ดังตฤณ : เรื่องความขี้เกียจ ขอให้จำไว้ข้อหนึ่งเลยนะ คือ ตัวความขี้เกียจ .. นี่ คีย์เวิร์ดนะ คำว่า ขี้เกียจนี่
ใจของเราผูกคำว่า ขี้เกียจ ไว้กับ ความสุข
คือ ถ้าขี้เกียจ จะสบาย ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกว่า อนุญาตให้ตัวเอง งอมืองอเท้า
รอความเจริญก้าวหน้า ลอยมาหล่นทับเราเองได้นะครับ
นี่อาการของจิตจะประมาณอย่างนี้
แต่ถ้าหากว่าขยัน จะรู้สึกว่าต้องฝืน เพราะฉะนั้น คำว่า ขยัน นี่นะ
ไม่ว่าจะขยันเรื่องที่ไม่ถนัดอะไรก็แล้วแต่ จะผูกอยู่กับคำว่า เป็นทุกข์
คือ ต้องฝืน ต้องเหมือนกับพยายามแตกต่างไปจากเดิม
พยายามเอาชนะตัวตนแบบเก่าๆ ที่ชอบอย่างไรอยู่นะครับ
พอคุณมองภาพรวมออกนะครับว่า ขี้เกียจผูกอยู่กับสุข
ขยันผูกอยู่กับทุกข์
คุณจะได้ทิศทางในการเอาชนะความขี้เกียจ ในรูปแบบใหม่ คือ
ไม่ใช่พยายามเอาชนะความขี้เกียจ ด้วยอาการกัดฟันทน
แต่เป็นการทำความเข้าใจว่า ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติ หรือว่า สวดมนต์
ในแบบที่จะทำให้ กายสบายจิตสบายได้ จะเกิดความติดใจ
แล้วก็ไม่ขี้เกียจ นะครับ
จริงๆ ที่เราขี้เกียจนี่ เพราะว่าเหตุผลเดียวเลย เพราะว่าเราผูกคำว่าขี้เกียจไว้กับความสุข
และก็ผูกคำว่า ขยัน ไว้กับคำว่าความทุกข์ คือจะมีอาการทางใจ
ที่บอกนะครับ ..ที่ผลิตคำนี้ออกมาว่า นี่ แบบนี้ ที่ต้องฝืนสวดนี่
อย่างนี้เรียกว่าทุกข์
แต่ถ้า เหมือนกับทอดหุ่ย นอนสบายอยู่บนเตียง อาการที่เหมือนไม่ต้องทำอะไรนี่
ใจ จะผลิตคำว่าสุขออกมานะครับ
ทีนี้ ถ้าเรากลับด้าน
สามารถใช้แนวทางหรือว่าอุบายอะไรสักอย่างหนึ่ง
กลับด้าน กลับขั้วเสีย ให้กลายเป็นว่า
ขยัน ผูกอยู่กับคำว่าสุข แล้วขี้เกียจไปผูกอยู่กับคำว่าทุกข์
ถ้าทำได้นะครับ ถ้ามีอุบาย แล้วเกิดสภาะนั้นขึ้นมาจริงๆ ทำได้จริงๆ จะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย
คือ จะตั้งหน้าตั้งตาสวดมนต์แบบ บางทีนี่ สวดแบบลืมโลกเลยนะครับ
สวดอย่างมีความสุข ยิ่งสวดยิ่งเป็นสมาธิ ยิ่งสวดยิ่งมีความผ่องใส
มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทางจิตวิญญาณ ก็ยิ่งสวดไปเรื่อย
บางคนนี่ จริงๆ นะ สวดแบบ ..สวดอย่างเดียวเลยเป็นวันๆ นะครับ
หลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน 4 ชั่วโมง
5 ชั่วโมง เลย
เพราะว่าจับจุดถูกว่า สวดอย่างไรจะให้มีความสุข
ทีนี้ ผมบอกแนวทาง เริ่มต้นขึ้นมาเพื่อที่จะกลับหัวกลับหาง นะครับ
ขอให้สังเกตอาการตัวเองนี่ เวลาที่สวดมนต์นะ
สวดด้วยอาการ งึมงำ หรือว่าสวดแบบ เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ
เอ้านี่ ผมให้เช็คลิสท์เลย
ถ้าสวดแบบเต็มปากเต็มคำ แนวโน้มคือ คุณจะอยากขยัน
ถ้าสวดแบบงึมงำ “อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมา ..(งึมงำ)”
ก้มหน้าก้มตาสวด อย่างนี้แนวโน้มจะขี้เกียจ
เพราะอะไร เพราะการสวดแบบงึมงำ ผลิตความทุกข์ครับ ไม่ใช่ผลิตความสุข
จะผลิตความรู้สึกว่า เมื่อไรจะจบบทสวดสักที
ในขณะที่ ถ้าสวดเต็มปากเต็มคำ เงยหน้าสวดอย่างมีจิตเปิดสบาย
อย่างนี้นี่นะ ยิ่งสวดจะยิ่งมีความเบา จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นๆ
นอกจากนั้น นะครับ มีเช็คลิสท์อีก
เริ่มต้นขึ้นมา คุณสังเกตไหมว่า อยู่ในอาการคอตั้งหลังตรง หรือว่าอยู่ในอาการที่เหมือนกับ
หน้างุ้มหลังงอ
ถ้าอยู่ในอาการหน้างุ้มหลังงอนะครับ โอกาสที่จะขี้เกียจนี่ มีสูงมาก
เพราะว่าอาการแบบนี้ เป็นอาการที่พร้อมจะปักหัวลงไปหลับ
ปักหัวลงไปนอน
ไม่มีความองอาจ ผึ่งผาย ทางธรรม ไม่มีความร่าเริงในธรรมนะครับ
ถ้าเราเชิดหน้านิดหนึ่ง คอตั้งหลังตรง อยู่ในสภาวะที่ กายเบา ใจสบาย
นะครับ
สำรวจไล่ขึ้นมาก็ได้ ฝ่าเท้า เกร็งอยู่ไหม ถ้าเกร็งอยู่ ผ่อนออก
ฝ่ามือ มีอาการกำอยู่ไหม ถ้ามีอาการกำอยู่ ผ่อนออก
ทั่วทั้งใบหน้า มีอาการขมวด มีอาการตึงไหม
ถ้าหากว่า มีอาการผ่อนคลายทั่วทั้งเท้า ทั้งมือ ทั้งหน้า นะครับ
จะมีความพร้อมที่จะสวดแบบอาจหาญ ร่าเริง ในธรรม
จะมีความพร้อม ที่จะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาเต็มปากเต็มคำ
สังเกตให้ได้อย่างนี้นะครับ ตรงนี้เป็นอุบายที่จะทำให้คุณ กลับหัวกลับหาง
จากขยันแล้วเป็นทุกข์ เปลี่ยนเป็นขยันแล้วยิ่งมีความสุข
มากขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นทุกที นะครับ
_____________________
คำถามเต็ม : จะขจัดความขี้เกียจในการลุกขึ้นมาสวดมนต์ได้อย่างไรคะ
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์ลดความฟุ้งซ่าน
คลับเฮ้าส์
วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔
ถอดคำ : จูหลีผิง
ตรวจทาน : เอ้
ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=HyTe1m0wT4k
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น