วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมก่อนนอนแล้วเกิดลมหมุนที่หัว

 ผู้ร่วมรายการเคยปฏิบัติยุบหนอ-พองหนอ หลังจากไปวัดมา ๗ วัน กลับมาบ้านก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ ตอนจะนอนก็กำหนดยุบพนอ-พองหนอ แต่กำหนดได้แป๊บเดียวมันมืดไปเลย มองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้สึกอะไรเลย แต่รู้สึกว่ามีลมหมุนที่หัว ก็กำหนดว่าเรารู้หนอ แต่พอกำหนดไปสักพัก ก็รู้สึกว่ามันไม่หายไปสักที ก็เกิดความกลัว

ดังตฤณ : ผมขอพูดตรงนี้ก่อน ขอเอาเฉพาะจุดนี้มันจะได้สดๆ ภาวะที่เรารู้สึกว่ามืดมันใกล้กับภวังค์ เราเกิดปรากฏการณ์อะไรทางจิตขณะภาวนาเจริญสติ เราตีความเป็นจิตให้หมด เราเห็นมันเป็นจิตให้หมด เป็นปรากฏการณ์ทางจิต

คำว่า จิตรู้สึกถึงความมืด จำไว้เลยคีย์เวิร์ดคือมันใกล้กับภวังค์ มันใกล้กับการไม่รู้ แต่ทีนี้เรายังรู้อยู่ เห็นพายุเห็นลมหมุนขึ้นมาในหัว นี่แสดงว่ามันยังไม่ภวังค์ ไม่ภวังค์จริง แต่พอใกล้ภวังค์แล้วเนี่ยมันมีอาการหมุนติ้วๆ มันมีอาการเหมือนกับผิดปกติขึ้นมาอย่างไรก็แล้วแต่ ให้มองว่า ณ ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใกล้ภาวะสมาธิ ไม่ใกล้ภาวะตื่น เราตีความอย่างนี้ให้ได้ก่อน และไม่ใช่ไปพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาวะนั้นเกิดขึ้น ตรงกันข้ามเรายอมรับเต็มที่เลย เรายอมรับเต็มประตูเลยว่า นี่เป็นภาวะที่เรียกว่าใกล้ภวังค์ เป็นภาวะที่ไม่ตื่นเป็นภาวะที่ไม่รู้แล้วก็เกิดอาการหมุนติ้วๆขึ้นมา เราสังเกตอยู่อย่างนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

อันดับที่สองคือต้องท่องไว้เป็นคีย์เวิร์ดที่ชาวพุทธทุกคนต้องย้ำกับตัวเองแม่นๆเวลาเจริญสตินะครับ ภาวะนั้นอยู่ได้นานแค่ไหน

ถ้าหากว่าเราสังเกตด้วยจิตตรงๆเลย เริ่มต้นขึ้นมามือใหม่เนี่ยมันจะไม่สามารถบอกตัวเองถูก แต่ถ้าหากว่าเราสร้างความเคยชิน เราสร้างความคุ้นเคยไว้ว่าจะสังเกตความไม่เที่ยงของปรากฏการณ์ภายในด้วยลมหายใจ อันนี้มันจะชัดเจน ถ้าคุณจำคำแนะนำตรงนี้ได้ แล้วมันเกิดภาวะนั้นขึ้นอีกเนี่ย มันจะต่างไปนะ

คือเดิมเนี่ยเราก็ไม่รู้จะทำยังไงใช่มั้ย คือใกล้จะมืดแล้วแล้วก็พายุมันหมุนติ้วๆ แต่ถ้าหากว่าเรานึกขึ้นได้ว่า สังเกตดูซิเนี่ยตอนนี้เรายังมีลมหายใจมั้ย ลมหายใจจะปรากฏขึ้นมาทันทีนะครับ ต่อให้ภาวะนั้นกำลังมืดแค่ไหนยังไง สติที่มันระลึกถึงลมหายใจได้ จะทำให้ปรากฏสายลมหายใจขึ้นมาเป็นเข้าเป็นออก

แล้วพอสังเกตต่อว่าที่ลมหายใจนี้มันมืดขนาดนี้ ลมหายใจต่อมามันยังมืดเท่าเดิมอยู่มั้ย ที่หมุนติ้วๆอยู่ในหัวมันยังหมุนเท่าเดิมอยู่มั้ย หรือว่าเบาบางไป หรือว่าหนักขึ้น คือคุณไม่ต้องไปสนใจนะว่ามันหนักขึ้นหรือเบาบางลง แค่ยอมรับไปตามสภาพตามที่มันเกิดขึ้นว่ามันหมุนมากขึ้นหรือมันหมุนน้อยลง

