วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บอกไม่หมดเพื่อผลประโยชน์ได้หรือไม่

ถาม - ผมทำการค้า หลายครั้งบอกความจริงกับลูกค้า แต่บอกไม่หมด เหมือนบิดเบือนข้อมูลไป ถือว่าเป็นการผิดศีลเรื่องการพูดปดหรือไม่ครับ? (ดังตฤณ)

จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่

ดังตฤณ: 
ถ้าเจตนา เราต้องการกล่อมคนฟังให้ถึงขั้นเข้าใจผิดจากความจริง ก็เรียกว่าเป็นการมุสาทั้งนั้นครับ จะด้วยวิธีบอกทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทั่งใช้ภาษากายเป็นอุบายล่อตาก็ตาม เจตนาทำให้คนดูหรือคนฟังสำคัญผิดจากความจริงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง คือมุสาวาทเต็มขั้น

กล่าว กว้างๆอย่างนี้ ความจริงในภาคปฏิบัติต้องดูเป็นเรื่องๆด้วยครับ บางทีคุณไม่ได้พูดโกหกแม้แต่คำเดียว ทว่าเจตนานั้นฉ้อฉล ทำให้คนฟังหลงกล กลับความเข้าใจจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำ อย่างนี้ก็เข้าข่ายมุสาวาท ตรงข้าม แม้คุณไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นพ่อสอนลูกด้วยการอุปมาอุปไมยหรือยกนิทานมาเล่าเป็นการสาธก แต่ลูกเกิดความเข้าอกเข้าใจสัจจธรรมอย่างถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายมุสาวาท

ในหลาย กรณี ถ้าเราพูดความจริงตามหน้าที่ โดยคิดว่าหน้าที่ของเราให้ข้อมูลเขาได้แค่นี้ ก็ถือว่ารอดตัว ยกตัวอย่างเช่นทีมแพทย์ตกลงกันว่าจะบอกญาติคนไข้ว่าผลการผ่าตัดมีโอกาส สำเร็จต่ำ ทั้งที่นึกๆอยู่ในใจว่าไม่มีทางสำเร็จเลย อย่างนี้ก็ไม่นับเป็นการโกหก เพราะผลยังไม่ปรากฏชัดเจนแน่นอน เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครรู้จริง

สำหรับพวก ที่ต้องติดต่อค้าขายอาจเลี่ยงยาก เพราะไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลด้านเดียว แต่มักต้องให้ข้อมูลด้านอื่นที่ผู้บริหารสั่งมาด้วย เริ่มต้นอาจเป็นกตัตตากรรม คือคุณจำใจโกหกตามคำสั่งโดยไม่ยินดี แต่พอทำบ่อยๆจนชิน กลายเป็นความเต็มใจ ในที่สุดก็เป็นกรรมของคุณเองได้ พูดง่ายๆคือใจหมดความรู้สึกผิดเมื่อใด ตรงนั้นคือมุสาวาทเต็มขั้นแล้ว

บางทีอยู่ ในโลกก็หลีกเลี่ยงบาปกรรมยากครับ คุณต้องรักษาศีลสะอาดผ่องแผ้วพอจะไปเกิดในสังคมอารยะที่ไม่มีการโกหกเลย เอาเป็นว่าถ้าจำเป็นต้องโกหกก็ขอให้รักษา 'ความไม่ยินดี' ไว้ บอกตัวเองว่าเราไม่อยากอยู่ในวงจรแห่งการมุสาเลย วันนี้เราทำเขา วันหน้าก็ต้องโดนเขาทำบ้าง เมื่อใดคุณขาแข็งพอจะปลีกตัวออกมาจากวงจรเดิมๆเสียได้ก็อย่าช้าแล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น