วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

คุยกับเพื่อนแล้วอินจนจิตส่งออกนอก พยายามดึงจิตกลับมาแต่รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ

 ผู้ร่วมรายการ : เวลาคุยกับเพื่อนแล้วเกิดอาการอิน จิตส่งออกนอก พอรู้ตัวก็ดึงจิตกลับมา มันรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ อยากขอวิธีจะทำยังไงที่เรารู้ตัวด้วยมีสติด้วย แต่ก็สามารถใช้ชีวิตกับทางโลกอะไรแบบนี้ได้ ค่ะ

ดังตฤณ : โอเค ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมาก คำถามที่เป็นข้อสงสัยสำหรับผู้เริ่มต้นว่า ทำไมพอมาเจริญสติ พอมาปฏิบัติธรรมแล้ว เรารู้สึกมันกระตุกกระตุกชอบกลนะ วิถีชีวิตแบบที่มันเคยดำเนินมาเนี่ย นั่นเป็นเพราะบางทีเนี่ย เราอาจจะฟังคำแนะนำว่า ให้เข้ามาดูสังเกตจิตของตัวเองนะ หรือว่าให้มาสังเกตดูว่าอารมณ์ไปถึงไหนแล้ว หรือว่าใจของเราเนี่ยกำลังเป็นกุศลหรือไม่เป็นอกุศลอะไรต่างๆ

ตรงที่เราเข้ามาดูดื้อๆเลย เข้ามาดูกันแบบลุยแบบลูกทุ่งเลยเนี่ย มันทำให้สภาพความต่อเนื่องของชีวิตประวันสะดุดเป็นธรรมดา

เพราะว่าเมื่อเราสังเกตเข้ามาที่ใจ มันเป็นการเข้าโหมดต่างไป จากที่เราคิดพูดหรือว่าเรากำลังสนทนามีความรู้ใจความจากฝ่ายคู่สนทนาอะไรอย่างนี้นะครับ ตอนที่เรารู้ข้อความสนทนาเนี่ย มันคือการที่เราใส่ใจเข้าไปในเรื่องที่กำลังอยู่ในหัวข้อ แล้วก็เรากำลังตั้งใจฟังว่าเขากำลังพูดอะไรมา อาการของจิตมันจะเข้าโหมดรับรู้ข้อความ

ทีนี้พอเรามาสังเกต เอ๊ะ!ตอนนี้จิตเราเป็นยังไง มันจะดึง มันจะมีการกระชากจากสภาพรับรู้ข้อความตรงหน้า หรือการทำความเข้าใจ โหมดทำความเข้าใจข้อความเนี่ย กลายมาเป็นว่ามาสำรวจดูว่า เอ๊ะ!ใจฉันกำลังเป็นยังไงอยู่ เนี่ยมันคนละเรื่องกัน มันคนละโหมดกัน มันคนละขั้นตอนกันนะครับ

ทีนี้เพื่อที่จะให้การปฏิบัติการเจริญสติเนี่ย มันสมูท (Smooth) แล้วก็กลมกลืนกันไปกับภาวะที่เป็นชีวิตประจำวัน ลองดูที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในสติปัฏฐานนะครับ ท่านตรัสมาเป็นขั้นๆ ฝึกดูลมหายใจให้เป็นก่อน แล้วฝึกเห็นว่าแต่ละลมหายใจเนี่ยมันพาอะไรเข้ามา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

จากนั้นค่อยมาสังเกตว่า ไอ้ที่หายใจอยู่เนี่ย มันหายใจอยู่ในอิริยาบถไหน ร่างกายอยู่ในท่าทางแบบใด แล้วเสร็จแล้วค่อยไปสังเกตว่า ด้วยอาการทางกายในอิริยาบถนั้นๆมันขยับเคลื่อนไหวแยกย่อยยังไง มันพูดจาตอนเริ่มจะเนี่ยท่าทางมันต่างไปยังไงนะครับ แล้วตอนที่หยุดนิ่งฟังท่าทางอาการของกายต่างไปยังไง ความเคลื่อนไหวทางจิตภายในเป็นอย่างไร เนี่ยตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นขั้นเป็นตอน

