วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

น้ำตาไหลทุกครั้งที่ตั้งจิต จะไม่ขอเกิดอีก

ดังตฤณ : จริงๆ แล้ว เรื่องของปัญญามีอยู่ 3 ระดับ

ปัญญาในระดับของการรับฟัง ฟังแล้วเข้าใจ ฟังแล้วรู้สึกอิน ฟังแล้วรู้สึกว่าตาสว่าง อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอันเกิดจากการรับฟัง หรือว่าอ่าน

ปัญญาในระดับของการนึกคิด จินตนาการเอา อย่างคำถามนี้ บอกว่าพิจารณาการเกิดแก่เจ็บตาย พลัดพรากเป็นทุกข์ นึกถึง คือ จินตนาการเอา อันนี้ไม่ใช่ของจริง เพราะไม่ได้เห็นเป็นนิมิตภาพ เกิดแก่เจ็บได้ ไม่ได้เห็นว่าร่างกายนี้ จะต้องเน่าเปื่อยผุพังอย่างไร เป็นการใช้มโนภาพ จินตนาการว่า วันหนึ่งเราจะต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งไป แล้วเกิดอาการอินขึ้นมาจริงๆ อินขึ้นมาหนักแน่นยิ่งกว่าการรับฟังเฉยๆ ว่า วันหนึ่งเราจะต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก

 

แต่อันนี้ไปจินตนาการว่า พอถึงวันที่จะไม่มีลมหายใจ เดี๋ยวบุคคลอันเป็นที่รักก็จะไม่ได้เจอกันแล้วนะ อะไรต่างๆ แล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา นึกภาพออกว่าเดี๋ยวต่างคน ต่างจะแยกย้าย หายไปจากชีวิตของกันและกัน

 

ก็มีความรู้สึกเศร้าสลด หรือว่ามีอาการประมาณว่า ตั้งจิตไม่ขอเกิดอีกอะไรต่างๆ แล้วน้ำตาไหล แบบนี้คือ ปัญญาที่คลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ อยู่กับจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมา เป็นปัญญาระดับที่สอง

 

ส่วนปัญญาระดับที่สาม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกคนควรไปให้ถึงก็คือ การเข้ามามีสติ รู้อยู่กับสภาพทางกาย ทางใจอันเป็นปัจจุบันนี้เลย

 

ถ้าอะไรจะเกิดขึ้นกับภาวะทางกาย ภาวะทางใจนี้ ก็เห็นเดี๋ยวนี้เลย ไม่ใช่จินตนาการไปล่วงหน้า แม้กระทั่งว่า จะเห็นธรรมชาติว่ากายนี้จะต้องเน่าเปื่อย ผุพังไปเป็นธรรมดา คือในระดับของการภาวนาริงๆ นี่ เห็นเลยเห็ฯเป็นนิมิตชัดเจนว่า สภาพเน่าเปื่อยผุพังหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาแค่มโนเอาว่า วันหนึ่งจะต้องจากตาย หายไปจากชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก หรือเราจะนึกจินตนาการถึง เมรุเผาศพว่าเราจะต้องเข้าไปอยู่ในนั้น คนที่เรารักต้องไปถูกเผาอะไรต่างๆ ไม่ใช่แค่นั้น

 

แต่เห็นออกมาจากจิตเต็มๆ ที่มีสมาธิระดับสูงนะครับ แล้วก็มโนภาพนี่ จะชัดยิ่งกว่าความฝันที่ชัดที่สุดในชีวิตของคุณ แล้วลักษณะปรากฏของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของกายนี้ ไม่ใช่แค่ภาพที่เรานึกเอา แต่เป็นนิมิต เนื้อแท้ของการที่กายนี้จะต้องเน่าเปื่อยผุพังนะครับ แล้วก็เวลาที่เห็น ไม่ได้เห็นด้วยจิตที่จะแค่รู้สึกไป หรือว่าจะเศร้าไป แต่เห็นด้วยจิตที่ทรงอยู่ด้วยพลังอุเบกขาของสมาธิ

 

คือถ้ามีสมาธิถึงจุดจริง แล้วเกิดการเห็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของร่างกายนี้ จะสิ้นสงสัยเลยนะ จะรู้เข้ามาโดยธรรมชาติเนื้อแท้ความเป็นกายนี้จริงๆ ว่ามีความพร้อมจะตายอยู่ตั้งแต่เกิดแล้ว เห็นเป็นมูลฐาน คือถ้าไม่มีความจะต้องตายไป ก็ไม่มีทางเกิด มันปนอยู่ด้วยกัน

 

ภาวะของการเกิด คือภาวะที่อะไรๆ มาประชุมกันในทางที่จะบีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยน หรือว่าความทนอยู่ไม่ได้มีอายุ แบบที่ฝรั่งเรียก เอ็นโทรปี เป็นมูลฐานของธรรมชาตินี้อยู่เลย แล้วใจที่เห็น โดยความเป็นนิมิต จะเห็นว่า เป็นรูปที่ก่อตัวขึ้นมาจากน้ำหยดเล็กๆ กลายเป็นรูปเป็นร่าง เป็นหน้าตาขึ้นมาชัดเจน แล้วจะต้องมีผมหงอก ต้องมีผิวหนังที่เหี่ยวย่น แล้วจะต้องแตกแยกสลายไป อวัยวะกระจัดกระจาย

