วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

ตัวตนผู้ปฏิบัติ VS จิตผู้รู้ ต่างกันอย่างไร

ผู้ถาม : อาการของตัวตนของผู้ปฏิบัติ กับจิตผู้รู้ ต่างกันอย่างไรคะ

สมมติว่า ตอนที่เรานั่งสมาธิ เรารู้สึกว่า เรากำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้น แบบนี้เราจะเรียกว่าเป็นตัวตนผู้ปฏิบัติ หรือเรียกเป็นตัวรู้คะ


ดังตฤณ : มีตัวหนึ่งนะ ที่จะสามารถใช้เป็นเกณฑ์วัดได้ ว่าเรากำลังมีตัวตนของผู้ปฏิบัติ หรือว่ามีจิตของผู้รู้

 

ถ้าจิตของผู้รู้ จะไม่มีภาพ จะไม่มีอาการนึกถึงภาพหน้าตาตัวตน จะมีแต่จิตว่างๆ แต่เป็น ว่างอย่างรู้

 

ว่างอย่างรู้ เราจะรู้สึกเหมือนกับ ใจทั้งใจของเรา เป็นสภาพอะไรอย่างหนึ่ง ที่มีความสว่าง มีความแผ่ออกไป หรือว่ามีความคับแคบ มีสภาพที่อึดอัด หรือว่าสบาย

 

สภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีหน้าตาบุคคล เข้ามาอยู่ในใจของเรานี่ อันนี้เรียกว่าจิตผู้รู้นะ

 

ส่วนจะเป็นจิตผู้รู้อ่อนๆ หรือว่า จิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นเข้มแข็งแล้ว ก็คือว่า รู้ได้นานแค่ไหน

 

ถ้าหากว่า เรารู้สึกว่างๆ ว่างอย่างรู้นะ แป๊บหนึ่ง แล้วกลับมามีหน้าตาตัวตน มีความรู้สึกว่าเป็นเรา อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็น ขณิกสมาธิ หรือว่ามีสมาธิอ่อนๆ นะ ที่จะตั้งเป็นจิตผู้รู้ได้แป๊บหนึ่ง แล้วก็หายไป

 

แต่ถ้าหากว่าทรงอยู่ในสภาพว่าง นิ่ง แล้วก็รู้ว่ากำลังเห็นอะไรอยู่ สภาพทางกาย หรือสภาพทางจิตของตัวเอง ถ้าสภาพทางจิตของตัวเอง กว้างแค่ไหน ว่างแค่ไหน สว่างแค่ไหน อยู่ได้นานแค่ไหน ก่อนที่จะหายไป หรือค่อยๆ เสื่อมสลายไป อย่างนี้จิตก็เรียกว่า รู้ตัวว่ามีสมาธิมากขึ้นนิดหนึ่ง

 

แต่ถ้าหากว่า ทั้งหมดทั้งมวล เราตั้งต้นขึ้นมานี่ ฉันจะตั้งใจดูลมหายใจ ฉันจะตั้งใจดูจิต หรือดูอารมณ์ มีแต่ ตัวฉันตั้งใจว่าจะทำอย่างนั้น ตั้งใจจะทำอย่างนี้ อันนี้คือ ตัวตนของผู้ปฏิบัติ เข้าใจไหม

 

ผู้ถาม : คือ ณ ตอนนี้ รู้สึกว่ามีความรู้เห็นสองแบบ แบบแรกก็คือ รู้สึกว่าเรากำลังมองเห็นอยู่ เช่นมองเห็นความคิดเกิดดับ มองเห็นว่าหน้าขมวดขึ้น คลายลง

 

กับอีกแบบหนึ่งก็คือ กลืนไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น คืออันนั้นน่าจะหลงไปชัดเจน แต่ก็กำลังสงสัยว่า ที่คิดว่า เรากำลังมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือตัวตนผู้ปฏิบัติหรือเปล่า แล้วถ้าใช่ เราจะต้องดูอย่างไร

 

