ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่านพบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ
คืนวันเสาร์สามทุ่มคืนนี้นะครับ
เราจะมาคุยกันเรื่องที่เป็นแก่นสารของพุทธศาสนานะครับ
สมัยนี้เนี่ยเวลาพูดเรื่องมรรคผล
มันมีอยู่สุดโต่งสองขั้วๆหนึ่งบอกว่า มันพ้นสมัยไปแล้วยุคนี้ไม่มีใครทำได้หรอกนะ
แล้วก็ไม่กล้าหวังกัน ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้มรรคผล ดูเป็นเรื่องเกินตัวมากๆ
ดูเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ฉันในชาตินี้ที่จะมีสิทธิ์
ทั้งๆที่ พุทธศาสนาพระพุทธเจ้าอุตส่าห์ลำบาก
ก่อตั้งพุทธศาสนามาก็เพื่อหวังว่า คนจะได้มีเป้าหมายได้บรรลุมรรคผลกันทั้งพระและฆราวาส
ฆราวาสนี่คือ
ขั้นต่ำสุดที่พระพุทธเจ้าท่านให้หวังได้คือ พระโสดาบันนะ บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันกัน
ทีนี้ดียังไงจะต้องทำยังไงให้ถึงอะไรต่างๆเนี่ย บางทีพอไม่รู้ พอเหมือนกับไม่เข้าใจเนี่ย
ก็ยุคสมัยเราสองพันปีล่วงมาก็กลายเป็นว่า มันเป็นเรื่องเกินตัว มันเป็นเรื่องที่ ใครคาดหวังถือว่าเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงทางธรรม
เกินกว่าที่มันจะเกิดขึ้นได้
ทีนี้สุดโต่งอีกขั้วหนึ่งคือ
เมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้วระยะนึง
หรือได้ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์สำนักใดสำนักหนึ่งที่ท่านให้คำรับรอง
หรือว่าให้การสนับสนุนส่งเสริมว่า เนี่ยเธอมีสิทธิ์อะไรแบบนี้เนี่ยนะ
อย่างนี้ก็จะไปอีกข้างนึง คือเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เรามีสิทธิ์ แต่เมื่อไหร่ล่ะ
อันนี้ไม่รวมสำนักประเภทที่เข้าไปปุ๊บได้บรรลุปั๊บนะ
อันนี้เราไม่เอามานับนะ ไม่เกี่ยวกันนะครับ ก็คืออยู่ส่วนของ..ให้แฮปปี้ (Happy) ไปกับความเชื่อแบบนั้นไปนะครับ ไม่ว่ากัน
แต่ถ้าเราจะพูดตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ก็คือ
ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานสี่ได้แบบที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้
อย่างช้าไม่เกินเจ็ดปีต้องได้อนาคามิผล ถ้าไม่อรหันต์ก็พระอนาคามี
อย่างกลางเจ็ดเดือน แล้วก็อย่างเร็วเลยถ้าปฏิบัติสติปัฏฐานนะ ไม่ใช่ฟังธรรมต่อหน้าต่อเบื้องพระพักตร์นะครับ
ถ้าปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยตนเองเนี่ยเจ็ดวันอย่างเร็วนะครับ ก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นไป
ทีนี้คือ
พอเรามีความรู้แบบครึ่งๆกลางๆว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี
บางคนบอกว่าฉันปฏิบัติมาสิบสี่ปีแล้ว สองเท่าของสเปคที่พระพุทธเจ้าท่านขีดเส้นไว้เนี่ย
ทำไมไม่เห็นบรรลุเสียที นี่แบบนี้มีกันเยอะมากนะ คือวัดกันเป็นปีแต่ไม่วัดกันเป็นใจ
ไม่วัดกันเป็นเส้นทางว่าถูกตรงมาตามสัมมาทิฏฐิหรือเปล่า
