วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

ยิ่งปฏิบัติยิ่งทุกข์ รู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จนอยากเลิก ทำอย่างไรจะมีความสุขจากการปฏิบัติ?

ผู้ร่วมรายการ : เริ่มต้นที่รู้จักธรรมะยังไง ก็คือตัวเองเป็นพุทธ แต่รู้สึกว่าไม่ได้ชอบพระมาตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกว่าพระเป็นบุคคลที่เหมือนเอาเปรียบเรา อันนั้นคือเมื่อก่อนที่ไม่รู้นะคะ พอโตขึ้นมาไปปฏิบัติธรรมแล้วเริ่มต้นจากความสุข คือไปก็ไปอย่างนั้นแค่อยากจะรู้ว่าธรรมะของพระพุทธองค์คืออะไรกันแน่ พอเข้าไปก็รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขตอนที่เข้าไป แต่ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งปฏิบัติไปรู้สึกว่ายิ่งทำยิ่งทุกข์

 

ได้ปฏิบัติธรรมของคุณแม่ด็อกเตอร์สิริ ก็คือว่า ๗ คืน ๘ วันเนี่ย ปฏิบัติมา ๖๐ กว่าครั้ง ในแต่ละครั้งก็จะจดเหมือนเราฟังธรรมะยังไม่เข้าใจ ฟังครั้งที่ ๑ ก็ไม่เข้าใจ พอฟังครั้งที่ ๒ ๓ ๔ รู้สึกว่าเป็นคนโง่มาก

 

ดังตฤณที่ผ่านมามีประสบการณ์ยังไงที่เกิดความรู้สึกถึงกายถึงใจขึ้นมาบ้างครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : คือรู้สึกว่าความทรมานจากการเห็น เหมือนเราไม่หลับนอน เราหลับตาแต่ว่าตามันไม่หลับ มันเห็นเส้นเลือดฝอย แต่เราไม่ได้ตั้งใจจะดูมัน แล้วมันก็เป็นแบบนี้ทุกวัน ทุกวัน ซึ่งตัวเราไม่ได้มีความสนิทกับครูบาอาจารย์ แค่เพียงว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมพื้นฐานเท่านั้นเอง

 

อยากจะถามว่า ประสบการณ์ทางธรรมในสิ่งที่เจอมันเป็นความทุกข์เหลือเกิน ตัวเองรู้สึกว่าทำไมยิ่งปฏิบัติธรรมมันยิ่งทุกข์ ทุกข์กับการเรียนรู้ แล้วมันก็รู้สึกว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ความเบาบางก็คือว่า เวลาที่ได้อ่านหนังสือคุณดังตฤณ แล้วก็ติดตามจากข้อความที่อ่านที่โพสต์ลง รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันทำให้เราบรรเทาเบาคลายได้ แต่แล้วก็เกิดความหวาดกลัวในการไม่อยากปฏิบัติธรรมต่อ เพราะรู้สึกว่าเราไม่รู้สิ่งที่เห็น มันกลายเป็นความหงุดหงิดว่ามันจะเห็นทำไม มันจะรู้ไปเพื่ออะไร ค่ะ

 

ดังตฤณโอเค คำถามคือว่า เราจะหาจุดที่มันเป็นสวิตซ์สปอท (switch spot)ได้ยังไง ยิ่งศึกษาไปแล้วยิ่งมีความสุขมากขึ้น เอาตรงนี้ก่อนนะครับ โจทย์คือตรงนี้ถูกมั้ยครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : ยิ่งศึกษาไปยิ่งทุกข์มากขึ้น หมายถึงมันเห็นแต่ความทุกข์ที่มันต่อเนื่อง

 

ดังตฤณโอเค ผมขอตอบตรงนี้ก่อนเลยนะครับ

 

อันดับแรกถ้าหากเรามองอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ผมอยากจะชี้ไปที่สุดทางก่อนเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงนิพพานว่าเป็นอะไร

 

ท่านตรัสว่าเป็นบรมสุข คนทั่วไปไม่สามารถเห็นได้หรอกว่านิพพานหน้าตาเป็นยังไง ธรรมชาติที่เรียกว่าความดับทุกข์มีอยู่นั้น ความดับสนิทแห่งทุกข์ ความไม่ปรุงแต่งเป็นอสังขตะ หน้าตาเป็นยังไง คนทั่วไปเห็นไม่ได้ เพราะว่าเรามองออกมาจากมุมที่เป็นอสังขตะ คือมีความปรุงแต่งอยู่ มีความเป็นกายนี้ มีความเป็นใจแบบนี้ เราไม่สามารถเห็นบรมสุขที่พระพุทธเจ้าชี้ไว้ที่ปลายทางแน่นอน

 

