วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

ก่อนสวดมนต์ควรสมาทานศีล หลังสวดมนต์ควรแผ่เมตตา เข้าใจถูกไหม

ผู้ถาม : สวัสดีค่ะ อาจารย์ดังตฤณ moderator และผู้ฟังทุกท่านนะคะ 

ไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นนะคะ พอดีเข้ามากลางๆ แล้ว

ไม่ทราบว่า คือ ถ้าพูดถึงเรื่องการสวดมนต์เมื่อก่อนหน้านี้

ก่อนจะสวดมนต์ เราควรจะทำอะไรไหมคะ คือ เราควรจะกราบพระ อาราธนาพระ แล้วก็สมาทานศีลก่อนไหม

คือ เคยได้ยินมาว่า การสวดมนต์ที่ให้ผลได้ดีที่สุด คือ เราควรจะสมาทานศีลก่อน และหลังสวดมนต์ เราควรต้องแผ่เมตตา

ไม่ทราบว่า ขั้นตอนเป็นอย่างไรคะ อาจารย์

 

ดังตฤณ : ถ้าเราพูดกันเรื่องของจิต พูดกันเรื่องของสมาธิ พูดกันเรื่องของสติ พูดกันเรื่องของปัญญา นะครับ

จริงๆ แล้วนี่ เรื่องของพิธีรีตอง หรือพิธีการอะไรทั้งหลาย ไม่จำเป็นมาก

 

เพราะว่า เราเกิดความคิดดีขึ้นเมื่อไหร่ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นฤกษ์ดีเมื่อนั้นนะครับ

ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตองอะไรทั้งสิ้น

 

ถ้าคิดดี ทำดี พูดดีเมื่อไหร่ ตรงนั้นเป็นฤกษ์ดีในตัวของตัวเอง

 

ทีนี้ เรามาพูดว่า บางท่านบอกว่าให้สมาทานศีลก่อน

คือ ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แล้วมาสวดมนต์ ใจจะผ่องแผ้วขึ้น

 

อันนี้ ผมอยากจะกลับกันนิดหนึ่ง 

คือ แทนที่จะตั้งใจสมาทานศีลนะครับ เอาสูตรของหลวงพ่อพุธดีกว่า

 

หลวงพ่อพุธเคยสอนนะ บอกว่า 

ถ้าเราสวดมนต์ตอนกลางคืนนะครับ สมมติ สวดมนต์ตอนกลางคืน

เราทบทวนตัวเองดูว่า ระหว่างวันที่ผ่านมา ศีลของเรา พร่องไปบ้างไหม

 

ถ้าหากว่า ศีลของเราพร่องไป ก็ยอมรับไปความจริงว่า ศีลข้อนั้นเราพร่องไป 

แล้วเราตั้งใจว่า จะไม่ผิดศีลข้อนั้นอีก

หรือ ถ้าสำรวจดูแล้ว ไม่มีพร่องแม้แต่ข้อเดียว ทุกข้อ นี่ เต็มบริบูรณ์

เรารักษาศีลได้สะอาดทั้งวัน นะครับ

เราก็ไล่ไปทีละข้อๆ พอครบ 5 ข้อ แล้วพบว่า ทั้งวันไม่ผิด (ศีล)

(ศีล) ไม่ด่าง ไม่พร้อย เลยสักข้อเดียว .. ใจจะสว่างขึ้นมาทันที

ใจจะเต็มขึ้นมาทันที จะมีความรู้สึก .. มีความสุขมาก ที่ศีลของเราสะอาด

 

และศีลนั่นแหละ จะมีผลให้จิตมีคุณภาพ

ปรุงแต่งจิต ให้เกิดความรู้สึกว่า พร้อมจะสวดมนต์ พร้อมจะนั่งสมาธิ

จะมีใจเดียวที่เด่นขึ้นมา เป็นใจที่สว่าง เป็นใจที่เกิดความเบา

เป็นใจที่สบาย มีความสบายใจอันเกิดจากการที่เห็นแล้วว่า

ศีลของตัวเองบริสุทธิ์ในวันนั้น

 

คือ ถ้าสวดมนต์ในตอนเช้า เราก็ทบทวนก็ได้ว่า

เมื่อวานที่ผ่านมา มีศีลข้อไหน พร่องบ้าง

ถ้าหากว่า พบแม้แต่นิดเดียวว่า มีศีล ข้อใด ข้อหนึ่ง ด่างพร้อย

เราก็ตั้งใจว่า วันนี้แก้ตัวใหม่ .. ขอแก้ตัว ไม่ทำให้ผิดขึ้นมาอีกนะครับ

 

