วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทำอย่างไรถึงมีวินัยในการปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน (ดังตฤณ)

 รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/6ILhZlyRu_k

ดังตฤณวิสัชนา Live#17
ทำอย่างไรถึงมีวินัยในการปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน?
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
เรื่องของวินัยในการปฏิบัติธรรมเนี่ย บางทีตั้งใจแล้วว่าจะทำให้ได้ทุกวัน แต่มักจะไปเจอกำแพงความท้อ จะหาไฟอะไรที่จะทำให้ตัวเองมีความกระตือรือร้น มีความรู้สึกว่าสามารถเอาชนะความท้อ แล้วก็มีความสม่ำเสมอได้ทุกวัน ตัวคำถามคือเป็นแบบนี้

ผมเองช่วงที่เริ่มเจริญสติ ก็มีโอกาสได้เจริญสติทั้งในแบบเป็นฆราวาส แล้วก็ในแบบที่เป็นพระ โดยครองผ้าเหลืองอยู่พักนึงสมัยยังเป็นหนุ่มน้อย ก็เลยเข้าใจถึงความแตกต่างว่า การที่เรามีชีวิตแบบหนึ่งๆเนี่ยนะ มันไม่เหมือนกัน 

อย่างพระพุทธเจ้าเวลาท่านสอนเจริญสติ จริงๆเราจะเห็นนะ ทุกพระสูตรที่เกี่ยวกับการสอนเจริญสติปัฏฐานเนี่ย ท่านจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดูกรภิกษุ" ไม่ค่อยมีนะ หายากมากที่จะบอกว่าดูกรนางวิสาขา ดูกรอนาถฑิกบัณฑิต คือแม้แต่คนที่เป็นอริยเจ้าที่เป็นฆราวาสนะ ก็หายากแล้วที่จะมีสูตรไหนบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนการปฏิบัติกับฆราวาส นี่ก็เพราะว่า
การมีชีวิตแบบฆราวาส ไม่ใช่วิสัยของผู้เจริญสติที่สมบูรณ์นะครับ คือมันขาดแหว่งๆวิ่นๆไป 

พระพุทธเจ้าตรัสว่าฆราวาสเป็นทางมาแห่งธุลี คือเป็นทางมาที่จิตจะแปดเปื้อนได้ง่าย แปดเปื้อนกิเลส แปดเปื้อนมลทิน แทบจะไม่มีงานไหนในโลกที่ไม่แปดเปื้อนมลทิน มันต้องมีนิดมีหน่อย แล้วก็ความคิดของเราเนี่ยสำคัญนะ ตัวสมองเนี่ยคือกลไกที่ผลักดันที่ขับเคลื่อนชีวิตที่แท้จริง สมองเราถ้าหากมันหมุนไปเรื่องงาน มันหมุนไปเรื่องแก้ปัญหา หมุนไปเรื่องคนเนี่ย โอกาสที่จะวกกลับเข้ามาสงบลงได้ เข้ามาที่ภายใน แล้วก็อยู่กับจิตกับใจที่มันมีความสว่าง ที่มันมีความพร้อมที่จะเจริญสติเนี่ยยาก 
เพราะฉะนั้นพอเราทำงานมาแล้ว 
หัวปั่นไปเรื่องงานแล้วทั้งวันเนี่ยนะ 
อยู่ๆจะให้มาเบรกคลื่นความคิด
ในแบบที่ทำงาน หรือในแบบที่วุ่นวายกับคน 
แล้วก็มาสงบจิตสงบใจ 
มาอยู่กับจิตใจที่มันไม่ออกไปข้างนอก 
เฝ้าดูอยู่ข้างในเนี่ย บางทีมันยาก

