วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

ทำสมาธิบนเตียงนอน เหมือนวูบหลับ แก้อย่างไร และถ้าใช้หมอนช่วยดันหลังจะสบายไปไหม

ผู้ถาม : อยากจะปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนั่งสมาธิครับ

ผมจะนั่งสมาธิช่วงเช้ากับช่วงเย็น โดยนั่งสมาธิแต่ละครั้ง จะมีความรู้สึกว่าจะวูบแล้วก็หลับไป

บางทีก็อาจจะนั่ง แล้วก็รู้สึกตัวอีกทีอาจจะผ่านไปครึ่งชั่วโมง แต่ว่าก็เหมือนกับนั่งท่าเดิม 

คือก่อนที่จะรู้สึกว่าเหมือนหลับไป ตอนแรกก็จะจับลมหายใจเข้าออก ธรรมดาก่อนนะครับ

บางทีเหมือนกับว่าเริ่มฟุ้งแต่ว่าเราก็รู้ว่าฟุ้งอยู่ แล้วก็เหมือนกับตัดไปเลย 

แล้วก็รู้สึกตัวอีกทีคือคล้ายกับว่าลืมตาตื่น อาการเหมือนตื่น แต่ว่าตอนตื่น จะมีความรู้สึกว่าตัวเองได้ชาร์จพลัง เหมือนกับนอนเต็มอิ่ม 

เลยอยากปรึกษาว่า การที่เราจะนั่งสมาธิแล้วไม่หลับ มีวิธีแก้อย่างไรบ้างครับ

 

ดังตฤณ : ที่พูดมาทั้งหมดนี่ โจทย์ก็คือว่าทำอย่างไร จะให้กำลังของสมาธิของเรานี่อยู่ตัวมากกว่านี้นั่นเองนะครับ 

กำลังของสมาธินี่นะ ถ้ายังไม่อิ่มตัว ถ้ายังไม่อยู่ตัว ถ้ายังไม่มีความแข็งแรงพอนี่ จะมาในรูปของการวูบ แบบที่คุณว่านี่แหละ

 

อาการวูบ ถ้ามองในแง่ของการปฏิบัติสมาธิ ก็คือการตกภวังค์

 

ทำความเข้าใจว่าอย่างนี้นะ ภวังค์มีอยู่สองแบบหลักๆ เลย

คือภวังค์หลับ แล้วก็ภวังค์สมาธิ

 

อันนี้ผมเอามาทำให้ฟังง่ายนะ คืออาจจะไม่ได้เห็นตำราไหนนะ อันนี้ผมบอกนะว่าที่พูดว่าภวังค์หลับ กับภวังค์สมาธิ เพื่อมาอธิบายง่ายๆตามแบบของผมนะ อย่าไปเอาผิดเอาถูกแบบในเชิงศัพท์วิชาการ

 

ภวังค์หลับ หมายถึงอะไร หมายถึงว่าจิตนี่นะ

จากเดิม ที่มีการรับรู้ลมหายใจ หรือคำบริกรรม หรืออะไรก็ตามนะ ด้วยความคิดนะครับ ภวังค์หลับนี่ หมายความว่าจิตวูบและก็จะมีความรู้สึกเหมือนดิ่ง วูบลงไป

 

ก็คือจากจิตที่ไปคลุกอยู่กับความคิดในหัวนี่ วูบลงมาด้วยอาการที่หมดแรงจะตั้งอยู่กับความคิด แล้วฐานที่ตั้งอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่กลางอกนี่แหละ อาการหลับของเรา เลยออกแนว ..หลายคนนี่จะพรรณนาว่าเหมือนกับดิ่งลงเหวหรือว่าตกลงมาจากฟ้า หรือว่ามีอาการที่จะฟุบตัวลงไป

 

เสร็จแล้วก็ ถ้าไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวอะไรเลยนี่ คือหลับไป อันนี้เรียกคือภวังค์หลับ ภวังค์ คือการไม่รู้อะไรเลย มีสภาพจิตที่ไม่รับรู้ ทางหู ทางตา หรือแม้แต่ความคิด

 

แต่ถ้าเป็นภวังค์สมาธิ จะวูบแล้วก็กลับพลิกหงายขึ้นมารู้ตื่นอีกทีหนึ่ง ในแบบ อันนี้ภวังค์สมาธิต้องเกิดขึ้นเพราะว่าเวลาจิตจะเปลี่ยนจากสภาพคิดๆ นึกๆ นะหรือว่าจับอยู่ในกลุ่มความคิดที่สมองนี่ มาตั้งอยู่กับฐานของมันนี่ต้องมีการผ่านภวังค์เสมอ นี่คือธรรมชาติ นี่คือกลไกของจิต

 

