค่อยอยากทำอะไรให้ถูกทำนองคลองธรรม พูดง่ายๆโอกาสเกิดในประเทศด้อยพัฒนามีสูง
โดยเฉพาะถ้าใช้ของโดยไม่รู้สึกเห็นใจผู้ผลิตซีดีตัวจริงเลย
ไม่อุดหนุนในทางใดทางหนึ่งเลย
ก็จะเกิดใหม่ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนชอบลักกินขโมยกินด้านเทคโนโลยีอีก
ให้คิดเองผลิตเองจะขี้เกียจ ไม่กล้าเป็นผู้นำในการค้นคว้าวิจัยกัน
ปัจจุบันที่ยังมีคนพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ และมีค่ายเพลงทำเพลงออกมาป้อนตลาดไหวนั้น
ก็เพราะยังมีคนส่วนหนึ่งเต็มใจจ่ายให้ผู้ผลิต
แต่เรื่องพวกนี้มีปัจจัยหยุมหยิมเยอะครับ
เช่นที่ถกกันมากคือส่วนต่างของค่าเงินระหว่างประเทศนั้นสูงมาก
ถ้าขายประเทศหนึ่งร้อยเหรียญ คนประเทศนั้นไม่ต้องควักกระเป๋าหนักนัก
แต่ถ้ามาขายอีกประเทศหนึ่ง คนซื้อมีหวังกระเป๋าฉีกตามๆกัน
นั่นจึงเกิดข้ออ้างได้มากมายที่เหมือนจะสมเหตุสมผล
เอาเป็นสรุปท้าย
คือ อย่าตั้งความยินดีไว้กับการซื้อของเถื่อนก็แล้วกันครับ
แต่ละครั้งที่ซื้อของเถื่อนแบบไม่เห็นใจเจ้าของตัวจริง คุณสร้างแนวโน้มได้ไปอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา
ประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไว้ในตัวแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น