วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

คาดหวังในตัวลูกมากจนขาดเมตตา

ผู้ถาม : ขออนุญาตถามเรื่องความเมตตาค่ะ คือเป็นแม่ของลูกสองคนค่ะ แล้วก็เวลาที่เหมือนกับ ลูกทำอะไรผิดเล็กน้อยหรือใหญ่ก็ตาม จะมีความโมโหมาก ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันเช่น สมมติบอกว่าให้มาเก็บของ สามทีแล้วก็ยังไม่มา ก็จะต้องโมโหทุกทีเลย

 

เราไม่อยากเป็นแบบนี้ แล้วเราก็พยายามที่จะฝึกฝนหรือว่า ทำอะไรหลายๆอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล เลยอยากทราบว่า คือการที่จะทำให้ใจมีเมตตา

 

ดังตฤณ : ช่วยเล่านิดหนึ่งก่อน ที่บอกว่า พยายามทำอะไรมาหลายอย่าง ฝึกอะไรมาหลายอย่าง เล่าให้ฟังได้ไหมว่าฝึกมาอย่างไร โดยใช้ลูกเป็นเครื่องฝึก

 

ผู้ถาม : คือตอนที่ลูกเด็กๆ 5 -6 ขวบ จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำนี่ผิด คือเราคิดว่าเมื่อลูกทำพฤติกรรมอะไรไม่ถูกต้อง ก็ดุว่าเป็นธรรมดาในฐานะที่เป็นแม่แต่มาเริ่มรู้ตัวว่าเป็นความผิดของตัวเอง ก็ตอนที่ไปเข้าปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง มีหลวงพ่อ แม่ชี ชี้ให้เห็น ก็เลยเริ่มเห็นว่า อ้อ .. จริงๆ แล้ว ความผิดอยู่ที่ตัวเราเอง

 

ดังตฤณ : คือหมายความว่า ผิดที่มุมมองของเราเอง หรือว่าเราไปตัดสินลูกไม่ถูก ณ จุดนั้น ขอรายละเอียดนิดหนึ่งได้ไหม

 

ผู้ถาม : คือเหมือนกับว่า สิ่งที่เราเห็นมาตลอด เราเห็นว่าลูกคือคนที่ผิดปกติค่ะ หรือคนที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือมุมมองเราในวันนั้น

 

แต่เมื่อเราไปผ่านค่ายในครั้งนั้น มีคนชี้ให้เห็น แล้วเราเริ่มมองเห็นว่า จริงๆแล้วความผิดอยู่ที่ตัวเราต่างหาก

 

ดังตฤณ : คือเราไปคาดหวังไว้เกินกว่าที่ลูกจะให้ได้ เป็นความคาดหวังที่ผิด

 

ผู้ถาม : จริงๆ ก็ใช่อย่างนั้น เพราะว่าในวันเขาก็ยังเด็กด้วย คือว่าเรามีกรอบที่ตั้งไว้ว่าเด็กต้องมีมารยาทแบบนี้ จะต้องทำอย่างนี้อะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าพอเขาไม่เป็นไปอย่างนั้น คือเหมือนกับว่าเราไม่สามารถที่จะสอนดีๆได้ แต่จะเริ่มจากโมโหเลยทีเดียว อาจเริ่มจากสอนดีๆ ไปนิดหน่อย แล้วก็รู้สึกว่า ควรจะทำได้แล้ว แต่ว่าเขาก็ยังไม่สามารถทำได้ ด้วยความที่เป็นเด็กในวันนั้น และเราก็ไม่ได้เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ก็เลยโมโห

 

เสร็จแล้วนี่หลังจากนั้น พอฟังพี่ตุลย์พูดแล้วก็คือเหมือนกับว่า ความโมโหเกิดขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง มองดูความโมโห จนอยู่ดีๆ ความโมโหหายเป็นปลิดทิ้งอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งทำให้เห็นในครั้งนั้นว่า (ความโมโห) หายไปได้นะ แต่ก็เหมือนเกิดขึ้นครั้งเดียว

 

