วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

ทำอานาปานสติ แต่บังคับลมหายใจ

ผู้ถาม : พยายามจะทำอานาปานสติ คือเราต้องโฟกัสที่ลมหายใจใช่ไหมคะ แต่เวลาที่ทำลมหายใจ บางครั้งรู้สึกว่า ทำไปด้วย พุทโธไปด้วย เวลาหายใจเข้าหายใจออก กลายเป็นเราไปบังคับลมหายใจ พี่ตุลย์มีวิธีแนะนำไหมคะ

 

ดังตฤณ : วิธีจะทำให้ลมหายใจ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เกิดการรู้สึกบังคับ ไม่เกิดการรู้สึกฝืน ลองทำดูตอนนี้เลยก็ได้

 

ถ้าหากว่าเราตั้งใจว่าจะดูลมเดี๋ยวนี้เลย จะรู้สึกเกร็งๆ ฝืนๆ ขึ้นมา นั่นเพราะว่าความตั้งใจของเราที่จะดูลมนี่ โฟกัสเข้าไปที่จุด ที่เราไม่รู้ชัดว่าเป็นจุดไหนของลมหายใจ

 

แต่ถ้าลองมองดูใหม่ คือแทนที่เราจะเริ่มดูจากลมหายใจก่อน เราดูก่อนว่าเรานั่งอยู่ในอิริยาบถนั่ง สบายหรืออึดอัด มีความผ่อนคลาย มีอาการคอตั้งหลังตรง หรือว่ามีความเกร็งอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

 

สำรวจไล่ขึ้นมาเลย

ฝ่าเท้าถ้าหากว่ากำลังเกร็งอยู่ ณ ขณะนี้ก็คลายออกเสีย

ฝ่ามือ ถ้าหากว่ามีอาการเกร็งอยู่ก็คลายออกเสีย

ใบหน้า มีอาการเกร็งอยู่ ส่วนใดส่วนหนึ่ง คิ้วขมวด ขมับตึง ก็คลายออก

 

จากนั้น สังเกตว่าถ้าเรามีฝ่าเท้า ฝ่ามือและใบหน้าที่ผ่อนคลายได้แล้ว จะทำให้รู้สึกถึงอิริยาบถนั่ง ที่สบายทั้งตัวขึ้นมา และอิริยาบถนั่งนี่ กำลังอยากหายใจเข้า หรืออยากหายใจออก เราจะรู้ไปทั้งตัว ไม่ใช่ รู้ไปแค่จุดที่เพ่งๆ แคบๆ แต่จะรู้ออกมาจากที่อิริยาบถนั่งนี่ก่อน

 

อิริบาบถนั่งที่สบาย อิริยาบถนั่งที่ผ่อนคลายนี้

 

แล้วเห็นว่า อิริยาบถนั่งที่ผ่อนคลายนี้ ทั่วทั้งตัวกำลังสูดเข้า กำลังพ่นออกแบบสบายๆ

 

ตรงนี้ ขอบเขตของการรับรู้จะขยาย จะกว้าง จะไม่เพ่งคับแคบ

 

เป็นอย่างไรครับ ลองทำดูแล้วได้ไหม

 

ผู้ถาม : ลองทำแล้วค่ะ เข้าใจแล้วว่า เมื่อก่อนไปโฟกัสแค่ตรงจมูก ตรงปาก แล้วก็จะอึดอัด แต่ถ้าผ่อนคลายแล้วดู อันนี้คือสภาวะที่ดูทั้งตัวทั่วหร้อมหรือเปล่าคะ

 

ดังตฤณ : คำว่ารู้ตัวทั่วพร้อมนี่ จะเกิดขึ้นเมื่อสติมีกำลังแล้ว จิตใหญ่ขึ้นแล้ว จะรู้เองทั้งตัว

 

แต่ที่ให้ทำเมื่อกี้ คือย้ายจากการโฟกัสแคบๆ มาเป็นความรู้สึกที่อิริยาบถปัจจุบันตั้งอยู่

 

