วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ

 

ช่วงต้นรายการ ขออนุญาตนะครับ เนื่องจากว่าช่วงนี้กำลังฮอตฮิตจริงๆ  เกี่ยวกับเรื่องของ หาชุดหมีให้ (พี่) หมอกันอีกครั้ง แล้วครั้งนี้ไม่ใช่ชุดหมีนะ ยืมชื่อโครงการเดิมมาเพราะว่าติดปากหลายๆ ท่านแล้ว

 

ต้องขอกราบขอบพระคุณ แล้วก็อนุโมทนากับทุกท่านนะครับที่ช่วยกัน ซึ่งเกินความคาดหมายของเราในเรื่องเงินบริจาค ที่จะซื้อเครื่องช่วยชีวิตนะครับ แล้วไม่ใช่ช่วยแค่ชีวิตคนป่วยนะ แม้แต่ชีวิตหมอ เราก็อาจจะต้องช่วย แล้วช่วยไม่ทันไปรายหนึ่งแล้วนะครับ ตอนนี้สถานการณ์หนักจริงๆ

 

และเนื่องจากมีผู้ที่ให้ความสนใจ มีน้ำใจช่วยเหลือกันมามาก มากจนกระทั่งว่ายอดเงินบริจาคสูงนะ ซึ่งหลายท่าน ที่เพิ่งจะมาทำความรู้จักกับมูลนิธิบูรณพุทธ ก็อาจจะเกิดความสงสัยข้องใจ คือไม่ใช่ระแวง แต่ว่าสงสัยวิธีการใช้เงินของมูลนิธิ

 

เราก็จะได้มาพูดคุยกัน เอาหลายๆ ฝ่ายมาคุยกันเลย เพื่อที่จะได้เข้าใจกันจริงๆ

 

อันดับแรก พอพูดถึงวิธีการใช้เงินของบูรณพุทธ ต้องพูดเรื่องที่ว่า รากของมูลนิธิฯ เป็นมาเป็นไปอย่างไร

 

เราเริ่มต้นจาก การร่วมกันสร้างพระประธาน

 

แต่เดิม ผมแค่อยากจะสร้างพระประธานส่วนตัวแค่องค์เดียว แต่พอถามหา ว่ามีวัดไหนที่ยังขาดพระประธานอยู่ เข้าไปในเพจดังตฤณ ก็ปรากฏว่ามีคนตอบน้อยนะว่ารู้จักวัดไหนบ้าง แต่ที่เยอะจริงๆ คือขอที่จะร่วมด้วย ซึ่งผมไม่คาดหมายไว้ก่อนว่าจะมากมายขนาดนั้น

 

ทีนี้พอมีเงิน ตอนแรกจะสร้างแค่องค์เดียว กลับกลายเป็นเกือบสองร้อยองค์ หน้าตักหกสิบนิ้ว เเล้วก็เหมือนว่าเงินล้น พูดกันตรงๆ เลยว่าเงินเยอะมาก แต่วัดตามสเปคของเรา มีไม่พอ ก็เลยต้องขอหยุดสร้างพระไปก่อน

 

แต่ครั้นจะปิดบัญชี ก็ปิดไม่ลง เพราะว่ามีคนยังพยายามโอนเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ พอผมบอกว่าจะปิดวันนั้นวันนี้ ก็มีโอนเข้ามาเพิ่ม สมทบเรื่อยๆ ผมเลยจำเป็นต้องใช้วิธีว่าปิดบัญชีทิ้งไปเลย

 

ทีนี้ พอปิดบัญชีแล้ว ก็ยังมีเรื่องยืดเยื้อตามมาอีก เล่าโดยรวบรัดก็คือว่าคุณสมเจตน์อยากจะให้ทำเป็นมูลนิธิเลย เพราะว่ามีผู้แจ้งความจำนง  อยากจะช่วยกันสร้างพระอยู่ไม่ขาด

 

ผมก็เลยตกลงใจว่าเราสร้างมูลนิธิฯ ขึ้นมา แต่ไม่ใช่ว่าสร้างพระอย่างเดียว อยากทำโครงการอื่นด้วย เพราะว่าการสร้างพระประธานอย่างเดียว สร้างได้นะ แล้วทุกคนพอสร้าง ก็มีความรู้สึกเป็นสุขโสมนัสนะครับ แต่ว่าในข้อเท็จจริงก็คือ เราไม่ได้มีวัดตามสเปคเยอะขนาดนั้น

