วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

สวดมนต์อย่างเดียวบรรลุธรรมได้ไหม?


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์อย่างเดียวบรรลุธรรมได้ไหม?


รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/CUUGIncn6bk
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์อย่างเดียวบรรลุธรรมได้ไหม?
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ดังตฤณ : 
สวัสดีครับทุกท่าน พบกันคืนวันเสาร์นะครับ คืนนี้หัวข้อเรื่องก็อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อเช้า นั่นคือ “สวดมนต์อย่างเดียวสามารถจะบรรลุธรรมหรือเปล่า?” เป็นคำถามที่มีมา แล้วก็น่าจะอยู่ในใจของหลายๆคนทีเดียว เพราะว่าคนที่อาจจะยังไม่ได้มีความเข้าใจ ไม่ได้ศึกษาทฤษฎีมากนัก แล้วก็ได้ไปสวดมนต์เนี่ย หลายคนเกิดความรู้สึกว่า เฮ้ย..มันเบา มันมีความสุข มันมีความรู้สึกว่า เออ..เข้าใจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่สวด สัพเพธัมมา อนัตตาติ เนี่ยนะ คือพูดง่ายๆว่าเกี่ยวกับเรื่องของการพิจารณาธรรมว่า “ทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ทั้งหลายทั้งปวงทนอยู่ไม่ได้ ทั้งหลายทั้งปวงต่างเป็นอนัตตาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นบางที่เนี่ย ด้วยความสุขที่มันล้นเหลือในขณะสวดมนต์ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า เข้าใจจริงๆนะว่า อนัตตาเนี่ย หน้าตามันเป็นยังไง?  มันเหมือนกับทั้งโลกนี้ปรากฎเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นคือ บางทีเนี่ยเราต้องมาทำความเข้าใจกัน ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ความรู้สึกที่มันร่ำๆจะถึงอะไรบางอย่าง หรือเกิดความรู้สึกว่าใกล้แค่เอื้อมละ “นิพพาน” ถ้าไปถึงตรงนั้นเนี่ย บางทีมันไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะเยาะนะ ทุกคนมีสิทธิ์เหมือนกันหมดแหละ แค่เข้าใจว่ามันมีกำแพงบางๆแค่นิดเดียวกั้นอยู่ไม่ให้เราเห็น ไม่ให้เราเข้าใจว่ากายใจนี้มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่มันจะตั้งอยู่อย่างค้ำฟ้า  
แม้แต่ความคิด กลุ่มความคิดที่มันลอยขึ้นมา มันมีอยู่ในหัวเนี่ย แค่เราเห็นว่า เออ..มันเหมือนเมฆหมอก มันก็เฉียดๆอยู่แค่นิดเดียวแล้ว กับการเห็นว่ามันเป็นอนัตตาอย่างถึงอกถึงใจ 

คือเดิมที่เนี่ย กายใจมันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วมันถึงจะเป็นอนัตตานะ แต่ว่าทั้งหมดทั้งปวงเนี่ย เราแค่เอาม่านหมอกที่มันบังจิตบังใจออก เหมือนกับเอาแว่นสีๆเนี่ยถอดออกไป มองโลกด้วยตาเปล่า เพื่อที่จะเห็นสีทั้งหมดตามจริงนะ สีน่ะมันมีอยู่แล้ว แต่มันมาบังตาทับให้สีต่างๆเนี่ยผิดเพี้ยนไป 

ที่เราปฏิบัติธรรมกัน หรือที่พระพุทธเจ้าสอนหลักสติปัฎฐาน ๔ เนี่ย จริงๆแล้วก็คือการถอดแว่นออก เอาแว่นสีๆออกนะ ไม่ใช่ว่าไปเปลี่ยนสิ่งที่มันอยู่ภายนอกให้กลายเป็นอนัตตาให้หมด ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างญาณอะไรขึ้นมา ญาณหยังรู้ ญาณหยั่งเห็นอะไรที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันต่างไปจากเดิม ตรงข้าม คำว่าญาณวิเศษหรือวิปัสสนาญาณแบบของพุทธเนี่ยนะ มันคือการที่ทำให้จิตห็นของเดิมที่มีอยู่แล้วนั่นเอง

