วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมแล้วมีสิ่งมากระทบในระหว่างทาง แล้วรู้สึกเหนื่อย อยากยอมแพ้

 ดังตฤณสวัสดีครับ ช่วยเล่าหน่อยว่าชาตินี้ชีวิตนี้ได้มีอะไรที่เป็นตัวจุดประกายให้ธรรมะสว่างขึ้นมาในชีวิตของคุณครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : มีเหตุให้ได้นำเข้ามาสู่ทางธรรมะ คือสมัยเด็กๆก็ไม่ค่อยชอบเรื่องของธรรมะเท่าไหร่ แต่มันมีเหตุให้เข้ามาเพราะว่าคนสนิทชวนมา แล้วกำลังมีปัญหา ตอนนั้นเริ่มทำงานแล้ว ก็ลองไปตอนนั้นไปที่หลวงพ่อจรัญเป็นที่แรก แล้วรู้สึกว่าดีทำให้เราเหมือนกับโล่ง แล้วก็เป็นความรู้สึกดีๆแต่ก็จบไป

 

ผ่านไปอีกปีนึงก็เจอเรื่องที่รู้สึกกระทบใจเรามาก ก็คือตอนนั้นอกหักมีปัญหาเรื่องความรัก รู้สึกว่าไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยไปเข้าวัดเพื่ออยู่ปฏิบัติธรรม ก็ได้ไปปฏิบัติประมาณ ๕ หรือ ๖ วัน รู้สึกว่ามันดีแล้วก็โล่งมาก ตอนนั้นรู้สึกว่าถ้าเราไม่โยนตัวเองไปที่ไหนแล้วเราจะทุกข์ ก็เลยเหมือนกับเป็นการหนีทุกข์อย่างหนึ่งของเรา

 

และอีกอย่างคือ คนรอบข้างเรา คนที่เราพูดคุยหรือว่าเพื่อนหรือว่าผู้ใหญ่ที่ให้คำปรึกษาเราก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อกันหมดเลย เวลาพูดคุยหรือปรึกษาอะไร เขาก็จะแนะนำในทางของหลวงพ่อหมดเลย ก็เลยชักนำให้เราไปหาหลวงพ่อ ก็เลยเข้าไปเรียนรู้

 

ดังตฤณโอเคครับ ทีนี้ที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมแบบไหน ที่ทำให้รู้สึกว่า เออ นี่แหละมาถูกทางแล้ว นี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาดูกายใจนี้เป็นยังไงบ้างครับ เล่าให้ฟังหน่อยครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : ครั้งแรกที่รู้สึกปีแรกๆที่เพิ่งทำเอง ก็เดินจงกรมที่บ้าน เดินแบบไม่คาดหวังก็ เดินหนอ เดินหนอ สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนใจมันยิบยับ อยู่ๆมันรู้สึกเหมือนกับความคิดทั้งหมดเหมือนมันเป็นยุง และเรามีกรอบที่มันครอบตัวเรา ความคิดยิบยับนั้นมันเหมือนเป็นยุงที่ถูกผลักไปนอกกรอบอันนั้น เหมือนเราอยู่ในโหลแก้ว แล้วยุงพวกนั้นมันก็วิ่งมาชนโหลแก้ว แล้วมันร่วงหล่นไปหมดเลย เหมือนเราถูกโหลแก้วครอบอยู่ ทำให้ให้ประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้น

 

ดังตฤณ : นั่นคือจิตที่ความคิดไม่สามารถกระทบไปฝังตัวอยู่ได้ มันก็เหมือนกับแมงเม่าบินเข้ากองไฟ เป็นประสบการณ์ที่ดีครับ วันนี้มีคำถามอะไรครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : ตอนนี้มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเจอมาสักพักแล้วเหนื่อย แต่ตั้งใจว่ายอมแล้วจะปล่อยวางทุกอย่าง แต่ตอนนี้ตื่นเต้น ถามไม่ถูก พี่ตุลย์ช่วยชวนคุยอีกสักนิดได้มั้ยคะ มันเล่าไม่ถูกค่ะ

 

