ดังตฤณ : เอาง่ายๆก็คือ มีการยอมรับที่ไม่เสมอภาคกัน
มีความลำเอียง มีความไม่เท่ากัน จริงๆแล้วมองเข้ามาที่ใจ มันก็จะเห็นอยู่แล้วว่าใจของเราไม่เคยอยู่ที่ตรงกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีความเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กับมนุษย์โลกทั้งหลาย ต่อให้เป็นพ่อแม่มีลูกหลายคน
พยายามจะรักลูกให้ได้ทุกคนตามอุดมคติ จะไม่มีความลำเอียง จะไม่มีความอะไรต่างๆนานา
แต่เอาเข้าจริงเนี่ย ไม่สามารถมีใครทำได้หรอกที่จะรักลูกเท่ากันทุกคน
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีได้อย่างใจไม่ได้อย่างใจ มีบางวันน่ารื่นรมย์ มีบางวันไม่น่าชอบใจเท่าไหร่ แล้วก็มีระยะเวลาของการคบหา หรืออยู่ใกล้ชิดกันจนกระทั่งเกิดข้อสรุปรวมว่า ตรงนี้ที่เป็นแพคเกจมาหน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ ให้ความรู้สึกยังไงในใจนะครับ ความรู้สึกนั้นแหละที่เป็นตัวแบ่งแยกว่า เราจะให้คะแนนหรือว่าให้ความเอียงไปข้างไหนไปทางใด
ถ้าหากว่าเหมือนกับเห็นคนทำผิดหรือว่าหลงผิด จากคำพูดที่คุณใช้นะครับบอกว่า เราเห็นความหลงผิดของคุณแม่ เรายอมรับได้ แต่กับลูกเนี่ย เล็กๆน้อยๆทนไม่ได้ นั่นก็เพราะว่าความรู้สึกมันไม่ใช่ฐานะว่าต้องเป็นแม่ หรือว่าต้องเป็นลูกของเรา
แต่ความรู้สึกที่จะไปติดข้องหรือว่าห่วงใย มีความรู้สึกอะไรขึ้นมาก็ตาม มันยืนพื้นอยู่บนความรู้สึกที่มันเป็นแพคเกจอยู่แล้ว คือตัดสินใจไว้ก่อนหน้าอยู่แล้วว่า จะห่วงหรือไม่ห่วงแค่ไหน อันนั้นแหละที่เรียกว่า ความลำเอียง
ความลำเอียงเนี่ย พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในใจ เพียงแต่ว่าเวลาที่เราจะมาปฏิบัติธรรม หรือว่ามาอยู่ในเส้นทางธรรมะเนี่ย ยิ่งเราเห็นอาการลำเอียงได้เด่นชัดมากขึ้นเท่าไหร่ อาการตรงนี้มันยิ่งปรากฏโดยความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นเท่านั้น
คือเราจะไม่มองนะว่าเราต้องไปรู้สึกผิดมั้ย ทำไมถึงไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเลยกับความหลงผิดของแม่ มันจะเห็นถึงความลำเอียง หรือว่าความพร้อมที่จะเอียงข้างไปห่วงใครนะครับ
ตรงนี้เราอาจจะไม่ใช่ว่าจะแก้ไขยังไง แต่ยิ่งเห็นไปยิ่งมีสติเห็นความเป็นเหตุเป็นผลของอารมณ์หนึ่งๆมากขึ้นเท่าไหร่ จิตของเราจะมีความฉลาดที่จะจัดการกับอารมณ์นั้นๆมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น บอกว่ารู้สึกเฉยๆที่เห็นแม่หลงผิด แต่เสร็จแล้วเห็นแล้วเรามีปฏิกิริยายังไง เราพยายามช่วยเหลือแม่ยังไง มันก็เห็น จะเห็นว่า นี่!เราทำกรรมอันสมควรแล้ว ถ้าแม่หลงผิด ถ้าแม่คิดอะไรไม่ดี แล้วเราไม่ดูดาย เรามีกรรมอันเป็นบุญคือช่วยให้แม่พ้นจากความหลงผิดได้ อันนี้จะเป็นทุกข์จะเป็นร้อน จะเป็นห่วงจะไม่กังวล อะไรก็แล้วแต่เนี่ย ไม่สำคัญเลย สำคัญคือว่าเราได้ทำบุญที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญู ได้ตอบแทนท่านทำให้ท่านพ้นจากความหลงผิด
ส่วนลูก พอเราโมโหโทโสอะไรขึ้นมา หรือว่าเกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยมากเกินไป เสร็จแล้วก็ดูว่าหลังจากนั้นเนี่ย เราทำอะไรไปบ้าง ถ้าเรามีแต่ความเคยชินที่จะดุด่าที่จะให้ลูกขวัญเสีย ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเหินห่าง นี่ก็กรรมของความเป็นแม่ที่จะมีปฏิกิริยากับลูกในทางลบ
แต่ถ้าหากว่าเรามีความฉลาด
ที่จะจัดการกับความหลงผิดของลูก แล้วเราจะอารมณ์เสียหรือไม่อารมณ์เสียก็แล้วแต่
แต่ในที่สุดแล้ว เราจะพบว่าตัวเองได้ทำในสิ่งที่สมควรในฐานะแม่ พูดง่ายๆนะครับ
เราว่ากันโดยกรรมก็แล้วกันว่าเราทำสิ่งที่สมควรในฐานะของลูก และเราทำในสิ่งที่สมควรในฐานะของแม่หรือเปล่า
อย่าไปมองแค่ว่าใจของเราต้องอารมณ์เสียไม่อารมณ์เสียอะไรแค่นั้นนะครับ
-------------------------------------------------------
๒๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอนทดสอบไลฟ์จากคลับเฮาส์ ครั้งที่ ๒
คำถาม : ทำไมเรายอมรับและเห็นใจเวลาเห็นคุณแม่หลงผิดอย่างหนักมากได้ แต่กับลูกซึ่งทำผิดเล็กๆน้อยๆกลับทนไม่ได้ อารมณ์เสียมาก ทำอย่างไรให้เรามีเมตตากับลูกๆ
ระยะเวลาคลิป ๕.๓๔ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=XofwUXPkRHg&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=26
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น