 

กล่าวคือ ต้องมีพระปฏิบัติดี อยู่ในที่ห่างไกล แล้วก็ชุมชนยังไม่เคยได้มีพระประธานไว้กราบไหว้ เอาไว้เป็นที่ตั้งของศรัทธา

 

วัดตามเงื่อนไขดังกล่าว หายากขึ้นทุกทีๆ มีแต่วัดที่จะเอาพระประธานไปประดิษฐานข้างกำแพงบ้าง อะไรบ้างแบบนั้น ซึ่งเราไม่ได้ต้องการ เราต้องการให้พระประธานของเรา เป็นที่กราบไหว้ เคารพสักการะจริงๆ

 

ทีนี้ พอเริ่มตั้งมูลนิธิบูรณพุทธขึ้นมา ก็มีโครงการเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นสร้างโรงเรียนให้เด็กดอย สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร หรือว่าขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งแต่ละโครงการ พูดง่ายๆ ว่าเราเอาเงินตั้งต้น จากที่เหลือจากการสร้างพระประธาน (โครงการพระประธานทั่วหล้า) มาทำโครงการต่างๆ

 

เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ตายตัวตั้งแต่แรก ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละโครงการ แต่จะเอาจากแม่แบบว่า ผู้บริจาคตั้งใจสร้างพระตอนแรก แล้วก็เราสร้างพระให้เห็นนะครับ และสร้างเกินจากพระให้ชื่นใจมากกว่านั้น คือให้เกินคาดไปด้วย

 

ตอนแรกที่สร้างมูลนิธิบูรณพุทธขึ้น เราก็จะมีจุดหมายแบบฝันๆ ว่าจะช่วยให้สถานการณ์ของชาวพุทธดีขึ้น ซ่อมแซมพุทธศาสนาในส่วนที่สึกหรอ ให้กลับฟื้นฟูมา

 

ทีนี้ ตอนหลังๆ ก็ตกผลึกจริงในทางปฏิบัติ หลังจากหลายปีผ่านไป เรามีภาพที่น่าชื่นใจมาให้อนุโมทนากัน หรือได้รู้สึกร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างชาวพุทธด้วยกัน และที่สุดคือเรียนรู้ธรรมะที่ควรจะรู้ไปด้วยกัน

 

พวกเรา ถึงทุกวันนี้ เอาแบบที่ตกผลึกแล้วนี่ คือ เรากำลังทำตัวเป็นแหล่งบริหารบุญ ให้กับเครือข่ายผู้บริจาค คือ อยู่บ้านแล้วโอนเงินง่ายๆ แต่ได้ความชื่นใจมหาศาล

 

เราได้ฟีดแบคเยอะมากๆ นะครับว่า .. แปลกนะบริจาคไปไม่กี่บาท หลักสิบ .. แต่เกิดความรู้สึกชื่นใจอยู่ได้เป็นวันๆ หลายคนเล่ามาโดยที่ไม่ได้นัดหมายกัน

 

ก็เลยกลายเป็นเหมือนกับว่า เราได้มองเห็นภาพอีกภาพหนึ่ง ว่าถ้าไม่มีแหล่งบริหารแบบมูลนิธิเรา ก็ไม่รู้จะหาหลักฐานที่ไหนมายืนยันว่า (บุญ) อย่างนี้ก็ทำได้ แค่เงินไม่กี่สิบบาท หรือบางคนเป็นหลักหน่วย หนึ่งบาทสองบาท เราสนับสนุน เราชอบนะ

 

คือความเป็นมูลนิธิ เอื้อให้เราสร้างโมเดลที่เราต้องการได้ว่า บริจาคน้อย ไม่มีใครเดือดร้อน แต่ได้ความรู้สึกแช่มชื่นยิ่งใหญ่ ราวกับว่าได้บริจาคมากๆ

 