 

อันนี้ที่พระพุทธเจ้าให้เจริญกายานุปัสนา ขั้นสุดท้ายของกายานุปัสนา จะไปถึงตรงนี้

 

ทีนี้ ตอบคำถามก่อนว่า ต้องทำอย่างไรต่อ

 

เอาเฉพาะหน้าก่อน ตอนที่เรายังไม่สามารถจะเห็นกายนี้แตกดับได้ตามธรรมชาติ เรามาว่ากันเรื่องที่เราจะทำให้เกิดความก้าวหน้า เฉพาะหน้าก่อน

 

เวลาที่เราร้องไห้ น้ำตาไหล หรือว่าเกิดความรู้สึกรุนแรงขึ้นมาว่าไม่สามารถที่จะละทิ้ง ความรู้สึกยึดติดในตัวตนนี้ได้ ให้ดูความรู้สึกนั้นแหละเป็นหลัก เพราะความรู้สึกนั้นกำลังปรากฏเด่น

 

หลักการเจริญสติที่ดีคือ สิ่งไหนกำลังปรากฏเด่น สิ่งนั้นให้นำมาเป็นที่ตั้งของสติไว้ก่อน อย่างอื่น ทิ้งไป

 

ประเภทที่เกิดจินตนาการว่า จะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะต้องหายไปจากบุคคลอันเป็นที่รัก อันนั้นทิ้งไปจากใจเลย เพราะทำหน้าที่ของมันแล้ว จินตนาการสร้างปัญญาให้เห็นแล้วว่า เดี๋ยวจะต้องตาย

 

แต่สิ่งที่ยังไม่หายไปจากใจคือ ความรู้สึกเศร้าโศก ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความรู้สึกยึดติด ถอนไม่ได้

 

ความรู้สึกนั้น ให้นับไปเลยว่า ขึ้นต้นที่ลมหายใจไหน มีอาการก่อกวน บีบคั้นหัวใจเพียงใด ให้ยอมรับตามจริง เสร็จแล้วหายใจต่อไปเรื่อยๆ แล้วรู้ว่า อาการที่ร้อยรัด ที่มีความบีบคั้นหัวใจนั้น เพิ่มขึ้น หรือว่าน้อยลง ลดระดับลง

 

เอาตามจริง ทีละลมหายใจ เมื่อเราเห็นไปเรื่อยๆ ว่า ความโศกเศร้า ความเสียใจ หรือความรู้สึกทิ้งไม่ได้กับตัวตนตรงนี้ ที่เป็นโคตรเหง้าของความรู้สึกใจตัวตน ที่รู้สึกว่าทิ้งไม่ได้นี่ ต่างไป ที่ลมหายใจไหน หรือว่ายังคงเส้นคงวาอยู่ที่เดิม เรายอมรับตามจริงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงจุดที่พบว่า ที่นึกว่า มันจะไม่หายไป ที่นึกว่ามันจะเกาะกุมหัวใจเราอยู่ตลอด ในที่สุดก็คลาย ค่อยๆ คลายเอง

 

ตัวนี้ที่เราจะมาบอกกับตัวเองได้นะครับ ด้วยสติ ในขณะนั้นว่า ความทุกข์ทางใจ ไม่เที่ยง

 

ที่นึกว่าเที่ยงเพราะยังเกาะกุมอยู่ แล้วก็อยู่ในอารมณ์ที่ว่าฉันแพ้ฉันไม่สามรารถเอาชนะความทุกข์ที่บีบคั้นหัวใจได้ นี่แหละความทุกข์ตัวนี้แหละเป็นตัวฉัน จิตมันยึดแบบนั้น ก็เลยเข้าใจว่าจะไม่เปลี่ยน

 

แต่พอนับไปเรื่อยๆ ทีละลมหายใจๆ ในที่สุดจะมีลมหายใจหนึ่ง ที่พบความจริงว่า ความทุกข์นั้นหายไปแล้ว หรือคลี่คลายไปตามลำดับ โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลารอนานมาก ไม่กี่ลมหายใจที่มีสติ ก็คือ เปิดโอกาสให้ความจริงคลี่คลายตัวเองออกไป หรือว่า เผยตัวเองขึ้นมา

_________________

นั่งสมาธิจับลมหายใจ ภาวนาพุทโธ แล้วพิจารณาว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากเป็นทุกข์ หรือร่างกายสกปรก แล้วก็คิดปล่อยวางห่วงต่างๆ เช่น แม่ สามี แล้วตั้งจิตว่าไม่ขอเกิดอีก ทุกครั้งที่คิด จะน้ำตาไหลแบบกลั้นไม่ได้ ไม่รู้ต้องทำยังไงต่อไปค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=tT05ZFwSQ3I

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น