วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

เป็นนักแสดง โดยอาชีพใช้รูปลักษณ์และกิเลสทำงาน จะเชื่อมทางธรรมกับทางโลกได้อย่างไร?

ดังตฤณ : ช่วยเล่าว่า ธรรมะถึงชีวิตคุณได้อย่างไรครับ?

 

ผู้ถาม : ผมเป็นนักแสดง ..ด้วยเนื้องาน จะอยู่ในโลกที่มีความว้าวุ่นใจอยู่ตลอดเวลา เลยคิดว่าน่าจะมีทาง ทำให้เรากลับมาอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องไปยึดติดในสุขหรือในทุกข์ได้ ผมก็เลยลองฝึกสติปัฏฐาน 4 มาเรื่อยๆ 

 

ทีนี้ ผมมีคำถามว่าเราจะสามารถเชื่อมโลกของทางธรรม กับทางโลกของเรา ให้มาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร? ในเมื่องานของผมจะต้องอาศัยในเรื่องของรูปลักษณ์ อารมณ์และกิเลส

ดังตฤณ : 

ช่วยเล่านิดหนึ่งว่า ที่ฝึกสติปัฏฐานมา ฝึกอย่างไรครับ?

 

ผู้ถาม : ตอนแรก ฝึกอยู่กับลมหายใจก่อน หลังจากนั้นเริ่มลองทำความรู้สึกกับมือ 1 ข้าง แล้วก็เป็นมือ 2 ข้างพร้อมกัน หลังจากนั้น ฝึกให้รู้สึกทั้งตัวพร้อมๆ กัน เรื่องพวกนี้จะเหมือนกับว่า จะทำให้ทุกอย่างที่กังวลใจ ที่ติดอยู่ หลุดคลายออกไป ซึ่งดีมากๆ

แต่ในช่วงที่ผมจะต้องทำงาน บางทีเราฝึกตรงนี้เยอะเกินไป จนทำให้เนื้องานของเรา เข้าถึงฟีลลิ่งค่อนข้างช้า 

 

ดังตฤณ : เข้าใจประเด็นคำถามแล้วครับ อย่างนี้นะครับ จริงๆ แล้ว ทางโลกกับทางธรรม จะว่าไปด้วยกันก็ได้ หรือจะเป็นคนละฝั่งกันก็ได้ ..ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตมาถึงไหน

 

ผมพูดแบบสุดโต่งขั้วหนึ่งก่อน ขั้วที่ว่า จิตของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว และเราก็เห็นกายเห็นใจได้ตลอดเวลา แบบไม่ต้องไปเค้น หรือไปพยายามตั้งอกตั้งใจอะไรมาก

 

มันเห็นของมันเองขึ้นมาอยู่เลย นี่เรียกว่า ต่อให้เราทำอะไรอยู่ก็ตาม ก็จะมีสติของมันอยู่เองโดยอัตโนมัติ



แต่อีกข้างหนึ่ง คือ เรายังไม่มีสติเป็นอัตโนมัติ เรายังต้องสู้กับกิเลสอยู่ หรือว่าจะต้องเลือกนะว่า ณ เวลานี้ นาทีนี้ เราจะอยู่กับธรรมะ หรือเราจะอยู่กับโลก .. แบบนี้แหละ ตรงนี้แหละที่จะสับสน ตอนที่อยู่ตัวแล้วนี่ไม่สับสน เข้าใจนะ

 

ประเด็น คือ ทำอย่างไร เราถึงจะหายสับสน ในช่วงที่จิตกำลังขัดแย้งกันอยู่?

วิธีง่ายๆ ก็คือว่า ณ นาทีที่เรากำลังรู้สึกว่า นี่ต้องเลือกระหว่างโลกกับธรรม เราอย่าเพิ่งไปเลือก ขอให้เราดูก่อนว่า ณ เวลานั้น วินาทีนั้นเลย จิตเป็นกุศลหรืออกุศล

 

ผมแนะนำให้นิยามแบบนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะจำได้ง่ายๆ ว่า จิตกำลังดีอยู่หรือไม่ดีอยู่ จิตสว่างอยู่หรือว่ามืดอยู่ หรือจิตกำลังพร้อมที่จะอยู่กับโลก หรือพร้อมที่จะอยู่กับธรรมกันแน่

 

ถ้าตอนสำรวจ ตอนถามตัวเอง เกิดความเฉื่อยขึ้นมา เกิดความรู้สึกเฉยๆ เกิดความรู้สึกชืดชา พูดง่ายๆ ว่า บางที เราไปแอบคิดเอาว่า เอ.. อย่างนี้ เป็นเพราะการปฏิบัติธรรมมากเกินไปหรือเปล่า จิตเลยเฉยๆ ชืดๆ ชาๆ จืดๆ ไม่มีรสเปรี้ยวหวานมันเค็มเหมือนอย่างที่ควร หรืออย่างที่เคย อะไรแบบนี้

 

เราก็ตอบตัวเองไปตามจริงว่า จิตของเรากำลังชืดๆ ชาๆ ไม่ได้เป็นบวก ไม่ได้เป็นลบ ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้เป็นอกุศลอะไรชัดเจน 

พอเรามีสติเห็น ภาวะของจิตของเราตามจริงอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้นเป็นอันดับต่อไป?