อันนี้ มันมีผลให้ปฏิบัติไปปฏิบัติมาเนี่ย
มักจะเกิดความร้อนใจ มักจะเกิดวความรู้สึกกระวนกระวาย มักจะเกิดความรู้สึกวกวนอยู่ข้างในว่าเมื่อไหร่จะได้บรรลุซะที
แล้วพอคิดอย่างนี้ทีไร มันก็มองไปในจินตนาการในภายภาคหน้าที่มองไม่เห็นว่า พ.ศ.ไหน
เดือนอะไร วันที่เท่าไหร่ ชาตินี้หรือว่าชาติหน้า หรือว่ากัปนี้กัปกัลป์หน้าอะไรแบบนี้นะครับ
พูดง่ายๆว่า
ยิ่งปฏิบัติยิ่งเกิดความลังเลสงสัย ยิ่งเกิดความท้อถอย ยิ่งเกิดคำถาม คำถามว่า
มันเป็นความผิดของเราหรือเปล่า มันเป็นความผิดของครูบาอาจารย์หรือเปล่า
หรือตกลงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เนี่ยเป็นจริงหรือเปล่า
โน้นคิดไปถึงโน้นเลยนะครับ มันคิดไปได้สารพัด
คนเรานะครับถ้าหากว่า
ไม่มีวิธีที่แน่นอนที่ถูกต้องที่พิสูจน์ได้นะครับว่า
เรากำลังอยู่ในเส้นทางหรือเปล่า เราเขยิบเข้าใกล้เส้นชัยไปแค่ไหนแล้วเนี่ย มันฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
วันนี้ก็เลยเอาสิ่งที่เป็นมาตรวัด
เป็นเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ชัวร์ๆเลยนะครับ
อันนี้ไม่ใช่มีใครมาคิดเองทีหลังนะครับ ตัวมาตรวัดดัชนีชี้ว่าเข้าใกล้เส้นชัยหรือยัง
วัดกันที่ใจ วัดกันที่จิต เรียกว่า โพชฌงค์ 7
แต่ผมจะเอามาสรุปให้ฟังสั้นๆง่ายๆ นะครับ
อันดับแรกเลยที่เป็นเครื่องชี้
ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “สติ” คำว่า “สติ” ไม่ใช่สติแบบธรรมดาที่รู้ว่าเราชื่ออะไร
ไม่ใช่สติแบบที่เราคิดเลขได้ ไม่ใช่สติแบบที่เราสามารถขยับไม้ขยับมือว่ายน้ำ
แต่ต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจที่ถูกต้อง
อันดับแรกเลยถ้าหากว่าเข้าใจไม่ถูกต้อง มันไม่มีทางที่จะเกิดสติแบบพุทธ
สติแบบพุทธเป็นอย่างไร
กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน น่าทิ้ง ไม่ใช่น่าเอา ยกตัวอย่าง เรื่องของความอยากได้มรรคผล
ความกระวนกระวายของคนส่วนใหญ่เกิดจากการไม่มีสติ เกิดจากความเข้าใจผิด
สำคัญผิดนึกว่า การบรรลุมรรคผลคือการได้ปรากฏการณ์ หรือได้อะไรบางอย่างเข้าตัว
เอามาครอบครองไว้ให้ตัวตนนี้ จริงๆแล้วก็คือ มันไม่ใช่ มันผิด มันผิดแบบที่เรียกว่า
แทนที่จะไปนิพพานเนี่ยนะครับ มันสวนทางออกจากนิพพานเลยทีเดียว
สัมมาทิฏฐิข้อแรก
ที่จะทำให้เราเกิดสติได้จริงๆ สติแบบพุทธนะครับ ก็คือทำความเห็นว่า
กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่เคยเป็นตัวเดิมเลย แม้แต่แค่นาทีเดียวเนี่ย
มันเปลี่ยนไปหลายสิ่งหลายอย่าง ลมหายใจอะไรต่างๆเนี่ยนะ ความรู้สึกนึกคิด
หรือดวงจิต มันผ่านไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่นะครับ มันไม่เคยมีความเป็นตัวเดิมอยู่
แม้แต่ชั่วนาทีเดียว
เพราะฉะนั้นคือ
สิ่งที่เราต้องทำ คือทิ้งความสำคัญผิด ทิ้งอุปาทานว่ามีตัวตน
ไม่ใช่ว่าไปตั้งความคาดหวังไว้ว่า เราจะบรรลุธรรมให้ได้ในชาตินี้
