วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

จิตนิ่ง จนจับลมหายใจไม่ได้

ดังตฤณ : สวัสดีครับ

 

ผู้ถาม : สวัสดีครับ กราบเรียนพี่ตุลย์ ที่เคารพอย่างสูงครับผม

 

เป็นคำถามจากน้องชายแท้ๆ ของผมนะครับ ซึ่งได้จากการปฏิบัติตาม คลิปอานาปานสติ ของพี่ตุลย์ 

 

คือ ในคลิป เจริญอานาปานสติเบื้องต้น คลิปเก่าคลิปหนึ่ง 

พี่ตุลย์บอกว่า เมื่อเห็นว่าลมหายใจ เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ไม่เที่ยง

จิตจะถอยกลับไป เหมือนกับออกไปดูอยู่ห่างๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ..

ถ้ามีความสว่าง โล่ง นั่นแหละ มีจิตผู้รู้ แบบอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว

 

อยากจะเรียนถาม 2 ข้อ ครับว่า 

ถ้าหากถึงจิตผู้รู้อ่อนๆ เสร็จแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ อันนี้ข้อหนึ่งครับ


ดังตฤณ : เอาข้อแรกก่อนนะครับ 

 

เมื่อจิต มีความเป็นผู้รู้อ่อนๆ อย่าพยายามทำอะไรเพิ่ม ณ เวลานั้น 

เพราะว่าพอพยายามทำอะไรเพิ่ม ทั้งๆ ที่จิต ยังไม่ตั้งมั่น จะเสียหมดนะ ..

 

ที่ยังไม่ได้ก็จะไม่ได้ต่อไป

ส่วนที่ได้ไปแล้ว อย่างเช่น ที่จิตเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า มีความว่าง 

ความรู้แบบว่างๆ เป็น ผู้รู้ ผู้ดู กองลมทั้งปวงอยู่

มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ผ่านเข้าผ่านออกๆ แล้วจิตก็รู้อยู่เฉยๆ


ถ้า ณ เวลานั้น ไปทำอะไรเพิ่ม ก็จะกลายเป็น คิด จะไม่ใช่ รู้

 

จะเลื่อนจากฐานของกาย มาเป็นฐานของความคิดแบบฟุ้งซ่าน

พร้อมจะฟุ้งซ่าน ซึ่งมีแต่เสียกับเสีย ไม่ได้อะไรเลยนะครับ

เรียกว่าเป็นการพยายามเพิ่มเติม โดยอาศัยความฟุ้งซ่านมาเป็นตัวนำ

ถ้าหากว่า เรารู้ โดยรู้ลมหายใจ โดยการที่เราอยากจะไปเพิ่มเติม 

อยากจะทำอะไร ที่ก้าวหน้าขึ้น ได้มีความคืบหน้าขึ้น

ตัวนั้น จะทำให้จิต แปรสภาพจากผู้รู้ลมหายใจ 

กลายเป็นผู้คิดเพื่อเอาอะไร เพื่อเอาดีเข้าตัว

หรือว่า เพื่อเอาความก้าวหน้าเข้าสู่ตัวตนของผู้ปฏิบัตินะครับ

 

จะมีตัวตนขึ้นมา ซึ่งผิดจุดประสงค์ในการทำอานาปานสติ


การทำอานาปานสติ พอเราสามารถที่จะรู้ได้แล้วนะครับ 

ว่ามีแต่ลมผ่านเข้าผ่านออกๆ จิตเป็นผู้ดูอยู่นี่ 

สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ ดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกถึงความตั้งมั่นของจิต

 

ความแตกต่างระหว่าง จิตตั้งมั่นอยู่ในอาการรู้ กับ จิตที่มีความรู้อ่อนๆ

แล้วก็พร้อมจะกลับไปคิดแบบฟุ้งซ่านวกวน หรือว่า อยากนั่นอยากนี่

มีข้อสังเกตง่ายๆ

 

จิตที่พร้อมกลับไปคิดฟุ้งซ่านนี่นะ จะไม่ดูลมหายใจเฉยๆ 

(แต่) มันจะคิดแบบนี้แหละ ..

