วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

ตั้งใจร่วมทำบุญหลายคน แต่มีคนโอนเงินมาเต็มยอด

ผู้ถาม : ร่วมกันกับเพื่อนหลายคน จะสร้างวัตถุมงคล สมมติ เช่น สร้างพระ ต้องใช้เงินประมาณหนึ่งหมื่นบาท ทุกคนร่วมกันทำไปแล้ว ประมาณเก้าพันกว่าบาท อยู่ดีๆ มีเพื่อนอีกคนหนึ่ง บอกว่าขอให้คนเดียวเลยหนึ่งหมื่น จะได้จบปัญหาว่า องค์พระจะเป็นของใคร อยู่ที่ไหน

แต่กลายเป็นว่า ในบัญชีจะมีเงินอยู่เกือบสองหมื่น ก็เลยต้องไปสร้างพระหนึ่งหมื่น และส่วนที่เหลือเก้าพันบาท ก็ต้องไปหาทางทำอย่างอื่น

 

ที่นี่จะถามว่าถ้าทุกคนมีเจตนาตั้งแต่แรกว่า อยากสร้างพระองค์นี้ แต่ถึงเวลาแล้วเพื่อนคนสุดท้ายมาโปะ ทำให้เงินเกิน และต้องเอาเงินบางส่วนไปทำอย่างอื่น แบบนี้ควรวางใจอย่างไรคะ

 

ดังตฤณ : เรื่องของการทำบุญร่วมกันนี่นะ มักจะมีปัญหาอะไรอย่างนี้เสมอ

 

คือคนนี่มีความรู้สึกเกี่ยวกับบุญกุศล กองบุญกองกุศล จะสร้างพระ สร้างโบสถ์ สร้างวัด สร้างโน่น สร้างนี่อะไรก็แล้วแต่ จะมีความรู้สึกอยู่ในใจแบบไทยๆ ว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต เป็นเรื่องชี้ว่าใครนี่จะมีวรรณะไหน จะมีความเป็นใหญ่ จะมีความด้อย จะมีอะไรต่างๆ

 

ซึ่งตรงนี้ ผมพยายามบอกมานานมากเป็นสิบปีนะ เรื่องบุญเรื่องกุศลนี่ ความเป็นใหญ่ ความมีใครได้หน้าได้ตา ใครด้อยอะไรนี่ จริงๆ แล้ว เป็นความเข้าใจผิดของตัวตน ของความรู้สึกในตัวตน

 

คือตัวตนของคนนี่ เวลาเปรียบวัดกัน จะมีว่าคนไหนค่าตัวเท่าไร ใครมีหน้ามีตามากกว่ากัน ดาราคนไหนค่าตัวระดับซุปเปอร์ คนไหนค่าตัวระดับตัวประกอบอะไรอย่างนี้นะ

มีแบ่งวัดชั้นวรรณะกันมาตั้งแต่เริ่มความรู้สึกในตัวตน

 

ฉะนั้นพอมาถึงเรื่องใหญ่ เรื่องความเชื่อเรื่องศรัทธา ในบุญในกุศลนี่นะ อย่างเช่นสร้างพระ  รู้สึกว่าเป็นบุญใหญ่ รู้สึกว่าถ้าใครเป็นใหญ่ในงาน แปลว่าคนๆ นั้นต่อไปจะต้องได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือไม่ต้องต่อไปในชาติหน้า เอาเฉพาะในชาตินี้มีความรู้สึกว่า คนนี้เป็นประธาน เป็นประมุขเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ เป็นผู้ที่เหนือกว่า จะมีความรู้สึกอย่างนี้ฝังแน่นมาอยู่ในใจคน

 

อย่างที่บอก จะเริ่มต้นตั้งแต่ความรู้สึกในตัวตน ทีนี้ ถ้าหากว่าเรามีความรู้มีธรรมะที่ถูกต้อง ขึ้นต้นด้วยกันที่พิจารณาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การทำทานในพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายความตระหนี่ ซึ่งเหมารวมถึงความรู้สึก แบ่งชั้นวรรณะ  หวงความมีหน้าตา หวงความมีตัวตน ไว้ด้วย

 

คำว่าตระหนี่นะ รวบไว้หมดเลย ไม่ใช่แค่ตระหนี่ถี่เหนียว แบ่งเศษเงินให้ใคร ไม่ใช่แค่นั้น ความตระหนี่นี้ เหมารวมถึงความหวงแหนความรู้สึกในตัวตน หรือความใหญ่ ความเป็นใหญ่ของตน เข้าไว้ด้วย