เราจะบรรลุมรรคผลให้ได้ภายในเจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี
ตามสเปคที่พระพุทธเจ้าขีดเส้นไว้ ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ
สติจะเกิดขึ้นจริงๆต่อเมื่อ
เราตั้งความเห็นไว้ว่า กายใจนี้เราเจริญสติดูไปรู้ไป เพื่อที่จะทิ้งความสำคัญผิด
ไม่ใช่เพื่อที่จะเอาทรัพย์หรือว่าของดี ปรากฏการณ์ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ฐานะของอริยบุคคลเข้ามาครอบครองให้คนอื่นได้เลื่อมใสนับถือ
มีนะครับประเภทที่อยากได้มรรคผล
แล้วก็พยายามทำให้คนอื่นเชื่อว่า ตัวเองเนี่ยเป็นชั้นนั้นชั้นนี้เพื่อให้คนเขามากราบไหว้
เพื่อให้คนเขามาเลื่อมใส มีมาทุกยุคทุกสมัย อย่างท่านภาหิยะก่อนที่ท่านจะบรรลุอรหันตผลก็เคยเป็นประเภทนี้มาก่อนนะครับ
ถ้ามีสติ
เราหมายถึง ถ้าตัวที่จะเริ่มคาดหวังได้ว่า จะถึงมรรคถึงผลเนี่ยนะครับ
นอกจากมีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างที่ว่านี้แล้ว
จะต้องมีสติเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติด้วย ถ้าหากว่า ยังต้องมาเค้นยังต้องมาบังคับให้มีสติจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างนั้น
ไม่ใช่สติในแบบที่พร้อมจะถึงมรรคถึงผลนะครับ
เพราะฉะนั้น
อันนี้ข้อแรกเลยคือ ถ้าจำข้ออื่นๆที่ผมจะพูดต่อไปไม่ได้
เอาข้อนี้แค่ข้อเดียวนะครับ แทนที่จะถามว่า เมื่อไหร่ฉันถึงจะบรรลุธรรม เมื่อไหร่ฉันถึงจะได้มรรคผลนะครับ
ถามว่า เมื่อไหร่ฉันถึงจะมีสติ มีสติเห็นเข้าไป ณ เวลานั้นเลยว่า กำลังมีภวะตัณหา
กำลังมีความอยากๆได้มรรคผล อยากได้ดี อยากให้ตัวเราเป็นอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งนะครับ
ตัวนี้นี่แหละถ้าหากว่ามีสติเกิดมาเป็นอัตโนมัติได้ทุกครั้ง
เห็นความอยาก แล้วก็เห็นว่านั่นผิดทางที่จะได้มรรคได้ผล
นั่นผิดทางที่จะทิ้งตัวตัณหาและอุปาทานอันเป็นต้นเหตุทุกข์ อันนี้แหละที่มันจะเริ่มแล้ว
เริ่มเข้าเค้าเริ่มมีสิทธิ์ขึ้นมารำไรนะครับว่า อยู่ที่ต้นทางได้แล้ว
หรือมีความน่าจะเป็นกับเขาได้บ้างแล้ว
อันดับที่สอง
องค์ประกอบของคนที่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผลแบบที่พระพุทธเจ้าท่านให้คำรับรองไว้นะครับ
คือมีสติอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีอาการพิจารณาธรรม
พิจารณาธรรม ในที่นี้
ต่างกันกับคิดนะครับ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ใคร่ครวญ ไม่ใช่ทบทวนหัวข้อธรรม
ไม่ใช่มาท่องกันว่า คำว่าขันธ์ห้า หมายถึงองค์ธรรมข้อนั้นข้อนี้ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ อะไรต่างๆ ไม่ใช่นะครับ
แต่เป็นการพิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ตรงหน้า
ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ต่อสติ ให้รู้ให้เห็นอยู่เดี๋ยวนั้นว่า กำลังมีอะไรปรากฏเด่นให้เรารับรู้ได้บ้าง