แต่ก่อน หลายคนเข้าใจว่า ถ้าจะทำบุญให้เกิดอานิสงส์ใหญ่ๆ หมายความว่าจะต้องมีจำนวนตัวเลขมากๆ มียอดโอนเยอะๆ ถึงจะรู้สึกอิ่มใจ

 

แต่ในความเป็นจริง พอหลายคนทำๆ ไป กลับเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนหรือว่าติดค้างคาใจ ว่าที่ทำๆ ไปนี่ได้บุญจริงหรือ ทำไมทำไปแล้วไม่เห็นรู้สึกชื่นใจเลย

 

นี่ก็เลยกลายเป็นที่มาของจุดแตกต่าง ว่าทำไมทำกับมูลนิธิบูรณพุทธ แค่ไม่กี่บาท แล้วถึงเกิดความรู้สึกชื่นใจขึ้นมาได้

 

นั่นเป็นเพราะว่า เราทำแบบไม่เลือกหน้า แล้วเราให้รู้จริงๆ กับตา ให้เห็นกับตาว่า เงินของท่านก่อให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาในโลกบ้าง เกิดสิ่งดีๆ อะไรที่คาดไม่ถึงบ้าง ที่เขาไม่มี และเราไปทำให้เขามี มีอะไรบ้างนะครับ

 

ซึ่งถึงตรงนี้ เราก็เลยทำในแบบที่ว่า มูลนิธิฯ จะเน้นสิ่งที่น่าทำ

 

ขึ้นอยู่กับว่า โครงการไหนที่กำลังน่าทำ ถ้าทำอยู่โครงการเดียวนี่คือไม่ใช่บูรณพุทธนะ

 

ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง อย่างตอนนี้ หมอกำลังจะเหนื่อยตาย และคนไข้โควิดกำลังจะหายใจไม่ออกตาย

 

ถ้าเรานำเสนอภาพสร้างพระ สร้างโบสถ์ ใจลึกๆ ของผู้บริจาคคงไม่ชื่นใจเท่ากับ เห็นเครื่องช่วยชีวิตที่จะไปถึงโรงพยาบาลจริงๆ

 

ฉะนั้น เลยประกาศตั้งแต่จุดตั้งต้นที่เราจะช่วยรอบนี้ว่า เงินที่เราจะนำออกมาจากของเดิม ที่มีอยู่แล้วในบัญชี ตั้งต้นที่ 2 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ล้านบาท หมายความว่า เราสามารถซื้อเครื่องช่วยหายใจได้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทแล้วในตอนนี้

 

ทำไมต้อง 5 ล้านบาท ทำไมต้องเยอะขนาดนั้น?

 

ถ้าหากว่าร่วมทำมาด้วยกันนาน ก็จะเห็นนะครับ อย่างตอนคราวน้ำท่วม พอเราได้เงินบริจาคมา 1.5 ล้านบาท เราก็เอาลงไป 1.5 ล้านบาทเลยเต็มๆ ไม่ได้หักไว้ เพื่อที่จะคงคลังไว้อะไรแบบนี้

 

จุดประสงค์ถึงวันนี้ จะเน้นสาธารณะประโยชน์ บรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้รู้ว่า ชาวพุทธไม่ดูดายกับประเทศที่ศาสนาพุทธดำรงอยู่

 

คุณอาจจะเห็นว่า ทีมงานมีเยอะหลายคนเหลือเกิน แล้วกิจกรรมก็เยอะแยะแต่อาจจะประหลาดใจนะว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคน มีแค่ค่าทำคลิป กับค่าบัญชี ส่วนค่าเหนื่อยอื่นๆ เป็นศูนย์เลยนะ

 

ทุกคนที่ทำ นอกจากไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากทางมูลนิธิฯ แล้วนะครับ ต่างคนต่างออกเงินกัน ร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ คนละมากๆ นะ

 

ขอให้ผู้บริจาคทุกท่าน เข้าใจแนวคิดนี้ การแยกโครงการที่ท่านเห็นใน หน้าเพจ ว่าโครงการมีอะไรบ้าง จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติ เป็นไปเพื่อให้ท่านรู้ว่า ท่านจะทำบุญกองไหน และเราก็ทำกับทุกโครงการจริงๆ ไม่ใช่ตั้งเป็นชื่อโครงการมาลอยๆ

 

