วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

สวดมนต์แล้วรู้สึกฟุ้งซ่านหนักกว่าเดิม ควรตั้งมุมมองอย่างไร?

 ผู้ร่วมรายการ : กรณีที่บางครั้งถ้าเราไปพยายามที่จะสวดหลายๆรอบ มันก็จะมีบางรอบที่ไม่เห็นความไม่เที่ยงเลย คือยิ่งสวดก็ยิ่งรู้สึกฟุ้ง ถ้าเป็นแบบนี้เราควรจะหยุดสวด หรือเราควรจะต้องตั้งมุมมองอย่างไรถึงจะถูกต้องคะ

ดังตฤณ : ยิ่งสวดแล้วยิ่งฟุ้งนะครับ ก็ขอให้สังเกตเข้ามานะว่า มันมีความอึดอัดจากส่วนไหนเป็นอันดับแรก

แน่นอนตอนที่ฟุ้งเนี่ย ขอให้บอกตัวเองไว้เลยว่า มันไม่มีทางที่จะมีปัจจัยของความสุขความสบาย มันต้องมีปัจจัยของความอึดอัด หรือของความรู้สึกดิ้นรนทุรนทุรายอยู่นะครับ

เริ่มต้นขึ้นมาอาจจะสังเกตร่างกายเป็นอันดับแรก

ถ้าหากว่าร่างกายมีความอึดอีดอยู่ ร่างกายมีความเกร็งอยู่ เนื้อตัวมีความไม่สบายอยู่ ให้ลองเชิดหน้าขึ้นมานิดนึงให้คอตั้งหลังตรง ให้มันอยู่ในอาการที่สบายขึ้น ถ้าหากว่าใจฟุ้งน้อยลงแสดงว่ามาจากอาการนั่งที่มันผิด

อย่างบางคนนั่งพับเพียงแล้วโอเค แต่บางคนนั่งพับเพียบแล้วเมื่อยไม่โอเค ก็จะได้สำรวจสังเกตนะครับ

การสวดมนต์เนี่ยนะ จริงๆถ้าเราอยู่ในห้องพระนะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในท่าพับเพียบ หรือในท่าที่เราไม่สบาย เรานั่งขัดสมาดก็ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดสำคัญดูที่ว่าเรานั่งคอตั้งหลังตรงมั้ย แล้วเชิดคางขึ้นนิดนึงมั้ย

ส่วนใหญ่นะถ้าสังเกตว่าเราก้มหน้าสวดมนต์ไปแล้วเกิดความอึดอัด บางทีมันมาจากต้นคอที่มันเกร็ง หรือว่าไหล่ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่มันไม่สบาย

หรืออีกทางหนึ่งที่จะช่วยได้นะครับก็คือ สำรวจฝ่าเท้าฝ่ามือว่ามันมีความเกร็งอยู่รึเปล่า ถ้าหากว่ามีความเกร็งมีความกำอยู่เนี่ย มันจะเห็นได้ชัดเลย มันจะสะท้อนออกมาด้วยจิตที่มีความฟุ้งซ่านแล้วก็อึดอัด

แต่ถ้าฝ่าเท้าฝ่ามือเราสำรวจไปแล้วมีความผ่อนคลายสบายอยู่ แล้วทั้งใบหน้าไม่มีอาการตึงไม่มีอาการขมวด นั่นแหละเราจะเห็นเลยว่า ความฟุ้งซ่านมันจะเบาบางลงทันที นี่เรียกว่าสำรวจออกมาจากฐานทางกาย

อีกอันหนึ่งสำรวจออกมาจากฐานทางจิต

จิตของเรามที่มีความฟุ้งซ่าน รู้สึกกระสับกระส่าย รู้สึกว่ามองไม่เห็นความแตกต่างในแต่ละรอบว่ามันฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อย เนี่ยเราดูนะครับ อันนี้สำคัญมากเลย คือดูว่ามีความคาดหวังอยู่มั้ย

ส่วนใหญ่คนไม่รู้นะครับ จะทำสมาธิหรือว่าเจริญสติก็ตาม จะสวดมนต์หรือว่าจะนั่งสมาธิหลับตาหรือว่าเดินจงกรมก็ตาม คนไม่ค่อยจะสังเกตว่าเรามีความคาดหวังเคลือบจิตอยู่มากหรือน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราตั้งความเข้าใจไว้แล้วว่า สวดมนต์ไปเราจะเห็นความไม่เที่ยง ทีนี้ความคาดหวังของเราเนี่ย มักจะออกแนวที่ว่า เดี๋ยวเราต้องเห็นความไม่เที่ยงคลี่คลายไปในทางดี ไปในทางที่จะเป็นสมาธิมากขึ้น ไปในทางที่ความฟุ้งซ่านมันจะลดน้อยถอดลง

