วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

อธิบายเรื่อง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอย่างไร ในเมื่อคนทำชั่วได้ดีมีอยู่มากมาย

ผู้ถาม : เคยได้นั่งคุยกับผู้ใหญ่ แล้วก็เพื่อนๆนะครับ บางที ผมก็ไปไม่เป็น ไม่รู้จะอธิบายเขาอย่างไร

ตัวผมเอง ผมเชื่อนะครับว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่ว่าเมื่อไปคุยกับผู้ใหญ่บางท่าน หรือกับเพื่อน เขาก็บอกว่า คนที่ทำชั่วที่เห็นอยู่ ก็ยังเสวยสุขอยู่ แล้วก็ไม่เห็นจะได้รับผลอะไรเลย

ผมก็ได้แต่บอกว่า ต้องรอเวลา แต่ว่าก็อธิบายต่อไม่ได้ครับ

อยากได้คำแนะนำจากคุณดังตฤณ จะอธิบายให้เขาได้คอนเซปต์ประมาณไหนดีครับ

 

ดังตฤณ : เรื่องของเส้นทางความดีความชั่ว แล้วการเสวยผลดีเสวยผลชั่วนี่นะ เป็นเรื่องเดียวเลย เป็นเรื่องหลัก เรื่องสำคัญที่สุดเลย ที่ทำให้คนเรา ติดอยู่กับความไม่เชื่อเรื่องของกฏแห่งกรรม เรื่องของกรรมและวิบาก เรื่องของการที่จะต้องไปรับผลสิ่งที่ที่ได้เคยทำไว้นะ

 

ถ้าสมมุติว่า เราไปเตะใครให้เจ็บ เตะใครให้ล้ม แล้วมีคนมาเตะเราล้มทันทีทุกครั้ง อย่างนี้ทุกคนจะเชื่อว่า วิบากของกรรมมีจริง

 

แต่เนื่องจากว่า ถ้าเราไปเตะใครล้มนะ เรามักจะมีกำลังมากกว่าเขาแล้วเขาสู้ไม่ได้ แล้วอีกนานเลย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยนะ ที่จะมีใครมาเตะเราล้มนี่ อาจจะทั้งชีวิตนี่ไม่มีใครมาเตะเราเลย แล้วเราไม่เคยล้มจากการโดนใครเตะเลย

 

ก็เลยเชื่อยากว่า กฏแห่งกรรมมีจริง หรือผลที่เราไปทำกับคนอื่นนี่เราจะต้องได้รับ นี่คือ หนึ่ง ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ที่สั้น อายุไม่ถึงร้อยปี

 

ทีนี้ เวลาพระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนแต่เรื่องยากนะ สอนแต่เรื่องยากที่จะเห็นตาม สอนแต่เรื่องยากที่จะเชื่อ คือเรื่องของวิบากกรรมนี่ ไปให้ผลจริงๆ ตอนที่เราตายไปแล้ว ไปปรากฏเป็นอีกร่างหนึ่ง ปรากฏเป็นอีกภพหนึ่ง ภูมิหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากความเป็นมนุษย์ และไปได้รับผลลัพธ์ ที่เราทำไว้เป็นประจำ มาตลอดนะซึ่งอันนั้นนี่ท่านเรียกว่า เป็นการที่เราใช้ชีวิตหนึ่ง สะสมกองบุญ และกองบาป

 

กองบุญนี่ ทุกคนต้องเคยสะสมไว้ กองบาปทุกคนก็ต้องเคยพลาดที่จะทำ พอต้องไปตัดสินเอาตรงที่ตายไปแล้วนี่ เลยยาก เลยเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถเชื่อได้ 

 

นอกจากเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนเกี่ยวกับวิบากของกรรมนี่ แบบข้ามภาพข้ามชาติ ยังมีเรื่องยากไปกว่านั้นอีก คือเรื่องของการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 

คือถ้าไม่เชื่อเสียแล้วว่ามีการเวียนว่ายตายเกิด มีการเวียนวนอยู่กับความทุกข์ ของความไม่ว่า จะต้องเกิดแก่เจ็บตายไปเรื่อยๆ ตามกรรม ก็จะไม่มีการหาทางออก