จะคิดว่า เอาอย่างไรต่อ จะคิดว่า ทำอย่างไรจะก้าวหน้า

จะคิดว่า ที่ทำอยู่นี่ ถูกหรือเปล่า หรือว่า มีอะไรที่ต้องทำให้มากขึ้นกว่านี้

อย่างนี้ คือ รู้ครึ่งๆ กลางๆ  รู้ครึ่ง คิดครึ่ง 

 

ไม่เป็นไป เพื่อการสังเกตลมหายใจ 

ไม่เป็นไป เพื่อการแยกจิตออกมา เป็นผู้รู้แบบบริสุทธิ์นะครับ


จิตที่พร้อมจะรู้ แล้วก็พร้อมจะมีความใหญ่ขึ้น

พร้อมที่จะ รู้ทั่ว เป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร? 


พอรู้ว่า หายใจเข้า รู้ว่า หายใจออก รู้ว่า เดี๋ยวก็ยาว รู้ว่า เดี๋ยวก็สั้น

จนกระทั่งจิต เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจแล้ว 

และจิต อยู่ในภาวะที่ตั้งอยู่เฉยๆ ไม่เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายนะ ..

แม้กระทั่งความสุขที่เกิดขึ้น 

 

รสชาติความสุข อันเกิดจากจิตที่นิ่ง 

เกิดจากใจที่สบาย เกิดจากร่างกายที่ผ่อนพัก

ก็เห็นเป็นแค่ภาวะหนึ่ง ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้ยินดี 

ไม่ได้มีความอยากจะหวงไว้ ไม่ได้มีอะไรทั้งสิ้น

มีแต่ความรู้สึกว่า รู้อยู่เฉยๆ ไปเรื่อยๆ 


ทีนี้ จะรู้ให้ถึงไหน 

 

นี่ตรงนี้นะ เวลาที่เราเห็นนะ 

สักแต่เห็นว่า ลม ผ่านเข้าผ่านออก .. ผ่านเข้าผ่านออก

แล้วจิตไม่เคลื่อนไหว ไปคิด ไปอยาก ไปคาดหวังอะไรทั้งสิ้น

ถึงจุดหนึ่ง จิตจะเกิดความรู้สึกว่า มีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มีความสุขกับการได้อยู่นิ่งๆ แล้วก็รู้ แล้วก็เห็นว่า ลมหายใจไม่เที่ยง 

ไม่มีอะไรมากไปกว่าความรู้สึกว่า เออ! นี่ สบายดี 

อยู่ว่างๆ แล้วไม่สงสัยความว่างด้วย


คนทำสมาธิส่วนใหญ่นะ สงสัยความว่างว่า

ว่างแล้ว จะให้ทำอย่างไรต่อ

ว่างแล้ว จะหลงติดหรือเปล่า

จะมายึดความว่างนี้แทนหรือเปล่า

จะกลายเป็นแบบว่างแบบโง่ๆ หรือเปล่า

 

ก็จะไม่สงสัยแบบนั้น จะมีแต่ความรับรู้ว่า

เมื่อว่างอยู่ แล้วรู้ลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ เฉยๆ จะมีความสุขเพิ่มขึ้น

และความสุขที่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง

จะปรุงแต่งจิต ให้มีความขยายใหญ่ขึ้นๆ 

 

คุณจะรู้สึกเลยว่า บางทีพอสุขมาก จิตขยายออกไป 

จะเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่เกิดจากการคิดๆ นึกๆ แบบนี้

แต่จะรู้สึกว่า จิตคล้ายฟองสบู่ ที่ขยายออกไปได้ 

มีความเบา มีความบาง นะครับ

 

และในความสุข ความเบา ความบาง ของจิตที่ขยายออกไปนั้น

บางทีมันหมดแรง ก็หุบกลับเข้ามา คล้ายๆ กับไมยราพ

มีความสุขน้อยลง มีความรู้สึกคลุมเครือ หรือว่า พร่าเลือนขึ้นมาแทน

นั่น ก็จะเป็นจุดสังเกตว่า ความสุขนี่ไม่เที่ยง

 