นี่ อันนี้ เป็นอุบายที่แท้จริงนะครับ แล้วได้ผลยิ่งกว่าเรามาสมาทานศีล 

 

ขอพูดกันง่ายๆ เลยนะครับว่า วิธีการสมาทานศีล 

แบบที่ คนไทยเราทำๆ กันอยู่นี่ เป็นวิธีการหลอกตัวเอง 

เป็นวิธีที่ พูดไปนี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองพูดอะไรออกไป

 

อย่าง ขึ้นต้นมาก็ บอกว่า ..เธอจงรับศีลเหล่านี้ .. ข้าพเจ้าจะรับศีลเจ้าข้า..

เสร็จแล้ว ก็บอกว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ลักทรัพย์ จะไม่โน่นไม่นี่ อะไรต่างๆ

แต่ใจจริงๆ ไม่ได้มีเจตนานั้นเลย

 

ตอนสมาทานศีลแบบคนไทย นี่ เป็นการสมาทานศีล แบบนกแก้วนกขุนทอง 

คือ พูดไปอย่างนั้นเองว่า จะรักษาศีล แล้วก็พูดปฏิญาณเป็นภาษาบาลี

..ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขา ปะทังสะมาทิยามิ

โดยไม่รู้คำแปลเลยด้วยซ้ำว่า แปลว่าอะไรนะครับ

ณ ขณะสวด.. ณ ขณะที่ปฏิญาณไป .. นี่ อย่างนี้ ไม่ได้อะไร

สังเกตสิว่า คน พอสมาทานศีลนะ จิตใจไม่ได้ดีขึ้นเลย 

เพราะพูดเป็น นกแก้วนกขุนทอง เฉยๆ 

 

แต่ว่าแบบที่หลวงพ่อพุธท่านสอนนะครับว่า ให้สำรวจศีลตัวเองนี่

แบบนี้ มี.. มีผลแล้ว

คือ ต่อให้ไม่สมาทานศีลนะครับ 

แค่นึกในใจว่า มีศีลข้อไหนพร่องบ้าง มีศีลข้อไหนเต็มบ้าง

แค่นี้จิตสว่างแล้ว 

 

อันนี้ในแง่ที่ว่า เราจะทำพิธีนะครับ ก่อนที่จะสวดมนต์ ก็คือ พิธีทางใจนั่นแหละ 

 

ใจ นี่ เป็นใหญ่

ใจ นี่ เป็นประธาน 

 

ถ้า ใจเรา มุ่งไปในทิศทางไหน อาการทางใจก็จะออกผลในทิศทางนั้น

ถ้าใจของเรา รู้จริงๆว่า เรากำลังคิดเกี่ยวกับเรื่องศีลแบบไหน

เราจะรักษา หรือ ไม่รักษา

สำรวจว่า เราพร่อง หรือ ไม่พร่อง

นี่ ทิศทาง นี่ ออกดอกออกผลแล้ว ณ บัดนั้น


ถ้ารู้ตัวว่า รักษาศีลมาดี จิตก็จะดี 

เป็นกุศลขึ้นมา เป็นมหากุศลขึ้นมาทันที

แต่ถ้าสมาทานศีล แล้วใจไม่ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องของศีลเลย

แม้แต่ข้อเดียวนะครับ

 

ก็คือ ทำ.. ทำปากขมุบขมิบไป เป็นนกแก้วนกขุนทอง 

แล้วก็ไม่ได้เกิดผลอะไรกับการสวดมนต์ หรือ การนั่งสมาธิในครั้งนั้นขึ้นมาเลยนะครับ

 

ผู้ถาม : เชื่อในเรื่องของการรักษาศีลนะคะว่า

ศีล 5 ..อย่างน้อย เราต้องทำให้สมบูรณ์ในแต่ละวัน

ทีนี้ อย่างเรื่องดวง อย่างที่ มีผู้ถามก่อนหน้านี้

ก็เชื่อว่า คนไทยเมื่อมีทุกข์ จะเข้าหาผู้ที่ช่วยคลายทุกข์ได้

แต่เคยได้ฟังมาว่า การที่เราไปดูดวง ถ้าจิตเราไม่แข็งพอ เขาทักอะไรมา ..จิตเราก็จะตก

ดังตฤณ : ใช่ เราก็จะเป๋ไป

 