ทีนี้การสวดมนต์เนี่ย ก่อนอื่นทำความเข้าใจนิดนึงว่า มันสามารถที่จะทำให้ม่านหมอกที่บังตาเนี่ย มันเบาบางลงได้ระดับหนึ่งจริงๆ เพราะว่าการสวดมนต์ ไม่ว่าจะสวดแบบพุทธหรือสวดแบบศาสนาไหนก็ตามนะ ทำให้จิตสงบลงเป็นสมาธิได้ เค้ามีการใช้เครื่องคล้ายๆ EEG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองตรวจดูเลยนะ การทำงานของสมองมันต่างไปจริงๆ หลังจากที่ได้สวดมนต์จนกระทั่งจิตมันดิ่งลงสู่ความสงบและก็มีความรู้สึกผาสุข มีความรู้สึกวิเวก มีความรู้สึกว่าเหมือนกับนั่งสมาธิดีๆน่ะ ‘สวดมนต์ดีๆ มันก็คือการนั่งสมาธิดีๆนั่นเอง’ เพราะฉะนั้นคือพิสูจน์มาเป็นวิทยาศาสตร์แล้วว่า การสวดมนต์ทำให้จิตเนี่ยมันเข้าโหมดที่แตกต่างได้ และมันทำให้ภาวะการรับรู้ ภาวะการมองเห็นมองมาจากข้างใน มันแตกต่างไปได้จริงๆ

ทีนี้เข้าสู่คำถามว่า “สวดมนต์อย่างเดียวเลย ไม่ทำอะไรอย่างอื่นเลย สามารถบรรลุธรรมได้ไหม?” เพราะว่ามีหลายคนตั้งความหวังไว้จริงๆนะ สวดมนต์เนี่ยคือสวดเป็นชั่วโมงๆ สวดหลายบทและก็สวดด้วยความเชื่อ ตามสรรพคุณของบทสวดว่ามีสิทธิ์ มีส่วนที่จะทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้   

แทนการตั้งคำถามว่าสวดมนต์อย่างเดียวบรรลุธรรมได้ไหมตั้งคำถามใหม่ว่า “สวดมนต์แล้วเนี่ย มันเกิดสติ เกิดการพิจารณาธรรม เกิดสติปัญญาในแบบที่จะเห็นเข้ามาว่าการปรุงแต่งที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะนั้นน่ะ ไม่ใช่ตัวเราได้ไหม?” เหมือนกับสมัยพุทธกาล ก็เคยมีพระอยู่รูปหนึ่งบรรลุธรรมขณะที่ฟังเพลง จริงๆแล้วพระฟังเพลงไม่ได้ใช่ไหม แต่อันนี้นะ..เรื่องเกิดขึ้นคือท่านนั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง แล้วมีชาวบ้านเดินผ่านมาร้องเพลง ทีนี้ท่านพิจารณาธรรมตามเพลงที่เค้าร้อง คือเค้าร้องเพลงแบบโลกๆนั่นแหละ แต่ว่าใจท่านน่ะพิจารณาเป็นธรรม พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง แล้วเกิดการที่จิตรวมเป็นฌาน เข้าถึงภาวะความไม่เที่ยงตามที่พิจารณานั้น และก็เกิดการบรรลุธรรมขึ้นมา

หรือถ้าเรามองดูนะ..คนที่บรรลุธรรมเนี่ย ตามหลักฐานในพระคัมภีร์เนี่ย แต่ละคนก็อยู่ในอิริยาบถ อยู่ในท่าทางที่แตกต่างกันไปทั้งนั้นแหละ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส คือการเจริญสติปัฏฐานมันมีอยู่บรรทัดหนึ่ง มันอยู่วรรคหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งถ้าคุณคลิกตรงนี้นะ จะอ๋อ...ขึ้นมาทันที คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน อยู่ในท่าทางใดๆ ก็จงมีสติรู้ท่าทางนั้นๆตามปกติที่กำลังเป็นอยู่นั่นแหละ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นอนัตตา