จิตจะใหญ่แค่ไหน จะขยายออกไปเพียงใด 

เดี๋ยวก็หดกลับมา ไม่น่าตื่นเต้น ไม่น่ารักษาไว้

 

แต่น่าสังเกตนะครับว่า อะไรที่ไม่เที่ยง 

นั่นเป็น 'ของ' ของเราจริงหรือเปล่า ..ตัวนี้นะ

 

สรุป คำตอบง่ายๆ นะครับว่า 

เมื่อทำไปถึงจุดที่ จิตถอยออกมาเป็นผู้รู้ ผู้สังเกตการณ์ 

ว่าลมหายใจ มีผ่านเข้าผ่านออกๆ นี่ 

ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ต้องไปอยากได้อะไรทั้งสิ้น 

 

เอาแค่รู้อยู่นิ่งๆ อย่างนั้น 

จนกระทั่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า

ความสุขที่ได้จากความรู้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ได้อยากได้อะไรนั้น

มีความเบา มีความสบาย มีอาการเข้าไปปรุงแต่ง

ให้สภาวะของจิต ให้คุณภาพของจิตเพิ่มขึ้น ดีขึ้น

ละเอียดขึ้น ประณีตขึ้น ใหญ่ขึ้น ขยายออกไปมากขึ้น .. 

 

ผู้ถาม : แล้วถ้าหากว่า ความรู้สึกนิ่งๆ ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ จนจับลมหายใจไม่ได้ อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรต่อครับผม

 

ดังตฤณ : นี่แหละ ตัวที่จับลมหายใจไม่ได้นี่ ขอให้สังเกต

ถ้ามีสติอยู่เต็มที่บริบูรณ์ ก็จะรู้เข้ามาที่จิตของตัวเอง

ซึ่งดีกว่าที่จะ รู้ลมหายใจไปด้วย แล้วก็สงสัยว่า ต้องทำอย่างไรต่อ


เวลาที่จิต มีเป็นสภาพเป็นสมาธิขึ้นมา 

แล้วลมหายใจเบาบาง จนกระทั่งจับไม่ได้

 

หรือว่า จิต ย้อนกลับมาจับที่อาการของจิตเอง สภาวะของจิตเอง

ไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจาก 'เห็น' ว่า จิตเปลี่ยนไปอย่างไรให้ดู

ถ้าหากว่า จิตจะตั้งนิ่งอยู่กับความว่างเฉยๆ ไม่เห็นอะไรเลยก็ไม่ต้องกลัว 

อย่ากลัวว่า เดี๋ยวตัวเราจะตาย เดี๋ยวเราจะมีอันเป็นไป

หรือว่า ร่างกายนี่ จะเกิดอันตรายอะไรขึ้นนะครับ


อันดับแรก ที่ต้องทำไว้ในใจล่วงหน้า คือ อย่ากลัว อย่าคิดมาก

อย่าไปพยายามที่จะให้เกิดความคืบหน้าอะไรขึ้นมาทั้งสิ้น

ให้อยู่กับภาวะนั้น จนรู้ว่า เมื่อจิต อยู่กับจิตเอง 

แล้วก็ไม่ได้อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องตั้งของสติ

จิตจะมีความรู้ขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า 

ตัวสภาพของจิตเองนี่ จะค่อยๆ เปลี่ยนไป

 

ที่ว่าง ก็ไม่ว่างจริงนะครับ 

จะมีความสุขอยู่ในความว่างนั้น

จะมีความเบาอยู่ในความว่างนั้น

จะมีความรู้สึกว่า เรากำลังดูความว่างอยู่

ตัวนี้ ตัวที่เรากำลังดูความว่างอยู่ จะยังเป็นเศษ

เป็นส่วนของความคิดที่เชื่อมโยงกัน กับภาวะปกติตอนที่เราคิดๆ นึกๆ

 

ทีนี้ เมื่อเห็นนะ แม้แต่อะไรที่เป็นสายใยเบาบางทางความคิด ที่เกิดขึ้น 

เช่น เออ! นี่ว่างดี หรือว่า เออ! นี่ จะว่างไปถึงไหนนะ

หรือ มี เอ๊ะ อะไรขึ้นมาก็ตาม

ให้ เห็น นะครับว่า นั่นเป็นความปรุงแต่งของจิต 

ที่อยู่ในสภาพคิดนึกแบบคนธรรมดาทั่วไป

แล้วมันก็ยังคงติดตามไป ถึงจิตที่มีความว่างเป็นสมาธิแบบนั้นแหละ

 