 

ซึ่ง ถ้าหากใครก็ตาม มาถึงธรรมะตรงนี้ ตรงความเข้าใจที่ว่าการทำทาน มีขึ้นเพื่อทำลายความตระหนี่ อันนี้ จะแก้ปมอะไรหลายๆ อย่างที่ผิดๆ ได้แบบกระจุยเลยนะ แก้ได้กระจุยเลย

 

ถ้าหากว่าเราทำทานไป โดยฝึกที่จะให้เศษเงิน ให้แบบที่รู้สึกว่าเราไม่ได้เสียอะไรไปเลย ชีวิตความเป็นอยู่นี้ยังเป็นปกติทุกอย่าง แต่ให้ไปด้วยเศษเงินน้อยๆ แต่บ่อยๆ แล้วเกิดความชุ่มชื่นมากขึ้นๆๆ

 

ตรงนี้ ให้ไม่เลือกหน้า ให้บ่อยๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ความหวง ความงก ความอยากจะเอาของคนอื่นมานี่หายไป ตรงนี้ได้ชื่อว่าเป็นการทำทานแบบพุทธ ได้จุดประสงค์ได้เป้าหมายแบบพุทธ คือความตระหนี่หายไป

 

ทีนี้ พอความตระหนี่หายไป จากการทำทานแบบเศษเงินเล็กเงินน้อย ให้แบบไม่เลือกหน้า ให้แบบสบายใจให้ แบบมีความอิ่มเอิบ ให้แบบรู้เลยว่าไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจภายหลัง ให้แบบรู้สึกว่า ไม่ได้หน้าได้ตาอะไร แต่ให้เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าใจเราเบิกบาน เหมือนมีน้ำพุผุดขึ้นมาจากข้างใน ผุดโพลงขึ้นมาแบบไม่รู้จบรู้สิ้น

 

อย่างนี้ถ้าเรามามองจับประเด็นจากคำถามว่า เมื่อทำบุญสร้างพระกัน แล้วมีการเกี่ยงงอน มีว่าใครมาปิดยอดสุดท้ายใหญ่กว่าเพื่อน ราวกับว่าเอาบุญทั้งหมดไปเป็นของตนเองอะไรต่างๆ จะเห็นเลยว่า ที่สร้างพระกันมานี่ เริ่มต้นขึ้นมา ด้วยความพร้อมจะคิดเล็กคิดน้อย ใจไม่เป็นทานจริง ไม่ได้คิดอนุเคราะห์ว่า เราสร้างพระไป เดี๋ยวจะได้มีคนมากราบไหว้ แล้วเกิดศรัทธาปสาทะ เกิดความรู้สึกว่ามีที่พึ่งให้ตัวเอง เป็นหมื่นเป็นแสนคนนะ

 

คือสร้างพระประธานนี่ ทำทานไม่เลือกหน้าจริงๆนะ คนไม่รู้จริงๆ ว่าชั่วลูกชวนหลาน จะมีไม่รู้กี่หมื่น หรือเป็นอาจจะเป็นแสนคน ได้มากราบพระประธานแค่องค์เดียวนี่ แล้วก็ได้ศรัทธาปสาทะ ได้เกิดความรู้สึกดีๆไป

 

ตรงนี้เป็นมหาทานจริง แต่ถ้าใจเราไม่ได้ตั้งตรงนั้นไว้ก่อนว่า จะได้มีปีติ จะได้มีโสมนัสแก่ผู้มากราบไหว้ ไปตั้งไว้ว่าเราบริจาคเท่าไหร่ เพื่อนบริจาคเท่าไหร่ เดี๋ยวมีคนมาปิดเท่าไหร่ ตรงนี่เริ่มแล้ว ไม่ใช่ทานแล้ว แต่เป็นการแข่งกันทำบุญ

 

ซึ่งแข่งกันทำบุญนี่นะ ไม่ใช่ไม่ได้บุญนะ ก็ได้บุญแต่ว่าจะได้บุญประเภทที่ในที่สุดแล้ว เราจะกลายไปเป็นคนชอบแข่งขัน

 

คือ ณ ที่ๆ บุญเผล็ดผลบางทีนะมีอย่างนี้จริงๆ คือใครทำมาก อาจจะได้ไปเป็นผู้ชนะ เมื่อบุญถึงจังหวะเผล็ดผลนะ แต่ความสะใจ ความดีใจ ความสมใจที่ได้เป็นผู้ชนะนี่ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่สั้นๆ

 

