วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

เจริญสติกับสมาธิ ต่างกันอย่างไร

ดังตฤณ : อธิบายตามลำดับของมรรคมีองค์แปดนะครับ สติมาก่อนสมาธินะ 

 

ตัวสติ คือการระลึกได้ ส่วนตัวสมาธิ เอาง่ายๆ เลย คือความรู้สึกที่เป็นปกติอยู่ อย่างถ้าหากว่า เรามองสภาพที่เป็นปกติของใจเรา ว่าเป็นอย่างไร เราพบว่าฟุ้งซ่านง่าย กระจัดกระจายเป๋ง่าย ถูกอะไรมาล่อใจให้กระโดดไปหากระโดดไปงับ กระโดดไปเกาะ กระโดดไปยึด ง่ายมาก เป๋ง่ายมาก

 

นี่คือปกติของคนธรรมดาทั่วไป ปกติของจิตที่เป็นภาวะธรรมดาทั่วไป

 

ซึ่งหมายความว่าคนทั่วไป จิตใจพร้อมจะซัดส่าย มีจิตที่อ่อนไหว มีจิตที่เคลื่อนจากสภาพเดิมได้ง่าย อย่างตอนนี้เชื่อว่าตัวเองมีตัวตนนะ ก็ยึดอยู่อย่างนั้น ก็รู้สึกอยู่อย่างนั้น คงเส้นคงวา คงที่ แล้วก็เชื่อว่าคนเราเกิดมาไม่ต้องคิดอะไรมาก เสพสุขไปวันๆ บางคนนี่บอกเลยว่ามี sex ไปเรื่อยๆอะไรแบบนี้นะ ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก เกิดมาเพื่อจะมี sex

 

บางคนคิดอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้จริงๆ ก็เลยหมกมุ่นอยู่แค่เรื่องนั้นเรื่องเดียวนะ 

 

ถามว่าจิตที่หมกมุ่น อยู่กับเรื่องบันเทิงหรือว่าเรื่องทางเพศอย่างเดียว เป็นจิตที่ปกติเป็นอย่างไร เป็นจิตที่พร้อมจะคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องเนื้อหนัง เกี่ยวกับเรื่องของการบันเทิง เกี่ยวกับเรื่องของความสุข เกี่ยวกับเรื่องของความสนุก ความตื่นเต้น

 

ซึ่งลักษณะจิต จะกระโดดไปกระโดดมา อยากลิ้มรสหลายรส ไม่ชอบรสชาติอะไรที่จำเจนะ ลักษณะจิตจะเป็นอย่างนี้ พร้อมกระโดดพร้อมที่จะเปลี่ยนไปหาสีสันอื่น ที่ไม่ซ้ำซาก ที่ไม่จำเจ

 

แต่ถ้าหากว่า จิตเป็นสมาธิ คือถ้าเรามีสติอยู่กับหลักธรรม ที่จะเห็นสภาพทางกายอันเป็นปัจจุบัน สภาพทางใจอันเป็นปัจจุบัน โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวของเรา

 

แต่รู้สึกว่ารสชาติของวิเวก จิตที่มีความวิเวก แล้วก็ปราศจากการเสพสุข ปราศจากกาม ดีกว่า สะอาดกว่า สว่างกว่า แล้วรู้สึกติดใจ เข้ามาหาความจริงภายในบ่อยๆ จนกระทั่งมีนิมิต ที่ติดอยู่จริงๆ ในจิต คือว่าเป็นนิมิตแสดงความไม่เที่ยง จะคุ้น จะมีความชำนาญนะ

 

อย่างพอกายนั่งอยู่ก็มีความคุ้นว่า นิมิตของกาย ที่หายใจเข้าออก มีซี่โครงบานออกมาแล้วหุบเข้าไป หรือว่ามีท่านั่ง คอตั้งหลังตรง มีแขนมีขาอยู่ในสภาพนี้ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยน ต้องเคลื่อน หรือมีลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา

 

ติดใจในนิมิต ที่แสดงความไม่เหมือนเดิม ไม่เท่าเดิม ภายในขอบเขตของกายนี้ หรือว่าสภาพทางใจ ฟุ้งซ่าน แล้วก็กลับสงบ หรือมีอาการสะเปะสะปะ อยากจะกระโดดไปทางโน้นที อยากจะกระโดดทางนี้ที แล้วเราเห็นว่าสภาพที่จิตอยากจะพุ่งไปทางโน้น พุ่งไปทางนี้ เป็นนิมิตชนิดหนึ่ง เป็นนิมิตของนามธรรมที่ พร้อมจะเทออกไป ไหลหรือว่ารั่วออกไปจากสภาพที่นิ่ง ที่ตั้งตรง

 

แล้วเกิดสติ ที่มีความถี่ มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าทุกครั้งที่ใจจะเป๋ออกไปแล้วเรามีสติ ใจจะกลับเข้าที่ เห็นนิมิตตรงนี้นี่ อย่างแจ่มชัดต่อเนื่อง เกิดกำลัง จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าเราแค่มีสติไหวทัน ก็จะกลับเข้าที่ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมาแบบหนึ่ง แบบที่เห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวง ในภาวะของกายนี้ก็ดี หรือภาวะของใจนี้ก็ดี สักแต่แสดงความพร้อมจะเคลื่อนไป เปลี่ยนไป

 

ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่กับที่ คงเส้นคงวา สตินั้นจะทำให้เกิดจิตที่เป็นปกติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง คือรู้สึกว่า นิ่งอยู่ก็ได้ ใสอยู่ก็ได้ เบาอยู่ก็ได้ สบายๆ อยู่ก็ได้ ไม่เห็นต้องเคลื่อนไปไหน

 

ตัวนี้แหละ ที่เป็นสมาธิในแบบของพุทธนะ คือจิตไม่เคลื่อน จิตมีความตั้งมั่น อยู่กับการรู้ การเห็น ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง

 

พูดง่ายๆ สติ เป็นตัวที่ทำให้เราระลึกได้

ส่วนสมาธิ เป็นสภาพของจิต

ที่เป็นผลมาจากการมีสติที่เจริญแล้วนะครับ 

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=2rUMspqEyEs

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น