ผู้ถาม : ขออนุญาตถามในฐานะของแม่กับลูกค่ะ
คือลูกชาย ตอนนี้ก็ฝึกเขาปฏิบัติธรรมก่อนนอน ก็คือจะฝึกภาวนา
แต่ว่าเป็นการฝึกแบบสี่จังหวะค่ะ แล้วก็บางวันก็จะฟังเสียงสติไปด้วยประมาณเจ็ดนาที
ก็ทำมาสักระยะหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าควรจะสังเกตเขาอย่างไรว่า
เขามีความคืบหน้า หรือเราควรจะตั้งคำถามเขาอย่างไรดีคะ ให้เขารู้จักการสังเกตเวลาปฏิบัติค่ะ
ดังตฤณ : สำหรับเด็กนี่นะ จริงๆ แล้วถ้าพูดเรื่องพุทธศาสนา
พูดเรื่องการปฏิบัตินี่ ถ้าเราสอนเป็นรูปแบบให้เขาเป็นพื้นฐานก็ดีนะ แต่เราจะหวังความคืบหน้าอะไรที่จับต้องได้นี่
จะยากนิดหนึ่ง เนื่องจากว่า ผลความคืบหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการภาวนานี่ เป็นเรื่องของนามธรรม
เป็นอะไรที่เราต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่า ในใจเขา มีคำถามหรือว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับชีวิต
เป็นอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่าง ถ้าเราเคยได้ยินลูกถามว่า
ทำไมเขาต้องเกิดมา หรือทำไมเราต้องให้เขาเกิดมา นี่อันนี้ยกตัวอย่างนะ เพราะว่ายุคนี้เด็กถามกันอย่างนี้จริงๆ
ซึ่งถ้าเราตอบไปในแบบที่เรารู้ ก็บอกว่า ที่เราเกิดมามีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ เรามาเป็นลูกของพ่อของแม่แบบนี้
ก็เพราะว่า เรามีบุญมีวาสนาผูกพันกันมา ต้องทำอะไรบางอย่างไว้ก่อน ถึงได้มาเป็นพ่อแม่ลูกกัน
แล้วก็พูดเรื่องต่อไปนะว่า ที่พ่อแม่สนใจพุทธศาสนา
หรือว่าเชื่อเรื่องกรรมเรื่องเวร ก็สะท้อนให้เห็นว่า ลูกมีความน่าจะเป็นไปได้ ที่จะสนใจเรื่องเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่อยากไปทำบุญที่วัด ก็พาลูกไปด้วย อันนี้ถ้าหากว่าลูกไปทำบุญด้วยกันแล้วมีความสุข
นั่นแปลว่าลูกนี่ เป็นลูกพ่อลูกแม่ เป็นลูกที่มามีความสุขด้วยกันอีก
คือเราต้องพูด ทำอะไรปูพื้นในเรื่องพวกนี้ไว้ก่อนนะ
ถ้าไม่ได้พูดเรื่องพวกนี้ปูพื้นไว้ บางทีก็ยากที่เราจะเข้าถึงนามธรรมภายในใจเขา
เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก เรื่องการมาได้ทำบุญด้วยกันอีก
คอยถามลูกตั้งแต่เนิ่นๆ เลยว่ามีความสุขไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่แฮปปี้
ไม่อยากไปวัด อย่าเพิ่งตกใจ อย่าเพิ่งมีความรู้สึกไปว่าลูกเรานี่ สงสัยไม่ได้ทำบุญไว้ก่อน
หรือว่าเป็นเด็กไม่มีบุญ หรือว่าอาจจะหลงมาจากไหน แล้วมาเข้าท้องเราอะไรแบบนี้นะ
