วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

ภาวนาพุทโธ แต่ฝันทุกคืน จิตไม่สงบจริงใช่ไหม

ดังตฤณ : ความฝัน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความฝันมา 30 ปี ศึกษาจริงจัง เก็บตัวอย่างมามากเป็นพันเป็นหมื่นคน มาสร้างทฤษฎี สร้างโมเดลอะไรมากมาย

 

ในที่สุดยังบอกเลยว่า ความฝันของมนุษย์เป็นสิ่งที่ลึกลับ แล้วก็ไม่ใช่จะเข้าใจได้ง่ายๆ

 

เอาง่ายๆ อย่าว่าแต่ฝันเลย แม้กระทั่งว่า คำถามง่ายๆ ว่าทำไมคนต้องหลับ เป็นโจทย์ที่ยาก

 

ตอนที่เราเรียนหนังสือกัน สุขศึกษา ตอนเด็กๆ ก็บอกว่า การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด คนที่ศึกษาเรื่องการหลับ และความฝันมามากจริงๆ กลับบอกว่า ตอนหลับ ไม่ได้พักผ่อนนะ สมองนี่ทำงานเต็มที่เลย แล้วสภาวะร่างกายโดยทั่วไปก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะผ่อนคลาย

 

สมมติว่าฝันว่าวิ่งหนี ตื่นมา ก็เหนื่อยยิ่งกว่าวิ่งหนีจริงๆ อีก เพราะมีความขวัญเสีย มีอาการตอบสนองทางกายที่ออกทางเครียด หลั่งสารแย่ๆ ออกมา สมองไม่เคยพัก

 

สมองของมนุษย์ไม่เคยพัก แม้แต่ความคิดก็ไม่เคยหยุด เป็นกระแส อย่างที่ฝรั่งเรียก มีศัพท์เฉพาะว่า Theme of consciousness ลักษณะการทำงานของสมอง มีอาการตื่นอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่เรารู้สึกว่าเราหลับ

 

ความคิดจะขาดหายไปจริงๆ ก็ต่อเมื่อเราสลบ หรือไม่ก็เข้าถึงสมาธิระดับฌาน

 

ถ้าถึงฌานจริง ความคิดเงียบเลยนะ เงียบกริบเลย ไม่เหลือเลย

 

ทีนี้ อย่างเราภาวนาพุทโธมา แล้วเกิดปีติ เกิดความเบา เกิดอะไรก็แล้วแต่ ตรงนั้น เป็นตอนตื่น ยังเข้าไปไม่ถึงจุดที่ลึกลับที่สุดในชีวิตของเราคือ ตอนที่เราหลับฝัน

 

ตอนนั้น จะมีอะไรออกมามากมาย ซึ่งไม่ต้องไปกังวล เราเอาแค่ จับสังเกตก็พอว่าที่เราฝัน ฝันดีหรือฝันไม่ดี

 

ถ้าฝันดี แล้วทำให้รู้สึกตื่นมา อารมณ์ดี อารมณ์เบา อารมณ์สบาย ก็ถือว่าที่ผ่านมาใช้ได้ ภาวนามาใช้ได้ อย่าไปคาดหวังว่า ภาวนาได้ดีแล้วจะไม่ฝันนะครับ เพราะว่าเป็นการที่เราไปกะเกณฑ์สิ่งที่ลักลับที่สุดในชีวิตให้เป็นไปตามใจของเรา ซึ่งทำไม่ได้นะครับ

 

เราเอาแค่ว่า เราจะฝันดีก็พอแล้ว

___________________

 

ภาวนาพุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออกมากว่า 20ปี เกิดปีติเร็ว ลมหายใจเบาแทบไม่หายใจ ทำทุกคืนพิจารณากายเป็นบางช่วง แต่ทำไมยังฝันไปในที่ต่างๆ แสดงว่าจิตไม่ได้สงบจริงใช่ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=r1epM-fVytc

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น