ดังตฤณ : เปลี่ยนโจทย์ใหม่เลย ถ้าตั้งโจทย์อย่างนี้จะหลงวน ติดอยู่กับคำไม่กี่คำ คือคำว่า ผู้รู้ หรือว่า ผู้หลง นะ

 

จะติดอยู่กับคำพวกนี้แล้วก็เสร็จแล้ว เราจะสังเกตอยู่แค่นี้ ว่ากำลังเป็นผู้รู้ หรือกำลังเป็นผู้หลง เป็นผู้ปฏิบัติ หรือว่าเป็นผู้ที่มีความตื่น มีความรู้อะไรต่างๆ

 

พอใจของเรา ไปติดกับดัก อยู่กับคำบางคำ จะไม่ไปไหนเลย จะไม่ขึ้นจากหล่ม จะเหมือนกับติดหล่ม แล้วก็ติดอยู่ตรงนั้นออกมาไม่ได้

 

ทีนี้เอาใหม่ เราไม่ต้องไปกังวลแล้วว่า เรากำลังมีสติ รู้แบบผู้รู้ หรือว่า เรากำลังหลงอยู่ในภาวะของผู้ปฏิบัติ ผู้มีตัวตน เรามองอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ณ ขณะนั้น จิตของเรามีความหนัก หรือมีความเบา จิตของเรามีความว่าง หรือว่ามีความวุ่น

 

เอาคีย์เวิร์ด (keyword) ใหม่ไป ถ้าเป็นคีย์เวิร์ดแบบนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตัวตน ซึ่งจะทำให้เราเคลียร์ (clear) เราคลีน (clean) .. สติจะเคลียร์จากกับดักตรงนี้ไปได้

 

เอาคีย์เวิร์ดแค่นี้ก่อน ถ้าหากว่า เบา แล้วรู้ว่าเบา พอมันหนักขึ้น รู้ว่าหนักขึ้น ไม่ต้องสนใจนะ ว่ากำลังเป็นจิตผู้รู้ หรือจิตผู้หลง หรือจิตผู้ปฏิบัติ

 

จากนั้น พอเราเริ่มเคยชินกับการเห็นว่า เบาแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นหนัก หนักแป๊บหนึ่งเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเบา จากนั้นจะปรากฏภาวะอะไรก็ตาม ที่จะขึ้นมาให้เห็น จะเป็นความมืด จะเป็นความสว่าง จะเป็นความตื่นรู้ หรือจะเป็นความหลับหลง สภาวะที่จะต่อยอดมานี่ เรารู้ให้หมดว่า เหมือนกัน ดูเหมือนกัน ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง

 

ไม่อย่างนั้นนี่นะ อย่างเมื่อกี้ พอคุณไปติดกับดักอยู่ตรงที่ว่า นี่เรียกผู้รู้หรือเปล่า นี่เป็นผู้ปฏิบัติไหม กำลังหลงอยู่หรือเปล่า ก็จะสังเกตอยู่แค่นั้น ว่าฉันกำลังถูก หรือฉันกำลังผิด

 

ทีนี้ ถ้าเราเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ว่านี่กำลังเบาอยู่ หรือกำลังหนักอยู่ จะไม่กังวลแล้วว่า ถูกหรือผิด จะมีแต่การสังเกตว่า ที่เบา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ที่หนัก อยู่เป็นตัวหนักๆ แบบนั้นนานแค่ไหนเป็นตัวเดิมอยู่หรือเปล่า

 

มุมมองทางจิต พอหลับตาลงนี่ ก็พร้อมจะหลงเข้าป่า แล้วพอหลงเข้าป่าแล้ว บางทีก็ติดอยู่อย่างนั้นเป็นสิบปี ยี่สิบปี ออกมาไม่ได้ เพราะจิตถูกกำหนดทิศทางด้วยถ้อยคำ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา แล้วพอเราติดอยู่กับคำใดคำหนึ่งไป เราไม่รู้ตัวเลยว่า นับตั้งแต่เราติดกับดักนั้นมา เราไม่ได้สังเกตความไม่เที่ยงอีกเลย เราติดอยู่กับความกังวล และสงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่ แล้วความกังวลสงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่ คือกับดัก ที่ทำให้สติไปไม่ถึงไหนจริงๆ