ผู้ถาม : และการปฏิบัติของเรา จะอิมแพค (impact) ไปหมดทุกอย่างเลยค่ะ 

ไม่ว่าเราจะสวดมนต์ เราจะเดิน เราจะพูด เราจะใช้ชีวิตประจำวัน 

ก็จะ ..จิตก็จะวกวน เข้ามา เอ้อ.. คำทำนายของเขาเป็นอย่างไร

ก็เลยคิดว่า เอาแบบที่คำของพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ ท่านสอนไว้ดีกว่าว่า 

ศีลนำมาซึ่งความสุข

ศีลนำมาซึ่งความสงบ

ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์

และศีลนำมาซึ่งนิพพาน อันนี้น่ะค่ะ

 

แล้วก็เลยรู้สึกว่า คนเรา  .. สุดท้าย ก็เอาอะไรไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ทุกข์ก็คือทุกข์ สุขก็คือสุข

แต่ก็ บอกไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ เราจะพ้นทุกข์

 

ทีนี้ ที่จะถาม.. ที่ถามไว้เมื่อกี้

ถ้าเราสวดมนต์เสร็จแล้ว นั่งสมาธิเสร็จแล้ว

เราควรจะสวดแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรเลย หรืออย่างไรคะ ..ให้กับสรรพสัตว์

หรือว่า ต้องแผ่เมตตาให้ตัวเราเองก่อน



ดังตฤณ : การแผ่เมตตาจริงๆ แล้วนี่ก็คือ การทำให้จิต ขยายออก แผ่ออก

ลักษณะที่จิตแผ่ออก คือ ลักษณะเดียวกันกับ สมาธิจิต

 

ปกตินี่ จิตของคนเราจะหุบเข้า 

จะมาเป็นก้อนอยู่ในหัวนะครับ แล้วก็ ลักษณะของจิต ที่มากระจุกอยู่ในหัว หรือว่า ในอก นี่ 

เป็นลักษณะของจิต ..ที่พร้อมจะเอาเข้าตัว

พร้อมที่จะหวงไว้

พร้อมที่จะมีความตระหนี่

พร้อมที่จะเข้าข้างตัวเอง ในการที่จะผิดศีลผิดธรรม 

แล้วก็ ไม่พร้อม ที่จะเห็นกายใจตามจริงนะครับ

อันนี้ คือ ลักษณะของคนทั่วไป

 

แต่การแผ่เมตตานี่ คือ การที่จิต แทนที่จะกระจุกอยู่ ..เป็นการแผ่ผายออกไป

สังเกตดู เวลาที่ใจเราเปิด แล้วใจเรากว้าง

อย่าง ตอนที่เราไปอยู่บนยอดเขา

 

หรือ ตอนเราอยู่บนยอดเขา มองมาไกลๆ เห็นขอบฟ้า

หรือ ไปอยู่ที่ชายทะเลนะครับ 

แล้วใจเปิดกว้างโล่ง 

 

ถ้าใครไปขออะไรตอนนั้นนะ เราจะมีความรู้สึกว่า

เราพร้อมจะให้ เราพร้อมจะอภัย เราพร้อมจะพูดอะไรดีๆ 

 

แต่ถ้าตอนที่เราอยู่ในป่ารกนะครับ

เรารู้สึกว่า เราหลงทางอยู่

เรารู้สึกว่า.. คือ เคยเป็นเด็กที่หลงทางในห้างไหมนะครับ

เวลาที่เราเรียกหาพ่อแม่ว่า พ่อแม่อยู่ไหน หาพ่อแม่ไม่เจอ 

ใจแบบนั้นนี่ ไม่พร้อมจะให้อะไรใครนะ

 

มีแต่จะขอความช่วยเหลือ

หรือว่า เอาเข้าตัว เอาความปลอดภัยกลับมา นะครับ

 

นี่คือ ลักษณะความแตกต่าง

 

ทีนี้ พอเราเข้าใจว่า การแผ่เมตตา คือ การทำให้จิตพร้อมเป็นสมาธิ

 

เราก็จะเข้าใจพ้อยท์ (point)ว่า สวดมนต์ก็ดี นั่งสมาธิก็ดี นี่ แล้วเราแผ่เมตตาไป

ก็คือ การทำให้คุณภาพของจิต นี่ ขยายผล

มีความใหญ่ขึ้น ..จิตใหญ่ขึ้น

 

ถ้าหากว่า เราสามารถแผ่จิตออกได้กว้างๆ สบายๆ นะครับ ได้นาน .. 

