วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

ช่วยอธิบายอริยสัจ 4 และ มรรคมีองค์ 8 อย่างละเอียด

ผู้ถาม : อยากจะขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายเกี่ยวกับพวกอริยสัจ 4 .. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และมรรคมีองค์ 8 เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติค่ะ เหมือนถ้าเราเข้าใจ ก็จะได้รู้แค่ว่านี่คือวิธีการวางใจให้ถูกต้องตามแนวทางค่ะ

 

ดังตฤณ : อริยสัจ 4 แล้วก็มรรคมีองค์ 8 นี่ ถ้าพูดกัน ต้องพูดกันเป็นวันๆนะ แต่เดี๋ยวจะสรุปง่ายๆเลยก็คือว่า อริยสัจ 4 แล้วก็มรรคมีองค์ 8 นี่อันเดียวกัน เพราะมรรคมีองค์ 8 ก็เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ 4 นะครับ อันนี้เอาแบบสั้นๆอย่างนี้ก่อน

 

ทีนี้ เรามาพูดกันว่า เพื่อที่จะเข้าใจ และจดจำ คำว่าอริยสัจ 4 อย่างขึ้นใจ  อย่าจำเป็นคำว่าอริยสัจ 4 แต่จำเป็นภาวะทางกายนี้ ภาวะทางใจนี้

 

อันดับแรกเลยนะ นี่ตรงนี้คีย์เวิร์ดอันดับแรกเลย อย่าจำเป็นอริยสัจ 4 ให้จำเป็นกายนี้ใจนี้

 

พอนึกถึงกายนี้หมายความว่าอย่างไร อิริยาบถกำลังตั้งอยู่ในท่านั่ง นี่อย่างตอนนี้เรากำลังนั่งกันอยู่ ส่วนใหญ่ดูรายการไม่ค่อยมียืน บางคนอาจจะทำอะไรอย่างอื่นไปด้วย แต่ว่าที่เราคุยกันอยู่อย่างนี้ต้องนั่งอยู่แล้ว

 

การนั่งนี่นะ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นผู้นั่งอยู่ นี่อย่างนี้ไปทำความเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4ไม่ได้นะ ยากนะ เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ยาก จะเข้าถึงได้แค่ความจำ

 

แต่ถ้าเรานั่งอยู่ รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ หลังตรงหรือว่าหลังงอนะ แล้วใจของเราที่กำลังอยู่ในท่านั่งนี้ ใจที่กำลังครองท่านั่งนี้อยู่ เป็นใจที่มีความอึดอัดหรือว่ามีความสบาย มีความรู้สึกว่าโปร่งโล่ง หรือว่ามีความรู้สึกที่ทึบๆ หนาๆ

 

ถ้าภาวะที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ปรากฏอยู่กับใจของคุณจริงๆ ตรงนี้แหละเวลาพูดเรื่องอริยสัจ 4 จะมีความเข้าใจออกมาจากฐานที่ตั้ง ของสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่ากายใจนี้เป็นทุกข์

 

อันดับแรกของอริยสัจ 4 นี่ ยากขนาดไหน สำหรับคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่หวังว่า ตัวเองนี่จะมีชื่อเสียง มีหน้าตา มีฐานะ มีอำนาจบารมีอะไรทั้งหลาย ยากขนาดไหนที่จะเข้าใจว่า กายนี้ใจนี้ที่กำลังนั่งอยู่อย่างนี้นี่ เป็นทุกข์

 

จนตายบางทีเป็นไปไม่ได้เลยนะ ที่เราจะยอมรับ แต่ถ้าหากว่าเราค่อยๆ สาว ค่อยๆ อาศัยความเป็นปัจจุบันของกาย อาศัยความเป็นปัจจุบันของใจนี้ ในขณะนี้ มาพิจารณาดูว่ามีส่วนไหนของร่างกายบ้าง ที่คงอยู่ในสภาพนั้นได้ เรื่อยๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยน

 