หลังจากนั้น เหมือนกับว่า ยังคงโมโหอยู่เรื่อยๆ แล้วก็พยายามที่จะหาว่า ความเมตตา การฝึกเมตตา ทำอย่างไรก็หาไม่เจอ จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง คือ ก่อนหน้านั้นก็พยายามไม่ฆ่าสัตว์ รักษาศีลข้อ 1 แต่มีตัวทากอยู่หลังบ้าน การไปหายาไปฆ่าทากนี่ง่ายมาก แต่ก็ไม่ทำ เราคีบทากทีละตัวไปปล่อย เป็นร้อยๆ ตัว ตัวหนึ่งใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ก็ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม แล้วเกี่ยวอะไรกับความเมตตา

 

จนกระทั่งวันหนึ่ง อยู่ดีๆ รู้สึกขึ้นมาว่าที่เราเคยให้ชีวิตเขาไว้ นั่นแหละ เหมือนกับอยู่ดีๆ มีกระแสความเมตตาผุดขึ้นมาในช่วงสั้นๆ ว่า การให้ชีวิตเขา นี่คือกระแสเมตตาอย่างเดียวกันกับที่เราอยากจะมีเพื่อที่จะให้ลูกตลอดเวลา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะประยุกต์อย่างไรค่ะ

 

ดังตฤณ : จะพูดจากประสบการณ์ตรงเลยนะ เพราะมีลูกเหมือนกัน

 

คือ คนๆหนึ่ง ถ้ามีลูกเป็นคนแรก ไม่มีประสบการณ์มาก่อนหรอกว่า เป็นพ่อเป็นแม่ เขาเป็นกันอย่างไร ต้องสะสมเอาจากวันคืนที่ลูกโตขึ้น ทีละวันทีละวัน

 

ทีนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งไว้ใจอย่างไร คนส่วนใหญ่ ร้อยทั้งร้อยถ้าไม่ได้ฝึกเจริญสติ ก็ไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าว่า จะเลี้ยงลูกให้ดี หรือเลี้ยงลูกให้อย่างใจตน อย่างที่เมื่อกี้คุณพูด ที่เป็นคีย์เวิร์ดก็คือว่า เราเลี้ยงลูกตามความคาดหวัง แล้ววันหนึ่งเราพบว่า ความคาดหวังที่มีกับลูก ที่เกินตัวลูกนั่นแหละที่ผิดเอง

 

จุดเริ่มต้นของความผิด ไม่ได้มาจากลูก แต่ว่ามาจากปริมาณความคาดหวังของเราที่เกินตัวลูก

 

อันนี้ ก็เป็นการเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ตรงที่คุณได้รับมาแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ใจคุณเอง ไม่สูญเปล่า ไม่เสียเปล่านะ เป็นอะไรที่มีค่ามากๆ

 

ทีนี้ คือ จะบอกไว้อย่างหนึ่งทุกคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ จะต้องมีความคาดหวังผิดๆ เกี่ยวกับลูก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วมาเรียนรู้เอา หรือบางคนไม่ได้เรียนรู้ตลอดไป ว่าความคาดหวังของตัวเองนี่ที่ผิด

 

สำหรับคุณ ได้เรียนรู้แล้วว่า มีความคาดหวังบางอย่างที่ผิด นี่ก็เป็นประโยชน์กับคุณเอง ไม่ใช่เป็นประโยชน์กับตัวลูกอย่างเดียวนะ เพราะวิธีที่คุณจะ treat ลูกในขั้นต่อๆ มาในเวลาต่อมาจะดีขึ้น จะถูกต้องมากขึ้น จะสมควรมากขึ้น

 

ในแง่ของผู้เจริญสติ ที่มองเห็นว่าตัวเองนี่ โอ้โหเป็นเป็นไฟขึ้นมาทุกที เวลาที่ลูกไม่ได้อย่างใจ จะทำอย่างไรถึงจะเลิกเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา อันนี้ วิธีง่ายๆ ในแง่ของการเจริญสตินะครับ ที่ practical จริงๆ เลยนะ เวลาที่เรารู้ตัวว่าเราไม่พอใจ ลูกไม่ได้อย่างใจ ขอให้มองแบบนักเจริญสตินะว่าใจของเรานี่ ไปเกาะอยู่กับลูก ลืมตัว ลืมอิริยาบถนี้ ลืมอาการทางใจนี้ ลืมอารมณ์ที่อยู่ติดตัวนี้นะ จะยิงไปที่ลูกแบบอย่างแรงเลย ทุ่มไปที่ลูกทั้งหมดเลย