พูดง่ายๆถ้าเรามีเบสิก (basic) ถ้าเรามีความเคยชิน มีความชำนาญที่จะรู้สิ่งที่ควรรู้ขั้นพื้นฐานก่อนคือทางกายทางใจเนี่ยนะครับ มันจะค่อยๆเขยิบขึ้นไปรู้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆเอง โอเค ธงของเราเนี่ยคือการมีสติอยู่กับชีวิตประจำวัน อันนั้นดี อันนั้นถูกต้อง แต่ทำยังไงมีขั้นตอนยังไง อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าหากว่าเราสังเกตเอาดื้อๆเลย ไปเปลี่ยนโหมดจากโหมดคิดพูดเป็นโหมดสังเกตจิตเนี่ย แน่นอนมันต้องสะดุด แล้วก็เดี๋ยวเราก็ต้องเกิดความรู้สึกว่า พอยิ่งทำนานไป มันเหมือนจะไม่ได้อะไรสักอย่าง เหมือนจับปลาสองมือ ทางโลกมันก็ไม่เต็มที ทางธรรมก็ไปไม่สุด ไม่มีอะไรได้ดีเต็มที่สักอย่าง

แต่ทีนี้ถ้าเรามาฝึก อย่างเวลาว่างๆไม่ต้องนั่งหลับตาก็ได้ เอาแค่นั่งอยู่กับโต๊ะทำงานแล้วสังเกตว่าเรากำลังนั่งอยู่อย่างนี้สบายหรือไม่สบาย ฝ่าเท้าฝ่ามือมันผ่อนคลายมั้ย หรือว่าเกร็งเครียดอยู่มั้ย แล้วหายใจตามที่ธรรมชาติทางกายมันให้หายใจ สังเกตอยู่ว่าเนี่ยลมหายใจแบบนี้มันมีความผ่อนคลาย มันมีความรู้สึกว่างๆสบายๆ หรือมีความฟุ้งยุ่ง ด้วยเบสิกความรู้ตรงนี้ที่จะสังเกตว่า ณ ลมหายใจนี้เรากำลังมีภาวะปั่นป่วนยังไง หรือว่ามีความสงบยังไง ภาวะทางกายเนี่ยนิ่งยังไง หรือว่าเกร็งยังไง ตรงนี้มันจะไปต่อยอดเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามฝืนนะครับ

เวลาเราพูดคุยอยู่เนี่ย เราจะไม่ลืมลมหายใจ ลมหายใจจะเหมือนอยู่เป็นแบลคกราวน์ (background) มันมาเรื่อยๆ เป็นห้วงๆ คืออาจจะไม่ได้จำเป็นต้องตลอดเวลานะ แต่มันมาเป็นห้วงๆ มันมาทีละนิดทีละหน่อย แล้วก็ค่อยๆเกิดความเคยชิน ค่อยๆเกิดความชำนาญที่จะเห็น เห็นว่าลมหายใจเป็นแบลคกราวน์

ระหว่างที่เราใช้ชีวิตประจำวัน เราคุยอยู่กับใครเนี่ยลมหายใจเหมือนจะปรากฏเป็นแบลคกราวน์ให้เอง จนกระทั่งเรามาจับจุดได้ว่า เวลาที่เราพูด เวลาที่เราคุยกับใครเนี่ย แต่ละการพูดแต่ละหัวข้อการสนทนา มันพาให้จิตของเรามีความแตกต่างไป บางหัวข้อสนทนามันพาใจของเราไปฟุ้งซ่านง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดเรื่องคนอื่นแล้วสนุกปากมันมันนะครับ มันอยากหัวเราะคิกคัก มันอยากไปเดาว่าเรื่องของเขาเนี่ยมันเป็นยังไง เขาคิดยังไงเขาถึงได้ทำแบบนั้นนะครับ มันจะง่ายมากเลยที่จิตเนี่ยจะผันผวน แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าลืมหมดแล้วว่ากายเป็นยังไงใจเป็นยังไง