อย่างหลังตรงอยู่นี่ ถ้าตรงสู้แรงโน้มถ่วงของโลกไปสักพักหนึ่ง จะอยากงอ อยากพัก หรือว่าอยู่ในท่านั่งไปนานๆ เดี๋ยวก็จะอยากขยับ อยากจะยืดเส้นยืดสาย

 

ตัวคำว่า กายเป็นทุกข์ จะเริ่มเห็นขึ้นมารางๆ คือยังไม่ต้องไปนึกถึงความตาย ยังไม่นึกถึงอาการเจ็บป่วย ไม่ต้องนึกถึงว่าวันหนึ่ง เราจะเหลือแต่กองเถ้ากระดูก แต่ว่าเอาตอนนี้แหละ ที่กำลังรู้สึกว่าอยู่ในท่านั่ง ท่าหลังตรงหรือหลังงออยู่นี่แหละ

 

ดูว่า ร่างกายทนอยู่ ทนสู้แรงโน้มถ่วงของโลกได้นานแค่ไหน ก่อนที่กล้ามเนื้อจะค่อยๆ เกร็งขึ้นมา จะมีความอึดอัดขึ้นมาที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไล่จากเท้าขึ้นมาหามือ ไล่จากมือขึ้นมาที่ใบหน้า ต้องมีส่วนปรากฏของความ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ด้วยการแสดงความเกร็งของกล้ามเนื้อ ขึ้นมา

 

นี่สภาพร่างกายที่เห็นได้ชัดว่า แท้ๆ แล้ว โดยเนื้อแท้มันเป็นทุกข์ ต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่ ทนรักษาสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ นั่นเพราะว่าไม่มีตัวสภาพใดสภาพหนึ่ง ที่เป็นตัวเป็นตนถาวร

 

นี่ตัวนี้เราเริ่มเข้าใจคำว่า กายกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา

 

แล้วใจเป็นทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าเราพร้อมที่จะดูว่า ในสภาพทางกายที่กำลังปรุงแต่งอาการทางใจอยู่นี่ สภาพทางกายที่กำลังนั่งอยู่ กำลังปรุงแต่งจิตใจ ให้รู้สึกว่าร่างกายผ่อนพักผ่อนคลายสบายแค่ไหน ในที่สุดนี่ก็ต้องปรุงแต่งไปเป็นอื่น ด้วยความทุกข์ของร่างกายนั่นแหละ ด้วยความทนอยู่ในสภาพเดิมของร่างกายไม่ได้ ก็จะทำให้จิตนี่ สบายอยู่ตลอดไปไม่ได้เช่นกัน

 

เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็เหนื่อย เดี๋ยวก็อยากนอน เดี๋ยวก็อยากที่จะลุกขึ้นไปทำโน่นทำนี่ เอากิเลสทางตา กิเลสทางหูมากระแทกใจ ให้เกิดความสนุกให้เกิดความตื่นเต้น

 

แล้วใจนี่ตื่นเต้นไปพักหนึ่ง เดี๋ยวก็เบื่อ นี่ลักษณะที่ฟ้องตัวเองอยู่ชัดๆ ว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นี่แหละ ตัวนี้ที่เราจะเริ่มรู้ความทุกข์ขึ้นมา

 

แต่ทุกขสัจ หรือว่าข้อแรกของอริยสัจ 4 นี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงแค่ความรู้สึกปวดเนื้อปวดตัวเท่านี้ ท่านหมายรวมไปถึง ภาพใหญ่ที่สุดนี่คือการที่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย โดยที่เราไม่สามารถห้ามได้ ไม่สามารถยื้อไว้ได้ เวลาที่จะต้องถึงเวลาเจ็บ เวลาที่ถึงเวลาแก่ เวลาที่จะต้องตายไป

 

เสร็จแล้ว ตรงนี้ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ครบถ้วนนะ คำว่าทุกขสัจนี่ คือเราต้องปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเกิดสมาธิถึงจุดหนึ่ง ที่มองเห็นได้ว่า สภาพร่างกายที่กำลังตั้งอยู่ในอิริยาบถนี้นี่ เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราเห็น