ยกตัวอย่าง เช่น ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกนักบอกหนาเลยว่า ให้ดูเป็นสำคัญเลยนะครับ
คือลมหายใจ
ที่ลมหายใจนี้
เรากำลังมีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีความอึดอัดหรือมีความสบายที่ได้หายใจครั้งนี้
ถ้าหากว่า เราได้เห็นตัวนี้เป็นหลักไว้ก่อน ถือว่ามีราวเกาะ มีไม้เท้า มีที่พึ่ง มีที่เกาะที่สำหรับคนกำลังยังเตาะแตะอยู่
ถ้าหากว่ามีเกาะมันไม่ล้มง่ายๆ
ถ้าเราแม่นว่าเนี่ยที่ลมหายใจนี้เรากำลังมีความสบาย หรือมีความอึดอัด ของคุณก็ดูได้ตอนนี้ทั้งๆที่กำลังฟังนี้แหละ
ยังไม่ต้องหลับตา ยังไม่ต้องทำสมาธิอะไรทั้งสิ้น สามารถเห็นได้เลยว่า ณ ลมหายใจนี้ร่างกายของเราผ่อนคลายสบาย
หรือว่ามีความเกร็ง มีความอึดอัด แล้วความอึดอัดตรงนี้ มันบอกเราว่ามันอยู่นานไหม
มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ
หรือว่าบางคนมีความชำนาญแล้ว
ไม่จำเป็นต้องพึ่งลมหายใจก็ได้ แต่เห็นเข้าไปเลยว่า
ความรู้สึกที่มันอึดอัดเนี่ยถ้าอึดอัดนะครับ
มันอึดอัดได้ประมาณนานแค่ไหนกว่าที่มันจะคลายไป
หรือถ้าหากว่า
มีความสุขส่วนใหญ่เนี่ยถ้าหากว่ามีความชำนาญในเรื่องของสมาธิ จิตมีความตั้งมั่นพอสมควรเนี่ย
บางทีมีความรู้สึกสบายผ่อนคลายอยู่นาน มีความชุ่มฉ่ำ มีความรู้สึกเพลิดเพลิน
แต่ถ้าไม่ขาดสตินะครับ ก็จะเห็นว่าในที่สุดความรู้สึกเบา
ความรู้สึกปีตินั้นมันอาจจะเพิ่มมากขึ้น พอกพูนขึ้น หรืออาจจะลดระดับลงที่จุดใดหนึ่งของเวลา
ตรงนี้แหละถ้าหากว่า รู้ได้เป็นอัตโนมัติ รู้ได้ด้วยความเคยชินด้วยความชำนาญที่ฝึกมา
นี่เรียกว่าเป็นการพิจารณาธรรม
คือพูดง่ายๆนะครับ
ตัวที่เราจะดูเลยน่ะเป็นตัวตั้งว่า อยู่ในการเดินปัญญาหรือเปล่า คือมีสติอัตโนมัติเข้ามารู้แล้วมาพิจารณาโดยมีเป้าหมายนะครับ
ชัดเจนนะครับว่าเราจะเห็นกายนี้ใจนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตน
เพื่อที่จะทิ้งอุปาทานเนี่ยตัวนี้สำคัญมาก สองข้อนี้เนี่ยถ้ามีนะครับ
ถือว่าชาตินี้มีสิทธิ์น่ะนะครับ
อันดับสาม
คือ ความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องก็เกิดจากความเพียรนั่นแหละ
ถ้าไม่มีความเพียรไม่มีทางต่อเนื่อง แล้วความต่อเนื่องเนี่ยเราต้องมาทำความเข้าใจกันว่า
ทำไมมันต้องต่อเนื่อง
เพราะว่า
การปฏิบัติเพื่อที่จะเอามรรคเอาผลเนี่ย ไม่ใช่ว่าปฏิบัติกันสองสามอึดใจ
แล้วจะเร่งร้อนใจร้อน อยากจะได้แล้วมันจะได้ขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้
แต่ต้องค่อยๆพอกพูน ค่อยๆสะสม เหมือนคนเล่นกล้าม เล่นครั้งแรกแล้วจะมีกล้ามโต
บวมขึ้นมา ตัวบวมขึ้นมาเป็นนักกล้ามชั้นยอดเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้นะครับ
แต่ไม่รู้หรอกว่าวันไหน รู้แต่ว่าทำไปเรื่อยๆ แล้วมันค่อยๆเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นมา
เขาเรียกว่า ความเข้าที่เข้าทางของกล้ามเนื้อ