ดังตฤณ : โอเค อย่าคิดถึงคำถามนะ คิดถึงบุคคลหรือว่าเหตุการณ์ที่อยู่ในใจของเราอันเป็นเหตุ อันเป็นชนวนให้เราเกิดข้อสงสัยหรือว่าเกิดโจทย์ขึ้นมา ทีนี้พอเรานึกถึงบุคคลหรือว่าเหตุการณ์ออก มันก็จะโยงเข้ากับอารมณ์ที่มันเป็นข้อขัดข้องหรือว่าเป็นปมทางใจของเรา ตอนนี้จริงๆแล้วโจทย์ของเรามันคือบุคคลหรือว่าเหตุการณ์

 

ผู้ร่วมรายการ : ก็มีทั้งบุคคลและเหตุการณ์ค่ะ ก็คือจะมีสิ่งกระทบโดยปกติ แต่ว่าตอนนี้มีความรู้สึกว่าเรายอมแพ้ ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะทำ หรือว่าเพียรที่จะภาวนาเพื่อให้มีความสุข เสร็จแล้วตอนนี้เรายิ่งทำ กลายเป็นยิ่งพยายามเหมือนยิ่งไม่ปล่อย ก็เลยรู้สึกว่าไม่เอาแล้วพอดีกว่าจะปล่อยแล้ว และอะไรที่เข้ามาทิ่มแทงเราระหว่างทาง ก็จะมองว่ามันเป็นสิ่งที่เข้ามาระหว่างทาง แต่เราจะตั้งใจ เราจะพุ่งไปที่เป้าแล้ว จะไม่สนใจเรื่องที่เข้ามาค่ะ

 

ดังตฤณ : อันดับแรกเลยที่จะต้องทำไว้ในใจเรา คือความชัดเจน เหมือนกับอย่างตอนนี้พอเรานึกไม่ออกว่าจริงๆแล้วโจทย์ของเราคืออะไรกันแน่เนี่ย อันนี้คือจิตขาดความชัดเจน อันนี้เหมือนกัน เวลาที่เราจะเอาแน่เอานอนกับสิ่งที่เป็นกิเลส หรือว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหาทางใจของเราไม่ได้เนี่ยนะครับ วันนึงเราจะเอา อีกวันนึงไม่เอา เบื่อๆอยากๆ อารมณ์เบื่อๆอยากๆอะไรแบบนี้แหละคือตัวปัญหา ไม่ใช่สิ่งภายนอกนะ

 

ถ้าหากว่าเรามองว่าในการเจริญสติสิ่งที่เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่เรื่องข้างนอก เรื่องข้างนอกมันเป็นเปลือก มันเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้เกิดความลังเลสงสัยจะเอาหรือไม่เอา เบื่อหรืออยาก หรือว่าเราจะจัดการกับมันยังไงกันแน่อะไรแบบนี้

 

สุดท้ายแล้วตัวปัญหาไม่ได้อยู่ที่เปลือก แต่อยู่ที่แก่นคือใจของเราเองเนี่ยแหละ มันเห็นชัดเจนมั้ย ถ้าหากใจของเราขาดความชัดเจน มันจะเหมือนกับว่า ชีวิตเนี่ยล่องลอยไปกับสิ่งที่มันคลุมเครือ เหมือนกับเราล่องเรือผ่านสายหมอกเข้าไป มองไม่เห็นอะไรว่าข้างหน้า มันจะเป็นลุ่มน้ำ หรือว่าจะเป็นน้ำตก หรือว่าจะเป็นเส้นทางที่เราต้องการจะไปจริงๆหรือเปล่า

 

ทีนี้พอเรามีคีย์เวิร์ดให้กับโจทย์ของเราว่า สิ่งที่เราต้องการคือความชัดเจน

 

ความชัดเจนนี้มันจะมาได้ยังไง?

ถามว่าการเจริญสติช่วยเราได้มั้ย?

ช่วยได้นะครับ เหมือนกับตอนที่เราเกิดสภาวะขึ้นมาเห็นว่า เออ จิตเนี่ยมันเหมือนแก้ว แล้วความคิดเป็นแค่แมลงหวี่แมลงวันที่บินกระทบเข้ามาไม่ได้ กระทบแล้วก็หายไปไม่สามารถเข้ามาฝังตัว ไม่สามารถเข้ามาวนเวียนอยู่ในจิตใจได้ ลักษณะอย่างนี้ทำยังไงให้มันเกิดขึ้น

 

วิธีที่จะทำให้จิตใจของเรามีความชัดเจน หรือมีความกระจ่างใส ก็เป็นไปแบบเดียวกันกับที่คุณเคยมีประสบการณ์มาแล้วนั่นแหละ

 

ทำยังไงให้ใจมันใสพอ?

