วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

โยนิโสมนสิการ แปลว่าอะไรคะ?

 ผู้ร่วมรายการ : วันนี้ได้ยินคุณดังตฤณพูดถึงคำว่า โยนิโสมนสิการ เวลาได้ยินศัพท์อย่างนี้จะไม่ค่อยเข้าใจค่ะ

ดังตฤณ : โดยความหมายคือการพิจารณาโดยแยบคาย 

ตั้งต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จิตของมนุษย์ทั่วไปมันยังไม่ได้คิดอะไรเลย เวลาที่เกิดภาวะอะไรขึ้นมา เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาในชีวิตนะครับ มันจะมี .. เขาเรียกว่าปฏิกิริยาอัตโนมัติที่จะโต้ตอบ อย่างเช่น ใครมาด่ามันจะมีอัตโนมัติแบบไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น คือด่าตอบสวนกลับ ชกมาชกกลับ เตะมาเตะกลับ ตาต่อตาฟันต่อฟัน นี่คือธรรมชาติของมนุษย์

ทีนี้คำว่า โยนิโสมนสิการ มันเหมารวมหมดเลยทั้งทางโลกทางธรรม

ทางโลกก็เช่นว่า พอมีคนมาด่า พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้นะ แม้กระทั่งคนมาด่าว่าพระพุทธเจ้า พวกเราที่เคารพพระองค์อย่างสุดหัวจิตหัวใจเนี่ย ก็ควรจะพิจารณาว่า ที่เขาด่ามานั้นเป็นการด่าที่มันตรงประเด็นหรือเปล่า มันมีมูลความจริงอยู่หรือเปล่า อย่าเพิ่งด่วนโกรธ อย่าเพิ่งไปสวนกลับ ไม่ใช่ด่ามาด่ากลับทันที

แต่ว่าพิจารณาว่าที่เขาด่าพระพุทธเจ้า มีมูลความจริงมั้ย ถ้าหากว่าใจของเราพิจารณาได้ว่า เออ มันมีมูลความจริงอยู่ เราก็ไม่ว่าอะไรก็เงียบๆไป

แต่ถ้าหากว่ามันไม่มีมูลความจริง เราจะได้มีสติพิจารณาว่า เราจะตอบกลับอย่างไรให้เขาเข้าใจถูก เปลี่ยนจากความเข้าใจที่ผิดของเขา เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิของเขาให้กลายเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าขึ้นมา อย่างนี้มันก็จะเป็นประโยชน์ทั้งเขาประโยชน์ทั้งเรา นี่เป็นตัวอย่างของโยนิโสมนสิการในแบบโลกนะครับ

ที่พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณาว่า เขาด่ามา เราโยนิโสซิว่าเขาพูดถูกหรือเปล่า มีมูลความจริงหรือเปล่า เป็นไปตามเหตุ เป็นไปตามปัจจัยที่ถูกต้องหรือเปล่า

ในส่วนของธรรมะ ขึ้นต้นมามันไม่มีหรอก ที่คนๆหนึ่งจะกระโดดขึ้นไปขั้นแอดวานซ์ (advance) รู้สภาวะกายรู้สภาวะจิตโดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่บุคคล 

แต่สามารถพิจารณาได้ เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เกิดมาไม่มีใครสอนให้เราพิจารณาความไม่เที่ยง มีแต่สอนให้เรายึดเอา หรือพยายามได้มาซึ่งสิ่งที่มันสมควรกับเรา หรือว่าสนองความอยากของเรานะครับ นี่มันเป็นอัตโนมัติซึ่งไม่ต้องสอนกัน มันเป็นการคิดมันเป็นการพิจารณาแบบที่ออกไปแบบฉับพลันทันด่วน

แต่ถ้าเป็นการโยนิโส อย่างเวลาที่เราจะดูจะเริ่มฝึกลมหายใจจะดูลมหายใจ พอเราดูลมหายใจปุ๊บ มันเกิดความอึดอัดขึ้นมา แล้วก็เกิดความคิดเป็นปฏิกิริยาทันทีว่า ทำไมต้องมาดู มันมีความสงสัยขึ้นมาที่ต้นทาง อันนี้พระพุทธเจ้าก็ให้โยนิโสว่า การที่เราสามารถที่จะรู้สึกถึงลมหายใจได้เนี่ย มันเป็นการอยู่กับปัจจุบัน คือมันเป็นข้อพิสูจน์ว่า จิตของเรากำลังอยู่กับปัจจุบันจริงไม่ไปไหน ไม่ย้อนไปอดีต ไม่พุ่งไปในอนาคต แต่อยู่ตรงนี้ ที่ๆมันกำลังมีความจริงปรากฏอยู่แน่ๆ