อันนี้ก็เหมือนกัน
ถ้าเรามีความต่อเนื่องแบบใจเย็น ไม่มีอาการเร่งร้อน ไม่แบบว่าจะผลีผลาม
จะเอาให้ได้ ทำไปเรื่อยๆในที่สุดมันเกิดความรู้สึกขึ้นมา
อ๋อ..ความผ่องใสของจิตไม่ใช่อยู่ๆผ่องขึ้นมา ไม่ใช่อยู่ๆไปเสกอะไรปิ๊งเดียว กลายเป็นแก้วใสให้ได้อย่างใจนะครับ
แต่เวลาที่มันมีความอิ่มตัวเนี่ยนะครับ
มันใสของมันเอง มันมีความพร้อมที่จะเป็นสติ เห็นอะไรตามจริงของมันเองนะครับ
เนี่ยคือความต่อเนื่อง คือ ความเพียร
“เพียร”
ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาอย่างที่หลายคนเข้าใจ จะต้องขยันๆๆๆ อยู่ทุกนาทีไม่ใช่แบบนั้น
แต่มีความต่อเนื่องมีการทำอยู่เรื่อยๆ คือมีสติอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ
ไม่ใช่ทิ้งกลางคันนะครับ
ถ้าทิ้งกลางคันเนี่ยกี่ชาติมันก็ทิ้งแบบนี้แหละ
แต่ถ้าหากว่าเราสั่งสมความเคยชินมาที่จะทำไปเรื่อยๆนะ
นี่แหละที่เรียกว่าวิริยะของจริง คำว่า “วิริยะ” หรือ “ความเพียร” ก็คือ การไม่หยุดกลางคันนั่นเอง
ทำไปเรื่อยๆ
อันดับต่อมา
ที่จะตัดสินว่ามีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์นะครับ คือ ความอิ่มใจ หรือว่าปีติเนี่ยนะครับ
ไม่ใช่จะต้องมีความรู้สึกซาบซ่านขนลุกขนชันอะไรแบบนั้น
ความอิ่มใจในที่นี้ก็คือ
ความพอใจนั่นแหละ คือความรู้สึกมีความสุข มีความรู้สึกว่า เออได้แค่นี้พอใจแล้ว อย่างบางคนเนี่ยได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ อันนี้เรื่องเงินมีการใช้คำนี้
แต่ว่าในทางธรรม
ก็มีตรงนี้เหมือนกัน ได้คืบจะเอาศอก ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็คือว่าได้แค่นี้จะเอาสุขเกินไปกว่านั้น
ได้สมาธิอ่อนๆไม่พอใจ อยากได้ถึงฌาน
หรือเนี่ยดูรู้สึกว่ามันว่างๆละ
มันรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนละ จดจ้องจะเอา เดี๋ยวสงสัยจะเกิดมรรคผลในวินาทีใดวินาทีหนึ่งข้างหน้านี้
เนี่ยตัวนี้แหละเขาเรียกว่าความไม่พอใจ มันไม่มีทางเกิดปีติ หรือว่าความอิ่มใจขึ้นมาได้เลย
ตอนที่เรากำลังจ้องอยากจะเอาอะไรสักอย่าง ลุ้นอยากจะได้มรรคได้ผลอะไรเนี่ย
ไม่ใช่เลยนะครับ
พูดง่ายๆว่า
ถ้ากำลังมีความกระสันอยาก อยากได้สมาธิก้าวหน้ากว่านี้ อยากได้มรรคผลเดี๋ยวนี้
อันนี้สวนทางกับความอิ่มใจแน่ๆ
ฉะนั้น
ถ้าถามตัวเอง บ่นกับเองว่า เมื่อไหร่จะได้มรรคผลเสียที ถามตัวเองเลยว่า ณ เวลานี้
เรามีความรู้สึกพอรึเปล่า ถ้าหากว่ามีความพอที่จะได้เห็น ได้มีสติแล้วได้พิจารณาธรรมแล้ว
ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นอย่างไร เรามีความพอใจ เรามีความอิ่มใจที่จะรู้ ที่จะเห็นแค่นั้น
เนี่ยตัวนี้ถึงจะเป็นคำตอบนะครับ
แต่ถ้าหากว่า
กระวนกระวายไปถามคนโน้นคนนี้ เมื่อไหร่ฉันจะได้มรรคผล เมื่อไหร่หนูเมื่อไหร่ดิฉันจะถึงมรรคผลนิพพาน
อันนี้ยังไม่ใช่ตัวคำตอบของความอิ่มใจแน่นอนนะครับ
อันต่อไปคือ