 

ภาพรวมทั้งหมดจริงๆ ของมันก็คือ เคยเป็นหยดน้ำหยดหนึ่ง แล้วก่อตัวขึ้นมา เป็นทารก แล้วก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่หง่อมลง เสร็จแล้ว สิ่งที่ประชุมเป็นกายอยู่นี่ โครงกระดูกกับเลือดเนื้อ มีตับไตไส้พุง มีน้ำเลือดน้ำหนอง วันหนึ่งจะต้องกระจายหายไป ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

 

พระพุทธเจ้าเลยให้เจริญสติ  ถึงขั้นที่ให้เห็นว่ากายนี้ที่ก่อรูปขึ้นมา ก่อรูปขึ้นมาจากเหตุปัจจัย มีพ่อแม่ให้เกิด มีกรรมส่งมาเข้าท้อง จะต้องโตขึ้น มีรูปมีร่างที่ขยายใหญ่ขึ้น แล้วรูปที่ขยายใหญ่นั้น จะต้องหง่อมลงแล้วกระจัดกระจายแยกย้ายหายไป

 

อันนี้ ต้องในระดับที่เห็นได้ด้วยใจ ที่เป็นสมาธิสูงขึ้นไปในอีกระดับหนึ่งหลังจากที่เราเจริญสติไปแล้ว ถึงจะเห็นจริงๆว่า กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ คือจะเอาคำว่าบุคคลออกไป เอาคำว่ายุติธรรมออกไป เอาคำว่าดี เอาคำว่าชั่วออกไป เหลือแต่ภาวะที่แสดงตัว โดยความเป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่ง ก้อนทุกข์ ที่ก่อรูปขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัย และเมื่อเหตุปัจจัยนี่อ่อนกำลังลงหรือว่าหมดแรงส่ง ก็ต้องสลายตัว

 

ตอนที่เราเห็นอย่างชัดเจนนะ จากที่เราเจริญสติ ถึงขั้นที่เห็นกายทั่วพร้อมได้ แล้วก็เห็นว่าที่กำลังอยู่ในอิริยาบถนี้นี่ กำลังเป็นที่ตั้ง กำลังอยู่ในขณะช่วงของความทุกข์ ที่เราเรียกกันว่าทุกข์ในชาตินี้ ทุกข์ในชีวิตนี้ ด้วยรูปพรรณสัณฐานแบบนี้ ด้วยสภาพจิตใจจิตสำนึกแบบนี้ ความคิดอ่านแบบนี้ เป็นของแป๊บหนึ่ง ที่อยู่ในมหาสมุทรของรูปนาม ที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับมานับไม่ถ้วนเป็นอนันตชาติ

 

พอเห็นได้อย่างนี้ ถึงจะถอนจากความรู้สึกว่า เราหลงเหลือเกิน เรายึดเหลือเกิน กับความเป็นชีวิตของเรา หรือว่าเรามีตัวอยู่แน่ๆ

 

ตรงนี้นี่ เข้าใจทุกขสัจอย่างเดียวนี่ จะมองเห็นไปนะว่า ถ้าเรายังปล่อยให้เกิดเหตุปัจจัยของความทุกข์อยู่ ก็ต้องเกิดอีก

 

ถามว่าปัจจัยให้เกิดอีกนี่คืออะไร พระพุทธเจ้าชี้ไว้ให้สังเกตเข้ามาดู ความเข้าใจผิด ความอยากได้อยากมี อยากยึดไว้ หรือที่เรียกว่า ตัณหา

 

ตัณหา เปรียบเสมือนยางพืช ถ้าคิดง่ายๆ เหมือนกาวเหนียวๆ ที่ยึดเราไว้กับโลก ที่ยึดเราติดกับสังสารวัฏ ที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด

 

ตัวตัณหา ตัวยางเหนียว ตัวกาว ที่ยึดเราไว้กับโลก ที่ยึดเราไว้กับความรู้สึกว่ามีเราอยู่แน่ๆ แล้วอยากเอาอะไรดีๆ ให้เรา อยากเอาความบันเทิงให้เราอยากเอาหน้าตา เกียรติยศชื่อเสียง บ้านช่องรถยนต์อะไรต่างๆ ให้เรา