แล้วพออาศัยลมหายใจเป็นเครื่องตั้งของสติสังเกตความไม่เที่ยงความไม่เหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่มันจะปรากฏตามมาแน่ๆก็คือ ความเห็นว่าอาการมืดนั้นมันมืดไม่เท่าเดิม อันนี้คุณไม่ต้องพยายามนะ แต่มันเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของจิต คือเมื่อมีสติสังเกตความไม่เที่ยงอยู่มันจะค่อยๆส่วางขี้น นี่เป็นกลไกธรรมดาธรรมชาติของจิตเลย เพราะว่าจิตที่สังเกตความไม่เที่ยงคือจิตที่มีปัญญาเสมอ

จิตเห็นอะไรโดยความเป็นของไม่เที่ยง ของนั้นจะแสดงความไม่เที่ยงออกมาชัดขึ้นเรื่อยๆเสมอนะครับ โดยที่มันจะเป็นไปหรือตัวมันจะคลี่คลายไปยังไงก็ตาม จะมืดหนักกว่าเดิมหรือว่าจะสว่างขึ้น จะหมุนมากกว่าเดิม หรือว่าจะหมุนน้อยลงกว่าเดิม ตรงนั้นแหละที่มันจะเป็นกำลังของความรู้

กำลังของความรู้มันสะท้อนออกมาโดยความเป็นจิตที่คุณจะมีความรู้สึกว่ามันค่อยๆเปิดออก มันค่อยเบิกบานออกจากสภาพที่ปิดแคบ ตัวนี้ที่คุณจะเห็นนะครับ

ที่ค้างไว้เมื่อกี้เชิญถามต่อครับ

ผู้ร่วมรายการจะถามว่าจะกำหนดยังไง คุณดังตฤณก็ตอบเรียบร้อยแล้วค่ะ แต่ถ้าจะเล่าเหตุการณ์ให้จบก็คือ พอหลังจากเราเริ่มรู้สึกกลัว เราพุ่งขึ้นไปข้างบน คือเราเห็นตัวเองอยู่ข้างล่างหมุนอยู่ข้างบน แล้วก็รู้สึกกลัวมาก แล้วก็ตกลงมา ซึ่งเกิดอย่างนี้สองวันติดกัน ที่คุณดังตฤณได้ตอบมาว่ามันเป็นภาวะหนึ่งจิต

ดังตฤณ : อาการที่ตกจากที่สูงลงมาที่ต่ำเนี่ย ก็คืออาการที่จิตมันพยายามจะรวมลง แต่ว่ามันไม่รวมเป็นสมาธิ มันตกเป็นภวังค์

คือเดิมทีเนี่ยจิตมันจะคลุกอยู่กับความคิดในหัว เพราะฉะนั้นความรู้สึกในหัวของคุณเวลาที่ฟุ้งซ่านเนี่ย สังเกตมั้ยว่ามันจะเหมือนตัวของเราทั้งตัวอยู่ในหัว แต่ทีนี้พอเรานั่งสมาธิไปได้สักพักนึง ความรู้สึกในหัวมันคล้ายๆจะเจือจางเบาบางหรือไม่ก็หายไป

ทีนี้มันหายไปไหน มันไปรวมอยู่กลางอก ถ้ารวมเป็นสมาธิเนี่ย ภาวะของจิตกลไกธรรมชาตินะ ก่อนที่จะเปลี่ยนจากภาวะฟุ้งซ่านตามธรรมดาปกติไปเป็นสมาธิเนี่ย มันจะตกภวังค์วูบหนึ่งเพราะมันจะลงไปที่กลางอก ที่มันต้องตกภวังค์ก็เพราะอย่างนี้ มันย้ายที่จากหัวไปสู่อก

ทีนี้ถ้าเป็นภวังค์สมาธิมันจะรวมลงในแบบที่ว่าตกจากที่สูง แล้วหงายขึ้นเปิดเหมือนกับของคว่ำที่มันหงายขึ้น จากที่มันเป็นกะลาคว่ำลงทะเลลงพื้นน้ำ กลายเป็นหงายขึ้นเจอท้องฟ้า เจอท้องฟ้ากว้าง อย่างนี้เป็นภวังค์สมาธิ ภวังค์แป๊บหนึ่งแล้วกลับลำตั้งขึ้นใหม่ ขึ้นเด่นดวงเป็นสมาธิ