แต่บางโครงการอาจติดขัด อย่างเช่นโรงเรียนเด็กดอย ตอนนี้อยู่ในช่วงโควิด ก็ทำยากกว่าปกติ ขึ้นไปยากกว่าปกติ แต่ไม่ใช่หยุดทำ ยังทำอยู่

 

สรุป มูลนิธิบูรณพุทธ แบ่งกองกุศลออกเป็นหลายกอง และเน้นการช่วยไม่เลือกหน้า และหวังผลเป็นใจที่เปิดกว้าง อย่างเป็นสุขในปัจจุบัน

 

ต้องทำความเข้าใจให้สบายใจตรงนี้ก่อน แล้วก็เราขออนุญาต รักษาปณิธานตรงนี้ไว้นะครับ

 

แอดมินเบล : ขออนุญาตอัพเดท สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาสั้นๆ นะคะ เราเริ่มโครงการ หาชุดหมีให้พี่หมอกันอีกครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยตั้งปณิธานว่าเราอยากจะช่วยชีวิตของผู้ป่วย แล้วช่วยแบ่งเบาคุณหมอ

 

แต่สิ่งที่บีบหัวใจมากๆ คือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณวันที่ 17 หรือ 18 (เมษายน) เราได้สูญเสียคุณหมอซึ่งเป็นที่รักมาก ของชุมชนชาวปางมะผ้า ท่านหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า ท่านเข้าไม่ถึงเครื่องกระตุกหัวใจ

 

ก็จะขอเชิญทีมงาน ที่ได้คุยกับคุณหมอที่รับเรื่องนี้โดยตรง เข้ามาช่วยเล่าเรื่องนี้ค่ะ

 

ผู้ร่วมรายการ : กราบสวัสดีครูตุลย์ แอดมินทุกท่าน ผู้ร่วมฟังธรรมทุกท่าน คือเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแล (หมายเหตุ : เป็นทีมผู้ประสานงานโรงพยาบาล ในโครงการ หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ) โรงพยาบาลปางมะผ้ามาก่อนอยู่แล้ว ตั้งแต่โควิดเวฟ 1

 

ทีนี้ พอทราบว่าทางโรงพยาบาลปางมะผ้า ขออุปกรณ์ช่วยชีวิตเข้ามา ก็เลยรับอาสาดูแลต่อ และก็ได้ติดต่อตรงกับคุณหมอ ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้าโดยตรง

 

ท่านก็กรุณาเล่าให้ฟังว่า โรงพยาบาลปางมะผ้า เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กสามสิบเตียง มีประชากรที่อยู่ละแวกนั้น ที่จะเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ประมาณสองหมื่นคน โดยในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยที่เข้ามา visit โรงพยาบาลประมาณปีละสี่หมื่นห้าพันครั้ง

 

ซึ่งพอฟังก็รู้สึกว่า โรงพยาบาลขนาดสามสิบเตียง แต่ว่ารับผู้ป่วยในแต่ละปีมากขนาดนี้

 

คุณหมอเล่าต่อว่า อุปกรณ์ที่ขาดตอนนี้ ก็คือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ท่านเล่าให้ฟังว่า ทั้งโรงพยาบาลมีอยู่เพียงสองเครื่อง เป็นเครื่องใช้งานมานานแล้วเครื่องหนึ่ง แล้วก็เป็นเครื่องใหม่เครื่องหนึ่ง

 

นอกจากจะใช้งานในโรงพยาบาลแล้ว เวลาที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตไปยังโรงพยาบาลหลัก ก็ต้องใช้รถพยาบาลในการส่งต่อ

 

คุณหมอบอกว่า โดยมาตรฐานแล้ว ในรถพยาบาลควรจะต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า A.E.D. อยู่ในรถด้วย แต่ก็ไม่มี

 

ถ้าจะใช้ ก็ต้องยกของที่อยู่ในโรงพยาบาลขึ้นไปที่รถ แล้วในระหว่างการขนย้าย ถ้าไม่มี ก็จะเสี่ยงในเรื่องของการช่วยชีวิต

 