นี่แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้ว คุณจะทำอะไรอยู่ก็ตาม อย่าว่าแต่สวดมนต์เลยนะ ต่อให้กำลังอาบน้ำอยู่หรือกำลังปีนต้นไม้อยู่ กำลังตีลังกาอยู่นะ หรือขับถ่ายอุจจาระอยู่ มีสิทธิ์นะมีสิทธิ์หมด อันนี้อยู่ในสติปัฎฐานเลยนะ พระพุทธเจ้าให้มีสติแม้กระทั่งขณะขับถ่าย หรือว่าขณะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ว่าจะชาย ไม่ว่าจะหญิงนะ ถ้าสามารถเห็น ณ ขณะที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งกาย ทั้งใจ รู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้หมด

เพราะฉะนั้นแทนที่จะถามว่า การสวดมนต์อย่างเดียวบรรลุธรรมได้ไหมเราถามอย่างนี้ว่า 
๑) สวดมนต์แล้วเกิด
สติรู้กายใจ ได้ไหม? สติ” ต้องเป็นสติรู้เข้ามาที่กายใจด้วยนะ ถ้าสวดมนต์แล้วมีสติรู้กายใจได้ นี่เริ่มมีสิทธิ์แล้ว       

๒) คือ มุมมอง คือสติมีก็จริงนะ รู้เข้ามาที่กายในปัจจุบัน ที่ใจในปัจจุบัน แต่มุมมองของเราเนี่ยเห็นว่ากายกับใจนั้นน่ะ เป็นตัวเป็นตน หรือว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าหากมีความรู้พื้นฐานแค่ว่า เออ..ให้มองเข้ามาว่า การปรุงแต่งทั้งทางกายทางใจ ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่ทั้งสิ้น แค่นี้นะ...มุมมองแค่นี้ เพียงพอที่จะจุดฉนวนการบรรลุธรรมได้

พูดง่ายๆว่าถ้าสวดมนต์นะ จะสวดสัพเพธัมมาอนัตตา หรือจะสวดอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันมองเข้ามาข้างใน มองเข้ามาข้างในนะ หรือจะเป็นภาวะจิตใจในขณะนั้นก็ได้ เห็นว่า เออ มันมีความซาบซึ้ง มันมีความเย็น มันมีความนิ่ง มันมีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ..ตัวนั้นน่ะนะ มองห็นได้ไหมว่าเป็นแค่ภาวะปรุงแต่งทางใจ ประกอบด้วยปีติ ประกอบด้วยสุข ประกอบด้วยปัญญาแบบคิด 

เพราะคำว่า สัพเพธัมมา อนัตตาเนี่ย มันเป็นการคิด คือมันยังคิดอยู่ในหัวนะ "สัพเพธัมมา อนัตตา ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา" มันไม่ใช่ตัวธรรมะที่เป็นอนัตตา ที่เราจับล็อกว่าจ้องอยู่อย่างนี้ สัพเพธัมมา อนัตตาเนี่ย แล้วมันจะกลายเป็นอนัตตาขึ้นมา

คือเรามองเห็นว่าสภาวะจิต สภาวะใจ ณ ขณะนั้นเนี่ย มันปรุงขึ้นมาจากคำว่า "สัพเพธัมมา อนัตตา" แล้วเห็นเป็นจิตของเราว่า จิตนั้นกำลังมีความเบิกบาน เป็นจิตดวงหนึ่ง ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน คือพูดง่ายๆคำว่า "สัพเพธัมมา อนัตตา" เนี่ย มันเหนี่ยวนำให้จิตเกิดทิศทางห็นขึ้นมาว่า สภาพตรงนั้นเนี่ยที่กำลังเป็นภาวะจิต ภาวะใจ หรือภาวะนั่งสวดมนต์อยู่ สภาวะทางกายมันกำลังแสดงความไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่บุคคล ถ้ายังมีความรู้สึก ยังมีมุมมองว่านั่นเป็นบุคคล นั่นเป็นตัวเราที่ใกล้จะบรรลุธรรมนะ หมดสิทธิ์เลย

