วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

นั่งสมาธิเยอะ รู้แบบลอยๆ ไม่รู้สึกกายหรือสมอง บางครั้งหลุดจากการรู้ ถูกต้องไหม?

ดังตฤณ : ธรรมะเข้ามาถึงชีวิตคุณได้อย่างไรครับ

 

ผู้ถาม : น่าจะเป็นโชคชะตามากกว่าครับ ก่อนหน้าไม่ได้เกิดความทุกข์อะไรเลย แต่มีโอกาสได้ไปทำงานในองค์กรแห่งหนึ่ง แล้วก็มีการนั่งสมาธิทุกวันตอนเช้า ก็เลยติดจากตรงนั้นมา



ดังตฤณ : ที่ผ่านมาทำแบบไหนบ้างครับ ยิ่งลงรายละเอียดได้ยิ่งดี เอาแบบที่คนอื่นไม่ได้สอน เอาแบบที่คุณทำอยู่จริงๆ ที่เคยชิน ที่จะเกิดขึ้นในการนั่งสมาธิของคุณครับ

 

ผู้ถาม : สภาวะในปัจจุบันนะครับ เมื่อก่อนผมนั่งสมาธิเยอะมากครับ แต่ปัจจุบันไม่นั่งสมาธิแล้ว

 

อาการ คือ เหมือนกับว่า เวลาอยากจะเข้า (สมาธิ) ตอนไหน ก็เข้าได้เลย

อาการที่เกิดขึ้น สภาวะที่เข้าอยู่นี่ เหลือแต่ อาการรู้ชัด ทรงอยู่ลอยๆ ที่ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีร่างกายอยู่ มีแต่อาการรู้ชัด ลอยๆ อยู่

 

สมองจะรู้สึกโปร่ง โล่ง คลาย คลายแบบคลายจริงๆ ครับ เบาสมอง และในสภาวะรู้ชัด ตรงนั้น ก็จะเห็นอาการอยู่อย่างหนึ่งครับ คือ หลุดจากรู้บ้าง  พอเห็นปุ๊บ ก็จะกลับเข้ามา เหมือนกับว่า ยังไม่ได้ไปเห็น ไปปรุงเป็นอะไร

 

แล้วเคยรับรู้ในสภาวะตรงนั้นครับ ตอนที่มันเด่นชัด ลอยๆ อยู่ โดยที่ไม่รู้สึกว่ามีกายมีลมหายใจ คือ มองไปทางไหน รูปก็เห็นอยู่นะครับ ตาก็เห็นอยู่ ก็มองเห็นอยู่ แต่สมองตอนนั้นเหมือนกับ ไม่มีการประมวลว่า มันคืออะไร  ทั้งเสียง ทั้งจมูก ไม่ปรุงว่า ที่เห็น ที่รับเข้ามา คืออะไร

 

เหลือแต่การ รู้ชัด ทรงอยู่ แล้วก็เห็นอาการ หลุดจากรู้บ้าง พอเห็นปุ๊บ ก็กลับเข้ามาทันที มารู้เหมือนเดิม จะสามารถเข้าอาการแบบนี้ได้ตลอด 



ดังตฤณ : นี่คือ คำถามใช่ไหมครับ 

 

ผู้ถาม : ผมเล่าอาการให้ฟังครับ คำถามคือ อาการอย่างนี้ เป็นอาการที่ปฏิบัติมาถูกทางแล้วหรือยัง? คือ ผมไม่ได้เข้าสมาธิแล้ว เข้าก็เข้าได้เลย



ดังตฤณ : ที่เห็นมานี้ ถือว่าถูกแล้วก็ดี แต่ที่ขาดไปคือ ความเข้าใจ

 

ตรงนี้แหละ ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างนักทฤษฎี (นักปริยัติ) กับนักปฏิบัติ

 

ฝั่งนักทฤษฎี ก็จะบอกว่า ถ้าไม่รู้ทฤษฎีให้มากๆ เดี๋ยวหลงทางได้ หรือไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติที่แท้จริง

ส่วนนักปฏิบัตินี้ ก็จะบอกว่า ไม่อยากจะไปหัวยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีอะไรมากนัก อยากลงมือปฏิบัติ แล้วก็เห็นๆ ไปเลย

 

อันนี้ ที่สุดโต่งสองด้าน ระหว่างนักปริยัติกับนักปฏิบัติ .. นักทฤษฎีกับนักปฏิบัติ

 

แต่ถ้าหากว่า เรามาถึงตรงนี้ เราบอกตัวเองได้เลยว่า เราปฏิบัติมาพอแล้ว พอที่จะเห็นว่า ใจนี้ กายนี้ สักแต่เป็นรูป และภาวะที่เป็นความรู้สึกทางใจ สักแต่เป็นนาม ไม่มีบุคคลอยู่ในรูปในนามนี้