แต่พระพุทธเจ้าให้คิดถึงนิพพานโดยความเป็นบรมสุข นี่คือสำนวนพระพุทธองค์นะครับ ท่านบอกว่า ถ้านึกไม่ออกว่านิพพานเป็นอย่างไร ให้นึกถึงโดยความเป็นบรมสุข

 

ทีนี้ระหว่างทางมันจะต้องรู้สึกยังไงถึงจะถูกทาง แน่นอนว่าถ้าเรารู้สึกว่าปฏิบัติไปแล้ว ทางหนึ่งคือยิ่งยึดติดถือมั่นในกายมากขึ้นในใจมากขึ้น อันนั้นมันก็ไม่ใช่ทางที่จะหลุดพ้น

 

ทีนี้ในทางกลับกัน ถ้ายิ่งปฏิบัติไป มันยิ่งไม่รู้สึกถึงบรมสุขของนิพพาน บางทีเราอาจจะต้องถามตัวเองนะว่า มาถูกทิศถูกทางหรือเปล่า?

 

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในรูปแบบไหน ไม่ใช้ว่ารูปแบบไหนผิดหรือถูกนะครับ แต่เราถามตัวเองว่าทิศทางที่เราปฏิบัติมาเนี่ย มันให้ความรู้สึกเบาขึ้น หรือว่านับวันมันยิ่งหนัก ตรงนี้พอมีโจทย์แบบนี้ เราจะได้คลำหาทิศทางกันได้ถูกต้องมากขึ้น

 

คือนิพพานเป็นบรมสุข แต่ทางไปนิพพานมันควรจะเป็นทุกข์มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นหรือเปล่า มันจะมีโจทย์แบบนี้นะครับ

 

ทีนี้ถ้าเรามาพิจารณาว่า จิตแบบพุทธที่เป็นจิตแบบพร้อมจะหลุดพ้นเนี่ย ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับว่า เป็นจิตที่พร้อมจะบรรลุธรรม มันมีอยู่ข้อหนึ่ง จิตที่พร้อมจะบรรลุธรรมวัดกันด้วยโพชฌงค์มีองค์ทั้งหมด ประการ

ประการแรกมีสติ

ประการที่สองมีการพิจารณาธรรม

แล้วประการต่อๆมาที่บ่งชี้ว่าเป็นจิตที่ถูกต้อง เป็นจิตที่พร้อมจะบรรลุธรรมที่พร้อมจะไปถึงนิพพานอันเป็นบรมสุขคือ จิตที่เบา จิตที่มีความสงบไม่กวัดแกว่ง จิตที่เป็นสมาธิ จิตที่มีความสุข จริงๆแล้วมันเป็นองค์ประกอบ จิตที่เป็นอุเบกขา จิตที่มีความสุขนะครับ

 

ถ้าหากว่าเรามาเทียบ ไม่ว่าเราจะทำมาตามแนวทางไหนแล้วพบว่าจิตมันยิ่งหนัก ยิ่งหนัก ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆเนี่ย แสดงว่ามันไม่เป็นไปเพื่อองค์แห่งการตรัสรู้ ไม่พร้อมที่จะบรรลุธรรม พอเรามองอย่างนี้ปุ๊บ ไม่ต้องไปโทษเรื่องว่าครูบาอาจารย์สอนมายังไง แต่ดูที่ใจของเรานะครับ ด้วยความตั้งใจ หรือด้วยความคาดหวัง หรือด้วยในเหตุปัจจัยในการปฏิบัติแต่ละครั้งเป็นอย่างไร มันถึงได้มาถึงซึ่งใจที่หนักขึ้น หรือว่ามีความทุกข์มากขึ้น

 

จริงๆที่บอกว่าเห็นกายใจโดยความเป็นทุกข์ไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเนี่ย ใจมันต้องเบานะ เพราะมันไม่ยึด ใจมันจะหนักได้มีอยู่อาการเดียวคืออาการยึด คืออาการกำ คืออาการเกร็ง แต่ถ้าใจที่มันเลิกยึดกายเลิกยึดจิต มันต้องมีอาการแบ หรืออย่างน้อยใกล้เคียงที่จะแบ อันนี้ผมอยากให้มองไว้เป็นแนวทางนะครับ

-----------------------------------------------------------


๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
Clubhouse รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน  

คำถาม : ยิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งรู้สึกทุกข์มากขึ้น รู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนหงุดหงิดอยากเลิกปฏิบัติธรรม ควรทำอย่างไรให้มีความสุขจากการปฏิบัติธรรม?

ระยะเวลาคลิป     ๙.๐๒  นาที

รับชมทางยูทูบ   https://www.youtube.com/watch?v=G8g5kbbC5EM&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=31&t=10s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส 



** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น