แต่ถ้ามองว่า สักแต่มีการเคลื่อนไหว มีการขยับ มีแก้วเสียงที่เปล่งเสียงออกไปนะ แล้วมีสภาพจิตใจที่ปลื้มปีติ ตื้นตัน สักแต่เป็นภาวะปรุงแต่งชั่วคราว เป็นความตื้นตันชั่วขณะหนึ่งที่ยังสวดมนต์อยู่ ไม่ใช่มีบุคคลเป็นผู้ตื้นตัน ไม่ใช่มีบุคคลเป้นผู้ใกล้บรรลุธรรม มีแต่สภาวะจิต สภาวะใจไม่ยึดมั่นถือมั่น มีอาการคลายออกอยู่ เห็นอาการจิตแบบนั้นเป็นอนัตตาได้ เนี่ยตัวนี้คือมุมมองที่เห็นเข้ามาจริงๆว่า กายใจนี้เป็นอนัตตา

ถ้าเห็นแค่แว่บเดียว มันไม่มีกำลังพอที่จะรวมลงเป็นฌานได้นะ คือจะมีความสุขเอ่อล้นแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเกิดขึ้นแค่ประเดี๋ยวประด๋าว พูดง่ายๆ สวดมนต์แค่แป๊บๆอย่างนี้ จิตก็ไม่มีทางที่จะรวมลงเป็นฌานมีกำลังมากพอที่จะไปเห็นนิพพาน อย่างนี้หมดสิทธิ์นะ

จะต้องมีองค์ประกอบข้อต่อไปคือ 
๓) ต้องมี ความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องในที่นี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการบังคับให้มันเป็นสายสติยาวยืดแบบไม่คลาดกันเลยนะ แต่ความต่อเนื่องในความหมายที่ว่า มีวิริยะ มีความเพียร มีความเอาจริงเอาจังในการโฟกัสกับมุมมองที่เกิดขึ้น คนเนี่ยนะ..เวลาสวดมนต์เนี่ยก็มักจะสวดแบบ อิติปิโสภะคะวา อะระหังสัมมาใจไปไหนแล้วเนี่ย ปากยังขยับเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่ เสร็จแล้วพอใจล่องลอยไปแล้วก็ไม่สนใจ คือก็ปล่อยให้มันล่องลอยไป มันเคยชินของมันอย่างนั้นนะ มัน Auto pilot (ทำไปโดยอัตโนมัติ) อยู่แล้วคำสวดเนี่ย จำได้หมดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเค้นนึกอะไร จิตอีกส่วนหนึ่งนะจะล่องลอยไปไหนก็ปล่อย นี่อย่างนี้คือขาดความต่อเนื่อง

ทีนี้ถ้าเรามาพูดถึงการบรรลุธรรมเนี่ย มันยิ่งกว่านั้น คือเราต้องมีสติและก็มีมุมมองเกี่ยวกับความไม่เที่ยง และก็ไม่ใช่ตัวตนของกายใจอย่างไม่ขาดสาย คือถ้ามีมุมมองแป๊บๆว่า เออเนี่ย มันเป็นแค่ลมหายใจเฮือกหนึ่ง มันเป็นแค่ธาตุลมจริงๆด้วย มันไม่ใช่เป็นลมของเรา ไม่ใช่ว่ามีตัวเราหายใจ ที่แท้แล้วมีแต่ร่างกายที่มันสูบลมเข้าแล้วมันก็พ่นลมออก เห็นแค่นี้ระลอกลมเดียวเนี่ย มันไม่มีกำลังมากพอ มันไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ด้วยการเห็นลมระลอกเดียวแล้วเกิดการสลายม่านหมอกที่บดบังจิตใจออกได้เกลี้ยงนะ มันสลายได้แค่นิดเดียว มันมีรอยโหว่แค่นิดเดียวนะ