ให้บอกตัวเองว่า นี่แหละ ตัวนี้แหละ ที่ต้องดูต่อ


จิตที่เกิดความปรุงแต่ง เป็นความคิดใดๆ ขึ้นมาก็ตาม 

ระหว่างมีสมาธิ ระหว่างรู้สึกว่าว่าง

ให้มองว่า นั่นเป็นสายใยบางๆ ที่ไม่ใช่ตัวของจิตเอง 

แต่เป็นตัวปรุงแต่งจิตให้คิดไป เรียกว่า "ธรรมารมณ์"

 

จำเป็นศัพท์ไว้ เพื่อที่จะให้สภาวะของจิตตอนนั้น ได้มีชื่อเรียก

 

ธรรมารมณ์ เมื่อเกิดขึ้น เมื่อปรากฏขึ้น ตอนที่เราจิตว่างๆ อยู่นี่นะ

ถ้าหาก เราจับได้ไล่ทัน 

วาระแรกที่ธรรมารมณ์ปรากฏ ก็จะปรากฏแบบอ่อนๆ 

เหมือนกับว่าไม่มี .. มีเหมือนกับไม่มี

 

ราวกับว่า เราไม่ได้คิด ไม่มีความคิดเกิดขึ้นเลย 

มันแทรกขึ้นมาอย่างแยบยล

แยบยลจนกระทั่ง จิตที่ไม่คุ้นกับการฝึกที่จะดูนี่ 

เกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้เกิดขึ้น นะครับ

ไม่ได้มีความฟุ้งซ่าน ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไป จากจิตที่ว่าง


ทั้งๆ ที่จริง มันแทรกเข้ามาแล้ว

 

ทีนี้ ตัวที่แทรกขึ้นมาบางๆว่า จะทำอย่างไรต่อ หรือว่า เราจะต้องดูไปถึงไหน .. เอ๊ะ นี่นานแล้ว ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นเลย เดี๋ยวจะหลงไปหรือเปล่า

เดี๋ยวจะไม่ใช่ทางของปัญญาหรือเปล่า ตัวนี้แหละ ที่ต้องดูนะ

ดูว่า พอมันก่อตัวขึ้นได้ จุดไฟติดขึ้นมา จะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ เป็นความสงสัย เป็นความรู้สึกเคลือบ .. เคลือบจิตอยู่นะครับ


ตอนแรก เราจะแยกไม่ออก แต่พอเริ่มเข้ามาสังเกตดูว่า ความคิดที่ก่อตัวขึ้นมา อ่อนๆ บางๆ นี่ ค่อยๆ ลาม ลามมาเป็นความรู้สึกว่า 

เอ๊ะ เมื่อไหร่จะเสร็จสักที เมื่อไหร่จะมีภาวะที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้

 

ตัว เอ๊ะ ทั้งหลาย .. ถ้าหากเห็นว่า ผุดขึ้นมาท่ามกลางความว่าง

มันจะเหมือนกับหมอกควันที่ปรากฏขึ้นมาแล้วหายไป 


แต่ถ้าหากว่า มันปรากฏขึ้นมา แล้วดึงใจของเรา ให้ตามไปคิดต่อได้ 

นี่ จะกลายเป็นความคิดที่หนาแน่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ 

สังเกตอย่างนี้นะครับ

พูดง่ายๆ สรุปว่า ถ้าความคิดสงสัยอะไรขึ้นมาก็ตาม

เกิดขึ้นมาแบบอ่อนๆ แล้วเรารู้ทัน

มันจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว เหมือนกับสายหมอกที่เบาบาง 

 