กลายเป็นสมาธิ

แล้วถ้าสมาธิแบบนั้น ถึงขั้นฌาน ท่านเรียกว่า "อัปปมัญญาสมาบัติ"

คือ มีจิต ที่ยิ่งใหญ่แบบพรหมเลย

เป็นพระพรหม ทั้งๆ ที่อยู่ในร่างมนุษย์

 

อันนี้ ถ้าเราเข้าใจ Concept พื้นฐานนะครับว่า จะแผ่เมตตาไปทำไม

เราก็จะพบว่า ถึงแม้อยู่ในระหว่างสวดมนต์ หรือ อยู่ในระหว่างนั่งสมาธิ

ถ้าจิตมีความแผ่ออกไป มีความสุขมากพอ ที่เราอยากจะยกความสุขนั้น ให้กับคนทั้งโลก หรือว่า เทวดาทั้งจักรวาล นะครับ

ก็แผ่ได้เลย ไม่ต้องรอให้นั่งสมาธิเสร็จก่อน หรือว่าสวดมนต์เสร็จก่อนนะครับ

 

จิต ถ้าว่ามีความสุข มีความรู้สึกปลื้มปริ่ม

มีความรู้สึกอยากยิ้ม และอยากให้คนอื่นยิ้มตาม แบบเดียวกัน 

ในระดับเดียวกันกับความสุขของเรานะครับ 

อันนั้นแหละ เป็นความพร้อมแผ่เมตตาอยู่แล้ว

 

แต่ว่า ถ้าเรานั่งสมาธิเสร็จแล้ว มานั่งอุทิศส่วนกุศลนะครับ 

บอก..มีแต่คำพูดอย่างเดียวว่า ขออุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร

ขออุทิศให้กับ พ่อแม่พี่น้อง ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ปู่ย่าตายาย ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

แต่ ใจ ไม่ได้รู้สึกถึงความสุขข้างในเลย

ไม่ได้รู้สึกถึงอาการอยากจะ แชร์รอยยิ้ม ที่อยู่กลางใจ ให้ไสวสว่างไปทั่วจักรวาลนี่

อย่างนี้ ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นการแผ่เมตตา


คือ คำว่าแผ่เมตตา เราต้องเข้าใจ Concept ชัดเจนก่อน 

ว่า เป็นการแผ่จิต ไม่ใช่นึกพูด

ว่าไปแล้ว หลักการที่พระพุทธเจ้าสอนแผ่เมตตา นี่

ท่านไม่ได้ให้มา นึกเป็นคำๆ 

 

ซึ่งการนึกเป็นคำๆ ทีละคำๆ นี่ ลองสังเกตดูนะ.. สังเกตดูจากจิตตัวเองนะ

ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใครนะครับ

 

ถ้านึกเป็นคำๆ แล้วนี่ บอกว่า.. 

ขอให้ ปู่ย่าตายาย ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ขอให้ คนธรรพ์ ยม ยักษ์ ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลอะไรจากเรานี่

 

กับการที่เราได้มีความรู้สึกว่า เรานั่งสมาธิ แล้วเรามีความสุข แล้วเราอยากแผ่ออกไปนี่

 

อันไหนที่ได้เป็น กุศลจิต จริงกว่ากัน

อันไหนเป็น เมตตา ที่ติดตัวเอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันมากกว่ากัน

อันนั้นแหละ คือ อันที่ถูกสำหรับเรา


สำหรับส่วนตัวผม ให้มาท่องนะว่า ..

ขอให้ปู่ย่าตายาย อินทร์พรหมยมยักษ์ ได้ส่วนบุญส่วนกุศลอะไรนี่ 

จิตผมแคบ จิตผม จะบีบเข้ามา 

แล้วก็รู้สึกว่า เราไม่ได้แผ่อะไรให้ใครเลย เราไม่ได้อุทิศอะไรให้ใครจริงเลย นะครับ 

แต่ตอนที่ เราทำสมาธิหรือสวดมนต์มีความสุข

 

แล้วเราอยากแผ่สุขนี้ให้ออกไป ให้กว้างไกล 

อันนี้ รู้สึกเลยว่า จิตที่มีความสุขและขยายความสุขนั้นออกไป นี่ เป็นของจริง

 

แล้ว บางทีนี่ รู้สึกเลยนะครับว่า ไปสัมผัสกับอะไรรอบๆ ที่อยู่รอบๆ เรา แล้วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