ให้มองตามจริงว่า ความสนใจแบบเด็กๆ
จะออกแนวที่เอาสนุก ไม่ใช่เอาความสุขไม่ใช่เอาความชื่นบาน ไม่ใช่เอาความรู้สึกอยากจะพ้นทุกข์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดกับพ่อแม่ที่มีฐานะ ยังไม่มีความทุกข์ ยังไม่รู้จักความทุกข์
ยังไม่ต้องดิ้นรน ยังไม่ต้องถามตัวเองว่า จะเอาอย่างไรต่อไปกับชีวิตนะ
ส่วนใหญ่นี่ คนที่จะเริ่มสำรวจใจตัวเองได้ว่า จะภาวนาไปทำไม
หรือว่าภาวนาแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง มักจะเป็นพวกที่มีคำถามเกี่ยวกับชีวิตมาแล้วนะ แล้วก็มีความติดข้อง
มีความสงสัย มีความอยากจะดิ้นรนออกจากภาวะที่กำลังติดขัดอยู่ ติดขัดแบบใดแบบหนึ่ง
โดยเฉพาะยิ่งภาพรวมของชีวิต ถ้าใช้ชีวิตไป บางคนนี่ทำงานไปอายุสามสิบกว่าแล้ว
เริ่มอ่านชีวิตตัวเองออกว่า เคว้งคว้าง ไม่มีเป้าหมายที่แท้จริง ทำอะไรไป เหมือนกับทำไปแล้วทิ้งเปล่า
แล้วอยู่ไปวันๆ เอาเงินเดือน
หรือต่อให้เป็นเจ้าของกิจการ ก็ทำไปอย่างนั้นแหละ
แม้ว่ากิจการประสบความสำเร็จรุ่งเรือง แต่ก็รู้สึกว่างเปล่า รู้สึกเหมือนกับว่า นี่ไม่ใช่ที่จะคุ้มกันเลยกับการมีชีวิต
เหมือนกับชีวิตมีคำถามอะไรบางอย่าง ที่จะไปรอวันปะทุ รอวันที่จะระเบิดตูมขึ้นมา
ซึ่งตรงนี้ถ้ามาปฏิบัติธรรม แล้วเห็นกายใจ
ดูลมหายใจเป็นบริกรรม หรืออย่างที่จะสอนลูกตามแนวหลวงพ่อเทียน หรืออะไรแบบนี้
จะมองเข้ามาได้ว่า ใจสงบลง ใจตั้งมั่นมากขึ้น ใจรู้สึกว่าสบาย
หายห่วงเกี่ยวกับภาพรวมของชีวิต เหมือนกับมีเป้าหมายทำให้ชีวิตลงที่จิตที่มีสมาธิ
มีความนิ่ง มีความโปร่ง มีความเบา ไม่ใช่จิตที่ฟุ้งเตลิดไปเรื่อยๆ จนวันตาย
อย่างนี้ ผู้ใหญ่จะตอบคำถามตัวเองได้ชัดเจนว่า
เราจะปฏิบัติธรรมไปทำไม แล้วปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้าไหม ได้สิ่งที่ต้องการไหม
แต่สำหรับเด็ก เราวางพื้นฐานให้เขานี่.. ดี
แต่สำรวจ สังเกตเอาอันดับแรกเลยคือว่า เขามีความรู้สึกดี เขามีความเป็นสุขแค่ไหน
ที่ได้ทำ
ถ้าหากว่าเขาฝืน
หรือไม่มีความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำ อย่าฝืนใจต่อ ให้รอจังหวะ
เราเป็นพ่อเป็นแม่นี่นะ คือ เป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีทางโลก
เราเลี้ยงดูให้เขาได้เติบโตขึ้นมา มีความรู้ มีความสามารถ แล้วก็มีความคิดอ่านที่จะอยู่ในโลก
แบบที่ไม่เป็นภัยกับโลก อันนี้คือพ่อแม่ที่ดีแล้วแบบโลกๆ