แต่ถ้าหากว่าพูดเรื่องธรรมะ พูดเรื่องอะไรที่มันเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องจิตเรื่องใจเรื่องความไม่เที่ยง ใจที่ตั้งใจเสพธรรมะอยู่เนี่ย มันเหมือนพร้อมที่จะกลับเข้ามา รู้สึกถึงฐานที่ตั้งคือลมหายใจ หรือว่ารู้สึกถึงฐานที่ตั้งคือสภาพอิริยาบถที่มันกำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้ เนี่ย!พอสังเกตความต่างของหัวข้อการสนทนาที่มีความสัมพันธ์กับภาวะทางใจที่เตลิดง่าย หรือว่าเข้ามามีสติอยู่ได้สบายๆเนี่ย เราจะเริ่มจับจุดออกว่า อ๋อ เวลาใช้ชีวิตประจำวันมันจะมีหัวข้อ ไม่ว่าจะอยู่กับชีวิตประจำวันแบบไหน เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน กินข้าว มันมีหัวข้อ มันมีหัวข้อทางธรรม ถ้าอาหารอร่อยมาก จิตใจเราพร้อมจะเหมือนกับยักษ์ขมูขีที่เมามันกับรสชาติของอาหาร หน้ามืดลืมหมดสภาพทางกายสภาพทางใจจะเที่ยงไม่เที่ยงอะไรเนี่ย นึกไม่ออก มันหน้ามืดเมามันอยู่กับรสอาหาร

แต่ถ้าเป็นรสอาหารจืดชืด แล้วเกิดความรู้สึกทุกข์ทางใจขึ้นมาเล็กๆ อย่างนี้เนี่ยมันพอมีสติ มันพอมีแก่ใจตั้งสติเข้ามาว่า ตอนนี้เนี่ยใจมันกำลังรู้สึกเหมือนกับไม่พอใจกับรสชาดอาหารอยู่ แล้วก็กลับมาอยู่กับ เออเนี่ยไอ้ความไม่พอใจแบบนี้อยู่ได้แป๊บนึงเดี๋ยวมันค่อยๆหายไปตอนที่เปลี่ยนรสชาดเป็นคำอาหารคำอื่นอย่างนี้นะครับ

เห็นมั้ยหัวข้อในชีวิตประจำวันมันก็เหมือนหัวข้อสนทนา มันมาปรุงแต่งใจของเราให้อ่อนไหวง่าย หรือว่ามีความกลับมาตั้งมั่นเป็นสมาธิได้

แต่ถ้าหากเราไม่ฝึกที่จะสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจกับจิตไว้ก่อนล่วงหน้า มันจะเหมือนไม่มีทุน มันจะเหมือนกับว่าถ้าตั้งใจดูเข้ามาที่จิตแล้วเนี่ย ต้องยกเลิก ต้องแคนเซิล(cancel)หัวข้อชีวิตประจำวันอย่างอื่นหมด กลับมาดูจิตอย่างเดียวซึ่งมันไม่ได้อะไรเลย มันสะดุด เสร็จแล้วเนี่ยกลับมาดูใจแล้วก็ ..

เอ๊ะ! เห็นใจรึยัง?

เห็นแล้วแป๊บนึง

เห็นแล้วได้อะไร?

ก็รู้สึกว่าเนี่ยมีสติแล้ว เข้ามาดูจิต เข้ามาดูใจ แต่จริงๆน่ะมันไม่ได้อะไรเลยนะครับ แล้วก็คือคุณจะรู้ว่าไม่ได้อะไรเลยหลังจากที่เวลาผ่านไป ๑๐ ปี แล้วมันก็ยังย่ำอยู่กับที่ยังอยู่ตรงนี้ที่เดิม

แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตลมหายใจ เรารู้ความสัมพันธ์ระหว่างลมกับสภาวะทางใจ สภาวะทางกายสภาวะทางใจมันเป็นไปด้วยกัน ไม่ต้องถึง ๑๐ ปี เอาแค่ ๑๐ วัน คุณจะเห็นความต่างเลยนะ มันจะมีอัตโนมัติรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เห็นความสัมพันธ์เห็นความต่างระหว่างหัวข้อในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ทางจิตที่มันมีลมหายใจเป็นศูนย์กลางของสติอยู่นะครับ

........................................................

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถาม : คุยกับเพื่อนแล้วอินจนจิตส่งออกนอก พยายามดึงจิตกลับมาแต่รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ

ระยะเวลาคลิป  ๑๐.๐๓   นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=JVw-AtvJBuE&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=9 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น