ม่านหมอกที่มันกั้น ที่มันขวางไม่ให้เราเห็นความจริงเนี่ย มันหนาแน่น มันหนาหนักกว่านั้นมาก คือมันต้องมีความต่อเนื่อง คล้ายๆกับเครื่องฉีดพ่นน้ำที่ฉีดชะล้างความสกปรกคราบไคลบนพื้นหลังฝนตก มันต้องฉีดๆๆๆเข้าไปนานๆนะ ฉีดเข้าไปซ้ำที่เดิมหรือไม่ก็ฉีดเป็นวงกว้างขึ้นๆ จนกว่าพื้นทั้งหมดจะเกลี้ยง ถ้าใครล้างพื้นโรงรถด้วยเครื่องฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงเนี่ยคงจะเข้าใจที่ผมพูด คือมันจะต้องไปฉีดที่เดียวเป็นเวลานานๆ พื้นมันถึงจะขาวรอบ คือตอนแรกฉีดไปดูเหมือนขาว แต่จริงๆแล้วยังมีคราบไคลอยู่ในที่เดียวกันอีกเยอะ เป็นคราบเล็กๆ

ทีนี้ถ้าเรามีความต่อเนื่องในการชะล้างนะ ในที่สุดมันจะ
๔) เกิด ความอิ่มใจขึ้นมา คือคำว่า ปีติ ในองค์ความพร้อมที่จะให้บรรลุธรรมได้เนี่ย มันไม่ใช่ปีติแบบโห ดีใจเหลือเกิน หรือว่าปีติแบบขนลุกพองอะไรแบบนั้น แต่ต้องเป็นความอิ่มใจ ความรู้สึกพึงพอใจ ความรู้สึกว่าเต็มพอดีนะ มีความเนียน มีความสุขุม มีความเย็นซ่าน มีความรู้สึกว่า เออ มันพอแล้ว ไม่เอาอะไรอย่างอื่น เนี่ย..คำว่าอิ่มใจคือมันไม่หิว มันไม่กระหาย มันไม่กระโดด มันไม่กระโจนออกไปไขว่คว้าอะไร ด้วยอาการแบบนั้นของจิตเนี่ยนะ มันเลยก่อให้เกิด

๕) ความสงบระงับ คืออย่างที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า กายใจมีความสงบระงับ ไม่กวัดแกว่ง อย่างบางคนเนี่ยสวดมนต์ไป มันจะมีความรู้สึกมีแรงดันอยู่ข้างใน อยากยุกยิกนะ หรือว่าอยากที่จะลืมตา อยากที่จะกระโจนออกไปหาเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดถึงเรื่องที่สนุก คิดถึงเรื่องที่มันน่าจะมีความสะใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่มานั่งนิ่งๆอะไรแบบนี้ เห็นท่านั่งนิ่งๆเป็นที่คุมขัง ที่ทรมาน อย่างนั้นมันไม่ใช่ความสงบระงับ

ความสงบระงับเนี่ย มันจะมีความรู้สึกว่านั่งอยู่เฉยๆก็พอ มันไม่เปลืองพลังงานอะไรทั้งสิ้นนะ อย่างขยับแต่ละครั้งเนี่ยใช้พลังงานที่เรากินเข้าไป ทั้งน้ำ อาหารต่างๆเนี่ย แต่ถ้าเราอยู่ในสภาะสมาธิ มีความรู้สึกถึงปีติความอิ่มใจ คำว่า อิ่มใจนี่ก็คือมันพอ ร่างกายมันก็ไม่อยากขยับเคลื่อนไหว จิตใจก็ไม่อยากที่จะเกิดอาการก่อตัวทางความคิดหรืออารมณ์อะไรทั้งสิ้น แต่อยากที่จะอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้านะ คือหมายถึงว่าความมีสติรู้ มีมุมมองว่ากายนี้ใจนี้เนี่ยไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน มีความพอใจที่จะเห็นอยู่อย่างต่อเนื่องแค่นั้น พูดง่ายๆว่าสภาวะทางกาย ทางใจเนี่ย มันตอบรับการมองเห็นของเรานะ มันพอใจที่จะไม่มีหน้าตา ไม่มีตัวตน ไม่ต้องมีเสียงพูด ไม่ต้องมีเขา ไม่ต้องมีใคร มีความสงบระงับกายใจ เพื่อที่จะมองเห็นตรงนั้นให้ชัดขึ้นๆ

