วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

ทำสมาธิจำเป็นต้องเกิดปีติทุกครั้งไหม?

ดังตฤณ : ไม่จำเป็นนะ ขึ้นกับว่าเรามีกำลังแค่ไหน

มีความชำนาญแค่ไหน

 

อธิบายอย่างนี้ก่อน

องค์ประกอบของสมาธิ ที่สมควรจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้วทุกคนเกิดได้หมด

 

องค์ประกอบข้อแรกคือ วิตก คือ นึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ลมหายใจ

 

ที่ยกตัวอย่างลมหายใจเพราะว่า พระพุทธเจ้า สอนตรงนี้มากๆ เลย

พอนึกถึงลมหายใจขึ้นมา จะรู้ว่า หายใจเข้า หรือหายใจออก

 

ตรงนี้ องค์ประกอบแรกของสมาธิเกิดขึ้นแล้ว

เรารู้ว่ากำลังหายใจเข้า เรารู้ว่ากำลังหายใจออก

แต่ยังไม่จำเป็นต้องเกิดสมาธิ

 

ทีนี้ ที่จะนับว่าเกิดสมาธิขึ้นได้ ก็คือว่า รู้ไปนานพอ

รู้ว่าหายใจเข้า รู้ว่าหายใจออก จนกระทั่งใจไม่ไปไหน

มีความรู้สึก แน่วแน่อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว

หรือที่ในตำราท่านเรียกว่า มีอาการแนบเข้ากับอารมณ์สมาธิ

เป็นหนึ่งเดียวกันกับสมาธิ

มีความรู้สึกราวกับว่า ลมหายใจ ปรากฏเด่นอยู่หนึ่งเดียว

ราวกับว่า เราสามารถใช้จิตสัมผัสลมได้

เหมือนกับเอามือสัมผัสลม ที่พัดไหวในอากาศ

ประหนึ่งแบบนั้นเลยทีเดียว

 

ตัววิจาร .. วิจาร ไม่มี ณ เณร การันต์ ..

ที่จิตแนบเข้ากับอารมณ์สมาธิ

ผมเพิ่ง ตั้งสเตตัสอธิบายไว้ น่าจะวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา

 

จะเกิดนิมิต หรือภาพขึ้นมาภาพหนึ่งในใจ

ถ้าภาพนั้นนิ่ง คุณก็เหมือนมีจิตนิ่งไปด้วย

ยิ่งจิตนิ่งนานขึ้นไหร่ ยิ่งมีความตั้งมั่นมากขึ้นเท่านั้น

 

ความตั้งมั่น ที่จะเห็นภาพนิมิตตรงนั้นนั่นแหละ

คือเครื่องวัดว่า สมาธิของคุณตั้งอยู่ได้แข็งแรง

หรือมีกำลังแค่อ่อนแอ

 

ตัววิจาร พูดง่ายๆ ว่า เริ่มเกิดภาพทางใจ

 

อย่างเวลาคุณตรึก นึกถึงลมหายใจไปครั้งแรก

ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่เห็นอะไรเลย

แต่พอนึกไปนานๆ นึกไปจนกระทั่ง

เกิดความรู้สึกติดอยู่กับ ลมหายใจ

ที่เดี๋ยวเข้า เดี๋ยวออก จะเห็นภาพลมหายใจขึ้นมาเป็นสาย

 

นั่นแหละ ตรงนั้นเริ่มเกิด วิจาร

 

ซึ่งถ้าหากว่า ตัวนิมิตของลมหายใจที่เป็นเส้น เป็นสาย

มีความชัดเจนมากขึ้นๆ

ตัวภาพนั่นแหละ ที่จะไปตรึงจิตให้นิ่งอยู่ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมา

 

ทีนี้ ตัวนิมิตจะเป็นไปอย่างไร

แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน

แต่ละคนก็ได้นิมิตไม่เท่ากัน

 

คำว่านิมิต ไม่ใช่ภาพที่เป็นนรกสวรรค์

ไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นบอกว่า จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ในอนาคตข้างหน้า อะไรแบบนี้ ไม่ใช่แบบนั้นนะ

 

แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เดี๋ยวนี้เลย ว่า

ลมหายใจของเรา สั้นหรือยาว

จะปรากฏเป็นนิมิตบอกชัดเลยว่า

ขึ้นต้นตอนไหน แล้วสิ้นสุดออกไป

คืนกลับสู่อากาศว่าง เมื่อไหร่ .. จะมีความชัดเจน

 

ตัวของนิมิตที่มีความนิ่ง มีความตั้งอยู่ได้นาน

ยิ่งนานขึ้นเท่าไหร่ ในใจของเรา มีความนิ่งมากขึ้นเท่าไหร่

ความรู้สึกในตัวเราแบบเดิมๆ

หรือว่าความเป็นตัวเราคนเดิม จะค่อยๆ เลือนไป

กลายเป็นเหมือนกับว่า จิต ไปมีตัวตนใหม่

ไปมีที่ยึดเหนี่ยว หรือมีที่ตั้งใหม่ เป็นนิมิตสมาธินั้น

 

อย่างบางคน ขึ้นต้นขึ้นมากำหนดว่า

หายใจเข้า ซี่โครงขยายออก

พอหายใจออก ซี่โครงหุบเข้า

พอนิมิตสมาธิตรงนี้ มีความตั้งมั่นขึ้น

ก็เกิดความรู้สึกราวกับว่าไม่เห็นอะไรเลยในตัวนี้

นอกจากซี่โครงที่ขยาย แล้วก็หุบ

แล้วก็มีเส้นลมหายใจเป็นศูนย์กลางการรับรู้ว่า

สภาพลม คือธรรมชาติพัดไหว เดี๋ยวพัดเข้าเดี๋ยวพัดออก

 

ซึ่งถ้าหากว่า ตั้งอยู่ในอารมณ์นี้ได้นาน

มีความเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับตรงนี้ไปนานเข้า

 

จิตจะเกิดความเบิกบาน จะเกิดการขยายออก

แล้วอยู่ในสภาพที่วิเวก มีรสที่หวานชื่น

มีรสที่สุขุม มีรสที่นิ่ง เนียน เสถียร

ตรงนี้แหละ ที่จะเริ่มเกิดปีติ

 

นี่เข้าสู่คำตอบของคำถามนะครับ

 

คือจะเกิดปีติที่ถูกต้อง ก็ต่อเมื่อนิมิตสมาธิของเรา ที่

เราดูลมหายใจเข้าออก ตั้งมั่น อยู่ได้นานพอ

ที่จะไม่วอกแวกไปเรื่องอื่น

ไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่านมาทำให้ไขว้เขว

จากอารมณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวนั้น

 

ถ้าหากจะเกิดปีติได้ ต้องมีองค์

คือวิตก และวิจาร เกิดครบนำหน้า

แล้วต้องมีเวลาให้นานพอสมควรนะ

ถึงจะเกิดปีติขึ้นมาได้

_________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ อีกครั้ง

วันที่ 17 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=VlK3xoKjt9Y

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น