 

ทีนี้เราก็ให้เวลาตัวเอง เห็นใจตัวเอง ว่าอยู่ๆ นี่ไม่ใช่ใช้เวลาฝึกกันวันเดียว  ใช้อุบายอะไรที่ดีที่สุดในโลก แล้วจะมีสติ เท่าทันโทสะของตัวเองได้

 

แต่ให้มองอย่างนี้ มองว่าอาการที่ เดิมเราทุ่มออกไปตามธรรมชาติ ทุ่มใส่ตัวลูกเต็มที่เลย ทั้งอารมณ์ ทั้งจิต ทั้งอารมณ์โฟกัสอะไรต่างๆ เข้าไปที่ลูกเต็มที่ แล้วลืมตัวนี้นี่ วันต่อวันที่ลูกโตขึ้น เราฝึกมาหรือเปล่า วัดจากการที่ สติของเรา ใจเรานี่ กลับมาเข้าตัวมากขึ้นแค่ไหน

 

จากเดิม ที่ทุ่มใส่ลูกเต็มที่ ได้ค่อยๆ ย้อนกลับมาดูไหม ว่า ณ บัดนี้ ณ จุดเกิดเหตุเกิดความเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา

 

ถ้ามีความรู้สึกตัว ณ จุดเกิดเหตุแม้แต่ครั้งเดียว ว่านี่เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาอย่างที่คุณว่าเมื่อกี้นี่ ว่า อยู่ๆ โทสะหายไปเฉยๆ นั่นก็คือการมีสติมารู้นะ ว่าตัวเรากำลังเกิดโทสะอยู่

 

ถ้าสติไม่เกิด โทสะไม่มีทางหายวับ จะต้องค่อยๆ หายไปตามธรรมชาติ แต่นี่หายวับเลย นั่นตัดสินว่าสติของเราเกิดขึ้น

 

ทีนี้ คุณอาจมีความรู้สึกว่า เราเคยทำได้ก็ต้องทำได้อีกสิ แล้วก็อยากจะทำให้ได้ทุกครั้ง อันนี้ก็เป็นความคาดหวังที่ผิดอีกครั้งหนึ่งแล้ว

 

ไม่ใช่ความคาดหวังในตัวลูกที่ผิด แต่เป็นความคาดหวังในตัวเองที่พลาด

 

พลาดจากความเป็นจริง พลาดจากธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของจิตต้องค่อยเป็นค่อยไป ใครบอกว่าฝึกปุ๊บแล้วทำได้ปั๊บ ถ้าเขาไม่โกหก เขาก็เข้าใจตัวเองผิดนะ อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

แต่ถ้าบอกว่าค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ อันนี้พูดจริง อันนี้ของจริง

 

เราวัดได้ง่ายๆ นะว่าเราคืบหน้าแค่ไหน จากการที่ตั้งสเกลไว้เลยว่าถ้าหาก ใจเราเผลอส่งออกนอกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือว่า ทุ่มใส่ลูกเต็มที่ เวลาเกิดโทสะนี่ จะมีแต่การจ้องเข้าไปที่ตัวลูกว่า ทำผิดนะ ทำไม่ดี ทำไม่ได้อย่างใจเรา ไม่ทำตามที่เราเคยสั่งไว้ นี่ทุ่มใส่เต็มที่เลย แล้วลืมตัว

 

แต่ถ้าหากว่าค่อยๆ มีสติ ค่อยๆ ดีพอที่จะนับหนึ่ง .. นับหนึ่งนับสองนับสาม ว่าเราสติดีขึ้นนี่ ก็คือว่า เข้ามารู้ทันทีว่าตอนนี้ เรากำลังทุ่มโทสะใส่ลูกเต็มที่แล้ว ลืมไปหมดแล้วว่า ตอนนี้เราอยู่ในท่าไหน ลืมไปหมดแล้ว ที่เรียกว่าจิตที่เรียกว่าลมเป็นอย่างไร