๖) จากนั้นแล้วเนี่ยมันจะเกิด ความตั้งมั่นรับรู้หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า สมาธิ ความตั้งมั่นรับรู้เนี่ย ไม่ใช่ตั้งมั่นในแบบที่ว่าเป็นก้อนหินนะ ไม่ใช่แบบที่คุยๆกันว่า นั่งสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง นั่งสมาธิได้ ๗ ชั่วโมงอะไรแบบนั้น จะนั่งนานแค่ไหน ต่อให้ฤาษีชีไพรนะ ที่เค้ามีวิชากันแบบระดับ Advanced นั่งได้ ๓ วัน ๗ วัน โดยที่ไม่ต้องขยับลุกไปไหน มีโยคีเนี่ยเคยมีรายการ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ National Geographic หรืออะไรเนี่ย เคยไปบันทึกเลยนะว่า นั่งอยู่กี่วันก็ไม่รู้ โดยไม่ต้องกินข้าว ไม่ต้องกินน้ำ ไม่ต้องลืมตาขึ้นมาเนี่ย รู้สึกจะ ๔๗ วันหรือเท่าไหร่จำไม่ได้ นานหลายปีแล้ว แบบนั้นก็ไม่ได้เป็นประกันว่าสามารถบรรลุธรรมได้นะ เพราะว่าการเข้าฌานหรือว่าการเข้าสมาธิเนี่ย มีมาก่อนพระพุทธศาสนานะครับ

เราสวดมนต์แล้วเนี่ย คือไม่ต้องถึงฌานก็ได้ เอาแค่อุปจารสมาธิ คือมีความสงบระงับ มีความตั้งมั่นรับรู้นะ ที่เยือกเย็น วิเวก มีความเป็นหนึ่งอยู่กับสิ่งที่รับรู้ สิ่งที่รับรู้ในที่นี้คือ มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กายใจนี้สักแต่มีอาการสวด ร่างกายทำหน้าที่สวดไป จิตใจทำหน้าที่รู้ตัวเองว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน รู้สภาพทางกายว่าขยับเคลื่อนไหวเป็นแก้วเสียง เปล่งแก้วเสียง เปล่งเสียงออกมาจากแก้วเสียงนี้นะ ด้วยเจตนาถวายเป็นพุทธบูชา แล้วจิตใจเนี่ยมันมีความหนักแน่น มันมีความเยือกเย็น มันมีความสว่างใส แล้วเห็นความสว่างใสนั้นเหมือนฟองสบู่ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ตัวนี้ถ้าหากว่าตั้งมั่นรับรู้อยู่อย่างนี้จนกระทั่งเกิดฌานนะ อย่างนี้ถึงจะมีสิทธิ์

ทีนี้คือตั้งมั่นรับรู้เนี่ย ที่มันจะเป็นฌานจริงๆเนี่ย มันจะมีองค์ข้อสุดท้ายคือ 
๗) มีความเป็นกลางวางเฉย” คำว่าเป็นกลางวางเฉยเนี่ยนะ ก็คือ อุเบกขา ในที่นี้คืออย่างที่ในไทยเรามักจะพูดกัน ใช้คำว่า สังขารอุเบกขาญาณ คือมีสภาพการรับรู้ที่ว่า กายใจเนี่ยสักแต่เป็นรูปเป็นนาม มีความไม่เที่ยง แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลานะ ลมหายใจเข้า-ออก นี่ก็แสดงความไม่เที่ยงแล้ว กายอยู่ในรูปพรรณสัณฐานแบบนี้ ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีความว่างเปล่า

เหมือนกับปลงว่าตัวที่จะเป็นสังขารอุเบกขาญาณหรือว่าเป็นอุเบกขา เป็นกลางวางเฉยในแบบที่จะทำให้ใกล้บรรลุธรรมได้จริงๆเนี่ย มันไม่ใช่เฉยแบบนิ่งทื่อ ไม่รู้ไม่ชี้นะ ไม่ใช่ไม่ไยดี ไม่สนอะไรทั้งนั้นแล้วนะ มันมีความสนใจในธรรมะอยู่นะ มันมีความสนใจ มันมีความใส่ใจสิ่งที่กำลังปรากฎอยู่ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่มีความรู้สึกไยดี ไม่มีความรู้สึกเกี่ยวข้อง ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องไปยินดียินร้าย ถ้าหากว่ามันจะต้องตายดับ ก็ถือว่าเปลี่ยนสภาพไปเดี๋ยวนั้น

ผมขอเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเราเป็นวิญญาณเข้าไปสิงอยู่ในโพรงไม้ เรามาขออาศัยโพรงไม้โพรงหนึ่งนะ ต้นไม้ใบหญ้าอะไรที่มันอยู่รอบๆบ้านเราอย่างนี้ ถ้าเราไปอยู่ในโพรงไม้นั้นด้วยความรับรู้ว่า เออ..เรามาอาศัยอยู่แป๊บหนึ่ง ไม่ได้ตั้งใจที่จะอยู่ตลอดไป เหมือนกับเข้ามาขอดูว่าโพรงไม้ว่างๆโพรงไม้กลวงๆเนี่ยนะ หน้าตาเป็นยังไง อยู่แล้วรู้สึกยังไง โพรงไม้นั้นพอเราเห็นโดนปลวกแทะ หรือว่ามีรังมดหรือมีอะไรที่มันสกปรก หรือมีอะไรที่มันกำลังแสดงความเน่าเสีย กำลังจะแตกดับไปเนี่ย เราก็จะรู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา ไม่รู้สึกว่าน่าอาลัยอาวรณ์ ตัวนี้แหละ ตัวความรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา มันไม่น่าอาลัยอาวรณ์ มันรู้สึกเฉยๆ ถ้ามันจะต้องมีอันเป็นไปอะไร นี่..ตัวนี้ อุเบกขาแบบนี้ อุเบกขาแบบที่ว่าเราไม่มีความเกี่ยวข้องกับโพรงว่างที่กำลังอาศัยอยู่นี้ ที่กำลังอาศัยดู อาศัยรู้ อาศัยพิจารณาธรรมอยู่นี้

อุเบกขาแบบนั้น เป็นอุเบกขาที่ประกอบอยู่ในสมาธิที่จิตมีความใหญ่ จิตมีกำลัง จิตมีความเห็นเป็นหนึ่งเดียว มีการรับรู้อยู่อย่างเดียวว่า สิ่งที่กำลังเห็นอยู่นั่นนะ มันเป็นแค่ภาวะรูปนาม มันเป็นแค่รูปพรรณสัณฐาน คำว่ารูปเนี่ย เหมือนกับเราเห็นที่คอตั้ง หลังตรง มียกขึ้นด้วยโพรงกระดูกสันหลังแล้วฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มันไม่เห็นมีอะไรไปมากกว่าการเป็นรูปพรรณสัณฐานชั่วคราวที่มันตั้งขึ้นมา คือตอนแรกๆเนี่ยเราอาจจะเห็นแค่เหมือนกับว่า เฮ้ย มันกำลังเกร็ง มันกำลังคลายอยู่ มันกำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก

ในที่สุดเนี่ย พอเห็นเข้าไป เห็นเข้าไปเนี่ย มันเห็นมากกว่าลมหายใจ มันเห็นมากกว่าอาการเกร็ง อาการคลาย มันเห็นเข้าไปถึงความเป็นรูปพรรณสัณฐานของโครงกระดูก มันเห็นว่ามันมีอวัยวะภายในแออัดอยู่

สวดมนต์..ถ้ามีสมาธิมากพอ แล้วพิจารณากายอยู่ หลายคนมาพูดนะ บอกว่าเห็นตับไตไส้พุง คนฟังก็ เฮ้ย เพ้อรึเปล่า หรือไปแล้วสวดมนต์จนเพี้ยน สวดมนต์จนบ้าไปแล้ว จริงๆแล้วการสวดมนต์เนี่ย มันก็คือการสร้างกล้องเอ็กซเรย์ขึ้นมา มันค่อยๆเกลี่ยหน้าดินที่มันปกคลุม เนี่ยเนื้อหนังภายนอกที่มันห่อหุ้มอยู่เนี่ยนะ ผมเปรียบเหมือนกับหน้าดินที่มันสกปรกหลังฝน มันมาคลุม มันมาบังความจริงภายในอยู่