เลยเป็นที่มาว่า ท่านอยากจะขอเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าหนึ่งเครื่อง สำหรับโรงพยาบาลปางมะผ้าเอง ส่วนอีกเครื่องหนึ่ง อยากจะขอให้กับ รพสต. คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะไม่มีเครื่องนี้ใช้เลย

 

ท่านนิ่งไปสักพักหนึ่ง แล้วท่านก็บอกว่า เพิ่งได้มีการสูญเสียคุณหมอที่ทำงานที่ รพสต. ที่นั่น ซึ่งเป็นที่รักของชาวบ้าน คุ้นเคยกับชาวบ้านมาก

 

ตอนนั้น ได้เกิดภาวะวิกฤติกับคุณหมอที่ รพสต. ซึ่ง ท่าน ผอ. โรงพยาบาล ก็ได้อยู่ที่นั่น และช่วยปั้มหัวใจให้กับคุณหมอท่านนั้น ด้วยตัวท่านเองเลย แต่ว่าไม่สามารถที่จะยื้อชีวิตไว้ได้ เพราะการขาดโอกาสจากอุปกรณ์ตัวนี้

 

นี่ก็คือคำบอกเล่าของคุณหมอ ที่ท่านกรุณาเล่าให้ฟังค่ะ

 

แอดมินเบลล์ : เราอาจรู้สึกว่า บางโรงพยาบาลไกลมาก แล้วจะมีสักกี่คนที่มาใช้เครื่องกระตุกหัวใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือ อย่าง รพสต. หรือ สมัยโบราณเรียกว่าอนามัย บางที่อยู่ไกลมาก แล้วเคยลองเข้าไปดูในเฟสบุ๊คของโรงพยาบาลปางมะผ้า พบว่ากว่าจะเดินทางไป บางทีต้องลงจากรถกันทุกคน แล้วช่วยกันดันเพื่อให้รถขึ้นเขาไปได้ คือลำบากจริงๆ ค่ะ

 

ฉะนั้น ของบางอย่าง ที่สายตาคนทั่วไปตัดสินว่าเป็นความสิ้นเปลือง แต่จริงๆ คือ ความจำเป็น แล้วก็เป็นความจำเป็นที่สำคัญมาก

 

อย่างในกรณีคุณหมอที่เสียไป เพราะว่า รพสต. ปกติก็จะมีคุณหมอประจำอยู่ อาจจะหนึ่งท่าน หรือว่าเวียนๆ กันด้วยซ้ำ แล้วมาสูญเสียแบบนี้ เป็นเรื่องที่เศร้ามาก

 

กลับมาที่โครงการของเรา ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พอเราได้รับข้อมูลต่างๆ เข้ามา สิ่งที่เป็นความท้าทายสูงสุดในโครงการนี้ก็คือ โครงการเองจะมีคติประจำโครงการว่าของที่บริจาค .. ต้องถูกใจหมอ คุ้มเงินผู้บริจาค และทันเวลาช่วยชีวิต ..

 

ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานจิตอาสา หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ ทุกคนเลยค่ะ เพราะว่าไม่ใช่ง่ายๆ เลย

 

ถึงแม้จะมีบางคนเป็นหมอ แต่ว่าก็ไม่ได้มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นการที่เราจะหาอุปกรณ์ ที่ค่อนข้างซับซ้อน และตรงใจหมอ ก็ต้องอาศัยการประสานงานกันอย่างมาก

 

รวมถึงด้วยความที่เราก็ทราบว่า ผู้บริจาคแต่ละท่าน สละเงินบริจาคมา บางคนคือมาจากความเหนื่อยยากจริงๆ โดยเฉพาะในยุคโควิด กว่าจะทำมาหาเงินได้แต่ละบาท ก็ไม่ใช่ง่าย

 

เพราะฉะนั้น เราใช้วิธีว่า ต้องเช็คความต้องการของโรงพยาบาลว่า เขาใช้เครื่องอะไรได้ เครื่องอะไรไม่ได้ ใช้อะไรเป็นไม่เป็น แล้วก็รีบหาอุปกรณ์เหล่านั้น ให้ตรงกับความต้องการหมอ

 

ทีนี้ น่าจะเรียกว่าเป็นความโชคดี แล้วก็เป็นความน่ารักของคนไทยทุกคนเลย เราได้เจอผู้ขายหลายคน ที่ให้ราคามาในลักษณะ เหมือนช่วยบริจาคด้วย