เพราะฉะนั้นคือพระพุทธเจ้าท่านเลยตัดปัญหาในยุคพุทธกาลเนี่ยนะ เวลาท่านสอนแต่การเจริญสติเนี่ย ท่านสอนแต่คนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบที่จะเอาจริง เอามรรคเอาผลจริงๆนะ ทำตัวอีกแบบนึง ใช้ชีวิตอีกแบบนึง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าท่านสอน หรือว่าท่านให้ธรรมะกับฆราวาสมากมาย จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลได้ถึงอนาคามีในขณะเป็นฆราวาส ไม่ใช่เป็นแค่โสดา ไม่ใช่แค่สกาทานะ นอกจากนั้น ฆราวาสบางท่านในสมัยพุทธกาลก็มีความฉลาดในเรื่องอริยสัจ ๔ คือพูดง่ายๆว่าสามารถจะสอนธรรมะชั้นสูง ธรรมะในเรื่องของการปฏิบัติได้ด้วย งั้นเราก็เลยเหมือนกับพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า พุทธศาสนาไม่ได้กีดกันไม่ให้ฆราวาสเนี่ยปฏิบัติธรรม 

ตรงข้ามลองคิดดูนะพระเนี่ยมาจากไหนหละ เกิดมาเนี่ยเป็นพระกันตั้งแต่เกิดหรือเปล่า ตั้งแต่ปีแรกๆเนี่ยเกิดมาได้แค่ ๕ ปี ๖ ปีเนี่ยบวชเป็นพระเลย มันไม่ใช่นะ คือจะเป็นพระเนี่ยต้องมาจากฆราวาสก่อน เป็นฆราวาสที่เข้าใจธรรมะ เริ่มจากเข้าใจธรรมะขั้นต้นๆนะ แล้วก็มีแก่ใจ มีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาธรรมะขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะให้กับฆราวาสจนฆราวาสอยากออกบวชเนี่ย ก็เป็นฆราวาสที่ท่านเห็นแล้วว่ามีธุลีในดวงตาน้อย สามารถที่จะทำให้เชื่อว่า เออ ที่ทำๆอยู่เนี่ยมันเป็นไปเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปเพื่อนรก ก็เป็นไปเพื่อสวรรค์นะหลังจากตายไปแล้วเนี่ย ทีนี่ถ้าจะหยุดเสี่ยง เสี่ยงนรกเสี่ยงสวรรค์ ก็ต้องหยุดเกิดนะ แล้วก็ใช้ความเป็นมนุษย์ทำปัญญาให้แจ้ง ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งนะ ถึงจะยุติการเสี่ยงเกิดเสี่ยงตายแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้  

ทีนี้สำหรับคนที่อยู่ในระหว่างกึ่งๆกลางๆ ไม่ใช่พอฟังเทศน์ฟังธรรมปุ๊บอยากบวชกันทุกคน มันไม่จริงนะ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป แล้วค่อยๆเป็นค่อยๆไปตรงนี้แหละ ก็คือการที่ทำความเข้าใจธรรมะไปเรื่อยๆทุกวัน แล้วก็เจริญสติไปเรื่อยๆทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งชีวิตเปลี่ยนออกมาจากข้างใน เกิดความรู้สึกออกมาจากข้างในว่า เอาล่ะ ชีวิตที่เหลือเนี่ย ฉันเน้นเรื่องเจริญสติละนะ

การเจริญสติ ถ้าคุณไปกะเกณฑ์ว่า
จะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ 
ช่วงเวลาสั้นๆ ๑๐ นาที ๒๐ นาที 
ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน 
ถ้าไม่ได้ปฏิบัติช่วงนั้น
ถือว่าวันนั้นล้มเหลวในการปฏิบัติ หรือไม่ได้ปฏิบัติเลย 
ถ้าไปตั้งเสปคไว้อย่างนี้ปุ๊บ 
จะเข้าข่ายฆราวาสที่รู้สึกว่า
ตัวเองไม่สามารถเจริญสติได้ต่อเนื่อง 
ไม่สามารถที่จะเอาดีทางธรรม 

เลื่อนขั้นตัวเองเนี่ยไปสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่พร้อมจะเอามรรคเอาผลแก่ท่าน ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ ตั้งเสปคใหม่ว่า
การเจริญสติที่แท้จริง
มันไม่ใช่ช่วงเวลา ๑๐ นาที ๒๐ นาที  
ที่เรานั่งสมาธิหรือเดินจงกรม 
แต่เป็นทุกขณะที่เราสามารถระลึกขึ้นมาได้ว่า
เออ นี่เวลานี้เหมาะแก่การมีสติ 
รู้เห็นธรรมะที่ผุดขึ้นมาภายใน 
รู้เห็นธรรมะที่กำลังปรากฏแสดงอยู่ภายนอก 
มีสติรู้ว่า 
ขณะนี้..จิตใจของเราเจริญขึ้น
ในทางที่เห็นความจริง มีปัญญา มีความสว่าง 
หรือว่าขณะนี้..จิตใจของเรากำลังมืดบอด 
ไม่พร้อมที่จะรับรู้อะไรตามจริง 