 

เหล่านี้แหละที่เป็นเหตุปัจจัยของการต้องเกิดอีก

 

คือพอเราเห็นฟากของความทุกข์ แล้วก็ฟากของเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ที่จะต้องมีกายใจนี้อีก พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้เห็นว่า ยังมีธรรมชาติอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ ธรรมชาติอย่างนั้นเรียกว่า นิพพาน

 

หรือถ้าในอริยสัจน์ 4 ท่านเรียกเป็น นิโรธ คือความดับของทุกข์ ความดับสนิทไม่เหลือเชื้อให้เกิดความทุกข์อีก ไม่เหลือเหตุปัจจัยใดๆ ให้มีทุกข์ขึ้นมาได้อีก

 

คำว่านิโรธ หรือว่านิพพานนี่ หรือจะเรียกอะไรก็ตามนะ พูดโดยรวบรัดที่สุดก็คือว่า ความไม่ต้องมีภาวะอันเป็นทุกข์อย่างนี้ขึ้นมาอีก แล้วก็เอาความไม่ต้องมีภาวะแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าตัวตนเราสูญไป หรือว่าอะไรอย่างหนึ่งหายไปจากจักรวาลนะ

 

จริงๆ แล้ว ทั้งหลายทั้งปวงนี่ ถ้าเราเข้าใจธรรมะจริงๆ เข้าใจธรรมะแห่งการดับ หรือที่เรียกว่านิโรธ ที่เป็นนิโรธสัจ หรือว่าความจริงเกี่ยวกับการดับทุกข์นี่ ก็จะมองเห็นความจริงอย่างหนึ่งก่อน ก็คือว่า ที่นึกว่าเรามี ที่นึกว่าเราเป็นอยู่อย่างนี้นี่ .. ไม่มีมาตั้งแต่แรก เป็นความเข้าใจผิดของจิต ที่สืบเนื่องมาเรื่อยๆ ชั่วกัปชั่วกัลป์

 

 อย่างที่มี พระเถรี ภิกษุณีในสมัยพุทธกาลท่านหนึ่ง ท่านเคยพูดไว้ดีมากเลย แล้วบางคนนึกว่าเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า .. ไม่ใช่นะ

 

ท่านพูดว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป .. นี่เป็นมุมมองของพระอรหันต์นะ ที่มองออกมาจากนิพพาน

 

คือไม่ใช่มองออกมาจากความคิด มองออกมาจากความรู้สึกในตัวตนอย่างนี้นะ

 

ท่านมองว่า พระอรหันต์นี่ท่านมองว่า ที่นึกว่ามีตัวตน ก็เป็นแค่ความปรุงแต่งของจิตชั่วคราว อย่างตอนนี้เรานึกว่ามีตัวเราอยู่แน่ๆ .. เป็นการประกอบกัน ร่วมมือกัน ของภาวะทางกายภาวะทางใจ ที่จะปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่ความสุขแบบนี้ หรือความทุกข์แบบนี้ มีตัวตนของใครคนหนึ่ง กำลังเป็นสุขกำลังเป็นทุกข์อยู่

 

แต่ที่แท้แล้ว ความปรุงแต่งแบบนี้ แป๊บเดียวนี่ก็สลายไปนะ พอเราคุยเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวตน ที่ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เราก็จะเพลินหลงไปมอง หรือว่าเกิดความรู้สึกไปอีกแบบหนึ่ง ในเรื่องนั้นๆ

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามาพูดกันเรื่องว่า ตอนนี้เพื่อนบ้านกำลังเดือดร้อน กำลังมีสงครามกลางเมือง หรือว่าคนทั่วโลกกำลังติดโควิดกัน

 