 

พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า วิจิกิจฉา เป็นหนึ่งในนิวรณ์ ซึ่งถ้าเราติดอยู่ก็จะติดอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ เลย

 

ผู้ถาม : คือตอนแรกที่ปฏิบัติก็ไม่ได้สนใจคำพูดพวกนี้ สนใจแต่สภาวะ แต่ว่าพอได้ยินที่คุณดังตฤณเคยเตือนเรื่องตัวตนผู้ปฏิบัติ ก็เลยรู้สึกว่าเราเป็นหรือเปล่า

 

ดังตฤณ : ตัวตนผู้ปฏิบัติในความหมายของผมก็คือ อย่างเวลาที่เราเกิดความภาคภูมิใจขึ้นมาว่า นี่ระดับชีวิตของเรายกขึ้นมาแล้ว

 

แล้วมีภาพผู้ปฏิบัติที่ดูสูงส่ง มาครอบโดยที่เราไม่รู้ตัว จิตก็จะหลงอยู่กับภาวะของความเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้สูงส่ง นั่นคือความหมายที่ผมพูดถึง

 

แต่เวลาที่เราเจริญสติ เรากำลังทำสมาธิ หรือสวดมนต์ แล้วมีจิตที่เห็นสภาพทางกาย สภาพทางใจได้ อย่างนี้ จะไม่มีความหลงแบบที่ว่า

 

จะมีแต่สติ ที่พัฒนาขึ้น ก้าวหน้าขึ้น มีความคมมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้นว่า ที่เราเห็นไปนี่ ไม่เที่ยงจริงๆ ด้วย แล้วตรงนั้นไม่ต้องห่วงว่า จะมีภพ หรือว่าภาวะของหน้าตา ของผู้ปฏิบัติที่จะมาครอบจิตนะ

 

แต่ตอนที่เราไปอยู่ในสังคมที่ให้การต้อนรับ ให้ความยินดีชื่นชมกับผู้ปฏิบัติที่เก่งกล้าสามารถ บางทีอะไรแบบนี้ก็ผุดขึ้นมาได้ ก็ขึ้นมาครอบจิตเราได้แบบง่ายๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเราได้รับความชื่นชม หรือว่า มีใครมองกันเยอะๆ ว่าเราเก่ง จะกลายเป็นจากเดิมที่ ตรงทางมาดีๆ บางทีพุ่งลงเหวเลยนะ

 

เห็นมาเยอะมาก จากเริ่มต้นมาตรงทาง แล้วมาเบี้ยว มาคดเคี้ยวเอาตอนที่ ได้รับคำสรรเสริญ หรือว่ามีภาพที่ใหญ่ขึ้นอะไรแบบนี้นะ แล้วก็ไปเกิดความรู้สึกอยากจะอวดตัว หรืออยากจะข่มคนอื่นที่ด้อยกว่าอะไรแบบนี้ เห็นมาเยอะ ก็เลยเอามาพูดเรื่องภาพลักษณ์ หรือว่าภาพผู้ปฏิบัติที่มีความเป็นกับดักอยู่นะครับ

 

แต่ถ้าเรากำลังเจริญสติอยู่ แล้วแน่ใจว่าเห็นความต่างของภาวะนี่ ไม่ต้องไปกลัว ไม่มีหรอก ภาพผู้ปฏิบัติที่จะมาครอบงำจิต ณ ขณะนั้นนะครับ

 

พอจิตของเรา ไปกังวลอยู่กับอะไรปุ๊บ ให้มองเลยว่าติดกับดักแล้ว กับดักทางความสงสัย หรือที่เรียกว่า วิจิกิจฉานะ!

_________________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=n1QNI3bPiD4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น