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเจอคู่ปรับ หรือว่าคู่รักคู่แค้น ที่แค่เจอหน้าก็รู้สึกเจ็บๆคันๆ คนส่วนใหญ่บอกว่าอันนี้ไม่ใช่เวลาในการเจริญสติ ไม่เหมาะแก่การเจริญสติ เพราะว่าขอแค้นก่อน ขอระบายความอัดอั้นก่อน ขอที่จะทำร้ายจิตใจคนสักนาทีหนึ่งสองนาที มันอดไม่ได้ มันไม่รู้จะช่วยตัวเองยังไง เนี่ย ข้ออ้างแบบนี้ทำให้คุณพลาดโอกาสที่จะเจริญสติจริงๆไปอย่างน่าเสียดาย 

เพราะว่าตัวความแค้น ความคับอกคับใจ ความอยากระบาย ความอัดอั้นอยากจะทิ่มแทงคนอื่น ใช้วาจาทิ่มตำคนอื่น อาการแบบนั้นมันเป็นอาการแปลกปลอมที่ดูง่ายที่สุดเลย อยู่ๆมันแหลมขึ้นมาชัดเจนเนี่ย อยู่ๆสภาพปกติของเราที่มันสบายๆอยู่ดีๆ รู้สึกไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องว้าวุ่นอะไรอยู่ดีๆเนี่ย พอเจอหน้าคู่ปรับเท่านั้นแหละ อาการของขึ้นกำเริบขึ้นมา มันมีของแปลกปลอมให้ดูอยู่ชัดๆ มันมีการปรุงแต่งอะไรบางอย่างที่ชัดเจนว่า เราไม่ได้เป็นคนสั่งให้มันเกิดขึ้น 

แต่พอเราไม่มีมุมมองว่าจะไปดูมันโดยความเป็นธรรมะ เราก็จะแล่นตามมัน  โลดแล่นไปกับมัน ถูกมันชักจูงไปหัวทิ่มหัวตำ ไปสู่ความตกต่ำทางจิต เราจะคิดคำด่า เราจะมีอาการหมกมุ่นขึ้นมาว่าจะทำยังไงดีให้มันเจ็บใจ จะทำหน้าทำตาปั้นปึ่งยังไงใส่ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าชั้นไม่ชอบหน้าแก หรือทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี คือพอเรารู้สึกไม่ดีใช่ไหม คู่รักคู่แค้นเนี่ยก็ต้องไม่รู้สึกดีไปด้วย ถ้ามันมีความสุข ถ้ามันไม่เป็นทุกข์เหมือนกับเราเนี่ย  ดูเหมือนกับเราจะเสียเปรียบ ดูเหมือนกับเราจะแพ้นะ อะไรแบบนั้น คือเนี่ยธรรมชาติของกิเลสมันครอบงำใจให้เราพุ่งไปทางนี้

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งเสปคว่านี่คือสนามปฏิบัติ นี่คือสนามเจริญสติ ไม่ใช้ตั้งเสปคเล่นๆนะ แต่เอาจริง เอาจริงแบบที่ว่า ยังไม่รู้หรอกว่าแอดวานซ์ไปแล้ว ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้วมันจะมีความสุขยังไง ชีวิตจะแตกต่างไปขนาดไหน 

แต่เอาจริงตรงที่จุดเริ่มต้นว่า
เราจะปฏิบัติให้ต่อเนื่องทุกวัน 
โดยการใช้สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน
เอามาฝึกให้หมด เราไม่พลาดโอกาส! 