ทำยังไงไม่ให้ใจมีความพร่าเลือน?

ทำยังไงให้ใจมีลักษณะของสติที่แจ่มชัด?

 

ก่อนอื่นใดเลย อันดับแรกเวลาที่มีความรู้สึกเหมือนกับครึ่งๆกลางๆขึ้นมา หรือว่ามีความพร่าเลือนขึ้นมาเนี่ยนะ ให้บอกตัวเองก่อนว่าจิตแบบนี้เป็นจิตที่มีความฟุ้งซ่าน จิตแบบนี้เป็นจิตที่มีความกลับไปกลับมาได้ จิตแบบนี้เป็นจิตที่สามารถจะทำให้ตัวเองหลงวนอยู่กับที่ได้เหมือนพายเรือในอ่าง

 

พอยอมรับแบบนี้ จำไว้เลยนะ อันคีย์เวิร์ดนะ สำคัญมากนะ พอยอมรับได้ตามจริงว่า พอสภาวะแบบนี้เป็นจิตของเรากำลังเกิดขึ้น ณ บัดนั้นเนี่ย ให้มองมันเกิดที่ลมหายใจยาวหรือลมหายใจสั้น

 

ส่วนใหญ่จะได้คำตอบว่าหายใจสั้น หรือไม่รู้ลมหายใจเลย แต่พอหายใจยาวขึ้นมา พอมีสติใช่มั้ย เปลี่ยนจากลมหายใจสั้นเป็นลมหายใจยาวขึ้น สิ่งที่มันจะมาพร้อมกับลมหายใจยาวคือความสุข มันมีความสดชื่นเพิ่มขึ้นนิดนึง ความสดชื่นเนี่ยมันจะมาขับไล่ความรู้สึกเหมือนวกวน ความสดชื่นนี่แหละ ที่จะปรุงแต่งจิตให้เปลี่ยนจากความพร่าเลือน เป็นความชัดเจนขึ้นมาชั่วขณะ

 

เสร็จเราจะสังเกตว่า มันสดชื่นได้แค่ลมหายใจเดียว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นพร่าเลือนอีก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นไม่แจ่มชัดอีก พอเราเห็นอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา ในที่สุดมันจะรู้สึกว่า มีกำลังของความสดชื่นเข้ามามากขึ้น มากขึ้น แต่แน่นอนมันไม่ใช่สดชื่นทีเดียว เดี๋ยวมันก็เหี่ยวแห้ง เดี๋ยวมันก็กลายเป็นพร่าเลือน เดี๋ยวมันก็กลายเป็นความรู้สึกพร่ามัวอีก

 

แต่พอเราทำไปทำไป ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ มันเหมือนกับฉีดน้ำไล่เศษของที่มันขวางทางที่มันเป็นดิน ที่มันเป็นก้อนกรวด ที่สกปรก ที่มาทำให้ทางไม่ชัดเจนเนี่ย พอขับไล่ไปหมดแล้ว ทางมันก็เริ่มโล่ง ทางมันก็เริ่มปรากฏชัดว่าจะไปทิศไหน จะไปทางไหน เนี่ยตรงนี้นะครับบอกให้สั้นๆง่ายๆเลยว่า สังเกตดูตรงนี้นะครับเวลาที่ใจเราไม่ชัดเจนมีความพร่าเลือน ดูตรงนั้นแหละยอมรับตามจริงว่าจิตของเรากำลังเป็นจิตแบบพร่าเลือน เมื่อหายเข้ายาวขึ้นจิตมันจะมีความใสขึ้น กระจ่างใสขึ้น แต่แค่ชั่ววูบเดี๋ยวมันก็กลับมาเป็นพร่าเลือนอีก ดูแบบนั้นไปเรื่อยๆ เห็นความไม่เที่ยง ในที่สุดจิตมันจะมีความใสขึ้นใสขึ้นนะครับ โอเคนะครับ

 

ผู้ร่วมรายการ : อีกนิดนึงได้มั้ยคะ เวลาที่มีโทสะขึ้น จิตมันเหมือนจะหายใจไม่เข้าเลยค่ะ แล้วมันอึดอัด

 

