วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

ดูลมหายใจแล้วหลับ สลับกับการกลับมารู้ลมต่อ

 ผู้ร่วมรายการ : นั่งดูลมหายใจ นั่งไปได้สักพักนึงก็คือรู้ลมหายใจ พออีกแป๊บนึงมันก็จะหลุดไป เหมือนเราหลับเหมือนมันฝัน แต่พอรู้ว่าฝันปุ๊บก็กลับมาที่ลมหายใจได้ แล้วก็หลุดกลับไปอีกเหมือนฝัน ก็เลยรู้สึกว่า อ๋อ หรือว่าเหมือนร่างกายเราต้องพักแล้ว

ดังตฤณ : จุดนี้ก่อนเลยนะ จุดที่คุณเห็นมันถูกต้องตรงความจริง แต่มันไม่ตรงความคาดหวัง คือความคาดหวังของเราเนี่ย ดูลมหายใจแล้วมันควรจะนิ่งมันควรจะมีความสมูท (smooth) ต่อเนื่อง

ทีนี้พอมันสะดุดเหมือนกับว่าฝันไป คล้ายๆว่าจิตมันรู้ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง รู้พร่าเลือนแล้วเดี๋ยวกลับมารู้ชัดอะไรแบบนี้ ถ้าหากว่าเรารู้ตรงจริงอย่างนี้ต่างหากถึงจะเกิดประโยชน์ เพราะคุณจะตีความเป็นจิตได้ว่า จิตของเราเนี่ยกำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เห็น บางทีมันก็มีภาวะคมชัด บางทีมันก็มีภาวะพร่าเลือน เมื่อไหร่พร่าเลือน ยอมรับว่าพร่าเลือน เมื่อไหร่คมชัด รับรู้ว่าคมชัด นี่แค่นี้เป็นการเห็นจิตแล้ว

คนเนี่ย ๑๐๐ ปีนะบางทีไม่เห็นจิตตัวเอง เห็นแต่ว่าเราอยากได้อะไร แต่พอเรามาได้ข้อสังเกตที่ถูกต้องว่า จิตของเรามันต่างไปเรื่อยๆตามเหตุปัจจัย บางทีก็ชัด บางทีก็พร่าเลือน เนี่ยแค่วันเดียวนะบางทีมีประโยชน์กว่าอายุเป็นร้อยปี

ผู้ร่วมรายการ : ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า พอเรารู้สึกว่าเราเหมือนหลับฝันไปแล้ว เราก็กลับมาดูลมหายใจต่อ แล้วก็ประคองลมหายใจต่อไปให้ได้ แล้วก็ไปพิจารณาอย่างอื่นใช่ไหมคะ 

ดังตฤณ : ตรงนี้ก็ทำไปด้วย คือกลับมารู้สึกถึงลมหายใจต่อ เพราะลมหายใจคือศูนย์กลางของสติ ถ้าเราจะฝึกตามแนวอานาปานสติ แต่พอยท์ (point) คือ เราต้องเห็นว่าตอนที่เห็นมันพร่าเลือนไปเหมือนหลับฝันไปแล้วกลับมาตื่นใหม่มันเป็นจิตคนละดวง คือเห็นไปด้วยว่าจิตมันต่างไป คุณจะได้ไม่เกิดความคาดหวังว่าจะให้จิตมันสมูท (smooth) สมูทไปเรื่อยๆ อันนี้คือพอยท์ (point)

พอยท์ของคุณคือ ความคาดหวังว่าจะให้จิตมันตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วไม่หลับฝันเลย ไม่พร่าเลือนเลย

แต่พอยท์ของผมคือ ชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้วมันมีประโยชน์นะที่มันพร่าเลือนบ้างชัดเจนบ้าง ตอนที่จิตชัดเจนเราก็มองไปว่า เออ ตอนนี้จิตมีสติจิตตื่นอยู่ ตอนที่จิตพร่าเลือนพอมันออกมาจากความพร่าเลือนแล้ว เราก็จะได้เห็นว่าเมื่อกี้ที่เพิ่งผ่านไปเนี่ยมันเป็นจิตชนิดหนึ่งเรียกว่าจิตไม่มีสติ จิตพร่าเลือน จิตตกภวังค์ เข้าใจพอยท์นะครับ คือไม่ใช่กลับมาดูแต่ลมหายใจอย่างเดียว แต่เห็นความไม่เที่ยงของจิตด้วย 

ผู้ร่วมรายการ : ค่ะ เข้าใจพอยท์ ตอนแรกหนูคิดว่ามันไม่ดี ก็เลยมาสอบถามว่า เราสามารถเอาตรงนี้มาเป็นสกิล (skill) ได้ว่าเรารู้ว่าหลับ พอกำหนดต่อกลับมาดูร่างกายส่วนอื่น เพื่อที่จะกลับมา พยายามจะเข้ามาโฟกัสว่า รู้ว่าทำอะไรอยู่ตอนนี้ เพราะไม่งั้นมันก็จะไหลกลับไปทางคิดไปเรื่อย ก็กลับมาดูเท้า เท้าเริ่มชาแล้ว

