วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็จะทำไม่ได้ใช่ไหม

ดังตฤณ : จิตนี่ โดยธรรมชาติของกิเลส ก็จะมีความยึดมั่นถือมั่น 

 

สิ่งที่จิตยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนสูงสุด ก็คือ ความคิด นะครับ แล้ววิธีคิด จะไม่ใช่แค่กลุ่มความคิดเป็นคำๆ หรือว่าเป็นความคิดเป็นห้วงๆ แต่เป็นเส้นทางกรรม เป็นเส้นทางที่มโนกรรมจะแล่นไป


วิธีคิดแบบไหน ที่ได้ฐานที่ตั้ง คือ ใจของเราปักหลักมั่นคงแล้วนี่ โอกาสถอนก็จะยาก

 

อย่างพอปักใจเชื่อไปแล้วว่า ฉันไม่สามารถที่จะมีชีวิตเป็นสุขแบบคนอื่นได้ ฉันจะต้องมีชะตากรรมร้ายๆ เกิดขึ้นเสมอ พอความคิดนี้ห่อหุ้มจิต ก็กักไว้ กั้นไว้ ไม่ให้จิตไปไหน กลายเป็นความปักใจเชื่อ แล้วก็ใช้ชีวิตไปแบบก้มหน้าก้มตา ไม่มีความสุขเลย 


พอจะมีความสุขโผล่เข้ามาบ้างในชีวิต หรือว่าจะมีอะไรที่เป็นวี่แววของความสุขที่จะจุดประกายขึ้นมา ก็ไปปฏิเสธ บอกว่าเดี๋ยวมาแล้วก็หลุดมือเราไป เราไม่สามารถรักษาความสุขไว้ได้หรอก 

 

นี่คือฤทธิ์เดชของวิธีคิดนะครับ ที่มาปักหลักอยู่ในใจของเรา แล้วก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้น และพอเราคิดอะไรมากๆ ก็จะกลายเป็นความเชื่อ 

 

ถามว่า ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้ใช่ไหม

 

บางทีก็ไม่เสมอไป บางสิ่งบางอย่างเราเชื่อว่า เราทำไม่ได้ แต่เกิดทำได้ขึ้นมาแบบจับพลัดจับผลู เป็นวันเฮง วันฤกษ์ดีอะไรขึ้นมา โดยที่เราไม่ได้ใช้ความพยายาม .. 

 

แต่ประเด็นก็คือ ถ้าเราเชื่อว่า เราเป็นอย่างไรอยู่ แนวโน้ม คือ พฤติกรรม วิธีคิด วิธีพูด วิธีทำ ของเราจะคล้อยตามความเชื่อนั้นๆ 

ยกตัวอย่างในทางกุศลบ้างก็ได้ บอกว่า ชาตินี้ อย่างมากที่สุดก็ได้แค่ทำบุญ แล้วก็ไปพบพระพุทธเจ้าเพื่อบรรลุธรรมเอาชาติหน้า ถามว่าเป็นความเชื่อที่ดีไหม 

 

อย่างน้อยก็ดีกว่าที่จะไม่เชื่ออะไรเลย เป็นความเชื่อในแบบที่ทำให้เราเกิดความคิดดีๆ เกิดคำพูดดีๆ เกิดพฤติกรรมดีๆ

 

แต่ถ้าเราเชื่อแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ ว่า ..ตราบใดพระพุทธศาสนายังอยู่ ยังมีความรู้ในการเจริญสติครบถ้วน ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นแนวทางนะครับ

 

อย่างช้า 7 ปี 

อย่างกลาง 7 เดือน 

อย่างเร็ว 7 วัน 

ต้องได้บรรลุมรรคผล 

 

ถ้าเชื่อใหม่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็หมายความว่าเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้บรรลุมรรคผลแล้ว 

 

เรื่องที่ว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ บางทีก็อยู่ที่กำลังใจด้วย ถ้าเราปักใจเชื่อจริงๆ ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ไม่มีการยกเว้น ไม่มีการเกี่ยงเรื่องยุคสมัย ไม่มีการเกี่ยงว่าใครปัญญาทราม ใครปัญญาดี ใครบุญเก่ามาก ใครบุญเก่าน้อย อะไรต่างๆ 

 

ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องนั้น เอาโฟกัสตรงที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่างช้า 7 ปี ได้น้อยที่สุดเป็นพระอนาคามี ถ้าทำตามสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าปูทางไว้ 

 

ก็พูดง่ายๆ ว่า เรื่องของความเชื่อ จะกำหนดวิธีที่เราจะมีพฤติกรรมอย่างไรต่อนะครับ

_____________________

 

คำถามที่ ๗ : ช่วยอธิบายคำว่า "คิดอย่างไร เชื่ออย่างนั้น" ให้ฟังหน่อยค่ะ 

แล้วถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้ ใช่ไหมคะ


รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค ครั้งที่ 3

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

ถอดคำ : จูหลีผิง

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=2A2lsFtRyR4



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น