ทีนี้พอไม่เห็นแล้วเราผิดหวัง ตอนนั้นเราจะไม่รู้ตัวนะ คือตอนที่เราผิดหวังแต่ละรอบเนี่ย เอ๊ะ!รอบนี้มันก็ยังฟุ้งอยู่เหมือนเดิม สวดจบแล้วขนาดตั้งอกตั้งใจดีแล้ว มันก็ยังฟุ้งอยู่ไม่ได้สงบลงไปไหนไม่ได้สบายอะไรขึ้นเลย เนี่ยตอนที่เราผิดหวังหลายๆครั้ง ถ้าเราสังเกตเห็นและอ่านเกมออกอ่านจิตของตัวเองออกว่า มันมีความคาดหวังแล้วผิดหวังบ่อยๆ มันทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน

เพราะความไม่พอใจในตัวเองขึ้นมา มันจะซ้ำเติมเข้าไป นี่เรียกว่าการเห็นมีสติเท่าทันว่า ต้นตอของความฟุ้งซ่านนั้น บางทีมันมาจากความคาดหวังแล้วผิดหวัง นึกว่ามันจะฟุ้งน้อยลง แต่มันไม่ฟุ้งน้อยลงสักที มันก็เลยเกิดความรู้สึกแซด (sad) เกิดความเศร้า เกิดความเสียอกเสียใจอยู่ข้างในโดยไม่รู้ตัว มันก็เลยกลายเป็นให้อาหารหล่อเลี้ยงความเศร้า ให้อาหารหล่อเลี้ยงความฟุ้งไปไม่หยุด

แต่ถ้าเราไม่มีความคาดหวังอะไรเลย แล้วก็อยู่กับบทสวด อยู่กับการออกเสียงสวด เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำไปเรื่อยๆ ตรงนั้นแหละใจที่ไม่มีอาการคาดหวัง ใจที่ไม่มีอาการผิดหวัง มันจะเป็นใจที่พร้อมจะเห็นความจริงว่า ที่แท้แล้วแต่ละรอบที่เรานึกว่ามันฟุ้งเท่าเดิมเนี่ย จริงๆมีความต่างระดับกัน บางรอบมีอาการฟุ้งมากขึ้นมาตอนต้น แต่พอสวดๆไป เออ ความฟุ้งมันเบาบางลงมาบ้าง

แล้วตอนท้ายๆอาจจะมีสักสองสามวินาที ที่ความฟุ้งซ่านมันหายเกลี้ยงไปเลย เนี่ยตรงนี้นะครับ ถ้าเราดูทันดูด้วยความไม่คาดหวัง มันจะเห็นอย่างนี้เรื่อยๆซ้ำๆๆๆ จนกระทั่งจิตมันถอยออกมาเป็นผู้ดู ผู้ดูว่ากายนี้ที่ตั้งอยู่ในท่าสวด การเปล่งเสียงออก แก้วเสียงที่มันออก หรือความฟุ้งซ่านในหัวก็ตามเนี่ย ที่มันกำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาของจิตเนี่ย มันไม่มีทางหรอกที่จะไม่ต่างไปเลย มันไม่มีทางหรอกที่ฟุ้งเท่าเดิมตลอดโดยไม่มีการเว้นวรรคเลย

แต่จิตที่คาดหวังต่างหาก ที่ทำให้มองไม่เห็นความต่างนั้น มันคาดหวังว่าอะไร?

มันคาดหวังว่าจะนิ่งเงียบไปนานๆ เสร็จแล้วมันไม่มีอาการนิ่งเงียบไปนานๆแบบนั้นเสียที จิตที่ผิดหวังก็เลยกลายเป็นจิตที่ไม่มีความเป็นกลางพอ ไม่มีความสามารถมากพอที่จะเห็นความจริงนะครับ

....................................................

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถามยูทูบ    : สวดมนต์แล้วรู้สึกฟุ้งซ่านหนักกว่าเดิม ควรตั้งมุมมองอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป     ๖.๕๗   นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=dMOlT0pqKuA&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=12

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น