ดังตฤณ : นั่นไงดี เห็นอย่างนั้นน่ะดี ไม่ใช่ไม่ดีนะ เห็นข้อดีของมันนะ คือเราสามารถเห็นว่า ณ ลมหายใจที่สั้น มันเป็นลมหายใจแห่งโทสะ คือเรากลับทิศกลับทางกันนิดนึง คนปกติจะมองว่าเรามีโทสะเลยหายใจสั้น แต่พี่อยากให้มองเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางกลับหัวกลับหางเป็นว่า ลมหายใจสั้นทำให้มีโทสะ พอเราสังเกตอย่างนี้ต่อไป ศูนย์กลางของสติ ศูนย์กลางของการรับรู้มันจะตั้งต้นมาจากลมหายใจ เราจะสังเกตว่าที่เกิดอารมณ์อะไรที่ไม่น่าพึงใจ มันเกิดมากจากลมหายใจสั้น หรือลมหายใจยาว

 

ตอนที่มันมีอารมณ์ดีๆ ตอนที่มันมีสติ เราสังเกตว่ามันเป็นลมหายใจที่ยาวมากกว่าสั้นหรือเปล่า พอเราพบคำตอบ พอเราพบความจริงตรงนี้เนี่ยนะ มันจะไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิดอารมณ์นะ ตรงข้าม เราจะเห็นอารมณ์มากขึ้น เพราะอารมณ์มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปจ้องอารมณ์แบบที่มันหาทางออกไม่เจอ มันหาจุดยืนหรือว่าจุดอ้างอิงไม่ได้ เราจะมีลมหายใจเป็นเครื่องอ้างอิงเป็นตัวตั้งขึ้นมาเลย แบบที่พระพุทธเจ้าท่านคะยั้นคะยอนักหนาให้ฝึกอานาปานสติก็เพราะอย่างนี้ ให้เรามีศูนย์กลางของสติอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก

 

เมื่อลมหายจใจเข้า-ออกกำลังปรากฏโดยความเป็นอย่างไร แล้วเราสามารถโยงกันได้รีเลท(relate)กันได้กับอารมณ์ที่มันปรากฏ ณ ขณะนั้น อย่างเช่นที่น้องบอกว่า พอโกรธขึ้นมามากๆแล้วเห็นลมหายใจสั้น พอไปกลับหัวกลับหาง เราหายใจสั้นมันเลยมีพื้นที่ความโกรธได้มาก เนี่ย!แบบนี้มันมีประโยชน์มากนะ แล้วต่อไปเนี่ยพอเราสังเกตอารมณ์แล้วมาจับสู่ความเชื่อมโยงกับลมหายใจ เราจะพบว่ามันเกี่ยงข้องกันอย่างยิ่งเลย

 

แล้วก็จะพบความแยกย่อยหลากหลายอย่างเช่น ลมหายใจสั้นก็มีหลายแบบนะ ลมหายใจสั้นในแบบที่กระชากหนักๆให้มันยิ่งตอกย้ำความโกรธก็มี หรือหายใจสั้นแบบไม่รู้ไม่ชี้ไม่มีสติสตัง หง๋อยๆอะไรแบบนี้ ทำให้โกรธแล้วเนี่ยมันเป็นความโกรธแบบน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นความโกรธแบบที่ทำให้สะเปะสะปะไม่รู้ทิศไม่รู้ทาง เนี่ยมันเชื่อมโยงได้หมดเลย แล้วเห็นความแตกต่างของลมหายใจมากขึ้นมากขึ้น และได้ข้อสรุปในที่สุดว่า อารมณ์ทั้งหลายมันตั้งต้นจริงๆเนี่ย คือตัวของอารมณ์ปรุงแต่ลมหายใจด้วย แต่ลมหายใจมันเป็นพื้นยืนของอารมณ์หนึ่งๆนะครับ ตรงนี้พอสังเกตได้มันก็จะเกิดสติเกิดปัญญามากขึ้นมากขึ้นนะครับ ก็อนุโมทนาครับ

----------------------------------------------

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
Clubhouse รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน  

คำถาม : ตอนเด็กๆไม่ชอบธรรมะ จนวันนึงอกหักเลยเข้าวัดปฏิบัติธรรม/มีเหตุการณ์กระทบที่ทำให้รู้สึกยอมแพ้ เพราะยิ่งพยายามยิ่งไม่ปล่อย เลยพยายามไม่สนใจเรื่องที่เข้ามาทิ่มแทง ควรทำอย่างไรกันแน่?

ระยะเวลาคลิป    ๑๖.๐๕  นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=Idu9DSFpjWA&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=33

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น