แล้วความจริงที่ปรากฏอยู่แน่ๆนี้คือลมหายใจนี้เนี่ย มันก็แสดงความไม่เที่ยง มีเข้ามีออก เดี๋ยวมันก็มียาว เดี๋ยวมันก็มีสั้น เดี๋ยวมันก็เหมือนจะหายไป เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่อะไรแบบนี้ 

พอเราโยนิโสด้วยการที่ตอบคำถามตัวเองว่า พระพุทธเจ้าให้แนวทางดูลมหายใจเพื่อสังเกตความไม่เทียง เพื่อสังเกตความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ใจมันก็ยอมที่จะดู แม้แต่ความอึดอัดที่เกิดขึ้น มันก็เห็นว่า เออ ไอ้ที่กำลังมีความอึดอัดอยู่ในลมหายใจนี้ เพราะร่างกายมันเกร็ง ฝ่าเท้าฝ่ามือมันไม่ผ่อนคลาย มันไม่สบาย  เนี่ยเราเห็น ค่อยๆเห็นไปตามลำดับแบบนี้ มันก็คลายจากอาการติดคลายจากอาการข้อง นี่เรียกว่าโยนิโสทางธรรม เข้าใจมั้ย

ผู้ร่วมรายการ : ตอนแรกสงสัยว่า โยนิโสมนสิการทางธรรมเนี่ยมันเกิดขึ้นเองใช่มั้ยคะ เมื่อกี้ฟังจากที่คุณดังตฤณอธิบายให้ฟังแล้ว มันน่าจะครึ่งๆ คือต้องมีความรู้ก่อน แล้วมันก็จะเกิดจากสภาวะจริงที่เราไปเห็น คือไม่ใช่เราคิดเป็นเหตุเป็นผล

ดังตฤณ : ถ้าจะเอาให้เข้าใจง่ายนะ โยนิโสประกอบด้วยความคิดก่อน เพราะว่าโดยนิยามของโยนิโส คือการพิจารณา พิจารณาอย่างแยบคาย คือพิจารณาอย่างแยบคายเนี่ย คำว่า “แยบคาย” มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าเราไม่มีความถี่ถ้วน แล้วความถี่ถ้วนไม่ได้เกิดจากการรู้อย่างเดียว มันเกิดจากการคิดเข้าไป คิดอย่างฉลาดคิดอย่างมีเหตุมีผล

ทีนี้ลักษณะของโยนิโส มันมีขั้นตอนคือเริ่มจากหยาบไปหาละเอียด 

อย่างขั้นหยาบๆที่ผมยกตัวอย่างไปเนี่ย เราเกิดความสงสัยขึ้นมา เกิดสิ่งที่เรียกว่า “วิจิกิจฉา” สงสัยขึ้นมาว่าที่ทำอยู่เนี่ย รู้ลมหายใจอยู่เนี่ยมันเป็นทางจริงหรือเปล่า มันใช่แล้วหรือยังที่เรากำลังรู้อยู่ 

พอสงสัยแบบนี้ แล้วเราตอบคำถามให้ตัวเองว่า ที่กำลังรู้อยู่จะถูกหรือไม่ถูกเนี่ยวัดกันตรงไหน เราตั้งโจทย์ขึ้นมา คือแค่ตั้งโจทย์ขึ้นมาได้ด้วยความคิดด้วยแบบวิธีคิดๆนึกๆเนี่ย เป็นโยนิโสแล้ว

พอตั้งโจทย์ถูกว่าจะดูยังไงว่ามาถูก แล้วนึกคำตอบได้สัมพันธ์กันกับคำของพระพุทธเจ้า คือดูแล้วเห็นว่าลมหายใจ มันไม่เหมือนเดิมในแต่ละครั้ง เดี๋ยวบางครั้งก็ยาว เดี๋ยวบางครั้งก็สั้น เนี่ยอันนี้เป็นผลที่ตามมา คือเป็นสติที่เกิดขึ้นตามมาจากโยนิโสประการแรก

เสร็จแล้วพอเห็นไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตมันเข้าที่ มันเกิดสมาธิ มันเกิดอารมณ์หนึ่งที่รู้ละเอียด รู้ว่าลมหายใจไม่เที่ยงจริงๆ แล้วลมหายใจเนี่ยสักแต่เป็นธาตุลม สักแต่เป็นเหมือนกับอะไรที่เป็นภาวะภายนอกที่เราเห็นว่าลมพัดกิ่งไม้แล้วกิ่งไม้ไหว มันก็สักแต่เป็นภาวะธรรมชาติที่ไม่มีสาระอะไร 