 

เราได้ชื่อว่า เราเห็นว่า จิตของเรานี่ เป็นดวงหนึ่ง เป็นจิตดวงหนึ่งที่อยู่ในระหว่างของการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระหว่างดีกับไม่ดี ระหว่างปรุงแต่งมากกับปรุงแต่งน้อย

 

คำว่า ปรุงแต่งมาก หมายความว่า เรื่องมันไม่มี ไม่มีเหตุให้จิตเป็นแบบนั้น เราก็ไปปรุงแต่งให้จิตเป็นแบบนั้น ..เหมือนกับที่ดาราทำๆ กัน

 

ถ้า ปรุงแต่งน้อย หมายความว่า ความปรุงแต่งมากๆ นั้นมันลดระดับลง มาจนกระทั่งถึงจุดที่ความปรุงแต่ง ถูกปรุงแต่งด้วยสภาพความจริง ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะนั้น 

 

เช่น เรากำลังนั่งอยู่ ท่านั่งก็บอกเราว่า นี่กำลังนั่งอยู่ แล้วพอท่านั่งนั้นหายใจเข้า ท่านั่งนั้นหายใจออก ก็มีความปรุงแต่งทางจิต ตรงตามนั้นเลย เป๊ะๆ เลย ราวกับว่าเป็นอันเดียวกัน ..จิตกับกาย.. นี่เรียกว่า ปรุงแต่งน้อย

 

เข้าใจ Point นะครับ คือ ปรุงแต่งมากนี่ เราไปใช้จินตนาการ ส่วนการปรุงแต่งน้อย คือ เราใช้สติอยู่กับความจริง

ทีนี้ พอเราสามารถนิยามได้แบบนี้ชัดเจน มันเกิดอะไรขึ้น?

 

จะเกิดความสามารถแยกแยะเป็นบล็อกๆ ว่า ตอนที่จะต้องปรุงแต่งมาก ตามหน้าที่การงาน ตามอาชีพ 

จิตจะสวิงแบบหนึ่ง จิตจะมีความรู้สึกว่า ตัวเราต้องกลายเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง จิตจะมีความรู้สึกว่า เราสามารถออกท่าออกทางอย่างไร ให้เกิดสีสัน ให้เกิดความรู้สึกมันส์ 

 

เพราะว่าบนหน้าจออินเทอร์เน็ต หรือหน้าจอภาพยนตร์ ทีวี อะไรก็แล้วแต่ ที่มันจะตรึงสายตาคนได้ ต้องมีท่าทางที่มี Energy มีพลัง แล้วก็สามารถสะกดสายตาคนได้

 

ซึ่งตรงนี้ ด้วยความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เริ่มต้นขึ้นมาเราเห็นได้แล้วว่า สภาพกาย สภาพจิต ที่สวิงไปทางโลก จะประมาณนี้

 

ส่วนตอนที่ความปรุงแต่งลดลง จนน้อยที่สุด ก็คือว่าเท่ากัน เสมอกันกับภาวะทางกายทางใจ ที่กำลังปรากฏ



ตรงนี้ผลคือว่า เราจะรู้ว่า โลกกับธรรม ต่างกันตรงนี้ ปรุงแต่งมาก ปรุงแต่งน้อย

 

เสร็จแล้ว คุณจะมีความเข้าใจแตกยอดออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทุกครั้งที่สังเกตเข้ามา ถามตัวเองว่า ตอนนี้ปรุงแต่งมากหรือปรุงแต่งน้อย 

อยู่ในภาวะจิตแบบเฉื่อยๆ หรือมีความกระตือรือร้น

จะเห็นเป็นบล็อกๆ จะเห็นแยกเป็นขณะๆ แล้วก็ไม่ไปยึด 

 

ตรงนี้ที่สำคัญที่สุด คีย์เวิร์ดอยู่ที่ตรงนี้ คือ ถ้าหากว่าจิตของคุณ 'มีสติ' เห็นได้ว่ามันสักแต่เป็นบล็อกๆ ก็จะไม่มีตัวเดิมของคุณ ให้เกิดความพะวง เข้าใจไหมครับ?

 

ที่ผ่านมา คำถามของคุณ ก็คือว่า คุณมีความพะวงอยู่ แล้วทำอย่างไรจะออกจากความพะวงนี้? นี่ เป็นจุดที่เป็น keyword

 

พอคุณสามารถมีสติ แยกได้เป็นบล็อกๆ ความพะวงจะหายไป เหลือแต่ความเห็นว่า จิตแต่ละดวง จิตแต่ละขณะ ไม่ใช่ตัวเดิม จะต่างไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปแคร์

 

ตรงที่ไม่แคร์ ตรงที่ไม่พะวงนั่นแหละ มันจะกลับเข้าร่องเข้ารอยหน้าที่ ณ ขณะนั้นได้เอง โดยไม่ต้องไปพยายามฝืน หรือว่าพยายามคิดว่า เอ๊ะ นี่อยู่กับโลกมากเกินไปหรือเปล่า นี่อยู่กับธรรมมากเกินไปหรือเปล่า

แต่เราจะเห็นว่า จิตในขณะนี้ สมควรที่่จะอยู่กับโลก .. จิตในขณะนี้ ที่เป็นตัวของตัวเองแล้ว เลิกจากงานแล้ว ก็มาอยู่กับธรรมะได้

 

ตรงนี้แหละ ที่มันจะกลมกลืนกับเส้นทางชีวิตของผู้ถามช่วงนี้มากที่สุด

__________________

 

คำถามเต็ม : เป็นนักแสดงด้วยอาชีพอยู่ในโลกที่มีความว้าวุ่นใจตลอดเวลา จึงฝึกเจริญสติมาเรื่อยๆเราจะเชื่อมโลกของทางธรรมกับทางโลกได้อย่างไร ในเมื่ออาชีพต้องอาศัยรูปลักษณ์และกิเลสทำงาน?

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถ่ายทอดจากคลับเฮาส์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

 

คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=-kd7vk6fjLM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น