วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

มีตัวรู้อยู่ข้างหลังตลอดเวลา

ผู้ถาม : คำถาม เกี่ยวเนื่องกับอาทิตย์ที่แล้วที่ผมถาม และเกี่ยวกับคำถามเมื่อกี้ด้วยเหมือนกันครับว่า หลังจากที่ผมนั่งสมาธิ เวลาที่ผมออกจากสมาธิ ก็คือ ผมดูลมหายใจ แล้วเหมือนตัวรู้ขยับไปข้างหลัง แล้วเห็นร่างกายดับได้ 

 

แล้วความรู้สึกเห็นร่างกาย ดำเนินต่อเนื่องมาในชีวิตประจำวัน แต่คราวนี้ ผมเห็นสิ่งที่มากระทบกับผมทางทวารทั้งหกน่ะ คือ มันดับได้ ..เกิดได้ ดับได้ แต่ตัวรู้ ที่อยู่ข้างหลังนี่ ที่มองลงมา มองจากข้างหลังนี่  มันตั้งอยู่ตลอดเวลาน่ะครับ

 

ดังตฤณ : ดี ครับดี คือ จะมีความตั้งรู้อยู่เอง โดยที่เหมือนกับเป็นอัตโนมัติ เราไม่ได้ไปพยายามยื้อไว้ ถูกไหมครับ

 

ผู้ถาม : ครับผม 

 

ดังตฤณ : อันนี้ดีเลยนะ คือ ภาวะของจิตผู้รู้นะ

 

ผู้ถาม : ครับผม คราวนี้ผมเคยไปถามพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้วครับ ท่านก็บอกว่า ผมเห็นเกิดดับทั้ง 4 ขันธ์แรกแล้ว

 

ท่านบอกว่า 4 ขันธ์แรกน่ะครับ .. รูป เวทนา สัญญา สังขาร เกิดดับ ก็คือ ผมเห็นก่อนความคิดจะเกิด เหมือนเป็นความคิดแรก คือ สัญญา จากความทรงจำเกิดขึ้นมา แล้วเราเห็นมันต่อๆ ไป ความคิดมันเกิดดับ ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน ท่านก็บอกว่าอย่างนั้น

 

แต่ว่า วิญญาณขันธ์ หรือ ตัวรู้ ท่านบอกว่า ผมเห็นมันเป็นตัวตน อยู่นิ่ง ตั้งอย่างนี้ตลอด คือ ผ่านไปแล้ว 3 ปี ผมก็ยังเห็น

 

คำถาม คือ ผมไปเพ่งตรงตัวรู้อยู่หรือเปล่าครับ

 

แต่ใจผมก็โล่งนะ เวลาในชีวิตประจำวันน่ะครับ เวลาคิด คือ จะเห็นแต่ความคิดแรกว่าเป็นความทรงจำ

 

ดังตฤณ : ตัวคำถามนะครับคือว่า พอผุดความจำขึ้นมา เรารู้ว่า เป็นสัญญาขันธ์ แล้วมีจิต เป็นผู้รู้อยู่ข้างหลัง

 

คือ เรื่องของเรื่องนะครับ ผู้ปฏิบัตินี่ เวลาที่เกิดจิต ที่มีความรู้ตั้งมั่นขึ้นมา เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างกรณีนี้นะครับ เห็นละเอียดถึงความเป็น สัญญาขันธ์ นะครับ

 

รู้ว่า พอคิดอะไรขึ้นมา หรือว่าถูกอะไรกระทบนะ เช่นว่า ไปเห็นหน้าตาใคร แล้วจำได้ว่า มีชื่อแซ่อะไร นี่นะครับ แล้วมีความจำผุดขึ้นในจิต แล้วจิตนี่สามารถแยกได้ว่า ตรงนั้น เป็นสัญญาขันธ์นะครับ

 

คนปฏิบัตินี่ ส่วนใหญ่เลย พอเห็นอะไรที่ละเอียดๆ ได้ครั้งหนึ่ง ใจมักจะไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้เห็นนั้น แล้วก็มองเป็นเหมือนกับถ้วยทอง ที่เราคว้าไว้ได้แล้ว