ถ้าอย่างบอกว่าพอวูบไปแล้วหลับไปแล้วนี่ ตื่นขึ้นมาสดชื่น นี่ก็คือร่องรอยหนึ่งที่มีสิทธิ์ว่า จะเป็นภวังค์สมาธิขึ้นมา มีสิทธิ์ที่จะพลิกเปลี่ยนจากสภาพไม่รู้อะไรเลยกลายเป็นมีความเป็นสมาธิขึ้นมาได้ จากคว่ำกลายเป็นหงายขึ้นมาได้ นี่คือร่องรอยนะตัวความสดชื่นหลังจากตื่นขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้าถามว่าจะทำอย่างไร ให้กำลังสมาธิของเรามากพอที่ตัวภวังค์นี่ จะเป็นภวังค์สมาธิขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ก็คือเราต้องเพิ่มสติเข้าไป เพิ่มกำลังของกายเข้าไป

 

คนส่วนใหญ่นึกว่าทำสมาธินี่ มีแค่นั่ง นั่งหลับตานิ่งๆ แล้วจะได้ดิบได้ดีแค่ไหน หรือไม่ได้ดิบไม่ได้ดีแค่ไหน ก็เอาแค่นั้น แต่จริงๆ แล้ว คุณสังเกตไหม อย่างคนเล่นกีฬา อย่างนักฟุตบอล ไม่ได้ออกกำลังแค่ในสนามบอล บางทีเขาฟิตด้วยการวิ่งทางไกล หรือว่า บางคนฟิตด้วยการเข้าฟิตเนส ทำให้ร่างกายมีสภาพพร้อมไปทั่วทั้งตัว

 

หรือบางคนก็จำกัดเรื่องการกิน การอยู่บางคนไปเพิ่มอาหารเสริมวิตามิน อะไรต่างๆ เห็นไหม คือเล่นบอลไม่ใช่แค่ลงสนามบอล

 

เหมือนกัน นั่งสมาธิไม่ใช่แค่เข้าห้องพระ หรือว่าลงไปนั่งที่อาสนะ บางที เราต้องเสริมแรง เสริมกำลังด้วยวิธีอื่น

 

อย่างที่เป็นมาตรฐานที่สุด ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมบ้าง เดินให้เป็น เดินให้สติเกิดขึ้นอย่างเช่น ถึงแม้จะอยู่ในห้องแคบ แต่เราเดินแบบรู้เท้ากระทบๆๆ ไป

เราก็จะพบว่าสติของเราที่เกิดขึ้นในระหว่างเคลื่อนไหว จะมาเสริมให้สติในขณะนั่งนิ่ง ดีขึ้นได้

 

หรือเราอาจวิ่งเหยาะ แล้วสังเกตเท้ากระทบไป พอกลับมานั่ง จะพบว่า กำลังของเราดีขึ้น

 

หรือเราอาจพิจารณาว่าออกกำลังกาย หรือ ทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ด้วยวิธีไหน ใช้อาหาร ใช้การพักผ่อน ใช้การออกกำลังในแบบที่จะทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนเสริมให้เกิดกำลังที่ฐานของกาย แล้วก็เสริมให้เกิดสติ ในการทำสมาธิหมดเลย มีผลหมดเลย

 

แล้วเวลานั่งสมาธิ ต้องสังเกตตัวเองด้วย ว่าอยู่ในท่านั่ง คอตั้งหลังตรง พร้อมที่จะตื่น หรือว่าเราอยู่ในท่านั่ง แบบพร้อมที่จะโงกง่วง ถ้าพร้อมที่จะโงกง่วงคือจะก้มหน้า จะไม่สนว่า เราอยู่ในท่าตั้ง หลังงอหรือหลังตรง จะแบบนั่งตามใจชอบ แล้วก็ออกอาการแบบที่ว่า พร้อมจะให้ร่างกายเป็นที่ตั้งของความสบายอย่างเดียว

 

สบายในแบบของคนทั่วไปก็คือว่า อยูในท่าไหนก็ได้ตามใจชอบ

 

แต่ถ้าสบายในแบบของนักทำสมาธิที่พร้อมจะมีสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา คอตั้งหลังตรง สำคัญมาก ไม่ต้องมือซ้อนมือก็ได้ ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิยังได้เลยนะ นั่งกับเก้าอี้ก็ได้ แต่คอตั้งหลังตรงนี้ สำคัญที่สุด

 

เพราะคอตั้งหลังตรง บอกว่าจิตของเราตั้ง แต่ถ้าคองุ้ม หลังงอ อย่างนี้ บอกว่าจิตของเราพร้อมฟุบ

 

