ผู้ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าเราเหมาะกับการฝึกสมาธิ
หรือปฏิบัติแบบไหน ที่จะไปได้ตรงกับจริตของเรา
ดังตฤณ : ในยุคของเรานะเป็นยุคที่พ้นพระพุทธเจ้ามาแล้ว
พ้นพุทธกาลมาแล้ว
สมัยพุทธกาลนี่ไม่มีคำถามนี้นะ คือ
แม้แต่เรื่องจริตหก .. ราคะจริต วิตกจริต อะไรต่อมิอะไรต่างๆนี่
ไปสำรวจดูในพระไตรปิฎกนะ มีแค่คนอื่นพูดถึงว่า .. พระพุทธเจ้าย่อมรู้ว่า คนนี้เป็นจริตแบบนั้น
คนนี้เป็นจริตแบบนี้ แล้วพอพูดเรื่องจริตหกนี่
พูดแบบฟั่นเฝือมาตั้งแต่สมัยสมัยก่อนแล้ว
คือยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้าท่านบอก ถ้าท่านรู้ว่าใครมีราคะมากๆ
ท่านก็จะให้เจริญอสุภกรรมฐาน แต่คัมภีร์รุ่นหลัง ที่ปัจจุบันนี้ยึดกันมากเลย ว่าถูกต้อง
ว่าต้องเอาตามนี่นะ พูดเป็นตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้าเลย บอกว่าคนที่มีราคะจริต ไม่ควรที่จะเจริญอสุภกรรมฐาน
แต่ควรจะเจริญกรรมฐานอะไรสวยๆงามๆ
นี่เห็นไหม คือพอเรามาผูกกรรมฐานไว้กับจริตนี่
.. ฟั่นเฝือ แล้วขึ้นอยู่กับยุคสมัย ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน
ทีนี้ ถ้าถามว่าสมัยพุทธกาลนี่เขาทำกันอย่างไร
ในเรื่องของกรรมฐาน
เขาทำกันตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป๊ะเลย
พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ..
ท่านให้เอาอานาปานสติ เป็นเครื่องตั้งของกรรมฐานทั้งปวง
ไม่ว่าจะอสุภกรรมฐาน ไม่ว่าจะเจริญกสิณ ไม่ว่าจะพิจารณาอะไรอยู่ก็ตาม
เอาอานาปานสติ เป็นเครื่องตั้งของสติ
นี่! ตรงนี้แหละ แล้วสมัยพุทธกาลไม่มีใครกล้าเถียงนะ
เพราะการถ่ายทอดธรรมะในสมัยพุทธกาล ในยุคพุทธกาล ไม่มีการคิดเอง มีแต่พูดตามพระพุทธเจ้า
ที่เรียกว่ามุขปาฐะ คือมาทวนคำพูดที่พระพุทธเจ้าสอน
เสร็จแล้วพอไปตามสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ จะเป็นพระสารีบุตร
พระโมคัลลา พระอานนท์หรือว่า ใครก็ตามที่เป็นธรรมกถึก คือผู้ถ่ายทอดธรรม คือผู้สอนธรรมตามพระพุทธเจ้า
ก็จะมีอุบายเฉพาะของท่านเอง ซึ่งไม่หนีไปจากหลักที่ตั้ง คืออานาปานสติ
อย่างครูบาอาจารย์ยุคที่พระพุทธเจ้ายังอยู่นี่
จะพูดเหมือนกับพระพุทธเจ้ากันหมด บอกว่าอานาปานสติ เป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ตั้ง ที่จะให้รู้เข้ามาทั่วทั้งกายทั้งใจ
โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ท่านไม่มีการมาพูดเลยนะ กรรมฐานกองไหน
แต่ทีนี้จะมีอย่างนี้ บางคนอาจยังไม่พร้อมจะเจริญอสุภกรรมฐาน
เพราะว่าสมาธิยังไม่ถึง ท่านก็จะไม่ให้ดันทุรังทำ อสุภกรรมฐาน เพราะอาจจะเกิดโทษ อย่างเช่นยุคหนึ่ง
มีการพิจารณาอสุภกรรมฐานกัน จนกระทั่งเกิดความรังเกียจกาย แล้วก็จ้างวานกันเองให้ฆ่ากัน
หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย หนีความน่ารังเกียจ น่าอึดอัดของกายอันโสโครกนี้
พระพุทธเจ้าก็เลยต้องกลับมาสอนภิกษุกลุ่มนั้นใหม่
