วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

รู้สึกถึงลมหายใจได้ละเอียดขึ้น เช่น รู้สึกถึงหลอดลม ปอด ควรฝึกต่ออย่างไร?

ผู้ร่วมรายการ : พยายามหายใจเข้าออก ตอนแรกก็จะรู้สึกที่จมูกแล้วไปรู้สึกอีกทีที่ท้องพอง วันถัดๆมาสามารถรู้สึกว่ามันมาที่ปอดกับจมูก แล้วเหมือนปอดเรายกขึ้น เสร็จแล้วไปที่ท้อง แล้วตอนนี้เริ่มละเอียดขึ้น มันค่อยๆรู้สึกถึงหลอดลม อย่างนี้ถูกทางหรือว่าไม่ถูกทาง แล้วต้องทำอย่างไรต่อ แต่ก็รู้สึกสนุกนะคะ แล้วอยากรู้ว่าเราจะทำอะไรได้อีกจากตรงนี้ ค่ะ

ดังตฤณ :  อันดับแรกเลยผมจะบอกอย่างนี้ ถ้าหากเรารู้อะไรก็ตามที่มันเข้ามาในความเป็นกายนี้ในความเป็นใจนี้ นั่นเป็นก้าวแรกที่ถูกต้องแน่แล้ว เพราะว่าแนวทางการเจริญสติที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านไม่ได้ออกนอกขอบเขตกายนี้ใจนี้ อันนี้เป็นอันดับแรกที่จะให้ทำความเข้าใจ

อันดับที่สองคือ พอเรามีความสนุก นี่ก็สำคัญ มันชี้ให้เห็นนะว่าเราจับจุดถูก เราเห็นความคืบหน้า แล้วก็เรามีความรู้สึกติดใจ ที่บอกว่ารอดูว่าเดี๋ยวจะเห็นอะไร ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นลางบอกความก้าวหน้าความคืบหน้าที่มันจะเกิดขึ้นต่อๆไป

ทีนี้เรื่องของรายละเอียด ที่บอกว่าเห็นลมหายใจเข้าไปที่จมูก แล้วก็รู้สึกถึงหลอดลม รู้สึกถึงปอดอะไรต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าจะชี้ถูกชี้ผิด อันนี้คือรายละเอียดอันเกิดจากการมีสติรู้ตามจริงว่าลมหายใจกำลังเป็นอย่างไรอยู่ ณ บัดนั้นนะครับ

ถ้าหากว่าเรามีสติคมชัด มันจะเห็นอะไรที่เป็นรายละเอียดมากกว่านี้ได้อีกเป็นร้อยเท่าเลย หรืออาจจะเห็นรายละเอียดน้อยกว่านี้ นั่นไม่ใช่สาระที่เราจะเอามาเป็นประเด็นชี้ถูกชี้ผิด

สาระที่เราจะใช้เป็นตัวบอกว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า มาถูกทิศถูกทางมั้ยคือ การที่มีสติประกอบ มีความเข้าใจประกอบอยู่เป็นทุน แล้วก็มามีสติ ณ ขณะที่เห็นลมหายใจนั้นว่า ที่ผ่านเข้าผ่านออก มันเห็นความไม่เหมือนเดิมบ้างมั้ย อันนี้คีย์เวิร์ดที่สำคัญมากที่สุดในการปฏิบัติแบบพุทธเลยนะครับ

คนส่วนใหญ่ ๙๙.๙๙ จะไม่ถึงจุดนี้ทั้งชีวิต คือเท่าที่เห็นมา อันนี้จากประสบการณ์ ๓๐ กว่าปี เท่าที่เห็นผู้ปฏิบัติมา ส่วนใหญ่จะมาหยุดอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่ง ถ้าไม่เป็นความรู้สึกว่าเห็นรายละเอียดชัดแบบที่คุณบอกมา ก็เป็นความสุข หรือว่าเป็นความมีสติอย่างใหญ่จิตใหญ่ขึ้น เป็นสมาธิขั้นอุปจารบ้างขั้นฌานบ้าง แล้วก็จะหยุดอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าหากว่ามองแบบพุทธ อันนี้จริงๆแล้วเป็นจุดเริ่มต้น เราเข้าท่าเข้าทางแล้ว มันเข้ามาในกายใจแล้ว แล้วเราสนุกด้วย แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นอันดับต่อไปก็คือความเข้าใจ ความเข้าใจเนี่ย สำคัญกว่าสมาธิ เพราะว่าเมื่อมีความเข้าใจ เราจะมีสติสังเกตถูกอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจ เราจะเล็งเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง พอมีสมาธิแล้วหยุด พอมีความสุขแล้วพอ พอมีความปีติมหาศาลรู้สึกว่าเราเข้าไปอยู่ในโลกใบใหม่ อันนั้นถือว่าเข้าเส้นชัยแล้ว บางคนเข้าใจว่าถึงนิพพานไปแล้วด้วยซ้ำ

ทีนี้ถ้าเราเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น คือเราถามตัวเองทุกวันว่า วันนี้ตอนที่เราดูลมหายใจอยู่เนี่ย ไม่ว่าจะเห็นรายละเอียดน้อยหรือมากก็ตาม เราเห็นความไม่เหมือนเดิมของมันบ้างหรือเปล่า ถ้าเห็นความไม่เหมือนเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแสดงถึงความก้าวหน้าแบบพุทธ