พอเจอหน้าคนที่เรารู้สึกหมั่นไส้
รู้สึกอยากให้เขาเกิดความเจ็บปวด เจ็บช้ำน้ำใจ
เหมือนกับที่เรามีความทุกข์เมื่อตอนเห็นหน้าเขา
ให้มันไม่แพ้กัน 
ตอนนั้นเราจะรู้สึกถึงอาการหน้ามืด 
ถ้ามีสตินะ มันจะมีอาการขึ้นมาแบบว่า 
ลืมหมดอ่ะ ข้อธรรมะอะไร เคยตั้งใจไว้ดีขนาดไหน 
เคยอภัยเป็นพ่อพระแม่พระ 
เคยปล่อยปลาเคยปล่อยนก 
เคยไปทำสังฆทาน 
โอยมีความสุขชื่นบานราวกับเป็นเทวดา ลืมหมด! 
มีเหลือแต่หน้ามืดๆของปีศาจแห่งความโกรธ 
เหลือแต่ม่านหมอกมืดๆของโลกเปรต โลกนรก 

ไม่ได้พูดเล่นนะ ตอนที่คุณเจอหน้าคู่แค้น หรือว่าคนที่ทำให้คุณเจ็บใจหนักจริงๆเนี่ย มันจะมีความมืดแบบหนึ่งปรากฏขึ้นมา หน้าตาเราที่มันดีๆจะหายไป จะเหลือแต่ประตูไปสู่ภพเปรต ประตูไปสู่ภพของนรก ตอนนี้คุณรู้สึกว่าไม่อยากให้ใครได้ดี ตอนนี้คุณไม่อยากให้ใครมีความสุข ตอนที่คุณไม่อยากให้คู่รักคู่แค้นได้หลุดมือไป จะต้องเอามาบีบบี้ขยี้ขยำให้มันเละคามือ ตรงนั้นแหละประตูนรก ตรงนั้นแหละประตูของเปรต เวลาที่อยู่ในโลกของเปรต เวลาที่อยู่ในโลกของนรกเนี่ย จิตใจมันประมาณอย่างงั้นแหละ มันแบบเดียวกัน คือไม่อยากให้ใครมีความสุข ไม่อยากยิ้ม คือยิ้มออกมาแบบที่มันสว่างนะคือ ออกมาจากใจที่สว่าง ไม่ใช่ยิ้มออกมาจากใจที่อยากเชือดเฉือนนะ มันต่างจากโลกของสวรรค์ ที่มันยิ้มออกมาจากข้างในมันมีความสุขเหลือเกิน แล้วก็อยากแจกจ่ายความสุขนี้ไม่เลือกหน้านะ

ถ้าเราจริงจังกับการเจริญสติด้วยการเตือนตัวเองอย่างนี้ เวลาที่หน้ามืดขึ้นมาตอนเจอบุคคลอันไม่เป็นที่รัก แล้วเรามีสติบอกว่าเออเนี่ย ภพของเปรต ภพของเดียรัจฉาน ภพของนรกเนี่ย เวลาเขาไปเขาไปกันอย่างนี้ ใช้ม่านหมอกมืดๆแบบนี้แหละเป็นประตู คุณดูสิ ประตูไปสู่ความเป็นเปรต ประตูไปสู่ความเป็นนรก มันบันดาลความคิดแบบไหนขึ้นมาได้บ้าง มันมีแต่คำพูดเชือดเฉือน อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกแสบๆคันๆ มันมีแต่ความรู้สึกว่าอยากเห็นเขาร้องไห้ อยากเห็นเขาล้มเหลวในชีวิต อยากเห็นเขาพัง งานที่ดีๆของเขาเนี่ยมันพัง หน้าตาอะไรที่มันดูดีๆเนี่ยนะอยากให้กลับกลายเป็นอื่น เนี่ยลักษณะบิดความจริงที่ดีๆให้กลายเป็นภาพที่แย่ๆเนี่ย มันเหมาะแก่นรกหรือสวรรค์ล่ะ 

พอมองเห็นว่าใจของตัวเองเนี่ย
มันเป็นประตูนรก มันเป็นประตูสวรรค์ 
จะมีกำลังใจ จะมีแรงฉุด
ให้นึกอยากจะเอาจริงเอาจัง 
ความนึกอยากเอาจริงเอาจัง 
ไฟในการปฏิบัติจริงออกมาจากข้างในตัวนี้แหละ
ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง 