บอกว่าให้เจริญอานาปานสติ จนเกิดความสุขขึ้นมาก่อน มีความสุขแล้วค่อยพิจารณา ให้เห็นกายด้วยความเป็นอสุภะ
นี่! อันนี้ถึงเป็นเรื่องของความพร้อมว่า
เราควรทำกรรมฐานกองไหนในตอนนี้ และควรทำกรรมฐานกองไหน เมื่อพร้อมมากขึ้น อะไรอย่างนี้นะ
ไม่ใช่เรื่องของที่เรามาพูดกันทุกวันนี้ว่า ควรจะมีจริตเกี่ยวกับ
ทางศรัทธาทางปัญญา หรือว่าทางราคะ ถึงจะไปเจริญเมตตาอะไรแบบนั้น
อันนี้ เป็นมุมมองที่ผิดพลาดในยุคของเรานะ
แล้วยุคของเราก็เลยค่อนข้างจะสะเปะสะปะ เป็นไปตามอัตโนมัติ เป็นไปตามใจของคนสอน
ทีนี้ อย่างที่ผมพูดนี่ ไม่ได้พูดออกมาจากความเห็นส่วนตัว
แต่พูดออกมาจากตามเนื้อผ้าเลยนะ คำว่าจริตหกนี่ ที่มีมานานนี่นะ ผมบอกเลย ลองไปหาดูในพระไตรปิฎก
ไม่มีนะ แบบกรรมฐานกองไหนควรจะอยู่กับใคร
มีแต่คนพูดถึงว่า พระพุทธเจ้าย่อมรู้ ว่าคนนี้เป็นวิตกจริต
คนนี้มีราคะจริต แล้วก็เลยให้กรรมฐานเป็นอสุภกรรมฐานอะไรแบบนี้
เป็นมุมมองของคนอื่น ที่พูดถึงพระพุทธเจ้า แต่ตัวพระองค์ท่านเองนี่ท่าน
ไม่เคยพูดถึงตรงนี้เลย ท่านมีแต่พูดตามเนื้อผ้าว่า สติปัฎฐานสี่ เริ่มต้นอย่างนี้ อานาปานสตินะ
แล้วก็ต่อยอดเป็นการรู้อิริยาบถ คือพอรู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง ก็จะรู้อิริยาบถไปด้วย
พอเรารู้ว่าเราจะหายใจอย่างไรให้รู้อิริยาบถได้
ความมีสติ อยู่กับอิริยาบถปัจจุบัน ก็จะทำให้พร้อมที่จะรู้ไปด้วยว่า ที่กำลังนั่งอยู่
นั่งอย่างเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร่างกายผ่อนคลาย หรือว่ามีความเกร็งที่ส่วนไหน
หรือถ้าหากว่าเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เราเห็นเลยว่าความฟุ้งซ่าน
มีผล มีส่วนสัมพันธ์กับสภาวะทางกายอย่างไร
ภาวะทางกาย ถ้าฟุ้งซ่านนี่จะพร้อมก้มหน้า
จะมีอาการขมวดคิ้วหมกมุ่น จะมีอาการที่ตึงๆ ที่ขมับ หรือว่ามีความเกร็งที่ฝ่ามือฝ่าเท้า
ตรงนี่จะพร้อมดู ไปเป็นขั้นๆ
อันนี้ ผมพูดถึงสติปัฏฐาน ไม่ได้พูดถึงว่า .. อย่างที่คุณถามนี่
อาจออกแนวว่า เราควรจะทำกสิณ หรือว่าควรจะบริกรรมพุทโธ หรือควรจะดูลมหายใจอะไรแบบนี้
ที่ผมพูดนี่ พูดตามเนื้อผ้าเลยว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้มีการแยกไว้นะ
ว่า คนนั้นควรจะไปทำกสิณ เพื่อต่อยอดจากชาติก่อน คนนี้ควรจะไปเจริญเมตตานะ
ทุกคน ควรเจริญเมตตา ทุกคน ถ้ามีสมาธิถึงจุดหนึ่งควรทำกสิณ
กสิณในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกสิณวงกลม มานั่งเพ่งดูเป็นดวงๆ
นะ
อย่างเราหายใจเข้าออกนี่ ก็เป็นกสิณลมได้ เมื่อเกิดสมาธิขั้นอุปจาระขึ้นไปจะเห็นสายลมหายใจ
เป็นสายชัดเจน นั่นก็เป็นนิมิตชนิดหนึ่ง เป็นกสิณชนิดหนึ่ง คือกสิณลมได้
___________________
ถาม : จะรู้ได้อย่างไรว่าจริตเราเหมาะกับการฝึกเจริญสติด้วยวิธีไหน?
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์
วันที่ 3 เมษายน 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=ZGPIzjVItq8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น