แต่พ่อแม่ที่ดีทางธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย
ก่อนอื่น เราต้องได้ดีทางธรรมด้วยตัวเองเสียก่อน จนรู้ว่าการได้ดีทางธรรม
มีความหมายอย่างไร เราจะเอาไปถ่ายทอดให้ลูกได้ในหลายแง่หลายมุมแค่ไหน
คืออย่างคนที่มีจิตที่ปลอดโปร่งจริงๆ
มีจิตที่สบายจริงๆ จะไม่ชอบตอบคำถามตามตำรา
จะไม่มานั่งลิสต์เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับที่ลูกสนใจ ณ ขณะหนึ่งๆ
พ่อแม่ที่เอาหัวข้อธรรมะยากๆ
ไปนั่งลิสต์ให้ลูกฟัง หรือว่าไปพยายามยัดเยียดให้ลูก อันนั้นสะท้อนว่า
เรายังไม่ได้ดีทางธรรมนะ
แต่ถ้าเราได้ดีทางธรรม
เราจะเลี้ยงลูกไปในแบบที่ .. เหมือนกับคอยสังเกตลูกว่า ลูกสงสัยอะไร ลูกติดขัดอะไร
มีความทุกข์แบบไหน แล้วเราเอาสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะในใจของเรา ไปป้อนให้ลูก
ถูกฝาถูกตัว ถูกจังหวะหรือเปล่า
นี่แหละคือพ่อแม่ที่ดีทางธรรม
พ่อแม่ที่ดีทางธรรมนี่ ..
อย่างเราพูดเรื่องการปฏิบัติธรรม เราจะไม่คาดคั้น ถ้าลูกไม่เต็มใจ เราจะไม่บอกลูกว่า
วิธีปฏิบัติแบบนี้ ปฏิบัติไป ถ้าลูกไม่พอใจแปลว่าลูกเป็นคนบาป
เป็นคนไม่มีบุญอะไรอย่างนี้ เราจะไม่พูด
แต่เราจะพูดว่า ปฏิบัติไปแล้วลูกแฮปปี้ไหม
ลูกสามารถที่จะเอาไป apply เอาไปประยุกต์กับปัญหาในชีวิตประจำวันของลูกได้แค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจเพื่อนขึ้นมา ความไม่พอใจนี้ ตอนที่เกิดขึ้นในใจ
เราปล่อยให้เผาจิตใจของเรานานแค่ไหน หรือ ปล่อยให้เกิดความอึดอัด เกิดความอัดอั้น
พร้อมจะเป็นระเบิดเวลาตูมตามขึ้นมา ได้แรงแค่ไหน
หรือบางทีนี่ สมมติว่าเล่านิทานให้ลูกฟัง
แล้วลูกเกิดความสงสัยนะว่า ตัวละครตัวนี้ทำไมถึงเลวนัก
ตัวละครตัวนี้ทำไมถึงไม่แก้ปัญหาแบบนั้นแบบนี้ แล้วเราชวนคุย เข้าแนวการปฏิบัติ หรือว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าสติ
ที่เกิดขึ้นกับตัวลูก นี่เอามา แอพพลายด์ เอามาใช้กับการคุยกับลูก เรื่องที่ลูกข้องใจเกี่ยวกับนิทานนั้นๆ
อย่างนี้จะเป็นการชี้นำ หรือว่าการให้ทิศทางทางความคิดทางสติกับลูก
ได้มากกว่าที่จะมากะเกณฑ์ว่า ลูกทำสมาธิได้นิ่งแค่ไหนแล้ว หรือว่าลูกเห็นกายเห็นใจด้วยความเป็นลูกนานได้แค่ไหนแล้ว
คือถ้าเด็กยังไม่ถึงสิบขวบนี่ไปไม่ถึงตรงนั้นหรอก
.. ยาก ถ้าเขาจะไปถึงตรงนั้น ส่วนใหญ่ต้องมีทุนเก่ามา แล้วไปถึงด้วยตัวเองโดยที่เราคาดไม่ถึง
หรือว่าสอนไม่ได้
แต่ถ้าเขาเป็นเด็กทั่วไป เราต้องมองอย่างนี้นะ