 

นี่จะค่อยๆ เข้ามา เริ่มขึ้นจากการเห็น ว่าตอนนี้มีอะไรที่ลุกโพลงขึ้นมา มีอะไรที่เหมือนกับยุ่งอีรุงตุงนังขึ้นมา มีความรู้สึกราวกับว่า เกิดอีกภาคหนึ่งเป็นยักษ์เป็นมาร โตขึ้นมาในตัวเรา

 

ตรงที่รู้สึกเข้ามาในอิริยาบถปัจจุบันได้ ที่เป็นที่ตั้งของอารมณ์โกรธได้ นั่นแหละ ให้นับหนึ่งเลยว่าคุณเริ่มฝึกแล้ว

 

ผลจะปรากฏทีละครั้ง ทีละหน เพราะเรายังมีเวลาที่จะผิดหวัง หรือว่าไม่สมใจกับลูกอีกนานนะ อีกหลายวัน แต่ละวันให้ดูว่าค่อยๆ เข้ามาที่นี่ เหมือนกับไล่เฉดสีนะ

 

จากเดิมที่เป็นสีส้มสีแดง เข้าไปที่ลูกเต็มที่ ไล่เข้ามานะ เป็นสีส้มสีแดงเข้ามาที่ตัวเรามากขึ้นๆ เรื่อยๆหรือเปล่า

 

ถ้ามากขึ้นนี่ ก่อนอื่นอันดับแรกเลย เราจะรู้ว่าเราอยู่ในอิริยาบถอย่างไรอยู่ เราอยู่ในท่าทางอย่างไรอยู่ และในท่าทางนั้น มีอาการพลุ่งพล่านอยู่แค่ไหน มากหรือน้อย ยอมรับไปตามจริง

 

อย่าไปตั้งความคาดหวังผิดๆว่า จะต้องลดน้อยถอยลงทันที เมื่อได้อุบายดีๆ หรือว่าเมื่อเราฝึกถูกต้องแล้ว แต่จะค่อยเป็นค่อยไปเสมอ คือจะถอยจากความเป็นลูกเต็มที่เลย ค่อยๆ เข้ามาที่กายนี้ใจนี้

 

วันที่ตัดสินว่าเราเริ่มเข้าท่าแล้วนี่ จะเป็นวันที่เราไม่พอใจลูกเท่าเดิมเลย อาการของลูกนี่ เต็มที่เลยนะ แบบที่เราเคยคาดคั้นไว้ว่า ถ้าทำผิดอีกนี่เดี๋ยวเจอดีอะไรต่างๆนี่

 

ลูกอาจจะทำผิด แบบเดิมเป๊ะเลย แต่สิ่งที่ผิดไปจากเดิม ต่างไปจากเดิม คืออาการของใจเรานี่เข้ามาอยู่ที่กายนี้ใจนี้เต็มร้อย ไม่พุ่งไปที่ลูกเลย

 

คือเห็นด้วยตาเปล่าว่าลูกทำผิด แต่ไม่มีอาการพุ่ง โทสะไม่มีอาการพุ่งเหมือนกับมีหอกแหลมๆ พุ่งเข้าใส่ลูกนี่ จะกลับมาอยู่ที่ตัวนี้ใจนี้ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีปฏิกิริยาอะไรที่ส่งออกไป มีแต่การเห็นว่าใจนี่ยังนิ่ง ยังสงบ อย่างมีสติอยู่ได้ รู้ว่าเราเห็นแล้วไม่พอใจ แต่ไม่มีอาการยื่นออกไป ไม่มีอาการอะไรที่เป็นแหลมๆ พุ่งออกไป

 