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฟังจากครูบาอาจารย์ว่า มีจิตผู้รู้หรือว่าตั้งมั่น สามารถเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขารได้ อะไรต่างๆ ก็มักจะไปยึดว่า เรากำลังเห็นสภาวะธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็มอง .. พูดง่ายๆว่า จ้องอยู่ ในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางจิต หรือว่า ประสบการณ์เห็นสภาวะแบบนั้นๆ นี่ ซ้ำเข้าไป

 

ซึ่งถ้าหากว่า เป็นการตั้งใจที่จะเห็น จะไม่ใช่การเห็น จะไม่ใช่การรู้ แบบที่จะพัฒนาต่อเป็นสติปัฏฐานเต็มรูป

ความรู้ที่จะพัฒนาต่อเป็นสติปัฏฐานเต็มรูป ต้องเกิดขึ้นในภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ 

 

คือ พอจิตนะครับ มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ สามารถรู้ กาย เวทนา  จิต และธรรม โดยความเป็นกายใจแบบนี้ ปกตินี้

 

พูดง่ายๆ ขึ้นต้นขึ้นมานี่ รู้อย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ ในอิริยาบถปัจจุบันว่า กำลังนั่งอยู่ในท่าไหน แล้วไม่ใช่เห็นเข้าไปที่จุดใดจุดหนึ่ง แบบเพ่งเล็งคับแคบ แต่รู้ทั้งหมด ที่กำลังปรากฏเป็นอิริยาบถปัจจุบันอย่างนี้ นะครับ

 

เห็นออกมาว่า กำลังนั่งหลังตรงหรือหลังงอ แล้วก็เห็นว่า สภาวะที่กำลังปรากฏอยู่นี่ ปรากฏอยู่ด้วยความอึดอัด เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือว่าผ่อนคลายทั้งตัว

 

จากนั้น ความรู้สึกถึงเวทนา ที่อยู่ในกาย จะเป็นความเบา จะเป็นความรู้สึกว่า เออ.. สบายดี หรือจะเป็นภาวะที่อึดอัดก็ตาม นี่นะครับ เราแค่ยอมรับไปตามจริงทั้งหมดที่มันกำลังปรากฏอยู่  

 

จากนั้น ก็จะเห็น.. นี่ ขอให้มีตัวตั้งอย่างนี้นะครับ จากนั้นจะรู้สัญญา รู้สังขารนะครับ โดยความเป็น .. เออ นี่ ฉันจำได้ว่า เห็นใครอยู่ ฉันจำได้ว่า ความคิดแบบนี้ มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องอะไรอยู่นะครับ

 

แล้วเกิดความคิดต่อว่า ชอบ หรือไม่ชอบ เกิดความคิดต่อว่า ฉันจะลุกขึ้นไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือว่า ใครเดินมา ฉันอยากจะพูดอะไรสักอย่างหนึ่ง 

 

นี่เรียกว่า เป็นการเห็นการปรุงแต่งของจิต ตามที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ณ เวลาปัจจุบัน

 

คือ เวลาปัจจุบันนี่นะ คุณ.. เอาชัวร์ไว้ก่อนว่า รู้จริงๆ นะ ในระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนี่ ก็คือว่า เห็นอิริยาบถที่กำลังปรากฎอยู่เดี๋ยวนี้ ว่าตั้งอยู่ในท่าทางแบบไหน แล้วก็ด้วยความรู้สึกสบาย หรือว่าอึดอัด

 

ถ้าเห็นนะครับ ตัวรูปขันธ์ กับ เวทนาขันธ์ก่อน เป็นตัวตั้ง จากนั้นนี่ ไม่ว่าจะเห็นอะไรละเอียดขึ้นนะครับ ลงไปในระดับของ สัญญาขันธ์ หรือว่าสังขารขันธ์ ก็ตามนี่ ก็จะเห็นจริง

 

แล้วพอ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ดับไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ก็จะกลับมาอยู่กับ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์

 

พูดง่ายๆ .. มีที่ตั้ง ที่ให้กลับมา ไม่ใช่ว่า เราหายไปกับการพยายาม ที่จะดูสัญญาต่อ หรือว่า สังขารต่อ