 

แต่ถ้าหากว่า เราขาดความเข้าใจในเชิงทฤษฎี เข้ามาประกอบ หรือไม่มีความรู้ทางทฤษฎีเป็นทุนอยู่ก่อน เราจะไปต่อไม่ถูก

 

ดูเหมือนง่ายๆ นะครับ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไปถึงตรงนี้ จะเหมือนกับเราขึ้นไปบนท้องฟ้า ที่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าอันไหนเป็นทิศเหนือ อันไหนเป็นทิศใต้ อันไหนตะวันออก อันไหนตะวันตก

 

เพราะดูเหมือนว่า ที่ว่างๆ นั้น มันว่างจนกระทั่งมองไม่เห็นพระอาทิตย์เลยด้วยซ้ำ ว่าพระอาทิตย์อยู่ตรงไหน เห็นแต่ความว่าง ความสว่าง ของท้องฟ้าที่เรากำลังลอยอยู่ ก็จะงง

 

ทีนี้ ถ้ามีความรู้ประกอบ ความรู้ตาม Roadmap ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ในเส้นทางที่เรียกว่าสติปัฏฐาน เราจะรู้ว่า ตรงนี้เรามาถึงจุดที่เห็นกาย สักแต่เป็นรูป เห็นกายสักแต่มีความเคลื่อนไหว แล้วก็ไม่มีใครอยู่ในกาย.. มีแต่รูป

 

รูปคืออะไร? พิจารณาแล้ว ก็ประกอบด้วยสิ่งที่แข้นแข็งอย่างเช่น โครงกระดูก พูดง่ายๆ ว่า ตั้งต้นขึ้นมา .. ตั้งต้นด้วยธาตุดิน .. ร่างกาย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ยกขึ้นด้วยโครงกระดูก ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ  

 

ตรงนี้ แค่เรามีความรู้ประกอบอยู่ ณ จิตที่คุณเคยได้มา หรือได้มาจนเคยชิน ก็จะเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย คือสมมติเดินอยู่ จะมีความรู้สึกว่า ที่มันเดินๆ อยู่นี่ ไม่มีคนเดิน มีแต่โครงกระดูกเดิน ความรู้สึกตอนแรกๆ อาจจะเลือนราง ..แต่พอดูไปมากๆ เข้า ทำความรู้สึกเข้าไปมากๆ เข้า จะชัดราวกับว่า มีโครงกระดูกเดินอยู่จริงๆ

 

สิ่งที่กำลังเดินอยู่ ไม่ใช่คุณ แต่เป็นกระดูกที่เป็นซี่ๆ เป็นโพรงๆ ที่ว่างๆ ขาวๆ นี่ กำลังขยับเคลื่อนไหว เตะซ้าย เตะขวา แกว่งซ้าย แกว่งขวา .. แกว่งแขน ก็คือ ระยางค์ด้านบน หรือว่า เตะซ้าย เตะขวา ก็คือ ระยางค์ด้านล่าง จะเห็นอยู่แค่นั้น ไม่มีความรู้สึกว่า มีบุคคลอยู่ในโครงกระดูก

 

หรือ ถ้าจิตมีความแจ่มชัดขึ้นกว่านั้น เห็นตับไตไส้พุง เห็นจริงๆ เลยนะครับ

 

เริ่มต้น อาจจะมีความรู้สึกว่า ชายโครงตรงนี้ ซี่โครงตรงนี้ กำหนดได้เลยว่า มีความเป็นซี่ๆ อยู่ แล้วที่ห้อยๆ ลงมานี่ มีตับไตไส้พุงห้อยลงมาจริงๆ และปอดอยู่ในซี่ ที่เรียกว่า ซี่โครง มันฝังอยู่ข้างใน วางอยู่ข้างใน

 

แล้วต่อไป ถ้าจิตยังเห็นอย่างนั้นอย่างชัดเจน จะรู้สึกว่าที่รวมๆ กัน แออัดยัดทะนานในโครงกระดูกนี้  ไม่มีความเป็นบุคคลจริงๆ วันหนึ่งก็ต้องหายไป วันหนึ่งต้องแยกย้ายกระจัดกระจายหายไป

 

ตรงนี้ จิตที่มีทิศทาง ที่จะเห็นสภาพของรูปโดยความเป็นอย่างไร ก็จะลงลึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งใน กายานุปัสสนา

ท่านจะบอกไว้ จุดที่เป็นขั้นสุดยอดของ กายานุปัสสนา คือเห็น นวสีวถิกาคือ ความจะต้องแตกสลายหายไป แยกย้ายกระจัดกระจาย หายไปเป็นธรรมดา

 