ทีนี้ถ้าเรามีสมาธิก็เหมือนกับเอาน้ำฉีดไล่หน้าดินนี้ออกไป มันจะรู้สึกเหมือนกับว่า กายนี้ใสขึ้น ใสขึ้นๆ แล้วข้างในเนี่ย มันค่อยๆปรากฎขึ้นมา คนที่คิดว่าบ้า คนที่คิดว่าเพี้ยนเนี่ย ก็เป็นคนที่มีแต่ความฟุ้งซ่านห่อหุ้มอยู่ตลอดชีวิตนะ มันก็เลย บางทีฟังแล้วไม่เข้าใจ นึกไม่ออกว่าเค้าไปเห็นอะไร ฉะนั้นจริงๆแล้ว ปฏิบัติได้อะไรที่มนุษย์มนาอื่นเค้าฟังแล้วไม่เข้าใจเนี่ย ก็อย่าเล่า อย่าพูดจะดีกว่านะ

คือสรุปว่า การสวดมนต์ ถ้าหากว่าได้องค์ประกอบของความพร้อมบรรลุธรรม คือมีสติรู้กายใจนะ มีมุมมองที่เป็นธรรมะ เห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนและก็มีความต่อเนื่อง มีความอิ่มอกอิ่มใจ มีความสงบระงับ กายใจมีความตั้งมั่นรับรู้ และก็เป็นกลางวางเฉยอย่างนี้ มีสิทธิ์บรรลุธรรม 

คือต้องไปพิจารณา แล้วก็ทราบด้วยตัวเองว่า การสวดมนต์ของเรามันมาถึงจุดที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ประชุมพร้อมกันอยู่รึเปล่า ถ้ามีเราก็จะทราบด้วยตัวเองว่า ความรู้สึกว่ามีเรา ความรู้สึกว่าเรากำลังปฏิบัติไปเพื่อที่จะอารางวัลให้ตัวเอง เอามรรค เอาผลให้ตัวเองเนี่ย มันค่อยๆร่อยหรอ หรือว่าเบาบาง หรือว่าขาดหายไปทีละน้อย จนกระทั่งขาดสูญ มันไม่มีตัวผู้รับรางวัล มันมีแต่จิตที่ถูกถอดอุปาทาน ความหลงผิด ความเห็นผิดออก เหลือแต่ธรรมะล้วนๆ ธรรมะรู้ธรรมะ สภาวะธรรมรู้สภาวะธรรม คือสภาวะของใจ รู้สภาวะของตัวเองเนี่ย รู้สภาวะภายนอก รู้สภาวะทั้งจักรวาลว่า มันกำลังทำงานอยู่แบบหนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ว่าเป็นความฝันนะ มันมีตัวตนของมันจริงๆ แต่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ภาวะบุคคล มันมีแต่ภาวะปรุงที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมา

เนี่ยอย่างสวดมนต์ไป อยู่ๆเกิดความรับรู้ขึ้นมา เออนี่ที่ตั้งของตา เป็นสถานีที่ตั้งของตา ไม่มีตาของเรา ไม่มีตาของเราเห็นรูป มีแต่สภาวะทางตา สภาวะแก้วตารับรู้รูปภายนอก แล้วมันก็มีการปรุงแต่งขึ้นมาทางใจนะ ยึดเอาว่า นั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเขา เป็นการทึกทักเอาของจิต เป็นการยึดเอาของจิตที่ปราศจากพุทธิปัญญา ยังมีอวิชชาห่อหุ้มอยู่ เห็นไปเรื่อยๆอย่างนี้เนี่ย ไม่ว่าจะอยู่ในท่าสวดมนต์ ไม่ว่าจะอยู่ในท่าเดินเล่น ไม่ว่าจะอยู่ในห้องน้ำ ไม่ว่าจะอยู่บนเครื่องบิน จะเหินฟ้า จะเดินดิน หรือว่าจะดำดินอยู่ก็ตาม หรือดำน้ำอยู่ก็ตาม มีสิทธิ์บรรลุธรรมได้หมดนะครับ