 

ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แค่ประมาณห้าวัน เราก็สามารถที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิต ให้กับโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ โดยที่จ่ายเงินในราคาที่ประหยัดกว่ามูลค่าของราคาตลาดมาก

 

ณ วันที่ 24 เมษายน โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ บริจาคไปแล้ว 568,000 บาท (ห้าแสนหกหมื่นแปดพันบาท)

โรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาท)

โรงพยาบาลพะเยา 1,278,000 บาท (หนึ่งล้านสองแสนเจ็ดหมื่นแปดพันบาท)

 

คำว่า ต้องได้ของถูกใจหมอ ไม่ได้หมายความว่า ฉันชอบ แต่โรงพยาบาลได้ใช้งานจริงๆ และคุณหมอหรือบุคลากร ใช้เครื่องนั้นได้ถนัดจริงๆ

 

เครื่องที่เราบริจาคคราวนี้ เรามั่นใจว่าเป็นของดี อุปกรณ์เหล่านี้จริงๆ มีหลายมาตรฐาน แต่เราบริจาคของที่เป็นมาตรฐานยุโรป อเมริกา เกือบทุกตัว อาจจะมีแค่ตัวเดียวที่เป็นของจีน แต่ว่าเป็นของจีนที่เกรดสูงมาก และคุณหมอก็ยอมรับ

 

เลยอยากให้ทุกท่านร่วมชื่นใจว่า ในเวลาเพียง 5 วัน เราหาอุปกรณ์ที่ .. ถูกใจคุณหมอ คุ้มเงินผู้บริจาค แล้วก็เชื่อว่าจะทันเวลาช่วยชีวิต .. ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วค่ะ

 

สัปดาห์หน้า จะเริ่มเข้าไปติดตั้งในโรงพยาบาล ก็น่าจะได้เห็นภาพบรรยากาศ หรือ การส่งมอบอุปกรณ์กันชัดเจนอีกที

 

ดังตฤณ : เดี๋ยวจะขอให้อุ้ยช่วยอธิบายเพิ่มเติม เพราะเป็นคนจัดการวิ่งเต้นเรื่องจดทะเบียนมูลนิธินะครับ เเล้วก็ผมไม่ได้บอกเป็นนโยบาย แต่ว่าเขาคิดของเขาเองตอนที่ไปจดทะเบียน ก็คือว่า ให้มูลนิธิฯ ได้เป็นองค์กรที่ช่วยได้ทั่วไปเป็นสาธารณะ

 

คือเดิมนี่ เราตั้งขึ้นมาเหมือนจะเป็นมูลนิธิ เพื่อเน้นโครงการเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่ว่าโดยขอบเขตที่แท้จริง มูลนิธิหนึ่งๆ ไม่ว่าจะชื่ออะไร เราสามารถที่จะมีขอบเขตจุดประสงค์ ตามที่เราตั้งใจ

 

คุณอุ้ย : (ผู้ดูแลด้านบัญชี ของมูลนิธิ) ตอนที่ไปจดทะเบียน ทางฝ่ายปกครองฯ เห็นว่า ถ้าเรามุ่งตรงด้านศาสนาอย่างเดียว อาจจะไม่ครอบคลุมสิ่งที่ผู้บริจาคบางท่าน อาจอยากบริจาคช่วยเหลือด้านอื่นด้วย

 

ฉะนั้น วัตถุประสงค์ของมูลนิธิบูรณพุทธ ก็คือ

- สนับสนุนในเรื่องของวัด (ศาสนาพุทธ) เป็นหลัก

- เรื่องการศึกษา การเล่าเรียน ทุนการศึกษาให้เยาวชน เด็กที่ด้อยโอกาส และ

- ข้อที่ครอบคลุมทั้งหมดคือ เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์กรสาธารณกุศล องค์การกุศลเพื่อการกุศล และองค์การสาธารณะประโยชน์ เพื่อสาธารณะประโยชน์ของประเทศไทย ซึ่งข้อนี้จะครอบคลุม สามารถทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบริจาคของผู้บริจาค

____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=cu1HVrpr8Ps

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น