ที่ไม่ต่อเนื่องเพราะอะไร? ปฏิบัติไปแล้วก็ เออ มันก็มีความสุขดี แต่ไม่เห็นสลักสำคัญอะไรเลย แล้วจะมองไม่เห็นความคืบหน้า มันวัดความคืบหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มมองจากตรงนี้นะว่า เออ เวลาเจอคู่แค้นเนี่ย มันมีประตูนรกโผล่ขึ้นมา บอกตัวเองอย่างนี้นะ มันเริ่มเห็นละ เออเนี่ย ประตูเปรต ประตูนรกมันโผล่ขึ้นมา ภาพหน้ามันโผล่ขึ้นมา เหมือนหน้ากากครอบหน้าให้หน้ามันมืดไป คราวนี้มันเริ่มคึกคัก มันเริ่มสามารถวัดความคืบหน้าได้ ถ้าเราเจริญสติต่อเนี่ย อาการหน้ากากปีศาจที่มันมาครอบหน้า มันจะวางลงไหม

เอาแบบเจอของจริงนะ อย่าเอาแค่แบบบนทางจงกรมที่เรานึกหน้าคู่อริขึ้นมาแล้วรู้สึกอภัยได้ รู้สึกว่าเออเนี่ยตอนนี้ฉันเนี่ยเป็นพ่อพระแล้ว เป็นแม่พระแล้ว ฉันไม่คิดอะไรแล้ว แบบนั้นอย่าไปนับนะ มันไม่ใช่ของจริงไง เอาตอนที่ไปเจอ ไปลงสนามจริงน่ะ ตอนที่คู่รักคู่แค้นมาปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาเนี่ย ภาพใบหน้าของเขามันกระทบใจแล้ว กระตุ้นความคิดแบบไหนขึ้นมา ถ้าเรามีสติ

คราวนี้มาถึงขั้นว่าเราจะมีสติที่ถูกได้ยังไง? คนส่วนใหญ่แค่ท่องไว้เป็นนกแก้วนกขุนทอง บอกว่ามีสติ มีสติ มีสติ แบบนี้มันน่าเบื่อจะตาย มีสติรู้อะไรล่ะ

มีสติเนี่ย ต้องบอกตัวเองถูกนะว่า 
มีสติแล้วนั้นน่ะเห็นอะไร?

เห็น 'ความจริง
ที่ผุดขึ้นมา ปรากฏขึ้นมาเป็นปฏิกิริยาทางใจว่า 
ฉันเห็นหน้าเขาแล้ว ฉันเกิดความรู้สึกไม่ชอบ 
เกิดความรู้สึกว่ามีอะไรมืดๆครอบหน้าครอบตาขึ้นมา 
ภาวะแบบนั้นอยู่นานแค่ไหน 

ถ้าไม่สังเกตแบบนี้นะ คุณจะสังเกตแค่ว่า 
เออ มันมีความโกรธขึ้นมา 
เสร็จแล้วไม่รู้จะดูต่อยังไง 

ถ้าเราทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า 
ตอนที่จะเกิดสติเนี่ย รู้ว่ากำลังหายใจอยู่ 
เนี่ยมันเกิดสติจริงๆ เพราะเรารู้ขึ้นมานะว่า 
ตอนนี้หายใจเข้าหรือหายใจออก

มันไม่มีทางที่จะโต้แย้งเป็นอื่น หายใจเข้าแล้วบอกว่า เอ๊ย นี่ไม่ได้หายใจ หายใจออกนี่ไม่ได้หายใจ อันนี้ไม่ได้ สติเนี่ยมันต้องรายงานตามจริงว่า หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก
 
ในขณะที่หายใจเข้าหายใจออกอย่างมีสติรู้นั้นน่ะ 
คือเราไม่ได้จะไปเพ่งดูลมหายใจ 
แต่เราจะอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต 

ดูดีๆนี่หวังว่าคงจะไม่ไปเจอรีพีท (repeat) คำพูดผมอีกนะว่า ดูลมหายใจ ดูลมหายใจ ไม่ใช่นะ 

ให้สังเกตว่า ในขณะที่เราเจอหน้าคนที่เป็นคู่รักคู่แค้นเนี่ย แล้วเกิดความรู้สึกมืดๆขึ้นมา เกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความรู้สึกที่เป็นอกุศลขึ้นมา อยากด่า อยากแอบคิดสาปแช่ง หรือว่าอยากจะเห็นเขาพินาศ
ความคิดอะไรไม่ดีทั้งหลาย 
ความชั่วร้ายอะไรที่มันผุดขึ้นมาในหัว
อย่าไปปฏิเสธ 
แต่ให้สังเกตว่า 
ณ ขณะนั้น ณ ลมหายใจที่เป็นปัจจุบัน
ที่เรารู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ 
เป็นลมหายใจเข้า เป็นลมหายใจออกแห่งอกุศลระดับไหน?