มีความสงบระงับกายระงับใจ ความสงบระงับกายระงับใจ มันมาจากความอิ่มใจนั่นแหละ มันต่อเนื่องกันมา
คือถ้าคนเรามีความรู้สึกสบาย ไม่ใช่สบายแบบฉันมีความสุขเหลือเกิน วันนี้ไม่ต้องทำงานอะไรแบบนี้
อย่างนี้ไม่ใช่ความอิ่มใจที่ผมว่านะครับ
ความอิ่มใจ ในแบบที่พร้อมจะถึงมรรคถึงผลเนี่ย
ต้องตั้งต้นด้วยสติ ต้องตั้งต้นด้วยปัญญามีสัมมาทิฏฐิก่อน ทีนี้มีความอิ่มใจแบบที่จะเห็น
ในแบบที่จะรู้ ว่ากายใจนี้กำลังปรากฏสภาวะอะไรให้เห็นอยู่
กำลังแสดงความไม่เที่ยงแบบไหนให้เห็นอยู่ แล้วรู้ไปเรื่อยๆ เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ
เกิดความพอที่จะรู้อยู่แค่นี้ ไม่หวังจะเอามรรคผลอะไรอีกแล้ว
หวังที่จะได้เห็นอย่างนี่ไปเรื่อยๆ นั่นแหละในที่สุดมันเกิดความสงบขึ้นมาแบบหนึ่ง
ไม่ใช่สงบแบบแกล้งๆ ไม่ใช่สงบเกร็งตัวให้มันนิ่งทื่อนะครับ
แต่เป็นความรู้สึกสงบออกมาจากฐานของความเบาภายใน
มันเหมือนกับข้างในไม่มีตัวอะไรแข็งๆ ที่มันอยู่ข้างในมีแต่ความว่าง มีแต่ความเบา
แล้วรอบนอกของจิตเหมือนกับไม่มีอะไรห่อหุ้ม
ตัวที่มันรู้สึกว่า
ว่างเปล่าสบายเป็นอิสระ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องดิ้นรนก็ได้
ไม่ต้องขยับไปคิดก็ได้ ไม่มีเรื่องให้ต้องคิด ไม่จำเป็นต้องคิดก็ได้
ไม่มีเรื่องให้ต้องทำ ก็ไม่จำเป็นต้องไปดีดดิ้นวุ่นวาย
ความรู้สึกว่า
กาย ใจ สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องว้าวุ่นไปตามโลก ไม่ต้องเร่าร้อนไปตามโลกนี่แหละ มันจะปรับตัว
เข้าสู่ภาวะที่เบา ที่มีความรู้สึกว่า ไม่อยากจะกระดุกกระดิก กระสับกระส่าย
คือไม่ใช่ว่าเราจะนั่งนิ่งทื่ออยู่ตลอดเวลาตลอด 24 ชั่วโมง
แต่ว่าเวลาขยับเนี่ยไม่ต้องขยับแบบเร่งร้อน ไม่ต้องขยับแบบเกร็งเนื้อเกร็งตัว
คุณสังเกตไหม
ถ้าคุณเป็นคนใจร้อน บางทีแค่จะลุกเดินไปห้องน้ำ ก็มีอาการเกร็งขึ้นมมาแล้ว
มีอาการไม่เป็นสุขขึ้นมาแล้ว มีอาการรู้สึกทึบๆขึ้นมาแล้ว
หรือแม้กระทั่งว่า
ถ้าเรากำลังจะต้องคิดอะไรถึงเรื่องวันพรุ่งนี้ ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะต้องกลุ้มใจเลย
ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยอะไร แต่มีความทุกข์ไปล่วงหน้า ประหนึ่งว่าพรุ่งนี้มันเกิดผลเป็นลบขึ้นมา
แล้วก็มีความรู้สึกกระสับกระส่าย นี่แหละตัวนี้เนี่ยแหละที่เรียกว่ามีความดิ้นรน
ถ้าหากว่าใจมีความเบา
แล้วหมดความดิ้นรนนะครับ มันจะสงบ ทั้งภาวะภายในนะ ออกมาจากใจเลย
แล้วก็ภาวะภายนอกที่ตอบสนองกับความไม่ดิ้นรนของใจนะครับ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าปัสสัทธิหรือว่า
ความสงบระงับกายใจนะครับ กายใจไม่กวัดแกว่ง สำนวนที่เป็นของพระพุทธเจ้านะครับ
เมื่อสงบระงับกายใจ
สิ่งที่มันจะเกิดเป็นธรรมดาก็คือ จิตมีภาวะรู้มากกว่าคิด
คือไม่ใช่ไม่คิดซะเลยนะครับ คิดแต่ว่าคิดน้อย และคิดเข้าเป้า แล้วได้ประสิทธิภาพประสิทธิผล
คนบางคนคิดวุ่นวาย
