วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

เคยใช้คำหยาบคายกับพ่อแม่ มีวิธีแก้กรรมอย่างไร

ผู้ถาม : เคยด่าพ่อแม่ด้วยคำหยาบคายค่ะ แล้วก็พูดกูมึงกับพ่อแม่ 

คำถามแรกอยากจะถามว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้เรื่องนี้ดีขึ้น

แบบเรื่องแก้กรรมอะไรอย่างนี้ค่ะ

 

ดังตฤณ : เป็นคำถามสำคัญมากนะ

เพราะว่าหลายคน ก็เคยมีประสบการณ์แย่ๆ แบบนี้มาก่อน

ต้องหลุดบ้าง ต้องอะไรบ้าง ลิ้นกับฟันนะครับกระทบกันเป็นธรรมดา

 

เดี๋ยวผมเอาคำถามข้อนี้ก่อนเลยนะ ขอตอบคำถามข้อนี้ก่อนที่จะไปคำถามข้อต่อไป เอาเรื่องความรู้สึกก่อนใช่ไหม นี่คือคำถามข้อแรกใช่ไหม 

 

ผู้ถาม : ใช่ค่ะ แล้วไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว แต่ทำมาโดยตลอดค่ะ 

 

ดังตฤณ : แล้วก็มารู้สึกแย่กับตัวเองทีหลังนะ ว่าที่เราทำๆ ไป สุดท้ายแล้ว จะย้อนกลับมา ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง

อันนี้คือตัวคำถามนะว่าทำอย่างไรเราจะรู้สึกดีขึ้น 

 

ผู้ถาม : คือไม่ใช่ว่าทำอย่างไรให้เรารู้สึกดีขึ้น คือ หรือว่าเราจะขอขมาต่อพ่อแม่ ให้กรรมเบาบางลงอะไรอย่างนี้ค่ะ คือ กลัวบาปค่ะ

 

ดังตฤณ : เดี๋ยวตอบคำถามข้อแรกก่อนนะ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้  เวลาที่เราไม่สบายใจ กับการที่มาทบทวนดูแล้ว

ในชีวิตเคยทำบาปไป พลาดพลั้งอะไรไปก็ตาม

 

ท่านตรัสว่า ถ้ายังไม่ตาย ก็ยังไม่สาย ยังมีโอกาสมีเวลาที่จะแก้ไข

และความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแย่กับตัวเอง

หรือว่าความรู้สึกกลัวบาปกลัวกรรมก็ตาม

จะเป็นความรู้สึกด้านลบชนิดใดก็ตาม

ให้มองไว้ ตั้งเอาไว้เป็นตัวตั้งเลย มองเป็นภาพรวมไว้ก่อน เอาให้ได้นะ

 

อย่างนี้นะ มองให้ได้ตามนี้ว่า บาปหรือความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นไปแล้ว

แล้วยังไม่ล่วงผ่านไป ยังค้างคาอยู่ในใจเรานี่

ให้มองเหมือนกับก้อนเกลือ

 

เป็นการอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนมาก .. ก้อนเกลือนี่เค็ม

แล้วเราก็จะมีความรู้สึกว่า เวลาเราลิ้มรสความเค็มจัดๆ นี่

จะรู้สึกว่า จี๊ด มีความรู้สึกว่าเหลือจะฝืน

 

ทีนี้ ก้อนเกลือเค็มๆ นั้น ถ้าหากว่าเรามองว่า เราใส่ลงไปในถ้วย

แล้วเราเติมน้ำลงไปแค่นิดเดียว ก็จะยังเค็มอยู่

กินเข้าไป ความเค็มเท่าเดิมเลย กับที่เรากัดก้อนเกลือเปล่าๆ

 

แต่ถ้าหากว่า เราเติมน้ำเข้าไปเป็นขวด คราวนี้ รสเค็มก็จะเจือจางลง

 

และยิ่งถ้าหากว่า เราเติมน้ำลงไป ในปริมาณเท่าโอ่ง

ก้อนเกลือเท่าเดิม ยังอยู่ ไม่ไปไหนนะ

แต่ว่าความเค็มเหมือนจะหายไปแล้ว เหมือนจะละลายแล้ว

 

ยิ่งถ้าหากว่า เราเติมน้ำเข้าไปเท่าสระใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงรสเค็ม

ถึงแม้ว่าก้อนเกลือยังอยู่ แต่รสเค็ม ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ จะไม่เหลือเลย

 

นี่คือ วิธีที่พระพุทธเจ้า ให้มองแบบอุปมาอุปไมย

เปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เราทำผิดไปแล้ว

ต่อให้เรารู้สึกว่าทำผิดไปแค่ไหนก็ตาม

ยังมีโอกาสในชีวิตที่เหลือ ที่เราจะทำในสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม

 

อย่างทำกับพ่อแม่นี่ มีความทุกข์ประมาณไหน

หรือว่าด่าท่านรุนแรงเพียงใด มองเป็นเกลือก้อนหนึ่ง 

แล้วเราตั้งใจไว้ว่า ในเวลาที่เหลือของชีวิตนี่

เราจะ พูดให้ดีขึ้น หรือว่าทำให้ท่านมีความสุข

เป็นตรงกันข้ามกับที่เคยทำให้ท่านเป็นทุกข์

 