แต่เนื่องจากว่า ต้นเหตุคือทำบุญแบบแข่งกันนี่ จะทำให้เราอยู่บนเส้นทางของการแข่งขัน แข่งกันเอาดี แข่งกันเอาหน้า แข่งกันแบบที่ยอมให้ใครมาหักหน้าตัวเองไม่ได้

 

ผมเจอเยอะมากชีวิตนี้นะ ประเภทที่บอกว่าไม่มีทางที่ใครจะชนะผม จะเรื่องทางโลกก็ตาม หรือว่าเรื่องทำบุญก็ตาม ผมต้องใหญ่ที่สุด ผมต้องเป็นที่หนึ่ง

 

ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่เจอมาเยอะมากนะ แล้วไม่เคยเห็นใครประเภทนี้ที่มีความสุขเลยสักคน ใจนี่ ทั้งๆ ที่จะไปทำบุญอยู่แล้วนี่ แต่คิดก่อนเลยว่าตัวเองนี่จะเป็นที่หนึ่งหรือเปล่า ไม่ได้มีความคิดแบบพุทธเลย ว่าทำทานที่จะอุตส่าห์ไปทำนี่ จะทำลายความตระหนี่ จะทำลายกำแพงที่ขวางทางไปนิพพานได้หรือเปล่า ไม่คิดเลย ไม่อยู่ในหัวเลย

 

สรุปคำตอบก็คือว่า เพื่อที่เราจะให้คำแนะนำเพื่อน หรือกับตัวเองได้นะครับว่า ทำทานอย่างไรถึงจะเกิดปีติ เกิดความสุข สมกับที่เป็นทานครั้งใหญ่จริงๆ อย่างเช่นที่สร้างพระประธาน ให้คิดว่า พระประธานสำเร็จออกมาแล้วนี่ มีส่วนของเรา ช่วยทำให้สำเร็จหรือเปล่า

 

ถ้าสำรวจดูแล้ว มีใจของเรานำมาก่อนจำนวนเงิน ใจของเราอยากให้พระท่านนี้เป็นที่ตั้งของศรัทธา เป็นที่กราบไหว้บูชาของคนไม่จำกัด ไม่เลือกหน้า ใครก็ตามที่ได้มาพบพระปฏิมานี้ จงได้มีศรัทธาปสาทะ จงได้มี ที่ตั้งให้ตัวเองได้เกิดจิตดีๆ จิตที่เป็นกุศลก่อนตาย

 

ด้วยความตั้งใจแบบนี้ ด้วยความที่เราปราถนาจะทำบุญ ให้อะไรดีๆ กับคนอื่น มาเป็นตัวตั้ง แล้วก็มาเป็นตัวที่เป็นบทบาทใหญ่กับจิต ครอบครองพื้นที่ของจิต ให้มีความขาว ให้มีความเป็นกุศลเต็มดวงขึ้นมา เราจะไม่มีความคิดเลยว่า ใครนี่มีส่วนมากกว่าเราหรือเปล่า เพราะเรามองเข้ามาที่ใจตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้มองที่เงินของคนอื่นเป็นตัวตั้ง

 

เวลาที่เราสำรวจใจเข้ามา แล้วพบว่าตัวเองมีความอยากให้นำหน้า มีความอยากให้คนอื่น ได้มากราบไหว้บูชาพระประธาน ที่เรามีส่วนร่วมสร้างสำเร็จจะจบที่ตรงนี้ จบที่ความรู้สึกอิ่มเต็ม มีความสุข มีความรู้สึกว่าสว่าง เราได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ไม่คิดถึงสิ่งอื่นที่เราไม่ต้องการ เช่นเรื่องหน้าตานะ

 

สำหรับปัญหาแบบนี้ ก็ให้คำแนะนำเท่าที่เราจะให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็อุเบกขานะ

 

คือมีเมตตา มีกรุณา แล้วก็มีมุทิตา คือความยินดีกับความสำเร็จในบุญของใครไปแล้ว เมื่อเขาไปไม่ถึงเส้นชัย และด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ไม่สามารถจูนได้ เราก็ต้องอุเบกขานะ อันนี้ถึงจะครบพรหมวิหารสี่นะครับ

__________________

สรุปคำถาม : เพื่อนร่วมบุญสร้างพระกันหลายคน ระดมเงินจนใกล้จะปิดยอดได้แล้ว กลับมีเพื่อนอีกคนโอนค่าสร้างพระแบบเต็มยอดเลย ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ ขอคำแนะนำค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ อีกครั้ง

วันที่ 17 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=gzzqK4CoY4A

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น