แต่ถ้าหากว่า มันจุดชนวนให้เกิดความสนใจ

ดึงความสนใจของเราได้ ให้คิดต่อได้

ก็จะกลายเป็นความฟุ้งซ่าน และจะไม่ใช่สมาธิจริงนะครับ

จะดึงเราให้ไขว้เขวไปจากทาง

แล้ว ถ้าความคิดที่เหมือนกับเป็นเมฆหมอกบางๆ แบบนี้ 

ปรากฏบ่อย แล้วเราสังเกต มีสติเห็นบ่อยนะ

ว่า ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความว่าง

 

ก็จะไม่ต่างจากลมหายใจ ที่ผ่านเข้าผ่านออกๆ 

โดยไม่สามารถที่จะก่อความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ขึ้นมาในใจเราได้

 

ตรงนี้สำคัญนะครับ


ถ้ากรณีสมัยพุทธกาล ท่านบรรลุโสดาบันกันนี่ 

ส่วนใหญ่ ท่านก็เห็น ความคิดของตัวเอง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั่นแหละ

 

เหมือนอย่าง ท่านพาหิยะ เลยละกัน ..ขั้นแอดวานซ์เลย

คือ ท่าน.. ท่านฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแบบสั้นๆ 

ที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ดูว่า ตาเห็นรูป .. เห็น สักแต่ว่าเห็น

ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน คิด สักแต่ว่าคิด

อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่า มันเป็นตัวเป็นตน

 

ตัวนี้ ทำให้ท่าน ซึ่งบารมีพร้อมแล้วนี่ ได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่แค่เป็นพระโสดาบันนะครับ เป็นพระอรหันต์เลย

เราก็จะจับข้อสังเกตตรงนี้นะครับ ถ้าหากว่า คุณนึกออกนะครับ

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส นี่ ท่านตรัสไล่ไปจากการกระทบที่หยาบที่สุด 

คือ ตาเห็นรูป แล้วรู้สึกอย่างไร

หู ฟังเสียง แล้วรู้สึกอย่างไร

แล้วจบลงที่ คิด แล้วรู้สึกอย่างไร 

ยึด หรือไม่ยึดว่า ความคิดนั้นเป็นตัวเป็นตน 

 

ธรรมารมณ์ เป็นตัวเราหรือเปล่านี่ ตรงนี้สำคัญมาก แล้วคนมองข้ามกันหมดเลย

 

คือ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไล่ขึ้นมาตามลำดับนี่ จะบอกว่า

ความคิด เป็นตัวสุดท้ายเลยที่เราควรพิจารณาว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน


ถ้าเราสามารถมองเห็นได้ว่า ความคิด ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่กลุ่มธรรมะ สภาวะธรรม ที่ผ่านเข้ามาในจิต

แล้วก็สลายตัว เหมือนเมฆหมอก .. ไม่ต่างจากเมฆหมอก

 

มันจะจับจิตของเรา ไม่ได้ 

มันจะตรึงจิตของเรา ให้ปักอยู่กับความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้

ตัวนี้แหละ ที่จะทำให้จิตเป็นอิสระ ถอนจากความรู้สึกว่า มีตัวมีตน


ส่วนใหญ่นะครับ ในสมัยพุทธกาล ก็เป็นโสดาบันกัน 

จากการเห็นว่า ความคิดนี่ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน

 

แต่ว่า ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะว่ายังถอนราคะ โทสะ โมหะ 

ที่มีความรู้สึกทั้งตัว เป็นตัวเป็นตนไม่ได้.. จะถอนได้แค่ความคิด


ท่านถึงได้บอกว่า พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิได้ 

คือ ถอนจากความเห็นว่า มีตัวมีตน แม้กระทั่งความคิด

แต่ว่า มีกิจที่ต้องทำต่อนะครับ ยังเป็นพระเสขะ นะครับ

คือ ยังต้องทำให้ราคะ โทสะ โมหะ หายไป

 

ซึ่ง ก็ต้องเป็นขั้นเป็นตอน

พระสกทาคามี กับ พระอนาคามี ละราคะ กับ โทสะได้ 

แต่ว่า โมหะ ยังละไม่ได้ มีแต่ พระอรหันต์ เท่านั้น ที่ละ โมหะ ละเอียดได้นะครับ

_______________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์ลดความฟุ้งซ่าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=qfl57fAo0Ws


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น