นี่ตัวนี่ ที่เราบอกตัวเองได้แล้วว่าสติ เจริญขึ้นเต็มที่ มาอยู่กับเนื้อกับตัว มาอยู่กับสภาพทางกายที่เป็นอิริยาบถปัจจุบัน มาอยู่กับสภาพทางใจที่ไม่ว้าวุ่น ที่ไม่พลุ่งพล่าน แต่เราก็ไม่ได้ไปคาดคั้นว่า ทำสำเร็จแล้ว จะต้องได้ผลอย่างนี้อีกทุกครั้ง เราคาดหมายไว้อย่างถูกต้องว่า อาจจะเกิดความโมโหโกรธาขึ้นมาอีก แต่ ไม่ว่าจะโมโหโกรธาขึ้นมาแค่ไหน เราจะยอมรับตามจริงว่า เกิดขึ้นในอิริยาบถนี้

 

ทุกครั้งสติจะเข้ามาอยู่ในร่างกายนี้ ดูว่ามีอาการพลุ่งพล่าน มีอาการร้อนแค่ไหนมีอาการทึบแน่นขึ้นมาแค่ไหน แล้วมีอารมณ์ที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลแค่ไหน

 

ตรงนี้แหละที่เรียกว่าการเจริญสติอย่างแท้จริง อย่าไปคาดหวังผิดๆ ว่า เจริญสติแล้วเรายังไม่โกรธลูกอีก โกรธได้ แต่โกรธแล้วได้สติหรือเปล่า ตรงนี้คีย์เวิรด์สำคัญนะ โกรธแล้วได้สติหรือเปล่า

 

ผู้ถาม : ขอบคุณค่ะพี่ตุลย์ อันนี้คือในแง่ของการจัดการจิตใจของตัวเราใช่ค่ะ แล้วในแง่ของการจัดการในทางโลก หมายความว่าการปฏิบัติต่อลูก ในช่วงเวลานั้น สมมติเราพยายามรู้ตัวแล้ว แต่เรายังต้องจัดการลูกในทางโลกอยู่ ควรทำอย่างไร

 

ดังตฤณ : ให้มองอย่างนี้นะ ใจเรา เวลาที่ขาดสติ เวลาที่โกรธ จะไม่รู้ทางออก จะไม่สามารถเห็นด้วยปฏิภาณว่าควรจะแก้ไข หรือจัดการอย่างไร

 

แต่เมื่อไหร่ที่เรามีสติ ใจเราปราศจากความโกรธ ใจเรามีความรู้สึกว่างจากความโกรธอยู่ จะมองเห็นอะไรได้ชัด ปฏิภาณจะได้ที่เกิดปฏิภาณจะได้ที่ตั้ง ซึ่งเราจะเห็นเป็นครั้งๆ ว่าเราควรจะพูดอย่างไร ควรจะเลือกปฏิบัติต่อเขาอย่างไร

 

คือสังเกตได้นะเวลาที่เราไม่โกรธ เวลาที่ใจเราว่างจากความโกรธอยู่ เราพูดอะไรไปก็ตามเราจะมีสติ แล้วก็ไม่ใช้น้ำเสียงที่ออกแนวโมโหโกรธา เราจะใช้น้ำเสียงแบบเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็เราจะคือเย็นนี่ไม่ใช่แกล้งเย็น แต่เย็นเองอยู่ด้วยใจที่ไม่รู้จะโกรธไปทำไมนะ เห็นอยู่ที่นี่ มีตัวตั้งของสติอยู่ที่นี่ว่า กายอยู่อย่างนี้ ใจอยู่อย่างนี้ไม่รู้จะพุ่งพล่านไปทำไม ไม่รู้จะทุ่มใส่ลูกทำไม อยู่กับตรงนี้ดีกว่า

 

ใจที่รู้สึกว่าอยู่กับตรงนี้ที่ว่างๆ จากความโกรธนั่นแหละ จะเป็นที่ตั้งของปฏิภาณ ไม่มีอุบายตายตัว อย่าไปคิดเจาะจง ว่าจะต้องมีอุบายอะไรสักอย่างที่ครอบจักวาล สามารถจัดการกับลูกได้ทุกครั้ง ไม่มีนะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และที่เราจะรู้ได้ว่าอุบายนั้น หรือว่าคำพูดดีๆ นั้นคืออะไร ก็คือ เรามีจิตที่มีสติให้ได้ เรามีจิตที่ปราศจากความโกรธให้ได้แค่นั้นเอง