 

แต่ถ้ารู้ ว่าพวกเราในร่างนี้ ในสภาวะแบบนี้นี่ เป็นแค่ผลลัพธ์ของกรรมมาจากอดีต แล้วก็จะต้องไปเสวยผลแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อย่างนี้อีกไปเรื่อยๆ เสี่ยงบุญเสี่ยงบาปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากจบการเสี่ยงบุญเสี่ยงบาป 

เข้าถึงนิพพานได้ ถึงจะได้พบกับบรมสุขของการออกจากสังสารวัฏอันเป็นโทษ 

 

เห็นไหม พระพุทธเจ้านะ พุทธศาสนาสอนเรื่องยาก สอนเรื่องลึกลับ ที่เป็นแก่น ที่เป็นจุดที่เป็นเป้าหมายจริงๆของพุทธศาสนานี่ต้องเล่นกันที่ความเชื่อ ซึ่งความเชื่อ เราเอามาโชว์ที่ต้นทางไม่ได้ว่าสุดท้ายนี่ เป็นของจริงรึเปล่า ทั้งเรื่องของชาติหน้า ทั้งเรื่องของนิพพาน พิสูจน์ไม่ได้ด้วยต้นทางที่เราเอาไปบอกใครเขา

 

อย่างเวลาเราไปคุยกับผู้ใหญ่ บอกว่า อ๋อ ยังไม่ถึงเวลาที่วิบากกรรมของเขาจะมาถึง หรือว่าเขาจะต้องได้รับผลเอาตอนนี้ มองไม่ได้ แล้วตรงนี้ ถ้าเราไปตามเกมเขานี่นะ เราไปอยู่กับข้อจำกัดของมนุษย์ ที่ไม่สามารถรู้เห็นได้ ก็จะคุยกันได้แค่เรื่อง จะเชื่อหรือไม่เชื่อ

 

แล้วคนส่วนใหญ่ มนุษย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคไอที แนวโน้มคือจะไม่อยากเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้ออ้างที่เป็นรูปธรรมบอกว่า เห็นไหม นักการเมือง นักธุรกิจ หรือว่าพ่อค้าอะไรที่ตามซอยอะไรต่างๆ โกงกิน ตั้งไม่รู้เท่าไหร่

 

ยิ่งโกง กลับยิ่งมี พิสูจน์ได้ชัดๆ หน้าตายังดูเหมือนกับเป็นคนที่ได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม มีแต่ดีกับดี แล้วจะไปพูดได้อย่างไรว่าวิบากกรรมมีจริง 

 

เวลาที่เราจะคุยกัน เรื่องของใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือว่าวิบากกรรมมีจริงนี่ เราไม่สามารถที่จะไปพูดกันตรงไปตรงมา กับคนที่เขาพร้อมจะไม่เชื่อ อย่าไปพูดกับคนที่เขามองว่า เห็นไหมทำชั่วได้ดีมีถมไป ไม่มีประโยชน์ 

แต่จะมีประโยชน์ถ้าหากว่า เราดึงเขามา หาเกมใหม่ เกมที่เขาไม่ค่อยชำนาญในการเล่น ไม่ค่อยจะคิดกันเท่าไหร่ นั่นก็คือว่า โรคทางใจ ของคนยุคปัจจุบันนี่ ที่ไม่เชื่ออะไรมากกว่าเรื่องเงินนี่นะ จะมากกว่าคนยุคไหนๆ เลย มากกว่าคนยุคก่อนที่เขามีเวลาทำอะไร งานอดิเรกแบบเรื่อยเปื่อย ไม่ต้องไปเร่งรีบ ไม่ต้องไปเร่งรัดหาเงินหาทอง หรือใจไม่ได้ผูกอยู่กับเงินมากขนาดนี้

 