แต่ถ้าหากเป็นภวังค์หลับหรือเป็นภวังค์มืด เป็นภวังค์ไม่รู้ไม่ชี้ เป็นภวังค์ไม่รู้เรื่อง มันจะคว่ำแล้วก็ดิ่งลึกลงไปในอาการ คว่ำนั้นเหมือนกับกะลาที่จมน้ำไม่หงายขึ้น พูดอย่างนี้เข้าใจมั้ยครับ

ผู้ร่วมรายการพอเข้าใจค่ะ

ดังตฤณ : อันนี้ก็เหมือนกันนะ ที่บอกว่าเรารู้สึกว่าเหมือนลอยตัวขึ้นสูงแล้วดิ่งลงต่ำ ก็คืออาการที่จิตมันจะรวมลงนั่นเอง แต่ว่ารวมลงแล้วมันเป็นภวังคจิตเป็นภวังค์มืด ไม่ใช่ภวังค์สว่างนะครับ

ผู้ร่วมรายการหลักปฏิบัติที่คุณดังตฤณบอกก็คือ ถ้าเกิดเหตการณ์แบบนี้อีกให้พยายามรู้ลมหายใจตัวเองให้ได้ใช่มั้ยคะ

ดังตฤณ : อันดับแรกเลยเนี่ย สิ่งที่สำคัญกว่าลมหายใจ สิ่งที่สำคัญกว่าสมาธิ จำไว้เลยนะคือความเข้าใจ ความเข้าใจนี่แหละจะตัดสินว่าจิตของเราเป็นสมาธิแบบสัมมาทิฏฐิหรือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุกคนจะมีมิจฉาทิฏฐิติดตัวมา เพราะฉะนั้นทุกคนนั่งสมาธิแรกๆเนี่ย มันจะเป็นมิจฉาสมาธิเสมอ

ทีนี้ที่ตัดสินว่าเป็นสัมมาสมาธิไม่ใช่ตัวของภาวะเอง เพราะบางคนเนี่ยแม้กระทั่งเห็นรูปเห็นนามแล้ว แต่ก็ไม่เกิดปัญญา ไม่รู้จะทำยังไงต่อ นั่นเพราะสัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจเนี่ยยังไม่ประกอบเข้ากับจิตนั้น

แต่ถ้าหากว่าเราฟังไว้ตอนนี้ แล้วเกิดความเข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องของจิตเป็นกลไกธรรมชาติของจิตที่จะต้องเป็นไป แล้วเราเข้าใจด้วยว่าจิตที่ดิ่งลงมามันดิ่งลงมาพยายามจะรวม แต่ว่ามีภวังค์อยู่สองแบบคือภวังค์สมาธิกับภวังค์หลับ ถ้าภวังค์หลับมันไม่รู้เรื่องแล้วก็มืด แต่ถ้าภวังค์สมาธิมันจะสว่างแล้วมีอาการหงายขึ้น แค่เราไปสังเกตนะครับ

ทีนี่ก่อนที่จะสังเกตมันต้องเห็นว่า เออ ตอนที่มันมืดๆอยู่เนี่ย มันจะหาทางออกยังไง ก็ให้อาศัยลมหายใจเป็นตัวตั้งคือ ถามตัวเองว่าที่หายใจอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่แค่ดูแล้วรู้ลมหายใจอย่างเดียวนะ แต่สามารถตอบตัวเองถูกว่า ณ ขณะที่กำลังหายใจอยู่ ขณะนี้จิตของเรามืดหรือสว่าง จิตของเรามีอาการปั่นป่วนมีพายุหมุนในหัวหรือว่ามีความสงบ ตรงนี้สำคัญที่สุดเลย

เวลาที่เรารู้ลมหายใจแบบอานาปานสติ ไม่ใช่รู้ลมหายใจอย่างเดียว แต่รู้ว่าที่กำลังหายใจอยู่นั้นมีภาวะอะไรกำลังปรากฏอยู่ในกายในใจนี้ ถ้าหากมันมืดยอมรับว่ามืด ถ้ามันสว่างก็รู้ว่ามันสว่างที่ลมหายใจนั้นๆ ตรงตามจริง เพื่อที่จะเห็นว่าในลมหายใจต่อมาภาวะดังกล่าวมันต่างไปแล้วหรือยัง

เห็นลมหายใจเพื่อเห็นความไม่เที่ยงของภาวะทางกายทางใจที่กำลังปรากฏอยู่

โอเคนะ เข้าใจนะครับ

ผู้ร่วมรายการเข้าใจค่ะ ขอบคุณมาก ค่ะ ..

....................................................

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถาม : ปฏิบัติธรรมก่อนนอนแล้วเกิดลมหมุนที่หัว
ระยะเวลาคลิป    ๑๐.๔๐  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=RhAgbttoe1A&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=55

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น