ถ้าระดับที่อยากทำร้ายทำลาย อยากสาปแช่ง ก็ขอให้อาศัยลมหายใจนั้นเป็นตัวห้ามไม่ให้ทำตามที่มันคิดอยู่ในหัว พูดง่ายๆเป็น 'ลมหายใจแห่งขันติ'  มีขันติที่จะสกัดกั้นตัวเอง ไม่ให้ทำเรื่องเดือดร้อนแก่คนอื่นและจะเป็นความเดือดร้อนให้ตัวเองในภายหลัง 

แต่ถ้าหากว่า ณ ลมหายใจนั้น มันมีเพียงความคิดไม่ดี แอบคิดด่า แอบคิดเหน็บแนม แอบคิดเยาะเย้ย แอบคิดถากถาง แอบคิดหมั่นไส้ แล้วเกิดอาการวนๆ เกิดอาการคันๆอยู่ในอก

ให้ยอมรับไปตามจริงว่า
มันคันๆ หรือมันมีอาการที่ปั่นป่วน
อยู่ในหัว ในลมหายใจนั้น 
แล้วดูว่าลมหายใจต่อมา
มันยังเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า 
มันยังปั่นป่วนเท่าเดิมอยู่ในหัวไหม 
หรือมันรู้สึกคันๆ คันน้อยลง หรือว่าคันมากขึ้น 

จะคันมากขึ้นหรือว่าน้อยลงก็ตาม
ถือว่าได้เห็นความไม่เท่าเดิมแล้ว
ในสองลมหายใจที่เปรียบเทียบกัน 
นี้ก็ดูไปเรื่อยๆ ในแต่ละลมหายใจนะ
มันเกิดอะไรขึ้น?
ความเปลี่ยนแปลงไปในทางขึ้นหรือในทางลง

จุดที่จะให้สังเกตต่อมาไม่ใช่แค่ ณ คราวนั้นคราวเดียว 
แต่ให้ดูว่าเจอหน้ากันอีกทีหนึ่ง 
คู่ปรับคนเดิมนะ อริหน้าเก่า 
แล้วมันมีระดับความปั่นป่วน 
มีระดับความรู้สึกแน่นอกแน่นใจ 
หรือมีระดับของความหน้ามืดแบบเดิมอีกไหม 
หรือว่ามันดีขึ้น 

คือการที่เราจะเห็นความต่างไปของโทสะ 
หรือว่าระดับความแรงของอกุศลจิตในแต่ละครั้งเนี่ย 
มันจะเป็นตัวควบคุมอยู่ในตัวเอง 
ควบคุมให้เรามีวินัย
โดยไม่ต้องเกร็งโดยไม่ต้องฝืน 
มีวินัยที่จะเปรียบเทียบ เพราะมันชอบใจ 
ไม่ใช่มีวินัยเพราะว่าเราบังคับตัวเอง 
เราฝืนตัวเองว่า
เราจะต้องทำให้ได้ทุกวันในรูปแบบอย่างนั้นอย่างนี้

ฆราวาสเนี่ยมีข้ออ้างเก่งกว่าพระอยู่แล้วนะ วันนี้ทำงานเหนื่อยไม่พร้อมจะเดิน วันนี้รู้สึกว่าท้อใจ อยากจะหาที่พึ่งแบบโลกๆบ้าง มาทำให้ชุ่มชื่นหน่อย มันก็ไม่พร้อมจะเข้าเดินจงกรมแล้ว ไม่พร้อมจะเข้าที่นั่งสมาธิแล้ว แล้วพอเราแพ้ไปสักแค่ครั้งสองครั้ง วินัยมันพังทลายหมดเลย และสุดท้ายก็อย่างที่คุณพูดมาในคำถามว่า เนี่ยมันไม่สามารถมีวินัยกับใครเขาได้ ทำไปในที่สุดก็ท้อ 