พัดกิ่งไม้เสร็จ ลมก็หายไป หายไปจากตรงนั้น เนี่ยก็เหมือนกัน ลมพัดเข้ามาในกายเฮือกนึงแล้วก็ออกไป ไม่มีประโยชน์ไม่มีแก่นสารอะไรเลย กลายเป็นลมชุดใหม่ อย่างนี้ถึงแม้มีความคิดเหลืออยู่ แต่ก็เป็นโยนิโสมนสิการในระดับที่ละเอียดขึ้น คือมีการพิจารณาเห็นว่า โดยอาการของจิตเห็นว่า นี่สักแต่เป็นธาตุลมเข้ามาแล้วก็ออกไป คราวนี้มันไม่ใช่ความคิดแบบคิดนึกปกติแล้ว ไม่ใช่ความคิดแบบหยาบๆแล้ว มันเป็นอาการโยนิโสของจิตที่มันจะเห็นว่า เออเนี่ยสักแต่เป็นอะไรอย่างนึงภาวะอย่างนึง พัดเข้ามาแล้วพัดออกไป 

ด้วยการเห็นด้วยการโยนิโสที่ละเอียดในระดับของจิตแบบนี้ พอเห็นไปบ่อยๆเข้า คราวนี้ไม่ต้องโยนิโสแล้วนะครับ มันรู้อยู่เองเป็นอัตโนมัติ คือเป็นความรู้ที่ล็อกเข้าที่แล้ว เรียกว่ามีอนิจจสัญญาแล้ว เห็นว่าลมหายใจเข้ามารู้สึกทันทีว่าไม่เที่ยง รู้สึกทันทีว่าเป็นธาตุลม อันนี้ไม่ใช่โยนิโส อันนี้มันเป็นผลของการโยนิโส 

คือโยนิโสอาจจะใช้เวลาแค่วันเดียว แล้วพอจิตมันเข้าที่เนี่ย จากนั้นตลอดทั้งชีวิตที่เหลือ มันได้รับผลของโยนิโสโดยไม่ต้องพยายามมาคิดอีก เข้าใจมั้ยครับ

ผู้ร่วมรายการ : ถ้าอย่างนั้นเราสามารถเอาหลัก เอาโยนิโสมนสิการจากการปฏิบัติธรรมสามารถเอาไปปรับใช้กับเรื่องงานใช่มั้ยคะ

ดังตฤณ : อันนั้นเป็นแบบโลกๆ เป็นโยนิโสแบบโลกๆ คือธรรมชาติของจิตนะ ถ้าหากว่ามันสามารถโยนิโสสภาวะธรรมภายในกายภายในจิตได้เนี่ย สิ่งที่จะเป็นผลลัพธ์ตามมาก็คือ จิตจะฉลาดขึ้น

จิตที่ฉลาดขึ้นในแบบเส้นทางของพุทธเนี่ยนะครับ มันจะฉลาดแบบครอบจักรวาล คือมันจะรู้เหตุรู้ผลที่เป็นต้นตอของความทุกข์ แล้วก็รู้เหตุรู้ผลที่เป็นต้นตอของความสุข

ฉะนั้นจิตที่มันฉลาดได้ถึงขนาดเข้าไปถึงต้นตอของความสุขและความทุกข์เนี่ย มันจะมีสัญชาตญาณแบบหนึ่ง เวลากลับมาอยู่กับชีวิตประจำวัน มาอยู่บนเส้นทางแบบโลกๆแล้วเนี่ย มันจะเห็นว่าด้วยเหตุแบบนี้มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา มันจะจับจุดเก่ง มันจะจับจุดถูกได้ไวกว่าคนอื่น มันจะตรงประเด็นได้มากกว่าความคิดแบบสามัญทั่วไป

เราจะรู้สึกเลยว่าด้วยจิตที่มันมีความตรง ด้วยจิตที่มันมีความเป็นกลางเป็นอุเบกขา แล้วก็รู้เหตุรู้ผลตามจริงเนี่ย มันกลับมามองปัญหาแบบโลกๆเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อยไปหมดเลย แล้วก็จะเข้าใจทันทีที่เกิดปัญหาโดยไม่มีอคติ