คิดหนักแล้วก็หาโน่นหานี่อะไรมาประกอบเป็นข้อมูล แต่ปรากฏว่าคิดผิด ตัดสินใจพลาด
ในขณะที่บางคนรู้น้อยแต่ตรงเป้า คิดน้อยแต่มันใช่จุดที่มันควรจะต้องคิด
แล้วคิดแค่ไม่กี่นาทีแล้วเลิกคิด เนี่ยตัวนี้บางทีนะครับก็ทำงานได้มากมายมหาศาลจนคนงง
อย่างนักประดิษฐ์บางคน
ปีนึงจดสิทธิบัตรลิขสิทธิ์ทางปัญญาไม่รู้กี่สิบชิ้น อันนี้ก็เพราะว่าเวลาที่เขาคิดคือเขาคิดเป็นน้ำไหล
ไม่ใช่น้ำวน น้ำไหลเป็นเส้นตรง แล้วก็ไหลเอื่อยๆ ไม่ใช่ไหลแบบเร่งร้อนนะครับ
การที่เรามีกระแสความคิด
ในแบบที่มันพร้อมจะได้เข้าเป้า มันจะไม่มีอาการว้าวุ่น มันจะไม่มีอาการแบบคิดมาก
มันจะไม่มีอาการแบบคิดซ้ำคิดวน คิดเสร็จแล้วจบนะครับ
ตัวนี้เนี่ยลักษณะของจิตตั้งมั่นเนี่ยมันก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือว่าพอสงบระงับกายใจแล้ว
ไม่มีเรื่องต้องคิด มันก็อยู่ในอาการรู้ อยู่ในอาการรู้สึกว่า
เออเนี่ยกำลังมีความสุข หรือว่ากำลังมีความทุกข์ มีอาการเกร็ง หรือว่ามีอากรผ่อนคลาย
แค่มีความพอใจอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆนะครับ
รู้แค่นี้เนี่ยมันกลายเป็นการผนึกรวมของกระแสจิตขึ้นมา กลายเป็นฐานความตั้งมั่น ที่จะรับรู้มากกว่าคิด
แม้แต่ความคิดก็กลายเป็นสิ่งถูกรู้ไป ตัวนี้คือลักษณะของจิตตั้งมั่นนะครับ
และข้อสุดท้ายคือ
รู้เป็นกลางวางเฉย หรือที่เรียกว่าอุเบกขา คำว่า “อุเบกขา” ไม่ใช่ว่าทำใจเฉยนะครับ
แต่ในที่นี้ ตัวที่จะบอกว่ามีสิทธิ์บรรลุมรรคผลก็คือว่า เวลารู้เข้ามาในภาวะของกาย
เวลารู้เข้ามาในภาวะของใจ ไม่ว่าจะปรากฏเป็นบวกหรือเป็นลบ สว่างหรือมืด ว้าวุ่น หรือสงบก็ตามเนี่ย
รู้แบบที่มีปัญญาประกอบนะครับว่า สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่นี้
ปรากฏให้ดูชั่วคราวแป๊บนึง เดี๋ยวมันก็หายไปไม่เห็นต้องไปดิ้นรนอะไรกับมัน
เนี่ยตัวนี้ที่มันเป็นกลางวางเฉย และความเป็นกลางวางเฉยเนี่ยไม่สามารถยกมาพรรณนาได้
ไม่สามารถยกมาจาระไนเป็นภาษาว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร แต่เราพอจะประมาณได้นะครับว่า
ไม่มีความว้าวุ่นไปกับมัน
อย่างพอเห็นสภาวะอะไรสักหนึ่งในกายใจกำลังปรากฏอยู่อย่างชัดเจนว่าเนี่ยไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่อะไรที่มันจะอยู่นาน คนที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังกิเลสบ้านๆอยู่นะครับ
นึกว่าสำคัญว่าตัวเองน่าจะได้มีสิทธิ์มรรคผลในเวลานั้นแล้วโมเมนต์(Moment)นั้นแล้วเนี่ย ก็มักจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เนี่ยภาวะที่เราเห็นอนัตตาชั่ววูบไปเมื่อกี้เนี่ย
มันกำลังจะส่งให้เราได้บรรลุมรรคผล เนี่ยตัวตนกลับมานะครับ มันไม่ใช่การวางเฉยแล้ว
ถ้าเป็นกลางวางเฉยแบบพร้อมจะบรรลุมรรคผลนะ
พอเห็นอะไรที่มันผ่านมาผ่านไป หรือว่าเห็นอนัตตาปรากฏอยู่ชัดๆ เนี่ยกายใจ เนี่ยที่นึกว่าเป็นเรามาชั่วกัปชั่วกัลป์