 

ฟังแบบนี้เข้าใจไหมครับว่า ผมพูดถึงอย่างไรอยู่ ก็คือ จะให้คุณมีวิหารธรรม ที่มีความชัดเจนมากขึ้นนะครับว่า เราจะกลับมาดูอะไรต่อ หลังจาก สัญญาขันธ์ กับ สังขารขันธ์ ดับไปแล้ว 

 

ไม่อย่างนั้น จิตนี่ จะสนใจแต่สิ่งที่ละเอียด 

 

พูดง่ายๆว่า เรารู้สึกว่า ตรงนี้เป็นขั้น advance แล้ว แล้วน่าจะใกล้กับความเป็นมรรคเป็นผล ใกล้ที่จะทิ้งได้ แต่จริงๆ แล้ว เป็นการจับจองของจิตนะครับ เป็นอาการที่จิตเพ่งเล็งอยู่ว่า นี่ คือธรรมะขั้นสูง

 

เสร็จแล้ว ก็เลยเหมือนกับ.. อย่างที่ คุณเห็น.. หลายเดือนหลายปีผ่านไป ก็ยังไม่เกิดอะไร มากไปกว่าที่เคยเกิดขึ้นนะครับ

 

ตัวเรื่องของฐานที่มั่น ฐานที่ตั้งนะครับ คือ สภาวะทางกาย สภาวะทางใจ อันเป็นปัจจุบันนี่ สำคัญกว่าธรรมะขั้น Advance นะครับ

 

เพราะว่าธรรมะขั้น Advance นี่ นานๆ มาที ถ้าหากว่า เราพูดง่ายๆว่า มีทุนนะครับ เป็นคนที่มีทุนดี เป็นคนที่มีทุนหนาแน่นนี่ ภาวะที่ดูเหมือนกับ เราใกล้จะทิ้งความเป็นบุคคลได้นี่นะ ก็อาจจะมาให้ดูเป็นวูบๆ วาบๆ

 

เสร็จแล้ว เราติดใจ พอติดใจแล้วนี่ มันจะเคลื่อนจากฐานที่มั่นที่สำคัญ คือ กายกับเวทนานะครับ จะไปเอาขั้น Advance อย่างเดียว ก็เลยกลายเป็น อยากได้ ..อยากได้สภาวะ advance นะครับ

 

ตัวที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสย้ำนักย้ำหนา นี่นะครับ.. ตัวรูปขันธ์ คือ ส่วนของอานาปานสติ นะครับ 

รู้ว่า ลมหายใจเข้า รู้ว่า ลมหายใจออก ในอิริยาบถไหน

รู้พร้อมกันไปนะครับว่า กำลังหายใจเข้าออกในอิริยาบถใด 

 

ตัวนี้นี่ จะเป็นที่ตั้ง เป็นฐานที่มั่น เป็นชัยภูมิ ของสติปัฏฐาน 

 

คือ พอภาวะ advance ที่ปรากฏอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่นี่ จะปรากฏอยู่ในฐานที่มั่นนั้น แล้วสิ่งที่จะเป็นความคืบหน้า ที่คุณจะเห็นได้ชัดเจน ก็คือ ภาวะที่เรารู้สึกว่าเป็นภาวะละเอียดนี่ ปรากฏกับจิตผู้รู้ ที่ใหญ่ขึ้น ที่เป็นกลางขึ้น ที่มีความเป็นอุเบกขามากขึ้น 

 

แล้วก็ มีความนิ่ง มีความตื่น .. อยู่ในสภาวะตื่น อยู่ในสภาวะว่างว่างหยั่งรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้นะเป็น ความแตกต่างที่แท้จริงนะ

ผู้ถาม : เข้าใจแล้วครับว่า ก็คือ เหมือนเราก็ต้องกลับมาที่ฐานร่างกาย ความรู้สึกทางจิตใจ

 

ดังตฤณ : ใช่ อันนี้ คือ จุดที่เป็นชัยภูมิของพระอรหันต์จริงๆ นะครับ

_____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์ลดความฟุ้งซ่าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Q2c8MPac3T8

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น