นี่! ใจของเรานะ พอออกนอกกรอบธรรมะไปปุ๊บ จะมีตัวตนขึ้นมาเต็มเหนี่ยวเลย เป็นตัวตนที่ไม่น่าสงสัย เป็นตัวตนที่ไม่น่ารู้สึกระแวงแม้แต่นิดเดียวว่าจะมีหรือไม่มี .. ต้องมีอยู่แน่ๆ ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดจากการไปวิตกเรื่องของคนอื่น ตัวตนของคนอื่น ก็ได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง

 

ไม่ได้วิตกเกี่ยวกับตัวเองแล้ว แต่วิตกเรื่องตัวตนของคนอื่น ก็เป็นความรู้สึกปรุงแต่งทางจิต ที่มีตัวมีตนโดยอาศัยคนอื่นผู้อื่นเป็นที่ตั้ง

 

แต่พอมายึดเรื่องของตัวเรา จะมีกินไหม จะมีใช้หนี้ไหม จะมีธรรมะในแบบที่จะทำให้พ้นทุกข์ไปไหม พอห่วงเรื่องของตัวเองความรู้สึกก็เข้ามาปรุงแต่งจิตอีกแบบหนึ่ง เป็นคนละตัวตน แต่เป็นความยึดมั่นเหมือนกัน ยึดมั่นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เราเห็นว่ามีชีวิต มันคือตัว มันคือตน ไม่ตัวตนของเราก็ตัวตนของเขา เหล่านี้นี่ จะเกิดขึ้นแป๊บหนึ่ง พอเปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนโฟกัส ก็จะหายไป แล้วกลายไปเป็นยึดเรื่องอื่นแทน

 

นี่ ตัวนี้ที่ท่านกล่าวไว้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เพราะว่าตัวจริงๆ นี่ที่เป็นสภาพตัวสภาพตน ที่เรานึกว่ามีอยู่นี่ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามโฟกัส ตามการยึดมั่นถือมั่นของจิต

 

อย่างพอเราตายไปนะจำอะไรไม่ได้เลย ตัวเดิมก็หายไปแล้ว สูญสลายไปแบบเอาคืนกลับมาไม่ได้ กลายมาเป็นตัวใหม่ ยึดตัวใหม่ ที่ให้มันเกิดขึ้นมาแทนที่อีก ตัวใหม่ที่เกิดขึ้นตามกรรม ก็ถูกยึดไว้แทน ว่าเป็นตัวตนของฉัน

 

สรุปแล้วนี่ ที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นภาวะยึดมั่นถือมั่นชั่วคราว เป็นภาวะทางกายภาวะทางใจ ที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วก็ต้องหายไปเป็นขณะๆ นี่แหละที่เป็นมุมมองของพระอรหันต์ท่านว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

 

ทีนี้พอเราตัดต้นเหตุ คือฆ่าตัณหาได้ ไม่มีเหตุให้เกิดอีก ตรงนี้แหละที่เข้าสู่การดับ หรือว่าที่เรียกว่า นิโรธอันเป็นบรมสุข และการดับนั้นไม่ใช่การไม่มีอะไรเลย แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีความสว่างโพลงอยู่ตลอดเวลา และให้คิดถึงด้วยความเป็นบรมสุข ไม่มีรูป ไม่มีที่ตั้งของจิต ไม่มีที่ตั้งของตัวความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์

 

พูดง่ายๆ ว่าไม่มีการเกิดมาเป็นทุกข์ แล้วก็ตายไปสู่ความทุกข์ในรูปแบบอื่นอีก ไม่มีการมาไม่มีการไป อันนั้นแหละที่เรียกว่านิโรธสัจ หรือว่าเป็นอริยสัจขั้นที่สาม

 

ส่วนปฏิปทาที่จะทำให้ถึง ที่เรียกว่ามรรคสัจ หรือว่ามรรคมีองค์ 8 ก็คือการเข้ามารู้กายใจนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ

 

