วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

แอบชอบเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ทำให้ทุกข์มาก เมื่อเจริญสติแล้วเมื่อไหร่ทุกข์จะหมด

ผู้ถาม : ปฏิบัติมาประมาณ 3 ปีครับ ค่อนข้างจะต่อเนื่อง

ในเรื่องของการดูจิต ดูเวทนา แล้วก็นั่งสมาธิ อย่างนี้น่ะครับ

แต่เหมือนช่วงนี้โดนแบบทดสอบ .. เขาจัดสรรให้เราอยู่ในจุดที่ทุกข์

แล้วเราก็ไม่สามารถหนีไปพักได้เลยนะครับ

 

คือ เหมือนว่าเราไปชอบกับเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน

เห็นกันทุกวัน ก็จะกระตุ้นให้เกิดความทุกข์ 

ตั้งแต่เช้าจนนอน จนตื่นมาใหม่อีกวันนะครับ

 

ก็เลยพยายามย้อนมาดูตัวเอง เหมือนที่พี่ตุลย์บอกว่า

ให้เป็นค่าความปั่นป่วนทางอารมณ์ ก็พยายามทำตาม

 

จุดที่ย้อนมาดู บางทีก็จะเห็นว่า ตัวเราแยกออกมา

ความทุกข์ ก็ไม่ได้หนักขนาดนั้น

แต่ว่าด้วยความที่ อยู่ด้วยกันตลอดน่ะครับ

เหมือนกิเลส เขาก็จะหาของเล่นใหม่มาทดสอบ

มาหาช่องทางความคิด หรือ จุดอ่อนของเรา

เพื่อที่จะเจาะเข้ามา แล้วก็ทำให้เราจมดิ่งกับได้อีก

เราก็ต้องไปสู้กับอย่างนั้นอีกนะครับ เพราะต้องเจอกันตลอดเวลา

 

ดังตฤณ : กรณีนี้ คือ เราสมหวัง หรือผิดหวัง คำว่าเรามีความทุกข์

 

ผู้ถาม : ผิดหวังครับ

 

ดังตฤณ : คือไม่ได้ดั่งใจ

 

ผู้ถาม :

ใช่ครับ คือ ไม่ได้ดั่งใจ แล้วเหมือนจะมี ราคะ ทุกครั้งที่เห็น

พอมี ราคะ ก็เหมือนมี โทสะ ตามเข้ามา อย่างนี้นะครับ



ดังตฤณ : ตรงนี้เป็นจุดที่ดีมากนะ

ถ้าเราเห็นนี่ เราจะเข้าใจธรรมชาติ กลไกของกิเลส

ที่กระทำต่อจิตอย่างลึกซึ้ง

 

ราคะ กับ โทสะ ก็คือเหรียญอันเดียวกัน

แค่กลับหน้าเท่านั้นเองนะ

 

ราคะ กับ โทสะ

คือ ราคะ นี่ ดึงดูดเข้า หัน.. เป็นเวลาที่ได้ด้านหัวนะ

จะ หันหน้าแบบว่า.. ไปในทางดูดเข้า

หรือว่า หันหน้าเข้าหา พุ่งเข้าหา 

 

แต่ ถ้าพลิกนิดเดียว ไม่ได้ดั่งใจนะ 

หันหน้าเข้าหาหรือพุ่งเข้าหา .. แล้วไปไม่ถึง

จะแปรตัว เป็น โทสะ

 

นี่ การทำงานของธรรมชาติกิเลส ตรงนี้ อย่าปล่อยให้ผ่านไป

ให้เรามองเข้ามาทางใจ แล้วเกิดความเข้าใจว่า พลิกกันนิดเดียวนะ

 

ตอนที่เราดูอย่างละเอียดนะ ดูด้วยจิตที่มีสติคม 

เราจะเห็นเลยว่า ตอนเจอหน้า มีความดีใจขึ้นมาวูบหนึ่ง

นั่นคือ ราคะ แล้ว

 