แต่ถ้าหากว่าเราเห็นรายละเอียดมากขึ้น มากขึ้น จิตใหญ่มากขึ้น มากขึ้น มีความสนุกมากขึ้น มากขึ้น แต่ไม่เห็นตัวอนิจจัง เห็นแต่ตัวเราที่ทำได้ เห็นแต่ผู้ปฏิบัติที่มีผลงานดี อย่างนี้ก็ยังไม่เข้าทางพุทธ

ทิศทางแบบพุทธคือทิศทางที่จะเห็นว่า กายนี้ใจนี้เป็นแค่เครื่องประกอบชั่วคราว มีชิ้นส่วนประกอบกันต่างๆนานา มารวมกันแป๊บนึงแล้วมันต้องแยกย้ายสลายตัว ไม่มีบุคคล ไม่มีเราเขาอยู่ในนี้ ซึ่งตรงนี้แค่จุดเริ่มต้นของการสังเกตเนี่ย นักภาวนาร้อยคน มีอยู่ไม่ถึงหนึ่งคนที่จะได้มามีโอกาสสังเกตเห็นตรงนี้

ผู้ร่วมรายการ : ให้ฝึกต่อไปก่อน แล้วเราอาจจะเห็นได้ว่ามันไม่เหมือนเดิมยังไง อย่างนี้หรือเปล่าคะ

ดังตฤณอย่างนี้นะครับ อันดับแรกเลย สิ่งที่ทำมาเนี่ย มันมาถูกทางแล้ว คือเข้ามาเห็นในกายนะครับ

อันดับที่สอง มีความสนุก

ทีนีอันดับที่สาม ต้องมีความเข้าใจ ซึ่งความเข้าเนี่ย ไม่ใช่การไปบังคับสั่งตัวเองว่า ต้องเห็นความไม่เที่ยงให้ได้เดี๋ยวนี้นะ ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ

ความเข้าใจเนี่ย มันเกิดขึ้นตรงนี้แหละ ทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ว่า ลมหายใจแต่ละลมหายใจมันไม่เหมือนเดิม แล้วที่เราจะสังเกตเห็นความไม่เหมือนเดิมได้อย่างชัดเจนก็คือ ลมหายในยาวมันพาความสุขเข้ามา นี่เรียกว่าเป็นลมหายใจแห่งความสุข

แต่ถ้าเป็นลมหายใจสั้น นี่เรียกว่าเป็นลมหายใจแห่งความรู้สึกเฉยๆ หรือกระเดียดไปทางทุกข์

ยิ่งถ้าเป็นลมหายใจสั้นมาก อันนี้ชัดเจนว่าเป็นลมหายใจแห่งความทุกข์

พอเราทำไว้ในใจแบบนี้ แล้วไปสังเกต ณ เวลาที่มันเกิดขึ้น เราจะบอกตัวเองว่า เออ มันอย่างนั้นจริงๆด้วย พอสังเกตไปสิบนาทีเนี่ย แค่สิบนาที สิบนาทีแรกในชีวิตที่เราเห็น มันจะเป็นประตู ประตูเข้าของชีวิตที่เหลือที่มันมาตามเส้นทางบรรลุมรรคผลเลย คือเราจะสังเกตไปเรื่อยๆ จับจุดถูกว่า เออ เนี่ยที่มันหายใจเข้าสบายๆเนี่ย มันเป็นลมหายใจแห่งความสุข แต่พอหายใจสั้นลง สุขน้อยลง  หรือว่ากระทั่งทุกข์เข้ามาแทน เนี่ยอันนี้กลายเป็นลมหายในแห่งความทุกข์ไปแล้ว มันไม่เหมือนเดิม แล้วพอเราสังเกตเห็นความไม่เหมือนเดิมไปเรื่อยๆได้ นั่นแหละตรงนี้แหละที่มันจะตอบข้อสงสัยเราได้เคลียร์นะครับ

คือผมบอก ณ เวลานี้เนี่ย มันอาจจะสงสัยว่าจะต้องทำยังไงต่อ จริงๆตอนนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ทำความเข้าใจไว้เฉยๆว่าเราจะดูยังไง

การทำความเข้าใจไว้เฉยๆนี่แหละ ถ้าหากว่ามันตรงทางเป๊ะเลยนะครับ อันนื้คือสัมมาทิฏฐิที่มันจะเข้ามาประกอบกับสมาธิเวลาที่เราได้ เวลาที่เราเห็นลมหายใจ เวลาที่เห็นรายละเอียดอะไรต่างๆ แล้วตอนที่เราได้จริงๆก็คือเห็นรายละเอียด เห็นความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความชำนาญที่จะเห็นได้เป็นปกติ อันนี้แหละที่จะได้จริงๆนะครับ

พูดง่ายๆต้องใจเย็นนิดนึง แล้วก็สังเกตไปเรื่อยๆจากความเข้าใจที่ถูกต้องในทิศทางนี้นะครับ 

-----------------------------------------------------

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนทดสอบไลฟ์จากคลับเฮาส์ ครั้งที่ ๒

คำถาม : รู้สึกถึงลมหายใจได้ละเอียดขึ้น เช่น รู้สึกถึงหลอดลม ปอด ควรฝึกต่ออย่างไร?

ระยะเวลาคลิป     ๘.๔๑  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=hY-ynp9XUt4&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=22

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น