ว่าเราจะให้การปฏิบัติที่เราป้อนให้เขาไปนี่ ค่อยๆ เติบโตตามตัวเขาไป เวลาเจอปัญหาเกี่ยวกับเพื่อน
เกี่ยวกับการเรียนเกี่ยวกับอะไรที่เขาข้องใจ ให้การปฏิบัติของเขานี่มาเป็นคำตอบ ทีละเรื่องทีละเรื่อง
หรือถ้าเราไม่สามารถโยงได้ เราก็เอาธรรมะในใจของเรานี่แหละ
ที่เกี่ยวกับเรื่องของทาน เกี่ยวกับเรื่องของศีล เกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติ ที่เกิดขึ้นแล้วกับเรา
เอามาถ่ายทอดให้เขาฟังเป็นเรื่องๆ ให้ตรงจุด ตรงเวลา
ผู้ถาม : ขอบคุณค่ะ จริงๆไม่ได้คาดหวังค่ะ
เพียงแต่ว่าทำเป็นตัวอย่างให้เขา แล้วชวนเขาทำค่ะ แล้วก็ให้เขาเลือกด้วยว่าเขาจะทำ
หรือเขาจะไม่ทำก็ได้ แต่ว่าพอเขาเห็นพ่อแม่ทำ เขาเลยมานั่งทำด้วยค่ะ
ดังตฤณ : ตรงนี้ สำคัญมาก คือเด็กนี่นะ
เวลาเราเป็นเด็กนี่ ลองนึกดูนะ เวลาเห็นพ่อแม่ทำอะไรแล้วทำเป็นประจำนี่ จะเกิดความรู้สึกอยากทำตามขึ้นมาเอง
โดยที่ไม่ได้มีใครมาบังคับ
ยกตัวอย่าง อย่างถ้าเห็นพ่อแม่สวดมนต์อยู่ทุกวัน
วันหนึ่งจะคลานเข้ามาในห้องพระเองแล้วก็อยากสวดตาม อะไรแบบนี้
ผู้ถาม : ใช่ค่ะ ประมาณแบบนั้นเลยค่ะ เพียงแค่ว่าหนูอยากรู้ว่า
เราสามารถตั้งคำถาม ถามเขาได้ไหมว่า เขารู้สึกอย่างไร หรือว่าเราควรจะตั้งข้อสังเกตอย่างไร
แต่ว่าเข้าใจว่าน่าจะยังเร็วเกินไป
ดังตฤณ : เอาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของเขา
ชีวิตที่โรงเรียนก็ตาม ชีวิตที่บ้านก็ตามหรือข้อสงสัยอะไรที่ผุดขึ้นมาในแต่ละวันของเขาก็ตามนี่
พยายามให้โยงเข้ามากับเรื่องการปฏิบัติที่เขาได้ทำแล้ว หรือว่าที่เราได้รู้ แล้วเราสามารถเชื่อมโยงถูก
เด็กนี่ ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็เรื่องอารมณ์หงุดหงิด
ความไม่ได้อย่างใจ หรือว่าอะไรที่ผิดคาด หรือเขาไม่สนใจอะไรอย่างนี้ เรื่องพวกนี้นี่เอามาโยงกับการเจริญสติได้หมด
ถ้าหากว่าเขาทำมาในแบบที่ สามารถโยงไปถึงเรื่องจิตเรื่องใจของเขาได้
จะดีที่สุดเพราะว่า เด็กทุกคนนะ
มีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของใจตัวเองได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะยังไม่มีข้อมูล
ยังไม่มีอะไรในหัว
มนุษย์นี่ ที่โตขึ้นแล้วมีสติได้กันได้น้อย เห็นอะไรตามจริงได้น้อย
เพราะว่าส่วนใหญ่โตขึ้นมากับนิทาน หรือโตขึ้นมากับการสมมติว่า เรื่องน่าจะเป็นอย่างนั้น
น่าจะเป็นอย่างนี้ คนเราควรจะทำอย่างนั้น คนเราไม่ควรทำอย่างนี้
ได้รับคำแนะนำอยู่แค่นั้น