 

ตั้งโจทย์ไว้แค่นี้ แล้วจะฉลาดรู้ขึ้นมาเองในแต่ละครั้ง เหมาะกับสถานการณ์นะครับ

 

ผู้ถาม : ดังนั้นในวันที่สติเรายังเจริญไปถึงตรงนั้น ในวันที่เรากำลังฝึกเมื่อเรากำลังโกรธไม่ควรพูดอะไรเลยไหมคะ

 

ดังตฤณ : ในเวลาที่เราโกรธขึ้นมานี่นะ แล้วเราพูดออกไปทันทีแบบอดไม่ได้ เราสังเกตปฏิกิริยาของลูกนะ ลูกจะมีปฏิกิริยาที่แข็งขืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเลี้ยงลูกมาดีๆ แบบที่จะให้เหตุผลเขา แล้วให้เขามีเหตุผลนี่ ทันทีที่เราหลุดจากกรอบของเหตุผล ลูกก็จะหลุดจากกรอบของเหตุผลด้วยเช่นกัน

 

เราจะสามารถสังเกตได้ เห็นได้จากตาเปล่า พอเราเห็นได้จากตาเปล่าอย่างนั้นนี่ ถ้าเราเผลอหลุดไปแล้ว คืออย่าไปเสียใจมากมาย ก็ให้กลับลำ ให้ดึงสติกลับมาใหม่ แล้วเวลาพูดกับลูก พยายามที่จะใช้เหตุผล เพราะว่าการใช้เหตุผลนี่ไม่ได้ทำให้ลูกดีขึ้นอย่างเดียว แต่ใจของเรานี่จะคลายจากความโกรธไปด้วยนะ

 

วิธีที่เราจะรู้ว่าเรากำลังโกรธอยู่ หรือเรากำลังมีเหตุผลอยู่ คือสังเกตดู ถ้าใจมีอาการ ที่เหมือนกับโป้งป้าง มีอาการอยากกระแทก คือจิตจะมีอาการของมัน มีอยากกระแทก มีอยากที่จะยื่นเข้าไปทุบ อยากจะยื่นเข้าไปด่าทอ แบบนั้นคืออารมณ์โกรธยังอยู่ อันนั้นคือจิตถูกนำด้วยอารมณ์โกรธ ถูกครอบงำด้วยอารมณ์โกรธ

 

แต่ถ้าเมื่อไร อาการโป้งป้าง อาการอยากกระแทกลดระดับลง หรือหายไปกลายเป็นใจที่ว่างๆ อยู่กับเนื้อกับตัว นี่ตรงนั้นให้สังเกตนะ เวลาที่เสียงเกิดขึ้นในหัว จะเป็นเสียงของเหตุผล จะมีความคิด จะมีการเลือกคำ ในแบบที่ทำให้ใจของเราเองเย็นลง ซึ่งพอเราได้ยินเสียงแบบนั้นในหัว ก็ค่อยพูดกับลูก

 

คือพูดง่ายๆ รอเสียงในหัวนะ ถ้ารู้ตัวว่าเสียงยังกระแทกกระทั้นอยู่ อย่าเพิ่งพูด แต่ถ้าเสียงเบาๆ เป็นเสียงแผ่วๆ เป็นเสียงที่เป็นโมโนโทน ไม่มีเสียงสูงเสียงต่ำ ไม่มีแรงกระแทก นั่นแหละเป็นเสียงของเหตุผล

_______________

สรุปคำถาม : โมโหลูกบ่อยมากแม้ด้วยเรื่องเล็กๆ จริงๆคนที่ผิดน่าจะเป็นตัวเราเองที่คาดหวังลูกมากเกินไป พยายามฝึกเจริญสติหลายอย่างแล้วก็ยังไม่หาย อยากมีเมตตามากกว่านี้ ควรทำอย่างไร?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ อีกครั้ง

วันที่ 17 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :https://www.youtube.com/watch?v=SaiVRQfgFY8

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น