แต่พอรู้สึกว่า .. ไม่ใช่ของเรา

เกิดความรู้สึกอยู่ลึกๆว่า เอามาไม่ได้ เอามาเป็นของเราไม่ได้

พลิกทันที จากดีใจเป็นเสียใจ

หรือ กลั้ว ผสมอยู่ด้วยกัน ปนอยู่ด้วยกัน

 

พอเราเห็นถึงรายละเอียดอะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้นะ

เราจะสนุกกับการดูมากขึ้น

สนุกที่จะเห็น แล้วก็ไม่ไปรู้สึกว่าเป็นทุกข์ท่าเดียว 

 

แต่เพราะไม่เห็น.. บางทีนี่นะ เกิดการดีใจที่ได้เจอหน้า

เสร็จแล้วเสียใจ ที่เอามาไม่ได้

เราจะยึดอยู่แค่ ตัวความเสียใจ 

แล้วก็มองว่า นั่นน่ะ ทำให้เราเป็นทุกข์ 

 

ที่เราเป็นทุกข์ ก็เพราะว่า เราไม่สามารถมีวิธีอะไร

มาสนุกกับการเห็นการทำงานของจิต การทำงานของกิเลส

 

ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้เลยเป็น Concept พื้นฐาน

 

ถ้าหากเรามีสติ มีจุดสังเกต นับแต่ตอนเจอหน้า

หรือ ตอนที่เรากำลังมีความคิดถึง

 

ขอให้สังเกตตรงนี้นะ

มี ความดีใจ มาเป็นตัวตั้ง 

มี ความยินดี มาเป็นตัวหลอก ให้ใจของเรา ปักอยู่กับตรงนั้น

 

ถ้าเรามองเห็นใจ ณ ขณะที่ปักอยู่กับสิ่งที่น่าติด หรือว่า เหยื่อล่อนั้น

สามารถพร้อมที่จะพลิกไปเป็นอะไรก็ได้

ไม่ว่าจะเป็น ความคิดฟุ้งซ่าน จินตนาการ 

อยากได้ หรือ ฝันเฟื่อง นะครับ ถึงภาพต่างๆ นานาที่ได้มาอยู่ด้วยกัน

 

หรือ อีกทางหนึ่ง คือ เกิดความรู้สึกขัดเคืองไม่พอใจ 

มีภาพในหัวไปอีกแบบหนึ่ง

เป็นความรู้สึกอยากแช่งชักหักกระดูก

ชะตากรรมหรืออะไรก็ตาม ที่ทำให้ต้องเป็นแบบนี้ 

อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้


ตัวที่แสดง ความกลับไปกลับมา 

หรือว่า การทำงานของจิต ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่า

จะเป็น ราคะ หรือ โทสะ

พลิกกลับไปกลับมาให้เราดูอยู่อย่างนี้

 

ถ้าเราเห็น.. แล้วเห็นได้แบบ ถนัด นะ

จิต เห็นได้อย่างถนัด

จะเกิดความรู้สึก พอใจ ที่ได้เห็นการทำงานของกิเลส

หรือ การทำงานของจิตขึ้นมา

 

แล้วขอแค่ครั้งเดียว ที่เป็นต้นแบบความพอใจนั้นได้

จะมีความพอใจ ที่ได้เห็นครั้งต่อๆ มาอีก

 

คือ ไม่มีทางนะ ที่เราจะอยู่กับความรู้สึกไม่พอใจตลอด

ที่เรายังไม่พอใจอยู่ได้ เพราะมีความพอใจเป็นตัวตั้ง 

แต่เรามองไม่เห็นนะครับ

 

เรายึดอยู่อย่างเดียว คือ ความไม่พอใจ

บอกว่า นี่ ฉันไม่พอใจที่อยู่ในภาวะแบบนี้

นั่นก็เพราะว่า เรามองไม่เห็นว่า

ความไม่พอใจ นั้นตั้งอยู่บนฐานของความพอใจ

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็น 

นี่ อย่างตอนนี้ลองสังเกตดู 

ที่คุณดูใจตัวเองไป นี่ แล้วเกิดความรู้สึกว่า

เออ ทำไมเบาลงได้ .. ทำไมว่างไปกว่าเดิม

 

นั่นก็เพราะว่า เราเห็นกลไกการทำงานของจิต ของกิเลส

แล้วเกิดสติ.. 

