วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

ดับโมโหด้วยการคิดหาเหตุผลมาอธิบายตัวเอง ถือเป็นการเจริญสติไหม?

 ผู้ร่วมรายการ : เคยคิดว่าตัวเองไม่ขี้โมโห แต่ว่าพอสังเกตตัวเองไปบ่อยๆพบว่าตัวเองเป็นคนขึ้โมโหขี้หงุดหงิด ที่สงสัยคือที่บอกว่าเราให้อภัยทานนั้น ของตัวเองก็คือพยายามคิด เหมือนกับต้องใช้เทคนิคที่จะให้อภัยเวลาที่มีใครมาทำให้เราโกรธ คือก็จะพยายามคิดว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เขาก็มีโลภโกรธหลงเหมือนกับเรา คือต้องมีเทคนิคที่ทำให้เรารู้สึกว่าใจเราหายโกรธ ซึ่งไม่แน่ใจว่าวิธีมันถูกหรือเปล่า หรือว่าจริงๆแล้วมันมีเทคนิคมากกว่านี้ หรือว่าจริงๆแล้วมีวิธีอื่น

ดังตฤณ : ถ้าเราทำได้แค่ไหนเราเอาแค่นั้นนะครับ การที่โกรธปุ๊บแล้วเราไปตั้งสเปค(spec)ไว้ว่าเวลาเราโกรธเราจะต้องรู้ความโกรธอย่างเดียวเท่านั้น บางทีมันไม่ทันกิน เพราะว่าความโกรธความโมโหเนี่ยนะ มันมาในแบบที่ครอบงำจิตใจให้หลงแล้วก็ให้ลืมสติ หรือว่าลืมวิธีการ หรือว่าลืมทฤษฎีลืมภาคปฏิบัติอะไรไปหมด

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามีการคิดแบบที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ หรืออะไรก็ตามที่จะให้โทสะของเราลดลงได้ มันก็เป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่ามันจะเกินขอบเขตของศีลไป อันนี้ที่สำคัญเลยคือว่า ถ้าเราโกรธขนาดที่อยากด่าหรืออยากทำร้ายคน แล้วเราไม่หาอุบายมาใช้ให้ทันการณ์ บางทีโทสะมันตัดหน้าเราไปก่อน ตัดหน้าศีลธรรมของเรา ตัดหน้าความตั้งใจที่เราจะไม่ทำร้ายคนอื่นไปนะครับ

พูดง่ายๆว่า ถ้าหากเรามีวิธีคิดหรือว่ามีอุบายอะไรที่จะทำให้โทสะลดลงได้ ณ จุดเกิดเหตุ อันนี้ถือว่าดี

แต่ถ้าหากว่า ณ จุดเกิดเหตุมันผ่านไปแล้ว แล้วเรามาอยู่กับตัวเองแล้วยังพบว่าตัวเองมีความพยาบาท มีความคิดถึงบุคคลผู้เป็นคนจุดไฟโทสะของเราไม่เลิกเสียที พระพุทธเจ้าก็สอนให้แผ่เมตตา

คำว่า แผ่เมตตา ก็คือ เอาความสุขที่เกิดขึ้นในใจเราเนี่ยไปยกให้เขา แล้ววิธีที่จะก่อความสุขขึ้นได้ง่ายๆอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ ให้เราพิจารณาว่าตอนที่เราโกรธตอนที่เราพยาบาทอยู่ เหมือนกับเรากำลังเป็นคนป่วย พูดง่ายๆว่าจิตป่วยอยู่ ถ้าเราเห็นบ่อยๆ เห็นให้ได้จนชำนาญว่าจิตกำลังเกิดอาการป่วย แล้วมีแก่ใจที่จะทิ้งอาการป่วยนั้น โดยการที่วางมันลง ตอนที่วางลงได้เนี่ย ความสุขจะเกิดขึ้นทันที และยิ่งเรามีความเคยชินที่จะเห็นจิตป่วย แล้วมันหายป่วยได้บ่อยขึ้นเท่าไหร่ เราจะเริ่มเห็นเลยว่า ความสุขที่เกิดขึ้น ความเบาที่เกิดขึ้นในทันที่สติเห็นอย่างนั้นได้ มันขยายขอบเขตออกมามากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น