แล้ว 'ท่าน' ทั้งหลาย ก็อนุโมทนากันอยู่ อะไรอย่างนี้

อย่างนี้ ถึงจริง สัมผัสจริง จากจิตถึงจิตนะครับ

 

หรือ อย่างอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้ายังไม่ลืมเมตตานั้น

จิตยังมีความ 'ทรงอยู่' กับการแผ่ การขยายนั้น

เวลาใครมาทำอะไรให้โกรธ อาจจะมีความขุ่นเคือง

แต่ว่า จะเป็นแค่ความขุ่นเคือง ที่พร้อมจะดับสลายหายไป ในทะเลความเมตตา ที่แผ่ออก 

 

คือ ไม่ใช่ทำได้อยู่ตลอดเวลานะ 

อย่าง บางที เราทำสมาธิหรือว่าสวดมนต์แต่ละคืน นี่ 

จิต ก็ขยายไม่เท่ากัน จิต ก็ใหญ่ไม่เท่ากัน นะครับ

 

เวลาที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะเหมือนกับมี 'ทุน' แตกต่างไปด้วย

ทุนที่จะไปสู้กับความพยาบาท หรือ ความโกรธ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างวันนะครับ

 

ถ้าหากว่า ใจของเราแผ่ออกกว้างมาก ก็เหมือนมีทุนมาก

ตรงนี้แหละ ที่จะทำให้ .. 

คือ ตัวผมเอง นี่ เห็นนะครับว่า การแผ่เมตตาที่ถูกต้อง เราเน้นกันที่การแผ่จิต .. ไม่ใช่การเน้นที่คำพูดนะครับ

 

ผู้ถาม : ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์

เห็นภาพเลยค่ะ เพราะว่าเวลาที่เรานั่งสมาธิ แล้วเราแผ่ออกไปด้วยจิตที่เบิกบาน แบบมีความสุข ถึงจุดที่สุข แล้วเราแผ่ออกไป 

กับการที่เรารู้สึกเหมือนกับ..เออ เหมือนทำเป็นพิธี ..

เอา ..สวดมนต์สวด ต่อด้วยขั้นตอนของการแผ่เมตตา ..ต่างกันจริงๆ

ดังตฤณ : ต่างกันมากครับ



ผู้ถาม : ถ้าแบบนี้ นอกจากมีศีลแล้ว เราก็ควรต้องทรงพรหมวิหาร 4 ไปด้วยหรือเปล่าคะ ถ้าจะทำจิตให้เป็นเมตตาแบบนี้ 

 

ดังตฤณ : ตัวพรหมวิหาร 4 นี่ โดยรากฐานนะครับ ก็มาจากจิตที่มีความปลอดภัย 

ที่มีความอยากเกื้อกูลมากกว่าอยากเบียดเบียน

การที่เรามี พรหมวิหารธรรม ได้ ก็คือ การที่เราขึ้นต้น .. มีเมตตาก่อน

 

มี เมตตา ไม่อยากเบียดเบียน 

มีกรุณา อยากช่วยเหลือ

แล้วก็ มีมุทิตา อยากจะยินดีกับคนอื่น ไม่ใช่ไปอิจฉาเขา

และข้อสำคัญ ที่เป็นบทสรุปของพรหมวิหาร 4 ที่สำคัญ

ซึ่งเราไม่ค่อยจะเน้นกัน แต่จริงๆ สำคัญมาก ก็คือ

เรื่องของ อุเบกขา นะครับ

 

เวลาเราช่วยใครไม่ได้ แล้วเราพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

แล้วก็สามารถเห็นได้จริงๆว่า ใครทำอะไร เขาก็ได้ตามที่เขาคิดนั่นแหละ 

เขาคิดได้แค่ไหน เขาก็ได้ตามที่คิดได้แค่นั้น

 

เขาทำ เขาพูด อะไรแค่ไหน 

คำพูดและการกระทำ นี่ ก็เป็นเงาตามตัวเขาไป

ทุกคน ถึงจะ ไม่รู้ ไม่เห็น 

แต่ตัวเขาเอง จิตเขาเอง นี่ รู้เห็นอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงนะครับ

 

อันนั้นแหละ คือ ความสมบูรณ์ของพรหมวิหาร 4 นะครับ

_____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน มุมมองที่เปลี่ยนไป

วันที่ 13 มีนาคม 2564

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Wi4KI7zLHM4

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น