สติที่รู้ว่า อยู่ๆ ไม่ใช่ไม่พอใจนะ

ความไม่พอใจ เกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้งอยู่เอง ไม่ได้เด็ดขาด 

ถ้าปราศจากความพอใจเป็นฐานรองรับ นะครับ

 

ผู้ถาม : ใช่ครับ ผมไปกระโดดมองที่ช็อตที่ 2 ตลอดเลย ที่ความไม่พอใจ

 

ดังตฤณ : ทุกคนในโลก ที่ไม่ได้มีโอกาสเจริญสติ

ไม่มีโอกาสทำความเข้าใจ กับการทำงานของจิต  

จะยึดสิ่งที่ตัวเอง หลงไปยึดไว้อย่างเหนียวแน่น

 

อย่างในกรณีนี้ ก็คือ หลงยึดความไม่พอใจ

แล้วก็ไม่ได้เห็นกลไกการทำงานของจิต

ไม่ได้เห็นกลไกการทำงานของกิเลส

 

อย่างเมื่อกี้ พอคุณมองเห็นปุ๊บ นี่นะครับ ..ว่างขึ้นมา เบาขึ้นมา

นั่น เพราะว่า สติเกิด

 

คุณจำไว้ว่า เวลาสติเกิดนะครับ ..

เกิดขึ้น แล้วเห็นภาวะอะไรบางอย่าง ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาตามจริง

แล้วภาวะนั้นเปลี่ยนให้ดูว่า ไม่เหมือนเดิมนะ

 

คือ ถ้าเห็นอยู่แค่ภาวะเดียว เป็นแค่สมถะ

แต่ถ้าเห็นภาวะนั้น เปลี่ยนให้ดู เปลี่ยนให้เห็น

นี่ ตัวนี้เริ่มเป็นวิปัสสนาอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว

 

ผู้ถาม : ถ้าหากทำอย่างนี้ไป แล้วจะไปถึงจุดไหนครับ 

เมื่อจิตเข้าใจ ความทุกข์ก็จะเบาลงถอนลง อย่างนี้หรือครับ

ในเมื่อตัวกระตุ้นความทุกข์ ก็ยังอยู่

(หมายเหตุ: คือยังต้องพบหน้าคนที่แอบชอบ)

แต่ว่าสุดท้ายแล้วจะไปในลักษณะไหน

 

ดังตฤณ : ลักษณะที่เราตั้งโจทย์ไว้แบบนี้ เป็นโจทย์ของ โมหะ นะ

ไม่ใช่ โจทย์ของ ปัญญา .. จำไว้ตรงนี้ก่อนแม่นๆ

 

โจทย์ ของโมหะ

คือ โจทย์ ที่จะทำให้เราวนอยู่กับที่ แบบไม่มีทางออก 

เพราะไม่มีคำตอบ .. โจทย์แบบนี้ ไม่มีคำตอบ

 

คุณลองคิดดูดีๆ นะครับ

จะเป็นไปให้ถึงไหน หมายความว่า

เราก็จะวนเวียนอยู่กับอาการคิดว่า จะเอา หรือ ไม่เอา

หรือ วนเวียนอยู่กับ ความรู้สึกว่า .. ไม่มีทางได้มา

นี่คือ โจทย์ของ โมหะ

 

แต่โจทย์ของ ปัญญา จะตั้งไปอีกแบบหนึ่ง

ไม่ตั้งว่า แล้วจะไปให้ถึงไหน

เจริญสติไปแล้ว เราจะไปพบจุดจบที่ตรงไหนนะ

 

ตรงนี้นะ เราเปลี่ยนใหม่ 

เปลี่ยนเป็นโจทย์ของปัญญา ว่าการที่เราเห็นนี่ น่าพอใจไหม 

เห็นเข้ามาข้างใน ไม่ใช่เห็นข้างนอกนะ

 