คนนี่ ถ้าจี้จิตไปที่ลมหายใจเป็นจุดแคบๆ จะเกร็งขึ้นมาโดยธรรมชาติ เพราะว่าปกติเราอยู่ระหว่างวัน คิดโน่นคิดนี่ มองโน่นมองนี่ ลองสังเกตดู ไม่มีนะ อาการไปจี้ว่าจะให้มาที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือว่าจุดใดจุดหนึ่งของโลกภายนอก

 

เรามองไปกว้างๆ สบายๆ เราถึงไม่เกร็ง แล้วเรานึกขึ้นมา ตอนนี้เราอยู่ในท่าไหน เป็นท่าที่คนอื่นจะมองมาแล้วหัวเราหรือเปล่า เป็นท่ารวมๆ เป็นลักษณะของสติ ที่มาอยู่กับเนื้อกับตัว แบบที่ไม่เพ่งเข้าไปที่จุดใดจุดหนึ่ง

 

แต่พอบอกให้รู้ลมหายใจ ธรรมชาติของมนุษย์ .. ลมหายใจอยู่ที่ไหน อยู่ที่โพรงจมูก แถมชอบมีคนสอนให้ดูจุดกระทบที่ลมหายใจกับจงอยจมูก ก็เลยเป็นสติที่รัดตัว ที่จี้เจาะจง ทำให้จิตแคบเข้าไปนะครับ

 

แล้วพอจิตแคบ มีอาการจี้จุดปุ๊บ เนื้อตัวก็เกร็งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เรื่องสัญก็คือพอเนื้อตัวเกร็ง คนจะไม่รู้ตัวว่าเกร็ง เพราะมัวแต่สนใจจี้ลงไปอยู่กับลมหายใจ แล้วบังคับให้ลมหายใจได้ดังใจ

 

ผมถึงเคยตั้งสเตตัสว่า อานาปานสติ เริ่มจากการรู้อิริยาบถก่อน หรือลมหายใจก่อน

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนนะ ว่า ขึ้นต้นมา นั่งคอตั้งหลังตรง อันนี้สำคัญมาก ถ้าใครเริ่มต้นถูกอย่างที่พระพุทธเจ้าเจาะจงจริงๆ ก็จะเห็นว่า เรามีสติ รู้อิริยาบถนั่งตามจริงก่อน

 

แล้วที่จะรู้อิริยาบถนั่งตามจริงได้ ต้องผ่อนคลาย ไม่ใช่เกร็ง ถ้าเกร็งก็จะเกาะอยู่เป็นก้อน แต่ถ้าผ่อนคลาย ไล่มาตามลำดับ ฝ่าเท้าฝ่ามือ มีความผ่อนคลายไหม ใบหน้ามีความผ่อนคลายไหม สภาพนั่งทั้งตัวจะปรากฏขึ้นมาเอง

 

แต่นี่ไม่ใช่ความรู้ตัวทั่วพร้อม .. ความรู้ตัวทั่วพร้อมในความหมายที่พระท่านใช้นั้น สติ จะคงที่ จิตมีความเป็นสมาธิระดับหนึ่งแล้ว คือจิตใหญ่ แล้วก็สามารถเห็นครอบทั้งกาย ทั้งใจโดยความเป็นรูปนามได้

 

สำหรับเรื่องการผ่อนคลายร่างกายทั้งหมด เวลาคนทั่วไปท่องว่าให้ผ่อนคลายร่างกายทั้งหมด จิต ยังคลุมเครืออยู่ ยังมั่วๆ อยู่ ไม่รู้จะผ่อนคลายตรงไหน

 

แต่ถ้าหากไล่มาเป็นจุดชัดเจนเลย เริ่มตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นมา ฝ่ามือ และใบหน้า แบบนี้จะแน่นอน มีทิศทางที่ชัดเจนให้จิต

 

แต่ถ้าบอกว่า ผ่อนคลายทั้งตัวแล้วเรานึกถึงทั้งตัวเลย บางทีเราอาจตั้งจิตไว้ผิดก็ได้

 

นี่ .. นิดเดียว เรื่องของจิต เรื่องของกาย องศาเดียวที่พลาดไป ที่เพี้ยนไป ออกไปคนละทางเลย คนละเรื่องเลยนะ

____________________

สรุปคำถาม : การเจริญอานาปานสติ ทำอย่างไรจะไม่เป็นการบังคับลมหายใจเข้าออกคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=nLz8VyMQXtw

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น