แต่ถ้าหากว่าตั้งแต่เด็ก ได้รับคำแนะนำว่า
มีอะไรที่เกิดขึ้นจริงๆ ในใจของเขา แล้วสมมติเปรียบเทียบยกตัวอย่างเช่น เขาโมโหขึ้นมา
แล้วเขารู้สึกราวกับว่าเป็นยักษ์เป็นมาร ก็บอกไปว่านี่ภาคที่เป็นยักษ์เป็นมารของลูกเกิดขึ้น
แค่นั้น
คือถ้าบอกตามจริง ตรงตามจริงนี่ ก็เรียกว่าเป็นการมีสติ
เห็นภาวะทางใจของตัวเองแล้ว
แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นอย่างไร คือเวลาลูกโมโหขึ้นมา
บอกว่าเดี๋ยวตีเลย หรืออย่างนี้เป็นเด็กไม่ดีนะ ต้องเป็นเด็กดีด้วยการเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเขาเองทันที
หรือเขายังไม่เต็มใจที่จะยอมลงให้นี่ ก็ใช้วิธีต่างๆ ที่จะไปเอาชนะลูกนะ
ซึ่งก็เลยกลายเป็นเหมือนว่า ทุกคนนี่ มักจะโตขึ้นมาด้วยอาการเก็บกด
หรือว่าด้วยอาการที่ .. บางทีนะ นี่พูดกันแบบที่เกิดขึ้นจริงเลย บางทีโตขึ้นมา โดยอาการปากว่าตาขยิบ
พ่อแม่สอนอย่างหนึ่ง สอนในนิทานหรือว่าสอนตามคอมมอนเซนส์อย่างหนึ่ง แต่ว่าในทางปฏิบัติจริงนี่
ทำอีกอย่างหนึ่งให้ลูกเห็นนะ
เช่นบอกว่าการแสดงความโกรธ เป็นเรื่องไม่ดี.. ว่าลูก
แต่ตัวเองแสดงให้ลูกเห็นว่า การไปมีเรื่องบนถนน หรือว่าไปมีเรื่องกับใครนอกบ้านนี่
ไม่ต้องยั้งคิด ใส่เสียงใส่สีหน้าสีตาเต็มที่ อะไรต่างๆ
คนเราก็เลยโตขึ้นมาแบบตั้งสติกันได้ยาก
หรือว่ามาทำความเข้าใจ กับการเจริญสติได้ยาก
แต่ทีนี้ถ้าเราเป็นพ่อแม่ ที่ปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง
แล้วก็รู้ว่าคุณค่าของการมีสติ เห็นอะไรตามจริงประเสริฐแค่ไหน แล้วเราก็ค่อยๆ หยอด
ค่อยๆ ใส่ลงไปในตัวลูก อย่างเช่น เวลาลูกโมโหโกรธานี่ ค่อยๆ ชี้ให้เห็นตั้งแต่เขายังตัวน้อยว่า
เหมือนมียักษ์มีมารโผล่ขึ้นมาในตัวเรา มองเห็นไหม
หรือ ที่เขาทำอะไรไม่ดี ทำความผิด ทำอะไรที่เห็นแก่ตัว
เลวร้ายไปนี่ แทนที่เราจะไปบอกว่า นี่คือความเป็นคนไม่ดีของเขา เราก็บอกว่านี่มีอะไรเข้ามาสิงจิตใจเขาหรือเปล่า
รู้สึกไหม ราวกับว่าเป็นอีกคนหนึ่ง
แล้วค่อยๆ บอกว่าแท้จริงแล้วนี่ มนุษย์ทุกคนนั้น
แม้แต่ในลูกเองก็ตาม เหมือนกับมีสองภาค
ภาคของความดี กับภาคของความไม่ดี เป็นได้ทั้งคนดี
และเป็นได้ทั้งคนไม่ดีอยู่ในตัวเรานี่แหละ คนดีนี่เขาเรียกว่า กุศลธรรม
หรือว่าคนไม่ดีเรียกว่า อกุศลธรรม
ตรงนี้ จะค่อยๆ หยอดความรู้ทางธรรมะ หรือว่าทางพุทธศาสนา
เข้าสู่จิตใจลูกได้แบบที่เขาจะจำ แล้วก็เกิดความยินยอมพร้อมใจที่จะเห็นตามด้วยนะ