ตอนที่เกิดความสุขแล้วรู้สึกว่าความสุขนั้นขยายออกได้ นั่นแหละจิตแผ่แล้ว มีอาการที่จิตแผ่ออกไป แล้วถ้าหากว่าเราแค่น้อมนึกนิดเดียวแบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะ ให้แผ่ออกไปถึง แผ่ออกไปเบื้องหน้า พูดง่ายๆว่าจิตที่มันขยายออกเนี่ย มันให้ความรู้สึกไปเบื้องหน้าก่อน ถ้ามันขยายออกอ่อนๆ

แต่ถ้ามันขยายออกในระดับที่เป็นสมาธิ เราจะรู้สึกเลยว่ามันขยายออกทั้งซ้ายทั้งขวาทั้งหน้าทั้งหลัง เนี่ยความสุขแบบนี้เนี่ยนะ ถ้าเราน้อมนึกนิดเดียวว่า ขอให้จงได้แก่คนที่ทำให้เราโกรธด้วย เพราะว่าตัวตั้งของความสุขมาจากไหน ก็มาจากเขานั่นแหละ มันมาจากการที่เขาทำให้จิตเราป่วย แล้วเราเห็นจิตป่วยนั้นมันสักแต่เป็นของไม่ดี มันสักแต่เป็นของน่าวางน่าทิ้ง เราเห็นได้ เราก็เกิดความสุขได้ เราก็ควรจะขอบคุณเขาด้วยการยกความสุขที่เกิดขึ้นนั้นให้กับเขาด้วยเสมอกัน

ตัวความสุขที่เกิดจากการแผ่เมตตา จะทำให้เรามีความชินมีความชำนาญในทางสมถะ ในทางที่จะให้จิตมันสงบจากกิเลสจร มันสงบจากโทสะได้รวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งเราไม่ต้องน้อมคิดเลย เราไม่ต้องโยนิโสเลย แค่เห็นว่าจิตสามารถวางอาการพยาบาทได้ แล้วเกิดความสุขเกิดความสบายทางใจลอยขึ้นมา แค่นั้นเนี่ยนะทุกอย่างมันจบเลยแล้วเราไม่ต้องคิดซ้ำ

ความคิดเนี่ยมันดี ถ้าหากเราใช้วิธีการทางสมถะหรือวิปัสสนาแล้วไม่เวิร์ค ณ เวลานั้นมันไม่ได้มีผลเสียอะไร มีผลดีมันเป็นโยนิโสมนสิการชนิดหนึ่ง แต่มันทำให้เราพลาดไป ถ้าหากว่าเราใช้ทุกครั้ง เราใช้ทุกครั้งตลอดชีวิต เท่ากับเราไม่ได้เห็นความโกรธโดยความเป็นของไม่เที่ยงเลย หรือเท่ากับเราไม่ได้เจริญเมตตาให้เกิดสมาธิอันเกิดจากการแผ่เมตตาเลย เราก็จะไม่เห็นความต่างนะครับว่า ตอนที่จิตมันคิดกับตอนที่จิตมันมีสมาธิในการจัดการกับความโกรธมันแตกต่างกันอย่างไรนะครับ

........................................................

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถามเฟสบุค : พยายามใช้เทคนิคดับโมโหด้วยการหาเหตุผลมาอธิบาย เช่น คนเราก็มีรักโลภโกรธหลงเหมือนกัน เทคนิคแบบนี้ใช้ได้ไหม?

คำถามยูทูบ    : ดับโมโหด้วยการคิดหาเหตุผลมาอธิบายตัวเอง ถือเป็นการเจริญสติไหม?

ระยะเวลาคลิป      ๖.๓๖ นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=3CjRIfKYMY8&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=16

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น