แล้วมองไปเรื่อยๆ มองแบบเปรียบเทียบนะ

ทำไว้ในใจว่า บาปกรรมหรือว่าให้ความรู้สึกแย่ๆ ที่เราเคยก่อไว้

แล้วยังค้างคาอยู่นี่ ยังเป็นก้อนเกลือที่มีความเค็มอยู่แค่ไหน

 

ถ้ายังมีความเค็มอยู่ ความรู้สึกผิดจะยังไม่ไปไหน

แต่ถ้าหากว่าความรู้สึกในใจ ค่อยๆแปรไปเป็นดีขึ้น 

จากการตั้งจิตไว้ในทิศทางนี้ว่า เราจะเติมน้ำเข้าไปในใจของพ่อแม่

เราจะเติมน้ำเข้ามาชะล้าง ความรู้สึกที่สกปรก

ที่ไม่ดี ที่แย่ของตัวเอง ให้ค่อยๆ ละลายหายไป

 

ถ้าหากว่า ความดีที่เราทำ อยู่ในทิศทางที่จะเป็นน้ำ ชำระความสกปรก

หรือว่าเป็นน้ำสะอาด ชำระบาป

 

ความรู้สึกที่ใส ความรู้สึกที่สะอาด ความรู้สึกที่ดีขึ้นกับตัวเอง

จะส่งสัญญาณบอก ในรูปของความสุข

ในรูปของความรู้สึกดีกับตัวเอง ในรูปของความรู้สึกว่า

ที่เราทำมา ถูกทางแล้ว

 

เป็นความรู้สึกที่ มีความสกปรกมีมลทินติดใจอยู่

ให้พูดคำที่เป็นตรงกันข้าม 

 

จากเดิม ถ้าหากว่าเราพูดคำหยาบคาย

เราลองพูดให้มีคำสุภาพ ไพเราะ

ไม่ต้องแกล้งนะ คือแบบไม่ต้องแบบลิเก แต่เอาธรรมดาๆ

ในแบบที่เรารู้สึกเลยว่า ถ้าพูดนุ่มนวลแบบนี้ ใช้คำแบบนี้

ใช้สีหน้าสีตาแบบนี้ แล้วทำให้พ่อแม่มีความสุข

 

นี่คือคำถามข้อแรกนะครับ

 

ผู้ถาม : ไม่ใช่ว่าพูดตลอด แต่ว่าพูดตอนที่โมโห และกลั้นไม่ได้ค่ะ 

คือโมโหแล้วจะให้เราพูดดีๆ คือตรงกันข้ามกัน จะให้พูดดีๆ ในตอนที่โมโห เราทำไม่ได้ค่ะ

 

ดังตฤณ : ตรงนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ต้องฝึก

 

คำว่าฝึก ที่เราบอกว่าทำไม่ได้ ยากเย็น เป็นไปไม่ได้นี่แหละ

คือสิ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ชัดเจนที่สุด

 

คืออะไรที่เราเคยตั้งไว้ในใจว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

เราไม่สามารถต่อสู้กับ ความโมโหโกรธาของตัวเองได้นี่

ถ้าหากว่าเราตั้งไว้ในใจว่า นี่แหละที่เราจะใช้แก้ไข 

 

สิ่งที่เคยเป็นก้อนเกลือ เป็นรสเค็ม

เราจะเติมน้ำตาลเข้าไป เติมความหวานเข้าไป

แล้วการเติมเข้าไปนี่ การเปลี่ยนนี่

แน่นอนว่าจะต้องถูกปฏิเสธจากตัวเดิม

จะต้องถูกต่อต้านจากอัตตามานะ หรือว่าทิฏฐิแบบเก่าๆ ที่เราเคยชินมา

 

แต่ว่าถ้าเราตั้งไว้ในใจว่า อันนี้ ที่เราจะทำให้ความรู้สึกของตัวเราดีขึ้น

เหมือนมองออกนะ ว่าเป็นเกม

 

เกมล้างความเค็มของเกลือ ด้วยความหวาน ความสะอาด

ความจืดของน้ำใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่

 

ถ้าเรามองอย่างนี้ จะมีกำลังใจ จะมีแก่ใจที่จะสู้

 

ถ้าเราอยู่กับความรู้สึกว่า เราสู้ไม่ได้

เราก็จะอยู่กับความรู้สึกแย่ อย่างที่เคยเป็นมานี้ไปเรื่อยๆ

 

อันนี้คือประเด็น อันนี้คือพอยต์ที่พระพุทธเจ้าท่าน ถึงได้ตรัส

เปรียบเทียบระหว่างความเค็มของเกลือ กับความจืดของน้ำสะอาด

 

ถ้าไม่มีน้ำใหม่ ถ้าไม่มีใจใหม่ ที่ตั้งต้นจะต่อสู้กับความเค็มแบบเดิม

ในที่สุด เราก็จะรู้สึกว่าแพ้อยู่ร่ำไป

 

แต่ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่า จะต่อสู้แล้วเอาชนะตัวเก่าด้วยตัวใหม่ให้ได้

ตรงนี้แหละ ที่อัตตามานะจะค่อยๆ ถูกกัดกร่อน

หรือว่าถูกเจือจางลงไปนะครับ 

________________

 

เคยใช้คำหยาบคายกับพ่อแม่ มีวิธีแก้กรรมอย่างไร?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=0PfU7--FIt8

** IG ** 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น