ผู้ถาม : ถ้าสมมติว่า ระหว่างที่นั่งสมาธิ ธรรมดาจะนั่งบนเตียง ขัดสมาธิ ทีนี้ ถ้าเอาหมอนมานั่งพิงหลัง นั่งหลังตรง อย่างนี้จะมีผลต่อการนั่งสมาธิไหมครับ หรือจะทำให้รู้สึกสบาย นั่งสมาธิแล้วประสิทธิภาพน้อยลง

 

ดังตฤณ : นั่นก็เป็นตัวจูงจิตให้นึกถึงที่นอน จูงจิตให้นึกถึงท่านอน

 

อยากแนะนำ ลองเสิร์จหาดูในอินเตอร์เนต ที่นั่งสมาธิแบบที่ช่วย support หลัง แล้วเดี๋ยวนี้จะทำเป็นที่นั่ง แบบมีชั้น ให้เราวางขาลงไป ไม่ต้องทรมานนะครับ

 

หรือ เราจะนั่งเก้าอี้ก็ได้ อย่างผมเอง เคยนั่งขัดสมาธิ แล้วก็นั่งแบบผิดๆ ตอนช่วงแรกๆ นั่งแล้วหลังงอ แล้วก็มีผลยืดเยื้อเลยนะ ทำให้ขาเราไม่ค่อยดี

 

ทีนี้ถ้าอย่างบางคนไม่ค่อยถนัดที่จะนั่งแบบขัดสมาธินี่นะ ผมแนะนำว่า ลองนั่งเก้าอี้ดู นั่งเก้าอี้แบบไม่นุ่มมาก แล้วก็ไม่แข็งมาก เอาแบบที่จะซัพพอร์ตหลังเราให้อยู่ในท่าตั้งหลังตรงนะครับ

 

ท่าตั้งหลังตรงนี่ ย้ำว่าสำคัญมาก คอนี่ควรจะตั้ง คางควรจะเชิดนิดหนึ่ง และหลังตรง แต่ไม่ใช่ตรงแบบที่พยายามจะไปยืดมันจนเกิดความปวดหลังนะ แต่เป็นตรงแบบสบาย ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และในขณะเดียวกัน เรารู้สึกถึงสติที่ตั้งทรงอยู่นะครับ

 

ที่นอนนี่ ไม่แนะนำ เพราะประการแรกเลย คำว่าที่นอน ปรุงแต่งจิตให้พร้อมนอน ไม่ได้ปรุงแต่งจิตให้พร้อมนั่ง

 

ประการที่สองคือ ความนุ่มของที่นอน ต่อให้เป็นฟูกที่แพงขนาดไหนก็ตาม จะออกแบบไว้รองรับสภาพนอน ไม่ได้ออกแบบให้ซัพพอร์ตการนั่งหลังตรง

 

ถ้าเรานั่งหลังตรงบนที่นอน โอกาสที่จะปวดหลังมีสูงมาก ถึงแม้เราจะเอาหมอนข้างมาดันหลังก็ตาม

 

แนะนำนะครับ ว่าควรเป็นท่านั่งดีกว่า ถ้าไม่ถนัดที่จะนั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้ก็ได้นะ

 

ผู้ร่วมสนทนา : ขออนุญาตเสริมค่ะ จากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยนั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียง นอกจากเรื่องของการปวดหลัง ยังมีอีกจุดที่คิดว่าสำคัญมากก็คือว่า ถ้าเกิดเตียงของเราไม่ได้แข็งมากๆ เลย ตอนที่นั่งสมาธิบนเตียง จะมีอาการที่ตัวจมลงไป แล้วจะมีผลต่อการหายใจ ทำให้การหายใจของเราไม่ได้ยาว

 

ดังตฤณ : อันนี้ชัดเจนมาก คือพอนั่งจมลงไปนี่ พอกระดูกสันหลังงอนิดหนึ่ง แล้วกด หรือไหล่ห่อ จะมีผลอย่างที่ว่านี่แหละ คือหายใจยาวจะยาก หายใจยาวได้แค่ครั้งสองครั้ง แล้วจะพบว่า ครั้งต่อๆ ไปลำบาก

ดีมาก เป็นข้อสังเกตที่ดีมากครับ

________________

คำถาม :

- นั่งสมาธิโดยการจับลมหายใจเข้าออก และคอยรู้สึกตัวว่าฟุ้ง มีอาการวูบหลับรู้สึกตัวอีกทีผ่านไปแล้วครึ่งชั่วโมง พอรู้สึกตัวก็เหมือนนอนเต็มอิ่ม ทำอย่างไรให้มีกำลังสมาธิอยู่ตัวมากขึ้น?

- ปกตินั่งขัดสมาธิบนเตียง ถ้าเอาหมอนมาอิงหลังแล้วนั่งหลังตรง จะมีผลอะไรไหม ทำให้สบายเกินไปไหม?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 3 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=RS4XuJdfHjA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น