ดังตฤณ : โอเคตรงที่ความพยายามกลับมาดูกายเนี่ยมันก็ดี แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วอย่างเด่นชัดถ้าหากว่าเรามองข้ามไป แล้วเราไม่ฝึกที่จะมีสติรู้ความไม่เที่ยงของมัน มันจะเกิดขึ้นแบบสูญเปล่า พอยท์คือตรงนี้นะครับ 

ถ้าจิตมันกลับมาจากภาวะที่เหมือนหลับเหมือนพร่าเลือน แล้วกลับมาชัดให้เรามองแค่บอกตัวเองว่า นี่เราเห็นจิตแล้วนะ จิตที่เมื่อกี้พร่าเลือนกับจิตตอนนี้ที่มันชัดเจน เนี่ยมันเป็นภาวะที่ต่างกัน มันจะได้เกิดความรู้สึกว่าเราได้อะไรจากของเสียๆแล้ว ไม่งั้นมันจะมีแต่ความรู้สึกว่าเมื่อกี้เราพลาด แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย

ทีนี้การกลับมาอยู่กับภาวะทางกายเนี่ย ดีนะไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่าสังเกตด้วยว่า แต่ละครั้งที่กลับมารู้สึกถึงภาวะทางกายได้เนี่ย มันไม่ได้มีความรู้สึกสบายเสมอไป บางทีมันรู้สึกฝืน บางทีมันมีความรู้สึกอึดอัด ไม่อยากจะกลับมาอยู่กับกาย เนี่ยถ้าเห็นว่าตอนกลับมาอยู่กับกายมีความฝืนเจืออยู่ด้วยปนอยู่ด้วย แค่นี้ก็ได้ประโยชน์แล้ว 

แต่ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาเอาแค่ตรงที่ว่าเราจะกลับมารู้กายให้ชัด แบบนี้เราจะไม่ได้อะไรเลย เข้าใจมั้ย คือความฝืนที่เกิดขึ้นก็เป็นความฝืนที่เปล่าประโยชน์ แต่ถ้าเรารู้ความฝืนแบบยอมรับตามจริงว่า เมื่อกี้นี้ตอนพยายามกลับมาอยู่ที่กายเนี่ย มันมีความฝืนขึ้นมา มันมีความรู้สึกฝืดๆมีความรู้สึกอึดอัดขึ้นมา ความรู้สึกอึดอัดเนี่ย มันมาปรุงแต่งให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งมันเกร็งขึ้นมา เนี่ยมันได้ประโยชน์แล้ว มันไม่พลาดภาวะที่เกิดขึ้นตามจริง

คนเนี่ยนะ นักภาวนาเนี่ย ที่ไปไม่ค่อยถึงไหนกันที่ไม่ค่อยก้าวหน้า เพราะว่าพลาดภาวะที่มันกำลังเด่นชัดอยู่ในปัจจุบันไปสู่ความคาดหวังในสิ่งที่มันยังไม่ได้เกิดขึ้น อย่างเช่นภาวะทางสมาธิยังไม่เกิดขึ้น ก็ไปคาดหวังเมื่อไหร่มันจะเกิด เมื่อไหร่มันจะเกิด เสร็จแล้วเนี่ยพอมันไม่เกิดเนี่ย ตกลงการนั่งสมาธิครั้งนั้นไม่ได้อะไรเลย 

แต่ถ้าหากว่าเราไม่คาดหวังอย่างนั้น เราคาดหวังที่จะเห็นความไม่เที่ยงของทุกภาวะที่จะตามมา การนั่งสมาธิถึงแม้จะไม่ได้ความนิ่งเลย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ความชัดเจนอะไรเลย แต่มันก็ได้เห็นว่า เอ๊ะ! ตอนนี้นั่งไปมีความหงุดหงิดเกิดขึ้น แล้วความหงุดหงิดนั้นมันไม่เท่าเดิม มันหงุดหงิดมากได้ก็หงุดหงิดน้อยลงได้

หรือพอมีความฟุ้งซ่านจัดๆขึ้นมา มีความรู้สึกโอ๋ยตอนนี้เรานั่งสมาธิไม่ได้เรื่อง ก็เห็นว่ามีภาวะความปั่นป่วนในหัว มีภาวะความกระสับกระส่ายทางกาย แล้วเห็นว่าภาวะความกระสับกระส่ายทางกาย หรือว่าภาวะความปั่นป่วนในหัวมันไม่เท่าเดิม มันต่างไปในแต่ละลมหายใจ เนี่ย!ได้แล้ว ได้เห็นความไม่เที่ยง ได้สติรู้อนิจจัง ไม่ใช่ว่านั่งสมาธิที่ไร รู้สึกว่าสูญเปล่าไม่ได้อะไรเลยนะครับ

คนส่วนใหญ่ต่างจากคนที่เข้าใจถูก เข้าใจแบบเป็นสัมมาทิฏฐิที่ตรงนี้ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิประกอบหรือเป็นเครื่องตั้ง ทุกครั้งที่ภาวนาจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ

แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูก จะมีแต่ความคาดหวังเล็งอยากจะได้สิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้นอย่างเดียวท่าเดียว แบบนั้น ๑๐ ปี อาจจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่

........................................................

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถาม : ดูลมหายใจแล้วหลับ สลับกับการกลับมารู้ลมต่อ

ระยะเวลาคลิป  ๗.๓๕   นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=WjIRgsiBTxc&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=8

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น