ถึงได้บอกว่าถ้าตอนนี้ เรามีความรับรู้เข้ามาทางกายนะว่า นั่งอยู่ในท่าแบบนี้มีความรู้สึกแบบนี้อยู่ นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ที่จะทำความเข้าใจอริยสัจ 4 ทั้งหมด เพราะเวลาที่เราพูดถึงมรรคสัจ หรือว่าวิถีทางการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เราก็พูดเรื่องกายนี้ใจนี้ที่กำลังอยู่นี่แหละ ว่าทำอย่างไรเราถึงจะมองให้เกิดความกระจ่างแจ้งไปถึงจิต

 

จิต เกิดความกระจ่างเต็มดวงขึ้นแบบถึงขั้นเป็นฌาน รับรู้ขึ้นมาในแบบที่จิตนี่แปรรูปเป็น ลูกไฟล้างผลาญกิเลส ประหารกิเลส หรือว่าตัดทำลายตัณหาอันเป็นปัจจัยการเกิดนั้นได้

 

อย่างถ้านั่งอยู่ตอนนี้ แล้วเราถามตัวเองงงๆ ว่า เอ๊ะ จะปฏิบัติอย่างไรให้พ้นทุกข์ หรือว่าทำอย่างไรให้ตัดความรู้สึกในตัวตน ในกายใจนี้ออกไปได้ ถ้าเรายังงงๆ อยู่นะ แสดงว่าเรายังจับทางไม่ถูก

 

แต่ถ้าหากว่าเรามีความขึ้นใจว่า กายนี้ใจนี้ที่กำลังตั้งอยู่ในท่านั่งแบบนี้ ที่กำลังคิดอ่านแบบนี้ รู้สึกอยู่แบบนี้ มีจุดสังเกตไหมว่า ตรงไหนที่กำลังแสดงความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อันนี้แหละที่เราจะเห็นค่า ว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัส คะยั้นคะยอนักหนาว่าให้เจริญอานาปานสติให้ดี

 

พระพุทธเจ้าพูดคำนี้เลยนะ บอกใส่ใจอานาปานสติให้ดี มนสิการไว้คือทำไว้ในใจ ว่าที่กำลังตั้งอยู่เป็นตัวเป็นตน เป็นที่ยึด เป็นที่เกาะของอุปาทานนี้นี่ ในอิริยาบถนี้ในความรู้สึกนึกคิดแบบนี้นี่ มีศูนย์กลางสติอยู่ที่ไหน

 

ดูง่ายๆ หายงงแน่ๆ .. กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก กำลังหลังงอ หรือหลังตรง

 

พอเราถามตัวเองแล้วได้คำตอบ เป็นภาวะทางปัจจุบัน นั่นแหละคือจุดเริ่มต้น ที่จะเห็นภาวะทางกายภาวะทางใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เพื่อที่จิตจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าที่มากับลมหายใจแต่ละลมหายใจ คือภาวะทางกายภาวะทางใจ ที่แสดงความไม่เหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา

 

ดูไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตตั้งมั่น นั่นแหละ.. ตัวนี้ที่เป็นมรรคสัจ คือวิถีทางที่จะทิ้งอุปาทานในกายในใจ

 

คำว่าอริยสัจ 4 ให้ดูง่ายๆ เลยว่าเรามีสิทธิ์จะเข้าใจจริงๆ ไหม ก็คือตั้งคำถามตัวเอง อันดับแรกเลย รู้ไหมว่าตอนนี้อยู่ในท่าไหน หลังตรงหรือหลังงอ หายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ ด้วยความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์

 

นี่ถ้าหากว่าเรามีตัวตั้งนี้ขึ้นใจ แล้วก็พร้อมที่จะมีสติเข้ามา ที่ภาวะอันเป็นปัจจุบันของกายของใจนี้ การศึกษาธรรมของเรา จะลาดลึกลงไปเรื่อยๆเพราะว่าเราตั้งอยู่กับเบสิคที่สุดของธรรมะ ตั้งอยู่กับหัวใจของอริยสัจ 4 ก็คือภาวะที่เป็นปัจจุบันที่มีอยู่จริงของเหล่านี้เองนะครับ

_________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 3 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=z-7ci6fD_PA

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น