คนเนี่ยนะครับ เวลาที่เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันแบบโลกๆเนี่ย เกิดขึ้นจากอคติส่วนตัวหรืออคติที่สืบๆกันมา หรือว่าที่ครอบงำกันมาเกินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มีน้อยคนที่สามารถปลีกตัวแยกตัวออกมาจากความเชื่อที่สืบๆกันมา หรือว่าความฝังหัวที่มันฝังแน่นมาเนิ่นนาน คนส่วนนั้นแหละที่จะอยู่กับสติแบบที่มันไม่ทุกข์มันไม่ร่อนเร่ไปทุกข์กับคนอื่นเขาแบบเปล่าประโยชน์

พูดง่ายๆนะครับ จิตที่เจริญสติและเห็นต้นเหตุของความสุขและความทุกข์ อันเกิดจากภาวะทางกายทางใจแล้ว มันจะเป็นจิตที่ฉลาดครอบจักรวาล อันนี้คือข้อสรุปนะครับ

ผู้ร่วมรายการ : ถ้าเราอยากจะมีโยนิโสมนสิการเรื่องงาน มันก็ถูกต้องแล้วที่เราจะต้องฝึกโยนิโสมนสิการทางธรรมแบบนี้ไปก่อน ถึงแม้ตอนนี้งานอาจจะยังไม่ค่อยมีโยนิโสมนสิการเท่าไหร่ใช่มั้ยคะ

ดังตฤณ : มันควบคู่กัน คือเหตุผลทางโลกเนี่ย มันก็เป็นเหตุผลแบบเดียวกันกับทางธรรมนั่นแหละ

การพิจารณาแบบแยบคายในทางโลกเนี่ยนะ อย่างเช่นปัญหามันเกิดอะไร เกิดจากบุคคลหรือว่าเกิดจากสถานการณ์ ไม่เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยว เนี่ยเป็นโยนิโสแบบโลกๆ

ซึ่งพอเราเอามาเริ่มฝึกโยนิโสในทางธรรม มันก็จะเป็นแบบเดียวกันคือ ไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน ไม่ใช้ความลังเลสงสัยส่วนตัวมาเป็นเครื่องประกอบ 

แต่อาศัยการเห็นตามจริงว่ากำลังมีอะไรเป็นเหตุ กำลังมีอะไรเป็นผล อย่างเช่นเหตุเนี่ย ถ้าดูตามอารมณ์คนทั่วไปบอกว่า วันนี้ทำสมาธิไม่ได้ อันนี้คือเห็นผลลัพธ์ แต่การสาวไปสู่ต้นตอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

คนส่วนใหญ่พอบอกว่า วันนี้ทำสมาธิไม่ได้ผล แย่ เป็นเพราะว่าตัวเราห่วย นี่คือต้นเหตุของคนทั่วไปที่ไม่มีการโยนิโส

แต่พอไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง การโยนิโสจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบไปว่า เออ ที่วันนี้ทำสมาธิไม่ได้ ฟุ้งซ่าน หยุดความฟุ้งซ่านไม่ได้ แล้วสืบไปพบว่าวันนี้เนี่ยปล่อยใจ เสพสิ่งบันเทิงแบบไม่มีความยั้งเลย หรือว่าคุยพล่านไปกับชาวโลกชาวเมืองที่เขาอยากจะคุยกันแบบเพ้อเจ้อ คุยกันนินทากัน คุยกันเรื่องส่วนตัว เรื่องใต้เตียงเรื่องบนเตียงของดาราคนโน้นคนนี้อะไรต่างๆเนี่ยนะครับ

คือพอย้อนกลับไปเห็นต้นเหตุที่ยังจำได้อยู่ ยังติดอยู่ในความจำเนี่ย มันก็จะได้เกิดความเข้าใจว่า ที่วันนี้นั่งสมาธิไม่ได้ ไม่ใช่ว่าตัวตนของเราห่วย แต่เป็นเพราะว่าตัวของเราถูกนำเข้าไปคลุกอยู่กับเรื่องที่มันห่วยๆ แล้วก็ไม่ถอนออกมา จิตมันถึงห่วย นี่อย่างนี้เรียกว่าเป็นโยนิโสในทางธรรมที่มันได้นิสัยติดนิสัยมาจากโยนิโสในทางโลกนะครับ

...................................................

๖ มีนาคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถาม : โยนิโสมนสิการ แปลว่าอะไรคะ?

ระยะเวลาคลิป  ๑๔.๔๔  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=I-e3YfYzDoQ&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=15

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น