เรื่องโรคทางใจนี่ จะเป็นโรคเครียดก็ตาม จะเป็นโรคนอนไม่หลับก็ตาม จะเป็นโรคคิดมาก ขี้วิตก ขี้ระแวง ขี้กังวลก็ตาม ข้อสังเกตก็คือ คนที่ยิ่งมีนี่นะ ยิ่งมีทรัพย์สินมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความร่ำรวยจากการกอบโกยจากการไปเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเขามา ยิ่งมาก

 

พอเราพูดเรื่องโรคทางใจ เราไม่พูดคำว่า วิบากกรรมนะ เราพูดเรื่องโรคทางใจอันเป็นผลลัพธ์มาจากการที่คิดเรื่องเงิน เอาแต่คิดเรื่องทำชั่วแล้วได้ดี มีมากกว่าคนยุคอื่นๆ หรือมีมากกว่าคนที่เขายากจน คนที่เขาได้ดีทางใจ แต่อาจไม่ใช่ดีทางวัตถุ เงินทอง ทรัพย์สิน บ้านช่อง หรือว่ารถรา

 

การตั้งข้อสังเกต การเปลี่ยนโจทย์ใหม่ จะเหมือนกับเราตั้งกฏกติกาเกมใหม่ขึ้นมา แล้วถ้าเขายังไม่เคยเล่น ยังไม่เคยชินกับการเอาชนะ ด้วยเกมแบบนี้มาก่อน เราจะมีช่องทางที่จะชนะใจเขาได้ ชนะใจนะ ไม่ใช่ชนะแบบ ข้าคือผู้ชนะ แกคือผู้แพ้นะ ชนะใจ เกมที่เราจะชนะใจเขาได้นี่ คือเกมที่ เขาคิดไม่ถึง หรือ ไม่ติดอยู่กับการเล่นนั้นๆ

 

อย่างถ้าจะให้เขาเชื่อว่า การปล่อยใจฟุ้งซ่านแบบขาดสติ ทำให้เกิดโรคทางใจ เช่น โรคเพ้อเจ้อ หรือ การที่เขาไม่เชื่อเรื่องความดี แล้วพร้อมจะทำอะไรที่ชั่วร้าย หรือเอารัดเอาเปรียบใครเขาก็ได้นี่ เรายกตัวอย่าง คนที่เรารู้จัก หรือเรารู้เห็น ว่ามีความเศร้าหมอง มีความรู้สึกใจไม่ดี มีความรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์

 

พูดง่ายๆ นะ ถ้าเราอยากจะให้เขาเชื่อในแบบพุทธนี่ อย่าไปเถียง ในสิ่งที่เอาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้ หรือเราไม่สามารถจะจูงเขาไปในจุดที่เราถึงแล้ว อย่าไปเล่นเกมแบบนั้น

 

ให้เล่นเกมในแบบที่จะต้องยอมรับกันด้วยใจของเขาเอง ที่เขาประสบมาแล้ว

 

เราลองสังเกตเขา ว่าเขามีปัญหาทางใจแบบไหน หรือว่ามีความทุกข์อะไรที่แก้ไม่ตก ถ้าเราไม่เจอ ถ้าเราไม่รู้จักเขามากพอ แนะนำให้เงียบเสีย อย่าไปเถียงกับคนพวกนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

แต่ถ้าเรารู้ ถ้าเราพอจะจับจุดเขาถูก รู้ว่าจุดอ่อนทางใจ ทางอารมณ์ของเขาอยู่ตรงไหน แล้วเรายกขึ้นมา โดยอาศัยการเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยอาศัยการที่เรายกตัวอย่างคนที่เรารู้จัก คนอื่นมา บอกว่า นี่รู้จักคนเป็นโรคเครียด รู้จักคนเป็นโรคเหม่อลอย รู้จักคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมาจากสาเหตุคือ ความไม่รู้จะเชื่ออะไร ไม่รู้จะใช้ชีวิตให้รู้สึกดีได้อย่างไร แบบนั้น จะได้จุดสรุปของการสนทนา ซึ่งจะค่อยๆ พาเขามาในทางธรรมะ มากขึ้น ดีกว่าจะไปพยายามให้เขาเชื่อในสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้นะครับ

 

 _________________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=-Wjw-3vUiBE&t=1s 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น