ถ้าเราพอใจ อย่างเมื่อกี้ นี่ พอเราพิจารณาไป 

โทสะ นี่ มาจากฐานของ ราคะ แล้วเกิดความว่างขึ้นมา

 

ถามตัวเองว่า อย่างนั้นน่ะ พอใจไหม

ถามตัวเองว่า แบบนั้นน่ะ คือ สติไหม

ถามตัวเองว่า แบบนั้นน่ะ คือการเห็นเข้ามาในกายใจ

โดยความเป็นของไม่เที่ยงไหม

 

แล้วเกิดความรู้สึกว่า ที่ไม่เที่ยง นี่ ตัวเรา หรือว่า เป็นอนัตตา

 

เห็นไหม ถ้าเป็นโจทย์ของ ปัญญา

ก็จะได้เดี๋ยวนี้เลยนะ .. ผลลัพธ์น่ะ 

 

ไม่ใช่มองไปในอนาคตข้างหน้า

แล้วเกิดความสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ

จะให้เกิดอะไรไปถึงไหน .. ไม่ใช่เลยนะ ..นั่นโจทย์ของโมหะ

 

โจทย์ของปัญญา ได้เดี๋ยวนี้เลย

ได้คำตอบเดี๋ยวนี้เลยว่า พอใจ ..แล้วก็เกิดสติที่น่ายินดี 

เพราะว่าเป็นสติ ในแบบที่จะเห็นเข้ามา ในกายนี้ ใจนี้

รู้ว่า ไม่เที่ยงแน่ๆ 

เห็นว่า เป็น หนึ่งในจิ๊กซอว์ ของความไม่ใช่ตัวตนแน่ๆ 

 

คุณเก็บจิ๊กซอว์ ได้มากชิ้นขึ้นเท่าไหร่นี่นะ

เห็นภาวะของความไม่เที่ยงได้มากขึ้นเท่าไหร่

 

ยิ่งมีความกระจ่างทางใจว่า

ภาวะทางกาย ภาวะทางใจ อะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดขึ้นได้

ภาวะนั้นย่อมดับลงเป็นธรรมดา เมื่อเหตุดับ

 

และ ภาวะอะไรดับไปได้ ล่วงไปได้ ล่วงไปแล้ว ..

ไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย 

ไม่มีตัวเราติดตามไปในอนาคต

มีแต่ตัวเราหายไปตอนนี้เลย

อันนี้ คือ โจทย์ของปัญญา

 

ผู้ถาม : จะใช้ช่วงเวลาของบททดสอบนี้ เป็นการพัฒนาจิตใจครับ

 

ดังตฤณ : พอฟังมาถึงตรงนี้แล้ว คุณเปลี่ยนมุมมองได้เลยนะ 

ไม่ใช่บททดสอบนะ เป็นตัวช่วยต่างหาก

 

ที่ผ่านมา คุณบอก คุณทำมา 3 ปีแล้ว ก็น่าจะได้อะไรมาบ้าง 

แต่พอมาเจอ สิ่งที่คุณเรียกว่า บททดสอบ ..คุณรู้สึกว่า คุณไม่ผ่าน

แต่ตอนนี้ คุณมองเห็นแล้วว่า คุณจะทำอย่างไร

จะใช้ประโยชน์อย่างไร กับบททดสอบนั้น

 

คราวนี้ ไม่ใช่บททดสอบแล้ว กลายเป็นตัวช่วย

ให้คุณ ได้เกิดความสว่างทางปัญญาแบบพุทธแล้วนะครับ

_____________

คำถามเต็ม: ชอบเพื่อนที่เห็นหน้ากันทุกวัน ทำให้ทุกข์แบบเลี่ยงไม่ได้ เกิดราคะเมื่อเห็นและตามด้วยโทสะ? และเมื่อเจริญสติแล้ว เมื่อไหร่ความทุกข์จะหมดไป


รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=_DC32zVgpsE

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น