พอปรากฏเป็นกระดูกฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีจิตมีใจครองกายอยู่
ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของจิต
ที่อ้างได้ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา มีแต่ว่ากายอยู่ส่วนกายในฐานะผู้แสดง
จิตอยู่ส่วนจิตในฐานะผู้รู้ผู้ดู เนี่ยตัวนี้พอมันเห็นอย่างนี้แล้วเกิดความรู้สึกไม่ปรุงต่อ
ไม่คิดต่อว่าแล้วเดี๋ยวยังไงต่อ แล้วเมื่อไหร่จะได้มรรคผลนะครับ
สักแต่รู้สักแต่ดูไป อันนี้แหละที่เรียกว่า มันจะเพิ่มความเป็นกลางวางเฉยมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งรู้สึกราวกับว่า
ไม่มีใครดูอะไร มีแต่สภาวะธรรมดูสภาวะธรรมอยู่ มีแต่ตัวจิตรู้ภาวะของกาย รู้ภาวะของการปรุงแต่งจิต
เป็นอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ ชัง หรือว่าชอบ หรือแม้กระทั่งตัวของจิตเอง
ที่มีภาวะผ่องใสบ้าง หม่นหมองบ้าง มีภาวะที่เป็นกุศลบ้าง มีภาวะที่เป็นอกุศลบ้าง
ไม่มีใครอยู่ในความเป็นกุศล ไม่มีใครอยู่ในความเป็นอกุศล
เนี่ยตัวนี้แหละที่ถึงจุดหนึ่ง มันจะไม่หาอะไรเลย มันจะไม่เอาอะไรเลย นอกจากการรู้สิ่งที่มันกำลังปรากฏอยู่ชัดๆอยู่เดี๋ยวนั้นนั่นแหละ
ตัวนี้คือความเป็นกลางวางเฉยที่แท้จริงนะครับ หรือที่เข้าขั้นสังขารุเปกขาญาณนะครับ
สรุปว่า
ถ้าเราจะเกิดข้อสงสัยขึ้นมาอีกว่า เมื่อไหร่ฉันจะบรรลุธรรมเสียที ถามตัวเองใหม่ว่า
เมื่อไหร่ฉันจะมีสติรู้ความอยากเสียที พอมีสติรู้ก็พิจารณาธรรมไป พิจารณาว่า มันไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเดิม
ไม่ใช่ตัวตน พิจารณาให้ต่อเนื่องด้วย มีสติให้ต่อเนื่อง จนกว่าจะเกิดความรู้สึกว่า
แค่นี้ก็พอ แค่นี้ก็อิ่มใจแล้ว ไม่ต้องเอามรรคเอาผลก็ได้
ไม่ต้องเอาความสิ้นกิเลสก็ได้
เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะเนี่ย
เบื้องต้นให้เอาตัณหาละตัณหา คือหมายความว่า อยากได้มรรคผลไม่เป็นไรนะครับ
แต่พอเริ่มลงมือปฏิบัติจริงๆเนี่ยเราต้องเห็นอย่างถูกต้อง
ไม่เอาตัณหามาปฏิบัตินะครับ แต่เอาตัณหามาเป็นอุปกรณ์ที่เราจะพิจารณารู้ว่า
มันไม่มีอะไรเลยนอกจากพุ่งๆไปของจิตนะ เนี่ยพอมีความพอใจมีความอิ่มใจ เกิดความสงบ
ระงับอกระงับใจ ระงับความกวัดแกว่งทางกายขึ้นมาได้ ไม่มีกระสันอยากในทางโลก
จิตมันก็มีความตั้งมั่น ผนึกตัวรวมกันลงมาแล้ว
เข้าสู่ภาวะรู้อย่างเป็นกลางวางเฉยนั่นเองนะครับ
เอาล่ะก็ถือว่า
เป็นการตอบโจทย์สำหรับคนที่สงสัยว่า เมื่อไหร่จะบรรลุธรรมเสียที
เมื่อไหร่จะได้มรรคผลเสียทีนะครับ เปลี่ยนเป็นว่า เมื่อไหร่จะมีสติเสียที!
ช่วงฟัง ))เสียงสติ((
แผ่เมตตา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์ ๑๖ พ.ย. ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน เมื่อไหร่จะบรรลุธรรมเสียที?
ระยะเวลาคลิป ๓๑.๒๒ นาที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น