ความท้อมันเกิดขึ้นจากอย่างนี้นะ 
มันไม่ชอบใจไง

ไปเดินจงกรมมันเหนื่อย นั่งสมาธิเนี่ยมันรู้สึกฝืน แล้วก็คนเราเนี่ยจะรู้สึกสงสารตัวเองที่สุดเลยตอนรู้สึกเหนื่อย ตอนรู้สึกฝืน มันก็เลยไม่ทำจริง แล้วพอไม่ทำจริงไปเรื่อยๆ มันคิดภาพตัวเอง โอ๊ยชาตินี้เอาดีกับเขาไม่ได้แน่เลย มันก็ท้อ ท้อ ท้อ ท้อ 
ความท้อเนี่ยแหละ
ที่จะเป็นกำแพงห้ามเราไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า!

แต่ถ้าคุณทำอย่างนี้อย่างที่ผมว่าเนี่ย เอาคู่รักคู่แค้นมาเป็นแบบฝึกหัด บอกว่าเกิดมาเนี่ย เราเกิดมาแล้ว ทำไมคนๆนี้มันจะต้องเกิดมาด้วย มันจะต้องตามเรามาจากภพไหนปางไหนนะ 

เอาคนแบบนี้แหละเป็นเครื่องฝึก 
แล้วมันจะมีวินัยขึ้นมาเอง
แล้วก็ไม่ท้อด้วย
เนื่องจากคุณจะเห็นว่า
ตัวเองมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ 
กับการอยู่ร่วมโลกกับคนบางคน!

มันเห็นแล้วมันได้กำลังใจไง มันเห็นจิตของตัวเองว่าเบาลง มีความเป็นกุศลมากขึ้น สว่างมากขึ้น คนเรานะพอมันได้ดีจากอะไร มันไม่รังเกียจสิ่งนั้นหรอก แล้วมันจะขยันขึ้นเรื่อยๆ ขยันไปเข้าหาสิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทำแล้วมันได้ดีมีสุข ใครจะไม่เอา

แต่ถ้าเข้าทางเดินจงกรม นั่งสมาธิ กลับจากที่ทำงานปุ๊บเนี่ย ขนาดเดี๋ยวนี้ขนาดพระยังมีข้ออ้างแบบนี้เลย ไปทำ ไปทำกิจของสงฆ์มาเหนื่อย ต้องวุ่นกับกิจของสงฆ์ทั้งวัน ไม่มีเวลาเดินจงกรมนะ รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก 

อันนี้ก็ยุคสมัยด้วยนะ ยุคสมัยที่เราเร่งร้อนรีบรัด ฟังดีๆนะ คือเป็นฆราวาส เป็นชาวบ้าน 
อย่าไปเอาวินัย อย่าไปคาดคั้นตัวเอง
กับการเดินจงกรมหรือว่านั่งสมาธิ 
แต่ให้คาดคั้นตัวเองกับการฝึกอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน
เอาจิตของตัวเองเป็นสนามฝึก 
แล้วคุณจะรู้สึกว่ามันมีความก้าวหน้าที่วัดผลได้ 
แล้วความคืบหน้านี้
จะทำให้คุณมีวินัยมากขึ้นเรื่อยๆ 

มีวินัยที่จะมีสติดู ไม่ใช่ปล่อยสติปล่อยจิตปล่อยใจให้ไหลตามกิเลสไปในแต่ละวัน แล้วในที่สุด ถึงวันตายเราก็จะพบว่า ชาตินี้เอาดีอะไรจากการเจริญสติไม่ได้เลย ค่อยไปต่อชาติหน้าก็แล้วกันนะ คือไม่สมัครใจทำเอาเองตอนที่มันอยู่ในสนามจริงอ่ะนะ ก็เลยเหมือนกับเสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆอีกชาติหนึ่งให้กับข้ออ้างที่จะไม่ทำ 

นี้ถ้าเรารู้หลักการแม่นยำจริงๆนะ เราทำได้ตลอดเวลาทุกวันอยู่แล้ว แล้ววินัยมันเกิดขึ้นเองจากความชอบใจจากความเห็นดีเห็นงามนะครับว่า ทำแล้วชีวิตเราเบาลงนะ มีความสุขมากขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น



** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น