คือ ของน่ะ มันไม่จริงหรอก ตัวจริงๆ ยังไม่ได้แยกย้ายเดี๋ยวนี้ แต่นิมิตที่เกิดขึ้น จะแสดงความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของกาย ว่าวันหนึ่งต้องแยกย้ายสลายไป ณ จิตที่มันเห็นอย่างนั้น ..สมัยพุทธกาล ก็คือ จิตที่สามารถทิ้งกายได้ สมัยพุทธกาลนี่ ท่านเข้าถึงกันด้วยการเห็นแบบนั้นนะ

อันนี้ ก็จะพูดง่ายๆ สรุปว่า คุณต้องเห็นความสำคัญของเรื่องทฤษฎีบ้างแล้ว ถ้าจิตมาถึงตรงนี้ แล้วมันลอยอยู่เฉยๆ กลางฟ้า ไม่ไปไหน มันหันซ้ายหันขวาไม่ถูก แต่ถ้าหากว่า เรามีเรื่องของทฤษฎีมารองรับบ้าง จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล

 

ผมเขียนไว้ "มหาสติปัฏฐานสูตร" คุณเข้าไปดูที่ เว็บไซต์ดังตฤณดอทคอมได้เลย น่าจะรู้จักนะครับ ..

https://dungtrin.com/

 

จะมีหมวดหนังสือ .. คุณอ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่ผมยกเอาพุทธพจน์มาเป็นตัวตั้ง แล้วก็จะขยายความ น่าจะมีจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับคุณนะครับ อันนี้ คือ คำตอบนะครับ

 

ผู้ถาม : อาการที่ผมเห็นรู้ชัด ลอยๆ อยู่ แต่ผมเห็นอาการออกอาการเข้าของจิตที่มันรู้ชัด เป็นการเปลี่ยนแปลงของอาการรู้ชัด ละครับ 

 

ดังตฤณ : อันนี้ ดีแล้วที่เห็น ให้มองเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงของจิต

 

จิตนี้ ถ้า คุณสามารถที่จะโฟกัสอยู่กับที่ได้ตลอดเวลา 100% นั่นแปลว่า เป็นสมบัติของคุณ ..มันเป็นอัตตา

 

แต่นี่ เราคอนโทรลไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับกำลังของจิต ว่าจะทรงอยู่ในภาวะนั้น ได้นานหรือสั้น ถ้าหากว่าทรงอยู่ได้นาน ก็แปลว่า มีกำลังมาก

แต่ถ้าทรงอยู่ได้สั้นๆ แล้วมันก็ออกมา หลุดออกมา นี่ ก็เรียกว่า มีกำลังน้อย

 

นี่ เข้าใจไปถึงเหตุและปัจจัย คือ ไม่ใช่เราไปคาดหวังว่า ขออยู่ในภาวะที่มันเห็นแบบทรงตัวอยู่ได้ตลอดเวลา .. แบบนี้มันไปในทิศทางของการบังคับให้มันเป็นได้ดังใจ

 

แล้วถ้าเราบังคับได้ดังใจ มันจะกลายเป็นอัตตาขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่าเราพิจารณาเดี๋ยวนั้นเลยว่า เออ มันไม่เที่ยง ไม่สามารถที่จะควบคุมได้

ความเคยชินที่จะเห็นมันไม่เที่ยง แล้วก็ไม่คาดหวังนั่นแหละ จะทำให้เกิดสติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ..เห็นว่า จิตเองก็ไม่ใช่ตัวเรา

 

พอเห็นว่า จิตเองไม่ใช่ตัวเรานี่แหละ ตรงนี้แหละก็เข้าถึง จุดสำคัญที่สุดของการภาวนา

 

เพราะสิ่งที่เป็นฐานที่ตั้งที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ของอัตตา หรือที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทานหรือ อุปาทาน ใน อัตตา ..ก็ คือ จิตนี่แหละ

 

จิต นี่ ถ้าถูกมองเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวเราได้ .. จะเหมือนแก้วทะลุ 

 

คือ แก้ว ขังน้ำอยู่ได้เพราะอะไร ก็เพราะมีก้นแก้ว เหมือนกัน .. ตัวอัตตา ที่มันถูกขังอยู่ในตัวเราได้  ก็เพราะมีจิตเป็นก้นแก้ว ถ้าหากว่า เมื่อไหร่ วันไหน วินาทีใด เรารู้แจ้งขึ้นมาว่า จิตไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่ธรรมชาติที่จะต้องเปลี่ยนไป

 

เริ่มจากการสังเกตง่ายๆ ว่า เดี๋ยวบางทีก็โฟกัสได้ เดี๋ยวบางทีก็หลุดออกมา เราก็เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา เพราะจิตไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม

 

เห็นบ่อยๆ ในที่สุด แก้วก็ทะลุได้

________________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถ่ายทอดจากคลับเฮาส์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=wm-nzTJwrj4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น