เพราะเด็กนี่ ถ้าได้พ่อแม่ดีๆ นะ ตอนเขาดื้อตอนเขาเกเร
แล้วไปบอกว่า นี่! ตรงนี้เป็นภาคไม่ดีของเขานะ เป็นอกุศลธรรม แล้วเขาก็สามารถที่จะเกิดความรู้สึกอีกด้านหนึ่งขึ้นมาได้
ในเวลาที่ไม่ช้าเกินไปนี่นะ เด็กทุกคนจะสำนึกได้หมดแหละ ถ้ามีพ่อแม่ดี
เราก็ค่อยๆ ชี้ว่า ภาคเทวดา หรือว่าภาคกุศลธรรมของเขานี่
เกิดขึ้นแทนที่อีกตัวหนึ่งแล้ว อีกตัวหนึ่งเหมือนหายไปแล้ว หลบหนีหน้าไปแล้ว แล้วโผล่มาใหม่ด้วยความเป็นอีกภาวะหนึ่ง
อีกภาคหนึ่ง
อย่างนี้นี่ จะทำให้เขามองเห็นความจริง
แล้วก็ไม่ฝืนใจที่จะรับธรรมะ
คำว่าธรรมะนี่ ที่เริ่มต้นด้วยคำว่ากุศลธรรม กับอกุศลธรรม
พูดตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่ยากมาก .. ยากมากจริงๆ คำง่ายๆ ที่เป็นเบสิคที่สุดของศาสนา
กุศล กับ อกุศลนี่นะ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจจริงๆ นะ
บอกอกุศล.. อกุศลคืออะไร อกุศลที่เป็นสองมิติ
แบนๆ มีแต่กว้างกับยาว มีแต่คำที่จำได้ในหัว แต่ภาวะจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไรนึกไม่ออก
เพราะไม่นึกอย่างไรล่ะว่า นั่นคืออกุศล อย่างเช่นเวลาที่กำลังหงุดหงิด
ไม่ได้อย่างใจแล้วตีโพยตีพาย ฟาดงวงฟาดงา พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว มองว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่ควรเกิดขึ้น
เป็นภาวะที่สมน้ำสมเนื้อกับที่ถูกโลกกระทำ
แต่ถ้าเราให้เด็กได้เข้าใจภาวะแบบนี้
โดยผ่านคำว่า นี่!เห็นไหมเป็นยักษ์เป็นมาร ขึ้นมา หรือกระทั่งอาจจะใช้คำว่า เป็นสัตว์นรก ขึ้นมาตอนที่กำลังอาละวาดมากๆ
แรงๆ มากๆ เปรียบเทียบอะไรที่เขาสามารถจับต้องได้ แล้วค่อยมาใส่ มาสวมคำว่ากุศล อกุศล
ลงไปทีหลัง
อย่างนี้เขาจะจำ แล้วโตขึ้นมาพร้อมกับธรรมะของจริง
คือสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในตัวเขา แล้วเขาจะเข้าใจเรื่องจิตเรื่องใจตัวเองได้ดีมากๆ เลยนะ
บางทีนี่ คืออย่างถ้าไปคาดหวังว่าเขาจะปฏิบัติแนวไหนก็ตาม
แล้วเขาจะได้ผล เป็นการเห็นกายใจเป็นรูปนามนี่ อันนั้นอาจจะยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงเวลา
อนุโมทนานะ ปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเด็ก
_____________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์
วันที่ 3 เมษายน 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=t8fWZaxJ_CQ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น